ตามไปฟัง 30 เรื่องราวการทำภาพยนตร์ของ โต้ง บรรจง ในงาน Passion Monday

Highlights

  • Passion Monday คือหนึ่งในความพิเศษของโครงการฝึกงาน Daypoets Society ที่ชวนนักเล่าเรื่องมืออาชีพจากหลากหลายวงการมาแลกเปลี่ยน บอกเล่าประสบการณ์การทำงานให้กับน้องๆ ผู้เข้าร่วมฝึกงานได้ฟังกัน
  • เราได้ โต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังมาบอกเล่าวิธีการหาเรื่องราว และไอเดียที่น่าสนใจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในบทบาทนักเขียนบทและผู้กำกับให้ฟัง ตั้งแต่ครั้งยังเป็นมือใหม่อย่างภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) จนค่อยๆ พัฒนาฝีมือเริ่มทำภาพยนตร์แนวสยองขวัญปนตลกอย่าง สี่แพร่ง ตอน ‘คนกลาง’ (2551) และต่อยอดไปถึงภาพยนตร์รักโรแมนติกที่เรารู้จักกันดีอย่าง แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (2559)
  • สัญชาตญาณในการตัดสินใจและสร้างสรรค์เรื่องราวล้วนมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเรื่อยๆ โต้งฝากข้อคิดและบทเรียนอะไรให้น้องๆ ฟัง ตามกันอ่านได้เลย

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือนกับการฝึกงานในโครงการ Daypoets Society ซึ่งตลอดเดือนมานี้น้องๆ นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่มาฝึกงานที่ a day, a book, a day BULLETIN และ The Momentum ได้เรียนรู้การผลิตสื่อกันอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ในทุกวันจันทร์เรายังมีชั้นเรียน Passion Monday ที่พี่ๆ นักเล่าเรื่องชั้นแนวหน้าจากหลายๆ วงการมาให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ เราได้รับเกียรติจาก โต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังมาเป็นวิทยากรในภาคบ่ายอีกด้วย

โต้ง บรรจง

 

เมื่อถึงเวลาเริ่มชั้นเรียน โต้งค่อยๆ แชร์วิธีการทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเขาอย่างละเอียด โดยโต้งเล่าตั้งแต่แรกเริ่มที่เป็นมือใหม่จนค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์มาเป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ทั้งยังแฝงไปด้วยเกร็ดสนุกๆ ข้อคิด และบทเรียนที่ได้รับจากการทำเรื่องนั้นๆ ในโอกาสนี้เราเลยเก็บเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนมาสรุปให้ทุกคนฟังเป็นจำนวนทั้งหมด 30 ข้อ

เริ่มบรรจงฟังบรรจงได้ ณ บัดนี้

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

1. นี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกของโต้งที่ได้ไอเดียมาจากภาพถ่ายวิญญาณเก่าๆ และเรื่องเล่าวิญญาณตามติด โดยฉากที่เป็นที่จดจำอย่างยิ่งคือฉากที่ผีขี่คอตัวละครเอก

2. โต้งเล่าให้ฟังว่าหนังผีเรื่องนี้มี Big Idea คือการถ่ายภาพ ดังนั้นตัวละคร ฉาก และองค์ประกอบทุกอย่างจึงต้องทำให้สอดคล้องกับการถ่ายภาพ เราจึงได้เห็นเทคนิคการถ่ายทำที่เล่นกับวัตถุดิบเหล่านี้ตั้งแต่ฉากผีโผล่ในแสงแฟลชไปจนถึงการล้างรูป

3. ไอเดียเรื่องผีขี่คอถูกเล่าอย่างมีชั้นเชิง เพราะโต้งไม่ต้องการให้คนดูรู้ความลับข้อนี้แม้แต่นิดเดียว จากไอเดียนี้เลยออกมาเป็นฉากที่ตัวละครรู้สึกปวดไหล่ตลอดเวลา แต่ก็มีฉากอุบัติเหตุก่อนหน้านั้นเพื่อหลอกคนดู รวมถึงฉากชั่งน้ำหนักที่ตัวละครถูกเรียกให้ชั่งอีกรอบเพราะหนักเกินจริง แต่ก็ถ่ายทำด้วยมุมกล้องที่ไม่ให้คนดูเห็นตรงๆ

4. เคล็ดลับการเขียนบทที่โต้งบอกเราคือการพกสมุดจดบันทึกติดตัวไว้ตลอดเพื่อจดไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือฉากต่างๆ เอาไว้ให้เยอะที่สุด หากไอเดียไหนแข็งแรงก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงได้อีกด้วย

แฝด (2550)

5. โต้งบอกเราว่า ทีแรกหลังจากจบ ชัตเตอร์ฯ เขาตั้งใจจะไม่ทำภาพยนตร์แนวนี้ต่อ แต่ต่อมา โอ๋–ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับร่วม ได้ไอเดียตั้งต้นจากข่าวในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับแฝดสยามชาวสิงคโปร์ โต้งเห็นว่ายังไม่เคยมีภาพยนตร์สยองขวัญเกี่ยวกับแฝดเลย เขาจึงกลืนน้ำลายทำและพัฒนาบทออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มี มาช่า วัฒนพาณิช แสดงนำ

6. ร่างแรกของบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแนวทริลเลอร์ สืบสวนสอบสวนที่ตอนจบค้นพบว่าผีคือแฝดของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วโต้งตัดสินใจเปลี่ยนแนวเป็นดราม่าและเล่าเรื่องโดยการค่อยๆ เปิดเผยปมในใจตัวละคร สาเหตุเพราะโต้งคิดว่าแบบนี้ใหม่กว่าและมีศักยภาพที่จะโปรโมตภาพยนตร์ไปเลยว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแฝดสยาม

7. ในความคิดของโต้ง เขาคิดว่า แฝด ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก ด้วยพล็อตที่ยังคงเดาง่าย และตัวเขาเองที่ยังปลดล็อกความสามารถไม่เต็มที่ ดังนั้นถ้าย้อนกลับไปได้ โต้งอยากจะทำ แฝด ออกมาในแบบความคิดแรกมากกว่

สี่แพร่ง ตอน ‘คนกลาง’ (2551)

8. ‘คนกลาง’ เป็นหนึ่งตอนในภาพยนตร์สยองขวัญที่รวมผลงานภาพยนตร์สั้นที่กำกับโดยผู้กำกับของค่าย GTH ทั้ง 4 คน ไอเดียมาจากการที่โต้งและผู้กำกับอีก 2 คนไปเที่ยวพักร้อนกัน ด้วยความที่เพื่อนๆ ทั้งสองกลัวผีเอามากๆ พอตกกลางคืนจึงแย่งกันนอนตรงกลางเพราะกลัวผีหลอก เขาเลยเกิดความคิดขึ้นมาว่าถ้าตายไปจะมาหลอกคนนอนตรงกลางเป็นคนแรก

9. ไอเดียนี้นอกจากจะทำให้โต้งขนลุกซู่จนนอนไม่หลับแล้ว เขายังรู้สึกว่ามันกลับมีความฮาปนอยู่ด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาบทเป็นบรรยากาศภาพยนตร์หลอนแบบใหม่ที่มีกลิ่นอายของความตลกขบขันอย่างที่เราได้ชมกัน

10. ‘คนกลาง’ ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมุกตลกที่เกี่ยงกันนอนตรงกลางซึ่งตัวละครได้แก้ปัญหาด้วยการนอนเรียงกันเป็นสามเหลี่ยมซะเลย โต้งแอบกระซิบว่าไม่รู้ตัวเองคิดได้อย่างไรเหมือนกัน ทุกวันนี้ยังขำอยู่เลย

11. โต้งสรุปว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าไอเดียดีๆ สามารถหยิบจับมาได้จากทุกที่ แม้จะเป็นมุกตลกที่พูดเล่นๆ กับเพื่อนก็ตาม

ห้าแพร่ง ตอน ‘คนกอง’ (2552)

12. หลังจากความสำเร็จของ สี่แพร่ง โต้งเลยมีไฟที่จะทำภาพยนตร์สยองขวัญปนตลกต่อ โดยใช้ 4 ตัวละครเดิมจากเรื่องที่แล้ว เมื่อบวกกับความรู้สึกว่ายังใช้มาช่าไม่คุ้ม สุดท้ายจึงเกิดเป็น ‘คนกอง’ ในปีต่อมา

13. ‘คนกอง’ เกิดจากไอเดียเกี่ยวกับผีกองถ่าย ผนวกกับการล้อเลียนภาพยนตร์เรื่อง แฝด ของตัวเอง จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ภาคแรกก็ตายห่ากันไปหมดแล้ว ยังจะทำภาคสองอีกเหรอ” นี่คือกลิ่นอายของอารมณ์เสียดสีล้อเลียนแบบที่โต้งชอบอยู่แล้ว (อย่างในเรื่อง สี่แพร่ง ตอน คนกลาง เขายังล้อเลียนคนที่กลัวผีไว้ด้วยเช่นกัน)

14. ในความเป็นจริงกว่าจะออกมาเป็นพล็อตเรื่องนี้ได้นั้นไม่ง่ายเลย โต้งบอกเคล็ดลับว่าไอเดียแรกที่เราคิดออกมาว่าดีที่สุดมักจะใช้ไม่ได้เท่าไหร่ ดังนั้นเราควรค้นหาแนวทางใหม่ๆ ให้มากก่อนจะตัดสินใจหยิบยกมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ต่อ

กวน มึน โฮ (2553)

15. พอทำภาพยนตร์สยองขวัญมาสักพัก โต้งเริ่มอยากเปลี่ยนแนวมาทำภาพยนตร์รักบ้าง บวกกับเมื่อได้อ่านหนังสือเรื่อง สองเงาในเกาหลี ที่เขียนโดย ทรงกลด บางยี่ขัน เขาประทับใจกับพล็อตที่คนแปลกหน้าสองคนมาเจอกันที่เมืองนอกแต่กลับกล้าเปิดใจคุยกันมากกว่าคนรู้จัก โต้งจึงเห็นถึงความโรแมนติกภายใต้คำถามที่ว่า ‘อะไรคือคำว่ารู้จักกันแน่’

16. ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงการเสียดสีตามสไตล์โต้งไว้เหมือนเดิม คราวนี้เป้าในการล้อเลียนของเขาคือคนบ้าละครเกาหลี พระเอกเป็นคนขวางโลก แดกดันประเทศที่คนมาเที่ยวเพราะติดละคร แต่สุดท้ายชะตากรรมของเขากลับน้ำเน่ายิ่งกว่า เพราะดันไปตกหลุมรักคนที่ไม่รู้จักแม้แต่ชื่อ

17. โต้งบอกว่าการได้ออกไปเยี่ยมเยียนสถานที่จริงเป็นสิ่งสำคัญเพราะเราไม่สามารถนั่งคิดและเขียนบทขึ้นมาได้เอง เราต้องออกไปหาว่าสิ่งไหนมีความน่าสนใจมากพอให้เราหยิบยกขึ้นมา อย่างฉากกินหมึกสด โต้งก็ไปเห็นมาระหว่างการเดินทาง 

18. เคล็ดลับอีกอย่างที่โต้งทำเมื่อต้องเปลี่ยนแนวมาทำภาพยนตร์รักคือการวิเคราะห์ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่เรารู้สึกว่าเวิร์ก มันเวิร์กกับเราอย่างไร ทำไมบางเรื่องเราอิน ทำไมบางเรื่องเราไม่อิน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้มือใหม่เข้าใจและเก่งในการตัดสินใจเลือกไอเดียต่างๆ มากขึ้น

19. การถ่ายทำภาพยนตร์รักตลกเรื่องนี้กลับกลายเป็นความตึงเครียดของโต้ง ถือเป็นครั้งที่สองหลังจากภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง ชัตเตอร์ฯ เพราะเขากลัวว่าจะเป็นภาพยนตร์รักที่แย่ที่สุดของค่าย แต่สุดท้ายก็อย่างที่เรารู้กันว่ามันไม่ใช่แบบนั้น

พี่มาก..พระโขนง (2556)

20. ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากความต้องการที่จะให้ตัวละครเอกทั้ง 4 ในภาพยนตร์เรื่อง สี่แพร่ง และ ห้าแพร่ง ได้มีบทบาทเต็มๆ ในภาพยนตร์ขนาดยาว เมื่อมารวมกับไอเดียที่โต้งอยากเอาเรื่องราวของแม่นาคพระโขนงมาตีความใหม่ สุดท้ายเลยออกมาเป็น 4 ตัวละครย้อนยุคที่เป็นเพื่อนของพี่มากนั่นเอง

21. ความตลกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในหนัง มาจากการคิดกันในวันแรกของการเขียนบท ทุกอย่างสดใหม่มาก แต่กลายเป็นว่าตอนจบคือโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะกว่าจะหาตอนจบที่สมบูรณ์ พวกเขาต้องใช้เวลาเขียนบทเรื่องนี้กว่าปีครึ่ง

22. กว่าจะได้ตอนจบที่โรแมนติกมากๆ อย่างการที่พี่มากรู้อยู่แล้วว่าแม่นาคเป็นผีแต่ยังคงรักและทำตัวเหมือนเดิม โต้งต้องทิ้งบทที่เขียนไว้ตั้งแต่แรกไปพอตัว เพื่อปรับเนื้อเรื่องให้เข้ากับการตีความใหม่ที่เขาคิดว่ามันคุ้มค่าพอให้ทิ้งบทส่วนมากไป

23. ในเรื่องจะมีการใบ้คำเกี่ยวกับผี ไอเดียนี้โต้งได้มาจากตอนที่เขาเล่นใบ้คำกับเพื่อนเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด

24. โต้งแนะนำว่าในการทำภาพยนตร์ทุกครั้ง เราต้องถามตัวเองเสมอว่าเราอยากดูอะไรและคนดูอยากดูอะไร ที่สำคัญคือเราต้องสร้างบรรยากาศในทีมให้สามารถพูดไอเดียหรือมุกต่างๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน

แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (2559)

25. ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ริเริ่มขึ้นจากตัวโต้งเองแต่เกิดขึ้นมาจากโจทย์ของลูกค้าที่อยากให้มาถ่ายทำภาพยนตร์ที่สกีรีสอร์ตที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

26. หลังจากที่เดินทางไปฮอกไกโดถึง 3 ครั้ง สิ่งที่โต้งประทับใจมากคือหิมะที่สื่อถึงทั้งความเศร้าและความสวยงามในตัว นั่นเลยเป็นที่มาของไอเดียที่เขาอยากทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาเป็นภาพยนตร์รักโรแมนติกจริงๆ แบบภาพยนตร์รักยุค 90s

27. การทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้มีความสมจริงและความเป็นมนุษย์มากขึ้นกว่าที่ตัวเองเคยทำเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โต้งต้องอาศัยการทำการบ้านและรีเสิร์ชอย่างหนัก รวมถึงการตั้งคำถามเพื่อให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งเป็นที่น่าพอใจเพราะตอนจบเป็นที่ถกเถียงกัน

28. สำหรับโต้ง การทำภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องหนึ่งกินเวลาชีวิตไปเยอะมาก ดังนั้นเราควรจะทำเพื่อก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่งเสมอ

29. ก่อนจบชั้นเรียน หนึ่งในพวกเราถามโต้งว่า เขาอยากทำภาพยนตร์ที่เป็นโปรเจกต์ส่วนตัวบ้างไหม แต่คำตอบกลับกลายเป็นว่าผลงานทั้งหมดที่เขาทำ เขาคิดว่าเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวทั้งหมด เรื่องที่สร้างออกมาล้วนเป็นเรื่องที่คิดว่าคนดูน่าจะชอบและต้องโดนใจตัวเองด้วยเหมือนกัน เพราะหากเราทำอะไรที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ผลงานคงออกมาไม่ดีแน่

30. โต้งปิดท้ายว่า เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่อาจสำคัญกว่าเทคนิคและวิธีการทำภาพยนตร์คือ ‘การลงมือทำตอนนี้’ สัญชาตญาณการตัดสินใจและการสร้างสรรค์ไอเดียที่เฉียบคมล้วนมาจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำทั้งนั้น ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากมีโปรเจกต์อะไร เราจึงควรลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น