คุยกับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ในวันที่มาเรียมไม่ใช่สัตว์ตัวเดียวที่เป็นเหยื่อขยะ

Highlights

  • ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ โดยศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ดูแลรักษาพันธุ์เต่าให้อยู่คู่ธรรมชาติ ด้วยการอนุบาลเต่าตั้งแต่เป็นไข่จนอายุ 5 เดือน - 1 ปี จึงปล่อยออกสู่ธรรมชาติ มากไปกว่านั้นยังดูแลรักษาเต่าป่วยและให้ความรู้กับประชาชนเพื่อเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
  • ปัจจุบันขยะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดูแลเต่าอย่างมาก แม้จะมีความพยายามในการเก็บทำความสะอาดบริเวณที่แม่เต่าจะมาวางไข่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังพบปัญหาขยะทะเลพัดเข้าชายฝั่ง และพบเต่าป่วยเพราะกินขยะเสมอ
  • ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จับมือกันจัดงานวิ่งเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อเต่า เพื่อมอบเงินให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ และสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล โดยมีกิจกรรมวิ่งระยะ 10K, 5K และ Plogging 1 K  ซึ่งเป็นการวิ่งเก็บขยะที่ชายหาดดงตาล สถานที่วางไข่ของเต่าทะเลอีกด้วย

ก่อนวันที่คุณอ่านบทความนี้ เฉพาะชายหาดในจังหวัดชลบุรีมีเต่าตายเพราะขยะแล้วจำนวน 14 ตัวภายในระยะเวลาครึ่งปี

เป็นอีกหนึ่งข่าวร้าย นับตั้งแต่มาเรียม พะยูนเกยตื้นขวัญใจโลกออนไลน์ เสียชีวิตเพราะขยะพลาสติก ปัญหาขยะล้น ไฟป่าแอมะซอน ไฟป่าแอฟริกา ไล่เรียงมาจนถึงน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์และขั้วโลกละลายเพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้น

แต่สิ่งที่กระทบใจเรามากที่สุดคงเป็นการได้เห็นเพื่อนร่วมโลกของเราค่อยๆ กลายเป็นเหยื่อของสิ่งที่เราสร้างขึ้น เพราะสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ที่มีมหาสมุทรเป็นบ้านพักแสนกว้างใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับบรรดาขยะที่ไหลลงสู่ทะเล และหลายตัวคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอาหารกรุบกรอบแสนอร่อยที่พวกมันเคยกิน

เต่าทะเลก็เป็นหนึ่งในนั้น

ท่ามกลางข่าวการพบซากเต่าทะเล เราสังเกตเห็นว่าหน่วยงานที่เข้าไปดูแลรักษาเต่าอยู่ทุกๆ ครั้งคือ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล สังกัดหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) กองทัพเรือ



ด้วยความสงสัยในประเด็นเต่าทะเล และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สัตว์ทะเลกำลังพบเจอ เราจึงเดินทางไปยังอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อคุยกับ น.อ. ศรยุทธ พุ่มสุวรรณ์ ผู้บังคับการศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และ ร.ต.หญิง กรกมล กิติกัมรา สัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ถึงการทำงานและสถานการณ์ล่าสุดที่เต่าและผู้ดูแลต้องเผชิญ

 

โรงเรียนอนุบาลเต่า

ก่อนจะได้รู้จักการทำงานของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เราต้องอธิบายบริบทความเป็นอยู่ก่อนหน้านี้ของเต่าก่อน

โดยปกติวงจรชีวิตของเต่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ว่ายน้ำลัดเลาะไปในมหาสมุทร บางครั้งก็ไปหากินยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่ถ้ามีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น แม่เต่าจะขึ้นมาฟักไข่บนชาดหาด ตามสัญชาตญาณถ้าแม่เต่าเกิดที่ไหนจะวางไข่ที่นั่น หลังจากนั้น 40-50 วัน ไข่เต่าถึงจะฟักออกมาเป็นตัวและลงไปว่ายน้ำในทะเลเพื่อหากิน

“สมัยก่อนทางกองทัพเรือยังไม่ได้เข้ามาดูแล ก็จะมีชาวประมงไปเก็บไข่เต่ากิน หรือถ้าไข่เต่าฟักออกมา เขาก็จะลงไปทะเลเลย ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่จะมีโอกาสรอดไม่สูง ส่วนเต่าโตที่อยู่ในทะเลก็จะโดนเรือประมงหรืออวนลากไป ไม่มีการอนุรักษ์” น.อ. ศรยุทธเริ่มเล่าที่มาศูนย์อนุรักษ์ฯ ให้ฟัง

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลให้กองทัพเรือซึ่งดูแลพื้นที่ทางทะเลในอำเภอสัตหีบเข้ามาดูแลเต่า โดยทำหน้าที่นำไข่ของแม่เต่าที่ชายหาดมาเพาะฟักจนเกิดเป็นตัว และนำมาอนุบาลไว้ในบ่อเลี้ยงจนกว่าจะโต จึงจะปล่อยสู่ธรรมชาติ

ระหว่างการอาศัยอยู่ในบ่ออนุบาล จะมีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่คอยให้อาหารที่เหมาะกับเต่าในแต่ละวัย ไม่ว่าจะเป็นปลาสด สาหร่าย และแมงกะพรุน ซึ่งจะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด น.สพ. กิริน สรพิพัฒน์เจริญ สัตวแพทย์ประจำศูนย์ฯ บอกกับเราระหว่างพาสำรวจรอบๆ บ่อเต่าว่า เมื่อเต่าต้องอยู่ในบ่อปิดซึ่งมีสภาพแคบกว่าในทะเลอาจทำให้เต่าเกิดความเครียดในการใช้ชีวิตได้ ฉะนั้นสัตวแพทย์ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ทำความสะอาดบ่อทุกวัน และเมื่ออนุบาลเต่าจนครบ 5 เดือน – 1 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำไปทดลองเลี้ยงไว้ที่กระชังในทะเล ฝึกหัดโต้คลื่น โต้ลม หาอาหารกินเอง เพื่อให้สัตว์ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเรียนรู้ที่จะหากินด้วยตัวเอง จากนั้นจึงจะนำเต่าปล่อยสู่ธรรมชาติ

“ทั้งหมดมีระบบแบบนี้ เมื่อเราปล่อยเต่าโตแล้วก็จะมีเต่าเด็กเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนเป็นโรงเรียนที่จบกันไปแต่ละรุ่น แล้วเต่าที่ออกไปสู่ทะเลก็จะทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ขึ้น เพราะเต่าช่วยกินแมงกระพรุน อีกประโยชน์คือเต่าจะถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยให้กับพืชในท้องทะเลด้วย” ผู้บังคับการอธิบายเพิ่มเติม

นอกจากการอนุบาลเต่าแล้ว ที่นี่ยังมีโรงพยาบาลเต่าซึ่งจะดูแลรักษาเต่าป่วยเกยตื้นมายังชายฝั่ง โดย น.อ. ศรยุทธเล่าว่าจะมีชุดเคลื่อนที่เร็วออกไปรับเต่าป่วยตามที่มีการแจ้งจากผู้พบเห็นในพื้นที่ต่างๆ

“อีกภารกิจที่ศูนย์ฯ ให้ความสำคัญคือ การให้ความรู้กับเยาวชนเรื่องเต่าทะเล โดยเฉพาะความสำคัญของการดูแลและการอนุรักษ์ให้มีเต่าในทะเล เพราะเยาวชนจะเป็นกลุ่มสำคัญที่ส่งต่อเรื่องราวให้ผู้ใหญ่ได้

“ดังนั้น จากภารกิจทั้งหมด เป้าหมายของเราคือการดูแลอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลให้อยู่ในท้องทะเลไทยตลอดไป” น.อ. ศรยุทธกล่าวย้ำกับเรา

 

‘ขยะ’ อุปสรรคต่อการอนุรักษ์ดูแลนักเรียนเต่า

เมื่อเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของศูนย์คือ การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลไทยให้อยู่คู่ธรรมชาติ แต่พวกเขาพบว่าการทำงานเพื่อสัตว์ทะเลชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลอดกระบวนการจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลการเติบโตอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เต่ามีความพร้อมที่จะออกไปดำรงชีวิตเองในทะเลได้ตามธรรมชาติ

“ปัจจุบันยังมีทั้งเรื่องขยะที่อยู่ในทะเลและส่วนหนึ่งที่ถูกพัดขึ้นมาบนฝั่งจำนวนมาก อย่างในพื้นที่ที่กองทัพเรือดูแลอยู่ แม้จะมีเขตที่ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปและไม่มีการทิ้งขยะ แต่ก็จะพบขยะตลอด บางทีเราควบคุมขยะไม่ได้เพราะคลื่นน้ำทะเลพัดขยะมาเข้าฝั่ง” ผู้บังคับการเล่า

ในการรายงานสถิติการจัดการขยะของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2561 ระบุว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นจำนวน 27.8 ล้านตัน มีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 7.15 ล้านตัน เช่น นำไปเผา ทิ้งลงแม่น้ำ หรือทิ้งลงทะเลโดยตรง ข้อมูลนี้ช่วยยืนยันสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องพบเจอขยะพัดลอยขึ้นมาจำนวนมากในทุกๆ วัน ได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดในการพบเจอขยะคือ การตรวจพบเศษซากเหล่านั้นในร่างกายของเต่า

“ในปีนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมนี้ เต่าเกยตื้นที่เราได้รับเรื่องทั้งเคสที่มีชีวิตหรือเกยตื้นแบบเสียชีวิตมีทั้งหมด 49 ตัว เสียชีวิตเพราะขยะทะเล 14 ตัว แล้วก็มีตัวที่ยังช่วยเหลืออยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 9 ตัว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้กินขยะ เพียงแต่มันยังไม่ขับออกมา” ร.ต.หญิง กรกมล หนึ่งในสัตวแพทย์ประจำศูนย์ฯ อธิบาย

แม้จะรู้ดีว่าเต่าทุกตัวมีขยะสะสมอยู่ แต่คงเป็นเรื่องยากที่แพทย์ประจำศูนย์ฯ จะช่วยนำออกมาได้ ด้วยธรรมชาติของเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่สามารถผ่าตัดเพื่อทำการรักษาเหมือนมนุษย์อย่างเรา กลไกในการดูแลรักษาจึงแตกต่างกัน สัตวแพทย์หญิงผู้นี้บอกกับเราว่า วิธีการนำพลาสติกออกจากเต่าคือต้องค่อยๆ รอให้ขับออกมาเอง แต่ถ้าขวางระบบทางเดินอาหารมาก เต่าจะไม่สามารถขับออกมาได้และจะเสียชีวิตในที่สุด

“ถือว่าปีนี้แนวโน้มของตัวขยะที่เต่ากินเยอะขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีขยะแปลกขึ้นเรื่อยๆ อย่างปีที่แล้วหมอจะเจอเชือกอวน เอ็นพลาสติก ถุงก๊อบแก๊บ หลอดกาแฟ ส่วนปีนี้หมอเริ่มเจอดอกหญ้าของไม้กวาดและขนนก ในตอนแรกหมอนึกว่าเต่ากินนก แต่พอดูแล้วมันไม่ใช่ จริงๆ แล้วมันเป็นส่วนประกอบของไม้ปัดขนไก่”

แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ ปีนี้มีเต่าที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอนุรักษ์ไว้นานกว่า 5 ปี เสียชีวิตเพราะขยะมาแล้ว

“ถามว่ารู้ได้ยังไงว่าเต่าที่เราอนุบาลไว้เสียชีวิต ต้องอธิบายก่อนว่าก่อนที่เราจะปล่อยสู่ธรรมชาติ หมอจะมีการฝังเลขไมโครชิปรหัสขึ้นต้นของทางกองทัพเรือไว้ที่เต่า เมื่อเรามั่นใจว่าเขามีความพร้อมสู่ธรรมชาติแล้วจึงปล่อย แต่อีก 3 เดือนต่อมาหน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งส่วนบนพบว่า เต่าไปเกยตื้นที่สมุทรสาคร พอเขารับไปรักษาแล้วยิงเลขไมโครชิปมา ก็เลยรู้ว่าเป็นเต่าเรา”

ร.ต.หญิง กรกมลเล่าต่อว่า การตรวจครั้งนั้นพบขยะในร่างกายเต่า ทีมแพทย์หน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพยายามรักษาจนหาย แล้วปล่อยสู่ทะเลอีกครั้ง หลังจากนั้นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลได้รับแจ้งอีกว่าพบเต่าเกยตื้นที่หาดนาจอมเทียน

“พอยิงเลขเพื่อตรวจ อ้าว ตัวเดิม ช่วงแรกเขาไม่ตอบสนองต่อการรักษา แล้วเริ่มถ่ายออกมาเป็นขยะ สุดท้ายเสียชีวิตใน 2 สัปดาห์ หลังจากเสียชีวิตหมอผ่าออกมามีขยะเต็มท้องเลย” ทีมของศูนย์ฯ ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะการดูแลเต่าหนึ่งตัวเมื่อเทียบอัตราส่วนแล้วมีต้นทุนในการใช้ทรัพยากรไม่น้อย ทั้งทรัพยากรเจ้าหน้าที่ทหาร สัตวแพทย์ที่ดูแล การจัดอาหาร และสภาพความเป็นอยู่ของเต่า

ระหว่างที่เรากำลังสนทนาถึงขยะในตัวเต่านั้น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ชวนพวกเราดูชิ้นส่วนขยะในขวดแก้วหน้าห้องบรรยาย พร้อมอธิบายว่าเต่าแต่ละตัวที่ผ่าแล้วพบขยะ ทีมแพทย์จะนำขยะมาเก็บไว้ในขวด และนำมาจัดแสดงในส่วนห้องบรรยายสำหรับผู้มาศึกษา เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในเรื่องขยะด้วย ดังนั้นขยะที่เราได้เห็นกันในหลายๆ ขวดคือชิ้นส่วนที่ติดอยู่ในร่างกายของเต่าจริงๆ

“เวลาเราบรรยาย จะมีข้อสงสัยกันว่าทำไมเต่ากินขยะ คำตอบคือขยะบางอย่าง เช่นถุงพลาสติกจะคล้ายกับแมงกะพรุน หรืออาจจะคล้ายๆ กับสาหร่าย ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่เต่ากิน เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีขยะอยู่ในทะเลก็มีความเสี่ยงที่เต่าจะเจอ และเราจะต้องรักษาไปเรื่อยๆ” น.อ. ศรยุทธอธิบาย

 

วิ่งเพื่อทำความสะอาดบ้านเกิดให้เต่า

“ปีที่แล้วหมอได้รับแจ้งว่ามีคนเห็นรอยแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ที่หาดดงตาล อีก 10 วันต่อมาหมอเลยไปเฝ้า ก็เห็นเลยว่าจุดที่เขาพยายามจะขึ้นๆ ไปวางไข่มันวางไม่ได้ เพราะมันเป็นกองขยะ” สัตวแพทย์หญิงเล่าประสบการณ์การเฝ้าช่วงเวลาที่แม่เต่าวางไข่ให้ฟัง

พื้นที่หาดดงตาลนั้นเป็นพื้นที่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนและท่องเที่ยวได้ ซึ่งมีการจัดการเรื่องขยะอยู่เสมอ โดยหน่วยงานทหารจะเป็นผู้ทำความสะอาดพื้นที่ทุกวัน แต่ก็ยังต้องพบกับปัญหาขยะจากทะเลซัดเข้าฝั่ง

และด้วยปัญหาขยะจากเราๆ ที่เริ่มหลั่งไหลสู่ทะเลมากขึ้นทุกวัน จึงทำให้เกิดกิจกรรมที่ต้องการสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลสู่สัตว์ทะเลอย่างเต่ามากขึ้น

กิจกรรมนี้ชื่อว่า #SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล โดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้

“ศูนย์ฯ เราทราบว่าสิงห์ เอสเตทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่เราอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเต่าทะเล จึงเห็นว่างานวิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่จะทำให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้รู้เกี่ยวกับปัญหา ตื่นตัว และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาสัตว์ทะเล โดยเฉพาะเต่าที่เราอนุรักษ์ ไม่ทิ้งขยะในทะเล แล้วก็จะได้เข้าใจว่าขยะก็เกิดได้จากทุกๆ คน” น.อ. ศรยุทธเล่า

กิจกรรมวิ่งครั้งนี้ นอกจากจะมีการวิ่งมินิมาราธอนในระยะทางต่างๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมวิ่งเก็บขยะ Plogging ร่วมกับมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ที่หาดดงตาล เพื่อทำความสะอาดบ้านเกิดให้กับเต่าอีกด้วย

ที่สำคัญคืองานวิ่งครั้งนี้พยายามสร้างขยะให้น้อยที่สุด ด้วยการงดแจกแก้วพลาสติกใส่น้ำระหว่างการวิ่ง แต่เลือกใช้แก้วซิลิโคนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับกันทุกคน รวมถึงยังเลือกใช้เสื้อวิ่งจากผ้าเกินผลิต (surplus fabric) ซึ่งใช้ผ้าหลากหลายถึง 3 เนื้อ ทำให้สามารถลดการปล่อยคาบอนไดออกไซด์ไปได้ถึง 2.5 ตัน ส่วนเหรียญและถ้วยรางวัลทำจากการผสมผสานวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษไม้จากงานเฟอร์นิเจอร์

“ถ้าเราจัดงานวิ่งที่งดใช้ถุงพลาสติกหรือหลอดก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทำให้ระบบนิเวศซึ่งส่วนหนึ่งจะทำให้สัตว์อยู่ในท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ด้วย ส่งผลไปถึงชีวิตชาวประมง รวมถึงเราที่ต้องบริโภคสัตว์ทะเลก็จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะเราล้วนต้องพึ่งพากัน

“เพราะอย่างเรื่องของการวิ่งเป็นการดูแลสุขภาพ เรายังรักสุขภาพเลย เพราะฉะนั้นสัตว์อยู่ในโลกของเรา เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน เขาก็ต้องรักชีวิตเหมือนกัน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่เราจะได้เผยแพร่และสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี” ผู้การทิ้งท้าย


คุณสามารถเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคืนคุณค่าสู่ทะเลได้ในโปรเจกต์ #SeaYouTomorrowRun โดยสมัครได้ที่ seayoutomorrow.org งานจะจัดในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ