ความประทับใจของ ‘ประทับจิต นีละไพจิตร’ ต่อทนายสมชาย พ่อผู้อุทิศตนเพื่อความเชื่อ

โดยทั่วไปแล้วทนายความไม่ควรเป็นอาชีพที่สุ่มเสี่ยง ร่ำเรียนมาทางกฎหมาย หมั่นศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจคดีความ และเติมชั่วโมงการทำงานอีกสักหน่อย ชีวิตของคุณก็อยู่รอดด้วยอาชีพนี้ได้ 

แต่นิยามนั้นคงใช้ไม่ได้กับชีวิตของ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ที่เป็นทั้งทนายความคดีทั่วไปและทนายความสิทธิมนุษยชนที่รับผิดชอบคดีของคนเล็กคนน้อย 

ช่วงเวลานั้น ทนายสมชายกำลังทำคดีให้ชาวบ้านที่ถูกจับกุมในข้อหาปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และคดีชาวมุสลิมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) โดยก่อนหน้านั้นเพียงไม่นาน เขาได้ออกมาเปิดโปงเบื้องหลังของลูกความ 5 คนที่ถูกจับกุมในคดีปล้นปืนว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 บทบาททนายความสิทธิมนุษยชนของสมชาย นีละไพจิตร ได้ยุติลงอย่างไม่ได้ตั้งใจ พร้อมกับการหายตัวไปอย่างไร้คำอธิบาย 

“วันนั้นพ่อมีนัดเดินทางไปที่ใต้ แต่ไม่ได้ไป แม่รู้ได้ทันทีว่าคือการอุ้ม เพราะปกติพ่อรับผิดชอบเรื่องงาน แล้วก่อนหน้านี้พ่อเคยโดนข่มขู่ด้วย” แบ๋น–ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวพูดถึงวินาทีที่รู้ข่าวจากเพื่อนของพ่อ ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนทิศทางชีวิตของเธอ และยังตัดเฉือนบางส่วนในใจจนแหว่งวิ่น

วันที่พ่อหายไป เธอกำลังเรียนปริญญาตรี ผ่านมาเกือบ 15 ปี เธอเรียนจบปริญญาเอกจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยทำงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นการอุ้มหาย และปัจจุบันทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสหประชาชาติ

แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเนิ่นนาน แต่การหายไปของพ่อผู้เป็นที่รักยังคงเป็นความสูญเสียที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างหมดจด นั่นเพราะผู้กระทำผิดยังไม่ถูกลงโทษ ครอบครัวยังไม่พบแม้แต่ส่วนเสี้ยวของร่างกาย และเธอยังไม่เคยได้กล่าวลาพ่อแม้แต่ประโยคเดียว

เดือนธันวาคม 2561 เรานัดกันช่วงเช้าของวันธรรมดาวันหนึ่ง หลังได้ยินคำถามเธอค่อยๆ เล่าถึงพ่ออย่างละเมียดและใส่ใจ ระหว่างประโยคถูกคั่นด้วยน้ำตาและความคิดถึง ทั้งที่ไม่เคยเจอทนายชื่อสมชาย นีละไพจิตร มาก่อน แต่ทุกๆ เรื่องราวทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว 

ในสายตาคนทั่วไป สมชาย นีละไพจิตร คือทนายที่มีอุดมการณ์ ว่าความเพื่อคนเล็กคนน้อย อยากรู้ว่าในสายตาลูกสาว พ่อเป็นคนแบบไหน

ก็เป็นแบบนั้นนะ พ่อผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นคนมีอุดมการณ์ ยึดถือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แล้วงานของคนรุ่นก่อนไม่ได้มีแรงสนับสนุนจากนานาชาติ ไม่ได้มีองค์ความรู้ในการรณรงค์ทางสังคมมากนัก ขณะที่พ่อสู้ตายในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ได้คิดเรื่องความเสี่ยงในชีวิต เป็นคนมองโลกในแง่บวก มีความหวังอยู่เสมอ 

ตอนคุณเป็นเด็ก พ่อมักสอนเรื่องอะไร

พ่อจะใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาสอนลูก พูดคุยกัน เล่าเรื่องงานที่ทำ เล่าเรื่องราวในอดีตของตัวเองที่ยากจน ต้องต่อสู้ชีวิตอย่างไรบ้าง และสอนผ่านหนังสือหลากหลายประเภท เขาไม่ใช่คนที่มาสั่งสอนว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ขณะเดียวกันเขาให้ความรู้พื้นฐานของศาสนาอิสลามเท่าที่คนหนึ่งคนควรรู้ด้วย

สิ่งที่พ่อบอกอยู่เสมอคือ โดยพื้นฐานเราเป็นมุสลิม แต่ตราบที่ยังไม่นับถือใครเทียบเท่าพระผู้เป็นเจ้า เรามีอุดมการณ์อื่นได้ด้วย การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือคดีต่างๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้ารับ แต่พ่อเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นความยุติธรรม เขาทำโดยหวังว่าพระผู้เป็นเจ้าจะรับว่าคือทางที่ถูกต้อง ศาสนาอิสลามมีกราวนด์ชัดเจนเรื่องความเมตตา ความเท่าเทียมกัน งานของพ่อคือการเลือกตามกรอบที่มีในชีวิต

กิจกรรมที่ทำด้วยกันบ่อยๆ คืออะไร

พ่อขับรถไปส่งทุกวัน อีกอย่างที่ทำด้วยกันคือกินข้าวเช้า-เย็นด้วยกัน ดูข่าวแล้วคุยกัน ข้อดีของอาชีพทนายคือเวลาทำงานค่อนข้างเป๊ะ พ่อเป็นคนติดบ้าน กลับบ้านทุกวัน ถ้าเสาร์-อาทิตย์ไม่มีธุระก็อยู่บ้าน เราไปมัสยิดด้วยกัน โดยเฉพาะเดือนรอมฎอนแต่เวลาที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันจะเป็นตอนอยู่บนรถและที่บ้าน

ลูกสาวเริ่มรับรู้ว่าพ่อเป็นทนายความตอนไหน

รับรู้ตั้งแต่เด็กเลย พ่อชอบเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เคยไปสำนักงานของพ่อ อาชีพทนายความคือการว่าความช่วยคดี แต่ไม่ได้รู้ความยาก-ง่ายของงาน เรารู้สึกว่าอาชีพของพ่อมั่นคงนะ แต่ไม่ได้มีเงินมากพอมาใช้สุรุ่ยสุร่าย เรื่องเดียวที่มักใช้เต็มที่คือการศึกษาของลูกทั้ง 5 คน ไม่ได้เที่ยวต่างจังหวัดบ่อย ตอนพ่อยังอยู่พวกเราไปต่างจังหวัดมากกว่าหนึ่งคืนน้อยมาก ส่วนต่างประเทศไม่เคยไปเลย

งานทนายของพ่อมีทั้งงานด้านสิทธิมนุษยชนและงานว่าความปกติใช่ไหม

ใช่ค่ะ สิ่งที่พ่อพูดเสมอคือ เราต้องทำงานเพื่อ 2 อย่าง คือทำเพื่อดูแลครอบครัวและทำตามอุดมการณ์ที่อาจไม่ได้เงิน งานของเขาก็มีคดีทั่วไปด้วย

ตอนเด็กๆ คุณมองพ่ออย่างไร ภูมิใจในตัวพ่อไหม

รักมาก มันมากกว่าความภูมิใจ พ่อคือ Wisdom of my life พ่อคือปรีชาญาณในชีวิต (เงียบ น้ำตาไหล) คือเพื่อนทางความคิด คือเพื่อนทางใจ คือความเข้มแข็ง เราสองคนไม่ได้มีความสัมพันธ์แค่พ่อ-ลูก แต่พ่อเปิดโอกาสให้เป็นเพื่อน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บางครั้งเขาพาแบ๋นไปเวทีต่างๆ ที่ตัวเองขึ้นพูด พอลงมาก็ถามว่า “พูดดีไหม เป็นอย่างไรบ้าง” เวลาเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ เขาก็จะมาถามว่า “ดีไหม วิจารณ์หน่อย ครั้งหน้าจะได้ปรับ” ที่เล่าคือตอนเด็กมากนะ ประมาณ ป.6 เลย แล้วไม่ใช่แค่ถามไปอย่างนั้น พ่อรับฟังจริงๆ คงอยากได้เพื่อนที่จริงใจ แล้วเวลาแลกเปลี่ยนกัน เราแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ “อันนี้อ่านไม่รู้เรื่องเลย น่าจะปรับนิดหน่ึง” ซึ่งเขาไม่โกรธ ชอบฟังฟีดแบ็ก เพราะท้ายที่สุดเขารู้ว่าลูกภูมิใจและสนับสนุนในสิ่งที่พ่อทำอยู่ สิ่งหนึ่งที่พ่อเป็นที่อยู่ในตัวแบ๋นมาก และอยากจะเก็บรักษาไว้ด้วยคือการเป็นคนธรรมดา เขาพูดถึงข้อเสียของตัวเอง พูดว่าตัวเองต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ได้ถูกต้องเสมอ เป็นสิ่งที่แบ๋นประทับใจ

เวลาเจอเรื่องแย่ๆ ของพ่อ คุณไม่ผิดหวังเหรอ

แบ๋นประทับใจนะ มันเป็นปรัชญาชีวิต คนที่รักพระผู้เป็นเจ้ารู้ดีว่าตัวเองเป็นแค่คนหนึ่งคน คนที่เท่ากับคนอื่น นี่คือองค์ประกอบที่ดีที่สุดของการเป็นนักสิทธิมนุษยชน คือการรู้ว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี

เป็นการสอนเรื่องความเท่าเทียมโดยไม่ต้องพูดหลักการอะไรเลย

ใช่ มันคือการยอมรับตัวเองว่ามีดีและไม่ดี 

คุณอยากเป็นทนายไหม

ไม่เคยเลย พ่อไม่เคยบังคับ เอาจริงๆ เขาไม่อยากให้ลูกเป็นทนายด้วยซ้ำ มันลำบาก เป็นผู้หญิงยิ่งลำบากหลายอย่าง เขาอยากให้เรียนอักษรฯ มองว่าได้ภาษาทำงานอะไรก็ได้ ต่อไปจะได้มีเงินเยอะๆ พอดีตอนม.ปลาย โรงเรียนราชินีให้นักเรียนเรียนวิชารัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ แบ๋นชอบรัฐศาสตร์มาก เรียนแล้วสนุก ซึ่งเราสนใจเรื่องสังคมการเมืองด้วย เป็นความสนใจที่มาจากหนังสือที่พ่อให้อ่าน แต่นิติศาสตร์ต้องท่องจำ แบ๋นไม่ชอบอะไรที่เป๊ะๆ เลยตัดสินใจเอนท์เข้าคณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ

เริ่มรับรู้ว่าสิ่งที่พ่อทำมีความอันตรายตอนไหน

ประมาณ ป.4 วันนั้นแม่มารอรับแบ๋นที่โรงเรียน เราเถลไถลกับเพื่อน กว่าจะออกมาก็นานท่าทางของแม่คือโกรธมาก ซึ่งเราไม่เข้าใจ แค่รอเองทำไมต้องโกรธขนาดนั้น พอพาลูกทุกคนขึ้นรถตุ๊กๆ แม่พูดขึ้นมาว่า “รู้บ้างไหมว่าพ่อโดนขู่” ก็อึ้งนะ แต่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น มารู้ทีหลังว่าแม่ได้รับโทรศัพท์ว่า “ระวังนะ ทำคดีนี้ เดี๋ยวจะตายเหมือนทนายในข่าว” ซึ่งช่วงนั้นมีข่าวทนายถูกยิงหน้าศาล 

เคยได้คุยกับพ่อเรื่องนี้ไหม

ไม่เคยเลย ยังแปลกใจเหมือนกันว่าทำไม 

หลังจากนั้นมีความผิดปกติอะไรอีก

ไม่เลย แบ๋นรู้แต่เรื่องที่เขาประสบความสำเร็จ เรื่องที่เขาภูมิใจ แล้วพ่อเป็นคนบ้ายอ (หัวเราะ) เวลาคดีที่ตัวเองทำออกข่าวในโทรทัศน์ก็ชี้ให้ดู เขาตัดข่าวบางคดีเก็บใส่กรอบไว้ เพิ่งมีช่วงหลังๆ ก่อนที่เขาจะหายตัวไป เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เขามีความกลัว ไม่อยู่สุข ปกติเขาจะนั่งทำงานชั้นล่างของบ้าน แต่เขาขึ้นมาทำงานชั้น 4 เอาเครื่องพิมพ์ดีดมานั่งพิมพ์ แล้วเขาไม่เคยติดมือถือขนาดนั้น แต่เขาเอามือถือใส่กระเป๋าเสื้อตลอดเวลา มีอาการเหงื่อแตก แม่ขึ้นไปคุยบางอย่างแต่เราไม่รู้อะไรมาก ช่วงนั้นพ่อทำอะไรหลายอย่าง เช่น รณรงค์ยกเลิกกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขารู้ว่าลูกความ 5 คนของตัวเองถูกซ้อมทรมาน ช่วงนั้นมีการติดต่อเข้ามาเรียกให้ไปคุยด้วย เขาก็ตัดสินใจอยู่

เห็นว่าสร้างข้อตกลงว่าต้องกลับบ้านทุกวันด้วย

พอบรรยากาศมีความตึงเครียด พ่อต้องเดินทางไปทำคดีที่ภาคใต้ เราเคยตกลงกันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะคุยกัน กลับมาคุยกันที่บ้าน แม่เป็นห่วงพ่อ แต่เขาไม่ใช่ผู้หญิงที่รั้งขาเอาไว้ เป็นห่วงแต่เคารพการตัดสินใจ พ่อไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์อย่างเดียวหรอก เขาชอบความท้าทาย คดีไหนยาก เขาอยากไปทำเพื่อพัฒนาตัวเอง แล้วบางครั้งไม่ได้ระมัดระวัง แม่เคยขอไม่ให้พ่อออกไป วันที่มีข่าวจะสลายการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พวกเขาก็เถียงกันเรื่องไม่ให้ออกไป แต่สุดท้ายแม่เคารพการตัดสินใจ แล้วพ่อมักเก็บความเสี่ยงไว้กับตัวเอง คนสมัยก่อนน่ะ ถ้าแม่ไปรู้อะไรมาค่อยจับเข่าคุยกันพ่อถึงจะยอมเล่าบ้าง ช่วงนั้นพ่อเป็นห่วงครอบครัว เลยตั้งใจว่าทำงานให้เสร็จแล้วค่อยกลับมาบ้าน ถ้าทำงานอยู่บ้านแม่อาจไม่สนับสนุนด้วย เขาเป็นคนแบบนี้ 

12 มีนาคม 2547 คือวันที่พ่อหายตัวไป อยากรู้ว่าช่วงก่อนหน้านั้นบรรยากาศในบ้านเป็นอย่างไร

พ่อไม่กลับบ้านประมาณหนึ่งอาทิตย์ แต่จะโทรเข้าบ้านทุกวัน แม่เป็นอย่างไร ลูกเป็นอย่างไร ตอนนั้นลูกๆ เริ่มมีโทรศัพท์มือถือ ก็โทรหาลูกๆ ทุกคน เวลาเขาโทรเข้าบ้าน แบ๋นจะบอกพ่อว่า “กลับบ้านได้แล้ว” ซึ่งเขาไม่ค่อยตอบอะไร มีวันหนึ่งที่ตอบว่า “งานใกล้เสร็จแล้วเดี๋ยวกลับนะ” พอเขาไม่กลับ ช่วงนั้นแบ๋นโกรธพ่อ ความกดดันเทมาที่แม่เต็มๆ เราอยากให้แม่ได้รับความกดดันน้อยกว่านี้ ขอแค่พ่อกลับมาอยู่บ้าน แล้วตอนนั้นที่บ้านติดขัดเรื่องเงินด้วย มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย แบ๋นตัดสินใจไปขอทุนการศึกษาจากจุฬาฯ ไม่ห่วงหน้าตาอะไรทั้งนั้น

12 มีนาคม เขาโทรมาหาลูกๆ แล้วโทรหาแบ๋นด้วย เราเห็นแล้ว แต่ด้วยความโกรธเลยนั่งมองโทรศัพท์ สั่นก็สั่นไป แบ๋นไม่ใช่ลูกที่งอนพ่อแบบไม่มีเหตุผล เรารู้ความสัมพันธ์ในครอบครัว ตอนนั้นแม่กดดันจริงๆ แบ๋นยังรักพ่อมากที่สุดในชีวิต แต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่พ่อทำมันไม่แฟร์ แม่กดดันและดูแลลูกอยู่คนเดียว 

ตอนนั้นรู้ข่าวจากใคร

เพื่อนของพ่อมาที่บ้าน ลูกทุกคนอยู่ตรงนั้น เขามาบอกว่าวันนั้นพ่อมีนัดเดินทางไปที่ใต้ แต่ไม่ได้ไป แม่รู้ได้ทันทีว่าคือการอุ้ม เพราะปกติพ่อรับผิดชอบเรื่องงาน แล้วก่อนหน้านี้พ่อเคยโดนข่มขู่ด้วย เพื่อนๆ ของพ่อก็บอกแนวนี้เหมือนกัน ตอนรู้ว่าพ่อหายตัวไปแบ๋นรีบวิ่งไปที่โทรศัพท์แล้วฟังข้อความ พ่อบอกว่า “ทำไมไม่รับโทรศัพท์ล่ะแบ๋น กินข้าวหรือยัง คิดถึงนะ” ตอนนั้นมันถล่มทลายเลยนะ (เงียบ น้ำตาไหล) เราบอกว่าเขาคือคนที่รักมากที่สุดในโลกไม่ใช่เหรอ ตอนที่ไม่ได้รับโทรศัพท์เขาคงคิดถึงเรามาก ถ้าตายก็คงทรมาน คิดถึงลูก ไม่ได้บอกลาใคร แต่ถ้าตอนนั้นรับโทรศัพท์ แบ๋นคงพูดว่า ‘ทำไมไม่กลับบ้าน’ แล้วต้องทะเลาะแน่นอน แม่ไม่เคยร้องไห้ แต่ตอนนั้นเขาร้องแล้วพูดว่า “แม่ไม่น่าปล่อยให้พ่อออกจากบ้านเลย” เป็นความรู้สึกแบบเดียวกัน คือความรู้สึกผิด ของแบ๋นรู้สึกผิดที่วันนั้นเราชัดเจนเหลือเกิน ตกลงกันแล้วไง ต้องกลับบ้านสิ 

ตอนนั้นแม่อธิบายว่างานที่พ่อทำอยู่คืออะไร พร้อมกับบอกว่าเราต้องเคารพการตัดสินใจ ตอนนี้บอกไม่ได้ว่าชะตากรรมเป็นอย่างไร ขอแค่ได้เจอเขานะ จบ คำอธิบายของแม่ช่วยได้มาก เอาจริงๆ นะตั้งแต่คืนสองคืนแรกแบ๋นไม่คิดว่าเขาอยู่แล้ว เวลามีข่าวว่าเจอศพที่ไหนขอแค่เจอเศษซากอะไรก็ได้ ทุกวันนี้ก็ยังคิดแบบนั้นสภาพไหนก็ได้ รับได้ทุกอย่าง (น้ำตาไหล) แต่อีกใจก็หวังว่าพ่อยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะง่าย 

การได้เจอบางส่วนเสี้ยวของร่างกายมีความหมายอย่างไร

มันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราทุกคนมีคนที่รัก ต่อให้เขามีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนทั้งประเทศหรือทั้งโลกก็ตาม แต่เขายังมีคนในครอบครัว มีใครสักคนที่รักเขา และเป็นคนดีคนสำคัญของคนนั้น ดังนั้นเขาต้องไม่หายไปอย่างไร้ร่องรอย พูดในกรณีทั่วไปนะ ต่อให้ทำอะไรผิด เขาต้องมีสิทธิ์ได้พิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ แล้วในทุกวัฒนธรรม การบอกลาในพิธีศพสำคัญทั้งนั้น มันคือการจบความสัมพันธ์กัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อทำให้แบ๋นเข้าใจคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ชีวิตของคุณหลังจากนั้นเป็นอย่างไร

ช่วงนั้นแม่ต้องไปศาล แล้วได้เจอเอ็นจีโอทั้งไทยและต่างประเทศ คุยว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร จนกระทั่งเกิดเป็น ‘คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ’ เพื่อสานต่องานของทนายสมชาย แบ๋นเลยได้เข้ามาช่วยงาน เพราะอยากหารายได้ส่งตัวเองเรียนปริญญาเอกด้วย* ตอนนั้นรับงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันพัฒนาสังคมและสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรับงานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเป็นพาร์ตไทม์ ดูแลโปรเจกต์เรื่องคนหายตามคดีของพ่อและทำงานเรื่องคนหายในสามจังหวัดชายแดนใต้ หลังจากนั้นก็มีเรื่องร้องเรียนจากภาคอื่นๆ ของประเทศเข้ามา แบ๋นเลยได้เดินทางไปทุกๆ ที่เพื่อบันทึกข้อมูล 

การลงพื้นที่ทำให้รู้ว่า ทุกชนชั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกอุ้มหายได้ทั้งนั้น แล้วผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำมีทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เราเห็นโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้การอุ้มหายดำรงอยู่ และไม่ได้เกลียดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ปัญหาอยู่ในระดับโครงสร้าง ทนายสมชายไม่ใช่คดีแรก แต่เป็นคดีแรกที่เอาขึ้นมาวางบนโต๊ะ

คุณเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี 2549 ว่าไม่ได้แค้นใคร ซึ่งตอนนั้นห่างจากความสูญเสียเพียงไม่นาน ไม่มีความรู้สึกอยากแก้แค้นบ้างเหรอ

แบ๋นเป็นมุสลิมที่เชื่อว่าวันหนึ่งความยุติธรรมจะเกิดขึ้น ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกหน้า พระเจ้าจะเป็นคนให้ความยุติธรรมเอง ขณะเดียวกันแบ๋นเรียนรัฐศาสตร์มา สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน มองเห็นว่าปัญหามันลึกกว่านั้น สิ่งที่เหยื่อในสังคมไทยมักพูด แต่คนในสังคมไม่นำมา take it serious คือขอเป็นคนสุดท้ายได้ไหม การแก้แค้นใครสักคนไม่ทำให้การอุ้มหายคนนั้นเป็นคนสุดท้ายแต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างสังคมให้ตระหนักเรื่องความเท่าเทียมกัน และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

ตอนขึ้นศาลก็เจอผู้ต้องสงสัยและพอจะรู้ว่าเป็นใคร ปัจจุบันผู้ต้องสงสัยถูกยกฟ้องไปแล้ว หลายคนเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ลูกก็ต้องเปลี่ยน เขาไม่ได้มีชีวิตสบาย แต่แบ๋นยังนามสกุลนีละไพจิตร แบ๋นไม่ได้แค้นบุคคล แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้กรณีของพ่อเป็นคนสุดท้าย เพราะทุกครั้งที่มีข่าวการอุ้มหาย มันดึงกลับไปวันที่พ่อหายตัวไปเสมอ

กรณีทนายสมชายไม่ใช่คนแรกในไทยและในโลก การบังคับสูญหายมีมานานแล้ว จนเกิดมาตรฐานร่วมกันคืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งประเทศไทยสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ได้ลงนามในอนุสัญญาแล้ว เราได้ส่งคดีของคุณสมชายและอีกหลายคดีไปที่คณะทำงาน ถ้าในอนาคตมีหลักฐานอะไรเพิ่มเติม ความจริงปรากฏคดีจะเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง และจากการที่พวกเรารณรงค์มาโดยตลอด ตอนนี้ DSI ก็บอกว่าคดียังอยู่ในการดูแลของเขา คดีคนหายไม่เหมือนคนตาย ตามอนุสัญญาบอกว่าจะปิดคดีได้ก็ต่อเมื่อสามารถหาคนคนนั้นเจอ คดีจะเริ่มจริงๆ ตอนเจอศพหรือเศษซาก และจะปิดคดีต่อเมื่อหาผู้กระทำความผิดได้ มันไม่มีหมดอายุความ 

ถ้าพ่อยังอยู่ คุณว่าบรรยากาศในบ้านจะเป็นอย่างไร

ถ้าพ่อยังอยู่ แบ๋นอาจไม่ได้เป็นแบบวันนี้ ด้วยความที่พ่อไม่อยากให้ลูกสาวลำบาก แบ๋นอาจเป็นเด็กในครอบครัวชนชั้นกลางที่คิดว่าควบคุมชีวิตตัวเองได้ อาจมองคนยากจนแล้วให้ความช่วยเหลือแบบอุปถัมภ์ และอาจเป็นครูในโรงเรียนหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย เมื่อก่อนแบ๋นเคยอยากเป็นครูในชนบท เพราะดูสารคดีและอ่านหนังสือแล้วอยากไปยื่นความช่วยเหลือให้คนยากจน ถ้าพ่อยังอยู่ คงไม่มีทางไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนแบบทุกวันนี้ พ่อมีอุดมการณ์นะ แต่เขาไม่อยากให้ลูกต้องลำบาก ไม่จำเป็นต้องมาสืบทอดอุดมการณ์อะไร 

ถ้าพ่อยังอยู่ เขาจะรู้สึกอย่างไรกับการงานของคุณ

ก็คงธรรมดา (หัวเราะ) พ่ออยากให้ลูกเป็นคนธรรมดา ซึ่งมีองค์ประกอบคือ อยู่ในกรอบศาสนา ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ดูแลตัวเองได้ จบ เขาไม่อยากให้เรามีชีวิตลำบากด้วยซ้ำ เมื่อก่อนแบ๋นไม่คลุมผมนะ เพิ่งมาคลุมตอนเรียนจบปริญญาตรี หลังจากพ่อหายตัวไป แบ๋นมานึกดูว่าเขาอยากให้ทำอะไร อัตลักษณ์อย่างหนึ่งคือมุสลิม พ่อเคยพูดว่า “ตอนคลุมผมแบ๋นสวยนะ” เราเลยตัดสินใจคลุมผม

ความเป็นพ่อที่อยู่ในตัวคุณคืออะไร

สิ่งที่ประทับใจมากในตัวพ่อคือ เขาไม่แสดงว่าตัวเองเป็นคนดีทุกด้าน เราจะเก็บพลังงานแบบนั้นไว้ เราเป็นคนง่ายๆ ไม่ถือตัว เป็นธรรมชาติ ตรงไปตรงมา และมีอุดมการณ์ ศาสนาอิสลามไม่จำเป็นต้องเข้ากับทุกอย่างได้ แบ๋นชอบประชาธิปไตย ชอบสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับศาสนาอิสลามทั้งหมด แต่เราอยากมีอัตลักษณ์หลายอย่าง มีความเชื่อ มีอุดมการณ์ของตัวเอง 

พ่อเป็น Wisdom of my life เราอยากเจอพ่อในวันนี้ ถ้าเขายังอยู่ เราคงไม่มีความสัมพันธ์แบบราบรื่น เราจะเถียงกัน แบ๋นอยากเถียงเรื่องการเมืองกับพ่อ อยากทะเลาะกับเขา อยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะเป็นเหลืองหรือแดง (หัวเราะ) เราคิดถึงคนที่มาทะเลาะ พ่อเป็นคนให้กำลังใจแบ๋นได้ดีที่สุด เป็นเพื่อนคุยที่ดีที่สุด ไม่มีใครมาแทนเขาได้ พ่อคือปรีชาญาณ พอไม่มีแล้วข้างในมันแหว่งไป ซึ่งไม่มีใครมาทำให้เราเต็มได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย