The Unexpected Death by Mundane Objects นิทรรศการความตายเหนือความคาดหมายจากของใช้ใกล้ตัว

คุณพ่อลูกสามตายจากการกินชีสเบอร์เกอร์ให้หมดภายในคำเดียว

เด็กวัยรุ่นคึกคะนอง สิ้นชีวิตกลางห้องเรียนเพราะโอเวอร์โดสกาเฟอีน

หญิงสาวบังเอิญกลืนแปรงสีฟัน ติดคอตาย

ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นโดนนิตยสารจำนวนมากหล่นทับหัวเสียชีวิต กว่าจะถูกพบศพก็ผ่านไป 6 เดือน

ความตายจากสิ่งของใกล้ตัวที่ดูไม่มีพิษภัย ฟังดูคล้ายเป็นเรื่องเหนือจริงที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ใครจะรู้ว่าเหล่านี้คือเรื่องจริงที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์

นั่นเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว จึงทำให้ไม่ใส่ใจมากพอเวลาทำกิจกรรมที่ดูมีความเสี่ยง เหตุการณ์เลวร้ายจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางครั้งมันอาจเป็นเพียงความผิดพลาดที่แก้ไขได้ บ้างเป็นอุบัติเหตุที่มีคนบาดเจ็บเล็กน้อย ไปจนถึงเป็นสาเหตุของความตายอย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งนิทรรศการ The Unexpected Death by Mundane Objects ของ พราวพิม ยงใจยุทธ คือพื้นที่ที่พาเราเข้าไปสำรวจการตายเหนือความคาดหมายหลากหลายรูปแบบเหล่านี้

“เพื่อนเคยบอกว่าพิมเป็นคนไม่ค่อยระวังตัว พิมจึงเริ่มรู้สึกว่าควรจะหันมาใส่ใจตัวเองในเรื่องอะไรที่เราอาจจะเคยมองข้ามไป รู้สึกว่ามันอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความผิดพลาดได้”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พราวพิมเลือกทำศิลปนิพนธ์เกี่ยวกับการสร้างการรับรู้เชิงสังคมและกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เหนือความคาดหมายต่างๆ ที่สิ่งของหรืออุปกรณ์ใกล้ตัวเป็นสาเหตุอันนำไปสู่ความตาย

ขั้นตอนแรก เธอคัดเลือกสิ่งของจำนวน 13 รายการมาจัดแสดงในพื้นที่ แต่ละชิ้นมีเรื่องราวที่นำมาจากข่าวจริงหรือรายงานทางการแพทย์ ผ่านรูปแบบการนำเสนอในลักษณะของ ‘ป้ายเตือน’ เพื่อไม่ให้ใครต้องเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยอีก

เพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราวให้ได้ดีที่สุด พราวพิมต้องการป้ายที่สังเกตเห็นได้ง่าย เข้าใจได้ทันที เธอจึงใช้สัญลักษณ์ทั่วไปที่คุ้นเคยทั้งบนท้องถนนหรือสถานที่ต่างๆ รวมถึงภาพพิกโตแกรม โดยในขั้นตอนก่อนที่จะคัดเลือกรายการสิ่งของนั้น พราวพิมต้องทำการค้นคว้าวิจัยลักษณะและการใช้งานของป้ายเตือนด้วยการจัดหมวดหมู่อย่างละเอียดก่อน

การแบ่งหมวดหมู่ป้ายเตือนตามระดับ ได้แก่ ระวัง คำเตือน อันตราย

การแบ่งหมวดหมู่ตามเนื้อหาบนป้ายเตือน ได้แก่ แจ้งทราบ (Inform), เป็นอันตราย (Harmful), ไม่เป็นอันตราย (No harm) และข้อห้าม (Prohibition)

หนึ่งข้อมูลน่าสนใจที่ถูกนำมาปรับใช้ภายในนิทรรศการนี้ด้วยคือ การเลือกใช้แบบฟอนต์ฟลูทิเกอร์ (Frutiger) เป็นแบบตัวอักษรที่ใช้ในการสื่อสาร เนื่องจากแบบฟอนต์นี้ออกแบบโดย Adrian Frutiger เพื่อสำหรับใช้งานบนป้ายในสนามบินปารีสช่วงปลายปี 1960 เป็นแบบฟอนต์ที่มีลักษณะความเป็นสากลสูง ตัวอักษรมีความสูงเหมาะสมและมีความกว้างไม่มากเกินไปนัก อ่านได้ง่ายแม้จะมีขนาดเล็ก ทำให้ฟลูทิเกอร์มักได้รับเลือกมาใช้ในป้าย แผนที่ ป้ายขนส่งสาธารณะ หรือป้ายจราจร

“การเอาตัวรอดในชีวิตประจำวันทำให้พิมมานั่งทบทวนว่าสิ่งที่สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้คืออะไร คำตอบมักจะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา พิมเลยตัดสินใจทำการค้นคว้าเกี่ยวกับการรับรู้ของคนที่มีต่อสิ่งของในชีวิตประจำวัน ว่าอะไรที่รู้สึกว่าอันตรายและอะไรที่รู้สึกว่าปลอดภัย เพราะในการหาเรื่องที่ไม่คาดคิด เราต้องหาจากสิ่งที่คนไม่ได้ตอบหรือไม่ได้คาดคิดด้วย”

เมื่อได้ผลจากการศึกษาป้ายคำเตือนแล้ว จึงได้ทำแบบสอบถามจากคน 90 คน โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกสิ่งของที่คิดว่าเป็นอันตรายและนำไปสู่ความตายมากที่สุด ก่อนที่พราวพิมจะตัดสินใจเลือกสิ่งของที่คนคิดว่าอันตรายน้อยที่สุดมาเป็นวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการ 13 รายการ ที่บวกรวมเรื่องราวเหนือความคาดหมายในหลายรูปแบบ โดยสิ่งของนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดคือ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (อ่างอาบน้ำ แปรงสีฟัน) สิ่งของที่ใช้งานอย่างเฉพาะเจาะจง (ปากกา หนังสือ แฮมเบอร์เกอร์) และสิ่งของที่ใช้ตามปริมาณจากระดับของป้ายคำเตือน

The Unexpected Death by Mundane Objects เคยจัดแสดงมาแล้วในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือการค้นพบว่านอกเหนือจากจะเป็นการสร้างการรับรู้และการตระหนักรู้ให้กับผู้เข้าชมแล้ว พื้นที่โชว์รูมยังเป็นการ crowd-sourcing ระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์หรือเรื่องราวในลักษณะใกล้เคียงกันได้เข้ามาร่วมพูดคุย ทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และคุยกันได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ยิ่งทำให้หลายๆ คนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ได้ง่าย

รูปแบบการนำเสนอเชิงข้อมูลที่น่าสนใจนี้เรียกว่า experience design หรือการออกแบบประสบการณ์ คือการรับรู้และพฤติกรรมของผู้เข้าชมในช่วงเวลาหนึ่งเป็นศาสตร์การออกแบบที่ใช้สหวิทยาการ ทำให้นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการที่กระตุ้นให้คิด ทำให้ผู้เข้าชมได้ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการตีความได้หลายๆ แบบ เพื่อให้เราทุกคนได้กลับมาทบทวนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่ป้องกันไม่ให้เกิดความประมาท ลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตได้ โดยบทเรียนสำคัญที่ได้รับจากโปรเจกต์นี้นั้นจึงเป็นเรื่องเรียบง่ายอย่าง ‘การมีสติ’ มากขึ้นในการลงมือทำสิ่งต่างๆ

“เพราะความตายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีเสียงพูด การกระทำอะไรของเราก็ตามส่งผลกับทุกอย่างทั้งหมด อย่างที่เห็นว่าวัตถุต่างๆ นั้นไม่ได้อันตรายอะไรมาก แต่เป็นการกระทำของเราต่างหากที่ไปกระทำกับมันแล้วทำให้ผลกลับมาหาเรา ถ้าเรากระทำกับวัตถุนั้นเยอะ ผลที่เกิดขึ้นกับเราก็จะมากขึ้นตาม ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย”


สามารถเข้าชมนิทรรศการ The Unexpected Death by Mundane Objects ได้ที่ O.P Place นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2019 (Bangkok Design Week 2019) จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 3 กุมภาพันธ์ 2562

ช่องทางติดต่อ instagram: @the_ordinary_objects

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก