โลกร้อนเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องแต่ง ภัยพิบัติสภาวะโลกร้อนกลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะกลายเป็นภัยหายนะใหญ่ต่อมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตทั่วโลกที่เกิดขึ้นได้จริงๆ
ไม่กี่ปีมานี้ เริ่มเกิดนวนิยาย เรื่องแต่ง หนังสือ ภาพยนตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดชื่อเรียกผลผลิตทางวัฒนธรรมเหล่านี้ว่า cli-fi (อ่านว่า ไคล–ไฟ) ซึ่งย่อมาจากคำว่า climate fiction หรือนวนิยายเกี่ยวกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
cli-fi หรือ ไคลไฟ เลียนเสียงมาจากนิยาย sci-fi หรือนวนิยายวิทยาศาสตร์ (science fiction) ที่เราคุ้นเคยกว่า แต่ cli-fi นั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์โดยตรง อาจเป็นเรื่องสั้น บทกวี ที่ลงรายละเอียดถึงประเด็นทางศีลธรรมหรือปรัชญาที่วนเวียนอยู่รอบสภาวะโลกร้อน
หากโลกร้อนเป็นความจริง แล้วทำไมคนยังต้องการนิยายเกี่ยวกับโลกร้อนอีกล่ะ
cli-fi เล่าถึงชีวิต ปรัชญา ความเป็นมนุษย์ ในภาวะโลกร้อน เพื่อให้เราตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ภายใต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนไป
ช่วงปี 2000s นักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอังกฤษ Dan Bloom เป็นผู้ริเริ่มคำว่า cli-fi เป็นคนแรก เพื่อชักชวนให้นักเขียนนวนิยาย ศิลปิน และกวี ลองสำรวจความเป็นมนุษย์และความเป็นไปได้จากสภาวะ climate change ที่สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทั้งโลก
ย้อนกลับไปปี 1962 J. G. Ballard เขียนนิยาย sci-fi เรื่อง The Drowned World เล่าสภาวะน้ำท่วมทั่วโลกปี 2145 ผู้คนหนีออกจากลอนดอนที่กลายเป็นหนองน้ำและถูกยึดครองโดยสัตว์ป่า นักวิทยาศาสตร์อาศัยอยู่ตามยอดตึกใหญ่ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม เรื่องนี้จึงถูกยกให้เป็นบรรพบุรุษต้นสายเรื่องแรกๆ ของ cli-fi
The Drowned World (1962) – J. G. Ballard ปกสำนักพิมพ์ Penguin
เมื่อสรรพสิ่งบนโลกนั้นเกี่ยวข้องกันเป็นสายใยของระบบนิเวศ ภัยพิบัติรุนแรงต่อเนื่อง การสูญพันธุ์ การขาดแคลนทรัพยากรและอาหาร นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ การทำลายล้าง และนำไปสู่สงครามโลกได้ cli-fi จินตนาการและสำรวจความเป็นไปได้ว่า หากคนในรุ่นลูกหลานรุ่นถัดไปจากพวกเราต้องอาศัยอยู่ในโลกอีกแบบที่ต่างไป ซึ่งโลกที่เขาอยู่หลังจากนี้อาจไม่เหมือนโลกปัจจุบันที่พวกเราคุ้นเคยอีกแล้ว มนุษย์จำนวนหนึ่งอาจอยู่รอด ปรับตัว
ยกตัวอย่างนิยายเรื่อง Gold Fame Citrus โดย Claire Vaye Watkins ตีพิมพ์เมื่อปี 2015 บรรยายสภาพชีวิตในรัฐแคลิฟอร์เนียภายใต้สภาวะแห้งแล้ง ผู้คนขาดน้ำ แย่งชิงเครื่องดื่มเพื่อความอยู่รอด ทุกคนอยู่รอดโดยน้ำอัดลมกระป๋องที่หลงเหลืออยู่ตามคฤหาสน์ร้าง เมื่อได้ยินข่าวลือว่าตรงไหนยังมีน้ำเหลืออยู่ คนก็ออกติดตาม และพบว่ามีกองกำลังติดอาวุธเฝ้าทรัพยากรที่เหลืออยู่ นี่จึงเป็นเรื่องความรักอันเปราะบางท่ามกลางจลาจล และการตามหาน้ำในโลกอันแห้งแล้ง
cli-fi อาจพูดถึงชีวิตตัวละครไม่กี่ปีข้างหน้าที่ชินชากับสภาวะน้ำท่วม cli-fi อาจเป็นเรื่องราวของตัวละครผู้ตามหาครอบครัวหรือคนรักที่พลัดพรากสูญหายหลังภัยพิบัติ เมื่อธรรมชาติเอาคืนมนุษย์และนำไปสู่ความวุ่นวาย การแก่งแย่ง และสงคราม ทำให้ชีวิตต้องตกอยู่ภายใต้ความขาดแคลน นอกจากนี้ยังสามารถแทรกความจริงและเกร็ดวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจลงไปในนวนิยายได้อีกด้วย ทำให้ผู้อ่านค่อยๆ คิด วิเคราะห์ และทำความเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น
ไม่ใช่แค่โลกดิสโทเปียในอนาคตเท่านั้น นิยาย cli-fi อย่าง MURI (2019) โดย Ashley Shelby เล่าสภาวะน้ำแข็งละลายผ่านสายตาและจิตใจของหมีขาวขั้วโลก ทดลองเข้าไปสำรวจจิตใจของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงรุนแรงของระบบนิเวศจนไร้ที่อยู่อาศัยในเวลาที่โลกใกล้สิ้นใจ
สภาพเมืองลาสเวกัสเมื่อความแห้งแล้งและฝุ่นเข้าครอบคลุมจนอาศัยอยู่ไม่ได้ ในหนัง sci-fi เรื่อง Blade Runner 2049 (2017) ถูกเล่าด้วยภาพผ่านสายตา cinematographer นาม Roger Deakins
เมื่อเรื่องซับซ้อน ยิ่งใหญ่ และอ่อนไหว นวนิยายจะช่วยสื่อสารและอธิบายได้ดี
หลายคนอาจสงสัยว่า แค่อ่านข่าว อ่านรายงาน และอ่านข้อเท็จจริง ยังไม่เพียงพออีกเหรอ สำหรับความเข้าใจในประเด็นภาวะโลกร้อนที่โลกประสบนี้
คำตอบก็คือปัญหาโลกร้อน วิกฤตสภาพอากาศ เป็นเรื่องซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่าตัวเรามากๆ ไม่ใช่แค่ใหญ่ในเชิงขนาดเท่านั้น แต่ยังมีมิติของปรัชญา ศีลธรรม ความเป็นมนุษย์ dilemma มาเกี่ยวข้องด้วย สภาวะโลกร้อนไม่ใช่แค่เรื่องของเราในฐานะผู้บริโภคหนึ่งคนเท่านั้นที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้รถไฟฟ้า ไปเซเว่นฯ เอาถุงหรือไม่เอา ใช้หลอดพลาสติกหรือโลหะ ปัญหานี้เกี่ยวพันกับระดับมหภาค นโยบายสาธารณะ เกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รัฐบาลของทั้งโลก ยิ่งใหญ่ไปกว่าการขีดขอบเขตชายแดนของประเทศไหน
ไม่แปลกที่หลายคนรับข้อมูลแล้วรู้สึก overwhelm ตระหนก ตกใจ งุนงง สับสน และอาจพาไปสู่การไม่ยอมรับ ปฏิเสธการมีจริง ปัดตกให้เป็นเรื่องแต่ง หรือไม่ก็เข้าสู่โหมดหดหู่ สิ้นหวังไปเลย โลกแม่งแย่เกินเยียวยา เราก็ใช้ชีวิตทำมาหากินกันต่อไป ลืมๆ ไปว่าปัญหามีอยู่ รุนแรง และจริงมากแค่ไหน
นิยายและศิลปะอาจพาเราไปสู่ทางเลือกที่มากกว่าการปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง หรือสิ้นหวัง การเสพนิยาย cli-fi อาจค่อยๆ พาผู้อ่านเข้าสู่โลกที่ยังไม่จริง ช่วยจำลองเหตุการณ์ ตัวละคร ฉาก บทสนทนา ความเป็นไปได้ และสภาวะแวดล้อมต่างๆ สิ่งที่จะตามมาเมื่อสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป พาเราไปสำรวจรายละเอียด จินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด พาเราไปตกอยู่ในความซับซ้อน ความคลุมเครือ ซึ่งอาจช่วยให้มองโลกร้อนในมิติที่หลากหลายและละเมียดอย่างสร้างสรรค์
นิยาย cli-fi พาเราไปสำรวจความพิลึกพิลั่น ความไร้เหตุผลของความเป็นคน ทำให้ผู้อ่านมองว่าการเมืองและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เกิดขึ้นแถวป่าแอมะซอนในอีกซีกโลกหรือในมหาสมุทรที่ไหน
นิยาย cli-fi ยังสามารถลงดีเทลในแง่มุมอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ ความรัก หรือความเป็นแม่ ในสภาวะวิกฤตที่คับขัน การเอาตัวรอด การตั้งอุณหภูมิความสัมพันธ์ในสภาวะที่อากาศร้อนขึ้นไม่กี่องศาจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง นี่คือหน้าที่ของศิลปะที่จะเข้าไปสำรวจความเป็นไปได้เหล่านี้
เว็บไซต์ Chicago Reviews of Books ได้เริ่มบล็อกชื่อ Burning Worlds (โลกที่กำลังมอดไหม้) เพื่ออัพเดตความเคลื่อนไหวในหนังสือ เรื่องสั้น และบทกวีแนว cli-fi ซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาพร้อมกับประเด็น climate change กลายเป็นประเด็นที่รุนแรง เร่งด่วน ที่ต้องร่วมกันแก้ไขก่อนจะสาย เริ่มมีคลาสวิชาวรรณกรรม cli-fi ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยอย่าง Brown University เพื่อศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และลงลึกไปในนิยายสายนี้อย่างถึงพริกถึงขิงด้วย
Temple University ยังมีเว็บไซต์หน้า teaching cli-fi ทำลิสต์หนังสือ ไกด์ไลน์การสอน และสื่อการสอนสำหรับคลาส cli-fi ไว้ด้วยหากผู้สอนอยากบรรจุ cli-fi เข้าไปในหลักสูตรคลาสของตัวเอง
วิกฤตสภาพอากาศ โลกพัง มอดไหม้ อาจไม่ใช่เรื่องของคนในโลกอนาคตอันไกลอีกต่อไป
ในปีนี้เราได้เห็นการประท้วงวิกฤตสภาะโลกร้อน #ClimateStrike ทั่วโลกเพื่อกดดันภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และคนทั่วไป ถึงวิกฤตที่กำลังจะมาถึงหากไม่บรรเทาเยียวยาอย่างจริงจัง เราได้เห็น The Guardian เปลี่ยนการใช้คำที่เกี่ยวข้องกับสภาวะโลกร้อนให้รุนแรงและจริงจังขึ้นจากใช้คำว่า climate change สู่คำว่า climate breakdown หรือ climate crisis เพราะสภาพแวดล้อมไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงหรืออุ่นขึ้น แต่โลกกำลังร้อนระอุ รุนแรง มอดไหม้ และล่มสลายลงตรงหน้าเรา สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็นส่วนหนึ่งของสายใยที่เราต้องพึ่งพาอาศัย
นวนิยายสาย cli-fi จึงเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมว่าในยุคนี้ ความกลัวของผู้คนได้เคลื่อนสู่รูปแบบใหม่อันเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์และสภาพอากาศ ภัยพิบัติที่นำไปสู่การล่มสลายและสูญพันธุ์ จากเดิมที่เป็นความกลัวในวิกฤตนิวเคลียร์หรือสงครามโลกในยุคก่อนหน้านี้ เป็นความกลัวต่อการสูญสิ้นของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกความจริงที่เข้าใกล้โลกในนิยาย sci-fi ขึ้นเรื่อยๆ
เราเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับนวนิยาย sci-fi ซึ่งมักเล่าถึงมนุษย์ในเวลาอนาคตอันใกล้บ้าง ไกลบ้าง โดยนำเสนอภาพความเป็นอยู่ของมนุษยชาติในอนาคตอันสิ้นหวัง ระบบนิเวศโลกพังทลาย ท่ามกลางอวกาศที่กว้างใหญ่และเวิ้งว้าง ในยุคที่มนุษย์ต้องหลีกหนีไปอยู่ดาวอื่นเพราะโลกไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย สำหรับเราในสมัยเด็ก narrative เหล่านี้เหมือนเป็นเพียงเหตุการณ์ในจินตนาการถึงเทคโนโลยีแสนล้ำและดวงดาวอวกาศที่อยู่แสนไกล แต่วิกฤตแห่งอนาคตอาจมาไวและใกล้เรากว่าที่คิด และโลกเป็นดาวเคราะห์เดียวที่เรามี พวกเราทั้งโลกยังหนีไปไหนไม่ได้ เรายังเป็นส่วนหนึ่งในระบบใหญ่ที่หลุดรอดออกมาไม่ได้ แต่มนุษยชาติก็มาไกลเกินกว่าจะกลับไปใช้ชีวิตเอาตัวรอดในป่า เราต้องพึ่งพาระบบเมือง ระบบรัฐ และเทคโนโลยี เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย
วิกฤตการณ์สภาพอากาศอาจไม่ใช่เรื่องของคนในโลกอนาคตอันไกลอีกต่อไปแล้ว หายนะนั้นใกล้และจริงกว่าที่เราเคยคิด นักวิทยาศาสตร์เตือนว่ามีโอกาสสูงที่โลกจะเปลี่ยนแปลงจนเลยจุดที่มนุษย์จะหันหลังและแก้ไขให้กลับคืนมาได้ พวกเราได้เห็นความเหลื่อมล้ำ ระบบที่ห่วยแตก และผู้มีอำนาจที่ไร้เหตุผลจนเข้าขั้นแอ็บเสิร์ด น่าหงุดหงิดรำคาญใจ จนชวนให้ลืมๆ ไป หรือสิ้นหวัง
ช่างน่าสงสัยว่า แล้วมนุษย์ตัวเล็กๆ จะทำอะไรได้ล่ะ ก่อนจะสิ้นหวังหรือไม่ยอมรับความจริง เราอาจเริ่มจากพยายามทำความเข้าใจผ่านนิยาย cli-fi สักเล่มก็ได้
ในช่วงเวลาที่โลกดิสโทเปียดูจริงขึ้นเรื่อยๆ หรือพวกเราจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปอาศัยอยู่ในโลก cli-fi โดยไม่ทันได้ตั้งตัว
อ้างอิง
Chicago Review of Books: Burning Worlds
Why the Guardian is changing the language it uses about the environment