Duck, Death and the Tulip หนังสือภาพที่สอนให้เด็กรู้จักความตาย

เป็นเวลาพักนึงแล้วที่เจ้าเป็ดรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่าง

“เธอคือใคร ทำไมถึงคอยตามชั้นมาตลอด” เจ้าเป็ดถาม

“ดี” ความตายกล่าว “ในที่สุดเธอก็สังเกตเห็นฉัน.. ฉันคือความตาย”

นี่คือบทสนทนาในหน้าแรกของหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีชื่อว่า Duck, Death and the Tulip โดย Wolf Erlbruch นักเขียนและนักวาดชาวเยอรมัน หนังสือนิทานคอนเซปต์แหวกแนวที่ชวนเด็กๆ มาทำความรู้จักกับความตายและการจากลา หัวข้อสั้นๆ แต่แสนละเอียดอ่อน ซับซ้อน และช่างห่างไกลจากชีวิตใหม่ที่เพิ่งลืมตาดูโลก

สำหรับเรา ความทุกข์ ความเศร้า ความหวาดกลัวของความตาย ดูเป็นภาพสีหม่นที่ไม่น่าดู ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ความคิดที่ว่าวันนึงเราทุกคนต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับกลายเป็นหลุมดำในใจที่เราอยากมองข้าม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สำหรับวูล์ฟ เขาใช้เวลาถึง 10 ปี ในการครุ่นคิดและตกตะกอนจนสรุปออกมาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความตายที่เรียบง่าย อ่อนโยน และงดงาม โดยเล่าผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าเป็ดและความตาย

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในวันหนึ่งเมื่อเป็ดเริ่มสังเกตเห็นว่าความตายเดินตามมันมาตลอดชีวิต ตอนแรกมันตาเบิกโพลง ตัวแข็งด้วยความหวาดกลัว

“เธอจะมาเอาตัวฉันไปหรอ” เจ้าเป็ดถาม

“โอ้ ฉันก็อยู่ใกล้เธอมาตลอดชีวิตนั่นแหละ..แค่เผื่อไว้น่ะ” ความตายในชุดยาวลายตารางตอบพร้อมยิ้มอย่างเป็นมิตร

ฉันคิดว่าวูล์ฟมีวิธีออกแบบตัวละครความตายที่ชาญฉลาด แม้จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นโครงกระดูกตามภาพจำของคนส่วนใหญ่ แต่ความตายกลับมีหัวโตน่ารัก ชุดยาวที่คลุมตั้งแต่คอถึงข้อเท้าเมื่อมองแวบแรกเราอาจคิดว่าความตายเป็นเด็กผู้หญิง แต่หนังสือกลับใช้คำแทนตัวความตายว่า ‘เขา’ ทำให้ตัวละครนี้ดูไม่มีเพศ ไม่มีวัย

ภาพนี้คล้ายกำลังปลูกฝังเด็กๆ ว่าแม้ความตายจะลึกลับ แต่เขาไม่ใช่สิ่งน่ากลัว

สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านอย่างเราเห็นแต่เจ้าเป็ดไม่เห็นคือ ความตายแอบซ่อนดอกทิวลิปสีแดงปริศนาดอกนึงไว้ด้านหลัง คล้ายกำลังรอเวลาเหมาะเจาะที่จะมอบดอกไม้ให้เจ้าเป็ด เมื่อทั้งสองเริ่มคุยกัน เจ้าเป็ดเริ่มเห็นว่าจริงๆ แล้วเจ้าความตายน่ารักทีเดียว (ถ้าเธอลืมไปได้ว่าเขาเป็นใครน่ะนะ) จากนั้นทั้งสองก็เริ่มออกเดินทางไปด้วยกันพร้อมคุยเรื่องโลกหลังความตาย

หนึ่งในตอนที่ฉันชอบมากคือตอนที่เป็ดชวนความตายไปเล่นน้ำในสระ

“ขอโทษด้วยนะ” ความตายกล่าว “ฉันคงต้องขึ้นจากสระแล้วล่ะ”

“เธอหนาวเหรอ” เจ้าเป็ดถาม “ให้ชั้นช่วยทำให้เธออุ่นขึ้นดีไหม” ว่าแล้วเจ้าเป็ดก็โอบกอดความตายไว้ ความตายแปลกใจมาก เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้กับเขามาก่อน

‘จะเกิดอะไรขึ้นนะ เมื่อฉันตายไปแล้ว สระน้ำแห่งนี้คงเปล่าเปลี่ยวน่าดู’ เจ้าเป็ดคิดในใจ

“เมื่อเธอตาย สระน้ำก็จะหายไปด้วย อย่างน้อยก็สำหรับเธอ” ความตายซึ่งอ่านใจได้กล่าว

ทั้งสองใช้เวลาด้วยกันตลอดฤดูร้อน และเมื่อหิมะแรกโปรยปราย

เจ้าเป็ดก็หยุดหายใจ นอนตัวแข็งทื่อ

ความตายอุ้มเจ้าเป็ดไปลอยในแม่น้ำ บรรจงวางดอกทิวลิปสีแดงลงบนหน้าอกของมัน และยืนมองร่างเจ้าเป็ดลอยไปจนลับสายตา ภาพเบื้องหน้าทำให้ความตายเกือบร้องไห้

‘แต่นี่ก็คือชีวิตล่ะนะ’ เขาคิด

แม้ในตอนจบของหนังสือ เจ้าเป็ดจะตายจากไป แต่น่าประหลาดที่ฉันกลับรู้สึกสงบและอบอุ่น

ส่วนนึงคงเป็นเพราะตัวละครหลักเป็นเป็ดซึ่งเป็นสัตว์น่ารัก เมื่อไม่ใช่คน การจากไปของมันจึงไม่ใช่เรื่องโหดร้ายเกินไปนัก

และอีกส่วน คงเป็นเพราะลายเส้นที่เรียบง่าย ยิ่งการเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน วูล์ฟยิ่งใช้เส้นและสีที่น้อย ตัดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นอย่างพื้นหลังออกจนกลายเป็นสีขาว แม้เรื่องราวจะสะเทือนใจ แต่ความเรียบและนุ่มนวลของสีที่ใช้ก็ทำให้กราฟความรู้สึกของเราสั่นไหวเพียงเล็กน้อย

ฉันคิดว่าสิ่งที่เหนือชั้นไปกว่าลายเส้นที่เรียบง่าย คือการออกแบบสีสันของเจ้าเป็ดและความตาย

ทั้งสองดูจะเป็นตัวแทนคู่ตรงข้ามระหว่างชีวิต และความไร้ชีวิต แต่ภาพของทั้งสองกลับมีโทนสีที่คล้ายกัน คือการใช้เส้นดินสอสีดำ น้ำตาล และฟ้า ร่างอ่อนๆ ลงบนกระดาษเนื้อหยาบสีครีม คล้ายวูล์ฟกำลังอยากสื่อสารว่าความเป็นและความตายหาใช่คู่ตรงข้าม หากแต่เป็นหนึ่งเดียวกัน เขาใช้ภาพสื่อสารกับจิตใต้สำนึก เป็นสิ่งที่ทำให้คนอ่านทุกวัยรู้สึก แต่ไม่รู้ตัวว่านี่คือสิ่งที่นักเขียนตั้งใจบอก

Duck, Death and the Tulip เป็นหนังสือภาพขายดีที่ได้รับการยกย่องในวงการวรรณกรรมสำหรับเด็กว่าเป็น ‘soft philosophical’ หรือ ‘ปรัชญาสายนุ่มนวล’ ALMA (The Astrid Lindgren Memorial Award) รางวัลที่มอบให้วรรณกรรมสำหรับเด็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเคยกล่าวชมเชยวูล์ฟว่า เก่งมากที่บอกเล่าเรื่องความตายออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็อบอุ่น ตลกขบขัน และลุ่มลึกได้ขนาดนี้  

หลังการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2007 เรื่องราวในหนังสือก็ได้รับการดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่น และละครเวทีอีกหลายต่อหลายครั้ง วูล์ฟบอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจให้ Duck, Death and the Tulip เป็นหนังสือเด็ก แต่เป็นหนังสือสำหรับทุกคน เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ความตายอาจโผล่มาทักทายเราและคนรอบข้างได้ทุกเมื่อ

ทุกวินาทีที่มีลมหายใจ เราอาจมีความตายยืนเคียงข้างเสมอ เมื่อการเกิดของชีวิตใหม่เป็นเรื่องธรรมดา การจากไปก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่ต่างกัน

“แต่นี่ก็คือชีวิตล่ะนะ” ความตายในชุดยาวลายทางกล่าว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พนิดา มีเดช

กราฟิกดีไซเนอร์นิตยสาร a day ผู้มักตื่นสาย แต่หลงใหลแสงแดดยามเช้า และข้าวสวยร้อนๆ