หนึ่งในสิ่งที่ผู้กำกับสารคดีรู้สึกรำคาญใจที่สุดแต่ก็ต้องพร้อมรับมือเสมอคือ การถูก ‘ซับเจกต์’ ในผลงานของตัวเองฟ้องร้องหลังจากหนังออกฉาย มันเป็นดราม่าคลาสสิกที่เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ โดยมากคือบุคคลหรือองค์กรใดๆ รู้สึกว่าภาพลักษณ์ของเขาถูกนำเสนอในหนังอย่างไม่ถูกต้อง เป็นแง่ลบ หรือถูกบิดเบือน บางรายอาจจะแค่ออกมาให้สัมภาษณ์ก่นด่าคนทำหนัง แต่รายที่ถึงขั้นฟ้องร้องก็มักจะเป็นพวกคนดังหรือบุคคลอื้อฉาว
ผู้กำกับหญิง Lauren Greenfield ดูจะเป็นผู้กำกับที่เสี่ยงเผชิญดราม่าข้างต้นสูงมาก เธอเป็นทั้งช่างภาพ ศิลปิน และคนทำหนังสารคดี เรียนจบด้าน visual and environmental studies จากฮาร์วาร์ด แต่แทนที่จะทำหนังว่าด้วยเรื่องปรัชญาสูงส่ง หนังของเธอแทบทุกเรื่องมักวนเวียนอยู่กับกลุ่มคนที่ ‘รวยล้นฟ้าจนน่าพิศวง’ และมี ‘พฤติกรรมประหลาดอันยากจะเข้าใจ’
หนังดังของกรีนฟิลด์คือ The Queen of Versailles (2012) สารคดีว่าด้วย David Siegel และ Jackie Siegel คู่สามี-ภรรยาที่สร้างบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและออกแบบตามพระราชวังแวร์ซาย แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ทำให้การเงินของพวกเขาชะงัก การสร้างบ้านต้องหยุดไป ทว่าแจ็กกี้ยังกลับใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อเหมือนเดิม หลังจากหนังออกฉายได้ 3 ปี ลูกสาวคนหนึ่งของแจ็กกี้ตายเพราะเสพยาเกินขนาด แจ็กกี้กล่าวโทษว่าสารคดีมีผลทำให้ลูกสาวเธอเครียดจนต้องใช้ยาเสพติด
กรีนฟิลด์ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะถูกครอบครัวซีเกลฟ้อง แต่เธอก็รอดพ้นทุกข้อกล่าวหา อย่างไรก็ดีแทนที่จะเข็ดกับการทำหนังเกี่ยวกับชนชั้นสูง เธอกลับยกระดับไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้น The Kingmaker (2019) ผลงานล่าสุดของเธอนั้นว่าด้วย Imelda Marcos อดีตสุภาพสตรีหมายหนึ่งของฟิลิปปินส์ ภริยาของอดีตประธานาธิบดี Ferdinand Marcos ผู้นำเผด็จการที่ฉาวโฉ่เรื่องคอร์รัปชั่นและการกำจัดคนเห็นต่าง
เมื่อลองเทียบเคียง The Queen of Versailles กับ The Kingmaker แล้ว เราพบว่ากรีนฟิลด์เลือกซับเจกต์ของเธออย่างชาญฉลาด พวกเขามีลักษณะร่วมกันอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรกคือเป็นพวกกล้าพูด กล้าเปิดเผย อย่างใน The Queen of Versailles มีฉากแจ็กกี้ทะเลาะทุ่มเถียงกับสามี หรือฉากเด็ดที่เธอไปช้อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อของมากมายจนยัดเข้ารถไม่หมด ทั้งที่ตอนนั้นเธอไม่ใช่คนรวยอีกต่อไปแล้ว หนำซ้ำเธอยังซื้อจักรยานคันใหม่ให้ลูก แม้ว่าที่บ้านจะมีจักรยานกองอยู่หลายสิบคันก็ตาม
ส่วนความกล้าพูดของอีเมลดาเรียกได้ว่ามั่นหน้าจนยืนหนึ่ง เธอคือคนที่พูดอย่างหน้าตาเฉยว่า “ฉันต้องแต่งตัวสวยๆ ให้พวกคนจนดูสิ เขาคือพวกที่มองหาแสงดาวในคืนมืดมิด” แม้ผู้ชมจะรู้สึกว่ามันน่าขันหรืออัปลักษณ์เพียงใด ผู้เขียนเชื่อว่าอีเมลดาจะไม่มาเสียเวลาฟ้องกรีนฟิลด์แน่นอน เพราะเมื่อลองดูสารคดีเรื่องอื่นหรือบรรดาคลิปสัมภาษณ์ เราจะพบว่าอีเมลดาพูดหลายเรื่องซ้ำๆ ด้วยวาทะเด็ดประจำตัวของเธอ รวมถึงประโยคเสียสติขั้นสุดที่ว่า “ฉันไม่ได้อยากเป็นแค่แม่ของคนฟิลิปปินส์ แต่ฉันอยากเป็นแม่ของคนทั้งโลก” (!?!?)
ลักษณะร่วมประการที่ 2 ของซับเจกต์ในหนังกรีนฟิลด์คือ พวกเขาเป็นคนประเภทที่เชื่อมั่นในตัวเองมาก แม้ว่ามันจะตามมาด้วยการหลอกตัวเองก็ตาม อย่างเช่นแจ็กกี้ที่ทำตัวเป็นราชินีแห่งแวร์ซายแม้ยามชีวิตตกต่ำ ส่วนอีเมลดาก็เชื่อว่าผู้คนรักเธอ ตัวเธอเป็นที่ต้องการของประเทศนี้ แต่การหลอกตัวเองของอีเมลดายังข้ามเส้นไปถึงการหลอกลวงทางประวัติศาสตร์ เธอย้ำเสมอว่าฟิลิปปินส์รุ่งเรืองที่สุดในสมัยของเฟอร์ดินานด์ และไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคนั้น
ในเมื่ออีเมลดายืนยันหนักแน่นถึงชุดความเชื่อของเธอ ผู้กำกับจึงต้องหาชุดเรื่องเล่า ‘อีกฝั่ง’ มาคะคาน นั่นคือคำให้การจากบรรดาเหยื่อทางการเมืองในยุคเฟอร์ดินานด์ ความคิดที่แตกต่างและการต่อต้านรัฐบาลทำให้พวกเขาถูกลักพาตัว กักขัง ทำร้ายร่างกาย และมีบาดแผลทางจิตใจไปชั่วชีวิต มันช่างขัดแย้งเหลือเกินกับภาพของอีเมลดาที่ใส่ชุดสวยหรูนั่งให้สัมภาษณ์ในห้องรับแขกที่ตกแต่งด้วยข้าวของราคาแพงแน่นขนัด ราวกับเป็นเรื่องราวที่มาจากคนละโลก
ทว่าฉากที่ผู้เขียนคิดว่าเจ็บปวดและขนลุกมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องราวของผู้คนในเกาะแห่งหนึ่งที่ถูกขับไล่ออกไป ด้วยเหตุผลเพียงว่าอีเมลดาอยากจะมีสวนสัตว์ซาฟารีเป็นของตัวเอง เธอเลยไล่ผู้คนและขนสิงสาราสัตว์จากทวีปแอฟริกามาที่เกาะนี้ ทว่าท้ายที่สุดสัตว์เหล่านั้นถูกปล่อยทิ้งขว้าง พวกมันอยู่กันแบบตามมีตามเกิด ผสมพันธุ์กันแบบไม่มีการควบคุม หลายตัวบาดเจ็บ มีแผลเน่าเฟะ ส่วนประชาชนในเกาะก็ต้องอยู่ร่วมกับสัตว์พวกนั้นไป กล่าวได้ว่าอีเมลดาทำให้มนุษย์และสัตว์มีสภาพสมเพชไม่ต่างกัน
เรื่องราวสยองขวัญในสารคดียังดำเนินต่อไป เมื่อหนังขมวดท้ายด้วยฟิลิปปินส์ในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ไม่เคยมีใครอยากเชื่อว่าดูเตอร์เตจะชนะการเลือกตั้งพอๆ กับที่ Donald Trump ได้เป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกา ทว่าเห็นได้ชัดว่าครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 เป็นยุคที่ผู้คนสิ้นหวังถึงขนาดหวังพึ่งพิงผู้นำปากกล้า พูดจามุทะลุ พฤติกรรมกักขฬะ และหาเสียงด้วยนโยบายที่น่าเหลือเชื่อ (ไม่ใช่ในทางที่ดี)
แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการที่หนังเปิดเผยว่าครอบครัวมาร์กอสอาจมีบทบาทสำคัญในการชนะเลือกตั้งของดูเตอร์เต และนี่จะเป็นช่องทางให้ลูกหลานของอีเมลดาเข้ามามีบทบาททางการเมือง ทว่าแทนที่ประชาชนจะออกมาต่อต้านเหมือนที่พวกเขาเคยขับไล่เฟอร์ดินานด์ในปี 1986 กลับกลายเป็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมชมชอบพวกมาร์กอสและเชื่อว่าพวกเขาจะทำให้ฟิลิปปินส์มุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้าได้
น่าแปลกใจว่ากลุ่มคนที่ชื่นชอบตระกูลมาร์กอสกลับมีเหล่าคนรุ่นใหม่รวมอยู่ด้วย ทฤษฎีหนึ่งที่หนังนำเสนอคือหลังสิ้นสุดยุคเฟอร์ดินานด์ไปหลายทศวรรษ ปัญหาความยากจนในฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย ประกอบกับการนำเสนอชุดข้อมูลที่ว่า ‘คนรุ่นใหม่ถูกล้างสมองให้เกลียดพวกมาร์กอสมาตลอด’ (ซึ่งใครอยู่เบื้องหลังการนำเสนอข้อมูลชุดนี้ก็ต้องไปขบคิดกันต่อ) ความไร้ความหวังและต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวอะไรบางอย่างเป็นปัจจัยให้คนหนุ่มสาวหันไปสนับสนุนพวกมาร์กอส ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประโยคหนึ่งที่อีเมลดาพูดไว้ในหนังว่า
“การรับรู้ต่างหากคือสิ่งที่แท้จริง หาใช่ตัวความจริงไม่”
*The Kingmaker เข้าฉายตั้งแต่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เช็กรอบฉายได้ที่ Documentary Club