YED Talks : คุยเรื่องทอล์กแห่งความล้มเหลวจากปากโน้ต Dudesweet

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็น TED Talks ปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ มากมาย ทอล์กจากสปีกเกอร์หลายคนบนเวทีนี้ต่างถูกแชร์บนหน้าเฟซบุ๊กพร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนฟังได้นำไปใช้ต่อยอดในชีวิต

แต่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นิวส์ฟีดเฟซบุ๊กของใครหลายคนกลับปรากฏทอล์กที่ทำให้ต้องเลิกคิ้วสงสัยว่ามันคืออะไร (วะ) ชื่อที่พอดูผ่านๆ อาจคล้ายกับ TED Talks แต่เปล่าเลย, นี่คือ YED Talks ทอล์กที่นิยามตัวเองตรงข้ามกับ TED Talks อย่างสิ้นเชิง

YED ย่อมากจาก ‘Your Every Devastated’ ทอล์กนี้คือเวทีพูดที่นิยามเรื่องราวของสปีกเกอร์ว่าจะไม่สร้างแรงบันดาลใจใดๆ และยังทำให้คุณรู้สึกแย่กับชีวิตตัวเองเข้าไปอีก ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (9 ธันวาคม 2560) ทอล์กครั้งนี้จะกลับมาอีกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 8 เดือน ฟังดูเป็นตัวเลขที่ประสบความสำเร็จจนทำให้เราสงสัยว่าทอล์กที่นิยามว่าทำให้คนดูรู้สึกแย่ แต่ทำไมความนิยมที่พวกเขาได้รับกลับสูงจนเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ

เมื่อคืนเรามีโอกาสได้มานั่งคุยถึงเบื้องหลัง YED Talks กับ โน้ต-พงษ์สรวง คุณประสพ หรือที่ใครหลายคนรู้จักเขาในชื่อ ‘โน้ต Dudesweet’ เจ้าพ่อปาร์ตี้กับบทบาทผู้อยู่เบื้องหลังเวที ทอล์กที่สุดจะพิเศษนี้ และเนื่องในโอกาสที่เราพูดกันเรื่อง YED Talks เราจึงไปคุยกับโน้ตที่ออฟฟิศของ Dudesweet ผ่านบรรยากาศแบบฉันเพื่อนท่ามกลางควันบุหรี่และเบียร์ขวดเล็กที่เขานิยามว่านี่คือจุดเริ่มต้นของแนวคิด YED Talks และการสนทนาที่เป็นรูปแบบของ YED Talks จริงๆ

เอาล่ะ, มาเริ่มพูดเรื่อง YED กันได้เลย

YED Talks ครั้งแรก จุดเริ่มต้นมาจากตรงไหน
เอาจริงๆ ตอนแรกเราอยากทำแค่เล็กๆ 30 คนแล้วก็ชวนเพื่อนๆ มากัน คือตอนนั้นชีวิตเราดาวน์มาก งานไม่มี ปาร์ตี้ที่จัดคนก็ไม่มา มันเป็นช่วงที่แบบว่าเอาไงกับชีวิตดีวะ เราเลยคุยกับเพื่อนที่อยากจะบ่นๆ เรื่องความเหี้ยของชีวิตเหมือนกัน เราเลยคิดว่า เออ มาจัดทอล์กกันมั้ย ชวนเพื่อนมา นั่งเม้ากัน มีไมค์ตัวนึง แล้วก็ทำเลียนแบบ TED Talk ทุกอย่างเลย จงใจล้อ เราก็ทำเป็นอีเวนต์ในเฟซบุ๊กขึ้น ชวนเพื่อนกันเองเนี่ยแหละ ตอนนั้นประมาณห้าทุ่มเที่ยงคืน แต่ทีนี้กูเสือกตั้งสาธารณะไง พอหลับไปแล้วตื่นขึ้นมา เช้าเห็นคนแชร์ประมาณพันกว่า คนอยากมา เราก็คิดว่าฉิบหายแล้ว เอาไงดี สุดท้ายก็เออๆ เปิดใหญ่ไปเลยแล้วกัน

กลายเป็นการเสือกตั้งสาธารณะที่ดีเฉยเลย
เออใช่ หลังจากนั้นเราก็เปิดจองตั๋วไป 200 ใบ ปรากฏว่าตั๋วหมดภายใน 3 วัน ตกใจนะ แบบเฮ้ย มันเกิดอะไรขึ้นวะ เราก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ เอาเลยแล้วกัน ทีนี้ความเหี้ยต่อมา คือไอ้วันที่เราแพลนว่าจะจัดวันแรก คุณตาเราเสีย มันก็เลยต้องเลื่อนไป ทีนี้ช่วงงานศพ มันตลกดีตรงที่เราเห็นภาพงานทอล์กตอนที่ไปเคาะโรงแล้วมองมาที่แขก เราคิดว่าอ๋อ ทอล์กมันคงมีนั่งกันแบบนี้แหละมั้ง มันก็ไม่น่าจะยากนี่หว่า งานศพยังจัดได้เลย พอเสร็จงานศพเราเลยทำให้เป็นเรื่องเป็นราว จัดงานครั้งแรกที่ช่างชุ่ย บัตรทั้งหมดประมาณ 500 ใบ

บัตรหมดมั้ย
หมด ไม่พอด้วย แต่ที่นั่งมันได้แค่นั้น

ฟีดแบ็กโอเคเลยมั้ยจากครั้งแรก เพราะตอนนี้ 8 เดือน จัด 3 รอบก็ถือว่าถี่อยู่
โอเคเลย เราคิดว่ามันประสบความสำเร็จเพราะบรรยากาศ มันได้ความดิบ ความถ่อย เราถ่ายวิดีโอเก็บไว้ แต่ให้สิทธิ์การเผยแพร่กับสปีกเกอร์ซึ่งไม่มีใครยอมให้เผยแพร่เลย (หัวเราะ) คนที่มาพูด YED Talks เขาเลยพูดได้เต็มที่ เราถือว่า YED Talks ไม่มีคำหยาบนะ ทุกอย่างนั้นคือภาษา ทุกคนก็พูดกับเพื่อนแบบนี้

เราเลยต่อยอดโมเดลจากครั้งแรกมาจนถึงครั้งนี้
ใช่ รอบนี้บัตรก็เพิ่งหมดไปเมื่อบ่ายนี้เอง เออจะว่าไปก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำทอล์กเหมือนกันนะ ทำไปทำมาก็เพลินดี ไอ้ตอนแรกก็คิดว่ามันง่าย พอมาจริงๆ แม่งจัดยากกว่าปาร์ตี้อีกนะทอล์กเนี่ย เพราะปาร์ตี้คนที่มาเขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรนอกจากการเต้นใช่มั้ย แต่เนี่ยเค้าคาดหวังไง ยิ่งคนเยอะ โปรดักชั่นมันก็ต้องเยอะตาม

แต่ละครั้งเราเลือกหัวข้อมาคุยยังไง
มันเกิดจากเราคุยกันเองกับเพื่อนเนี่ยแหละ เวลาใครไปเจออะไรมาเหี้ยๆ เราก็จะรู้สึกว่าเฮ้ย อันนี้เอาไปทำ YED Talks ได้นะ อย่างประเด็นครั้งนี้เรื่อง ‘เรียนตามใจพ่อแม่’ มันเกิดจากการรับสมัครงานของเราเอง มี 2 คนที่ส่งมาแต่บอกว่าเรียนไม่ตรง ที่บ้านให้เรียนอย่างอื่น หรืออย่างเรื่อง ‘เกิดมาไม่สวย’ มันก็เกิดจากอินเนอร์ของเราที่โดนคนปาดผู้ชายเพราะมันสวยกว่า คือมันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปเนี่ยแหละ

ครั้งนี้ที่หัวเรื่องใหญ่พูดเรื่องเจนเนอเรชั่นและความต่างของเจนฯ นี่ก็เป็นเรื่องที่โน้ตสัมผัสมาใช่มั้ย
มันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและมีคนส่งเข้ามา ตัวเราไม่ได้มีปัญหากับคนต่างเจนหรอก คือเราแค่ชอบกัดเจนวาย เพราะมันสนุกดี แต่คือเราทำปาร์ตี้นึกออกมั้ย เราเจอคนหลายเจนอยู่แล้ว มันไม่มีการเกลียดกันหรอก กัดๆ กันไป กัดไปกัดมาแบบนี้ เอาฮา คนที่ดันมาซีเรียสแล้วไม่มีอารมณ์ขันก็ช่วยไม่ได้

YED Talks ครั้งนี้ครั้งที่ 3 แล้ว อนาคตเราเห็นภาพมันใหญ่ขึ้นมั้ย
หมดครั้งนี้ก็ไม่รู้จะจัดเมื่อไหร่แล้วนะ (หัวเราะ) หลังๆ มา หาสปีกเกอร์ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใครจะอยากมาพูดเรื่องแย่ๆ ของตัวเองล่ะใช่มั้ย มันหายากกว่าคนที่อยากจะมาพูดเรื่องประสบความสำเร็จไง คือเดี๋ยวนี้มีนักพูดเยอะนะ แต่ทุกครั้งที่เราเปิดรับสมัครเราจะตัดกลุ่มนี้ทิ้งก่อนเลย

อ้าว ทำไมล่ะ
เราว่าเสน่ห์ของ YED Talks คือคนที่จะมาพูดเวทีนี้มันจะมีความแบบ เอาเว้ย พูดแม่งไปเลยแล้วกัน เสี่ยงไปเลย แต่อย่างนักพูด เขาจะเป็นสไตล์คล้ายๆ กัน มุกคล้ายๆ กัน เราเลยตัดกลุ่มนี้ออกไปกลุ่มแรก เราคิดว่าคนที่มาพูด เวลาเขามาพูดปัญหา เขาเข้าใจมันดีจริงๆ เพราะเขาไม่ได้ปรุงแต่ง โอเค เรามีแก้ปัญหาการตื่นเวทีของคนที่ไม่เคยขึ้นเวทีใหญ่อย่างเอาทีมงาน TED Talks ที่เรารู้จักให้มาช่วยฝึก แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่เราอยากได้มันคือความจริงใจ คนที่มาพูดเขาเข้าใจดีกับความล้มเหลว มันจะต่างออกไปนะกับนักพูดที่เตรียมตัวมา

ทำไมเราสนใจการพูดเรื่องความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ
คือเรารู้สึกว่าความสำเร็จกับความล้มเหลวมันมีคุณค่าเท่ากัน ถ้าเรามอง YED Talks นี่จริงๆ มันก็เหมือนเรานั่งดื่มเบียร์และถกปัญหาชีวิตกันแบบนี้แหละ แต่เราแค่เล่นใหญ่ไง แทนที่จะนั่งดื่มอย่างเดียว เราก็เอาไมค์ให้มึงไปเลย ซึ่งพอมาจัดจริงๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มคือพอเรามองปัญหาเป็นเรื่องขบขัน ชีวิตมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง ไม่ต้องใครหรอก ดูอย่างชีวิตเราเองก็ได้ ตอนนี้ก็โอเคแล้ว ลงตัวแล้ว ไม่กลับไปดาวน์แล้ว

เหมือนทอล์กนี้ก็ตอบสนองตัวเราเองด้วย
ใช่ ตอนแรกทำเพื่อตัวเองเลยนะ ช่วงนั้นเราดาวน์มาก จนคิดว่าเออ กูแย่ได้ขนาดนี้เลย แต่พอชีวิตมันแตะก้นหลุมแล้ว มันก็มีทางเดียวคือต้องปีนขึ้นมาใหม่ มึงก็เลือกเอาว่าจะปีนขึ้นมาหรือจะตายอยู่ข้างล่าง ดังนั้นทอล์กนี้มันเลยเหมือนเวทีระบายอารมณ์ คือไม่ต้องมามีฟอร์ม ไม่ต้องมามีมาด และก็ไม่มีคนมาตัดสินเรื่องเรา ทุกคนไม่ได้มาพูดเรื่องความดีของตัวเอง เขามาพูดกันเรื่องความล้มเหลว แล้วเอาเข้าจริงเราก็ชอบเสน่ห์ของเรื่องราวผิดพลาด

อะไรคือเสน่ห์ของความผิดพลาดที่โน้ตว่า
เพราะมันทำให้เราไม่คาดหวังว่าต้องประสบความสำเร็จตลอดเวลาไง คือแม่งเป็นความกดดันนะ เอาง่ายๆ ทุกวันนี้เวลาเล่นเฟซบุ๊ก มีวันไหนมั้ยที่ไม่มีคนแชร์คำคมคนที่ประสบความสำเร็จ เราถูกบิวต์ตลอดว่าต้องเป็นแบบนั้น จนมันกลายเป็นความกดดันมากเกินไป กลายเป็นว่าถ้ามึงไม่ประสบความสำเร็จคือเรื่องน่าอาย จริงๆ มันไม่น่าอายหรอก มึงจะมาอายอะไรกับความล้มเหลวของตัวเอง เราคิดมาตลอดว่าถ้ามึงยอมรับปัญหาได้ มึงก็จะหายป่วย จะหายป่วยได้ถ้ายอมรับว่าป่วยก่อน นึกออกมั้ย

เหมือนจริงๆ แล้วเราก็จงใจให้สปีกเกอร์และงาน YED Talks ซ่อนเมสเสจเหล่านี้ไว้
เอาจริงๆ นะ โน เปล่าเลยว่ะ (หัวเราะ) คือถ้าใครมาเขาก็ได้ของเขาเองแหละ

คำถามสุดท้าย ไหนๆ ก็คุยเรื่อง YED Talks แบบ YED Talks แล้ว ขอลงทั้งหมดนี้แบบไม่ตัดคำหยาบเลย โน้ตสะดวกมั้ย
โอเคสิ แต่นี่ก็ไม่ได้พูดหยาบนะ นี่คือภาษา คนปกติก็พูดกันแบบนี้ (หัวเราะ)

น่าเสียดายที่บัตรงาน YED Talks x Heineken “(GEN) z through the world” หมดเกลี้ยงแล้ว แต่ติดตามรายละเอียดของงานครั้งหน้า (ถ้ามี) ได้ที่เพจ Dudesweet

ภาพ วรรษมน ไตรยศักดา

AUTHOR