ความสำเร็จของแคมเปญจากเฮอร์ชีส์: จากผู้หญิงธรรมดาบนแพ็กเกจลิมิเตดอิดิชันสู่พลังบวกบนโซเชียลเดือนสตรีสากล

“ตอนที่ฉันได้ไปวิ่งมาราธอนที่บอสตัน ไหล่ฉันเปียกไปด้วยน้ำตาของผู้หญิงที่ร้องไห้ในอ้อมแขนฉัน พวกเขาร้องไห้ด้วยความสุข เพราะการวิ่งเปลี่ยนชีวิตของเขาไป พวกเขารู้สึกได้เลยว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง”

นี่เป็นคำพูดของ แคทเธอรีน สวิตเซอร์ (Kathrine Switzer) นักวิ่งหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่วิ่งจบการแข่งขันบอสตัน มาราธอนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1967 ในยุคที่ยังไม่มีใครเชื่อว่าผู้หญิงสามารถวิ่งมาราธอนได้

กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ทุกวันนี้เรามักเห็นผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้นำ สร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือออกไปผจญภัยนอกอวกาศ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดความตั้งใจของสตรีที่ทำสิ่งที่ตัวเองรัก จนกลายเป็นคนต้นแบบที่สามารถส่งต่อพลังบวกไปยังผู้หญิงคนอื่นๆ ให้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม 

พื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงในการส่งต่อพลังบวกไปยังคนอื่นๆ เพราะการฉายภาพความสำเร็จ รวมทั้งเชิดชูสตรีต้นแบบ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ผู้หญิงอีกหลายๆ คนเชื่อว่าพวกเธอก็สามารถให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ให้โลกใบนี้ได้เช่นกัน

หนึ่งในแบรนด์ที่พยายามสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ Hershey’s แบรนด์ช็อกโกแลตระดับโลก นับตั้งแต่ปล่อยตัวแคมเปญ #HerShe ที่นำภาพสตรีคนธรรมดาแต่เปี่ยมไปด้วยพลังบวกมาปรากฎบนแพ็กเกจลิมิเตดอิดิชัน ได้สร้างเสียงตอบรับจากผู้บริโภคได้อย่างดี ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวความดีงามของผู้หญิงเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อเป็นพลังใจแก่คนในสังคม พร้อมทั้งตีแผ่เรื่องราวของเธอด้วยการวางขายแพ็กเกจลิมิเตดอิดิชันในหลากหลายประเทศ 

ความพิเศษอีกอย่างคือแคมเปญนี้ยังคงจัดต่อเนื่องในวันสตรีสากลของทุกปี สำหรับปีนี้ก็ได้ต่อยอดแคมเปญสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ในธีม ‘เปิดโหมดปัง ปลุกพลัง SHERO’ ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งต่อพลังแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน ตระหนักถึงศักยภาพและพลังบวกที่มีอยู่ในตัวเราเอง ด้วยความเชื่อว่าใครก็เป็นชีโร่ ในแบบของตัวเองได้ เพราะทุกคนมีข้อดี และมีพลังบวกที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเอง  

จุดเริ่มต้นเล็กๆ สามารถนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ชวนทุกคนไปติดตามเบื้องหลังความสำเร็จของแคมเปญนี้พร้อมกัน

ความสำเร็จที่ผ่านมาของ Hershey กับสร้างสังคมดี และเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิง

หากใครจำได้ วันสตรีสากลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราจะเห็นแพ็กเกจของ Hershey’s ที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งชวนให้ผู้คนสนใจว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นใคร และเข้ามาทำให้รู้จักพวกเธอมากขึ้น

การนำผู้หญิงที่ไม่มีชื่อเสียง แต่ทำสิ่งดีๆให้กับสังคมมาปรากฎบนแพ็กเกจ คือแคมเปญ #HerShe ที่ได้รับรางวัลมากมาย และถูกพูดถึงอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2566 ที่แคมเปญนี้เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรก ความพิเศษของแคมเปญนี้คือ การเลือกผู้หญิง หรือ ‘ชีโร่’ ขึ้นมาอยู่บนแพ็กเกจลิมิเตดอิดิชัน ซึ่งถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นผู้หญิงธรรมดา ที่สร้างผลกระทบเชิงบวก ทั้งด้านวัฒนธรรม ความสำเร็จ หรือการอุทิศตัวเพื่อสังคม

แนวความคิดต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่เน้นใช้ดาราที่มีชื่อเสียงและมีต้นทุนทางสังคม ในการโปรโมทสินค้า ในทางกลับกันเฮอร์ชีส์เลือกที่จะให้ความสำคัญ กับความดีความงามของบุคคลเหล่านั้น เสมือนบุคคลต้นแบบ ที่ควรค่าแก่การชื่นชม สนับสนุน และเพื่อส่งต่อแรงบันดาลให้ทุกๆคนในสังคม 

ชีโร่ คนไทยที่ปรากฎตัวบนแพ็กเกจคนแรกในปี 2566 คือ ป้าติ๋ม-กวิพร วินิจเถาปฐม แห่งศูนย์พักพิงสัตว์บ้านนางฟ้าของสัตว์จร ป้าติ๋มคือคนธรรมดาที่เห็นถึงปัญหาสุนัขจรจัด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรค ถูกทำร้าย จนถึงวางยาเบื่อ เธอจึงเปิดเป็นศูนย์พักพิงสัตว์ เพื่อเป็นที่พักพิงให้กับสุนัขและแมวจรรวมกันกว่า 2,000 ตัว ให้มีชีวิตที่ปลอดภัย สุขภาพดี และมีความสุข เรื่องราวของป้าติ๋มกลายเป็นพลังที่ส่งต่อไปให้ผู้คนหันกลับมาใส่ใจกับปัญหาสัตว์จรจัดอีกครั้ง

ปีนี้ประเทศไทยก็ได้ร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากลเช่นกัน โดยปลุกกระแสแคมเปญดังกล่าวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งคนไทยผู้ที่ได้รับเกียรติมาปรากฎบนแพ็กเกจคนที่สองในปีนี้คือ ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี นางฟ้าของเด็กด้อยโอกาส ครูผู้เชื่อว่าการศึกษาจะเป็นตัวเบิกทางให้เยาวชนมีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น

ครูจิ๋วใช้เวลากว่า 30 ปี หรือครึ่งค่อนชีวิต ส่งต่อการศึกษาให้เด็กๆ ผ่านมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก อย่างโครงการ ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’  ซึ่งจะเดินทางไปยังสถานที่ที่มีเด็กด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด ไซท์งานก่อสร้าง เพื่อมอบความรู้และโอกาสแก่เด็กๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา 

หลังจากปรากฎบนแพ็กเกจพร้อมเรื่องราวความทุ่มเทด้วยจิตวิญญาณครูให้กับกลุ่มเด็กเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน และสะท้อนให้หลายคนเห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างจริงจัง

นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีผู้หญิงซึ่งเป็นต้นแบบอีกหลากหลายประเทศในอาเซียนที่ปรากฎอยู่บนแพ็กเกจลิมิเตดเอดิชันนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เออร์ลีน เกรซ มานิกวิส สาวนักเต้นจากฟิลิปินส์ ที่ได้เปลี่ยนความบกพร่องทางการได้ยินสู่การสอนภาษามือผ่านโลกออนไลน์ ไบดา เฮอร์คัส จากมาเลเซีย ผู้ก่อตั้ง Free Tree Society ที่มอบต้นไม้และพืชฟรีจากเรือนเพาะชำของตนเองให้คนในเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ และอแมนดา ชาน ประเทศสิงคโปร์ หญิงสาวที่มุ่งมั่นในกีฬามวยสากลจนสามารถคว้าเข็มขัดแชมป์โลก WBC (World Boxing Council) ได้สำเร็จ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีความฝันถึงโลกที่ดีขึ้น และลงมือทำด้วยความมุ่งมั่น จนกลายเป็นพลังบวกที่สามารถส่งต่อไปถึงทุกคนให้กล้าฝันถึงโลกในแบบของตัวเองเช่นกัน

การสนับสนุนการปรากฎตัวของเหล่าชีโร่บนแพ็กเกจของเฮอร์ชีส์นี้ นับเป็นการสนับสนุนคุณงามความดีที่บุคคลเหล่านี้ได้สร้างสรรค์สังคมดี  และการวางจำหน่ายทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ไม่เพียงทำให้สตรีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนพลังบวก ชื่นชมสตรีเหล่านี้ เพื่อส่งต่อกำลังใจนับตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ สู่วงกว้างจนถึงทั่วโลกอีกด้วย

ไม่ว่าใครก็เป็น ชีโร่ ได้

การส่งต่อพลังบวกและเสียงชื่นชมคือพลังใจอันยิ่งใหญ่ และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในมุมกว้าง

นอกจากการนำผู้หญิงที่มีพลังสร้างสรรค์มาอยู่บนแพ็กเกจแล้ว ความพิเศษของปีนี้ Hershey ยังต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ (https://celebratehershe.com/th-th) ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งต่อพลังบวกในครั้งนี้ โดยที่ทุกคนสามารถเข้าเสนอชื่อชีโร่ พร้อมสร้างการ์ดชื่นชมเธอเหล่านั้น และบอกกับเธอว่าชื่นชมเธออย่างไร โดยกิจกรรมได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี และมีผู้เข้าร่วมชื่นชมชีโร่ของพวกเขามากมาย ผ่านแฮชแท็ก #CelebrateShero #เปิดโหมดปังปลุกพลังSHERO 

ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่กิจกรรมนี้ยังมีผู้หญิงในวงการบันเทิงร่วมแบ่งปันพลังบวกด้วยไม่ว่าจะเป็น แอฟ ทักษอร คุณแม่ที่มีบทบาททั้งหน้ากล้องและหลังกล้อง ติช่า-กันติชา ชุมมะ นักแสดงและนางแบบที่คอยส่งต่อพลังความมั่นใจให้กับผู้หญิงอยู่เสมอ แดน วรเวช และแพ็ตตี้อังศุมาลิน ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมและชื่นชมภรรยาคนเก่ง รวมถึงทั้งอินฟลูเอนเซอร์ และคนมีชื่อเสียงมากมายที่เข้ามาร่วมกิจกรรม พร้อมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสนับสนุนแคมเปญที่ส่วนในการสร้างสังคมที่ดีแบบนี้ และขอเชิญชวนทุกคนร่วมชื่นชมขอบคุณตัวเอง และคนรอบตัว เพื่อเป็นพลังใจให้กันและกัน

แคมเปญนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้หลายๆ คนได้ขอบคุณและส่งกำลังใจให้เหล่าชีโร่ใกล้ตัวที่คอยเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งต่อเรื่องราวของคนสำคัญของพวกเขาเก่งมากแค่ไหน แม้ว่าจะดูเหมือนเรื่องธรรมดา แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำสิ่งดีๆ ให้กับคนใกล้ตัวได้ด้วยเช่นกัน 

นอกจากชื่นชมชีโร่ที่อยู่รอบตัวเราแล้ว เฮอร์ชีส์สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ และยังชวนทุกคนเข้ามาค้นหาจุดเด่นของตัวเอง ผ่านแบบทดสอบบนเว็บไซต์เพื่อค้นหาพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและตอกย้ำว่าทุกคนเป็นชีโร่ได้ 

สนับสนุนเสียงของผู้หญิงมากไปกว่าแพ็กเกจบนช็อกโกแลต

การส่งต่อพลังบวกของเฮอร์ชีส์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงภาพบนแพ็กเกจช็อกโกแลตเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนผู้หญิงหลากหลายเจเนอเรชัน ตั้งแต่เด็ก พนักงาน จนถึงระดับบริหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้คนและชุมชน  

ปีนี้เฮอร์ชีส์สร้างผู้นำในเด็กผู้หญิง ด้วยการนำรายได้ส่วนหนึ่งบริจาคให้กับ เกิร์ล อัพ (Girl Up) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ช่วยพัฒนาทักษะ มอบสิทธิและโอกาสให้แก่เด็กผู้หญิงในการเป็นผู้นำ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิงทุกคนทั่วโลก รวมถึงสนับสนุนพนักงานผู้หญิงอีกทางด้วยการลงทุนในการฝึกอบรมอาชีพช่วงขั้นปฐมภูมิ และทุติยภูมิเพื่อพัฒนาทักษะเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสให้มากขึ้นด้วย 

ภายใต้การบริหารของ มิเชล บัค (Michele Buck) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไม่น่าแปลกใจเลยว่า

ทำไมเฮอร์ชีส์จึงพร้อมสนับสนุนเสียงของผู้หญิงในหลากหลายด้าน ปัจจุบันเฮอร์ชีส์เป็นหนึ่งใน 53 บริษัทที่มีผู้นำเป็นผู้หญิง ซึ่งจัดโดย Fortune 500 แถมยังประสบความสำเร็จในการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันให้กับพนักงานเงินเดือนในสหรัฐอเมริกาในปี 2563 และมุ่งมั่นให้การจ่ายค่าตอบแทนนี้ครอบคลุมทั่วโลกภายในปี 2568

การสนับสนุนความสามารถและสร้างพื้นที่ให้กับผู้หญิงทำให้เฮอร์ชีส์ได้รับเลือกให้เป็นบริษัทที่เป็นมิตรต่อสตรีเป็นอันดับหนึ่งของโลก (World’s Top Female-Friendly Companies) โดยนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) อย่างต่อเนื่อง

เรียกได้ว่าแคมเปญ #HerShe ที่ช่วยทุกคนมา ‘เปิดโหมดปัง ปลุกพลัง SHERO’ กลายเป็นแคมเปญที่ทำเพื่อสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่สนับสนุนให้เห็นคุณค่าในตัวเองเท่านั้น แต่ยังชวนมองถึงคุณค่าของคนรอบข้างที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนในสังคมด้วย ตามความเชื่อที่ว่าทุกคนสามารถเป็นชีโร่ได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญของแคมเปญนี้คือการสร้างพื้นที่ส่งต่อพลังบวกเหล่านี้ออกไป แม้เป็นคำชื่นชมเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อทุกร่วมกันส่งเสียงนั้น มันก็มีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนกล้าลงมือทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็ขอให้เชื่อว่า ‘เธอเก่ง’ เสมอ

AUTHOR