วัยรุ่นทุกคนต่างหวั่นใจกับทางเลือกของตัวเองว่าจะนำไปสู่อนาคตและชีวิตแบบไหน เราต้องเลือกอนาคต ในขณะที่เรายังไม่รู้อะไรมากนัก
เราต่างกลัวว่าทางเลือกของเราวันนี้จะนำไปสู่อะไรในวันหน้า จะนำไปสู่ชีวิตแบบไหน เรากลัวความเสียดาย กลัวไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ กลัวไม่ได้ทำงานที่มีความหมาย มีภาระความหนักใจและความหวังของสังคมและผู้ใหญ่วางไว้บนบ่า ไม่ว่าจะทำตามฝัน ตามทักษะความถนัด หรือตามคำแนะนำของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ เราจะเลือกยังไง
ในเมื่อชีวิตคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ‘แล้วเราควรเรียนรู้อะไรล่ะ?’ ในเมื่อโลกนี้มีอะไรมากมายให้รู้ไม่มีสิ้นสุด มีข้อมูลอยู่มากมายให้เราเข้าไปถึง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องตามให้ทัน ผู้เชี่ยวชาญ สำนักข่าว ต่างประกาศกร้าวว่า คนยุคใหม่ต้องรู้สิ่งนั้น เข้าใจสิ่งนี้ จนงง อาชีพนี้กำลังมา อาชีพนั้นกำลังไป จนน่าสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองควรรู้ควรเรียนอะไรก่อนดี
ก่อนจะบอกให้เราเรียนรู้ตลอดชีวิต มาสำรวจก่อนว่าเราควรจะเรียนรู้อะไรก่อนดี
วันนี้ อยากให้พักความกังวลสับสนเอาไว้ ขอแนะนำให้รู้จักคำว่า Transferable Skills แปลว่า ทักษะที่เปลี่ยนถ่ายได้ ทักษะอันสามารถนำไปใช้ต่อได้เรื่อยๆ ไม่จำกัดอยู่ที่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเลือกทำงานสายอาชีพไหน ทักษะประเภทนี้จะติดตัวเราไปในโลกที่เคลื่อนไป ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วยทำให้เรายืดหยุ่นและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ
อะไรบ้างที่ถือเป็นทักษะอันส่งต่อถ่ายทอดได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าเราจะเลือกทำงานอะไร ไม่ว่าเราจะทำงานสายไหน หรืออาจเผื่อใจว่าจะเปลี่ยนสายอาชีพวันหลัง
- การคิดเป็นเหตุเป็นผล (Critical Thinking) การวิเคราะห์ การคิดเป็นระบบ การลำดับความสำคัญ
- การแก้ปัญหา (Problem Solving)
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความสามารถในการคิดสิ่งใหม่
- การสื่อสาร (Communication)
- การนำเสนอ (Presentation Skills) นำเสนอไอเดียและความคิดนั้นออกมาได้
- การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
- ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)
- ความรู้เรื่องการเงิน (Financial Literacy)
- ความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ (Ability to learn new things)
การไม่แน่ใจว่าเราสนใจอะไรหรือเก่งอะไรก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เอาไหน ไม่มีความฝัน เราอาจเลือกฝึกฝนทักษะเหล่านี้ไปพลางๆ เป็นพื้นฐานชีวิต ไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองหากเรายังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร ไม่รู้ตัวว่าชอบอะไร ยังไม่มีความปรารถนาอันเข้มข้นที่คนเรียกว่า ‘แพสชั่น’ อย่าได้หนักใจ แพสชั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราพบเจอได้ในพริบตาหรือเกิดเพียงข้ามคืน อาจเกิดจากการลองหลายๆ อย่างแล้วค่อยๆ พบไปเองก็ได้
เดิม Transferable Skills คือทักษะสำหรับการบริหาร สำหรับผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่ หรือที่เรียกว่า Enterprise Skills แต่จากการสำรวจพบว่า คนทำงานในยุคใหม่ต้องรู้รอบกว่าเดิม ต้องเข้าใจภาพรวม พวกเขาต้องมองเห็นปัญหา อธิบาย และเสนอทางแก้ปัญหาได้
การที่ต้องบัญญัติคำนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการระบุทักษะที่แตกต่างจาก ทักษะทางวิชาชีพ (Technical Skills) ซึ่งมักจำกัดอยู่กับตำแหน่งงาน ชนิดงาน สาขาอาชีพ หรืออุตสาหกรรม ทักษะเฉพาะเหล่านี้ต้องการใบประกอบวิชาชีพ วุฒิ ปริญญา หรือประสบการณ์ผ่านการทำงานบางสายอาชีพที่เฉพาะ เช่น ทักษะการผ่าตัดเมื่อเราเป็นแพทย์ ทักษะการเขียนโปรแกรมหากเราทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ซึ่งทักษะเฉพาะนี้ก็ยังสำคัญและจำเป็น สามารถทดสอบได้ ทักษะอาชีพทางสาขา STEM (Science, Technology, Engineering, Math) ก็ยังสำคัญและเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมและความก้าวหน้าของโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ทักษะทั่วๆ ไป อย่างทักษะทางสังคม การร่วมมือ การสื่อสาร การตลาด หรือความสามารถทางดิจิทัล ก็เป็นส่วนประกอบที่ทำให้ความรู้ออกจากวงวิชาการไปถึงคนในสังคมวงกว้างได้
หากโลกการทำงานเปลี่ยนไป วิธีการสอน การเรียน ก็ควรเปลี่ยนตาม
หลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเครื่องจักรเข้ามาแทนที่หลายๆ ประเภทงานในหลายอุตสาหกรรม องค์กร The Foundation for Young Australians จึงทำสรุปรายงาน New Work Order เกี่ยวกับทักษะในอนาคต เพื่อเยาวชนในประเทศออสเตรเลีย แทนที่เราจะเดาว่าอนาคตต้องการอะไร เขาสรุปผลที่ได้จากการใช้วิเคราะห์ big data ข้อมูลที่เก็บจาก 6,000 เว็บไซต์หางาน และประกาศโฆษณาจำนวน 4.2 ล้านชิ้นจริงๆ ในเวลา 3 ปี พบว่า โฆษณาประกาศรับสมัครงานมีแนวโน้มที่จะระบุหาคนที่มีทักษะ Transferable Skills เพิ่มสูงขึ้นและจำเป็นไม่แพ้ทักษะทางวิชาชีพ แม้กระทั่งในงานขั้น entry-level ก็ต้องการความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ การคิดเป็นเหตุเป็นผล และทักษะการนำเสนอ เพิ่มขึ้น
The New Basics: Big data reveals the skills young people need for the New Work Order
ดังนั้นไม่ว่าจะทำงานอะไร หากมีทักษะเหล่านี้ที่นอกเหนือจากทักษะวิชาชีพก็มีโอกาสที่จะเรียกค่าตอบแทนได้สูงกว่า ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอว่าระบบการศึกษาและครูก็ควรปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
- ปรับและคิดวิธีการสอนที่ตอบรับการทำงานแบบใหม่
- ปรับระบบการศึกษา เช่น คิดระบบการให้คะแนน วิธีการให้เกรดใหม่ ออกแบบวิชาหรือหลักสูตรที่ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะ Transferable Skills เพิ่มจากเดิม เช่น โปรเจกต์ cross-disciplinary ข้ามสายและข้ามวิชามากขึ้น (เช่น การร่วมมือกันระหว่างครูวิทย์กับครูศิลปะเพื่อให้นักเรียนทำโปรเจกต์ผลิตสื่อวิทยาศาสตร์)
- พัฒนาครูให้เข้าใจตลาดงานแบบใหม่มากขึ้น แสดงภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าตลาดปัจจุบันต้องการอะไร ทำให้นักเรียนได้เตรียมตัวว่าตนเองกำลังก้าวไปสู่อะไร
- การเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ประกอบการ เพื่อฝึกนักเรียนจากสถานการณ์จริง ด้วยโจทย์จริงจากการจำลองการทำงาน
อย่างไรก็ดี ทักษะเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องหาจากการเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เกิดจากการสะสมประสบการณ์การทำงาน การลองผิดลองถูก การฝึกงาน การเป็นอาสาสมัคร การรันโปรเจกต์เล็กๆ การเข้าค่าย การฟังทอล์ก การเวิร์กช็อป การกระตือรือร้นหาความรู้ด้วยตนเอง หรือกระทั่งฝึกตอนเริ่มทำงานแล้วก็ยังได้
มีเด็กจำนวนน้อยคนที่มุ่งมั่นเลือกคณะที่ชอบหรือสายอาชีพที่อยากทำได้อย่างมั่นใจ ทักษะแบบ Transferable Skills นั้นยืดหยุ่น กว้าง และปรับใช้ได้ตลอดชีวิต ต่อให้เราไม่ได้ทำงานในด้านที่เรียนมาโดยตรง แต่ความสัมพันธ์ มิตรภาพ พลังงานความสร้างสรรค์ ประสบการณ์การแก้ปัญหา การจัดการ การทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่เราสร้างระหว่างทางจะไม่สูญเปล่า
อย่าวิตกกังวลเกินไปกับตัวเลือกวันนี้ เพราะเราจะเปลี่ยนไปและเราเปลี่ยนใจได้
หนังสือ 80,000 Hours โดย Benjamin Todd ได้เตือนใจว่า เวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทำให้เราต้องทำงานยาวนานถึง 80,000 ชั่วโมงในชั่วชีวิตหนึ่ง ฟังดูนานแสนนานมากๆ และฟังดูน่ากลัวหากเราไม่ได้ทำงานที่รักหรือมีความหมาย เราคงต้องตั้งใจเลือกให้ดีว่าอยากทำงานอะไรกับเวลาที่เรามี แต่ข้อดีของการทำงานในยุคนี้คือ เวลาอันยาวนานนี้ก็อาจทำให้เราเปลี่ยนใจได้ระหว่างทางโดยที่ไม่สายไป และเราอาจพบสิ่งที่เรารักที่จะทำระหว่างทำงานไปก็ไม่เป็นไร อย่ากดดันตัวเองเกินไป
80,000 Hours – Benjamin Todd
อายุขัยของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะยาวนานขึ้นไปอีก คนรุ่นใหม่มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนอาชีพ มีโอกาสย้ายสายอาชีพง่ายกว่าเดิม ไม่มีใครรู้เลยว่าคณะที่เราเลือกเพื่อนำไปสู่อาชีพที่เราอยากทำในอนาคตจะตอบโจทย์เราอยู่ไหม อาชีพหรืออุตสาหกรรมที่เราสนใจจะเป็นยังไงในไม่กี่ปีข้างหน้า
ยิ่งอายุยืนยาวเรายิ่งต้องเรียนรู้ที่จะลื่นไหล ปรับตัว ตามแนวโน้มสถิติอายุประชากรโลก พวกเราคนรุ่นใหม่จะมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนหน้าอีก แต่อย่านึกว่าหมายความว่า เราต้องมีอายุเกษียณที่ยืนนานขึ้นเพียงอย่างเดียว อายุที่ยืนนานมีผลให้ชีวิตทั้งชีวิตปรับเปลี่ยนไป ไม่ใช่ช่วงท้ายชีวิตที่ยืดออกไปเท่านั้น แต่คือการที่ชีวิตของเราถูกซอยออกเป็นส่วนสั้นๆ ที่ยาวขึ้น เราอาจมีวัยรุ่นที่ยาวนาน ทำให้เรามีเวลาได้ลองและตัดสินใจ เราอาจมีช่วงต้นอาชีพที่ยาวนานกว่าเดิม มีช่วงเวลาหนุ่มสาวก่อนจะลงหลักปักฐานที่นานกว่าเดิม วิธีคิดเกี่ยวกับอาชีพและการทำงานต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้วัยรุ่นหรือพ่อแม่รู้สึกผ่อนคลายจากความกังวลได้ การงานในยุคใหม่อาจจะไม่ใช่การเลือกเส้นทางหนึ่งและค่อยๆ ปีนป่ายบันไดองค์กรไปเรื่อยๆ จนถึงยอดเขาแห่งความสำเร็จ จากนั้นก็เกษียณพร้อมนาฬิกาเรือนทองหรือบ้านพักตากอากาศอีกแล้ว แม้ยังไม่พบทางที่อยากเลือกเดิน ไม่เจอสิ่งที่ถนัด ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะเลือกผิดแล้วชีวิตจะจบสิ้นลงตรงนั้นเลย แก้ไขไม่ได้ ต้องอยู่กับตัวเลือกที่ไม่โอเคตลอดชีวิต ภายใต้แนวโน้มอายุขัยที่ยาวนานกว่าเดิม
นอกจากเกรดที่ถูกบันทึกลงกระดาษ ประสบการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ คือทักษะอันล้ำค่า
เด็กไทยใช้เวลาจำนวนมากแข่งขันกันในเชิงวิชาการ ขยัน ตั้งใจเรียน เพื่อเพิ่มเกรด ถูกกดดันให้เลือกอนาคตทั้งที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ มุ่งมั่นสอบเข้าคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ฝันไว้ แต่นอกจากเกรดที่ถูกบันทึกไว้บนใบกระดาษแล้ว ยังมีทักษะด้านอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน และเรียนรู้ได้นอกห้องเรียน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะทำงานอาชีพไหน สายไหน นำเราไปสู่โอกาสชีวิตที่หลากหลาย ยืดหยุ่น ตอบรับอนาคตการทำงานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง
อย่างแฮชแท็ก #มหาลัยมาหาอะไร ที่ติด trending ไปเร็วๆ นี้ ทำให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายว่าเราไปเรียนทำไม นอกจากวิชาความรู้แล้ว ยังมีประสบการณ์และโอกาสอื่นๆ อีกมากที่เก็บเกี่ยวได้ขณะที่เป็นนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเวลา (time management), การทำงานกลุ่มกับเพื่อน (teamwork), การจัดการกับความเครียด (stress management), การเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อผลักดันประเด็นที่เราสนใจ (activism)
สำหรับผู้เขียนได้ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ (active listening), การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และการถกเถียงกับอาจารย์ในชั้นเรียน หรือกระทั่งฝึกการนำเสนอหน้าห้องให้น่าสนใจ ก็เป็นทักษะที่นำมาใช้ได้เรื่อยๆ ในการทำงาน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มี license หรือ certificate อะไร แถมระบุได้ยากใน CV หรือเรซูเม แต่ก็ขาดไม่ได้เลยในชีวิตการทำงาน
นอกจากความสามารถทางวิชาการหรือทักษะวิชาชีพ Transferable Skills เป็นส่วนเสริมนำเราไปสู่โอกาสที่หลากหลาย คนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องทำอาชีพเดียวตลอดชีวิตอีกแล้ว และหลายคนหากมีโอกาสและความสามารถก็อาจทำประโยชน์ได้กว้างขึ้น
อย่าง Leonardo DiCaprio แม้เราจะรู้จักเขาในฐานะนักแสดงชั้นนำ แต่เขาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เขานำชื่อเสียงและต้นทุนจากอาชีพนักแสดงไปต่อยอดสู่ด้านอื่นๆ ซึ่งเขาเริ่มทำเมื่อพร้อมหรือพบประเด็นที่สนใจซึ่งอยากโฟกัสและผลักดัน
ที่มา lifegate.com
หรือในไทยก็มี อเล็กซ์ เรนเดลล์ แม้เราจะรู้จักเขาในฐานะนักแสดงตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเขาซึ่งอายุ 29 ปีได้หันมาขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม โดยก่อตั้ง Environmental Education Centre Thailand (EEC Thailand) เพื่อสอนให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการเข้าค่ายเรียนรู้ พอมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากถึง 1.5 ล้านคน เมื่อใช้ส่งสารเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงเด็กๆ และคนรุ่นใหม่ก็ย่อมส่งเสียงได้ แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก็สามารถขับเคลื่อนประเด็นและสร้างอิมแพกต์ได้
ใครอ่านแล้วยังคิดไม่ตกหรืออยากถกต่อ เราอยากชวนไปฟังประสบการณ์จากพี่ๆ หลากหลายสาขาอาชีพที่ผ่านมาก่อนที่ Brand’s Summer Camp Plus ซึ่งจัดโดย Brand’s ซุปไก่สกัด อย่างมั่นคงมาตลอดหลายปี เพื่อให้น้องๆ มัธยมได้สำรวจอนาคตและตนเอง ฟังคำแนะแนวเส้นทางอาชีพหลายๆ ด้าน เผื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ
ตอนนี้ที่นั่ง Talk มีผู้ลงทะเบียนเต็มแล้ว แต่ยังมีโควต้าพิเศษจำนวน 20 ที่นั่งสำหรับผู้อ่าน a day เพียงส่งข้อความมาทาง inbox เพจ a day magazine โดยระบุ 1. ชื่อ-สกุล 2. อีเมล 3. เบอร์ติดต่อ แล้วทีมงานจะติดต่อกลับไปคอนเฟิร์มที่นั่งกับ 20 คนแรกที่ระบุข้อมูลมาครบถ้วนตามกำหนด ส่วนบัตรสามารถรับได้ที่หน้างาน
ส่วนน้องๆ คนไหนที่ลงทะเบียนไม่ทันก็ไม่ต้องเสียใจ ยังสามารถดูไลฟ์และคลิปย้อนหลังได้ที่ brandssummercamp.com/talk และสามารถทำแบบทดสอบคณะในฝันได้ที่ brandscareerdiscovery.com/signin
ในโลกที่ไม่แน่นอน อย่าได้วิตกกังวลจนเกินไป เริ่มต้นจากการศึกษาก่อนว่า เราควรจะเตรียมสมองและร่างกายให้พร้อมต่อการเรียนรู้อะไรดีในโลกที่ความรู้มีมากมายไปหมด Transferable Skills จะเป็น back-up plan และต้นทุนชีวิตให้กับเราได้เสมอ
สิ่งที่เราได้ลองทำ ลองผิด ลองถูก ไม่เคยสูญเปล่า เสียเวลา จะฝังรากเป็นพื้นฐานที่อยู่กับเราต่อไปแม้วันข้างหน้าที่เราเปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนใจ 🙂
โลกที่เคลื่อนไหวตลอดเวลานั้นยินดีกับความยืดหยุ่นเสมอ
อ้างอิง
80,000 Hours: Find a fulfilling career that does good by Benjamin Todd
Power Up: UK skills Boosting transferable skills to achieve inclusive growth and mobility
THE NEW BASICS: Big data reveals the skills young people need for the New Work Order