Adorkable ค่านิยมของ Gen Z ที่ยึดถือความเด๋อด๋าไม่ปรุงแต่งมากกว่าภาพลักษณ์ตามมาตรฐาน

Adorkable ค่านิยมของ Gen Z ที่ยึดถือความเด๋อด๋าไม่ปรุงแต่งมากกว่าภาพลักษณ์ตามมาตรฐาน

ปี 2021 นิตยสาร Bloomberg ได้ขนานนามว่า Generation Z ว่าเป็นรุ่นแห่งความ Adorkable

คงเดาได้ไม่ยากว่าคำนี้มีรากศัพท์จาก ‘Adorable’ แปลว่า น่ารัก น่าเอ็นดู ผสมกับคำว่า ‘Dork’ เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ดูเด๋อ ไม่เท่ ซึ่งไม่ใช่คำด่าหรือมีความหมายเป็นลบแต่อย่างใด

คำนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ใน Collins English Dictionary ตั้งแต่ปี 2014 หรือ 8 ปีที่แล้ว แต่ยังถูกนำมาใช้เรื่อยๆ Collins สืบกลับไปได้ว่าคำนี้ปรากฏบน Twitter ครั้งแรกในปี 2007 แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเริ่มต้นที่ไหน ส่วนเว็บไซต์ Vulture สืบกลับไปพบว่ามีการใช้คำนี้ในบล็อกหนึ่งตั้งแต่ปี 2001

ไม่ว่าจะเริ่มที่ไหนและอย่างไร คำนี้กลายเป็นคำเรียบง่าย ติดปาก จำง่าย และถูกใช้มาเรื่อยๆ จนเริ่มกลายเป็นคำที่คนคุ้นเคยเพราะเดาความหมายได้ไม่ยาก เป็นที่นิยมจนถูกบรรจุอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษหลายแห่ง

พจนานุกรม Cambridge Dictionary ให้นิยามคำนี้ไว่ว่า “สิ่งของหรือคน” ที่ดูเข้าสังคมลำบาก ดูไม่ทันสมัย ในลักษณะที่ทำให้คุณรู้สึกรักหรือชอบคนนั้นหรือสิ่งนั้น

ส่วน Dictionary.com อธิบายว่า คำนี้ใช้อธิบายลักษณะของคนที่น่ารัก โดยที่เขามีลักษณะของความ ‘Dorky’ คืองุ่มง่าม เปิ่น หรือมีความสนใจที่แปลกประหลาด

ทั้งนี้คำว่า Dork คือความเฉิ่ม เด๋อ เปิ่น เข้าสังคมไม่เก่ง แปลกพิลึก สามารถมีความหมายเป็นในเชิงบวกและลบขึ้นกับบริบทของการใช้ ในบริบทของ Adorkable ความ Dork ความเปิ่น ความเด๋อถูกทำให้กลายเป็นลักษณะที่ดึงดูด น่าเอ็นดู น่าสนใจ มีเสน่ห์แบบไม่ปรุงแต่ง ไม่ต้องคูล ไม่ต้องสวยงามตามมาตรฐาน

เมื่อย้อนดูในภาพยนตร์ป๊อบคัลเจอร์ ตัวละครที่เป็นภาพจำของความ ‘Dork’ เช่น ตัวละคร Luna Lovegood ในแฮรี่ พอตเตอร์ที่ถูกนิยามว่าเป็นคนเพี้ยนๆ แปลกๆ หรือ Napoloen Dynamite หนุ่มเนิร์ดวัยรุ่นมีเพื่อนน้อยในหนังคัลท์ชื่อเดียวกับตัวละครนี้ ถ้าหากจะให้ยกตัวอย่างถึงตัวละครในปี 2022 นี้ ผู้เขียนก็คงจะนึกถึงคุณทนายอูยองอู สุดน่ารัก จากซีรีส์เกาหลียอดฮิต Extraordinary Attorney Woo เธอเป็นทนายความสาวอัจฉริยะ แต่เข้าสังคมไม่เก่งเพราะมีอาการออทิสติกที่เรียกว่า Autistic Spectrum หนังนำเสนอความจริงใจ ความสดใส และความยากลำบากในการเข้าสังคมของคนที่มีอาการออทิสติกสเปกตรัมได้อย่างน่าประทับใจ ทำให้คนดูคอยลุ้นอยากเอาใจช่วย และเข้าใจคนที่มีอาการออทิสติกมากขึ้น

ตัวละครนโปเลียน ไดนาไมท์ในหนัง Napoleon Dynamite (2004)
ตัวละครทนายอูยองอู จากหนัง หนัง Extraordinary Attorney Woo (2022) ผู้มีอาการออทิสติกแต่สามารถเป็นทนายที่ยอดเยี่ยม

การใช้คำนี้อธิบายถึงตัวละคร ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด ย้อนกลับไปในยุคปี 2011 คำนี้ได้ถูกใช้ในแคมเปญการตลาดเพื่อแนะนำตัวละครในทีวี เรื่อง ‘New Girl’ แสดงนำโดย Zooey Deschanel และคำนี้มักถูกใช้ชมดารา หรือคนที่เรารู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดูเรื่อยมา

เวลาผ่านไปหลายปี Huffington Post รายงานระบุว่า Zooey เองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าคำนี้ เป็นแค่คำนิยามเชิงการตลาดเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมาหลายปี เธอในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้รู้สึกยินดีหรือเชื่อมโยงกับคำนิยามว่า ‘adorkable’ นี้แล้ว คำนี้ได้ถูกหยิบมาใช้นิยามคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เราก็ไม่สามารถจะสรุปคนที่เกิดช่วงเวลาเดียวกันไว้ด้วยคำสั้นๆ เพียงคำเดียวได้ ในอนาคตข้างหน้า คนวัย Gen Z ก็อาจจะเติบโตและไม่ยึดโยงกับคุณค่าความ Adorkable อีกต่อไป

Zooey Deschanel นำแสดงนำในละครทีวี New Girl (2011-2018) ผู้ถูกนิยามว่า ‘Adorkable’ ในระลอกก่อนหน้า

คุณค่าที่สำคัญกับคนรุ่นใหม่ คือความจริงใจไม่สร้างภาพ

Bloomberg อธิบายว่าทำไมคำนี้ถึงเหมาะสมที่จะใช้แทนคนวัย Gen Z (ผู้เกิดในช่วงปี 1997 to 2012) โดยยกตัวอย่างเรื่อง ‘สิว’ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมและการตลาดพยายามขายภาพจำว่าสิวคือเรื่องน่าอายที่ต้องปกปิดและต้องควบคุมให้อยู่หมัด โฆษณามักใช้นักแสดงหรือนางแบบนายแบบที่ผิวดีอยู่แล้วเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ควบคุมสิวเพื่อให้คนรู้สึกอายที่มีสิว

แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา แบรนด์ที่เชื่อในคุณค่าแบบ Adorkable เช่น Clearasil เลือกปรับการเล่าเรื่องในโฆษณาใหม่เป็นการแสดงภาพที่แท้จริง ใช้คนที่ไม่เพอร์เฟค และแสดงหน้าคนที่มีสิวจริงๆ เพื่อโฆษณาความเรียล มีการใช้คำอย่างเช่น ‘Acne Positivity’ ลบภาพว่า สิว = น่าอาย สู่การทำให้เป็นเรื่องปกติ หรือ นอกจากนี้นยังเกิดแบรนด์ STARFACE แผ่นปิดบรรเทาสิวที่ไม่ได้พยายามจะใช้สีเนื้อกลืนไปกับผิวแต่เลือกแผ่นแปะสิวเป็นรูปดวงดาวสีเหลืองสะท้อนแสงแสบตาสุดสดใส

https://starface.world/ หน้าเวบไซต์ของ Starface
แผ่นแปะรูขุมขนรูปคิตตี้ และภาพที่ไม่ได้รีทัชสิว หรือรูขุมขน ของแบรนด์ STARFACE

แบรนด์เหล่านี้เชื่อว่า ค่านิยมของ Gen Z ยึดถือคือความเรียล ความจริงใจ ไม่ปรุงแต่ง พวกเขาไม่แยแสที่จะความแตกต่างจากคนอื่น ไม่กลัวเด๋อ ไม่จำเป็นตรงตามภาพมาตรฐานที่ดีงามแบบที่โลกคุ้นเคย

ค่านิยมของคนรุ่นใหม่จึงไม่แคร์ที่คนอื่นจะเห็นความไม่สมบูรณ์แบบของเขา เช่น หน้าเป็นสิว ผิวแตกลาย กางเกงเปื้อนประจำเดือน หรือการเข้าสังคมไม่เก่ง พวกเขาเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องปิดบังหรือรู้สึกผิด แต่เป็นเรื่องที่เราสามารถยอมรับตัวเองได้ และบอกกับคนอื่นได้ว่าเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เพื่อให้เห็นภาพชัด คน Gen Z ก็มักถูกเปรียบเทียบกับคนเจน Y บ่อยครั้ง ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนรุ่นนั้นๆ อย่าง Facebook และ Instagram ที่คนเจน Y ให้มักคุณค่าที่ยึดถือคือความดูดี ดูสมบูรณ์แบบไร้ที่ติรู้สึกชีวิตดีลงตัวสวยงามด้วยหน้า Instagram ที่ถูกเรียบเรียงคุมโทนอย่างดีสวยงามเป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มยอดนิยมของ Gen Z อย่าง TikTok ที่ไม่เน้นรักษาภาพลักษณ์ แต่เน้นสนุก รวดเร็ว ไม่ต้องเพอร์เฟคแต่ Relatable หรือเข้าถึงได้คือคุณค่าที่ Gen Z นิยมกว่าความสมบูรณ์แบบคุมโทน สวยแบบเรียบๆ เซฟๆ หรือดูสวยแบบไร้ที่ติ นั้นดูน่าเบื่อ ทั่วไป และไม่ดึงดูดอีกต่อไป

ต่างจากยุคสมัยแห่ง Instagrammable ที่สิ่งของและสถานที่ถูกสร้างมาโดยหวังว่าถ่ายลงอินสตาแกรมแล้วจะดูดี ค่านิยมของ Adorkable เน้นความเป็นกันเอง ผ่อนคลาย สู่ชีวิตที่ไม่ต้องการฟิลเตอร์ปรุงแต่ง ผิดพลาดได้ ไม่ต้องเกร็ง หลายสื่อสังเกตว่าคน Gen Z ไม่แคร์ที่จะลงรูปตัวเองหน้าสด พื้นหลังเซลฟี่เป็นห้องรกๆ เพราะพวกเขาไม่ซีเรียสเรื่องภาพลักษณ์ ไม่กลัวที่จะผิดพลาด ในทวิตเตอร์สามารถบ่นยืดยาวเป็นพันๆ ข้อความผ่านทวิตเตอร์โดยไม่ได้คิดมาก

ผลจากค่านิยมนี้เองทำให้แอพพลิเคชันอย่าง Bereal เริ่มเป็นที่นิยม เนื่องจากมีฟีเจอร์จำกัดให้คนสามารถลงได้แค่วันละรูปเท่านั้น โดยถ่ายกล้องหน้ากล้องหลังพร้อมกันในระยะเวลาที่จำกัด ไม่มีฟิลเตอร์ เน้นความสด ความ ไว และความเรียล ไม่ปรุงแต่ง ไม่ต้องเสียเวลาแต่งรูปนานๆ ลงเสร็จแล้วจบเลย

ตัวอย่าง BEREAL โซเชียลมีเดียที่ให้คนลงรูปเวลาเดียวกัน วันละรูป และแก้ไขไม่ได้ ไม่มีฟิลเตอร์

Gen Z ส่งเสียงไปให้แบรนด์ต่างๆ รู้สึกว่าต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตาม คนรุ่นนี้ต้องการแบรนด์ที่ตรงไปตรงมา จริงใจ ไม่รักษาภาพลักษณ์ พูดภาษาเดียวกับเขา สิ่งนี้สามารถ disrupt ค่านิยมการตลาด รวมทั้งค่านิยมความงามแบบเก่าให้ปรับตัว แถมสะท้อนว่าแบรนด์ต่างๆ ไม่ได้มีคนรุ่นเจน Y เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากความ Adorkable คือความน่ารักโดยไม่พยายาม ก็มีกระแสวิพากษ์แบรนด์ต่างๆ ที่พยายามสร้างภาพให้ตามทันวัยรุ่น แบรนด์เหล่าพยายามโดยออกแคมเปญที่ดู Adorkable เพื่อความเป็นกันเอง และจริงใจ โดยหวังจะดึงดูดกลุ่มคน Gen Z ไว้ได้เพื่อเป็นที่จดจำเพื่อกระตุ้นยอดขาย และถูกจดจำโดยวัยรุ่น

แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามต่อไปว่า ความพยายามจะ Adorkable เพื่อให้ตามทันวัยรุ่น ก็อาจจะทำลายคุณค่าสำคัญของคำนี้ลงไป เพราะ Adorkable คือความน่ารักในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สร้างภาพ ไม่พยายาม แต่หากตั้งใจก็ย่อมจะขัดกับคุณค่าของความไม่ปรุงแต่งที่เป็นคุณค่าหลักของคำนี้ บางคนมองว่าการใช้คำว่า adorkable นิยามแบรนด์ตัวเองนั้นออกจะน่าเขินและน่ากระอักกระอ่วน

Adorkable เป็นอีกคำใหม่ที่ถูกหยิบมาใช้นิยามคนรุ่นใหม่ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นในปีสองปีนี้ แต่เราคิดว่าน่าสนใจ และคนวัยรุ่นจำนวนมากก็อาจจะไม่เห็นด้วยที่โดนเหมารวมด้วยคำๆ เดียวที่นิยามรุ่นของพวกเขาที่มีความแตกต่างหลากหลาย

อย่างไรก็ดี เราก็ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เด๋อ หรือแปลก แตกต่าง เพื่อให้น่ารักน่าสนใจ ตามสมัยแต่อย่างใด แค่ผ่อนคลาย และโอบรับความงามและความน่ารักที่ไม่ต้องเพอร์เฟค คีปลุค คุมโทนอีกต่อไป แค่เป็นตัวเองแล้วสบายใจ พึงพอใจก็พอแล้ว 🙂

อ้างอิง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ksmac

Ordinary person who’s trying to do non-ordinary work.