อะไรอยู่ในท้องเต่า
อาหารเหรอ หรือจะเป็น พลาสติก เศษอวน เศษผ้า ตะขอเบ็ด เชือก
ถ้าเราพูดถึงปัญหาขยะและมลพิษทางทะเล วัตถุเหล่านี้มักปรากฏขึ้นมาในความคิดเป็นอย่างแรกๆ แต่ถ้าเราบอกว่าในความเป็นจริง แขนหุ่นยนต์ของเล่น เหรียญบาท หมุดตะปู ไปจนถึงต่างหูเฮลโลคิทตี้ก็มีอยู่ในผืนน้ำ ความจริงข้อนั้นทำให้ประหลาดใจไหม
ถ้ายัง เราจะบอกความจริงที่น่าตกใจอีกข้อว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในผืนน้ำเสียทีเดียว แต่มันอยู่ในท้องของสัตว์ทะเล ตั้งแต่ปลาวาฬ โลมา ไปจนถึงเต่าต่างหาก นั่นน่าสะเทือนใจมากพอหรือยัง
และเพจ อะไรอยู่ในท้องเต่า นี่เองคือเพจที่พาเราไปเห็นและตระหนักถึงความจริงข้อนี้
ถ้าให้จำกัดความอย่างง่าย รูปแบบการนำเสนอของเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ จัดอยู่ในประเภท ‘สั้น ตรง แต่ได้ใจความ’ แทบทุกโพสต์ของเพจคือการพาพวกเราคนดูไปเห็นว่าสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้น (ทั้งกรณีที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต) มี ‘อะไร’ อยู่ในท้องบ้าง ถ้าเจอ พวกเขาจะลงรูปสิ่งที่พบเจอกันสดๆ ปราศจากการเซนเซอร์ใดๆ
ตั้งแต่รูปขยะจำนวนมากที่เอามาเรียงบนโต๊ะ วิดีโอการดึงเศษพลาสติกออกมาจากทวารสัตว์ไปจนถึงรูปขยะที่ยังอยู่ในกระเพาะ
ในแง่หนึ่ง ภาพเหล่านี้อาจทำให้ใครหลายคนผงะเมื่อเห็นครั้งแรก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสื่อสารที่ทั้งตรงและจริงสร้างผลกระทบทางจิตใจให้คนตระหนักถึงปัญหาได้มากเอาการ
และเพราะเหตุนี้เอง เราถึงติดต่อไปยังสองผู้อยู่เบื้องหลังเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ อย่าง ‘ข้าวตู’ และ ‘พีท’ แห่งโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก อ่าวมะขามป้อม จังหวัดระยองเพื่อสอบถามที่มาที่ไปและจุดประสงค์ที่พวกเขาทำเพจนี้ขึ้นมา
ในความเป็นจริงตอนนี้ สิ่งมีชีวิตในทะเลได้รับผลกระทบจากขยะที่มาจากมนุษย์มากมายขนาดไหน ให้ ‘ข้าวตู’ และ ‘พีท’ เป็นกระบอกเสียงให้ท้องทะเลในบรรทัดถัดไป
จุดเริ่มต้นและจุดมุ่งหมายของเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ คืออะไร
พีท : ผมทำงานเกี่ยวกับทรัพยากรทะเลด้านหญ้าทะเลครับ อาจไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทะเลโดยตรง แต่เหตุการณ์ที่สะกิดต่อมให้ผมอยากสื่อสารเรื่องนี้คือวันที่ผมไปช่วยทำงานที่โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก ผมเข้าไปเจอลูกเต่าที่เกยตื้นตาย ซึ่งการตายของลูกเต่าวัยอ่อนแบบนี้ตามปกติแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่วันนั้นหมอข้าวตูชวนผมผ่าชันสูตร เราเปิดดูอวัยะต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงลำไส้ที่เจอเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ (ไมโครพลาสติก) ประมาณ 10 ชิ้นได้ สิ่งนี้สะกิดใจผมมาก ผมได้เห็นว่าปัญหาขยะทางทะเลไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หลังจากนั้นผมและหมอข้าวตูจึงคุยกันว่าอยากทำเพจเพื่อพูดเรื่องนี้ เราจึงตั้งเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ ขึ้นมา
ข้าวตู : ในอีกแง่หนึ่งคือเรารู้สึกว่าขยะพวกนี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลค่อนข้างมากแต่ผู้คนกลับไม่ค่อยรับรู้เท่ากับเรา มีเพียงคนที่ทำงานอยู่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือคนที่ทำงานออกพื้นที่เท่านั้นที่ได้เห็นผลกระทบจริงๆ นี่จึงเป็นไอเดียแรกสำหรับเราในการหาวิธีบอกเล่าให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงผลกระทบของขยะทะเล รวมถึงเราก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับรับแจ้งเหตุการเกยตื้นและการพบเจอสัตว์ทะเลหายากด้วย
กรมทรัพยากรทางทะเลมีเพจที่คอยเผยแพร่ข้อมูลหรืองานต่างๆ อยู่ แต่เราก็อยากช่วยแบ่งเบา เราอยากบอกเล่าข้อมูลที่จำเพาะมากขึ้น คือเน้นที่การเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากไปเลยเพื่อให้คนที่สนใจได้มาอ่านเรื่องราว รวมถึงคนที่พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นแล้วไม่รู้จะแจ้งที่ไหนก็สามารถมาแจ้งที่เราได้ ถึงแม้ไม่ใช่พื้นที่เรา แต่เราก็สามารถประสานงานให้ได้
ทำไมการเกยตื้นของสัตว์ทะเลจึงเป็นเรื่องสำคัญ
พีท : การเกยตื้นของสัตว์คือเรืองปกติที่สิ่งมีชีวิตต้องตายตามธรรมชาติอยู่แล้วครับ แต่ปัญหาคือเมื่อเราทำการชันสูตรและเก็บสถิติ ทั้งจำนวนเกยตื้น สถานที่เกยตื้น และสาเหตุการเกยตื้น ข้อมูลเหล่านี้จะบอกแนวโน้มของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสัตว์เหล่านั้นได้ เพื่อให้เราไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด
ข้าวตู : สาเหตุที่ทำให้สัตว์เหล่านี้เกยตื้นนี่แหละคือเรื่องสำคัญ จากการทำงานเราได้พบว่ามีหลายสาเหตุมากที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่เรารู้ถึงสาเหตุเหล่านี้ก่อนก็จะช่วยกันป้องกันปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้อย่างทันท่วงที เช่น ลดการสร้างขยะ หรือระวังกิจกรรมทางน้ำเป็นพิเศษในพื้นที่ที่สัตว์อาศัยอยู่มาก เพราะยิ่งสัตว์ทะเลส่วนใหญ่ที่เราดูแลเป็นสัตว์ทะเลหายากด้วยแล้ว เรายิ่งต้องช่วยกันดูแลรักษาชีวิตเขาให้ได้มากที่สุด การสูญพันธุ์ของสัตว์แม้เพียงแค่สปีชีส์เดียวย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
ทำไมถึงเลือกเต่ามาเป็นจุดเด่นของเพจ
ข้าวตู : เนื่องจากในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเราคือเขตตะวันออก เคสส่วนใหญ่จึงเป็นเต่าทะเล หนึ่งปีมีประมาณ 100-200 ตัว ซึ่งการชันสูตรซากเต่าที่พบหลายครั้งในทางเดินอาหารมีสิ่งที่น่าสนใจเยอะแยะไปหมด ทั้งอาหารตามธรรมชาติอย่างหญ้าทะเล ไปจนถึงของที่ไม่ธรรมชาติ อย่างแขนหุ่นยนต์ของเล่น เราจึงอยากแชร์ให้คนอื่นๆ ได้เห็นในสิ่งที่เราเห็นบ้าง เพจเลยกลายเป็นชื่อนี้
ตามธรรมชาติ เต่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มาอายุยาวขนาดไหน และการกินพลาสติกส่งผลต่อมันยังไงบ้าง
ข้าวตู : เต่าแต่ละชนิดมีอายุขัยที่แตกต่างกันไป เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการกินพลาสติกหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปจะส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารของเขา บางครั้งอาจไม่รุนแรงและขับออกได้เอง ก็โชคดีไป แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมใหญ่หรือมีคมก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ อุดตัน หรือการทะลุของลำไส้ เต่าตัวนั้นจะเริ่มป่วย ยิ่งด้วยธรรมชาติของเต่าที่เมื่อมีอาการป่วยมักหาอาหารได้ยาก เขาจะลอยอยู่บนผิวน้ำ นั่นยิ่งทำให้เก็บกินขยะที่ลอยอยู่มากเข้าไปอีก อาการป่วยจึงยิ่งทรุดลงเรื่อยๆ และถึงแก่ชีวิตได้
จากการทำเพจและชีวิตจริงที่เจอมา อะไรคือสิ่งที่อยู่ในท้องเต่าที่น่าประหลาดใจที่สุด
ข้าวตู : ที่น่าประหลาดใจก็มีหลายรูปแบบนะ เช่น เคสของลูกเต่าที่เพิ่งออกจากไข่ไม่ถึงเดือน สะดือยังไม่ปิดเลย แต่มีคนพบว่าน้องเข้ามาเกยตื้นจึงได้ช่วยเอาไว้ เมื่อนำมาพักฟื้นก็พบว่ามีขยะปนออกมากับอึ เป็นเศษพลาสติกชิ้นจิ๋วหลายชิ้น ทำให้เห็นเลยว่าไม่ว่าจะตัวใหญ่หรือเล็กก็ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น
อีกเคสคือเต่ารักษาหายแล้วที่เพิ่งปล่อยกลับสู่ธรรมชาติได้ 7 วันเกิดพลัดหลงเข้าคลอง ตอนนั้นพลเมืองดีช่วยเอาไว้ ก่อนเอากลับมาพักฟื้นที่โรงพยาบาล กลายเป็นพบว่าน้องกินเศษพลาสติกเข้าไปแล้วถึง 8 ชิ้น พร้อมเชือกฟางอีก 1 ก้อน
หรืออย่างเคสเต่าป่วยจากอะควาเรียม เต่าตัวนี้มีอาการซึมลงจึงถูกพามารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ ปรากฏว่าเราพบเศษพลาสติก เศษหิน แขนหุ่นยนต์ รวมถึงเศษของเล่นพลาสติกออกมากับอึของเต่า เคสนี้เมื่อลองสอบถามข้อมูลจึงทราบว่าเต่าอยู่ในบ่อที่เป็นสะพานให้คนเข้าชมเดินข้าม แม้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล แต่บางครั้งเด็กๆ ก็เผลอโยนสิ่งของลงไปในน้ำทำให้เต่ากินเข้าไปแล้วมีอาการป่วย
และสุดท้ายเป็นเคสที่ไม่ได้เจอเองแต่เป็นเรื่องราวที่รุ่นพี่สัตวแพทย์ในศูนย์เจอมา เคสนี้ไม่ใช่เต่า แต่เป็นซากวาฬเพชฌฆาตดำที่หลังจากชันสูตรพบว่าในทางเดินอาหารมีทั้งเศษตาข่ายขนาดใหญ่ เศษผ้า ชิ้นส่วนใบพัดเครื่องบินของเล่น ยางวง และตะขอเบ็ดจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ปกติวาฬจะไม่ค่อยพบการกินขยะมากนัก น่าเสียดายที่เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าเจ้าวาฬตัวนี้ไปกินขยะพวกนี้มาได้ยังไง
พีท : ส่วนสำหรับผม ไม่มีอะไรน่าประหลาดเพราะเจอบ่อยจนชินแล้ว (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ สำหรับผมที่ประหลาดใจที่สุดคือพวกของเล่นพลาสติกนั่นแหละครับ เพราะตามปกติเราจะมีทฤษฎีว่าเต่ากินขยะเพราะมันคิดว่าเป็นอาหาร อย่างถุงพลาสติกก็คิดว่าเป็นแมงกะพรุน แต่ผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่าแขนหุ่นยนต์มันคล้ายกับอะไรในธรรมชาติได้
ความรู้สึกแบบไหนที่ขับเคลื่อนให้คุณทำงานนี้
ข้าวตู : สำหรับเรา เรารู้สึกภูมิใจมากเวลาได้เห็นสัตว์ที่หายป่วยว่ายกลับลงทะเล ยิ่งบางตัวที่ตอนเกยตื้นแทบไม่มีแรงนอน แต่เราได้ช่วยให้น้องมีอาการดีขึ้นจนว่ายน้ำและกินอาหารเองได้ สำหรับเราคือปลื้มปริ่มแล้ว รู้สึกหายเหนื่อยเสมอเวลาเห็นแบบนี้ ดังนั้นตอนต้องปล่อยน้องกลับไปเผชิญโลก เราจะขอบคุณน้องตลอดที่สู้มาด้วยกันและอวยพรให้ดูแลตัวเองดีๆ จำไว้นะว่าขยะกินไม่ได้ (หัวเราะ)
พีท : ส่วนผมนี่ไม่รู้ว่าจะอธิบายความรู้สึกออกมายังไงเลย ผมขอยกตัวอย่างเป็นเหตุการณ์ที่ได้พบเจอก็แล้วกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมต้องไปช่วยขนย้ายเต่าจากจังหวัดจันทบุรีมาโรงพยาบาล หนึ่งในนั้นเป็นเต่าตนุ ขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร ชื่อพีช พีชอาการแย่มาก อ่อนแรงมากแบบอยู่ในน้ำไม่ได้ กินอาหารเองไม่ได้ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หมอวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบและเริ่มรักษาพีชตั้งแต่วันนั้น หลังจากนั้นผมได้เจอพีชเรื่อยๆ ทุกเสาร์-อาทิตย์ที่มีเวลาว่าง
ผมได้เห็นอาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ เริ่มจากลมหายใจหอม เริ่มมีแรงว่ายน้ำ ค่อยๆ กินอาหารได้ จนสุดท้ายหมอก็รักษาพีชหาย ทั้งหมดกินระยะเวลากว่า 3–4 เดือน และในวันสุดท้าย ผมนึกย้อนถึงวันแรกที่ไปขนพีชมาจากจันทบุรี ตอนนั้นแหละที่ผมรู้สึกดีมากๆ ไม่รู้จะอธิบายยังไงนะ แต่คงประมาณว่า ‘นี่สินะ! การช่วยที่จับต้องได้’ มันเห็นผลต่อหน้าเราจริงๆ
ในทางกลับกัน เวลาเห็นสัตว์ตายเพราะปัญหาขยะทางทะเล คุณรู้สึกยังไง
พีท : ผมรู้สึกเสียดายนะ ถึงแม้เป็นเรื่องปกติที่สัตว์ต้องตายตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การทำให้สัตว์ลดน้อยลงเกินสมดุลมันเหมือนเรากำลังเข้ามาแทรกแซงสมการจนทำให้ทั้งทุกอย่างเสียไป
ข้าวตู : และยิ่งสิ่งที่เราทำเป็นการทำงานเชิงรับ มันเลยเป็นการช่วยเหลือเรื่องนี้ที่ปลายน้ำเท่านั้น แม้ทำงานหนักหรือตั้งใจรักษามากแค่ไหน เราก็ทำได้แค่เพียงช่วยชีวิตพวกเขาเอาไว้ แต่เราไม่สามารถลดอัตราการป่วยขยะได้ ดังนั้นเราจะยังเห็นสัตว์เกยตื้นที่ได้รับผลกระทบจากขยะอยู่เรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริง วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือการทำงานเชิงรุกตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการสร้างขยะ จัดการขยะอย่างถูกวิธี กำจัดขยะอย่างถูกต้อง ใช้ทุกสิ่งอย่างคุ้มค่า ถ้าสามารถทำตรงนี้ได้ต่อเนื่อง เราเชื่อว่าเราจะได้เห็นสัตว์ที่ตายเพราะพลาสติกลดลงอย่างแน่นอน
ในมุมมองของคุณ ตอนนี้ปัญหาสภาพแวดล้อมทางทะเลของไทยวิกฤตขนาดไหนแล้ว
พีท : ถ้านับแค่ปัญหาขยะปนเปื้อน ผมว่ามันแย่มากแล้วนะ ผมดำน้ำทำงานในสถานที่ต่างๆ ของภาคตะวันออก ตั้งแต่ชายฝั่งไปจนถึงเกาะ มันทำให้ผมรู้ว่าเราสามารถเห็นขยะได้เกือบทุกแห่งในทะเล และถ้านับจากที่เจอขยะในท้องเต่าบ่อยๆ มันก็ค่อนข้างสนับสนุนกันว่าขยะอยู่เต็มทะเลไปหมด แต่ในทางกลับกัน ถ้าให้ผมพูดถึงภาพรวม ผมคิดว่าตอนนี้คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้นเยอะ เราได้เห็นคนที่พยายามแก้ไขปัญหามากขึ้น
สำหรับคนทั่วไป เราทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหานี้
พีท : สำหรับผม ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ในเวลาสั้นๆ เราต้องช่วยกันแก้จากหลายๆ ทาง ซึ่งถ้ามองในฐานะคนธรรมดา ผมว่าเริ่มต้นง่ายๆ คือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจส่งผล เช่น อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องรับ ปฏิเสธถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือการเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า เป็นต้น
ข้าวตู : แต่ถ้าเป็นกรณีเฉพาะอย่างการเจอสัตว์เกยตื้น สิ่งที่ทำได้อันดับแรกคือดูว่าสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า หลังจากนั้นรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาจโทรแจ้งตามศูนย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งตามเพจ แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือแจ้งตำรวจก็ได้ค่ะ เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะประสานงานมาที่สัตวแพทย์เพื่อหาทางช่วยเหลือสัตว์ต่อไป นอกจากนี้เรายังมีเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากซึ่งเป็นโครงการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการฝึกอบรมคนในพื้นที่ใกล้ทะเลให้รู้วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อรักษาชีวิตของสัตว์เหล่านี้ด้วย ดังนั้นหากเจอขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้เร็วที่สุดค่ะ เพราะยิ่งช่วยเหลือได้เร็วเท่าไหร่โอกาสรอดของสัตว์เหล่านั้นก็มากขึ้น
สุดท้าย ถ้าให้นึกย้อนคิด สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำเพจนี้คืออะไร
พีท : ผมนึกถึงตอนที่หลายคนเข้ามาเจอเพจเราจากกรณีเต่าใบพัด (คลิปที่ดึงถุงพลาสติกออกจากทวารเต่า) ตอนนั้นเราไม่คิดว่าคนจะแชร์เยอะขนาดนั้น แต่พอเกิดขึ้น เราก็ดีใจที่สองมือของเราทำให้เกิดกระแสสังคมขึ้นมาได้นิดหนึ่ง อย่างน้อยก็มีคนตระหนักในปัญหานี้ นี่เป็นเหมือนสิ่งยืนยันว่ามีคนได้รับสารอย่างที่เราตั้งใจสื่อออกไปจริงๆ มันเป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่ถึงแม้อาจไม่ได้ทำให้คนตระหนักได้ทั้งประเทศ แต่เราก็ทำให้คนหลักพันคนเห็นและรู้สึกถึงปัญหานี้แล้ว
เราว่าแค่นี้มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วครับ
ข้อมูลติดต่อการแจ้งสัตว์ทะเลเกยตื้น
อ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ตราด จันทบุรี ระยอง) 038-661-693
อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ) 038-554-340
อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) 034-497-073-4
อ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) 077-510-213-5
อ่าวไทยตอนล่าง (พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส) 074-307-079
และสำหรับช่องทางออนไลน์ นอกจากเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ ทุกคนสามารถแจ้งข้อมูลสัตว์ทะเลเกยตื้นได้ที่เพจของสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง Thailand Marine endangered species stranding network ได้เช่นกันนะ