สิ่งที่คุณว่าน่ารักอาจน่าอายสำหรับลูกเมื่อเขาโต ‘sharenting’ เมื่อพ่อแม่รังแกฉันด้วยการโพสต์รูป

สิ่งที่คุณว่าน่ารักอาจน่าอายสำหรับลูกเมื่อเขาโต ‘sharenting’ เมื่อพ่อแม่รังแกฉันด้วยการโพสต์รูป

Highlights

  • sharenting ใช้เรียกกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์แชร์ภาพลูกน้อยจนเกินพอดี ซึ่งอาจนำไปสู่การเผยข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดกิจกรรมที่เด็กๆ ทำจนอาจส่งผลกระทบได้ในอนาคต
  • การลงรูปเด็กๆ มีข้อดีคือช่วยเชื่อมสัมพันธ์เพื่อนๆ ญาติๆ และแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชนคนเป็นพ่อแม่ แต่อย่าลืมว่าลูกน้อยนั้นเลือกไม่ได้ และสิ่งที่ถูกโยนไปในอินเทอร์เน็ตนั้นจะสร้าง digital footprint หรือรอยพิมพ์ดิจิทัลให้กับลูก ซึ่งอาจถูกสืบค้นพบได้ในอนาคต
  • ชีวิตของเด็กๆ ได้ถูกเขียนขึ้นก่อนที่เขาจะเลือกเล่าชีวิตของตัวเองในมุมที่เขาปรารถนา รูปที่พ่อแม่ว่าน่ารักน่าชัง ตลกน่าเอ็นดู อาจน่าอายสำหรับพวกเขาก็ได้เมื่อโตขึ้น
  • พ่อแม่ต้องคิดเสมอว่าสิ่งใดที่กดเผยแพร่ไปแล้วในพื้นที่สาธารณะของอินเทอร์เน็ต สิ่งนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ไม่สามารถเรียกกลับคืนหรือลบล้างได้หมดจด

การเป็นพ่อแม่คืองานหนักที่ต้องเสียสละ เป็นหน้าที่ที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จึงยากมากๆ ที่จะหักห้ามใจไม่ให้พ่อแม่มือใหม่โพสต์เรื่องราวความเคลื่อนไหวและรูปภาพของลูกน้อย ในเมื่อรูปเด็กๆ ที่น่ารัก ดูไม่มีพิษมีภัย ไร้เดียงสา แต่อาจส่งผลร้ายได้หากไม่ระวังก่อนกดโพสต์

วันนี้เราเลยขอแนะนำศัพท์ที่เพิ่งเกิดใหม่ไม่กี่ปีมานี้จากพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดีย คือคำว่า sharenting คำที่เกิดขึ้นเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับการโพสต์แชร์รูปลูกๆ จนเกินพอดีของเหล่าผู้ปกครอง

sharenting (n.) เกิดจากการผสมคำว่า (share + parenting) ใช้เรียกกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์แชร์ภาพลูกน้อยจนเกินพอดี ซึ่งอาจนำไปสู่การเผยข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดกิจกรรมที่เด็กๆ ทำจนอาจส่งผลกระทบได้ในอนาคต

คำว่า sharenting ถูกบัญญัติไว้ใน Collins Dictionary ในปี 2016 โดยเป็นคำที่เกิดขึ้นมาพร้อมคำวิจารณ์และข้อถกเถียงถึงสิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยพ่อแม่ลงในพื้นที่สาธารณะอย่างอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เป็นผู้ริเริ่มคำนี้ โดยเริ่มตีพิมพ์บทความโดยใช้คำว่า oversharenting หรือการแชร์ข้อมูลและรูปลูกมากเกินไป เพื่อตั้งคำถามเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก

 

รูปเด็กน้อยไม่มีพิษภัย ใครๆ ก็อยากเก็บความทรงจำดีๆ ของการเป็นพ่อแม่เอาไว้

งานวิจัยหนึ่งในสหราชอาณาจักรพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กคนหนึ่งจะมีรูปลงในออนไลน์ถึง 1,500 รูป ก่อนจะอายุ 5 ขวบเสียอีก โพสต์เกี่ยวกับเด็กๆ นั้นเรียกคะแนนความสนใจและการกดไลก์จากเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการตลาดชั้นยอด

เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมกลายเป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องราวความสุข การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าจดจำ หลายคนมองว่าการโพสต์รูปลูกคือการแสดงถึงความสัมพันธ์ของครอบครัวอย่างจริงใจ ช่วยสื่อสารเรื่องราวของพ่อแม่ที่ห่วงใย เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ขอคำปรึกษา และพ่อแม่จำนวนมากก็ชินกับการลงรูปลูกทุกวัน วันละหลายรูปจนท่วมล้นไทม์ไลน์ 

การมีลูกเป็นประสบการณ์ที่ลํ้าค่าและอบอุ่นสวยงาม การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องยากและใช้พลังงานมหาศาล เด็กๆ ในช่วงปีแรกๆ ก็เติบโตไวจนน่าใจหาย เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ย่อมอยากเก็บบันทึกความเป็นไป รายละเอียด และพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของลูกโดยละเอียด

การลงรูปเด็กๆ มีข้อดีคือช่วยเชื่อมสัมพันธ์เพื่อนๆ ญาติๆ และแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชนคนเป็นพ่อแม่ ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายหากไม่คิดร้ายและไม่คิดมาก แค่เก็บความทรงจำดีๆ ไว้ แต่อย่าลืมว่าลูกน้อยนั้นเลือกไม่ได้ และสิ่งที่ถูกโยนไปในสายธารอินเทอร์เน็ตนั้นจะอยู่ทนตลอดไปแม้จะลบไปแล้วก็ตาม

ทุกครั้งที่พ่อแม่โพสต์รูปหรือข้อมูลส่วนตัวใดๆ ของลูกลงอินเทอร์เน็ต พวกเขากำลังสร้าง digital footprint หรือรอยพิมพ์ดิจิทัลให้กับลูก ซึ่งอาจถูกสืบค้นพบได้ในอนาคต ซึ่งรอยพิมพ์เหล่านี้อาจเริ่มต้นตั้งแต่พวกเขายังไม่เกิดด้วยซํ้า และเด็กๆ ก็เลือกไม่ได้  อินเทอร์เน็ตมีความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะจำความได้เสียด้วยซ้ำ 

 

เมื่อพ่อแม่สร้างตัวตนออนไลน์ให้ลูกก่อนเขาจะรู้เดียงสา

สิ่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่ ‘ถ้าไม่พอใจ ไม่อยากดูก็กดอันฟอลโลว์ไปสิ’ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตของเด็กๆ ที่โพสต์รูปตัวเองไม่ได้  ชีวิตของพวกเขาถูกจดจ้องโดยคนอีกมากที่มองดูอยู่ผ่านโพสต์ของพ่อแม่โดยพวกเขาอาจไม่รู้ตัวหรือยินยอมเลย

เมื่อพ่อแม่ได้ลงรูปลูกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขา ในขณะเดียวกันก็ได้ก่อร่างสร้างตัวตนออนไลน์ให้กับพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะพูดได้เดินได้เสียอีก

แม้ดูไม่มีพิษไม่มีภัย และพ่อแม่ก็ไม่มีเจตนาร้ายใดๆ ก็อาจเกิดผลกระทบจากการลงรูป 

ชีวิตของเด็กๆ ได้ถูกเขียนขึ้นก่อนที่เขาจะเลือกเล่าชีวิตของตัวเองในมุมที่เขาปรารถนา และเริ่มมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เริ่มโตพอ และขอร้องให้พ่อแม่ลบโพสต์ที่น่าอายเกี่ยวกับพวกเขาในวัยเด็ก รูปที่พ่อแม่ว่าน่ารักน่าชัง ตลกน่าเอ็นดู อาจน่าอายสำหรับพวกเขาก็ได้เมื่อโตขึ้น อย่าลืมว่าสิ่งที่โพสต์ไปไม่ได้หายไปไหน ในอนาคตอาจถูกสืบค้นพบโดยเพื่อนร่วมชั้นเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถานที่ทำงานในอนาคตก็ได้โดยไม่ได้รับความยินยอม

ประเทศฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายที่พ่อแม่อาจเข้าคุกหรือเสียค่าปรับได้ หากโพสต์ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพถ่ายของลูกลงออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเด็ก อาจดูโหดร้ายที่ลูกจะฟ้องพ่อแม่ตัวเองจากเรื่องเล็กน้อย แต่เด็กในบางช่วยอายุอาจไม่ได้อยากถูกบันทึกภาพเก็บไว้และเผยแพร่ไปในที่สาธารณะก็ได้

 

สัญญาณว่าพ่อแม่คนใดมีพฤติกรรมลงรูปลูกมากเกินไป

  • เพื่อนๆ เริ่มอันเฟรนด์หรืออันฟอลโลว์คุณเพราะดูภาพทารกซํ้าๆ จำนวนมากไม่ไหวแล้ว
  • พ่อแม่สนใจว่าโมเมนต์ต่างๆ ในชีวิตนั้นควรเก็บบันทึกด้วยกล้องมือถือให้ทันมากกว่าสวัสดิภาพของลูก เช่น เมื่อลูกล้มหรือบาดเจ็บ พ่อแม่หยิบมือถือถ่ายก่อนจะช่วยเหลือ
  • คุณลงรูปลูกอัพเดตทั้งวัน เมื่อคุณไม่ได้ลงรูปลูกไม่กี่วัน เพื่อนถามว่าลูกเป็นอะไรหรือเปล่า

ไม่มีใครรู้ว่าภาพที่โพสต์ลงในอินเทอร์เน็ตมีโอกาสจะถูกส่งต่อนำพาไปไหนบ้าง ในเบื้องต้นอาจฟังดูพารานอยด์หรือมองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่ในอินเทอร์เน็ต มีพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘digital kidnapping’ คือเมื่อคนแปลกหน้าขโมยรูปลูกน้อยและโพสต์ใหม่เองราวกับเป็นลูกของตัวเอง ภาพและหน้าของเด็กๆ ได้ถูกบรรจุชื่อและเรื่องราวใหม่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ และที่สำคัญไม่ได้รับความยินยอมจากตัวเด็กเองที่ยังไม่รู้ประสาแต่ถูกเอาใบหน้าและตัวตนไปใช้ นอกจากนี้ ภาพเด็กยังมีโอกาสถูกดูดขโมยไปฝังเก็บอยู่ใน archive ของเว็บไซต์คนที่เป็น pedophile หรือคนที่มีอารมณ์ทางเพศกับเด็ก สิ่งเหล่านี้ฟังดูดาร์กแต่ก็เกิดขึ้นจริงในโลกออนไลน์

เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นมา มองกลับไป พวกเขาอาจไม่พอใจหรืออับอายในรูปที่พ่อแม่โพสต์ไปแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ไม่สามารถถอนคืนได้หมดจด เพราะรูปของพวกเขาไม่ได้ปรากฏแค่ในกรอบรูปติดฝาผนังบ้านให้แขกชมเชย หรือไม่ได้อยู่ในอัลบั้มภาพถ่ายที่เก็บไว้ในลิ้นชัก รูปและภาพเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ถูกเผยแพร่ไปในอินเทอร์เน็ตอันเป็นที่สาธารณะ

ประเด็นนี้จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงในความขัดแย้งระหว่าง ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ ของพ่อแม่ผู้ปกครองกับ ‘สิทธิในความเป็นส่วนตัว’ ของเด็กๆ ที่ยังเล็กเกินกว่าจะเลือกเล่าชีวิตของตัวเองได้ และเลือกไม่ได้ว่าจะมีตัวตนบนโลกออนไลน์ไหม แต่พ่อแม่ก็บรรจุลงในโพสต์เสียแล้ว  

 

สิ่งที่เราว่าน่ารักอาจเป็นสิ่งน่าอายสำหรับลูกก็ได้เมื่อเขาโตขึ้น

ทารกมนุษย์มีช่วงวัยทารกที่ยาวนานกว่าจะดูแลตัวเองและหาอาหารเองได้ เด็กทารกถูกออกแบบมาให้เอ็นดูตามธรรมชาติ ความน่ารัก บอบบาง ไร้เดียงสานั้นน่าเก็บบันทึกไว้ 

ในวันนี้ เราคงห้ามพ่อแม่ให้งดหรือลบรูปลูกไม่ได้ แต่พ่อแม่ควรคิดให้ดีก่อนกดโพสต์รูปหรือข้อมูลของลูกลงในกลุ่มใดๆ ในพื้นที่อินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นส่วนตัว และคิดเสมอว่าทุกคำและทุกภาพที่ลงไปอาจพบได้ที่อื่นนอกเหนือจากในโปรไฟล์ของเรา ทุกครั้งที่เราแท็กใครสักคน เพื่อนของเขาก็จะเห็นด้วย และควรงดลงข้อมูลส่วนตัวที่อาจเป็นอันตรายได้ และหากลูกเริ่มโตพอที่จะรู้เรื่อง ควรถามลูกเสมอว่าสามารถโพสต์รูปและเรื่องราวของเขาได้ใช่ไหม และพ่อแม่ต้องถามตัวเองเสมอว่ารูปนี้โอเคไหม หากเป็นผู้ใหญ่ เช่นภาพที่กึ่งเปลือย หรือภาพตลกๆ น่าอาย ภาพเด็กน้อยที่อาละวาดโวยวายร้องไห้ และที่สำคัญอย่าเขียนอะไรที่เมื่อเด็กๆ โตพอจะอ่านแล้วอาจไม่พอใจได้ในอนาคต หากใจเย็นพอและรอได้ เก็บรูปลูกของคุณไว้ รอโพสต์แชร์ในวันที่เขาเริ่มรู้เรื่องและยินยอมให้นำเรื่องของเขาไปฝังไว้ในโลกออนไลน์

แม้เด็กๆ เป็นทารกที่น่ารักไร้เดียงสาในวันนี้ ในวันหน้าอีกไม่นานพวกเขาจะเติบโตกลายเป็นวัยรุ่นและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ย้อนกลับมาดูสิ่งที่คุณโพสต์เกี่ยวกับพวกเขา และวันหนึ่ง พวกเขาอาจต้องการสร้างตัวตนของตัวเองในแบบที่เขาพอใจ เรื่องตลกน่ารักในวันนี้อาจกลายเป็นเรื่องน่าอายได้เสมอ

บอกตัวเองเสมอว่า สิ่งใดที่กดเผยแพร่ไปแล้วในพื้นที่สาธารณะของอินเทอร์เน็ต สิ่งนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ไม่สามารถเรียกกลับคืนหรือลบล้างได้หมดจด

ต่อให้ลูกน่ารักน่าอวดแค่ไหนก็ตาม โปรดชั่งใจก่อนจะกดโพสต์

 

อ้างอิง

collinsdictionary.com
nytimes.com
scholarship.law.ufl.edu
telegraph.co.uk

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ