The Painter and the Thief: มิตรภาพพิสดาร และสังคมที่เอื้อให้คนเหลือพื้นที่หัวใจให้มนุษย์ผู้อื่น

Highlights

  • The Painter and the Thief  คือสารคดีสัญชาตินอร์เวย์ของผู้กำกับ Benjamin Ree ที่ฉายออนไลน์ทั่วโลกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
  • เรื่องราวของ Barbora Kysilkova ศิลปินสาวที่หมกมุ่นกับการวาดภาพ แต่ผลงานแทบไม่ได้จัดแสดงในนิทรรศการใดๆ
  • จุดเปลี่ยนในชีวิตของบาร์บอร่าเกิดขึ้นเมื่อเธอเผชิญหน้าด้วยความเป็นมิตรกับ Karl Bertil ชายผู้ขโมยภาพของเธอไป และขอให้เขาเป็นนายแบบเพื่อวาดภาพพอร์เทรต
  • ในเชิงภาพยนตร์แล้ว เรื่องนี้อาจไม่ได้มีวิธีการนำเสนอที่หวือหวา แต่ข้อดีของหนังคือการที่ผู้กำกับเลือกใช้การสังเกตการณ์ตลอดทั้งเรื่อง นำมาซึ่งความเป็นธรรมชาติและน่าติดตาม

ลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นศิลปิน ภาพวาดที่แสนจะภาคภูมิใจของคุณได้แสดงที่แกลเลอรี แต่แล้วก็มีโจรขโมยภาพนั้นไปตอนกลางวันแสกๆ และหลังจากตามหาหัวขโมยเจอ เขากลับบอกว่าจำไม่ได้แล้วว่าทำอะไรกับภาพนั้นคำถามคือคุณจะมีปฏิกิริยายังไงกับอีกฝ่าย หงุดหงิด? ด่ากราด? วิ่งเข้าไปทุบตี? หรือสาปแช่งให้เขาลงนรกไปเสียแต่สำหรับศิลปินหญิงชื่อ Barbora Kysilkova เธอเลือกจะขอวาดภาพพอร์เทรตของเขา

นี่ไม่ใช่เรื่องราวของภาพยนตร์ที่ฉายตามเทศกาลหนังอาร์ต หากแต่เป็นสารคดีสัญชาตินอร์เวย์ชื่อ The Painter and the Thief ของผู้กำกับ Benjamin Ree ออกฉายออนไลน์ทั่วโลกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผลงานก่อนหน้านี้ของเขาคือ Magnus (2016) สารคดีตามติดชีวิตนักหมากรุกชื่อดังระดับโลกนาม Magnus Carlsen

ทว่าบาร์บอร่า ศิลปินสาวที่เป็นซับเจกต์หลักของ The Painter and the Thief ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงแต่อย่างใด เธอไม่มีหน้าวิกิพีเดียของตัวเองด้วยซ้ำ เธอเป็นหญิงสาวผู้ย้ายถิ่นจากยุโรปตะวันออกมาอยู่เบอร์ลิน จากนั้นก็ตามชายคนรักมาอยู่ที่ออสโล เธอหมกมุ่นกับการวาดภาพ แต่ผลงานแทบไม่ได้จัดแสดงในนิทรรศการใดๆ จุดเปลี่ยนในชีวิตของบาร์บอร่ามาถึงเมื่อเธอเผชิญหน้ากับ Karl Bertil ชายผู้ขโมยภาพของเธอไปด้วยความเป็นมิตรและขอให้เขาเป็นนายแบบเพื่อการวาดภาพ

 

ในช่วงแรกดูเหมือนบาร์บอร่าผูกสัมพันธ์กับคาร์ลเพราะต้องการรู้ว่าภาพของเธออยู่แห่งหนใด หากแต่คาร์ลก็ไม่สามารถระลึกได้เนื่องจากการใช้ยาเสพติดทำให้ความทรงจำสับสนไปหมด การที่คาร์ลต้องนั่งนิ่งเป็นแบบวาดรูปอาจถือเป็นการชดใช้ความผิด แต่แล้วทั้งสองก็เริ่มไปมาหาสู่กันบ่อยครั้ง พูดคุยเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการลักขโมยภาพ ชีวิตส่วนตัว วัยเด็ก อดีตอันเลวร้าย และกระทั่งตอนที่คาร์ลประสบอุบัติเหตุรถยนต์ บาร์บอร่าก็เป็นคนคอยช่วยเหลือเขา

เราอาจเผลอคิดว่าสารคดีเรื่องนี้กำลังเล่าถึงผู้หญิงหัวใจทองคำหรือมิตรภาพอันแสนสวยงามทว่าเมื่อภาพยนตร์ดำเนินไป ความคลางแคลงใจหลายอย่างก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น เช่นว่าที่จริงแล้วบาร์บอร่าไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไรเลย แต่ทำไมเธอถึงช่วยเหลือคาร์ลขนาดนั้น สำหรับบาร์บอร่าแล้วคาร์ลถือเป็นเพื่อนของเธอหรือเป็นเพียงแรงบันดาลใจในการสร้างงานจิตรกรรม เราอาจมองในแง่ร้ายได้ว่าสิ่งที่บาร์บอร่าทำคือการสำเร็จความใคร่ทางศิลปะในนามของศิลปิน

ยิ่งไปกว่านั้นเราพบว่าเหตุที่บาร์บอร่ากับคาร์ลดึงดูดเข้าหากันก็เพราะพวกเขาเป็นคนประเภทที่มีแนวโน้มจะทำลายตัวเอง (self-destructive) กรณีของคาร์ลอาจชัดเจนกว่า ทั้งการเสพยาและการขโมยของซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ตัวบาร์บอร่าเองอาจไม่รู้ตัวว่าเธอเป็นคนแบบนั้น เธอมุ่งมั่นกับงานวาดภาพมากเกินไปจนจัดลำดับชีวิตและการเงินไม่ถูก ความสนิทชิดเชื้อของเธอกับคาร์ลยังสร้างความไม่พอใจให้สามีของฝ่ายหญิงด้วย เขาไม่ได้หึงหวงเชิงชู้สาว แต่กังวลใจว่าทั้งสองเป็น กลุ่มเสี่ยงเหมือนกัน จนในที่สุดบาร์บอร่ากับคาร์ลจึงต้องห่างเหินกันไป

หากมองในเชิงภาพยนตร์แล้ว The Painter and the Thief อาจไม่ได้มีวิธีการนำเสนอที่หวือหวา แต่ข้อดีของหนังคือการที่ผู้กำกับเลือกใช้การสังเกตการณ์ตลอดทั้งเรื่องและไม่เคยเอาตัวเองไปอยู่ในหนัง อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์แบบเอาซับเจกต์มาพูดหน้ากล้อง (talking head) หากเน้นที่การบันทึกบทสนทนาระหว่างบุคคลหรือกิจวัตรประจำวันของบาร์บอร่าและคาร์ล นำมาซึ่งความเป็นธรรมชาติและน่าติดตาม

อีกจุดที่ผู้เขียนชอบคือโครงสร้างของหนังที่เหมือนจะมี 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกเป็นการเล่ามุมมองของบาร์บอร่าต่อคาร์ล ช่วงที่สองเป็นมุมมองของคาร์ลต่อบาร์บอร่า และช่วงสุดท้ายเป็นพาร์ตที่ซาบซึ้งที่สุดเมื่อทั้งคู่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ในแง่หนึ่งมันคือการเชื่อมโยงกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ทว่าพวกเขาก็ยังไม่ทิ้งความสัมพันธ์แบบศิลปินและนายแบบนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญของบาร์บอร่าที่ทั้งงดงาม อื้อฉาว และชวนตั้งคำถาม (ส่วนภาพนั้นคืออะไร ผู้เขียนขอไม่เฉลย อยากให้คุณผู้อ่านได้ประสบเองในหนัง)

ทั้งนี้มีเนื้อหาที่อาจไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังแต่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก นั่นคือตอนที่คาร์ลไปรับโทษในเรือนจำฮาลเดน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคุกที่มีมนุษยธรรมที่สุดในโลก อย่างที่ทราบกันดีว่าคุกหลายแห่งในนอร์เวย์นั้นมีบรรยากาศไม่ต่างจากโรงแรม จนอาจแย้งในใจว่านี่คือการสปอยล์นักโทษมากไปหรือเปล่า แต่ทั้งนี้จุดประสงค์ของคุกนอร์เวย์ไม่ได้มีไว้เพื่อกักขังผู้คน หากมีไว้เพื่อเตรียมการให้เหล่าผู้ต้องหากลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ คุกจึงถูกออกแบบให้มีความปกติมากที่สุด

ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะชี้ว่าระบบเรือนจำของนอร์เวย์เลิศเลอหรือดีกว่าประเทศอื่นๆ แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าที่เรื่องราวพิสดารใน The Painter and the Thief เกิดขึ้นได้ในนอร์เวย์อาจเป็นเพราะนี่คือสังคมที่ผู้คนยังเชื่อมั่นว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ และพวกเขายังเหลือพื้นที่ในหัวใจสำหรับการไว้ใจมนุษย์ผู้อื่น

 

หมายเหตุ เข้าไปดูผลงานของบาร์บอร่าได้ที่ artbarbar.com

AUTHOR