5 ข้อที่บอกว่าผังเมืองที่ดีจะทำให้เมืองรับมือกับน้ำท่วมและภัยพิบัติได้อย่างไร

a day ฉบับที่ 206 เราพูดถึงแม่น้ำ แต่นอกเหนือจากเรื่องของแม่น้ำ เรายังจำเป็นต้องพูดถึง ‘เมือง’

เมืองแห่งสายน้ำอย่างกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีแม่น้ำลำคลองกว่าพันสาย (แม้ปัจจุบันจะน้อยลงกว่าอดีตก็ตาม) และระหว่างที่เรากำลังทำเนื้อหาฉบับแม่น้ำนี้เอง เราเกิดคำถามและสงสัยว่า ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ ถูกสร้างอย่างเหมาะสมและดีกับพื้นที่แล้วจริงหรือ

เพื่อตอบคำถามที่เราสงสัย (และเชื่อว่าใครหลายคนก็เป็นเช่นกัน) เราไปพูดคุยเพื่อไขข้อข้องใจนี้กับ ผศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หัวข้อที่เราพกติดตัวไปคือผังเมืองแบบไหนที่เหมาะกับเมืองแม่น้ำ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ แต่เมื่อการพูดคุยจบลง เรากลับพบคำตอบที่น่าสนใจมากกว่านั้น

 

1. เมืองที่สร้างจากฐานคิดว่า ‘น้ำคือภัยพิบัติ’

เพื่อให้แฟร์กับกรุงเทพฯ ของเรา จะเอาไปเปรียบเทียบกับเมืองอื่นโดยตรงก็คงไม่ได้ซะทีเดียว เราจำเป็นต้องเข้าใจไปถึงฐานคิดและบริบทของพื้นที่เสียก่อน หลายคนรู้ดีว่าประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ถือเป็นประเทศตัวอย่างในการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ดีมาก เพราะสิงคโปร์เป็นเมืองเกาะขนาดเล็ก เมื่อน้ำจืดที่ใช้ได้มีน้อย น้ำจึงถูกมองว่าเป็นทรัพยากร ไม่ใช่ภัยพิบัติ สิงคโปร์จึงเป็นประเทศที่อยู่ในบริบทที่ขาดแคลนน้ำมาแต่ต้น ต่างจากประเทศไทยเราที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมาแต่ไหนแต่ไร เราจึงแทบไม่มีปัญหาการขาดทรัพยากรน้ำเลย แต่เรากลับมีปัญหาเมื่อมีน้ำมากเกินไปจนไม่สามารถรองรับได้

เมื่อเราไม่เคยผ่านฐานคิดว่าเราขาดแคลนน้ำ เราจึงมองน้ำเป็นภัยพิบัติแทนที่จะมองว่าเป็นทรัพยากรที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติเหมือนสิงคโปร์ และเมื่อน้ำถูกมองว่าเป็นภัยพิบัติ สังคมจึงมีวิถีชีวิตไม่แนบชิดกับสายน้ำเหมือนแต่ก่อน การสร้างเมืองของเราส่วนหนึ่งจึงมาจากฐานคิดและมุมมองนี้

 

2. ผังเมืองกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกับความเสียหายของลำคลองทั่วกรุง

ผังเมืองมีไว้เพื่อควบคุมการพัฒนา โดยกำหนดว่าพื้นที่แต่ละโซนสร้างอะไรได้หรือไม่ได้ สร้างตึกได้กี่ชั้น พื้นที่นี้ควรเป็นแบบไหน มีประชากรตรงนั้นกี่คน เพื่อจะวางผังเมืองให้เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน

ผังเมืองแรกของไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นยุคที่วิชาผังเมืองกำลังเฟื่องฟูในนานาประเทศ เรามีผังเมืองชื่อว่าผังเมือง Litchfield ที่รัฐบาลไทยยุคนั้นจ้างบริษัทต่างชาติ Litchfield and Whiting Browne วางผังเมืองให้เรา แต่ตอนนั้นไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ส่วนผังเมืองแรกของกรุงเทพฯ ที่มีผลทางกฎหมายบังคับใช้จริงๆ เริ่มปี พ.ศ. 2535 นั่นหมายถึงเรากำลังใช้ผังเมืองเพื่อควบคุมเมืองที่เติบโตไปแล้ว และอาจจะโตขึ้นแบบไม่มีระเบียบด้วยซ้ำ เราใช้วิธีวางผังเมืองตามข้อมูลที่เก็บได้ในตอนนั้น โดยไม่ได้คำนึงว่าในอนาคต ประชากรที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จะมากกว่าจำนวนที่ใช้พิจารณา ทำให้เกิดปัญหารถติด น้ำใช้ไม่พอ ระบายของเสียไม่ทันอย่างในปัจจุบัน แถมน้ำเสียจากครัวเรือนที่เข้าระบบบำบัดมีเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัญหาน้ำในคลองเน่าเสียจึงตามมา เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสูญเสียลำคลองที่ควรจะดีไปหลายสาย

 

3. ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แค่การรับมือกับภัยพิบัติ แต่มันคือ climate change

น้ำท่วมเมืองหลวงทีไร ใครหลายคนคงโกรธท่านผู้นำที่จัดการปัญหาระบายน้ำไม่ได้ จริงอยู่ว่านั่นคือสาเหตุข้อหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเมืองเราตอนนี้ยังรับมือกับภาวะนี้ไม่ดีพอ แต่สาเหตุสำคัญอีกข้อคือปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ซึ่งกายภาพของกรุงเทพฯ ยังปรับตัวตามปัญหานี้ไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่ว่านี้คือในฤดูฝน ฝนจะตกในช่วงวันที่น้อยลง แต่ตกในปริมาณเฉลี่ยมากขึ้น

ปัญหาโดยตรงที่เกิดขึ้นข้อแรกคือปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเกินขีดความสามารถการระบายน้ำที่เราเคยคาดการณ์ไว้ และสอง หากไม่สามารถกักเก็บน้ำในเวลาฝนตกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะมีน้ำใช้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยิ่งเป็นเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจที่ใช้น้ำมาก ก็จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นมากที่เราต้องคิดเรื่อง climate change เข้าไปในการวางแผนเมือง ไม่ใช่แค่รับมือกับภัยพิบัติเพียงอย่างเดียว

 

4. เมืองแห่งแม่น้ำจำเป็นต้องปรับตัวได้ในระยะยาวเพื่อไปสู่ความยั่งยืน

เมืองแม่น้ำอย่างกรุงเทพฯ จำเป็นต้องเป็นเมืองยืดหยุ่น คือเป็นผังเมืองที่สร้างจากฐานคิดของการปรับตัวได้ในระยะยาวเพื่อไปสู่ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ฐานคิดว่าจะจัดการภัยพิบัติอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้วางผังเมืองที่ยืดหยุ่นเท่าไหร่ เมืองถูกกำหนดโซนตายตัวพร้อมกับสร้างเมืองคอนกรีตที่ไม่ซึมซับน้ำและไม่มีที่ให้น้ำอยู่ โดยหลักคิดเรื่องการปรับตัวนั้นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ข้อมูลที่ใช้วางผังเมือง การจัดโซน การวางโครงสร้างพื้นฐาน การวางพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงแนวคิดเรื่องสังคมพลวัตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฐานคิดอย่างในอดีตนั้นไม่ตอบโจทย์สังคมอนาคตอีกแล้ว

เราจำเป็นต้องหาพื้นที่ให้น้ำอยู่ เพราะน้ำเป็นทรัพยากรสำคัญ

 

5. เมืองพลวัตที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสายน้ำ

ว่ากันตามตำรา เมืองพลวัต (Resilient City) ก็คือเมืองที่พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนในอนาคตโดยเข้าใจถึงความซับซ้อนของระบบเมืองและสังคมเมือง เมืองพลวัตหมายถึงเมืองที่ฟื้นฟูตัวเองได้เร็วหลังเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเมืองพลวัตนั้นสามารถเกิดขึ้นจากการออกแบบเมืองให้คนที่อยู่ในละแวกเดียวกันได้รู้จักกันมากขึ้น เพราะเมื่อคนรู้จักกันมากขึ้น การช่วยเหลือก็จะมากขึ้นตาม สังคมก็จะฟื้นฟูได้เร็ว

หลักการความพลวัตของเมือง (Urban Resilience Principles) นั้นประกอบไปด้วย 6 แบบด้วยกัน คือ เมืองที่มีความหลากหลาย (Diversity) เมืองที่มีความซ้ำซ้อน (Redundancy) เมืองที่ได้รับการออกแบบเป็นส่วนย่อยและมีความอิสระขององค์ประกอบต่างๆ ในระบบ (Modularity and Independence of System components) เมืองที่มีความไวต่อการตอบสนอง (Feedback Sensitivity) เมืองที่มีขีดความสามารถในการปรับตัว (Capacity of Adaptation) และสุดท้ายคือเมืองที่มีการบูรณาการและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Responsiveness and Integration) ซึ่งการเป็นเมืองพลวัตจะนำไปสู่ภาวะที่เมือง สังคม และทรัพยากรธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว เพราะเมืองสามารถปรับตัวตามการศึกษาการไหลของน้ำและเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมไว้แล้ว

 

นอกเหนือจากเมืองเชิงกายภาพ เราจำเป็นต้องมีนโยบายกระจายความเจริญที่บังคับใช้จริงๆ มีศูนย์การผลิต ศูนย์การอุปโภคบริโภค ศูนย์กลางการลงทุนให้เท่าเทียมของแต่ละภูมิภาค และฟังก์ชันของเมืองที่แตกต่างกันเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แนวความคิดเมืองพลวัตถูกพูดถึงในวงวิชาการของไทยแล้ว แต่ก็ยังผลักดันให้เป็นจริงยากมาก เพราะปัจจุบันยังติดปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการอยู่

เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องมีเมืองที่ไม่ใช่แค่เพียงน่าอยู่ (livable city) แต่ควรเป็นเมืองที่ยืดหยุ่นเพื่อการปรับตัวและอยู่รอดได้ในระยะยาว สายน้ำลำคลองและธรรมชาติอื่นๆ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกับเราได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ได้ถูกมองใหม่แล้วว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ

หนังสืออ้างอิง

แนวทางการวางแผนพัฒนาเมืองและชุมชนภายใต้แนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จัดทำโดย ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

การสร้างเมืองพลวัตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดทำโดย หน่วยวิจัยอนาคตเมือง (Urban Futures Research Unit) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพ skyscrapercity.com, farm5.staticflickr.com, weforum.org, pixabay.com, wikipedia.org, i.pinimg.com, marketresearchthailand.com

AUTHOR