พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำต่อไปนี้ไว้ว่า
วุ้น (น.) ของกินชนิดหนึ่ง ทำจากสาหร่ายทะเลเป็นต้น เมื่อนำมาต้มแล้วทิ้งไว้ให้เย็นจะแข็งตัว มีลักษณะค่อนข้างใสและนุ่ม ใช้ทำเป็นของหวานบางอย่าง
แปล (ก.) ถ่ายความหมายจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง, ทำให้เข้าใจความหมาย
ภาษา (น.) ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ส่วนคำว่า ‘วุ้นแปลภาษา’ ไม่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ไม่ว่าจะเป็นฉบับกระดาษหรือเว็บไซต์ เพื่อเป็นการปลอบใจหลังเสิร์ชไม่เจอ ระบบคอมพิวเตอร์จึงเสนอทางเลือกให้สองทาง หนึ่งคือการเสนอให้ราชบัณฑิตเพิ่มคำศัพท์นี้ หรือสองคือเสนอคำศัพท์พร้อมความหมาย
เรากดเลือกทางเลือกที่สอง
ตามพจนานุกรมฉบับเราเอง พ.ศ.2563 วุ้นแปลภาษา คือเพจเฟซบุ๊กที่ตั้งขึ้นในปี 2019 เพื่อแปลคำศัพท์ในความหมายตามใจ ไม่ตรงกับพจนานุกรมฉบับทางการ แต่ตรงกับความหมายที่คนทั่วไปใช้กันจริงๆ
ในที่แห่งนี้ คำว่า ‘แม่’ จึงแปลว่าคนที่จำช่องทีวีได้ทุกช่อง คำว่า ‘ขอโทษ’ แปลว่าคำที่ใช้พูดเวลามีคนเดินมาชน และคำว่า ‘คิดถึง’ ก็แปลว่าสิ่งที่อยากรู้ว่าแกเป็นเหมือนกับเราบ้างไหม (โอ๋ๆ)
ถ้าไม่ใช่คนทำงานกับถ้อยคำชีวิตนี้จะได้เปิดพจนานุกรมสักกี่ครั้ง แต่เพจวุ้นแปลภาษานั้นกลับกัน ไม่มีวันไหนที่เราเปิดเฟซบุ๊กแล้วไม่เจอเพื่อนสักคนแชร์โพสต์จากเพจนี้ แต่ละโพสต์ก็มียอดไลก์เฉลี่ยหลักหมื่น และมีคนติดตามเพจอยู่ถึงหกแสนคน
ทั้งที่ติดตามมาเป็นปี แต่จนแล้วจนรอดเราก็ยังไม่เจอว่าโดราเอมอน โนบิตะ หรือคนไทยคนไหนกันที่คอยบัญญัติความหมายใหม่เหล่านี้ บ่ายวันหนึ่งเราจึงตัดสินใจนัดแนะกับ ‘คุณวุ้น’ เพื่อทำความรู้จักพจนานุกรมฉบับใหม่ให้มากขึ้น
และด้านล่างนี้คือความหมายฉบับเต็มของวุ้นแปลภาษาที่ผู้ผลิตวุ้นบัญญัติให้เราฟังด้วยตัวเอง
พจนานุกรม
(น.) สิ่งที่บัญญัติความหมายของคำในภาษาไทย แต่บางครั้งก็ไม่ตรงใจเอาซะเลย
มากไปกว่าการบัญญัติความหมายให้คำและวลีต่างๆ วุ้นแปลภาษายังระบุชนิดของคำในประโยคให้เสร็จสรรพในแต่ละโพสต์ (เช่น คำนาม กริยา วลี) และจัดหมวดหมู่อัลบั้มภาพตามตัวอักษรเหมือนพจนานุกรมไม่มีผิดเพี้ยน สมกับที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพจนานุกรมฉบับทางการ
ปอนด์–ทฤฆชนม์ สิริทวีชัย คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำแสบๆ คันๆ (บางครั้งก็กวนจนน่าหยิก) ในเพจ ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็น Community Manager ของแอพพลิเคชั่นจอยลดาและธัญวลัย และลาออกมาเปิดบริษัทออร์แกไนเซอร์สำหรับเอาต์ติ้งของบริษัทต่างๆ ชื่อ OP Creator เป็นเจ้าของร้านอาหาร Grill Salon Izakaya และทำช่องยูทูบชื่อ พี่น้องป.4 อีกด้วย
แต่ย้อนกลับไปนานกว่านั้น เขาเคยเป็นหนอนหนังสือผู้มีพจนานุกรมเป็นการละเล่นส่วนตัว
“สมัยเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือมากและมีการละเล่นของตัวเองคือการเปิดพจนานุกรม ก่อนจะเปิดดูคำต่างๆ ผมจะคิดก่อนว่ามันจะมีความหมายว่าอะไร ปรากฏว่าหลายๆ ครั้งผมรู้สึกว่าคำแปลมันไม่ตรงใจเรา บางทีก็รู้สึกว่ามันไม่มีใครคิดอย่างนี้หรอก อย่างคำว่าหมา พจนานุกรมแปลว่าสัตว์สี่ขา แต่ทุกวันนี้คำว่าหมาของสังคมหมายถึงเรานี่แหละเวลาที่เพื่อนกับแฟนมันกลับไปดีกัน
“ตอนนั้นผมคิดว่าอยากทำเว็บไซต์เอาไว้รวมคำแบบนี้ แต่เว็บไซต์มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว ทำก็ไม่เป็น ผมเลยเก็บความคิดนี้ไว้ตลอดจนเข้าสู่ช่วงที่มีเฟซบุ๊ก มีการทำเพจ วันที่ 14 เมษายนปีที่แล้วผมนั่งอยู่ที่บ้านที่หาดใหญ่ ที่นั่นเขาจะเล่นสงกรานต์แค่วันเดียวคือวันที่ 13 พอวันที่ 14 ผมไม่มีอะไรทำก็เลยคิดว่าถ้างั้นทำเพจดีกว่า เกิดเป็นวุ้นแปลภาษาจนถึงทุกวันนี้”
ถึงจะเริ่มต้นด้วยแนวคิดแบบพจนานุกรม แต่พอถึงเวลาเปิดเพจจริงๆ ชื่อที่ปอนด์เลือกดันกลายเป็นอุปกรณ์ในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนซะอย่างนั้น
“ตอนแรกเราจะตั้งชื่อเพจทำนองว่าพจนานุกรมของสังคมหรือพจนานุกรมออนไลน์ แต่มันจริงจังเกินไปก็เลยมานั่งคิดว่าพจนานุกรมเอาไว้แปลคำศัพท์ เราต้องการความเฟรนด์ลี่ อะไรล่ะที่แปลคำได้ด้วย เฟรนด์ลี่ด้วย คิดไปคิดมามันก็คือวุ้นแปลภาษา หลายๆ คนรู้จักก็เลยใช้ชื่อวุ้นแปลภาษาดีกว่า”
เกลียดดดด
(วลี) ชอบ
เห็นโพสต์ของเพจนี้ทีไร เราก็อดพูดว่า “เกลียดดดด” ไม่ได้ทุกที
ความหมายไม่ใช่เชิงลบ เพราะแค่เติม ด.เด็ก ต่อท้ายคำไปอีก 2-3 ตัว คำว่าเกลียดก็มีความหมายกลายเป็นชอบ! ขึ้นมา และยิ่ง ด.เด็ก เยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งแปลว่าชอบมากเท่านั้น
คำว่าเกลียดดดด (ที่แปลว่าชอบ) ยังหมายถึงคำที่เราพูดเวลาเขินๆ ที่เพื่อนรู้ทัน (เช่น เวลาเพื่อนบอกว่าคนนี้แกชอบแน่ๆ แล้วเราบอกว่า “เกลียดดดด”) หรือคำที่พูดไปขำไป เพราะสิ่งที่เพื่อนพูดนั้นจริงซะเหลือเกิน แม้ว่าเราอาจจะไม่อยากยอมรับก็ตาม
สำหรับเราวุ้นแปลภาษาคือเพื่อนคนนั้นแหละ
“เพจวุ้นแปลภาษาไม่ได้มีโฟกัสเรื่องคำแบบไหนเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นการเอาคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือคำที่กำลังเป็นกระแสมาเล่น” ปอนด์เล่า
“แก่นของมันจริงๆ คือการเอาความเจ็บปวดในใจคน อินไซต์ เรื่องที่เขารู้สึกอยู่ข้างในลึกๆ มาเขียน บางอย่างเป็นสิ่งที่เขาคิดว่าเขาเป็นคนเดียวแต่จริงๆ แล้วเป็นกันหลายคน หรือบางอย่างเขาก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นแต่จริงๆ แล้วเขาเป็น เราก็ไปหาสิ่งเหล่านั้น ความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ มาเขียน
“อย่างคำว่า TikTok เราแปลว่าคนที่เคยด่าว่าเป็นแอพฯ สก๊อย ตอนนี้อยู่ในแอพฯ กันหมดแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมแต่ยังไม่มีใครพูดออกมา เราก็ไปจับมาเขียน หรือเราไปเดินๆ ที่ท็อปส์ อยู่ๆ ก็นึกขึ้นมาว่าเวลาพนักงานถามว่ามีเบอร์เมมเบอร์มั้ย ทุกคนต้องใช้เบอร์แม่ ก็เอามาเขียนลงเพจ”
หลังจากทำเพจมาปีกว่า เราถามปอนด์ว่าโพสต์แบบไหนที่คนชอบมากที่สุด ผลปรากฏว่าเป็นโพสต์ที่พูดเรื่องความเจ็บปวดได้แบบขำทั้งน้ำตา
“มันต้องเจ็บปวด!” เขาเน้นเสียงแล้วหัวเราะ “ต้องเป็นอินเนอร์ลึกๆ เป็นโพสต์ที่มีความเจ็บปวดคนถึงจะแชร์เยอะ ผมเคยทำอัลบั้มที่รวมความหมายของคำว่า ‘คิดถึง’ ซึ่งคำที่มีความสุขมันจะมีคนไลก์ไม่เยอะเท่ากับคำอกหักๆ มันอาจจะเป็นเรื่องเดียวกับที่เวลานักร้องไปร้องเพลงแล้วบอกว่า ‘ขอเสียงคนอกหักหน่อยเร็ว’ คนก็จะกรี๊ดลั่น แต่ถ้าบอกว่า ‘ขอเสียงคนมากับแฟนหน่อย’ เสียงก็จะเบาๆ คือคนเรามันชอบเรื่องเจ็บๆ
“ความเจ็บปวดหรือความอัดอั้นตลกๆ ก็เป็นสิ่งที่คนแชร์เยอะ ผมเคยอัพสเตตัสคืนวันอาทิตย์ตอนเที่ยงคืนหนึ่งนาทีว่า ‘วันจันทร์แล้วสินะ’ ตื่นมาคนไลก์เป็นพัน
“ตอนเขียนผมไม่เคยคิดว่าต้องเน้นตลกแต่เน้นความจริงก่อน เดี๋ยวความตลกมันมาเอง คอมเมนต์ของวุ้นแปลภาษาที่เยอะเลยจะมีสามแบบ แบบแรกก็คือเข้ามาแสดงความคิดเห็นยาวๆ หน่อย แบบที่สองคือมาบอกว่า “กูก็เป็น” “เออว่ะนี่กูเลย” ส่วนแบบที่สามคือ มาแท็กเพื่อนว่า “มึงเลยๆ”
“มันอาจเป็นเพราะผมชอบดูซิตคอมพวก The Big Bang Theory หรือ How I Met Your Mother มุกมันจะเป็นแนวประชดประชัน เสียดสีหลายชั้น แต่ก็ตลกและน่ารักด้วย ไม่ได้ทำให้ใครเจ็บใจทั้งๆ ที่หลายครั้งมันก็เป็นความเจ็บปวดลึกๆ เหมือนกัน ผมว่ามันมีความคล้ายกับวุ้นแปลภาษาตรงที่จับอินไซต์ขึ้นมาฟาดกันให้ตลก”
ถึงจะใช้ความจริงที่สังเกตได้มาเล่าให้ขำ แต่สิ่งที่ปอนด์ย้ำกับเราเสมอคือสิ่งนั้นต้องไม่ทำร้ายใคร และแม้ว่าจะโพสต์ไปแล้วแต่มีคอมเมนต์เข้ามาตักเตือนเขาก็พร้อมจะลบโพสต์และขอโทษเสมอ
“ผมยึดหลักการว่าต้องทำเพจให้คนมาอ่านแล้วใจไม่เจ็บไม่ว่าจะเรื่องของโพสต์หรือคอมเมนต์ เพราะฉะนั้นอะไรที่มันจริงและตลกแต่ทำร้ายคนอื่น เราก็พยายามจะไม่ลง”
ลังใส่วุ้นแปลภาษา
(น.) ชื่อกลุ่มของลูกเพจวุ้นแปลภาษาที่ขยันพอๆ กับแอดมิน
วุ้นแปลภาษาโพสต์คอนเทนต์ทุกวัน แต่ละวันไม่ต่ำกว่าสามภาพ ยังไม่นับเพจสาขาอย่างวุ้นแปลภาษาบอล วุ้นแปลภาษาเกม วุ้นแปลภาษาธุรกิจ และล่าสุดคือวุ้นแปลภาษาติ่ง เป็นความขยันระดับที่จริงจังเหมือนทำงานประจำจนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาไปได้คอนเทนต์มาจากไหน
“วันๆ ผมใช้ชีวิตในเฟซบุ๊ก ในทวิตเตอร์นี่แหละ คำเรียลไทม์ที่กำลังฮิตๆ ก็มาจากแหล่งพวกนี้ แต่อีกแหล่งคือกลุ่มชื่อลังใส่วุ้นแปลภาษาที่ผมสร้างเอาไว้ ในกลุ่มจะมีคนจากสาขา จากสังคมต่างๆ มันดีมากๆ เลยตรงที่ผมก็มีสมองอยู่เท่านี้ มีสังคมรอบตัวอยู่เท่านี้ แต่พอมาอยู่ในกลุ่มกลายเป็นว่าคำว่า หมา ในความหมายของผม (ที่ไม่เหมือนกับในพจนานุกรม) ก็อาจจะไม่เหมือนกับคำว่าหมาในความหมายของคนในกลุ่มก็ได้ กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เอาไปทำคอนเทนต์
“ด้วยความที่มีคำฮิตใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น ส้มหยุด อย่าหาทำ ยังไงเราก็ยังมีคอนเทนต์อยู่เรื่อยๆ แต่ก็มีบางวันเหมือนกันที่เราเอาคำเดิมที่เคยโพสต์ไปแล้วมาทบทวน ดูว่าทุกวันนี้ความหมายมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ไหม ลองให้ความหมายใหม่กับมัน
“คอนเทนต์หลักในวุ้นฯ ผมเป็นคนดูเอง แต่ว่าในเพจอื่นๆ จะมีเซียนของด้านนั้นๆ มาช่วยดู วุ้นเกมจะมีรุ่นน้องที่เล่นเกมเยอะเป็นเฮด วุ้นบอลคนดูแลเป็นคนชื่อบอลเลย เขาทำเพจตูดูบอลไทยและทำงานที่ Ari Magazine ส่วนวุ้นธุรกิจก็มีอาจารย์สอนการเงินมาช่วยดู”
ปอนด์เล่าต่อว่าพอทำเพจเป็นชีวิตจิตใจ นั่งคุยกับใครเขาก็อดไม่ได้ที่จะฟังคำแปลกๆ ตลกๆ จากคนนั้น เมื่อเวลาผ่านไปและจับเอาคำยอดฮิตมาอยู่ในเพจไปหมดแล้ว คราวนี้แหละที่เขายิ่งต้องตั้งใจฟังเพื่อค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในถ้อยคำปกติที่เราพูดกัน
“แต่ก่อนเราจะนั่งฟังเพื่อนคุยแล้วเก็บพวกคำเด็ดๆ มาทำคอนเทนต์ แต่ทุกวันนี้เราตั้งใจฟังทุกๆ คำ ดูว่าคำธรรมดาอื่นๆ มันอาจมีอะไรซ่อนอยู่ เวลาอ่านอะไรก็ต้องอ่านละเอียดๆ เพื่อหาความหมายในอีกเลเยอร์ เพราะว่าทุกคำมันมีความเจ็บปวด มีอินไซต์ข้างในที่เราอาจไม่ได้สังเกตอยู่แล้ว”
วุ้นแปลภาษา
(น.) พงศาวดารออนไลน์
กดปุ่มฟาสต์ฟอร์เวิร์ดไปอีก 100 ปีข้างหน้า ถ้ามีใครบอกว่าอยากศึกษาสังคมในช่วงปี 2020 เราคงแนะนำให้เขาอ่านเพจวุ้นแปลภาษาแบบไม่ต้องสงสัย เพราะคำศัพท์แต่ละคำที่ปอนด์บันทึกไว้นั้นเป็นมากกว่าตัวอักษร แต่ยังหมายถึงผู้คนและสังคมที่ประกอบมันขึ้นมา
“ที่ผ่านมามีนักศึกษาคนหนึ่งติดต่อมาขอเอาวุ้นแปลภาษาไปเป็นหัวข้อวิจัยในวิทยานิพนธ์ คล้ายๆ ว่าจะวิเคราะห์ความหมายของคำในแต่ละสังคม ซึ่งเราไม่คิดเลยว่าจะมาถึงขั้นนี้ มันยิ่งใหญ่มาก
“อีกเคสที่ประทับใจคือมีคุณป้าคนหนึ่งทักมาในเพจบอกว่าเราทำให้เขาคุยกับคนในบ้านเข้าใจยิ่งขึ้น ทุกวันนี้เวลาลูกหลานเขาซนๆ เขาคงพูดว่าอย่าหาทำกับลูกกับหลานเขาไปแล้ว”
ปอนด์หัวเราะแล้วเสริมว่าแม้จะทำหน้าที่บันทึกแต่กว่าจะออกมาเป็นโพสต์บางโพสต์ เขาก็ต้องทำความเข้าใจคำนั้นอยู่นานจนได้เข้าใจคนที่ใช้คำเหล่านั้นไปด้วย
“ในกลุ่มลังใส่วุ้นแปลภาษา ลูกเพจชอบมาโพสต์คำกับความหมายที่เขาคิดว่าใช่กัน คำไหนที่แมสเราก็เห็นเลยว่าคนไลก์เยอะมาก ทีนี้มันมีคำว่า ‘ไลก์ทัก’ ที่คนในกลุ่มเสนอมาบ่อยๆ โพสต์ทีไรมีคนไลก์ 500-600 คน แต่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ไปตามอ่านคอมเมนต์ถึงได้เข้าใจว่ามันคือการตั้งสเตตัสคำว่า ‘ไลก์ทัก’ ใครมาไลก์เราก็จะทักไปเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ จีบกัน คำนี้ดังมากในหมู่เด็กๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด คอมเมนต์ก็เป็นเด็กๆ ทั้งนั้น มาบ่นกันว่ากูตั้งทีไรไม่เคยมีใครมาไลก์กูเลย สุดท้ายมันก็คือคนหน้าตาดีนี่หว่าที่ตั้งสเตตัสนี้ได้
“นอกจากไลก์ทักมันก็มีบางคำที่คนมาเสนอพร้อมความหมาย คนในคอมเมนต์ก็จะมาบอกว่า อ๋อ คำนี้ของคุณหมายความว่าอย่างนี้เหรอ ในที่ที่ผมอยู่มันหมายถึงอย่างนี้ แค่นี้เราก็รู้สึกแล้วว่าโห โลกนี้มีสังคมที่หลากหลายมาก ทำให้ผมคิดว่ามันน่าจะมีพจนานุกรมอีกเยอะๆ ที่ให้ความหมายคำในสังคมที่ต่างกัน
“แต่ผมว่าทำเป็นหนังสือออกมาน่าจะไม่คุ้ม เพราะทุกวันนี้ความหมายของคำเปลี่ยนเร็วมาก 3-4 เดือนก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เป็นออนไลน์น่ะเหมาะ จะได้มาอ่านวุ้นแปลภาษากันเยอะๆ” ‘คุณวุ้น’ หัวเราะทิ้งท้าย