Elmgreen & Dragset ศิลปินคู่หูผู้ตีแผ่สังคมร่วมสมัยและท้าทายขนบโลกศิลปะ

Highlights

  • Elmgreen & Dragset คือศิลปินคู่หูคู่ที่เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะเปี่ยมไหวพริบ เต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบเสียดสี ท้าทายขนบเดิมๆ ของโลกศิลปะ และตีแผ่สังคมและวัฒนธรรมในโลกร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ
  • ผลงานที่โดดเด่นของพวกเขาคือ Prada Marfa (2005) ศิลปะจัดวางที่จำลองร้านบูติกของ Prada บนทะเลทรายในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และสระว่ายน้ำ Van Gogh's Ear (2016) ที่ถูกจับมาพลิกและวางหน้าอาคารร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ก
  • ในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2018 พวกเขาสร้างผลงานใหม่ชื่อ Zero (2018) จัดแสดงหน้าอาคารอีสต์เอเชียติก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสัญลักษณ์การเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก
  • เป้าหมายของพวกเขาคือการทำให้คนเข้าถึงศิลปะมากขึ้น แม้กระทั่งกับผู้คนนอกแวดวงอย่างคนขับรถบรรทุก และหวังจะใช้ศิลปะทำให้คนเลิกหวาดกลัวที่จะไม่มีความสุข

ในบรรดาศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทยและระดับโลกที่มีส่วนร่วมในเทศกาลศิลปะครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในกรุงเทพฯ อย่าง Bangkok Art Biennale 2018 มีศิลปินคู่หูคู่หนึ่งที่เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะอันเปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน เสียดสี ตลกร้าย ท้าทายขนบเดิมๆ ของโลกศิลปะ และตีแผ่สังคมและวัฒนธรรมในโลกร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ

พวกเขามีชื่อว่า Elmgreen & Dragset

คู่หูคู่นี้เกิดจากการรวมตัวของ Michael Elmgreen ศิลปินชาวเดนมาร์ก และ Ingar Dragset ศิลปินชาวนอร์เวย์ ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวาง ที่ผสมศิลปะ สถาปัตยกรรมและดีไซน์ไว้อย่างลงตัว

ผลงานชิ้นเด่นที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของพวกเขาคือ Prada Marfa (2005) ศิลปะจัดวางที่จำลองร้านบูติกของแบรนด์แฟชั่นสุดหรูเลิศอย่าง Prada ขึ้นบนทะเลทรายรกร้างริมถนนไฮเวย์ระหว่างเมืองวาเลนไทน์และเมืองมาร์ฟา รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

หรือผลงานศิลปะจัดวางสระว่ายน้ำจำลองขนาด 9 เมตร ที่ถูกพลิกและตั้งหน้าอาคารร็อกกี้เฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ก และด้วยหน้าตาที่ดูคล้ายกับใบหู พวกเขาจึงหยิบยืมชื่อของใบหูที่โด่งดังที่สุดในโลกศิลปะมาใช้เป็นชื่อผลงานว่า Van Gogh’s Ear (2016) หรือใบหูของแวนโก๊ะห์นั่นเอง

พวกเขามีผลงานแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก และร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลศิลปะที่เบอร์ลินในปี 1998 มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 53 ในปี 2009 ฯลฯ และได้รับเชิญให้เป็นภัณฑารักษ์ในเทศกาลศิลปะ Istanbul Biennial ในปี 2017

Prada Marfa (2005) ภาพจาก en.wikipedia.org โดย Carol M. Highsmith

Van Gogh’s Ear (2016) ภาพจาก en.wikipedia.org โดย NiFaRue

ก่อนหน้านี้ Elmgreen และ Dragset เคยมาแสดงงานในบ้านเรากับผลงานศิลปะจัดวาง DISLOCATED Oriental (2008) ที่จำลองทางเดินหน้าห้องพักของโรงแรมหรูอย่าง โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล มาตั้งไว้ในพื้นที่สาธารณะ บนชานชาลาสถานีรถไฟหัวลำโพงอันแสนสับสนวุ่นวาย สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณนั้นอย่างมาก

ในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2018 ‘Beyond Bliss’ พวกเขากลับมาแสดงงานในบ้านเราอีกครั้ง กับผลงาน Zero (2018) ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) หน้าอาคารอีสต์เอเชียติก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผลงานชิ้นนี้มีรูปทรงคล้ายสระว่ายน้ำตั้งฉาก ความสูง 8 เมตร ทำจากสเตนเลสเคลือบสีขาวสะอาดตา ดูๆ ไปก็คล้ายกับรูปทรงนามธรรมหรือเลขศูนย์ ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนหนึ่งจุดเชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก และเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยเบียนนาเล่ครั้งแรกในประเทศไทย

โชคดีที่ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ Elmgreen และ Dragset อย่างใกล้ชิด เราเลยขอหยิบยกเอาบทสนทนากับศิลปินคู่หูมาเสิร์ฟเป็นออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อยให้ผู้อ่าน ก่อนจะได้ไปชมผลงานของพวกเขาในเทศกาลนี้กัน

พวกคุณพอใจกับผลงานที่แสดงในเทศกาล Bangkok Art Biennale ครั้งนี้ไหม

Elmgreen : พอใจมาก เพราะเมื่อหลายปีก่อนเราเคยทำงานกับ อภินันท์ (อภินันท์ โปษยานนท์) เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะสแกนดิเนเวียนในกรุงเทพ ชื่อ Beyond Paradise ไม่ใช่ Beyond Bliss นะ (หัวเราะ) เราได้รู้จักเขาตอนนั้น ดังนั้นเมื่อเขาติดต่อเราเมื่อปีที่แล้ว ว่าเขาจะทำเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ที่นี่ พวกเราก็บอกว่า เจ๋งเลย! เอาเลย!

ก่อนหน้านั้นเราเคยทำงานกับ โน้ต (พงษ์สรวง คุณประสพ) และ Dudesweet โดยจำลองระเบียงทางเดินของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล มาไว้บนชานชาลาของสถานีรถไฟหัวลำโพง เพราะเราได้ยินว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าไปจิบค็อกเทลในโรงแรมโอเรียนเต็ล เราเลยบอกว่า โรงแรมโอเรียนเต็ลก็ควรจะออกมาหาคนไทยนั่นแหละ

Dislocated Oriental (2008) ภาพจาก facebook.com/liverpoolbiennial Courtesy of the Artists. Photo by: Pimplus PR

ทำไมคุณถึงเลือกทำงานในธีมสระว่ายน้ำที่กรุงเทพฯ

Elmgreen : เช่นเดียวกับงานที่เราทำที่หัวลำโพง กรุงเทพฯ มีสระว่ายน้ำเก๋ๆ ในโรงแรมหรูหรา ซึ่งไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ และดูเหมือนในประเทศไทยไม่ค่อยมีสระว่ายน้ำสาธารณะใหญ่ๆ เหมือนในยุโรป ที่มีสระว่ายน้ำของเทศบาลเมืองจากเงินภาษีของรัฐที่เด็กๆ สามารถเข้าไปว่ายน้ำได้ฟรี สระว่ายน้ำที่นี่ส่วนใหญ่อยู่ในโรงแรม คุณต้องเป็นแขกของโรงแรมถึงจะเข้าไปว่ายน้ำได้ เพราะสระว่ายน้ำไม่ใช่วัฒนธรรมไทย มันเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาโดยวัฒนธรรมตะวันตกอย่างยุโรปหรืออเมริกัน

Dragset : ในสังคมตะวันตกส่วนใหญ่ สระว่ายน้ำคือสัญลักษณ์ของความฝันที่จะมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่เต็มไปด้วยความบันเทิง หรือเกมการละเล่น กีฬาเพื่อการพัฒนาของร่างกาย เราอยากแสดงให้เห็นถึงการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างทางสังคมเหล่านี้ได้ เราก็เลยทำสระนี้ขึ้นมาเป็นตัวแทน เพราะแม่น้ำเป็นเหมือนสระว่ายน้ำของประชาชน

อีกอย่างตอนที่เราเห็นสถานที่แสดงงานครั้งแรก เรารู้สึกประทับใจมาก เพราะมันเป็นอาคารแบบสแกนดิเนเวียน ของบริษัท อีสต์ เอเชียติก ซึ่งเป็นบริษัทของเดนมาร์ก และตรงนั้นก็มีคนสัญจรข้ามแม่น้ำจากฝั่งตรงข้ามไปมา ซึ่งผมคิดว่ามันมีความน่าสนใจในหลายๆ แง่มุม

Elmgreen : อีสต์ เอเชียติก เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์กซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม มันเป็นบริษัทที่ทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเอเชียอาคเนย์กับเดนมาร์กที่สำคัญมาก และบริษัทนี้ก็นำไม้สักจากประเทศไทยจำนวนมากไปผลิตเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียน การค้าระหว่างสองทวีปมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งมันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากของเศรษฐกิจเดนมาร์ก

ได้ยินมาว่างานซีรีส์สระว่ายน้ำของคุณได้แรงบันดาลใจมาจากงานของศิลปินอย่าง David Hockney ด้วย

Elmgreen : งานชุด สระว่ายน้ำ ของเดวิด ฮอกนีย์ เป็นตัวแทนของชีวิตเกย์ที่มีความสุข เพราะปกติเวลาที่ศิลปินเกย์ทำงานศิลปะ พวกเขามักจะทำงานเกี่ยวกับปัญหาของการเป็นเกย์ อย่างโรคเอดส์ ความรุนแรง โฮโมโฟเบีย การมีศิลปินที่แสดงให้เห็นว่า “เฮ้! ยังมีด้านดี ด้านที่สุขสันต์ของการเป็นเกย์อยู่เหมือนกันนะ!”​ (หัวเราะ) เป็นอะไรที่สำคัญมาก

ภาพวาดที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งของเขาอย่าง A Bigger Splash (1967) ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงาน Powerless Structures, Fig. 11 (1997) แต่งานชิ้นนั้นของเราออกจะเศร้ากว่านิดหน่อยที่สปริงบอร์ดมันทะลุหน้าต่างอยู่ คุณเลยไม่สามารถกระโดดลงน้ำตูมใหญ่ (bigger splash) ได้ ในขณะที่ภาพวาดของเดวิดเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกย์ชั้นกลางค่อนไปในทางสูง เราก็สามารถเป็นเกย์ที่มีความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินโด่งดัง หรือมีวิลล่าหลังใหญ่กับสระว่ายน้ำหรูหราใน L.A. เกย์จนๆ มีชีวิตธรรมดาก็มีความสุขได้เหมือนกัน (หัวเราะ)

Dragset : เราต้องการแสดงความหงุดหงิดเกี่ยวกับสภาวะความเป็นเกย์ที่อยู่ในสถาบันทางศิลปะ คือถึงคุณจะสามารถแสดงงานศิลปะเกี่ยวกับเกย์ได้ แต่คุณก็ต้องทำงานในเชิงสังคม และละทิ้งความเป็นตัวตนของคุณไปเสียก่อน เราต้องการทำลายกรอบเหล่านี้ และพยายามเชื่อมโยงโลกภายนอกเข้ากับโลกภายในของเรา

Elmgreen : มันเกี่ยวกับช่วงเวลาด้วยแหละ เพราะงานชิ้นนี้ทำในปี 1997 ปัจจุบันสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว ในยุคสมัยนั้น ถ้าคุณเป็นเกย์ในโลกศิลปะ คุณก็จะเป็นศิลปินเกย์ แต่ถ้าคุณเป็นคนรักเพศตรงข้ามมาทำงานศิลปะ คุณไม่เห็นจะต้องเป็นศิลปินรักเพศตรงข้ามเลย คุณก็เป็นแค่ศิลปินเท่านั้นเอง

Powerless Structures, Fig. 11 (1997), Museum of Modern Art in Humlebæk, Denmark ภาพจาก en.wikipedia.org โดย bjaglin

พวกคุณไม่อยากถูกตีตราว่าเป็น ‘ศิลปินเกย์’

Elmgreen : ใช่ แน่นอน บางครั้งคุณทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของคุณ แต่บางครั้งคุณก็ทำสิ่งที่ไม่เห็นจะต้องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ คุณแค่พูดถึงความเป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในตัวคนทุกคน ในขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานั้นก็ยังมีปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ ถ้าคุณมองดูในสถาบันศิลปะทั่วโลก ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์จะมีแต่งานของศิลปะเพศชาย ในทุกๆ คอลเลกชั่นในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก

เพศชายที่ไม่ใช่รักร่วมเพศ

Elmgreen : ใช่ รวมถึงไม่ค่อยมีศิลปินเพศหญิงด้วย นี่คือปัญหาที่โลกศิลปะถูกครอบงำด้วยเพศชาย

Dragset : กระแส #MeToo ก็มีการรณรงค์ถึงสิทธิของศิลปินหญิงในโลกศิลปะ ที่ทางในประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือในแง่ของการตลาด อย่างการตั้งราคาผลงานศิลปะให้เท่าเทียมกับศิลปินเพศชายด้วย

Elmgreen : เราเพิ่งไปแสดงงานในสิงคโปร์ ในนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะมินิมอลลิสม์ เป็นงานที่ใช้ภาษาแบบมินิมอลที่เราคุ้นเคยมาก เพราะเรามาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ดีไซน์แทบทุกอย่างเป็นดีไซน์แบบมินิมอลมาก (หัวเราะ) ตั้งแต่สถานที่สาธารณะไปจนถึงหนังสือเด็ก

แม้ในประวัติศาสตร์ มินิมอลลิสม์ถูกมองว่าเป็นศิลปะสำหรับทุกคน เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปทรง ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ในขณะเดียวกัน มินิมอลลิสม์ก็เป็นแวดวงศิลปะที่ถูกครอบงำโดยเพศชายอย่างมาก ในนิทรรศการที่สิงคโปร์ เราทำเคาน์เตอร์บาร์สี่เหลี่ยมที่คนดูเข้าไปข้างในไม่ได้ มีเครื่องกดเบียร์ติดอยู่ด้านนอกฝั่งคนดู ด้านในบาร์มีม้านั่งที่เข้าจากข้างนอกไม่ได้ และมีเกย์หนุ่มสองคนนั่งเหมือนติดกับอยู่ข้างใน

Powerless Structures, fig. 21 (queer bar) (1998) ภาพจาก haubrok.org/en/foundation/

งานชิ้นนี้ค่อนข้างแรงเอาการในสิงคโปร์ เพราะการเป็นเกย์ในสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แน่นอนว่าในสิงคโปร์ก็มีบาร์เกย์ แต่คุณต้องเป็นเกย์แค่ในนั้น ไม่อาจแสดงตัวตนทางเพศของคุณข้างนอกได้ ชุมชนเกย์ในสิงคโปร์จึงเป็นชุมชนปิดมากๆ เรารู้สึกยินดีมากที่ได้ทำงานในบริบทของสถานที่ที่เราไปแสดงงาน และมีส่วนร่วมกับที่นั่น

เช่นเดียวกันกับการทำงานที่กรุงเทพฯ ที่เรามีโอกาสได้รู้จักคนที่ทำงานให้เรา อย่างโรงงานเหล็กท้องถิ่นที่สร้างสระว่ายน้ำให้เรา พวกเขาทุ่มเทและมีความรับผิดชอบมากๆ ทำงานออกมาดีมากๆ ในเวลาที่รวดเร็วมากๆ เราหวังว่าเราจะได้ทำงานกับพวกเขาอีกในอนาคต อ้อ! เจ้าของโรงงานก็ชื่อ อภินันท์ เหมือนกันด้วยนะ (หัวเราะ) การได้พบสิ่งเหล่านี้ ทำให้เบียนนาเล่เป็นอะไรที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน มันจึงไม่สำคัญเลยว่า เบียนนาเล่ครั้งนี้จะดีหรือไม่ดี มันมีคุณงามความดีในตัวเองตั้งแต่ตอนที่มันเกิดขึ้นแล้ว เพราะมันสร้างกิจกรรมและโอกาสต่างๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย

แต่เทศกาลศิลปะอย่าง บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังไม่ใช่เหรอ คุณคิดยังไงกับการที่ระบบทุนนิยมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลศิลปะแบบนี้

Elmgreen : ตอนที่ผมทำงาน Prada Marfa ผมก็วิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม หรือแม้แต่ตัวแบรนด์ Prada เองนะ แต่พวกเขาก็สนับสนุนเราด้วยการส่งสินค้ามาให้เราใช้แสดงในงาน และอนุญาตให้เราใช้ชื่อ Prada บนตัวงานได้โดยไม่ฟ้องร้อง ผมว่าบางครั้งบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ก็ต้องการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพวกเขาอยากรู้ว่าผู้คนมีทัศนคติอย่างไรกับพวกเขาเพื่อเอาไปพัฒนาตัวเอง

งานของพวกคุณเหมือนเป็นการหยิบเอาวัตถุสำเร็จรูปมาทำเป็นงานศิลปะ แบบเดียวกับงาน Readymades ของ Marcel Duchamp ต่างกันตรงที่ พวกคุณไม่ได้หยิบเอาวัตถุสำเร็จรูปเหล่านั้นมาใช้ หากแต่ทำมันขึ้นมาใหม่เลย คุณตั้งใจล้อเลียนหรือแสดงคารวะต่อ Duchamp ไหม

Dragset : เรามีงานชิ้นนึงของเราที่เชื่อมโยงโดยตรงกับ Duchamp คืองานเกี่ยวกับการแต่งงานของเพศเดียวกัน (Gay Marriage (2011)) ที่เราเอาโถปัสสาวะสองอันติดบนผนังเคียงคู่กัน แล้วเชื่อมมันทั้งสองเข้าด้วยกันด้วยท่อน้ำทิ้งด้านล่าง มันเป็นอะไรที่บ้ามากๆ (หัวเราะ) ชิ้นนี้แหละที่เป็น readymade แบบเดียวกับที่ Duchamp ทำใน Fountain (1917) อันโด่งดังของเขา แต่เราเอาแนวคิดของเขามาขยับขยายและใส่ประเด็นที่เราสนใจลงไป อย่างเรื่องเพศสภาพ และความสัมพันธ์ต่างๆ

Elmgreen : งานชิ้นนี้เหมือนเป็น Duchampในเวอร์ชั่นเกย์น่ะนะ ถ้าคุณฉี่ลงไปในโถนึง ฉี่จะทะลักไปออกอีกโถ (หัวเราะลั่น)

Gay Marriage (2010) ภาพจาก afmuseet.no

ผลงานของคุณอย่าง Van Gogh’s Ear ที่คุณหยิบเอาสระว่ายน้ำมาพลิกวางตั้ง ทำให้เรานึกไปถึง Fountain ของ Duchamp ที่พลิกโถฉี่วางหงายอยู่เหมือนกันนะ

Elmgreen : ถูก! แต่สระว่ายน้ำของเราเป็นประติมากรรม ไม่ใช่สระว่ายน้ำสำเร็จรูป เพราะสระว่ายน้ำสำเร็จรูปมีด้านหลัง (หรืออันที่จริงด้านลึก) ที่ดูไม่ค่อยสวย เราเลยทำด้านหลังของสระว่ายน้ำ Van Gogh’s Ear ให้ดูเรียบร้อย นวลเนียน สวยงามเหมือนประติมากรรมโมเดิร์น แต่พอมาดูด้านหน้าก็จะเห็นว่ามันเป็นสระว่ายน้ำธรรมดา

แนวคิดของดูชองป์ก็คือการหยิบเอาของที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นศิลปะ แต่เขาทำมันไปแล้วไง เราก็เลยต้องทำอะไรที่แตกต่างออกไป สำหรับเราก็คือ เราเปลี่ยนดีไซน์ของบางสิ่งบางอย่างที่ดูเหมือนของปกติธรรมดา แต่ทำให้ดีกว่า เป็นการเอาสิ่งเหล่านั้นมายกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ในขณะที่งานศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่อย่างงานของ Duchamp ปฏิเสธความงามและสุนทรียะ แต่งานของคุณก็ยังมีความประณีตสวยงามอยู่ พวกคุณคิดว่าความงามและสุนทรียะยังจำเป็นสำหรับศิลปะไหม

Dragset : ความงามมีหลายรูปแบบ แน่นอนว่าเราใช้ขอบเขตของสุนทรียะในแบบที่เชื่อมโยงกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเรา อย่างสุนทรียะแบบสแกนดิเนเวียน บวกกับอิทธิพลของดีไซน์แบบมินิมอลลิสม์ที่เน้นประโยชน์ใช้สอย แล้วเราก็เอามันมาบิดให้กลายเป็นภาษาทางศิลปะของเรา และกลับไปต่อรองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่ล้มล้างสุนทรียะเหล่านั้นอีกที

งานของเราก็ไม่ใช่อะไรที่ประณีตสวยงามเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น งานศิลปะจัดวางที่หอศิลป์ Whitechapel ที่เราทำเป็นสระว่ายน้ำเก่าทิ้งร้าง ทรุดโทรม (This Is How We Bite Our Tongue (2018)) เราสนใจวัสดุถูกๆ หรือสีสเปรย์ ที่มีสุนทรียะแบบอนาถา เพราะมันแตกต่างกับอะไรที่ดูหรูหราที่เราเห็นกันจนชินตาในอินเทอร์เน็ต

This Is How We Bite Our Tongue (2018) ภาพจาก standard.co.uk โดย Whitechapel Gallery / Jack Hems 

Elmgreen : จริงอยู่ที่คุณทำอะไรไม่สวยงาม โทรมๆ อัปลักษณ์ เพื่อพยายามทำลายกรอบทางสุนทรียะของศิลปะ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นที่รู้กันแค่ในหมู่คนที่เข้าใจศิลปะ ถ้าคนทั่วๆ ไปที่ไม่เข้าใจศิลปะมาเห็นสิ่งเหล่านี้พวกเขาก็คงบอกว่า “แม่งน่าเกลียดว่ะ” แล้วก็หันหลังหนีไป พวกเขาไม่สนใจหรอกว่า “โอ คุณกำลังทำลายกรอบทางสุนทรียะของศิลปะอยู่นี่นา!” (หัวเราะ) มีคนแค่กลุ่มเล็กมากๆ ที่จะเข้าถึงมันได้

แต่ถ้าคุณทำบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกแบบดั้งเดิมด้วยวัตถุที่มีรูปลักษณ์และพื้นผิวที่ประณีตสวยงาม คุณก็อาจจะเข้าถึงคนดูในกลุ่มที่ใหญ่กว่า และดึงดูดพวกเขาให้รู้สึกว่า “เออ ไหนลองเข้าไปดูมันใกล้ๆ หน่อยซิ!” แล้วพวกเขาก็อาจจะเริ่มคิดว่ามันคืออะไรกันแน่?

แบบเดียวกับงาน Prada Marfa (2005) ใช่ไหม

Elmgreen : ใช่ คุณรู้ไหมว่าคำวิจารณ์ที่ดีที่สุดที่เราได้รับจากงาน Prada Marfa มาจากคนขับรถบรรทุกที่ขับรถผ่านแล้วหยุดรถลงมาดู เขาบอกว่า “โคตรแปลกเลย แม่งคืออะไรวะเนี่ย!” นั่นทำให้ผมมีความสุขมาก เพราะคุณทำให้คนขับรถบรรทุกหยุดรถลงมาดูงานของคุณ แล้วคิดเกี่ยวกับมันว่า แม่งคืออะไรวะ! (หัวเราะ) นั่นเป็นสิ่งที่เยี่ยมมากๆ

ปฏิกิริยาของคนที่เห็นงานของพวกคุณที่หัวลำโพงก็เป็นแบบนี้เหมือนกันนะ

Elmgreen : แน่นอน สำหรับผมมันเป็นอะไรที่แตกต่างดี เพราะคนในโลกศิลปะเวลาดูงาน พวกเขามักจะมีรูปแบบวิธีคิดบางอย่างว่างานนี้ดีหรือไม่ดี มันอ้างอิงถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นอะไรที่ดี แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือการทำให้คนที่ไม่สนใจในศิลปะเริ่มหันมาสนใจและคิดอะไรเกี่ยวกับมัน

นั่นเป็นเหตุผลที่พวกคุณมักแสดงงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่กลางแจ้งมากกว่าในสถาบันและพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ใช่ไหม

Elmgreen : ใช่ และเมื่อเราต้องแสดงงานในสถาบันศิลปะ เราก็มักจะทำให้สถาบันเหล่านั้นดูไม่เหมือนสถาบันทางศิลปะ อย่างเช่นงานจัดวางที่เราทำที่ Whitechapel หรือชิ้นที่เราทำให้พิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert กลายเป็นเหมือนอพาร์ตเมนต์ใหญ่ที่ให้คนเข้าไปใช้เวลาในนั้นบนโซฟา พักผ่อนหย่อนใจบนเตียงตามใจชอบ (Tomorrow)

เราต้องการให้ผู้คนสัมผัสกับประสบการณ์ทางศิลปะในวิถีทางที่แตกต่างออกไป ไม่ต้องรู้สึกประหม่า หวาดกลัว เหมือนเวลาที่เข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมสีขาว พื้นคอนกรีตสีเทา มีพนักงานต้อนรับหน้าตาเย็นชา มีงานศิลปะล้ำค่าเลิศเลอในพิพิธภัณฑ์ “โอ มันเป็นศิลปะ คุณพระช่วย!” แล้วคุณก็ออกมาโดยไม่ได้คิดอะไรกับมัน ผมคิดว่าถ้าคุณทำบรรยากาศให้แตกต่างออกไป ทำให้คนคุ้นเคย ไม่รู้สึกแปลกแยก คุณก็จะทำให้พวกเขากลับออกมาคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำได้

สุดท้าย พวกคุณคิดว่าศิลปะจำเป็นต้องทำให้คนมีความสุขไหม

Dragset : ไม่จำเป็นเลย คนเราไม่จำเป็นต้องมีความสุขตลอดเวลา บางครั้งศิลปะทำให้เราครุ่นคิดสงสัย บางครั้งศิลปะท้าทาย และกระตุ้นความรู้สึกนึกคิด บางครั้งศิลปะช่วยให้คุณตระหนักว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวคุณ หรือเกิดกับความสัมพันธ์ของคุณ

Elmgreen : ศิลปะควรทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวที่จะไม่มีความสุขน้อยลง เพราะถ้าพวกเขากลัวการไม่มีความสุข พวกเขาก็จะต้องเอาแต่โพสต์ภาพหน้ายิ้มบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมแล้วคิดว่า “โอ ถ้าเราไม่มีความสุข ไม่ประสบความสำเร็จมากๆ มันจะเป็นอะไรที่เลวร้ายเอามากๆ” สำหรับผม นั่นไม่ใช่การมีชีวิต ศิลปะควรจะทำให้ผู้คนมีความกลัวน้อยลง และมีเสรีภาพมากขึ้น

ผลงาน Zero (2018) ของ Elmgreen และ Dragset จัดแสดงอยู่บนท่าเรือ หน้าอาคารอีสต์เอเชียติก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถติดตามข่าวสาร และตารางการจัดกิจกรรมของงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Bkkartbiennale หรือ bkkartbiennale.com กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณร้าน It’s “Happened to be” a Closet สำหรับสถานที่ในการสัมภาษณ์ และ พงษ์สรวง คุณประสพ สำหรับการติดต่อประสานงานในการให้สัมภาษณ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย