วันนี้ไม่มีปาร์ตี้ ไม่มีความรื่นเริง ไม่มีผู้คน
มีเพียงงานศิลปะ ความสงบเงียบ และความโดดเดี่ยว
สิ่งที่คิดว่าจะได้เจอเมื่อต้องตามติดชีวิต พงษ์สรวง คุณประสพ หรือ โน้ต DUDESWEET กลับกลายเป็นตรงกันข้ามแทบทุกประการ
“ไม่ได้ออกไปไหนมาเกือบเดือนแล้ว” เขาเอ่ยประโยคนี้ระหว่างสนทนากันในห้องเช่าย่านอารีย์
อย่าว่าแต่ออกมาจากปากของผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดปาร์ตี้มาเกินร้อยครั้งเลย แค่ออกมาจากปากคนปกติยังยากที่จะเชื่อ จนเมื่อได้มาเห็นกับตาจึงเข้าใจ
หากจะย้อนทบทวนเส้นทางที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าชีวิตของชายผู้นี้มีหลายมิติ จากคอลัมนิสต์และนักเขียนภาพประกอบเมื่อครั้งเพิ่งเรียนจบ เขาผันตัวสู่การเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และนักออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์โคตรเท่และงานดีไซน์แพ็กเกจจิ้งซีดีสุดล้ำ ยืนยันถึงเซนส์ในการออกแบบของเขาที่อยู่เหนือระดับมาตรฐาน
ระหว่างนั้นเขานึกสนุกอยากจัดปาร์ตี้เพื่อเปิดที่ทางให้แนวเพลงที่ตัวเองเชื่อและชอบในนาม DUDESWEET ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้คนที่เลือดหนุ่มสาวยังเข้มข้น จากจุดเริ่มต้นที่มีคนเข้าร่วมปลายหลักสิบขยับเป็นต้นหลักพันในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
เขาว่าทุกย่างที่ก้าวไม่ได้เกิดจากการวางแผน เขาแค่ทำมันเมื่อโอกาสพัดผ่านมา
เช่นกัน ในวัย 35 เขากำลังลงมือทำงานศิลปะสำหรับนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิต โดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าต้องกลับมาจับพู่กันจริงจังอีกครั้งหลังห่างหายไปกว่า 15 ปี
ขออภัยล่วงหน้าหากต้องทำให้ใครผิดหวัง
วันนี้ไม่มีปาร์ตี้ ไม่มีความรื่นเริง ไม่มีผู้คน
มีเพียงงานศิลปะ ความสงบเงียบ และความโดดเดี่ยว
1. เราไม่เคยอยู่บ้านนานขนาดนี้
แดดร้อนเดือนเมษายนแผดเผาผิวกายระหว่างผมกำลังเดินเท้าไปยังบ้านเลขที่ปลายทาง เหงื่อไหลย้อยอาบกายและใบหน้า
ไม่แปลกที่ใครหลายคนเลือกที่จะไม่ออกจากบ้าน
“ขึ้นมาเลยครับ”
บางเสียงสื่อสารจากชั้น 2 เมื่อเห็นผมเดินทะลุเข้ามาในรั้วบ้าน ด้วยความที่มีมุ้งลวดกางกั้นทำให้ผมเห็นใบหน้าของต้นเสียงไม่ชัดนัก แต่จำได้แม่นยำว่านั่นคือเสียงของ โน้ต-พงษ์สรวง คุณประสพ
เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า เขาต่อสายมาบอกเล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะครั้งแรกในชีวิตที่เขากำลังลงมืออย่างจริงจัง แต่อาจด้วยข้อจำกัดของโทรศัพท์ที่ไม่ได้ระบุไว้ในคู่มือ จึงทำให้เขาบอกเล่ารายละเอียดได้ไม่เห็นภาพนัก
มาคุยกันที่ห้องดีกว่า จะได้เห็นงานด้วย-เขาว่าอย่างนั้น
“ร้อนหน่อยนะ” โน้ตทักทายด้วยประโยคที่ผมคิดในใจเมื่อก้าวเท้าผ่านประตูห้องเข้ามา สภาพห้องของเขาที่ปรากฏตรงหน้านั้นทั้งต่างและทั้งเหมือนภาพที่ผมจินตนาการไว้ในหัว
ต่าง-ตรงที่ห้องของเขาเรียบง่ายเกินกว่าจะเป็นห้องของหัวเรี่ยวหัวแรงของนักจัดปาร์ตี้ในนาม DUDESWEET ผมไม่พบเครื่องไม้เครื่องมือที่เราเห็นเขาจัดการอยู่มือในค่ำคืนที่มีงานรื่นเริง มีเพียงลำโพงขนาดเล็กตัวหนึ่งตั้งอยู่
เหมือน-ในแง่สิ่งของที่กระจัดจายทั่วห้องล้วนเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่า ห้องของคนที่กำลังลงมือทำงานศิลปะต้องมีขาตั้งกระดานวาดภาพ ถาดสี ที่เขี่ยบุหรี่ กระดาษที่ใช้สเกตช์ภาพ รวมถึงบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา
“เปิดเพลงดีกว่า เดี๋ยวเงียบเกิน”
พูดจบ เขาก็หยิบไอพอดที่บรรจุเพลงที่เขาชอบเสียบสายเข้ากับลำโพง บทเพลงล้ำสมัยไม่ค่อยคุ้นหูดังขึ้นก่อนที่เขาจะปรับวอลลุ่มให้เหมาะสม
“20 วันแล้วที่ไม่ได้ไปไหน เราไม่เคยอยู่บ้านนานขนาดนี้ สงกรานต์นี่ไม่ได้ออกไปไหนเลย เพราะรู้ว่าถ้าออกไปข้างนอกเราคงไม่ได้กลับมา” สิ้นประโยคเขาหัวเราะเย้ยตัวเองเสียงดัง
โน้ตบอกว่าเขาเริ่มวาดงานชิ้นแรกเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้วาดเสร็จไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเวลาที่เหลือเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งมือให้เสร็จทันวันเวลาที่วางไว้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม นั่นเป็นเหตุผลที่เขาต้องข่มใจไม่ออกไปไหน ซึ่งไม่เกี่ยวกับไอร้อนภายนอกแต่อย่างใด
ยังไม่ทันได้ถามถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ โน้ตลุกขึ้นไปหยิบสมุดขนาด A5 ที่ถ่ายเอกสารและเข้าเล่มอย่างเรียบง่ายมาวางตรงหน้าผม
“อ่านไปก่อน เดี๋ยวเราเล่าให้ฟัง”
พูดจบเขาลุกไปที่เคาน์เตอร์เครื่องดื่มมุมห้อง เทน้ำใส่แก้วแล้วดื่มดับกระหาย ปล่อยให้ผมจมอยู่กับสมุดที่กระดาษสีขาวเริ่มเปลี่ยนเป็นเหลืองเล่มนั้น
บนปกสมุดเขียนว่า บ้านของแม่
2. ถ้าวาดรูปเป็นไม่อดตายหรอก
ในสมุดเล่มนั้นเป็นภาพวาดการ์ตูนลายเส้นอย่างง่าย ว่าด้วยเรื่องราวของเขากับแม่
ฝีไม้ลายมือในการวาดของโน้ตนั้นติดตัวมาตั้งแต่สมัยตัวยังสูงไม่ถึงเอวผู้เป็นมารดา ด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวยทำให้ของเล่นของเขามีเพียงหนังสือที่แม่อ่านและถ่านที่ใช้วาดผนังบ้าน
“ตอนเด็กบ้านเราเป็นบ้านจนๆ น่ะ จนขนาดที่ว่าเรามองย้อนกลับไปตอนนี้เรารู้สึกว่ารวยมาก แต่ตอนนั้นความจนมันไม่ใช่ปัญหา ความรู้สึกมันเกิดจากการเรียนรู้ใช่ไหม ตอนนั้นเรายังไม่ได้เรียนรู้ความรู้สึกของความลำบาก ตอนนั้นมีแต่ความสนุก ของเล่นไม่ค่อยมีหรอก เราอ่านหนังสือเอา ซึ่งเรารู้สึกดีใจนะที่แม่เราชอบอ่าน เราเลยติดนิสัยนั้นมาเพราะเราคิดว่าการอ่านเป็นการสร้างจินตนาการที่ดีที่สุดแล้ว และเนื่องจากไม่มีของเล่น ผู้ใหญ่เขาเลยให้เล่นอะไรก็ได้ เราก็หาถ่านมาวาดผนังบ้าน ผนังบ้านที่ระดับความสูงของเราก็จะเต็มไปด้วยรูปวาดของเด็กชายพงษ์สรวง”
โน้ตเล่าจนผมเห็นภาพบ้านหลังนั้นของแม่และเขา
เมื่อถึงวันและวัยที่ต้องเลือกว่าจะศึกษาในศาสตร์แขนงใด เราจึงเข้าใจเหตุผลที่เขาเลือกสวนทางค่านิยมในขณะนั้นที่อะไรก็ต้อง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ไว้ก่อน คณะไหน สาขาใดก็ได้ เข้าไปเถอะ
“ตอนนั้นเราเลือก คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คิดย้อนหลังไปก็แปลกใจดีเหมือนกัน เพราะแม่บอกว่า เข้าไปเถอะ ถ้าวาดรูปเป็นไม่อดตายหรอก ซึ่งพอมองตอนนี้มันเป็นความคิดที่กล้าหาญมากเหมือนกันว่า คนชนชั้นกลางเกือบล่างแบบเขาสามารถคิดว่าศิลปะสามารถดำรงชีพได้นะ
“ถ้ามองย้อนไปประมาณช่วงปี 90 ใครๆ ก็อยากให้ลูกตัวเองเป็นหมอเป็นวิศวกรใช่ไหม หรือบางคนเรียนอะไรก็ได้ขอให้เป็นยี่ห้อจุฬาฯ แต่ไม่ใช่คณะที่ตัวเองรู้เรื่อง พอจบมาก็เลยมีบุคลากรที่มีความทรมานในชีวิตอย่างที่เราเห็นในสังคมที่บ่นว่าเรียนไม่ถูกสาย แล้วพอจบมาก็ไม่ได้ทำงานที่อยากทำ นี่ก็เป็นข้อดีของแม่เรา พอตอนเราขอเรียนศิลปะ แม่บอกทันทีว่าเออดีนะ”
“เหมือนแม่เชื่อในศิลปะ” ผมถามย้ำตามที่เข้าใจ
“แม่คงเชื่อในตัวเรามากกว่า และคิดว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปบังคับให้ลูกไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองไม่ชอบ เพราะแม่เองไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เขาก็ไม่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี แค่รู้ว่าถ้าลูกได้ทำอะไรที่ตัวเองชอบมันจะมีความสุข”
การเลือกเส้นทางครั้งนั้นทำให้เขาเข้าใกล้ศิลปะตามที่ตั้งใจ
และเริ่มไกลห่างจากบ้าน ห่างไกลจากแม่
facebook | DUDESWEET
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 165 พฤษภาคม 2557)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์