ปล่อยให้เราหลงทางบ้างดีไหม เมื่อความห่วงใยของพ่อแม่ตัดโอกาสเติบโตของลูกโดยไม่รู้ตัว

ปล่อยให้เราหลงทางบ้างดีไหม เมื่อความห่วงใยของพ่อแม่ตัดโอกาสเติบโตของลูกโดยไม่รู้ตัว

Highlights

  • Snowplow Parent หมายถึงพ่อแม่ผู้พร้อมจะกวาดสิ่งกีดขวางข้างหน้าออกให้ลูกเสมอ และไม่ยอมเห็นลูกต้องเจ็บปวด ผิดหวัง มีปัญหา หรือเสียโอกาส เลยสักครั้ง
  • คำนี้แพร่หลายจากบทความใน The New York Times ที่เขียนโดย Claire Cain Miller และ Jonah Engel Bromwich โดยใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างเข้มข้นเกินพอดี และลืมนึกไปว่า นี่อาจขโมยเวลาวัยรุ่นและโอกาสเติบโตของลูกไปโดยไม่รู้ตัว

แทนที่จะเตรียมลูกสู่โลกกว้าง ทำไมไม่เตรียมโลกกว้างให้ลูก?

Snowplow Parent คือพ่อแม่ผู้ป้องกันอุปสรรคให้ลูกตลอดๆ ไม่ยอมให้ลูกลำบากหรือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แม้ลูกจะเข้าสู่วัยที่ควรตัดสินใจและแก้ปัญหาเองได้แล้ว พวกเขาเป็นเสมือนรถกวาดหิมะ ผู้พร้อมจะกวาดสิ่งกีดขวางข้างหน้าเสมอ พ่อแม่แบบ Snowplow ไม่ยอมเห็นลูกต้องเจ็บปวด ผิดหวัง มีปัญหา หรือเสียโอกาส เลยสักครั้ง

คำนี้แพร่หลายจากบทความใน The New York Times เขียนโดย Claire Cain Miller และ Jonah Engel Bromwich โดยคำนี้ใช้อธิบายพฤติกรรมพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างเข้มข้นเกินพอดี

เร็วๆ นี้เพิ่งมีคดีอื้อฉาวในสหรัฐอเมริกา กลุ่มพ่อแม่ฐานะดีจำนวนมากถูกดำเนินคดีฉ้อโกงเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ในพ่อแม่จำนวนนั้นมี Lori Loughlin ดาราชื่อดังอยู่ด้วย พวกเขาถูกดำเนินคดีเนื่องจากจ่ายเงินจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อทำยังไงก็ได้ให้ลูกได้เข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง เช่น

  • จ้างคนอื่นไปสอบ SAT และ ACT เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยแทนลูก
  • ติดสินบนโค้ชกีฬาอาชีพเพื่อให้ลูกมีชื่ออยู่ในทีมนักกีฬา เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง
  • พวกเขาโกงสุดทางถึงขั้นจ้างคนโฟโต้ช้อปตัดต่อหน้าลูกตัวเองลงบนภาพนักกีฬาจาก stock photos เพื่อหลอกว่าลูกเป็นนักกีฬาจริงๆ แม้ลูกๆ ของตัวเองจะไม่เคยเล่นกีฬานั้นเลย

บางครั้งลูกก็รู้เห็นเป็นใจ และบางเคสพ่อแม่ก็ทำสิ่งเหล่านี้โดยที่ลูกไม่รู้เลย หลงภูมิใจว่าตัวเองสอบเข้าได้ ทั้งที่พ่อแม่จัดการให้ทุกอย่างจนถึงขั้นโกงและทุจริต หากพวกเขามารู้ทีหลังจะเสียความมั่นใจแค่ไหนที่พ่อแม่ไม่ไว้ใจขนาดนี้

วิธีคิดแบบ Snowplow Parent นั้นแทนที่จะเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับถนนและสิ่งกีดขวางข้างหน้า แต่พ่อแม่สไตล์นี้เลือกเตรียมถนนหนทางให้ลูกเดินง่ายๆ แทน เพราะลืมนึกไปว่า นี่อาจขโมยเวลาวัยรุ่นและโอกาสเติบโตของลูกไปโดยไม่รู้ตัว

 

เท่าไหนเรียกห่วงใย เท่าไหนเรียกมากไป

เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะต้องทุ่มเทและทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกสำเร็จถึงฝั่งฝัน ใครๆ ก็ชื่นชมพ่อแม่ที่เสียสละและใส่ใจดูแลไม่ห่าง ช่วยปูทาง รับประกันอนาคตและชีวิตดีๆ ข้างหน้า แต่จุดไหนที่เรียกว่ามากเกินไป อะไรเป็นตัววัดว่าพ่อแม่เราได้กลายเป็น Snowplow Parent ขจัดสิ่งกีดขวางเกินพอดี

แล้วพ่อแม่ควรมีสิทธิในการตัดสินใจในชีวิตเราขนาดไหน มีสิทธิมาข้องเกี่ยวและจัดการปัญหาในชีวิตมากเพียงใด บางคนอาจรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในแบบสำรวจพ่อแม่ของคนวัย 18-28 ปีจาก The New York Times พบว่าพ่อแม่จำนวนมากพร้อมจะทำสิ่งเหล่านี้หากจำเป็น

  • 16% ช่วยลูกเขียนจดหมายสมัครงานและสมัครฝึกงาน
  • 15 % โทรศัพท์หรือส่งข้อความหาลูกเพื่อกันลูกหลับในห้องเรียน
  • 11% พร้อมโทรไปหาบริษัทที่ลูกทำงานอยู่ หากพบว่าลูกมีปัญหา
  • 8% พร้อมติดต่ออาจารย์มหาวิทยาลัยในเรื่องเกรด หรือเมื่อลูกมีปัญหา

ลองนึกภาพว่าหากต้องให้แม่โทรมาคุยกับหัวหน้าเราทุกครั้งที่เรามีปัญหาในที่ทำงาน มันดูเป็นเรื่องที่น่าขันมากๆ แต่มีพ่อแม่จำนวนมากคิดว่าเป็นเรื่องทำได้ ยอมทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาให้ลูก เพื่อลดโอกาสผิดพลาดล้มเหลวของลูกให้ได้มากที่สุด

ก่อนที่จะมีคำนี้โผล่ขึ้นมาและถูกเขียนถึงอย่างแพร่หลาย มีคำไว้เรียกพ่อแม่หลายแบบที่เราอาจคุ้นเคยกันดี ในยุคก่อนหน้า มีคำเรียกพ่อแม่ประเภทเฮลิคอปเตอร์ คือประพฤติตนเหมือนเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่คอยสอดส่องจับตาลูกทุกฝีเก้า แต่ในสมัยนี้การเลี้ยงดูแบบใกล้ชิดเข้มข้นได้ก้าวไปอีกขั้น

พ่อแม่แต่ละคนเลือกเป็นผู้ปกครองที่มีสไตล์ต่างกัน ศัพท์ที่ใช้เรียกพ่อแม่แบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก Snowplow Parent ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายกึ่งวิจารณ์การเลี้ยงดูลูก  ดังนี้

  1. Helicopter parent คือพ่อแม่ที่คอยวนเวียนดูลูกอยู่ห่างๆ ตลอดเวลาเหมือนเฮลิคอปเตอร์ป้องกันระวังภัย พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์จะรู้ความเคลื่อนไหวของลูกทุกฝีก้าว รู้จักเพื่อนทุกคน รู้ว่าลูกทำอะไรอยู่ที่ไหน สนใจชีวิตลูกอย่างเข้มข้น ทำให้ลูกเครียดและกังวล รู้สึกเหมือนไม่ได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่
  2. Tiger parent คือพ่อแม่ที่ดุมาก เข้มงวด กดดัน เชื่อในวิธีคิดที่ว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ลูกต้องเก่งที่สุด ดีที่สุด เราจะกวดขันลูกเอง ทำให้ลูกรู้สึกไม่ได้รับความรักและไม่เคยดีพอ
  3. Bubble-Wrap Parent คือพ่อแม่ที่กลัวลูกจะพังและบอบชํ้า จึงห่อ bubble wrap เอาไว้ ไม่ให้ลูกต้องเจออุปสรรคจนลูกไม่เคยได้สัมผัสอะไรเองเลย ทำให้ลูกอ่อนไหวและแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้

 

ฝึกห้ามใจรับฟังแต่ไม่ต้องแก้ปัญหาให้ทุกเรื่อง

ทำยังไงถึงที่จะช่วยป้องกันพ่อแม่ไม่ให้กลายเป็นผู้คุ้มครองสไตล์เข้มข้นมากไปจนลูกไร้อิสระและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

  • รับฟังอย่างตั้งใจ แต่ไม่ต้องให้คำปรึกษาก็ได้ ไม่ต้องเสนอทางแก้ไปเสียทุกเรื่อง
  • ถามลูกว่าเขาต้องการอะไร อยากคิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้วเรารู้ดีที่สุด ถ้าเกิดลูกไม่อยากทำอะไรก็ควรเคารพการตัดสินใจของเขา ยอมให้ลูกงง สงสัย ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทำไม่ถูกและหลงทางบ้าง
  • ให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ในบ้าน อย่าเป็นเผด็จการและคิดว่าพ่อแม่รู้ทุกอย่าง
  • หากลูกขอให้ช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาให้ ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่าง ปล่อยๆ ไปบ้าง ช่วยแก้ปัญหาแค่ที่จำเป็น ให้ลูกแก้ปัญหาเอง แต่ไม่ได้ละเลยไม่ใส่ใจ

เราเพิ่งได้ดูหนังเรื่อง Searching จาก Netflix มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจ ว่าด้วยคุณพ่อคนหนึ่งที่ตามหาลูกสาววัยรุ่นที่หายไป เขาเองสนิทกับลูกลดลงเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น คุยกับลูกน้อยลงหลังภรรยาเสียชีวิต วันหนึ่งเมื่อลูกหายไปจากบ้าน เขากลับไม่รู้ว่าลูกไปไหน ไม่รู้ข้อมูลส่วนตัว ใครคือเพื่อนลูกที่โรงเรียน เมื่อไปส่องดูชีวิตออนไลน์ของลูกก็ตระหนักว่าตัวเองแทบไม่รู้จักเลยว่าลูกคือใคร สังคมประณามเขาในฐานะพ่อที่ลูกหายไปยังไม่รู้

พอมองกลับมาจริงๆ แล้ว พ่อแม่ต้องรู้เรื่องราวของชีวิตเราขนาดไหน ต้องรู้จักเพื่อนเราแค่ไหน แต่ละครอบครัวมีฉบับความสัมพันธ์ไม่เหมือนกัน หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามกับประเด็นที่ว่า พ่อแม่ต้องช่วยลูกแก้ปัญหามากแค่ไหน หากลูกทำผิดกฎหมายจะช่วยปกปิดไหม พ่อแม่ยอมผิดกฎหมายและขี้โกงเพื่อลูกได้ไหม

 

อย่าเป็นเผด็จการที่ห่วงใย ปล่อยให้เราหลงทางบ้างก็ได้

เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดในโลกที่คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นจะเศร้าโศก ผิดหวัง คิดว่าตัวเองหลงทางและไม่เอาไหน พวกเขากำลังค้นหาตัวเองและเลือกทางเดินชีวิต พวกเขายังไม่พร้อมเป็นผู้ใหญ่ ไม่มั่นใจ แต่กำลังพยายามอยู่

สำหรับคนหนุ่มสาวแค่พ่อแม่มีเวลาและพร้อมรับฟังเมื่อมีปัญหา พร้อมสนับสนุนในวันที่อ่อนล้า ผิดหวัง เสียใจ ให้ความช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เท่านั้นก็เป็นสิ่งน่ายินดีมากๆ แล้ว อย่าตัดสินใจแทนลูกและแก้ปัญหาให้เขาทุกอย่าง

การเป็นผู้ใหญ่มันยากและเจ็บปวดจนพ่อแม่บางคนทนไม่ได้หากลูกต้องโตไปเผชิญความเจ็บปวดนี้ พวกเขาผ่านอะไรมาก่อน และรู้ว่าเตรียมพร้อมให้ได้เพราะลูกคือเด็กน้อยสำหรับพ่อแม่ทุกคน การตัดโอกาสไม่ให้ลูกได้ผิดหวัง ล้มลุกคลุกคลาน สงสัยในความสามารถของตัวเอง หรือสงสัยในความหมายของชีวิต อาจเป็นการตัดขาดโอกาสที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

พ่อแม่ไม่สามารถอยู่ตัดสินใจให้ลูกไปได้ตลอด เพราะคนเรามีอายุขัยจำกัด วิธีการเลี้ยงดูแบบพร้อมแก้ปัญหาให้ตลอดชีวิต หรือโกงเพื่อแก้ปัญหา ลดความขัดแย้ง และความผิดหวังเสียใจให้ลูก อาจเป็นวิธีคิดที่บ้านเราคุ้นเคยมากๆ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นวิธีที่ดีนักในการสร้างคนให้แข็งแกร่ง อย่าลืมว่าชีวิตที่ไม่เคยล้มเหลวและไม่เคยลำบาก อาจไม่ใช่ชีวิตที่จริงแท้

ปล่อยให้เราผิดหวัง เสียใจ และตัดสินใจเอง อย่าขโมยโอกาสที่จะได้เป็นผู้ใหญ่ของพวกเราไปเลย ตัดสินใจผิดบ้าง พลาดบ้าง พังบ้าง และสิ้นหวังบ้าง ก็คงไม่เป็นไร

 

อ้างอิง
nytimes.com

psychologytoday.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ