Tokyo Story : ความสากลของความตายและการเปลี่ยนแปลง

Highlights

  • Tokyo Story (1953) คือผลงานคลาสสิกของ Yasujiro Ozu หนังยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound เมื่อปี 2012 Tokyo Story ได้อันดับสามในโพลของฝั่งนักวิจารณ์ และได้อันดับหนึ่งจากการโหวตโดยผู้กำกับ
  • เนื้อหาของ Tokyo Story นั้นอยู่เหนือกาลเวลาเพราะมันพูดถึงสิ่งสากลอย่างความตายและการเปลี่ยนแปลง
  • สิ่งที่น่ากลัวที่สุดใน Tokyo Story อาจไม่ใช่ความตาย หากแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงจากคนรอบข้างที่มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เว้นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก

ด้วยความที่เป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์ หลายครั้งก็ต้องบรรยายเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การฉายหนังเก่าจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากประสบการณ์สอนราวทศวรรษก็พบว่าหนึ่งในของแสลงสำหรับนักศึกษาคือหนังขาวดำ เมื่อฉายปุ๊บจะพบกับโศกนาฏกรรมหลับหรือก้มหน้าเล่นมือถือกันทั้งห้อง ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะหนังขาวดำกับเด็ก Gen Y หรือ Z ดูเป็นสิ่งคู่ขนานอยู่กันคนละจักรวาล

Tokyo Story (1953) ผลงานคลาสสิกของ Yasujiro Ozu เป็นหนังที่ผมหลีกเลี่ยงจะฉายในคลาสเรียนเสมอ นอกจากจะเป็นหนังขาวดำแล้วมันยังดำเนินเรื่องอย่างเรียบเรื่อย สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาก็ดูหนังเรื่องนี้แบบหลับๆ ตื่นๆ อีกทั้งยังแคลงใจว่าทำไมหนังถึงได้รับการเชิดชูเสียเหลือเกิน เช่นว่าในโพลหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลของนิตยสาร Sight & Sound เมื่อปี 2012 Tokyo Story ได้อันดับสามในโพลของฝั่งนักวิจารณ์ และได้อันดับหนึ่งจากการโหวตโดยผู้กำกับ

ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Story เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ในรูปแบบภาพคมชัด 4K ผมตัดสินใจดูหนังเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง ทิ้งห่างจากการดูครั้งแรกไปราว 15 ปี กลับกลายเป็นว่าความรู้สึกต่อหนังเรื่องนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นอกจากจะไม่หลับแม้แต่วินาทีเดียว ผมยังพบว่าหนังช่างทรงพลัง น่าสะเทือนใจ มีหลายฉากที่แทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ และหลังจากดูหนังจบผมก็รู้สึกเศร้าซึมไปหลายวัน

เนื้อหาของ Tokyo Story ว่าด้วยสามีภรรยาชราคู่หนึ่งที่เดินทางจากบ้านเกิดมาเยี่ยมบรรดาลูกชายลูกสาวในโตเกียว ทั้งคู่อายุมาก เดินเหินได้ช้า ซ้ำร้ายดูเหมือนพวกลูกๆ จะมองว่าการมาของพวกเขาเป็นภาระเสียด้วย ซึ่งการชม Tokyo Story ครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่าเหตุที่หนังกลายเป็นผลงานอยู่เหนือกาลเวลาก็เพราะมันพูดถึงสิ่งสากลอย่างความตายและการเปลี่ยนแปลง

Tokyo Story มีพล็อตส่วนหนึ่งว่าด้วยการล่วงลับของบุพการี แน่นอนว่าตอนที่ดูหนังเรื่องนี้สมัยอายุยี่สิบก็ดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่พอในวัยสามสิบกว่าที่ได้พบปะเพื่อนฝูงเป็นประจำในงานศพพ่อแม่ของมิตรสหายสักคน Tokyo Story ก็กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นมาทันที เป็นช่วงวัยที่ตัวเราเองก็เริ่มสังขารเสื่อมสลาย เริ่มคิดถึงเรื่องความตายบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันพ่อแม่ของเราก็อายุมากขึ้นทุกที แค่คิดถึงการจากไปของพวกเขาก็เจ็บแปลบหัวใจจนแทบทนไม่ได้ บางครั้งถึงขั้นคิดว่าถ้าตัวเราเองตายไปก่อนพ่อแม่ยังอาจจะดีกว่า แต่แน่นอนว่านั่นเป็นเรื่องเกินรับได้สำหรับอีกฝ่ายเช่นกัน

แม้ย่อหน้าที่ผ่านมาผู้เขียนจะออกอาการฟูมฟายมาก แต่ตัวหนัง Tokyo Story กลับไม่มีลักษณะดังกล่าวเลย โอสุถ่ายทอดหนังอย่างสงบนิ่ง ไม่เร้าอารมณ์ใดๆ เช่น การตั้งกล้องนิ่งทั้งเรื่อง หลายฉากหลายตอนก็ตัดทิ้งไป ไม่มีภาพปรากฏ แล้วไปเล่าผ่านไดอะล็อกแทน หนังจึงเต็มไปด้วยฉากตัวละครนั่งคุยกันเป็นส่วนใหญ่ (แถมยังแปลกแปร่งด้วยการถ่ายภาพแบบไม่เคารพแกน 180 องศา) อย่างฉากหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเศร้ามากคือตอนที่สองตายายต้องไปนั่งแกร่วในสวนสาธารณะ หลังจากลูกๆ วุ่นวายจนไม่อาจให้พวกเขาค้างคืนที่บ้านได้ แล้วฝ่ายสามีก็พูดขึ้นมาอย่างขำขื่นว่าพวกเรากลายเป็นคนไร้บ้านไปแล้วสินะ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากลัวที่สุดใน Tokyo Story อาจไม่ใช่ความตาย เพราะความตายเป็นสิ่งตั้งมั่น ทุกคนรู้ตัวว่าต้องเผชิญ หากแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงจากคนรอบข้างที่มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างเช่นที่ Lillian Hellman กล่าวไว้ว่าผู้คนเปลี่ยนไป และลืมจะบอกกล่าวผู้อื่นไม่เว้นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก สองตายายได้พบว่าลูกๆ ของพวกเขาไม่ใช่คนที่เคยรู้จักแล้วลูกของเราเคยเป็นคนใจดีกว่านี้นะคนพ่อกล่าว พร้อมกันนั้นโอสุก็เทียบเคียงความแปรผันของผู้คนไปกับสังคมญี่ปุ่นด้วยการแทรกภาพปล่องไฟเป็นระยะ สะท้อนถึงญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่กำลังจะเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม

ทว่าสามีภรรยาคู่นี้ไม่ใช่พวกคนแก่หัวแข็งที่ไม่ยอมรับความเป็นไปของโลก พวกเขากล่าวสรุปกับตัวเองว่าไม่ควรคาดหวังอะไรมากเกินไป แค่ลูกๆ มีงานการมีครอบครัวก็น่าจะพอใจได้แล้ว ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้ให้ร้ายฝ่ายลูกจนเกินงาม หนังทำให้เห็นว่าพวกลูกชายลูกสาวก็มีชีวิตของตัวเอง มีคู่ชีวิต มีลูก มีกิจการ มีงานต้องทำ ภาวะห่างเหินหรือการเป็นคนแปลกหน้าต่อกันอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกฉากที่น่าประทับใจคือช่วงท้ายของหนัง หลังจากจบงานศพแม่ พวกพี่คนโตก็นั่งรถไฟกลับไปยังโตเกียวทันที น้องสาวคนเล็กทนไม่ไหวถึงขั้นตัดพ้อว่าพวกพี่ช่างเห็นแก่ตัวเหลือเกิน หากแต่พี่สะใภ้ (รับบทโดย Setsuko Hara นักแสดงคู่บุญของโอสุ) ก็ปลอบน้องว่าชีวิตมันก็เป็นเช่นนี้แหละ ยามใดที่เธอเติบโตเธอก็จะกลายเป็นเหมือนพวกพี่ๆ ท้ายที่สุดน้องเล็กเลยพูดด้วยความอัดอั้นว่าทำไมชีวิตมันถึงเต็มไปด้วยความน่าผิดหวังเช่นนี้นะ!”

หากผู้เขียนเป็นพี่สะใภ้ก็คงพูดกับน้องเล็กตามความจริงว่ายิ่งใช้ชีวิตไป เธอก็จะพบความผิดหวังอีกมากมาย หากแต่โอสุเลือกให้พี่สะใภ้มอบรอยยิ้มแก่น้องสาว เป็นดั่งแสงสว่างเล็กน้อยท่ามกลางความเศร้าหมอง แม้ว่าลึกๆ แล้วเงาทะมึนกำลังคืบคลานเข้ามา เพราะพี่สะใภ้เองก็ยอมรับว่าเธอกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่แบบที่น้องรังเกียจเช่นกัน 


หมายเหตุ เมื่อปี 2013 ผู้กำกับ Yoji Yamada ได้รีเมคหนัง Tokyo Story ขึ้นมาใหม่ในวาระที่หนังมีอายุครบรอบห้าสิบปี เนื้อเรื่องคล้ายต้นฉบับแต่เปลี่ยนฉากหลังเป็นโลกยุคร่วมสมัย นำแสดงโดย Satoshi Tsumabuki และ Yu Aoi หนังออกมาน่าประทับใจใช้ได้ แนะนำให้หามาดูกัน

AUTHOR