ตามไปดู ‘UBON AGENDA วาระวาริน’ ศิลปะการต่อต้านรัฐบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกลืม

Highlights

  • หลังจากประสบความสำเร็จจากการเปิดพื้นที่ศิลปะในตึกร้างจังหวัดขอนแก่น ครั้งนี้ ถนอม ชาภักดี มารับบทบาทเป็นภารโรง เปิดพื้นที่ศิลปะในโรงเรียนร้างกลางเมืองอุบลราชธานี
  • นิทรรศนี้ชื่อว่า Ubon Agenda วาระ วาริน โดยมีคำบรรยายงานที่ว่า ‘จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม’ เพื่อสื่อสารถึงการต่อสู้และต่อต้านอำนาจกดทับจากรัฐโดยคนอุบลฯ
  • นอกจากเปิดพื้นที่ศิลปะให้หลากหลายในวงการแล้ว งานนี้ยังช่วยเปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้กันอีกด้วย
  • นิทรรศการ Ubon Agenda วาระวาริน จัดขึ้นที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูล ระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2563 

ถ้าหยิบประโยคที่ว่า ‘ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน’ มาอธิบายถึงคนอุบลฯ เชื่อได้เลยว่าเวลา 120 ปีพิสูจน์ให้ได้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นนักสู้ และเหตุการณ์เหล่านี้ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดี   

5 เดือนแล้วที่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ทำงาน และออกเดินทางจากอุบลฯ ตามหา วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายผู้ถูกอุ้มหายจากที่พัก หลังจากเขาลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน เหตุเพราะวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และถูกเรียกให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

10 ปีที่แล้วคือจุดเริ่มต้นของความทรงจำต่อเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ และความเจ็บปวดของครอบครัวที่ถูกดำเนินคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ

44 ปีมาแล้วที่ ชุมพล ทุมไมย เดินทางจากอุบลไปนครปฐมกับพ่อ เพราะเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าศพของชุมพร ทุมไทย น้องชายของเขาถูกแขวนหน้าประตูกับ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา หลังจากติดประกาศคัดค้านการกลับเข้าประเทศของผู้นำเผด็จการอย่างถนอม กิตติขจร

87 ปีที่แล้ว ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ลงสมัครเป็น ส.ส.จากอุบลฯ คนแรก หลังจากประเทศไทยเปลี่ยนระบอบเป็นประชาธิปไตย เขารับผิดชอบขบวนการเสรีไทยในอุบลฯ และได้เป็นรัฐมนตรีในสองรัฐบาล ภายหลังจากการทำงานขัดขาผู้มีอำนาจ เขาถูกลอบสังหารพร้อมรัฐมนตรีคนอีสานอีก 3 คน

119 ปีกับเหตุการณ์ล้อมปราบกบฏผีบุญด้วยปืนใหญ่โดยรัฐสยาม หลังจากพยายามควบรวมพื้นที่ลาวฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเข้าอยู่ใต้อาณัติการปกครองของสยาม ซึ่งปัจจุบันคือตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับคนอุบลฯ อย่างเรา เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่บอกว่าเกิดอะไรขึ้นตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่เป็นเครื่องตอกย้ำถึงการกดทับและความพยายามดิ้นหลุดออกจากพันธนาการอำนาจ ซึ่งไม่เคยถูกบอกเล่าในหนังสือเรียนเล่มไหนในโรงเรียน

แต่ตอนนี้เรื่องราวเหล่านี้กำลังมีชีวิตอีกครั้งผ่านนิทรรศการศิลปะ UBON AGENDA : วาระวาริน 2020 ซึ่งจัดขึ้นบนพื้นที่เก่าของโรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา โดยมี ถนอม ชาภักดี มารับบทเป็นภารโรงผู้เปิดปฏิบัติการศิลปะในพื้นที่ประวัติศาสตร์ พร้อมนักปฏิบัติการศิลปะอีกหลายคนที่มาสร้างมุมมองงานศิลปะใหม่ๆ ในจังหวัดอุบลฯ

หาก พ.ศ.นี้การเบิกเนตรเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่สนใจ การรู้จักและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอุบลฯ ผ่านนิทรรศการนี้คงเป็นหนึ่งวาระตาสว่างที่เราอยากชวนทุกคนไปสัมผัสพร้อมกัน 

เปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถนอมเคยสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการศิลปะ ด้วยการจัด Khonkaen Manifesto งานศิลปะบนตึก GF ที่ถูกทิ้งร้างบนถนนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น หลังงานนั้นเสร็จสิ้นลง เขาก็เริ่มมีไอเดียทำงานศิลปะบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ในจังหวัดอุบลราชธานี 

“เราเลือกพื้นที่ปฏิบัติการศิลปะจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นๆ” ถนอมให้เหตุผล 

“อุบลฯ เป็นจังหวัดเดียวที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘ราชธานี’ ซึ่งมีความหมายว่าเมืองของพระราชา แต่ประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐของคนอุบลฯ มีมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 ทั้งกบฏผู้มีบุญ, 4 ส.ส.อีสาน, หรือแม้กระทั่ง 6 ตุลา 19” 

นักวิจารณ์ศิลปะผู้มีพื้นเพอีสานจึงชักชวนกัลยาณมิตรคนอุบลฯ มาร่วมค้นหาพื้นที่ร้างต้อนรับงานศิลปะ จนมาเจอกับโรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่คนพื้นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 แต่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว

ถนอมบอกว่าการมาเจอพื้นที่โรงเรียนร้างแห่งนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหนึ่ง ความหมายโดยทั่วไปของโรงเรียนคือพื้นที่ที่รัฐสมัยใหม่หล่อหลอมและบ่มเพาะให้คนมีความคิดตามแบบรัฐส่วนกลาง ยึดถืออุดมการณ์รักชาติ และเดินตามกรอบที่รัฐกำหนด การใช้พื้นที่โรงเรียนจึงเสมือนพูดถึงกลไกของรัฐ 

และสอง ความหมายเฉพาะตัวของโรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษานั้นพันผูกกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอุบลฯ อย่างลึกซึ้ง

“โรงเรียนตั้งใจอนุกูลฯ ตั้งอยู่บนถนนเบ็ญจะมะฯ ซึ่งรายล้อมด้วยศูนย์ราชการและพื้นที่สำคัญ เช่น ทุ่งศรีเมือง แต่เดิมเคยเป็นลานประหารกบฏผีบุญ ถัดมาทางทิศเหนือทุ่งศรีเมือง คือพื้นที่เก่าวังสงัดของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้ดูการประหารกบฏจากที่นี่ ส่วนทิศใต้ทุ่งศรีเมือง คือคุกเก่าที่มีห้องขังนักโทษกบฏอยู่ใต้ดิน ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว”

กบฏผู้มีบุญ หรือที่รัฐบันทึกว่าเป็นกบฏผีบุญ คือเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐสยามที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ขณะที่สยามกำลังจะก่อร่างเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้การบีบคั้นของการเมืองโลก

“แต่ก่อนมันยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาติ มันเป็นเรื่องเจ้าเมืองหัวเมือง นครรัฐที่โบราณมาก สยามไม่เคยคิดจะรวมลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงหรืออีสานในปัจจุบันเข้าเป็นสยามเลย แต่พอโลกเปลี่ยน ทุกที่ต้องกำหนดพรมแดน เพราะเริ่มมีเจ้าอาณานิคมเข้ามาแล้ว อย่างเช่นฝรั่งเศสที่เข้ามาฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง” ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานเล่า

“ทีนี้สยามจะอยู่ตรงไหน เขาก็ตีเขตแดนมาถึงอุบล โดยใช้แม่น้ำโขงแบ่งกับฝรั่งเศส แต่พื้นที่เหล่านี้มีเจ้าเมืองปกครองอยู่แล้ว และส่งส่วยให้สยามมาก่อน พอถูกควบรวมให้อยู่กับสยามก็ถูกบังคับมากขึ้น มีกำหนดการส่งส่วยที่เข้มงวดขึ้น เจ้าท้องถิ่นก็เสียประโยชน์ ราษฎรท้องที่ถูกกดขี่ขูดรีดมากขึ้น”

Ubon Agenda

หลังปี พ.ศ. 2444 ความไม่พอใจต่อสยามเริ่มคุกรุ่น รวมกับว่าแต่เดิมคนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงมีวิธีคิดแบบพุทธที่เชื่อในโลกพระศรีอริยเมตไตรย ที่ซึ่ง ‘ผู้มีบุญ’ จะมาโปรดให้ราษฎรได้อะไรก็ตามที่เนรมิตคิดฝัน ผู้คนจึงลุกขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราวการถูกกดขี่และพูดถึงผู้มีบุญที่จะนำพาทุกคนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าผ่านกลอนลำ หมอลำพื้นถิ่น จนเมื่อมีคนร่วมต่อต้านอำนาจสยามมากถึง 400 คน รัชกาลที่ 5 จึงส่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาล้อมปราบกบฏผู้มีบุญด้วยปืนใหญ่ที่ตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล และจับบางส่วนมาประหารที่ลานทุ่งศรีเมือง 

หากให้บอกเล่าจากประสบการณ์จริง ในฐานะคนที่เคยเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด เราไม่เคยได้เรียนเรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านี้ในชั่วโมงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ 4 ส.ส.อีสาน, ขบวนการคอมมิวนิสม์, การต่อสู้ของคนเสื้อแดง กระทั่งความพยายามตามหาการหายตัวไปของรุ่นพี่ในโรงเรียนอย่าง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เรายังได้ยินจากน้องในโรงเรียนว่าเรื่องนี้ถูกทำให้เงียบไปโดยปริยาย

“ระบบการศึกษานั่นแหละที่ทำให้เรื่องเหล่านี้หายไป ประวัติศาสตร์ในตำราไทยคือประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ถูกเขียนโดยชนชั้นที่ปกครอง สร้างประวัติศาสตร์เพื่อให้ผู้ปกครองดูดี ในขณะที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแทบจะไม่ถูกบรรจุ แต่มันถูกเล่าผ่านมุขปาฐะ จำต่อๆ กันมา ผ่านกลอนลำ ผ่านนิทานพื้นบ้าน” ธีระพลอธิบาย

เปิดพื้นที่สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน

จากเรื่องราวทั้งหมดในประวัติศาสตร์ ถนอมเลือกอธิบายงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วยคำว่า ‘จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิมและเรื่องราวเหล่านี้ยังเป็นวัตถุดิบการทำงานศิลปะให้กับนักปฏิบัติการศิลปะส่วนหนึ่งที่มาร่วมงานครั้งนี้ อย่างเช่น ภาพท้องฟ้าสีฝุ่นในห้องเรียน ซึ่งศิลปิน นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ใช้บอกเล่าเรื่องราวก่อนเกิดเหตุการณ์ล้อมสังหารนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา 

Ubon Agenda

“ผมถ่ายภาพต้นแบบของท้องฟ้าที่หน้าบ้านในวันที่ 24 มิถุนาของปีนี้ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าต้องบันทึกวันสำคัญของหลายปีที่แล้วไว้หน่อย เพิ่งมาคิดตอนหลังว่าน่าหยิบสัญญะหรือภาษาบางอย่างมาเรียงร้อยกันเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนได้คิด เพราะถ้า UBON AGENDA คือวาระของการเปิดประเด็นอะไรสักอย่าง โดยใช้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ทางการศึกษา 6 ตุลาฯ ก็เป็นจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกจำ” 

Ubon Agenda

เราจึงได้เห็นเอกสารสองชิ้นวางอยู่ในตู้หน้าห้องเรียนอันเป็นที่จัดแสดงภาพท้องฟ้าสีฝุ่น ตู้นั้นอยู่ห่างกัน สื่อนัยถึงความแตกต่างของเนื้อหาในเอกสารสองชิ้น

ชิ้นแรกคือบันทึกถ้อยคำของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาหลังจากลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศอังกฤษแล้ว ใส่กรอบเอาไว้พร้อมผงดินข้างใน ส่วนภาพฟ้าสีฝุ่นนิพันธ์คัดเฉพาะข้อความส่วนที่พูดถึงวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และชุมพร ทุมไมย ช่างไฟฟ้าที่ถูกพบศพบนประตูแดง เพราะได้ดูสารคดีสองพี่น้องที่ทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลาได้ไปสัมภาษณ์ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของชุมพรเอาไว้

Ubon Agenda

“ผมคิดว่าประตูแดงคงเป็นกรณีเดียวกันกับวันเฉลิม มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่ยังคงคลุมเครืออยู่ เป็นเรื่องที่เราควรจะย้อนกลับไปดู เพื่อที่จะพูดคุยกัน และเพื่อให้มันกระจ่าง” ศิลปินอธิบาย

ส่วนชิ้นที่สองคือเอกสารที่ฝ่ายปฏิรูปการปกครองแผ่นดินบันทึกข้อเท็จจริงในวันนั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแบบไหน นิพันธ์บอกให้เราลองอ่านดูเอง ส่วนในเชิงภาษาของศิลปะ เขาเลือกปรินต์เอกสารนี้แบบบลูสกรีน ซึ่งเป็นการเคลือบภาพด้วยสีฟ้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมมองเห็นเลเยอร์อะไรบางอย่าง ซึ่งเขาหมายเหตุว่าการใช้บลูสกรีนก็เพื่อประเด็นนี้เท่านั้น ไม่ได้ต้องการสื่อถึงประเด็นอื่นๆ แต่อย่างใด

Ubon Agenda

ถัดจากงานของนิพันธ์ ห้องข้างๆ กันมีงาน ‘อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย’ ของธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ซึ่งหยิบเรื่องราวตั้งแต่ช่วงแบ่งเขตแดนของสยามกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน

“ถ้าเราบอกว่าคนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศ เรามาอาศัยเขาอยู่ คนอีสานหนักกว่านั้นอีก เพราะเขาถูกล่าอาณานิคมตามความหมายของตะวันตกเลย” ธเนศเริ่มต้นเล่า

Ubon Agenda

Ubon Agenda

“ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 วัฒนธรรมคนลาวถูกรวบให้เป็นคนไทย เปลี่ยนชื่อให้เป็นคนอีสาน ชื่อเมืองอุบลราชธานีก็มาจากการเอาภาษากรุงเทพฯ มาคลุมทับ เพื่อกดทับตัวตน เราเลยนึกถึงสุภาษิตไทยที่บอกให้เรานอบน้อมในลำดับชั้นคือ ‘อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น’

ประกอบกับว่าคนอีสานหรือคนเสื้อแดงมักถูกกดทับว่าเป็นควายแดง ธเนศจึงถามเรื่องคนเสื้อแดงจากธีระพลจนได้รู้จักกับครอบครัวของสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ซึ่งถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตจากคดีเผาศาลากลางจังหวัด ระหว่างที่สมศักดิ์อยู่ในเรือนจำ พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต ส่วนลูกชายที่เป็นมะเร็งก็ไม่ได้เจอหน้ากันในวาระสุดท้าย ต่อมาเขาเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตและได้รับการปล่อยตัวในช่วงนโยบายการปรองดองของรัฐบาล คสช.

“ผมเลยชวนครอบครัวเขาซึ่งมีภรรยาและลูกสาวมาปั้นควาย โดยใช้ดินจากแม่น้ำมูล ก่อนวันเปิดงานเขามานั่งปั้นไปก็ร้องไห้กันไป

“แล้วในภาษาอีสานคำว่าควายคือ ควย ซึ่งมันเป็นคำด่าอย่างที่เรารู้ ถ้าพูดตรงๆ คือ มันเป็นการเอาสุภาษิตที่กดทับเรามาให้ควยกับฝั่งนู้น” 

Ubon Agenda

ในชั้นเดียวกันกับงานของศิลปินทั้งสองคน ยังมีเสื้อผ้า แว่นตา และหมวกของวันเฉลิมที่จัดแสดง พร้อมพื้นที่เล็กๆ สำหรับวางดอกไม้ให้กับนักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงการต่อสู้ของคนอุบลฯ ที่จะไม่ยอมถูกกดขี่จากอำนาจรัฐ

Ubon Agenda

เปิดพื้นที่ศิลปะของท้องถิ่น

นอกจากนี้ในงาน UBON AGENDA ยังมีอีกหลากหลายศิลปินมาร่วมจัดแสดงผลงาน รวมทั้งมีงานศิลปะที่พูดถึงการต่อต้านอำนาจรัฐในพื้นที่อื่นๆ ของไทยอีกด้วย เช่น ผลงานของ อำพรรณี สะเตาะ ที่พูดถึงการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ, การเอาสิ่งของป้องกันการสลายชุมนุมของม็อบปี 2020 มาจัดแสดงโดยดุษฎี ฮันตระกูล หรืองานของศิลปินจาก Human ร้าย Human Wrong ที่ลงพื้นที่พูดคุยกับเด็กชายขอบในจังหวัดเชียงใหม่

Ubon Agenda

แม้ UBON AGENDA จะเปิดพื้นที่ศิลปะใหม่ๆ ให้กับเมืองอุบล และยังเปิดพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่อยากให้จำ แต่ถนอมยอมรับว่างานยังไม่บรรลุเป้าประสงค์แรกที่เขาและทีมวางไว้

“มีข้อทวงติงมาเยอะเรื่องพื้นที่งานไม่ค่อยเกี่ยวโยงกับศิลปินท้องถิ่น อันนี้เห็นด้วย และเราเปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย

“แต่ประเด็นที่เราอยากเน้นคือ ลักษณะการทำงานในพื้นที่หรือ site-specific ไม่ง่าย ซึ่งจะแตกต่างกับการทำงานในหอศิลป์ เพราะมีการต่อรองในพื้นที่หลายระดับมาก หนึ่ง–คุณต้องเข้าใจชุมชนก่อน สอง–คุณต้องเข้าใจพื้นที่ว่ามีคอนฟลิกต์อะไร สาม –ศิลปินต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อจะได้เข้าใจบริบทของพื้นที่ และสี่–คุณจะใช้งานพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วมแบบไหน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ไม่งั้นงานมันก็จะตาย” ถนอมทบทวนภาพรวมของงานนี้

Ubon Agenda

Ubon Agenda

ส่วนทีมงานคนอื่นๆ มองว่าการโปรโมตให้คนมาเข้าร่วมยังไม่เยอะเท่าที่ควร ทำให้เป้าหมายที่อยากให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับปฏิบัติการศิลปะในโรงเรียนร้างยังน้อย

“มันมีการเปิดให้คนเข้าร่วม แต่อาจจะยังเรียกคนเข้ามาได้ไม่มากนัก และเขาคงไม่กล้ามาด้วย จึงต้องเข้าหาเขามากกว่านี้อีกหน่อย แม้ว่างานนี้จะไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่เราวางไว้ตอนแรก แต่ก็อยากให้มีงานแบบนี้ในอุบลฯ ต่อไปอีก ถือว่างานนี้เป็นการเริ่มต้น” นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานบอก

Ubon Agenda

ถึงอย่างนั้น โชคชัย ตักโพธิ์ ศิลปินมรดกอีสานวัย 70 ปีผู้นำผลงานชุดนักเรียนเปื้อนสีพร้อมไม้ค้ำที่สื่อถึงวลี ‘ผู้บริสุทธิ์ถูกกระทำ’ มาร่วมจัดแสดง มองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำเสนองานศิลปะในอุบลฯ และเป็นการสร้างคุณค่าและประวัติศาสตร์ในพื้นที่งานศิลปะ

“จริงๆ คนอุบลฯ สนใจเรื่องนี้เยอะ ผมว่างานนี้เป็นการจุดระเบิดให้คนสนใจและเข้าถึงศิลปะ เป็นการทำให้ความหลากหลายกระจายตัว และกระตุ้นให้วงการศิลปะอุบลฯ เติบโตโคตรๆ เลย 

“แค่มีคนตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์และพูดถึงการจัดงานศิลปะในโรงเรียนร้างนี่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” เขาทิ้งท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ภูรินทร์ จำศรี

ช่างภาพไทบ้านที่มีสายโลหิตเป็นแอลกอฮอล์ ผู้ชื่นชอบความอิสระและกำลังค้นหาความหมายของคำว่า 'รัก'