การเดินทางของโต้ง บรรจง จากวันที่เบื่อหนังผีสู่วันที่ได้ทดลองทำสุดทางกับ ‘ร่างทรง’

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล พบกับ Na Hong-jin ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่เขาชื่นชอบครั้งแรกในงาน Cinema Diverse ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพ

ด้วยตารางนัดหมายที่ไม่ลงตัว ในงานเสวนาครั้งนั้นโต้งจึงได้พูดคุยกับนา ฮง-จิน แค่เพียงบนเวที เขาได้ฝากผลงานของตัวเองไว้กับนา ฮง-จิน ก่อนแยกย้ายกัน โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีสิ่งใดตามมา

แต่หลังจากนั้น 3 ปี โต้งก็ได้รับข่าวว่านา ฮง-จิน อยากชวนให้มาเป็นผู้กำกับในภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาจะรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์

ใช่–ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ ร่างทรง หนังร่วมทุนสร้างระหว่าง GDH และค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของเกาหลีอย่าง ShowBox ที่ถล่ม Box Office ที่ประเทศเกาหลีใต้จนกลายเป็นปรากฏการณ์ และหลังจากที่คนไทยรอคอยมานาน ในที่สุดเราก็ได้ข่าวดีว่าร่างทรงจะฉายในวันที่ 28 ตุลาคมนี้

ความน่าสนใจคือ นี่เป็นหนังผีเรื่องใหม่ของโต้ง หลังจากที่เขาเบื่อและไม่ดูหนังผีมาพักใหญ่

ร่างทรง ดึงดูดให้โต้งกลับมาทำหนังผีอีกครั้งได้ยังไง? เราติดต่อไปเพื่อสนทนากับโต้งถึงที่มา การค้นคว้าและวิธีคิด พร้อมกับถามคำถามสำคัญถึงบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งล่าสุด

ไม่ต้องปิดตาหรือรู้สึกหวั่นๆ ว่าจะเจออะไรน่ากลัว เราขอสปอยล์ล่วงหน้าว่าบทความนี้ไม่มีผีหรือวิญญาณ 

มีแต่ประสบการณ์ที่โต้งพร้อมจะบอกเล่าในฐานะของผู้กำกับของหนังที่น่าจับตาที่สุดแห่งปี

ฟีดแบ็กต่างประเทศของ ร่างทรง ถือว่าดีมาก และในประเทศไทยก็กำลังจะฉายแล้ว ตอนนี้คุณรู้สึกยังไง

ด้วยความที่มีโควิดเราเลยรู้สึกค่อนข้างแปลกประหลาดครับ เพราะบรรยากาศมันแปลกมาก 

อย่างปกติเวลาหนังเข้าก็ต้องเข้าบ้านเราก่อน ช่วงนั้นจะเป็นตอนที่เราตื่นเต้นมาก ได้เดินสาย ไปแอบดูรีแอ็กชั่นของคนดู แต่พอสถานการณ์เป็นแบบตอนนี้ มันเลยเหมือนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง กลายเป็นว่าเราต้องนั่งอยู่บ้าน กดรีเฟรชดูตาราง Box Office เกาหลี กลายเป็นว่าพอหนังเปิดตัวอันดับหนึ่ง เราถึงขนาดคิดกับตัวเองเลยนะว่า ‘นี่เกิดขึ้นจริงใช่ไหมวะ’ เพราะคนรอบตัวเราไม่มีใครได้ดูเลย ตัวเลขบนอินเทอร์เน็ตนี่คือตัวเลขจริงๆ เหรอ ดังนั้นโดยรวมถือว่ายังตื่นเต้นอยู่นะครับ แต่ยอมรับว่าไม่เท่าเดิม

ผิดหวังไหมที่สถานการณ์ออกมาเป็นแบบนี้

เราว่ามันค่อยๆ ปรับตัวมากกว่าครับ เพราะไม่ใช่ว่าเราเตรียมทุกอย่างมาแล้วพังทลายตอนวันฉาย แต่มันเป็นสถานการณ์ที่เข้ามาเรื่อยๆ ให้ทีมคุยกันว่าในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้แล้ว เราจะยังไงต่อ หนังจะเข้าช่วงไหน เหมือนทำให้เราค่อยๆ ได้ทำใจตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วย

และเอาเข้าจริงการที่สุดท้าย ร่างทรง ได้ฟีดแบ็กระดับนี้ในปีนี้ เราว่าหนังถือเป็นผู้รอดชีวิตแล้วนะ ดีใจแล้วล่ะ ต่อจากนี้ก็ลุ้นที่บ้านเราต่อแล้วกัน

ร่างทรง

ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่เริ่มทำ ร่างทรง คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่ามีช่วงที่เบื่อและไม่ดูหนังผีเลย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

น่าจะมาจากวงการหนังผีตอนนั้นครับ และอาจเป็นเพราะก่อนหน้านั้นเราเป็นคนทำหนังผีด้วยแหละ พอต้องทำเราก็ดูและสำรวจเยอะจนเข้าใจกลไก ทำให้พอมาเจอยุคที่หนังผีส่วนใหญ่แข่งกันสร้างสรรค์การปรากฏตัวของผี แข่งกันสร้างเรื่องราวและคอนเซปต์ อย่างการให้ผีโผล่ในที่ต่างๆ กลายเป็นว่าเราเริ่มง่วงตอนดูแล้ว ขนาดดูทุกเรื่องที่เขาว่าดัง ได้เงิน น่ากลัว เราก็ง่วงมากถึงขั้นรู้สึกว่านี่ดูอะไรอยู่ เหมือนเราพอเดาได้ไปแล้วว่านี่หนังกำลังจะมาไม้ไหน ทำให้เราเบื่อจนไม่อยากทำหนังผีไปช่วงหนึ่งเลย

แล้วจุดเปลี่ยนคืออะไรที่ทำให้คุณกลับมาสู่เส้นทางหนังผีอีกครั้ง

จำไม่ได้ว่าปีไหนนะ แต่ตอนนั้นเริ่มมีหนังผีแนวใหม่ที่ทำให้เรากลับมาตื่นเต้นได้อีกครั้ง เช่น Hereditary, It Follows หรือ The Wailing ของนา ฮง-จิน นี่แหละ เพราะหนังเหล่านี้มีวิธีการสร้างความน่ากลัวและความไม่น่าไว้ใจที่เวิร์กมากโดยไม่ต้องให้ผีโผล่มา 

ร่างทรง

ลงลึกไปที่นา ฮง-จิน หน่อย ทราบมาว่าคุณก็เป็นแฟนผลงานของเขาตั้งแต่ต้น อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้คุณหลงใหลงานของเขา

เราว่าสิ่งที่โดดเด่นในงานเขาคือ ‘ความไปสุด’ ในการเป็นหนังระทึกขวัญนะ เขาทำถึงกึ๋นมากและพาหนังไปไกลกว่าที่คนดูคาดไว้เยอะ ทุกนาทีระหว่างทางของหนังก็เข้มข้นมากเสียจนพาเราหลุดเข้าไปอยู่ในโลกนั้นได้ อย่าง The Chaser นี่ตอนเราดูคือใจจะขาดเลย แต่เราว่าเขามาสู่จุดสูงสุดจริงๆ ก็ตอน The Wailing นี่แหละ มันแปลกใหม่มาก มีอะไรที่คาดไม่ถึงโผล่ขึ้นมาให้เราตื่นเต้นตลอด 

พอได้เจอกันที่ Cinema Diverse คุณรู้สึกยังไงบ้าง เหมือนได้เจอไอดอลอะไรแบบนั้นไหม

ตื่นเต้นครับ ดีใจ ไม่คิดว่าเขาจะมา แต่โชคไม่ดีที่วันนั้นเรามีงานต่อเลยไม่ได้ไปต่อกับเขา เราเลยเหมือนได้คุยกันแค่บนเวที เสียดายมาก เพราะเรามีคำถามอีกมากเลยที่ไม่ได้ถามเขา แต่ก็โชคดีที่พอได้มาทำงานร่วมกัน เราได้เจอเขาหลายครั้งและได้ถามทุกเรื่องที่เคยสงสัยเลย

ร่างทรง

ตอนที่นา ฮง-จิน ติดต่อมาครั้งแรก คุณมองโอกาสนี้เป็นการทำงานร่วมกันหรือการรับช่วงต่อ

นา ฮง-จิน บอกเราชัดเจนว่าอยากให้เราทำเป็นหนังไทยโดยพัฒนาจากไอเดียเดิมของเขา ในขณะเดียวกันเขาก็เน้นว่าเรามีอิสระ อยากทำอะไรก็ทำเลย เขามีหน้าที่แค่เป็นโปรดิวเซอร์เท่านั้น เราเลยไม่ได้คาดหวังว่านี่คือหนังของใครตั้งแต่แรก และด้วยความเป็นตัวเรา เราก็ทำตามใบสั่งไม่ได้ด้วย ถ้าทำเราก็ต้องหามุมที่เราเห็นภาพและชอบมันจริงๆ ทำให้ช่วงแรกๆ เราต้องรีเสิร์ชเยอะมากๆ เพื่อหาสิ่งที่ชอบในไอเดียนี้และเอาไปใช้ในหนัง

รีเสิร์ชยังไงบ้าง

ต้องอธิบายก่อนว่าตอนที่นา ฮง-จิน ส่งไอเดียมาให้เราครั้งแรกเราไม่เข้าใจเลย เพราะลำพังแค่ร่างทรงไทยเราก็ไม่รู้จัก แต่นี่คือไอเดียที่มาจากร่างทรงเกาหลีด้วย เราเลยมองไม่ออกว่าแต่ละซีนต้องถ่ายยังไง เซตติ้งจะเป็นไง มันเป็นหัวข้อที่นั่งเทียนคิดไม่ได้แน่ๆ ดังนั้นเราเลยขอเวลาเขาช่วงหนึ่งในการรีเสิร์ชเกี่ยวกับร่างทรงในไทย

เราเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่าจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ยังไง ซึ่งวิธีการที่คิดได้เร็วๆ คือต้องหาข้อมูลและเจอตัวจริง เราเลยเริ่มศึกษาจากรายการทีวีหรือยูทูบเพื่อหาตัวละคร เริ่มศึกษาวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีเยอะมากๆ จนไปเจอที่ปรึกษาชั้นดี นั่นคือพี่โปรดิวเซอร์รายการผีคนหนึ่ง

งานตรงนี้ทำให้ทั้งชีวิตเขาเจอร่างทรงมาพันกว่าคน เจอมาทุกรูปแบบ เขาเลยมีประสบการณ์ที่จะไกด์เราว่าร่างทรงภาคเหนือเป็นยังไง อีสานเป็นยังไง คนไหนคือแบบที่เราอยากได้ ซึ่งเราจ้างเขารีเสิร์ชเลยนะ จนได้มาเจอความเชื่อของคนอีสานที่ว่า ‘ผีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง’ 

เรารู้สึกว่าประเด็นน่าสนใจมาก มันแปลกใหม่ ไม่เคยมีหนังผีเรื่องไหนในโลกที่เล่นประเด็นนี้ และยิ่งไอเดียเดิมเป็นร่างทรงซึ่งคืออะไรบางอย่างที่มาเข้าคนอยู่แล้ว เราเลยคิดว่ามันมีเส้นที่เชื่อมกันอยู่ เราเลยเอาตรงนี้ไปผสมกับไอเดียเดิม พร้อมกับค่อยๆ เดินทางไปเจอร่างทรงตัวจริง 

บรรยากาศการไปเจอร่างทรงตัวจริงเป็นยังไงบ้าง เหมือนในหนังหรือเปล่า

เราไปเจอหลายแบบครับ แต่การเข้าไปเจอร่างทรงของเราไม่ใช่การให้เขาเข้าทรงให้ดูนะ เพราะเรารู้สึกว่าพอเป็นงานแล้วมันโกหกไม่ได้ ดังนั้นเราจะบอกกับร่างทรงทุกคนตั้งแต่แรกว่านี่คือการมาหาข้อมูลเพื่อไปผลิตเป็นหนังหรือละคร ถ้าไม่สะดวกใจตรงไหนสามารถบอกได้ตลอด ซึ่งน่าแปลกใจว่าแทบทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก เราเลยได้ไปเจอทุกรูปแบบของร่างทรงจนเริ่มจับทางได้ว่าตัวเราต้องการอะไร อะไรที่เหมาะกับหนัง 

โดยพื้นฐานคุณเชื่อเรื่องนี้ไหม

ไม่เชื่อครับ ถึงเดินทางไปเจอมาแทบทุกแบบแล้วเราก็ยังไม่เชื่อ แต่เรารู้สึกว่าก็เพราะความเชื่อแบบนี้แหละที่ทำให้เรามองร่างทรงในสายตาของผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมันดีต่อหนังนะ เพราะมันทำให้เราเห็นมิติความเชื่อหลากหลายรูปแบบของชาวบ้าน เห็นความเป็นมนุษย์ในวัฒนธรรมเหล่านั้น 

การทำหนังในประเด็นที่คุณไม่เชื่อ มันมีจุดที่ต้องบาลานซ์ไหม

(นิ่งคิด) เรากลับไม่ได้รู้สึกว่ามันมีจุดไหนที่เราต้องตัดสินใจในการบาลานซ์ เพราะ ร่างทรง ไม่ได้พยายามโน้มน้าวว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเราว่าตลอดทางมันคือการทบทวนมากกว่าว่าสิ่งที่คนเชื่อคืออะไร เราได้ถกคำถามเหล่านี้กับทีมและนา ฮง-จิน ตลอด เพื่อผลักดันหนังเรื่องนี้ให้มันมีประเด็นที่ไปไกลมากกว่าความสยองขวัญ 

แม้เป็นเรื่องร่างทรงเหมือนกัน แต่ร่างทรงของไทยกับเกาหลีก็น่าจะแตกต่างกันอยู่ คุณหาตรงกลางหรือประนีประนอมกับนา ฮง-จิน ยังไง

(นิ่งคิด) เราว่าต่างชาติเขาต้องการความยูนีกนะ เขาต้องการหนังที่จะเกิดขึ้นได้จากคนคนเดียวในโลกเท่านั้น เพราะถ้าสมมติที่เกาหลีหรืออเมริกามีคนทำหนังแบบเราได้ เขาจะมาจ้างเราทำไมล่ะ แสดงว่าในการร่วมงานกันเราต้องดึงตัวเราเข้ามาอยู่ในหนังอยู่แล้ว นำเสนอไปเลยว่าเราเชื่อมั่นในอะไร ดังนั้นในช่วงแรกเราก็ทำหนังให้ยูนีกและเป็นเราที่สุด ตั้งต้นจากความเชื่อและความเข้าใจพื้นฐานของตัวเองก่อน แล้วค่อยไปนำเสนอกับนา ฮง-จิน ซึ่งก็อย่างที่บอกว่าเขาให้อิสระกับเราตรงนี้เต็มที่ เขาแค่จะคอยทำหน้าที่ตรวจสอบให้ในฐานะคนดูจากบริบทโลกเท่านั้นเอง

ตรวจสอบในที่นี้คืออะไรบ้าง

ตรวจสอบความเข้าใจ เขาจะช่วยประเมินให้ว่าในสายตาของคนดูต่างชาติ ฉากนี้ทำงานกับเขาหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นต่าง เราก็แค่ถกกันเพื่อหาจุดร่วมและทางออก  

นา ฮง-จิน เป็นโปรดิวเซอร์ที่ผลักดันผู้กำกับมากๆ เขาจะช่วยมององค์รวมและคอยบอกให้เรากล้าลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่เนื้อหาในบท ดนตรีประกอบ ไปจนถึงการคราฟต์ทุกๆ อย่างให้ไปสุดทางของมัน อย่างคอมเมนต์ที่เหวอที่สุดเลยที่เราเจอคือการคอมเมนต์ท่านอนของนักแสดงว่าตามบทแล้วไม่น่านอนท่านี้ เราทึ่งมาก เขาคิดแบบละเอียดจริงๆ ซึ่งกับเคสนั้นเราก็ต้องถ่ายใหม่เลยเพื่อให้ท่านอนเหมาะสม

ร่างทรง

ก่อนหน้านี้คุณให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ‘ตั้งใจให้การทำหนังเกี่ยวกับร่างทรงเรื่องต่อไปเป็นงานยาก’ ทำไมถึงตั้งใจแบบนั้น

เราว่าความตั้งใจนี้ของเราไม่ใช่แค่กับ ร่างทรง หรอก แต่เวลาเราทำหนังแล้วมี big idea ที่เราคิดว่ามันล้ำค่ามากๆ เรารู้สึกเสมอว่าต้องใช้ให้คุ้ม ยกตัวอย่าง ชัตเตอร์ ที่ big idea คือภาพถ่ายวิญญาณ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าถ้าจะมีใครทำหนังเกี่ยวกับภาพถ่ายวิญญาณเรื่องต่อมามันต้องยากนะ เพราะเราจะใช้ทุกไอเดียอย่างคุ้มค่าให้ถึงที่สุด เราจะสำรวจทุกอย่างอย่างจริงจังและใช้ประโยชน์จากมัน เพื่อให้หนังของ big idea ต้องเป็นหนังเรื่องนี้เท่านั้น ดังนั้นไม่ได้เกี่ยวกับความดี-ไม่ดี หรือเกี่ยวกับคนอื่นขนาดนั้น มันเป็นแค่ความคิดเพื่อให้ตัวเราเองลงลึกกับไอเดียที่มีมากกว่า

ซึ่งกับเรื่องนี้คือทำได้ตามเป้า

ใช่ครับ และมันเป็นประสบการณ์ที่โคตรคุ้มค่าเลย เป็นเหมือนการลงเรียนครั้งใหญ่ ที่เกิดจากการที่มีคนเอาไอเดียยื่นมาให้ มันท้าทายมากๆ เรายังคิดเลยว่าถ้าไม่มีโอกาสนี้ ชีวิตนี้เราอาจไม่ได้ทำอีกแล้วก็ได้ ดังนั้นสำหรับเราคือมีแต่ได้นะ 

ร่างทรง

แล้วถ้าให้สรุป คุณว่าบทเรียนสำคัญที่คุณได้จาก ร่างทรง คืออะไร

เราว่ามันเป็นเรื่องความกล้าหาญ เพราะก่อนหน้านี้เวลาเราทำงาน ด้วยความที่เราเป็นคนพยายามมากๆ ให้พาณิชย์รวมกับศิลป์อย่างมีชั้นเชิงที่สุด ดังนั้นเราจะมีความกังวลกับงานอยู่เสมอว่าคนหมู่มากจะเข้าใจไหม แต่พอได้มาทำงานใน ร่างทรง นา ฮง-จิน ผลักดันมากๆ ให้เราต้องกล้าและทดลองบางอย่าง ปล่อยให้งานของเราท้าทายคนดูบ้างก็ได้ มันเลยเปลี่ยนมิติการทำงานของเราให้ไปสุดในสิ่งที่ควรไปและเราก็ได้อะไรใหม่ๆ กลับมาด้วย 

AUTHOR