TGIT Thank God It’s TRASHER

หากจะอธิบายว่า Trasher, Bangkok เป็นใครและทำอะไรให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์สายปาร์ตี้เข้าใจได้ใน 1 ประโยค คงเป็นเรื่องยากสักหน่อย

เพราะพวกเขาเป็นทั้งกลุ่มคนจัดปาร์ตี้เพลงป๊อปที่เปลี่ยนธีมงานไปในทุกๆ เดือน มีโปรดักชันเฮาส์สร้างสรรค์คลิปล้อเลียนที่โด่งดังและเล่นใหญ่จน Katy Perry ยังต้องแชร์ เป็นผู้จัดซีรีส์เกย์มิติใหม่ที่ไม่ได้มองความเป็น LGBTQ+ แค่เพียงผิวเผินอย่าง GAY OK BANGKOK หรืออีกหนึ่งกระบอกเสียงของกลุ่มเพศหลากหลายที่มักจะหยิบยกประเด็นทางสังคมมาถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ในหน้าเพจอยู่เสมอ

เล่าที่มาอย่างรวบรัด หากเดินผ่านไปผ่านมาแถวคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว คุณอาจเคยเห็นปาร์ตี้ของเหล่าเด็กโบราณฯ ที่ซื้อลำโพงมาตั้งเปิดเพลงกันหน้าคณะ เต้นแร้งเต้นกากันอย่างไม่แคร์ใคร ไม่ได้เปิดเพลงเก๋ๆ ตื๊ดๆ แบบปัจจุบัน แต่เปิดเพลงป๊อป ดาษๆ ที่ใครก็ร้องตามได้ ทั้ง Backstreet Boy, NSYNC หรือ Britney Spears (ที่ดู ‘ไม่คูล’ ถ้านับว่าปาร์ตี้ในยุคนั้นเปิดแต่เพลง Indie Rock)

เสน่ห์ของเพลงป๊อปที่คนมองว่าเป็นแนวเพลงขยะ แต่เป็นขยะที่ไม่มีวันตาย ทำให้ โจโจ้-ทิชากร ภูเขาทอง, เจนนี่-เจนนี่ ปาหนัน, ณุ้ย-พิมกมล มัญชะสิงห์, ฝน-ธัญพร ศิริกังวาล, เบลล์-วิชชุดา รติไพบูลย์ และอาร์ค-สาโรจน์ คุณะธเนศ รวมกลุ่มกันในนาม Trasher, Bangkok เพื่อบอกถึงตัวตนและความสนุกสนานที่อยู่ในตัวของพวกเขา

จากงานแรกที่มีคนมาร่วมเพียงครึ่งร้อย ขยับขยายกลายเป็นกว่าพันคน ทำให้ปัจจุบัน Trasher กลายมาเป็นกลุ่มปาร์ตี้ที่ฮอตที่สุดกลุ่มหนึ่งในไทยไปโดยปริยาย 

ภายใต้ฉากหน้าที่ขายความสนุก พวกเขายังมีมุมจริงจังที่ทั้งเขาและเราอยากนำเสนอให้ทุกคนเห็น

กดปุ่มพอสจากเพลงดาษๆ ของบริทนีย์กันสักพัก แล้วมาตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเขาอยากเล่าให้ทุกคนฟังจริงๆ กันดีกว่า

จากปาร์ตี้เล็กๆ คนมาหลักร้อย พวกคุณทำยังไงถึงดังจนขึ้นหลักพันได้

โจโจ้: เราว่าเป็นเพราะงานที่เปิดเพลงไทย ตอนนั้นเป็นธีมเพลงอกหักที่เป็นเพลงไทย คิดว่าอยากจัดปาร์ตี้สนุกๆ เล่นๆ เพราะตอนนั้นเราอกหักพอดี ในงานเลยเปิดเพลงช้า อยากร้องเพลงมาช่า เพลงปาน กะว่าแค่ 300 คนก็แฮปปี้แล้ว เพราะเราจัดเป็นร้านแบบนั่งโต๊ะ

ฝน: ตอนนั้นคิดว่าใครจะมากัน เพราะมันเต้นไม่ได้ แต่สรุปคนมาเยอะมาก

 

แต่เท่าที่เห็น ปาร์ตี้เก๋ๆ เขาไม่เปิดเพลงไทยกันนะ

โจโจ้: เมื่อก่อนก็เปิดแต่เพลงสากลอย่างเดียว แต่ที่จัดงานเปิดเพลงไทยก็แค่ลองเพื่อความสนุกเพราะเราอยากเต้นกันเอง มันเลยทำให้คนที่มาไม่ใช่ขาปาร์ตี้อย่างเดียวแล้ว แต่เป็นคนทั่วไป คนทำงานออฟฟิศ คนที่ปกติไม่ได้เที่ยว แม้แต่เด็กมหา’ลัยก็เริ่มมา คงเพราะเขารู้สึกว่าพอเป็นเพลงไทยมันสัมผัสได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันร้านที่เขาไปมันมีแต่เพลง EDM ที่ร้องตามไม่ได้

เบลล์: เราว่าคนที่เพิ่งมาปาร์ตี้ของเราจะชอบพวกแฟนๆ ขาประจำแทรชเชอร์ที่เต็มที่กับการเต้น การแต่งตัวมาปล่อยผี คนที่เพิ่งเข้ามาใหม่เลยรู้สึกว่าถ้าเราไปร้านสวยๆ แถวทองหล่อจะไม่ได้เต้นแบบนี้ เราจะไม่ไปฉีกขาแบบนี้ที่ไหนแน่ๆ เขาเลยรู้สึกได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มันปลดปล่อยได้จริงๆ

โจโจ้: ตลกดีเหมือนกันที่เมื่อก่อนเวลาเราให้สัมภาษณ์ เราจะพูดเสมอว่าแทรชเชอร์เป็นแหล่งรวม outcast รวมคนที่คนนอกมองว่าเป็นตัวประหลาด แต่ ณ วันนี้ก็ยังงงๆ นะ เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่ตัวประหลาดแล้ว เราคือคนธรรมดาทั่วไป คือในบ้านเรามันก็ยังมีความคูล ความอินดี้อยู่แหละ แค่เราไม่ใช่กลุ่มนั้น

ในฐานะคนที่จัดปาร์ตี้มานาน พวกคุณเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

โจโจ้: เป็นเรื่องของวัฏจักรคนที่มา เมื่อก่อนเราเปิด Wannabe ของ Spice Girls ทุกคนจะเฮ เรียกกันว่า ‘เพลงซ่องแตก’ คือเราจะมีลิสต์เพลงที่ทุกคนกรี๊ดแน่ๆ อย่างยุคแรกคือเพลงนี้ ยุคที่สองเป็น Baby One More Time ของ Britney Spears พอยุคที่สาม Crazy in Love ของ Beyoncéé และล่าสุดคือ Taylor Swift แต่ถ้าตอนนี้เปิด Wannabe จะมีครึ่งนึงเฮแต่อีกครึ่งจะงง เหมือนกลุ่มเป้าหมายมันเริ่มเด็กลง

เบลล์: คือเหมือนเขารู้จักนะ แต่ไม่เฮเหมือนเพลงของ Justin Bieber, Taylor Swift หรือ One Direction มันทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเพลง ของคน ของแฟชั่น คนที่อายุเท่าๆ กับเราก็จะเริ่มเฟดไปตามวัย อย่างบางคนก็มีลูกไปแล้ว

 

ยังสนุกอยู่ไหมกับการจัดปาร์ตี้ในเงื่อนไขที่ต้องมีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยว

โจโจ้: เราเริ่มทำปาร์ตี้มาจากความสนุก แต่พอเป็นธุรกิจก็มีบางครั้งที่รู้สึกว่าทำไมมันธุรกิจจังหว่า ไม่อยากทำ ก็ต้องรักษาตัวตนไว้เหมือนกัน เพราะในขณะที่ดังขึ้น คนเยอะขึ้น สิ่งสำคัญคือทำยังไงเราถึงจะมีความสุขในการคิดงาน อย่างล่าสุดเรามีปาร์ตี้แยกชื่อ ‘SIS’ ที่ทำร่วมกับภาพยนตร์ Sing Street ก็เป็นอีกเวย์ใหม่ๆ นอกเหนือจากเมนสตรีม พยายามเชื่อมโยงกับหนัง เผื่อวันนึงเราอาจจะมีเทศกาลหนังแบบแทรชเชอร์ รวมหนังของนักร้องดีว่า เราว่ามันผสมกันได้ เป็นปาร์ตี้ที่มีทั้งหนังและเพลง

แต่งานนั้นเปิดเพลงยุค 80 ที่ดูเก่ามากเลยนะ

โจโจ้: ที่เมืองไทย ถ้าคุณอายุมากขึ้น เวลาไปเที่ยวคุณจะรู้สึกว่ามันมีแต่เด็กเต็มไปหมด แต่ตอนที่เราไปต่างประเทศ คลับที่นั่นมีโซนสำหรับคนวัยนี้ เปิดเพลงยุคเก่าอย่าง Madonna หรือ Kylie Minogue เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองยังออกไปเที่ยวได้นะ แต่คนแก่บ้านเราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นป้าก็อยู่บ้านไปเถอะ เราเลยอยากจัดงานแบบนี้ อยากเห็นคนแก่มานะ อยากให้คนพาแม่มาเที่ยวบ้าง

 

หรืออาจเป็นเพราะเรามองว่าคนเที่ยวกลางคืนเป็นคนไม่ดี

เจนนี่: เราคุยกันบ่อยๆ ว่าคนไทยติดภาพว่าคนกินเหล้า คนสูบบุหรี่ ต้องเป็นคนเลว ต้องไปมั่วสุม ต้องมียาแน่เลย แต่ลองไปดูงานศพสิแก คนมางานยังกินเหล้าเล่นไพ่ พอญาติกลับก็ตั้งวงไฮโล

ณุ้ย: พอเราแมสขึ้นมันก็จะมีกระแสลบว่าพวกนี้มันเต้นแร้งเต้นกา กินเหล้าเมายากัน แต่มันไม่ใช่ เราเต้นแร้งเต้นกาจริง กินเหล้าจริง ก็แค่นั้น

โจโจ้: ความสนุกสนานในการกินเหล้าเนี่ย มันคือคนไทย อย่างปาร์ตี้ที่เราหาเงินให้น้องคาร์เมน คนไทยไม่คิดหรอกว่าการทำปาร์ตี้จะเอาเงินให้การกุศล คนชอบคิดว่าถ้าจะหาเงินการกุศลต้องบริจาคของหรือไปปลูกป่า เราไม่ชอบเมืองไทยอย่างนึงคือมองเหมารวมว่าคนกลางคืนเป็นคนไม่ดี เราไปต่างประเทศ เขาสนับสนุนวัฒนธรรมกลางคืน เขามองว่าผับ บาร์ ปาร์ตี้ คือแหล่งท่องเที่ยวอย่างนึง คิดดูว่าในเอเชียเราอยู่ใน Top 3 เรื่อง Night Life เลยนะ

เจนนี่: เราควรจะเอา Night Life ไปโปรโมต มันเป็นเรื่องที่ชาวต่างชาติเขารู้จักกันเยอะมาก มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาซ่อนเร้น

ที่คุณบอกในเพจว่าอยากลองจัดงาน Gay Pride จะออกมาเหมือนต่างประเทศไหม

โจโจ้: เป็นไอเดียที่เรารู้สึกว่าทำไมเมืองไทย เมืองที่มีตุ๊ดมีเกย์เยอะขนาดนี้ ถึงไม่มีคนออกมา เลยอยากลองทำเรื่องนี้ดู คงไม่ได้ใหญ่มากหรอก อยากเริ่มทำอะไรที่มันเล็กๆ ให้เห็นว่ามันมีพลังของคนกลุ่มนี้ซ่อนอยู่ มันไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ+ แต่มันรวมไปถึงชายจริงหญิงแท้ที่เขาสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าไปดูตามต่างประเทศมันไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่เป็นเกย์หรือเลสเบียนอย่างเดียวเท่านั้น อย่างที่อัมสเตอร์ดัมมันเป็นเทศกาลที่เขาพาครอบครัวออกมาดู เป็นเทศกาลแห่งความสุข เทศกาลของการยอมรับตัวเอง เฉลิมฉลอง Proud To Be

 

เท่าที่เห็น ดูเหมือนแทรชเชอร์จะกลายเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีีความสนใจในทางเดียวกันมากกว่าแค่ปาร์ตี้แล้ว

โจโจ้: ใช่ อย่างที่เห็นโพสต์ในเพจจะไม่ใช่แค่เพลง แต่ยังมีทั้งหนัง ทำซีรีส์เอาใจกลุ่มเกย์ เพราะว่าเขาคือกลุ่มเป้าหมายของเรา อันที่จริงคนจะชอบนึกถึงเราในฐานะปาร์ตี้เกย์ แต่ถ้าคนมาจะพบว่าจริงๆ แล้ว 50 – 50 คือผู้หญิงและเกย์ มันเกิดจากความสัมพันธ์ที่เขาเรียกว่าเกย์และเพื่อนสาว ที่ให้ความรู้สึกว่ามาเที่ยวบ้านเพื่อน เป็นกันเอง เพราะฉะนั้นเราเลยมองว่ามันจะกลายเป็น community ที่พัฒนาขึ้นไปทำอะไรหลายๆ อย่างที่มากกว่านั้น

 

ซึ่งความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเพื่อนก็ขยายจากปาร์ตี้มาอยู่ในเพจด้วยใช่ไหม

โจโจ้: เราวางตัวเป็นเพื่อน สนใจเรื่องอะไรเราก็จะแชร์แล้ววิจารณ์ ไม่ได้เป็นสื่อ เราเลยไม่ต้องเป็นกลางด้วย รู้สึกว่าไม่จำเป็น ถ้าอยาก take side อันไหน เราก็จะบอกไปเลย

 

เบลล์: ถ้าเราจริงใจกับเขา เขาก็จะจริงใจกับเราในทุกๆ เรื่อง อย่างเช่น เรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่โจ้ไปคุยกับ MPC มาว่ามันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะ เราก็มาแชร์กันได้ว่าเราคิดเห็นยังไง

โจโจ้: ก็มีบางทีที่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หลายคนจะหาว่าแทรชเชอร์เหลือง แทรชเชอร์แดง ไม่หรอก กูด่าทุกคน (หัวเราะ) อีกหนึ่งปัญหาของเมืองไทยคือทำไมต้องบังคับให้เราเลือกข้างด้วย ก็เราไม่แฮปปี้กับอันนี้อะ มันเหมือนกันกับทุกเรื่องเลย เช่น ทำไมไม่ชอบ Katy Perry แต่ชอบ Taylor Swift คือก็ไม่เกลียดไง แต่ชอบ Taylor มากกว่านิดนึง ก็จะโพสต์ข่าว Taylor มากกว่าหน่อย

ทำไมอยู่ดีๆ จากทำปาร์ตี้ถึงกลายมาเป็นกลุ่มที่พูดเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ของกลุ่มเพศหลากหลายได้

เจนนี่: กลุ่มเราก็มีคนติดตามอยู่บ้าง เลยอยากจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกระจายข่าว ให้ความรู้ แนะนำเกี่ยวกับ LGBTQ+ เหมือนกัน

โจโจ้: เราก็ไม่ได้ฉลาดมากไง ถ้ามีอะไร ใครแนะนำมาเราก็พร้อมที่จะเปิดรับเสมอเลย ถ้าติดต่อมาว่าอยากให้แทรชเชอร์ไปร่วมก็ยินดี ช่วยได้ก็อยากช่วย จริงๆ ในเพจเราคุยได้ทุกเรื่อง อย่างแชร์เรื่องไปตรวจเลือดมาก็คุยกันได้ มาคุยกันว่าประสบการณ์การตรวจเลือดของเขาเป็นยังไง

ฝน: เหมือนมันไม่มีคนมาเปิดกุญแจเรื่องนี้ ไม่เคยมีใครมาถาม พอมันมีคนก็เลยเริ่มกล้าที่จะถาม กล้าพูด กล้าแชร์ กล้าเล่าให้ฟัง เขาคงรู้สึกว่าถ้าฉันมาแชร์กับเพจนี้มันคงไม่เป็นไรหรอก เหมือนคุยเหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง ไม่ได้รู้สึกว่าต้องมา keep cool อะไร

 

ดูมาไกลมากจากตอนเริ่มต้นจัดปาร์ตี้กันเองเมื่อ 8 ปีก่อนเหมือนกันนะ

โจโจ้: เราว่าเราค่อนข้างเก่งเรื่องสื่อสารกับกลุ่มตุ๊ดเกย์เลสเบียนทอม คือเราไม่ได้เป็น opinion leader หรอก แต่มันมีคนฟังเราบ้าง มีน้องที่ cover เอ็มวีเรา แล้วส่งมาบอกว่าพี่ช่วยดูหน่อย ช่วยวิจารณ์หน่อย เราดีใจมากเลยนะ คือเรารู้สึกว่าเราได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขา รู้สึกดีที่เราสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง อยากให้คนเห็นว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้ ให้เห็นว่าคนเที่ยวกลางคืนมันไม่ใช่คนชั่ว

ณุ้ย: เราชอบมากตอนที่ทำ GAY OK BANGKOK แล้วมีเรื่อง HIV ใต้โพสต์ในเพจมีคนมาคอมเมนต์ว่าเพื่อนเราก็เป็น คือเราอยากให้เขาไม่ถูกมองว่าเป็นคนที่น่ารังเกียจ แต่แค่ต้องดูแลตัวเองเพื่อที่จะได้อยู่ในสังคมได้ ให้เห็นว่าเขาก็เป็นคนธรรมดา ทุกวันนี้คนยังมองว่าโรคนี้เป็นโรคที่น่ารังเกียจอยู่ มีภาพในหัวว่าคนที่เป็นเอดส์ต้องเป็นตุ่ม มันก็รู้สึกดีที่เราช่วยทำให้คนเปลี่ยนความคิด ได้ให้ความรู้กับเขาในหลายๆ ด้าน เหมือนให้แทรชเชอร์มันมีอะไรที่มากกว่าเรื่องเต้นแร้งเต้นกาหรือกินเหล้า

 

ซีรีส์ GAY OK BANGKOK ยังมีอะไรให้เล่าอีกไหม

โจโจ้: จริงๆ แล้วเกย์มันมีกลุ่มย่อยเยอะมากจนเราเอามาพูดทั้งหมดไม่ได้ ซีซั่นแรกเราโดนวิจารณ์ว่าทำไมพูดถึงแต่เกย์ชนชั้นกลางที่ทำงานออฟฟิศ คือภายในเวลา 30 นาที 5 ตอน มันไม่สามารถบอกเล่าเรื่องของทุกคนได้ทั้งหมดหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามแล้วที่จะนำเสนอประเด็นที่มันสากลที่สุด พยายามให้คนเห็นว่าเกย์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีปัญหาเหมือนพวกคุณนั่นล่ะ มีปัญหาแฟนเก่า ปัญหาส่งเงินให้แม่ไม่ทัน ปัญหาเพื่อนแย่งแฟน เพื่อนสวยกว่า ความน้อยใจอะไรก็แล้วแต่ ในซีซั่น 2 เราจะสำรวจและต่อยอดให้เยอะขึ้น ประเด็นเรื่องกะเทยก็มี ดูว่าเขามีปัญหาอะไร พยายามที่จะครอบคลุมให้ได้มากที่สุด       

แต่การโปรโมตปาร์ตี้หรือทำคลิปของกลุ่มคุณดูจะออกมาในเชิงที่ทำให้คนมองว่าตุ๊ด กะเทย เกย์ ต้องตลก ไม่คิดว่าจะเป็นการตอกย้ำภาพนั้นเข้าไปอีกเหรอ

โจโจ้: อันนี้เราเห็นต่างกัน มันขึ้นอยู่กับคนมองด้วย อย่างเราในฐานะผู้กำกับเรามองว่าเจนนี่ไม่ได้เป็นตัวตลก เจนนี่คือคนมีความสามารถ

เจนนี่: จริงๆ ต้องบอกว่าสื่อในสังคมไทยพยายามฉายภาพจำในละครว่ากะเทยต้องเป็นตัวตลก ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งชอบเสพอะไรแบบนี้ เวลาเราทำคลิปอะไรออกมา มันมีตลกหลายแบบมาก เราเคยทำมาหมด ส่วนหนึ่งคือเราพยายามให้คนไทยได้เห็นความตลกของกะเทยด้านอื่นบ้าง ไม่ใช่แค่แต่งหน้าจัดๆ ทาปากหนาๆ ไฝใหญ่ๆ อย่างเดียว แต่เราก็ไม่ปฏิเสธนะ แบบนั้นมันมีคนชอบ เราก็เคยทำ แต่เราก็อยากให้เห็นด้านอื่นด้วย

โจโจ้: คนตลกกับตัวตลกมันไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราอยากขายคืออารมณ์ขันที่อยู่คู่กับคนไทย เราอยากให้เขาหัวเราะไปกับเรา ไม่ได้มาหัวเราะใส่เรา เหมือนให้ laugh with me, not at me อีกอย่างถ้าคิดจะพูดอะไรกับคนไทย ถ้ามันเป็นเมสเสจหนักๆ อย่างเรื่องสังคมหรือต้องการให้คนทำอะไร ยังไงๆ สองสิ่งที่สำคัญของคนไทยคือเรื่อง humor กับ drama ต้องหาวิธีที่จะพูดกับเขา ให้เขาฟังเรื่องที่เราต้องการสื่อสาร มันต้องไปให้สุดทางอยู่แล้วอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสองอันนี้

 

ใต้ความเชื่อที่ว่าสังคมเรายอมรับคนเพศหลากหลายมากขึ้น มันเป็นอย่างนั้นจริงไหมในความคิดพวกคุณ

โจโจ้: คนยังยอมรับแค่เปลือก เหมือนกับว่า โอเค คุณเป็นตัวตลกในทีวี เป็นสิ่งเอนเตอร์เทนให้เราสนุก แต่อย่าออกมาเรียกร้องสิทธิอะไรนะ ยังไงเราก็ไม่ให้ อีกอย่างบ้านเราก็ยังไม่ใช่สังคมเปิด ถึงพ่อแม่ยอมรับมันก็ยังมีความเป็นเมืองพุทธศาสนา เป็นเกย์แล้วบาป ชาติที่แล้วต้องไปผิดลูกผิดเมียเขามาแน่ๆ มันมีคนเชื่อแบบนั้น คนก็เลยไม่กล้าออกมาบอกว่าเป็นสักเท่าไหร่

เจนนี่: เราเคยมีประสบการณ์ตรง มันก็ยังมีการแบ่งแยกกันอยู่ดี อย่างเรื่องการเข้าห้องน้ำ เวลาเราเข้าห้องน้ำชาย เขาก็จะบอกว่ามาเข้าทำไม ทำไมไม่เข้าห้องน้ำผู้หญิงล่ะ แต่พอเราเข้าห้องน้ำผู้หญิง ผู้หญิงก็จะมีสีหน้าที่ไม่โอเค เราก็เข้าใจนะว่าเขาต้องการความมิดชิด แต่ที่เราเข้าไปก็เพราะกูไม่รู้จะไปเยี่ยวที่ไหนแล้ว มันยังมีเรื่องพวกนี้อยู่เลยรู้สึกว่ายังไม่จริงหรอก

 

ทุกวันนี้ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มเพศหลากหลายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มันยังไม่ใช่การยอมรับอีกเหรอ

โจโจ้: มันไม่ได้ทำเพราะ ‘ยอมรับ’ แต่ทำเพราะมัน ‘ขายได้’ สุดท้ายแล้วเขาก็ยังมองเกย์เป็นเรื่องเดิมๆ อยู่ดี ไม่ตลกไปเลยก็เป็นเรื่องจิ้นเอาใจสาววายแค่นั้น ไม่ได้แสดงถึงชีวิตจริงของพวกเรา ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีพระ-นางในละครช่องหลักช่วงไพรม์ไทม์ แล้วมีตัวละครที่เป็นคนแบบณเดชน์-ญาญ่า เมื่อนั้นเราจะยอมรับจริงๆ ว่าคุณให้ค่าอะไรบางอย่างกับมันแล้วล่ะ

AUTHOR