ใครกันคือแม่ที่แท้ทรู? True Mothers หนังญี่ปุ่นที่สำรวจ ‘ความเป็นแม่’ ที่แท้จริง

1.

ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบจนถึงขั้นผูกพันมาตั้งแต่เริ่มดูหนังและเป็นนักวิจารณ์ ไม่ว่าจะงานของชุนจิ อิวาอิ, ทาเคชิ คิตาโนะ หรือคิโยชิ คุโรซาวะ ส่วนหนังของผู้กำกับหญิงนาโอมิ คาวาเสะ ก็ได้ดูเกือบทุกเรื่อง แต่คงถือเป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบไม่ได้เต็มปากเพราะมีความสัมพันธ์แบบ love-hate กับผลงานของเธอมาตลอด กล่าวคือบางเรื่องก็ชอบมาก บางเรื่องก็เกลียดจนแทบดูไม่จบ

คาวาเสะทำหนังมายาวนานสามทศวรรษตั้งแต่ยุค 90s ผลงานช่วงแรกของเธอเป็นสารคดีถ่ายฟิล์ม 8 มิลลิเมตร หรือ 16 มิลลิเมตร และมักเล่าเรื่องราวที่แสนจะรวดร้าวเกี่ยวกับครอบครัวของเธอเอง ต่อมาในปลายยุค 90s เธอเริ่มทำหนังฟิกชั่นซึ่งน่าจะจัดได้ว่าเป็น ‘หนังอาร์ต’ ด้วยความที่เล่าเรื่องแบบเชื่องช้า จังหวะนิ่งๆ หลายเรื่องแทรกตำนานพื้นบ้านหรือมีการเข้าป่าดงพงไพร หลายคนเลยเทียบเคียงงานช่วงนี้ของเธอกับหนังของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล 

จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2010 ที่เธอเริ่มหันมาทำหนัง ‘แมส’ และ ‘เข้าถึง’ ง่ายขึ้น หนังของคาวาเสะที่คนไทยรู้จักมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง Sweet Bean (2015) ที่มีคุณป้าคิกิ คิริน ผู้ล่วงลับ รับบทหญิงชราผู้ทำขนมโดรายากิได้อย่างช่ำชอง แต่ถึงจะมีแนวโน้มเป็นหนังทำอาหารน่ารักละมุน Sweet Bean ก็ยังมีองค์ประกอบอาร์ตๆ เหมือนกัน เช่น อยู่ดีๆ ก็มีฉากเตรียมถั่วแดงยาวนานเกือบครึ่งชั่วโมง

ภาพยนตร์ของคาวาเสะนั้นได้ไปประกวดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์แทบทุกเรื่อง นักวิจารณ์บางคนมองว่างานของเธอเหมือนหนังยุโรปมากกว่าหนังญี่ปุ่น อันที่จริงแล้ว True Mothers (2020) หนังล่าสุดของเธอก็ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีมากจนมีศักยภาพจะคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากคานส์ได้ แต่อนิจจาเพราะโควิด คานส์ปี 2020 จึงยกเลิก ความซวยยิ่งกว่านั้นคือคาวาเสะอุตส่าห์ได้รับเลือกเป็นผู้กำกับหนังสารคดีโตเกียวโอลิมปิกปี 2020 แต่งานก็เลื่อนไปเช่นกัน

True Mothers

ยังไงก็ดี อาชีพของเธอยังมีฟ้าหลังฝนอยู่บ้าง เพราะทั้งคนดูและนักวิจารณ์ญี่ปุ่นค่อนข้างชอบ True Mothers และหนังก็ได้เข้าชิงรางวัล Japan Academy Prize (ออสการ์ของญี่ปุ่น) ถึง 7 สาขา นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่คาวาเสะได้รับการยอมรับจากประเทศบ้านเกิด และสิ่งที่น่ายินดีที่สุดคือ True Mothers จะเข้าฉายในไทยด้วย โดยเป็นครั้งแรกที่หนังคาวาเสะเข้าฉายแบบปกติในบ้านเรา

2.

True Mothers สร้างจากนิยายของมิซึกิ สึจิมูระ เล่าถึงสามีชื่อคิโยคาซุ และภรรยาชื่อซาโตโกะ ที่รับเด็กชายมาอุปการะเนื่องจากไม่สามารถมีลูกเองได้ ทั้งสองดูแลเอาใจใส่ลูกเป็นอย่างดี เป็นครอบครัวที่มีความสุขและสงบสุขใกล้เคียงระดับอุดมคติ แต่แล้ววันหนึ่งฮิคาริ–แม่ผู้ให้กำเนิดเด็กก็โทรศัพท์มาหาซาโตโกะว่าเธอต้องการลูกคืน

True Mothers

ภาพยนตร์เรื่องนี้มักถูกประชาสัมพันธ์ทำนองว่าเป็นหนังเมโลดราม่า น้ำเน่า ดูแล้วต้องร้องไห้ ให้เตรียมทิชชูเข้าไปด้วย ฯลฯ ผู้เขียนจึงคาดเดาล่วงหน้าไปว่ามันต้องพูดเรื่องการแย่งชิง ‘ความเป็นแม่’ กันระหว่างซาโตโกะกับฮิคาริ หรือไม่ก็มีฉากบีบหัวใจประเภทลูกชายต้องเลือกระหว่างแม่ตัวจริงหรือแม่เลี้ยง

ทว่าหนังเรื่องนี้แทบจะไม่มีฉากแบบนั้นเลย…

คาวาเสะพยายามใส่ความเมโลดราม่าในงานช่วงหลังของเธอ แต่ด้วยความที่ตั้งต้นมาจากสายอาร์ต การพยายามกำกับหนังให้ ‘เร้าอารมณ์’ ของเธอเลยเหมือนการทดลองสร้างอาหารเมนูใหม่ บางครั้งก็ออกมาเวิร์ก เช่น เรื่อง Sweet Bean หรือบางครั้งก็ล้มเหลว เช่น Radiance (2017) ที่แสนจะเยิ่นเย้อและฟูมฟาย จนผู้เขียนเคยมอบรางวัล ‘หนังลำไยแห่งปี’ ให้

หากแต่ใน True Mothers ดูเหมือนคาวาเสะจะหา ‘จุดสมดุล’ ของความเมโลดราม่าได้อย่างดี โดยผู้เขียนคิดว่ามี 2 องค์ประกอบที่คอยบรรเทาไม่ให้หนังบีบคั้นจนเกินไป ประการแรกคือ หลายช่วงของหนังมีลักษณะเหมือนสารคดี อาทิ การอธิบายถึงขั้นตอนการอุปการะเด็กอย่างละเอียด หรือช่วงที่เล่าถึงสถานดูแลเด็กสาวท้องไม่พร้อม หนังก็เลือกถ่ายทำแบบโฮมวิดีโอไปเลย ซึ่งให้ความรู้สึกที่ดิบและสมจริง

True Mothers

ประการที่สองคือ การแทรกภาพธรรมชาติอย่างภูเขา ท้องฟ้า ทะเล และนกบินเกือบทั้งเรื่อง อันถือเป็น ‘ลายเซ็น’ ประจำตัวของคาวาเสะ ปกติแล้วภาพเหล่านี้มักเป็นเพียงฉากแทรก (insert shot) เพื่อพักสายตาหรือการเปลี่ยนผ่าน (transition) เท่านั้น แต่ภาพธรรมชาติในหนังของคาวาเสะมีความหมายสำคัญเสมอ หลายครั้งมันบ่งบอกถึงสภาวะจิตใจของตัวละคร ส่วนใน True Mothers ภาพธรรมชาติยังเชื่อมโยงกับการที่หนังถ่ายทำในหลายเมืองทั้งนาระ โยโกฮาม่า และฮิโรชิม่า สภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ของแต่ละเมืองดูเหมือนจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ตัวละครเผชิญด้วย

อีกสิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบมากใน True Mothers คือ ‘โครงสร้าง’ ที่ค่อนข้างจะพิสดารของมัน หนังเปิดด้วยเรื่องราวของซาโตโกะ สามี และลูก แต่สักพักก็ตัดไปเล่าถึงฮิคาริ (แม่ตัวจริง) ยาวนานเกือบชั่วโมง นั่นหมายความว่า ‘แม่บุญธรรม’ กับ ‘แม่ตัวจริง’ แทบไม่ได้มาทะเลาะทุ่มเถียงอะไรกันเพราะสองคนนี้ร่วมเฟรมกันไม่กี่ฉาก แต่หนังพยายามไล่เรียงว่ากว่าที่ทั้งคู่จะกลายสภาพมาเป็น ‘แม่คน’ (ทั้งแบบคลอดลูกจริงๆ กับรับเด็กมาเลี้ยง) มีความเป็นมายังไง และยังทำให้เราเห็นว่าความหมายของความเป็นแม่ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคลอย่างเดียว แต่ยังถูกนิยามหรือได้รับอิทธิพลจากครอบครัว คนรอบข้าง และโครงสร้างทางสังคม

การสำรวจตัวละครซาโตโกะและฮิคาริอย่างละเอียดลออเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า หนังเรื่องนี้ของคาวาเสะไม่ใช่หนังเศร้าเรียกน้ำตา (ผู้เขียนไม่ร้องไห้) แต่มันเป็นหนังที่ซึ้งและบางส่วนก็ชวนใจสลายมาก

True Mothers

3.

ปี 2020 เป็นปีที่วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นมีหนังว่าด้วยเรื่องแม่ๆ มากเป็นพิเศษ นอกจากผลงานของคาวาเสะแล้ว อีกเรื่องที่ผู้เขียนขอแนะนำคือ Mother (ดูได้ทางเน็ตฟลิกซ์) หากแต่เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่ชวนซาบซึ้งใจ หนังนำเสนอแม่ประเภทที่ชั่วร้ายและสารเลวสุดๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าแม่บางคนอาจจะรักลูกมาก ขณะเดียวกันก็สามารถฉกฉวยประโยชน์จากลูกได้มากมายเช่นกัน

‘หนังแม่ๆ’ อีกเรื่องอาจเป็นงานเก่าหน่อย แต่ก็ไม่อยากให้พลาดกัน นั่นคือ Rebirth (2011) ที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที Japan Academy Prize (นำแสดงโดยฮิโรมิ นางาซากุ นางเอกเรื่อง True Mothers นี่แหละ) เกี่ยวกับเด็กสาวที่ถูกผู้หญิงคนหนึ่งลักพาตัวไปหลายปี ทว่าหลังจากมาอยู่กับแม่แท้ๆ แล้ว เธอกลับไม่สามารถรักแม่ผู้ให้กำเนิดได้ หากแต่คิดคำนึงถึงแม่ที่ทุกคนบอกว่าเป็นอาชญากร

ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ผู้เขียนกล่าวถึงในบทความนี้ไม่ได้ให้คำตอบเลยว่า ‘แม่ที่แท้จริง’, ‘แม่ที่ถูกต้อง’ หรือ ‘แม่ที่สมควร’ เป็นเช่นไร หากแต่เป็นผลงานที่ใคร่ครวญถึงนิยามความเป็นแม่ที่หลากหลาย และอาจจะฝากเครื่องหมายคำถามไว้กับเรามากกว่าการให้คำตอบแบบสำเร็จรูป


  • True Mothers มีกำหนดเข้าฉายในไทยวันที่ 25 มีนาคม 2564
  • เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้สังเคราะห์มาจากงานเสวนา “โลกของผู้หญิงในหนังญี่ปุ่น” เมื่อ 14 มีนาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan วิทยากรคือภาณุ อารี และไกรวุฒิ จุลพงศธร ดำเนินรายการโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบจนถึงขั้นผูกพันมาตั้งแต่เริ่มดูหนังและเป็นนักวิจารณ์ ไม่ว่าจะงานของ ชุนจิ อิวาอิ, ทาเคชิ คิตาโนะ หรือคิโยชิ คุโรซาวะ ส่วนหนังของผู้กำกับหญิง นาโอมิ คาวาเสะ ก็ได้ดูเกือบทุกเรื่อง แต่คงถือเป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบไม่ได้เต็มปากเพราะมีความสัมพันธ์แบบ love-hate กับผลงานของเธอมาตลอด กล่าวคือบางเรื่องก็ชอบมาก บางเรื่องก็เกลียดจนแทบดูไม่จบ
จนกระทั่งกลางทศวรรษ 2010s ที่เธอเริ่มหันมาทำหนัง iแมส’ และ ‘เข้าถึง’ ง่ายขึ้น หนังของคาวาเสะที่คนไทยรู้จักมากสุดน่าจะเป็นเรื่อง An: Sweet Bean (2015) ที่มีคุณป้าคิกิ คิริน ผู้ล่วงลับรับบทหญิงชราผู้ทำขนมโดรายากิได้อย่างช่ำชอง แต่ถึงจะมีแนวโน้มเป็นหนังทำอาหารน่ารักละมุน An: Sweet Bean ก็ยังมีองค์ประกอบอาร์ตๆ เหมือนกัน เช่น อยู่ดีๆ ก็มีฉากเตรียมถั่วแดงยาวนานเกือบครึ่งชั่วโมง
อย่างไรก็ดี อาชีพของเธอยังมีฟ้าหลังฝนอยู่บ้าง เพราะทั้งคนดูและนักวิจารณ์ญี่ปุ่นค่อนข้างชอบ และหนังก็ได้เข้าชิงรางวัล Japan Academy Prize (ออสการ์ของญี่ปุ่น) ถึง 7 สาขา นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่คาวาเสะได้รับการยอมรับจากประเทศบ้านเกิด และสิ่งที่น่ายินดีที่สุดคือ True Mothers จะเข้าฉายในไทยด้วยโดยเป็นครั้งแรกที่หนังคาวาเสะเข้าฉายแบบปกติในบ้านเรา
คาวาเสะทำหนังมายาวนานสามทศวรรษตั้งแต่ยุค 90s ผลงานช่วงแรกของเธอเป็นสารคดีถ่ายฟิล์ม 8 หรือ 16 มิลลิเมตรและมักเล่าเรื่องราวที่แสนจะรวดร้าวเกี่ยวกับครอบครัวของเธอเอง ต่อมาในปลายยุค 90s เธอเริ่มทำหนังฟิคชั่นซึ่งน่าจะจัดได้ว่าเป็น ‘หนังอาร์ต’ ด้วยความเล่าเรื่องแบบเชื่องช้า จังหวะนิ่งๆ หลายเรื่องแทรกตำนานพื้นบ้านหรือมีการเข้าป่าดงพงไพร หลายคนเลยเทียบเคียงงานช่วงนี้ของเธอกับหนังของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล 
ภาพยนตร์ของคาวาเสะนั้นได้ไปประกวดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์แทบทุกเรื่อง นักวิจารณ์บางคนมองว่างานของเธอเหมือนหนังยุโรปมากกว่าหนังญี่ปุ่น อันที่จริงแล้ว หนังล่าสุดของเธอก็ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีมากจนมีศักยภาพจะคว้ารางวัลปาล์มทองจากคานส์ได้ แต่อนิจจาเพราะโควิด คานส์ปี 2020 จึงยกเลิก ความซวยยิ่งกว่านั้นคือคาวาเสะอุตส่าห์ได้รับเลือกเป็นผู้กำกับหนังสารคดีโตเกียวโอลิมปิก 2020 แต่งานก็เลื่อนไปเช่นกัน

AUTHOR