‘เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์’ จากวัยว้าวุ่นคลั่งรักสู่วัยแตกฉานความสุขที่ ‘ไม่มีอะไรถาวร’

‘เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์’ ถ้าพูดชื่อนี้ เมื่อ 17 ปีก่อน เขาก็คือพ่อหนุ่มตัวจี๊ดท่ามกลางวัยรุ่น เด็กเกรียน จากการถูกตามติดชีวิตการเป็นเด็ก ม.6 สุดซ่าที่ว้าวุ่นเรื่องเพื่อน แฟน และการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชันที่มีความฝันและความหวังของครอบครัวเป็นจุดเดิมพัน (แต่ไม่ใช่กับเปอร์) ร่วมกับเพื่อนๆ  3 คน ได้แก่ ลุง-วรภัทร จิตต์แก้ว, โบ๊ท-สราวุฒิ ปัญญาธีระ และ บิ๊กโชว์-กิตติพงศ์ วิจิตรจรัสสกุล โดยผู้กำกับ โสรยา นาคะสุวรรณ ถ่ายทอดภาพยนตร์สารดคีเรื่อง ‘Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์’ ของค่ายหนัง GTH ออกฉายทั่วประเทศในปี 2007 

มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เปอร์ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ ก็คือการเป็นเด็ก ‘ช่างกล้า’ จะทิ้งอนาคตว่าที่นักศึกษาวิศกรรมโยธา เพราะคลั่งรักมากจึงอกหัก และช่างกล้าถามเพื่อนๆ ว่า ‘ถ้าโตขึ้นเราทำงานต่างหน้าที่กัน กูเป็นยาม มึงเป็นนายก มึงยังจะกล้าคุย กล้ากินเหล้ากับกูอยู่หรือเปล่าวะ’ ก่อนที่ชีวิตนักเรียน ม.6 จะปิดจบด้วยคำพูดน่าจดจำของเปอร์ทิ้งท้ายว่า ‘เราจะไม่มีวันลืมเพื่อน’ 

ความเป็นเพื่อนถูกพูดย้ำอีกในนิตยสาร a day ธีม High School Friendship ฉบับที่ 78 ปี 2007 เปอร์และเพื่อนร่วมแก๊งอีก 3 คน กลับมาสวมชุดนักเรียนสวนกุหลาบถ่ายปกร่วมกันอีกครั้ง 

จากวันนั้นผ่านไป 17 ปี ‘ไม่มีอะไรถาวร’ คือวิชาชีวิตที่เปอร์ตกผลึกได้ในวัย 35 ปี ปัจจุบันเขาคือพิธีกรมากประสบการณ์ เจ้าของรายการ Perspective (เปอร์ – สเปกทีฟ) และรายการ ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ ในวันนี้ที่เราได้พบกับเขาก็เลยลองเอาคำตอบที่เปอร์เคยให้สัมภาษณ์ในวันนั้นมาถามเขาอีกรอบ เปอร์ในวันนี้ยังเป็นคนซ่าที่คลั่งรักและรักเพื่อนเหมือนเดิมหรือเปล่า

เปอร์ในวันนั้น

คลั่งรักเป็นหลัก รักเพื่อนเป็นรอง

…รักเพื่อนมากๆ ม.6 มันคือปีสุดท้ายแล้วที่เราจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ ที่อยู่กันมาหลายปี ให้พูดยังไงก็ไม่ได้เต็มร้อย เพราะมันเป็นความรู้สึกอยู่ข้างในที่อธิบายไม่ได้จริงๆ

เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ a day ฉบับที่ 78 (2007)

“ตอนที่ถ่ายปกครั้งนั้น ค่ายหนัง GTH ฉายหนังสารคดี ‘Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2007)’ ไปแล้ว a day ก็เลยทำเล่มเพื่อพูดสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมว่า มันเป็นยังไงบ้าง เรากับเพื่อนแก๊ง Final Score ก็เลยได้ไปถ่ายปกนี้ด้วยกัน (ชี้ไปที่นิตยสาร) เสื้อนักเรียนที่ใส่ตอนถ่ายก็เป็นเสื้อเราที่เพื่อนๆ ในโรงเรียนเซ็นชื่อให้ตอนจบจริงๆ

ม.6 เป็นช่วงที่รู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่จะต้องแยกย้ายกับเพื่อนในชั้นเรียนไปในทิศทางที่แตกต่างกัน รู้สึกกังวลว่าจะสอบเอนท์ฯ ติดไหม แต่ถ้าถามว่าเราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ไหนมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องความรักครับ คือในเล่ม a day เราพูดถึงมิตรภาพ ความสัมพันธ์เพื่อน แต่จริงๆ เราในตอนนั้นวุ่นวายอยู่แต่กับเรื่องความรักเป็นหลักเลย (หัวเราะ) โอเค ต้องเล่าก่อนว่าเราชอบอยู่กับเพื่อน ติดเพื่อน มีกลุ่มเพื่อนเยอะทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน อย่างแค่ในสวนกุหลาบเองรุ่นนึงมี 700 คน เรารู้จักเกิน 95% ของทั้งรุ่น แต่เราโตมากับเพื่อนกลุ่มผู้ชายโหดๆ เกเร กินเหล้า และไม่ได้จริงจังเรื่องความรัก แต่อยากมีแฟนแค่เอาไว้อวดเพื่อน ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องของวัยและฮอร์โมนด้วยที่ทำให้เพื่อนรอบตัวมองความรักเป็นแค่เรื่องความต้องการทางเพศ เราอยู่ในค่านิยมแบบนั้นเลยมีทัศนคติว่า เราอยากมีแฟนเพราะอยากรู้อยากลองมาตั้งแต่ ม.1-ม.2

แต่จุดที่ทำให้กลายมาเป็นคนที่เชื่อมั่นในความรักมากๆ คือคลั่งรักเลย น่าจะเริ่มประมาณ ม.3-ม.4 เราชวนเด็กโรงเรียนเซนต์ดอมินิก มาเที่ยว กินเหล้า สูบบุหรี่กันที่บ้าน ทุกคนดูเป็นเด็กเกเรต่างโรงเรียนที่เหมือนเราหมด แล้วมันมีเพื่อนคนนึงที่ไม่จอย มันเคยเป็นเด็กเซนต์ดอฯ ที่ย้ายตามแฟนไปเรียนเตรียมอุดมฯ ย้ายไปแล้วแฟนดันบอกเลิก มันก็เลยเฮิร์ตมาก เพราะมันไม่ได้อยากมาอยู่โรงเรียนนี้ มันอยากกลับโรงเรียนเดิมเพื่อไปอยู่กับแก๊งเพื่อนของมัน

แต่เราดันเกิดคำถามว่า เฮ้ย อะไรที่ทำให้เด็กที่ดูเกเรเหมือนกันกับเรา แต่มันจริงจังกับความรักได้ขนาดนี้วะ ก็เลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราบอกกับตัวเองว่า เราจะต้องเก็บความบริสุทธิ์ของเราให้กับคนที่เรารักเขามากๆ แล้วเขาก็รักเราเหมือนกัน โห ชีวิตตอนนั้นโฟกัสแต่เรื่องนี้เลย เรากลายเป็นคนเชื่อในความรัก เชื่อเรื่องเนื้อคู่ มองความรักเป็นสิ่งสวยงามไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำร้ายจิตใจใครได้ เราจินตนาการภาพความรักไว้เลยว่า ชีวิตเราจะต้องอยู่กับผู้หญิงคนนี้ เราจะมีความรัก มีลูก และรักกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ 

ถ้าไปดู Final Score จะเห็นเลยว่าเราเป็นผู้ชายที่เฮิร์ตเรื่องความรักหนักมาก อกหักทียอมไม่เข้าสอบเอนท์ฯ ยอมทิ้งอนาคตตัวเองเพราะไม่รู้ว่าจะมีอนาคตไปทำไมถ้าไม่มีคนที่รักรอเราแล้ว คือคิดโง่ๆ ไม่ได้คิดถึงพ่อแม่หรือตัวเองเลย (หัวเราะ)”

เปอร์ที่เปลี่ยนไป

แม้ไม่รักกัน เราก็จะมีความสุข 

“วัยนั้นเรายอมทำทุกอย่างเพื่อความรัก จนกระทั่งเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์พระอาจารย์ชยสาโร ในรายการ Perspective (เปอร์ – สเปกทิฟ) เมื่อ 6 ปีก่อน เราถามท่านว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร ท่านบอกว่า ความสุขที่แท้จริงต้องไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใด เราเก็ตเลย พอย้อนกลับมามองตัวเอง ทุกครั้งที่ความรักของเราล้มเหลว เราเป็นทุกข์มากๆ เพราะชีวิตมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังไง 

ดังนั้นเราก็เลยพยายามเปลี่ยน พยายามขยายกฎเกณฑ์ของตัวเองว่า ชีวิตจะเป็นอย่างที่เราหวังหรือไม่นั้น ไม่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้เรามีความสุขหรือมีความทุกข์  แปลว่าเขาจะคบกับเราหรือไม่คบ เราก็จะมีความสุขเพราะเราไม่ได้เอาความสุขไปแขวนว่า ถ้าเขาคบด้วยเราจะมีความสุข เราแบ่งปันสิ่งนี้ให้กับน้องยี่หวาด้วยว่า ยังไงวันนึงก็ต้องจากลา ขอได้ไหม วันที่จากกันขอมีความสุขแบบนี้ได้ไหม เขาก็เข้าใจแล้วต่างคนต่างก็ฝึกสิ่งนี้

เราในวันนั้นกับเราในวันนี้ต่างกันแค่เรื่องนี้เลย วันนั้นเราจมปักกับความทุกข์ คาดหวังกับผลลัพธ์ในเรื่องความรัก แต่ตอนนี้ทำอะไรก็แล้วแต่ พยายามทำให้ดีที่สุด แม้เราจะจินตนาการว่ามันจะเป็นยังไง แต่ผลลัพธ์ออกมาเป็นยังไงก็ช่างแม่งเลย ชีวิตจะเป็นแบบไหนก็ได้กูมีความสุขก็พอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง เพื่อน ครอบครัว แฟน เราคิดแบบนี้หมด 

แต่ช่างแม่งในความหมายของเราไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ใส่ใจนะ คือเราแคร์แต่เราไม่ได้สนใจว่ามึงจะรู้ไหมว่ากูแคร์ เราทำเพื่อพอใจเราไม่ได้พอใจคนอื่น เช่น เห็นคุณหิว เรายื่นขนมให้ ถามว่าคุณกินไหม นี่คือหน้าที่เรา แต่คุณจะกินไม่กินก็เรื่องของคุณ เราจะไม่เก็บเอาไปคิดว่า โห ทำยังไงดีนะ เพราะทุกข์ก็เกิดจากการคาดหวังว่ามันจะต้องเป็นไปอย่างที่มันเป็น เราทำหน้าที่ของเราแล้ว ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่เป็นก็ไม่เป็นไร”

เปอร์ที่เหมือนเดิม

ยังเป็นคนซ่าที่รักเพื่อน…

หลายๆ อย่างมันทำให้สวนกุหลาบมีความเป็นตัวเองสูง เราจะรักโรงเรียน รักเพื่อน ต่อให้อีก 30 ปี เราก็ยังรักพวกพ้องของเรา…กุหลาบเปลี่ยนกระถาง ไม่จางสีครับ

เปอร์ – สุวิกรม อัมระนันทน์  a day ฉบับที่ 78 (2007)

“เด็กสวนกุหลาบวิทยาลัยจะถูกหล่อหลอมมาว่า เราทุกคนต้องดูแลน้องในสถาบันเดียวกันและรักครูทุกคน เราจะจัดงานมุทิตาจิตให้ครูยิ่งใหญ่มาก แล้วจะพาครูไปเที่ยว ดูแลครูอย่างดี เพราะเชื่อว่า ไม่มีครูก็ไม่มีเรา แล้วจะไม่ทำอะไรให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียน แต่ตอบแทนโรงเรียนด้วยการเป็นพลเมืองที่ดี สร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศชาติ 

เด็กสวนจะภูมิใจในเรื่องนี้มาก แต่ละคนที่จบไปก็มีชื่อเสียงอยู่ในทุกสาขาอาชีพ เราเข้าไปก็อยากจะเก่งให้ได้เหมือนรุ่นพี่เรา รุ่นพี่ทุกคนก็ดูแลเราดีมากจริง อย่างตอนที่ Final Score ได้ฉายออกไปแล้ว งานแรกที่เราทำคือขอไปเป็นดีเจที่ Fat Radio ตอนนั้นพี่ยุทธนา บุญอ้อม (อดีตผู้ก่อตั้งรายการวิทยุ Fat Radio) เขาดูสารคดีเราก็บอก ‘ไอ้เปอร์หรอ มันเป็นเด็กสวนกุหลาบ มาเลยๆ’ ความสัมพันธ์ของเด็กสวนกุหลาบมันจะรักกันแบบที่คนภายนอกก็ไม่มีวันเข้าใจ ฟังดูแล้วน่าหมั่นไส้นะ แต่โรงเรียนเราปลูกฝังกันมาแบบนี้จริง

ทุกวันนี้เราก็ยังให้ความสำคัญกับเพื่อนเหมือนเดิม มีรุ่นพี่อายุ 70, 80 ปีที่ยังติดต่อกันเหมือนเดิม เด็กคนนั้นที่ใช้เวลา 6 ปีเติบโตในโรงเรียน มีเพื่อนสามคนที่เห็นบนปก a day (บิ๊กโชว์ ลุง โบ๊ท) และมีเพื่อนอีกนับเจ็ดร้อยคนที่ไม่ได้อยู่บนปก ซึ่งในวันนี้แต่ละคนก็มีชีวิตที่ก้าวไปอีกขั้น 

อย่างเพื่อน 2 คน คือบิ๊กโชว์​กับโบ๊ทก็มีลูกและภรรยาแล้ว และเราเองก็เป็นพิธีกรแต่งงานให้กับทั้งสองคนเลย ก็มีเรื่องใหม่ให้เขาได้เรียนรู้ ฟังดูเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่โตแล้ว แต่เขาก็คือเด็กอ่อนหัดของการที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ แต่เขาก็มีวิธีของเขา เราเองยังไม่มีซึ่งก็ถือว่าเด็กมากกว่าพวกเขาอีกในการที่จะมีประสบการณ์เรื่องพวกนี้”

a day สำหรับเปอร์

หัวหอกนิตยสารวัยรุ่นและเพื่อนบ้านที่มอบโอกาส

“a day เป็นเสมือนเพื่อนบ้านเรา เพราะสมัยนั้นออฟฟิศทำงานเขาตั้งอยู่หน้าปากซอยบ้านเรา  เราจะมีความสนิทชิดเชื้อกับพี่กล้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน พี่เป้ง-ทรงพล จั่นลา เขาคือคนทำงานยุคแรกๆ ใน a day และด้วยความไปมาหาสู่พี่ๆ กันบ่อยๆ ก่อนหน้านี้  a day เคยมีรายการทีวีเพื่อวัยรุ่นชื่อ Knock Knock! TV มาแล้ว แต่วันหนึ่งเขาอยากจะทำรายการทีวีที่แสดงความเป็น a day ขึ้นมา ชื่อรายการว่า หนึ่งวันเดียวกัน เขาหาคนรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นพิธีกรได้ก็นึกถึงเรากับซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ พวกเราก็เลยได้เป็นพิธีกรคู่กัน ซึ่งนี่ไม่ใช่รายการแรกในชีวิตของพี่ เพราะพี่เคยทำรายการอื่นมาแล้ว 

เราตัดสินใจทำเพราะเรารู้สึกว่า พอพูดชื่อพี่ดู๋-สัญญา คุณากร ใครๆ ก็จะนึกว่าเป็นเจ้าของรายการเจาะใจ หรือพี่นีโน่-เมทนี บุรณศิริ ก็จะนึกถึงรายการมาสเตอร์คีย์ เขาอยู่จนคนดูรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของรายการ a day ยังไม่มีภาพนั้น เราก็เลยอยากมาบุกเบิกเป็นพิธีกรที่นี่ แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะเคยทำพิธีกรที่แกรมมี่แล้วก็เถอะ  

พอเราทำรายการหนึ่งวันเดียวกันไปได้สักพัก ก็เจอกับพี่ปิงปอง-นิติพัฒน์ สุขสวย และพี่โหน่ง- วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (อดีตผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day ร่วมด้วย เอก ภาสกร ประมูลวงศ์ในตอนนั้น) ซึ่งก็น่ารักมากโดยเฉพาะพี่ปิงปองที่จับเรามาเป็นพิธีกรรายการ The Idol คนบันดาลใจ ของ a day ต่อ

ประเด็นก็คือตอนเด็กๆ อะไรที่เราไม่ชอบก็จะไม่ทำ เราจะทำเฉพาะสิ่งที่ชอบเรื่องเงินไม่เกี่ยว แต่ตัวตนของ a day ไปด้วยกันได้กับตัวตนที่คุยกับเรารู้เรื่อง เราชอบ ดังนั้นเลยต้องบอกว่า เราเข้าวงการได้เพราะ GTH เราไปเป็นดีเจได้ก็ที่ Fat Radio เราได้รับการอบรมสั่งสอนจาก JSL Global Media (บริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์)​ เราเป็นพิธีกรที่คนจดจำเราในฐานะตำแหน่งนี้ได้ก็เพราะ a day เราได้ทำงานในเชิงลึกมากขึ้น เรามีโอกาสสัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอะๆ ก็เพราะ a day มอบโอกาสให้เราในตอนนั้น แต่จริงๆ ก็ต้องยกเครดิตให้พี่ปิงปองและพี่เป้งด้วย เพราะตัวบุคคลเป็นตัวที่นึกถึงเรา

a day ทำให้เรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และดึงดูดคนที่มีความสนใจหรือชอบอ่านอะไรที่แปลกๆ พิเศษๆ ก็จะเลือกอ่านอะเดย์ เพราะคอนเทนต์เป็นแบบนั้น คนที่ชอบอ่านส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนเก๋ๆ มีลักษณะเฉพาะตัว เลยทำให้คนกลุ่มหนึ่งซื้อ a day เพราะเหมือนเป็นแบรนด์ดิ้งที่ชัดเจนว่าเป็นเด็กเก่ง เด็กเท่ห์ เราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่ได้อ่านแต่กูอยากดูเป็นเด็กเก๋ๆ ก็เลยถือไปเที่ยว แต่ก็จะหยิบมาอ่านบ้างแล้วพออ่านก็ชอบด้วย เพราะฉะนั้นเราเองก็ผูกพันมากับ a day เพราะเราก็โตมากับการได้เห็นหนังสือ a day ที่เรียกว่าเป็นหัวหอกนิตยสารเพื่อวัยรุ่นมาตั้งแต่เล่มแรกแล้ว”

วิชาชีวิตในวันนี้

ไม่มีอะไรคงอยู่ถาวร…

“ตอนเด็กเราซ่ายังไง ตอนนี้ก็ยังซ่าเหมือนเดิมแต่อาจจะมีเปลี่ยนแปลงแต่ก็คล้ายเดิมอยู่ ก็คือยังเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ อยากทำอะไรใหม่ๆ อยากเก่งขึ้น แต่คงไม่ขิงแล้ว คงลดตัวตน ลดอีโก้ลง แบบชีวิตจะเป็นแบบไหนก็ได้ แล้วก็จะใจเย็นลง มีเมตตากว่าเดิม มันสำคัญมากที่เราจะต้องฝึกฝนเพราะบางทีอะไรที่มันไม่ถูกใจเราก็จะเกิดอารมณ์โกธรไปเสียหมด เราเคยอยากให้ทุกอย่างเป็นดั่งที่ใจต้องการนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราพยายามลดทุกอย่างแล้วบอกกับตัวเองตลอดว่า มันไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่ใจเราต้องการ เราก็ต้องยอมรับมันให้ได้​

แล้วตอนนี้เราให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัว เพราะระยะเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวลดลงไปทุกที  เราเสียคุณพ่อไปแล้ว ซึ่งก่อนคุณพ่อเสีย คุณย่าก็อยู่ไอซียู คุณพ่อกำลังเตรียมการจากไปของคุณย่า ทุกคนก็เตรียมใจ แต่ใครจะรู้ว่าในระหว่างทางคุณพ่อกลับกลายเป็นคนที่จากคุณย่าไปเสียก่อน แล้วหลังเสร็จพิธีงานศพคุณพ่อไปได้ 1 สัปดาห์ คุณย่าก็จากตามไป

 มันเลยทำให้เราเรียนรู้หลายๆ อย่างว่า หนึ่ง เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราจะจากกันเมื่อไหร่  ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย การที่เราเตรียมใจว่าจะต้องจากใครสักคนในความสัมพันธ์ หารู้ไม่ เราอาจจะเป็นคนที่จากเขาไปก็ได้ สอง เราไม่มีทางรู้ว่าเท่าไหร่ถึงจะพอ คือคุณพ่อพี่อายุ 72 ปี แล้วเพิ่งเสียชีวิตไปอย่างฉับพลัน เราจะพูดกับตัวเองว่าไม่น่าไปเร็วเลย ต่อให้เขาอายุ 80 หรือ 90 เราก็ไม่อยากให้พ่อไป มันไม่มีคำว่าพอเลย ไป 80 ไป 90 หรือไปตอนนี้ สุดท้ายแล้วก็เสียใจเหมือนกัน ไม่มีอะไรถาวร

ทุกอย่างมีลิมิตไม่ว่าจะเป็นเวลา ชีวิต ทรัพยากร วันหนึ่งเมื่อมันหมดก็คือหมด ทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ว่าเป็นบริบทอายุที่มากขึ้นทำให้มีมุมมองที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ร่างกายเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน การโคจรของโลกก็เปลี่ยน เราห้ามการเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ การยึดติดอยากให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิมจะทำให้เป็นทุกข์ เราเข้าใจตรงนี้ก็เลยไม่ค่อยทุกข์เท่าไหร่ ตอนพ่อเสียเราก็ยังทำงานสัมภาษณ์อยู่ไม่กลับไปหาพ่อ เพราะรู้ว่ากลับไปพ่อก็ไม่ฟื้น 

จะบอกว่าการอกหักนี่ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไปนะ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกฝนสภาวะจิตใจเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเตรียมพร้อมเผชิญปัญหาต่างๆ ในอีก 10 ปีให้หลัง โดยที่เราเข้าใจบริบททุกอย่างได้รวดเร็ว จึงไม่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเราแล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream