คุยกับ ‘หม่อง ทองดี’ ในวันที่ถ้าการเมืองดี จะไม่มีคนไร้สัญชาติในประเทศ

Highlights

  • หม่อง ทองดี คืออดีตเด็กชายไร้สัญชาติที่เกือบไม่ได้ไปแข่งเครื่องบินกระดาษพับที่ญี่ปุ่น หลังรอมากว่าสิบปี ในที่สุดเมื่อสองปีก่อนเขาก็ได้ถือบัตรประชาชนใบแรกในชีวิต และถือสิทธิในฐานะพลเมืองไทยอย่างเต็มตัว
  • เดิมทีหม่องวางแผนชีวิตไว้ว่า หลังเรียนจบมัธยมปลายจะออกไปหางานทำทันที แต่เมื่อได้สัญชาติไทย อนาคตและความฝันของเขาจึง ‘เป็นไปได้’ กว่าที่เคย ตอนนี้เขามุ่งมั่นกับการเป็น ‘สื่อมวลชน’ โดยเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ปัจจุบันหม่องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อรับงานถ่ายภาพมุมสูงด้วยโดรนได้สะดวกกว่าเดิม ไม่ต้องทำเรื่องขอออกนอกพื้นที่ล่วงหน้า 3 วันเหมือนที่ผ่านมา เขาจึงไม่ต้องสละงานใดที่ถูกว่าจ้างอย่างกระชั้นชิดอีก
 

“ขอแลกบัตรประชาชนด้วยค่ะ” เจ้าหน้าที่สาวแผนกต้อนรับประจำออฟฟิศเอ่ยขอ ผมรู้ตัวตอนนั้นเองว่าวันนี้ลืมหยิบกระเป๋าเงินมาด้วย แต่ยังดีที่เธอยอมอนุโลมให้ พร้อมย้ำว่าวันต่อไปห้ามลืมอีก

หลังจากนั้นไม่นาน ผมขึ้นมารอที่ห้องสัมภาษณ์เพราะในวันนี้ผมนัดหมายชายหนุ่มคนหนึ่งไว้

และไม่ทันไร ‘หม่อง ทองดี’ ก็มาถึงตามเวลานัดหมาย

ผมจำเขาได้ในทันทีที่เจอกัน ใบหน้าเด็กหนุ่มตอนนี้ยังดูคล้ายกับสมัยเด็กที่ตัวเขาเป็นข่าวในแทบทุกสื่อเรื่องการไปแข่งเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น

ครั้งนั้นหม่องเกือบไม่ได้ไปเพราะเขาไม่ได้มีสัญชาติไทย

ก่อนนั่งพูดคุยกัน ผมขอบัตรประชาชนเขาเพื่อเอาไปให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องเบิกค่าเดินทางให้ 

หม่องหยิบบัตรประชาชนของเขายื่นให้ผม ผมยื่นมือรับพร้อมสำรวจดู บัตรของหม่องยังดูใหม่และสีสด 

ก็แน่ล่ะ บัตรของเขาเพิ่งทำมาได้ 2 ปี เพราะเขาเพิ่งได้สัญชาติไทยตอนอายุ 21 ทั้งที่ประเด็นเรื่องการไร้สัญชาติถูกพูดถึงตั้งแต่เขาอายุ 12 ปีแล้ว 

ซึ่งบัตรพลาสติกแข็งขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอยัดใส่กระเป๋าเสื้อได้นี่แหละ คือวาระที่ผมนัดเจอหม่องในวันนี้เพื่อไถ่ถามถึงชีวิตหลังได้สัญชาติมา

และต่อจากนี้ ผมขอสวมบทนายทะเบียนซักถาม ‘สูติบัตรชีวิต’ ของนายหม่อง ทองดี ที่หาอ่านไม่ได้จากเอกสารสำคัญทางราชการชิ้นไหนๆ ในบรรทัดถัดไป

เด็กชายผู้เสกกระดาษให้บินได้ 

ก่อนไปรู้จักกับหม่อง การทำความเข้าใจเรื่อง ‘ความไร้สัญชาติ’ น่าจะเป็นการปูพื้นฐานของการพูดคุยนี้ได้ดีที่สุด

ผู้ไร้สัญชาติในบริบทของไทย คือผู้ที่ไม่ได้ถือครองสัญชาติไทยที่มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น พ่อหรือแม่ไม่ใช่คนไทย ไม่ได้เกิดในประเทศไทย หรือตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร์ พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างพลเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุนการศึกษา การทำธุรกรรมทางการเงิน การทำสัญญาซื้อ-ขายทรัพย์สิน ที่ดิน บ้าน รถ หรือการเดินทางออกนอกประเทศ

และสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหล่านี้เองที่เด็กชายหม่อง ทองดี ไม่เคยมี

“หม่องเกิดที่ไหน ทำไมถึงไม่มีสัญชาติ” ผมเปิดบทสนทนากับเขา

“เพราะพ่อแม่ไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทย พวกเขาเป็นคนเมียนมาร์ ผมเป็นตามพ่อแม่ พ่อแม่ไม่มีสัญชาติผมก็ไม่มีสัญชาติ

“ว่ากันตามจริงพ่อแม่ของผมเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายผ่านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มาทำงานเป็นคนสวนในสวนส้มและสวนลิ้นจี่ ทำอยู่สองปีแม่ก็คลอดผม ผมเกิดในสวนลิ้นจี่เพราะแม่ไม่กล้าไปคลอดที่โรงพยาบาล เนื่องจากตอนนั้นไม่มีบัตรยืนยันตัวตนอะไรเลย กลัว ตม.มาจับ” 

ตามพระราชบัญญัติสัญชาติมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ที่ว่าบุคคลที่เกิดในประเทศไทยโดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวให้ได้รับสัญชาติไทยเป็นการทั่วไป แต่หลักเกณฑ์นี้ถูกคณะรัฐมนตรียกเลิกไปในปี 2555 และอนุมัติให้ใช้ได้อีกครั้งในปี 2560 ดังนั้นหากว่ากันตามนี้ ในวินาทีที่หม่องเกิดก็ถือว่าตัวเขามีสิทธิได้สัญชาติไทยโดยชอบธรรมก่อนแล้ว 

“ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย ยังไม่รู้ว่ามีการขอสัญชาติไทย หรือไม่รู้แม้กระทั่งสัญชาติไทยคืออะไร ผมเป็นเด็กผมก็เล่นไปตามประสาเด็ก” หม่องพูดพลางยิ้มไปด้วย

ไม่แปลกที่เด็กประถมต้นอย่างเขาในตอนนั้นจะไม่รู้ เพราะในตำราเรียนขั้นพื้นฐานไม่มีการสอนใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ 

ไม่มีการสอนว่าสัญชาติไทยคืออะไร ไม่มีการสอนว่าเอกสารสำคัญระบุตัวตนมีอะไรบ้าง และไม่มีการสอนแม้สักนิดว่าทำไมเราจำเป็นต้องมีสัญชาติ 

ด้วยต้นทุนจำกัด การได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2552 จึงเป็นครั้งแรกที่หม่องในวัย 12 ปีได้รู้จักและเข้าใจคำว่า ‘สัญชาติไทย’ เขาได้เห็นความสำคัญของมันอย่างลึกซึ้งกว่าใคร เพราะมีข้อกฎหมายระบุชัดเจนว่า 

คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หากเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด 

นั่นหมายความว่าหม่องเดินทางออกนอกประเทศไทยไปแข่งขันได้ แต่จะไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้ หากเข้ามาจะมีสถานะเป็น “บุคคลหลบหนีเข้าเมือง” ซึ่งผิดกฎหมายทันที

“เขาไม่ให้สัญชาติไทย แต่ตอนนั้นต้องไปแข่งในนามตัวแทนประเทศไทย คุณรู้สึกโกรธไหม” ผมถาม

หม่องหยุดคิดชั่วครู่ ก่อนเริ่มเล่าความรู้สึกของตัวเองอีกครั้ง

“ตอนนั้นรู้สึกเสียใจ แต่ผมไม่เคยรู้สึกโกรธเลยนะ ผมกลับรู้สึกว่าตัวเองยิ่งต้องพิสูจน์ศักยภาพให้ทุกคนเห็นว่าผมทำได้” 

และเขาทำได้อย่างที่ว่า เด็กชายหม่อง ทองดี ได้รางวัลชนะเลิศประเภททีมและอันดับ 3 ประเภทบุคคลชายอายุไม่เกิน 12 ปีกลับมา ตอกย้ำข้อพิสูจน์ว่าสัญชาติไม่ใช่ตัวกำหนดศักยภาพของคนแต่อย่างใด

หม่องกลายเป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว สื่อต่างๆ ให้ความสนใจไม่เว้นวัน รัฐบาลไทยในขณะนั้นบอกว่าจะมอบสัญชาติไทยให้เมื่อเขากลับมาถึงประเทศไทย แม้กระทั่งรัฐมนตรีบางคนยังให้คำมั่นว่าจะหยิบยื่นทุนการศึกษาให้จนถึงปริญญาเอก 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกสายตาที่เคยจับจ้องกลับเพิกเฉยและหันหลัง การได้รับสัญชาติไทยหรือทุนการศึกษาไม่เคยถูกพูดถึงอีก

ซ้ำร้ายกว่านั้น จากความชอบเล่นเครื่องบินพับกระดาษจนประสบความสำเร็จ หม่องต่อยอดความฝันไปอีกว่าอยากเป็น ‘นักบิน’ แต่ฝันนั้นกลับริบหรี่ลงเรื่อยๆ เพราะเมื่อหม่องค่อยๆ โตขึ้น การไร้สัญชาติของเขายิ่งสร้างข้อจำกัดในชีวิตหลายด้านขึ้น จนสุดท้ายหม่องตัดสินใจล้มเลิกความฝันนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

และนอกจากเป็นอุปสรรคต่อความฝันของเขาเเล้ว การไร้สัญชาติยังกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญที่กำหนดความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวเขาอีกด้วย 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา พ่อแม่ผมไม่เคยได้ทำงานตามที่พวกเขาอยากทำเลย จริงๆ แล้วพ่อแม่ผมอยากเป็นช่าง แต่ใบอนุญาตทำงานให้เป็นได้แค่กรรมกรเท่านั้น หรือจะค้าขายก็ไม่ได้ 

“เขาสงวนไว้ให้คนไทยทำได้อย่างเดียว”

เด็กหนุ่มผู้มีสิทธิกำหนดชีวิตตัวเอง

หลังจบชั้น ม.3 พร้อมกับจบความฝันในการเป็นนักบิน หม่องเลือกเบนเป้าไปที่การเป็นข้าราชการเพราะความมั่นคง แต่พอเริ่มศึกษาข้อมูล นี่เป็นอีกครั้งที่เขาต้องผิดหวัง

“ผมไม่ใช่คนไทย ผมสอบเป็นข้าราชการไม่ได้ ตอนนั้นผมเลยไม่รู้จะเรียนสายสามัญไปทำไม สุดท้ายผมจึงต้องเลือกเรียนสายอาชีพ แต่พอเรียนไปก็รู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเอง ผมจึงหยุดพักการเรียน 1 ปี และกลับมาเรียนสายสามัญใหม่อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นเองที่ผมหันมาศึกษาเรื่องการบังคับโดรนแทน อย่างน้อยอนาคตผมจะได้อุ่นใจว่ายังมีอาชีพที่ทำเงินได้ ถึงไม่ได้มั่นคงอะไรมากแต่ก็ดีกว่าเรียน ม.6 จบแล้วใช้ประโยชน์อะไรในชีวิตไม่ได้เลย”

“แล้วหลังจากจบ ม.ปลาย คุณตัดสินใจยังไงต่อ” ผมถามเพื่อให้เขาอธิบาย

“เดิมทีผมตั้งใจออกไปหางานทำทันที ไม่ว่าเป็นงานอะไรก็จะทำโดยไม่เกี่ยง” 

แต่หม่องต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เมื่อเขาได้รับการรับรองสัญชาติไทยในปี 2561 เพราะคุณสมบัติตรงตามพระราชบัญญัติสัญชาติมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ประกอบกับการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย โดยกระบวนการครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมดเพียงแค่ 2 เดือนเศษ การขอสัญชาติครั้งนี้เป็นการเป็นดำเนินเรื่องด้วยตนเองและอาศัยความช่วยเหลือจากบางกอกคลินิก รศ. ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์วีนัส หรือนายวีนัส สีสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ซึ่งหม่องนับถือเป็นอาจารย์ผู้มีส่วนสำคัญในการติดตามช่วยเหลือเรื่องเอกสารให้กับหม่อง 

แม้จะบอกหม่องว่าการถ่ายรูปครั้งนี้เขาใส่ชุดอะไรก็ได้ แต่เด็กหนุ่มตรงหน้าอยู่ในชุดนักศึกษาแบบกึ่งทางการ เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว กางเกงสแล็กสีดำ และรองเท้าผ้าใบ เพราะเขาเพิ่งสอบปลายภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารก่อนมาพบผมนี่เอง

“ตอนนี้ผมเรียนอยู่ปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต” หม่องพูดด้วยรอยยิ้มภูมิใจ

หม่องบอกว่านี่คือคณะในฝันของเขา หลังจากได้ใกล้ชิดพี่ๆ ผู้สื่อข่าวเวลาถูกสัมภาษณ์และออกรายการทีวีในสมัยเด็ก เขาจึงสะสมความชอบในสายงานนี้มาโดยไม่รู้ตัว จนวันนี้การเป็น ‘สื่อมวลชน’ กลายเป็นความฝันใหม่และความหลงใหลของเขา 

นอกจากการได้สัญชาติไทยจะทำให้ความฝันในการทำงานสื่อเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเเล้ว มันยังมอบความสะดวกในการเดินทางยามทำอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้เขาระหว่างเรียนได้อีกด้วย

“ทุกวันนี้ผมเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยมาก ถ้าเป็นแต่ก่อนผมคงต้องเดินเรื่องขอออกนอกพื้นที่กับทางอำเภอล่วงหน้า 3 วัน แต่เดี๋ยวนี้ผมรับงานแล้วเดินทางได้เลย” หม่องเล่าให้ฟังถึงข้อดีข้อสำคัญ 

และที่น่าดีใจคืองานที่เขาพูดถึงก็คืองานถ่ายภาพมุมสูงด้วยโดรนบินตัวโปรดที่ได้เรียนรู้ฝึกหัดตอน ม.ปลายนั่นเอง

ดูเหมือนชีวิตเขาไม่เคยห่างจากเครื่องบินเลย

ถ้าการเมืองดี เราคงกล้าฝันกันมากกว่านี้

ขณะที่ความฝันของตัวเองเข้าใกล้ความจริง หม่องก็ไม่ได้หลงลืมน้องๆ ที่ยังคงไร้สัญชาติเหมือนที่เขาเคยเป็น

ทุกวันนี้กิจกรรมหนึ่งที่หม่องทำเป็นประจำคือการเดินทางไปสอนเครื่องบินกระดาษพับให้กับเด็กๆ ตามโรงเรียนชายแดน และให้คำแนะนำกับเด็กๆ ที่อยากมีบัตรประชาชน ระหว่างนั้นเขาและบางกอกคลินิก ซึ่งสนับสนุนโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ใช้โอกาสนี้สำรวจและรวบรวมรายชื่อเด็กๆ ที่ตกหล่นจากระบบ และรายงานต่อไปยังเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปช่วยเหลือเรื่องสิทธิและสถานะต่อไป 

“เมื่อก่อนโรงเรียนบ้านห้วยทราย (โรงเรียนเก่าของหม่อง) มีเด็กไร้สัญชาติเยอะมาก ไม่มีใครสนใจเลย จนผมต้องไปแจ้งอำเภอให้เข้ามาตรวจสอบ”

“คนที่มาปรึกษากับคุณได้สัญชาติกันบ้างหรือยัง” ผมถาม

“มีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ บางคนผ่านมา 5-6 ปีแล้วก็ยังไม่ได้ ทุกวันนี้ยังทำเรื่องกันอยู่” หม่องตอบ

“อยากถามเรื่องการทำงานของรัฐด้วย หม่องพอพูดได้ใช่ไหม”

“พูดเรื่องนี้มากไม่ได้นะ เพราะสัญชาติไทยที่เขาให้มาเขาก็เอาคืนได้เหมือนกัน”

ความกังวลฉายชัดบนใบหน้าของเขา เพื่อความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย ผมรีบต่อบทสนทนาเท่าที่เด็กหนุ่มยินดีจะเล่าได้

“ถ้าอย่างนั้นคุณคิดว่าถ้าระบบการจัดการของหน่วยงานต่างๆ ดีกว่านี้ ผู้ไร้สัญชาติจะเข้าถึงโอกาสในการขอสัญชาติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ไหม” 

“ผมคิดว่าถ้าหน่วยงานราชการดี หรือถ้าหน่วยงานรัฐสนใจหรืออยากเข้าไปดูแลในจุดนี้จริงๆ จำนวนผู้ไร้รัฐไร้สัญชาติจะไม่เพิ่มขึ้น เด็กคนหนึ่งก็จะได้รับโอกาสที่เขาควรได้รับ 

“ถ้าเด็กไร้สัญชาติมีสิทธิมากกว่านี้ เขาก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่เขาอยากทำ ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีเด็กไร้สัญชาติสักคนอยากเป็นหมอ เขาก็จะมีโอกาสโตขึ้นเป็นหมอที่ดีได้ เพื่อมารักษาคนไข้ในประเทศไทยด้วย”

สายตาเขาดูจริงจังกว่าทุกคำตอบที่ผ่านมา และถ้าย้อนคิดจริงๆ ผมก็พอเข้าใจ เพราะเป็นหม่องเองนั่นแหละที่เจอกับสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิต

 

ผมถามคำถามสุดท้ายก่อนเขาจะขอตัวไปทำงานถ่ายภาพมุมสูงที่อื่นต่อ 

“ถ้าหม่องไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยตอนนั้น ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีอาจารย์และมูลนิธิต่างๆ ยื่นมือมาช่วย คิดว่าตัวเองจะได้สัญชาติไทยอย่างทุกวันนี้ไหม”

สีหน้าที่ดูมุ่งมั่นของเขาจากคำถามก่อนหน้า ตอนนี้ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความอมทุกข์ เหมือนว่าเขาลำบากใจที่จะตอบมัน

“พูดตามตรง ถ้าผมไม่ชนะการแข่งขันเครื่องบินกระดาษในวันนั้น ผมไม่รู้เลยว่าตอนนี้จะยังเรียนหนังสืออยู่ไหม ผมอาจต้องออกไปทำงานเต็มตัวหรือกลายเป็นเด็กเกเรคนหนึ่งไปเลยก็ได้ โอกาสที่จะได้มีสัญชาติไทยอย่างทุกวันนี้คงมีเเค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นล่ะมั้งครับ” 

ประโยคคำตอบสุดท้ายจบลง ก่อนจากกันผมยื่นบัตรประชาชนของหม่องที่ยืมไปในตอนต้นคืนให้ 

ตอนนั้นเองที่ผมคิดและคาดหวังเหลือเกินว่าจะไม่มีใครใจร้ายพรากมันไปจากเขาอีก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone