ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่ลุกขึ้นสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม

Highlights

  • ช่วงรัฐประหารปี 2557 มีการเรียกประชาชนจำนวนหนึ่งเข้ารายงานตัวกับ คสช. และเกิดการจับกุมภายใต้กฎอัยการศึก ทนายกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา
  • ช่วงแรกพวกเขาตั้งใจทำศูนย์นี้ชั่วคราวเพียง 6 เดือน แต่เพราะสถานการณ์รัฐประหารยืดเยื้อจึงทำให้ศูนย์ทนายฯ ยังคงเปิดให้บริการจนเข้าปีที่ 6 ในปีนี้
  • แม้จะเชี่ยวชาญข้อกฎหมายที่ใช้โต้แย้งในกระบวนการไม่เป็นธรรม แต่การทำงานของทนายภายใต้ระบอบที่ไม่ยุติธรรมย่อมนำมาซึ่งการต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าจะชนะตอนไหน
  • ถึงอย่างนั้นพวกเขายังคงยืนหยัดที่จะทำงานด้วยความหวังต่อไป และวางบทบาทให้ศูนย์แห่งนี้สนับสนุนงานด้านข้อมูลสิทธิมนุษยชนให้คนไทยด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

Susan Neiman นักปรัชญาชาวอเมริกันเคยเขียนไว้ในหนังสือ Why Grow Up? ว่าต่อให้โลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ ‘มันควรจะเป็น’ เธอก็ไม่อยากให้ลูกยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมบนโลกใบนี้ 

ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะมันทำให้เรานึกถึงบทบาทสำคัญตลอด 6 ปีที่ผ่านมาของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างอยุติธรรมตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 

ด้วยปรากฏการณ์เขย่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมในปีที่ผ่านมา แสงสปอตไลต์จึงส่องไปที่ทนายสิทธิมนุษยชนจนบทบาทเด่นชัดขึ้นมาอีกครั้ง เรียกแรงสนับสนุนจากผู้คนในขบวนเรียกร้องได้มหาศาล

ถ้าหากย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรก ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายฯ แห่งนี้วางแผนช่วยเหลือนักโทษคดีทางการเมืองเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น แต่เพราะสถานการณ์รัฐประหารยืดเยื้อยาวนาน และมีชุดข้อมูลที่ทำให้เห็นผลพวงรัฐประหารจำนวนหนึ่ง พวกเขาจึงตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนการยุติวงจรรัฐประหารต่อไป 

ในวันที่กฎหมายถูกใช้ปิดเสียงเรียกร้องความเสมอภาคในสังคม หมายจับคดีความมั่นคงแจกจ่ายไปบ้านใครหลายคนมากกว่าโบรชัวร์ขายของ เราชวน แอน–ภาวิณี ชุมศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มามองการทำงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะผู้ว่าความที่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมไทยมีระบบอย่างที่ ‘มันควรจะเป็น’ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จาก 6 เดือนสู่ 6 ปี ในการต่อสู้กับความไม่ปกติ

“ช่วงนี้งานยังหนักเหมือนช่วงชุมนุมปีที่แล้วไหม” แม้จะพอเดาคำตอบได้ไม่ยากแต่เราก็อยากถามไถ่แอนเป็นอย่างแรกเพื่อให้เธอบอกเล่าสถานการณ์ตอนนี้

“เหมือนสถานการณ์ดูผ่อนคลายลงเพราะไม่มีชุมนุมทุกวันก็จริง แต่ศูนย์ทนายฯ ไม่ได้หยุดทำงานเลย เราเพิ่งพาลูกความไปรับทราบข้อกล่าวหาคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) มา บางวันต้องพาลูกความไป 3-4 สน.” แอนตอบ

อันที่จริง คงต้องบอกว่าตั้งแต่เหล่าทนายความด้านสิทธิมนุษยชนรวมตัวกันก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ถูก คสช.ดำเนินคดีทางกฎหมายในปี 2557 พวกเขาแทบจะไม่ได้หยุดพักและมีคดีความให้สะสางกันแทบทุกวัน

เพราะตามระบบคดีอาญาจะมีกระบวนการพิจารณาคดีกันข้ามปี ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ นัดสืบพยาน รอศาลไต่สวน รอศาลตัดสิน บางคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 จึงยังไม่สิ้นสุดจนถึงตอนนี้

“ตอนแรกๆ ที่ตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมา ทนายจำนวนหนึ่งที่มาช่วยกันบอกว่าเราจะทำงานกันสัก 6 เดือน แต่ตอนนี้ก็ 6 ปีแล้ว” เธอหัวเราะให้กับมุกตลกร้าย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ที่พวกเขาตั้งใจจะทำงานกันแค่ 6 เดือน ไม่ใช่เพราะจะหลีกหนีความรับผิดชอบอะไร เพียงแต่ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผลพวงของการรัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นยาวนานมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการเรียกให้คนเข้าไปรายงานตัว ปรับทัศนคติ หรือจับกุมเข้าค่ายทหาร ผิดกับการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาที่ตัวเลขคนถูกคุกคามหวือหวามาก

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทนายในศูนย์ฯ รับรู้ว่าสถานการณ์รอบนี้ไม่ปกติเหมือนรัฐประหารที่ผ่านมาและมีสัญญาณว่าระบอบนี้จะอยู่ยาวคือ การประกาศให้คดีความทางการเมืองขึ้นตรงต่อศาลทหารเท่านั้น

“จริงๆ ช่วงที่ทำงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์หลายอย่างเหนือความคาดหมาย แต่ขอเล่าถึงเรื่องนี้เพราะมันเป็นหมุดหมายที่น่าจะทำให้คนเห็นความไม่ปกติในตอนนั้นได้จริงๆ

“ปี 2558 กลุ่ม 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มของโรม (รังสิมันต์ โรม) ไปทำกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารแล้วเจ้าหน้าที่มาจับตอนกลางคืน พาไปขึ้นศาลทหารกันถึงเที่ยงคืน เราจำได้ว่าตัวเองก็ไม่มีเสื้อครุยทนายติดมาด้วย แต่ก็ต้องขึ้นว่าความตอนนั้นเลย

“เสร็จแล้วคืนนั้นก็ต้องนอนเฝ้ารถทนายจูน (ศิริกาญจน์ เจริญศิริ) อยู่หน้าศาลทั้งคืน เพราะเจ้าหน้าที่จะมาค้นรถเพื่อยึดมือถือลูกความ ซึ่งในความเป็นจริงคุณไม่มีสิทธิเพราะไม่มีหมายค้น”

และแม้ยุคของการปกครองโดย คสช. (แบบโจ่งแจ้ง) จะจบสิ้นลง และมีการเลือกตั้งแล้ว แต่แอนบอกว่าสภาวะทุกอย่างก็ใช่ว่าจะกลับเข้าสู่ความปกติ

“ทุกอย่างยังเหมือนเดิมเพียงแค่เปลี่ยนจากชื่อ คสช.มาเป็นรัฐบาล เพราะเขาสถาปนาตัวเองไปอยู่ในกลไกรัฐและกุมอำนาจได้หมดแล้ว”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม

ระยะเวลากว่าครึ่งทศวรรษของการรัฐประหารคงทำให้เราได้เห็นความอยุติธรรมอะไรหลายอย่าง สำหรับทนายสิทธิมนุษยชนที่อยู่หน้างาน พวกเขาเห็นชัดกว่าใคร

“เราเป็นทนายสิทธิมนุษยชน เรารู้ว่าสถานการณ์แบบนี้มันละเมิดสิทธิประชาชน และกระบวนการยุติธรรมมันไม่เป็นธรรม อยู่ๆ มีคนโดนจับเราก็ต้องรีบไปตาม ไปประกันสิทธิว่าเขาต้องมีทนายไปด้วย จะพาเขาไปไหน มีหมายไหม เราเลยทำงานกัน 24 ชั่วโมงตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ บางทีการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามสิทธิของผู้ต้องหาเราก็ต้องเอาข้อกฎหมายไปโต้แย้ง”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ใช่ว่าการทำงานของพวกเขาจะสำเร็จทุกครั้ง เพราะอย่างที่เราเห็นตามข่าว มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมไทย เช่น การเรียกจำนวนเงินประกันตัวคดีทำร้ายร่างกายน้อยกว่าคดีความมั่นคง หรือบางครั้งก็อนุญาตให้ผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายประกันตัวแต่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กลับไม่ให้ประกันตัวเสียอย่างนั้น อย่างกรณีของ ‘อัญชัญ’ ผู้ถูกจับกุมในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการแชร์คลิป ‘บรรพต’ ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เธอไม่เคยได้รับการประกันตัวตั้งแต่ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารในปี 2557 จนกระทั่งปัจจุบันที่ศาลตัดสินจำคุกเธอ 29 ปี 174 เดือน

ทนายแอนยอมรับว่าหลายคดีก็ลดทอนตัวตนของเธอไปไม่น้อย โดยเฉพาะความเชื่อที่มีต่อระบบยุติธรรมของประเทศนี้ เช่น คดีของไผ่ ดาวดิน ที่แชร์พระราชประวัติของ ร.10 จาก BBC ซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่ายอดแชร์ทั้งหมดมีมากถึงหลักพัน ทำไมถึงเป็นเขาที่โดนจับเพียงคนเดียว

“เคยรู้สึกว่างานที่ทำไปไม่มีคุณค่าในระบบที่ไม่ยุติธรรมแบบนี้ไหม” เราถามขึ้น แอนส่ายหัวให้เป็นคำตอบทันที

“เราอาจจะเคยคิดแบบนั้นแต่ตอนนี้เราไม่คิด โชคดีที่เรามีเพื่อนดี ไม่สอนให้เราลดคุณค่าการเป็นทนายความ แม้เราจะต้องเจอระบบที่ทำให้คนไม่เท่ากัน คนถูกดำเนินคดีอยู่ต่ำกว่ากลไกรัฐ แต่มีทางเดียวที่จะไปต่อได้คือต้องสู้ เพราะเราเป็นนักกฎหมาย เราไม่ควรยอมรับเหตุการณ์ที่มันไม่เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่เราจะไม่ภูมิใจที่ได้เป็นทนายสิทธิมนุษยชนนะ”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

“เราอาจจะแพ้บ่อย แต่ต้องมีวันที่เราชนะ”

“ตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าอาชีพทนายมั่นคง เติบโตก้าวหน้าได้สบายๆ แต่ฟังจากคุณแล้วนี่มันไม่ได้สบายเลยนะ” ทนายแอนหัวเราะเมื่อฟังข้อสรุปของเรา

“อันนั้นอาจจะหมายถึงทนายในบริษัทธุรกิจใหญ่ๆ หรือเปล่า

“แต่ก่อนใครๆ ก็ว่าทนายสิทธิมนุษยชนเป็นทนายตีนเปล่า ไปช่วยว่าความก็ต้องรับอาสาเพราะลูกความไม่มีตังค์ ทนายกินข้าวกับชาวบ้าน แต่ยุคหลังรุ่นพี่ๆ ก็พยายามเปลี่ยนใหม่จนมาถึงรุ่นเรา ดูแลกันมากขึ้นทั้งทางจิตใจ การทำงาน และการใช้ชีวิต อย่างเรื่องการเงินเราให้เรตทนายอาสาที่เข้ามาช่วยงานศูนย์ทนายฯ เท่าสภาทนายเลย”

แอนยอมรับว่าหลายครั้งทนายสิทธิมนุษยชนต้องแบกรับภาระทางจิตใจไว้มาก การเสียน้ำตาระหว่างการทำงานจึงเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับทนายหลายคนมาแล้ว

“เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นปกติเพราะเราก็เป็นมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่ถึงเวลาทำงานเราจะไปร้องไห้หรือเอาตัวเองเข้าไปแทนความรู้สึกของลูกความไม่ได้เพราะเขาต้องการพึ่งเรา เกิดเรามีปัญหาเขาจะพึ่งใคร ดังนั้นก็ให้รู้ว่ามันเกิดความรู้สึกขึ้น แล้วจัดการเพื่อที่จะได้มาเป็นทนายความแบบที่เขาคาดหวัง”

แต่การทำงานแบบทนายสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีเวลาเริ่มงานและเลิกงานตายตัว พวกเขาไปเอาแรงและความหวังทั้งหมดมาต่อสู้กับความอยุติธรรมได้ยังไง เรื่องนี้คนน่าจะสงสัยมากที่สุด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“ช่วงแรกซัฟเฟอร์กันจนเบิร์นเอาต์ ที่นี่เลยมีมาตรการแบ่งเวรกันทำงานและให้ลาพักร้อนได้ 20 วัน ใครรู้ตัวว่าไม่ไหวแล้ว จงพัก อย่าฝืน”

“ส่วนความหวังที่จะทำงานต่อ เรานึกถึงคำพูดหนึ่งของอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตอนเราเรียนนิติศาสตร์ อาจารย์เป็นคนที่อยู่ด้วยความหวัง เขาบอกว่า ‘พวกเราไม่ต้องชนะบ่อยก็ได้ จะแพ้เท่าไหร่ก็ได้ แต่เวลาชนะขอแค่ครั้งเดียว’ เราก็คิดว่าจะมีวันที่เป็นชัยชนะของพวกเรานั่นแหละ ไม่มากก็น้อยเราต้องอยู่ด้วยความหวัง แล้วเก็บเกี่ยวความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำเอาไว้ไปเรื่อยๆ”   

แอนยอมรับว่าหลายครั้งทนายสิทธิมนุษยชนต้องแบกรับภาระทางจิตใจไว้มาก การเสียน้ำตาระหว่างการทำงานจึงเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับทนายหลายคนมาแล้ว
“เรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นปกติเพราะเราก็เป็นมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่ถึงเวลาทำงานเราจะไปร้องไห้หรือเอาตัวเองเข้าไปแทนความรู้สึกของลูกความไม่ได้เพราะเขาต้องการพึ่งเรา เกิดเรามีปัญหาเขาจะพึ่งใคร ดังนั้นก็ให้รู้ว่ามันเกิดความรู้สึกขึ้น แล้วจัดการเพื่อที่จะได้มาเป็นทนายความแบบที่เขาคาดหวัง”
แต่การทำงานแบบทนายสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีเวลาเริ่มงานและเลิกงานตายตัว พวกเขาไปเอาแรงและความหวังทั้งหมดมาต่อสู้กับความอยุติธรรมได้ยังไง เรื่องนี้คนน่าจะสงสัยมากที่สุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย