Ting Chu สตูดิโอเซรามิกของ ‘ถิง ชู’ ศิลปินที่อยากให้ทุกคนที่มาเป็นตัวเองเต็มที่ในบ้านของเธอ

อาจเพราะเรานัดกันช่วงบ่ายกลางสัปดาห์ บรรยากาศโดยรอบบ้านของ ถิง ชู จึงเงียบสงบเป็นพิเศษ 

ศิลปินที่รับบทครูสอนศิลปะอย่างเธอง่วนเก็บอุปกรณ์ปั้นจากคลาสเรียนก่อนหน้าให้โต๊ะที่ชานหลังบ้านกลับมาสะอาดเรียบร้อยอีกครั้ง ปล่อยให้เราเดินชมบ้านตามสบาย โดยมีสุนัขแสนซนของเธอทั้งสองตัวคอยนำทาง 

ในบ้านไม้หลังนี้ นอกจากห้องที่ถูกจัดแบ่งเป็นพื้นที่ทำงานศิลปะ ส่วนจัดแสดงผลงาน และชิ้นงานปั้นที่ตั้งโชว์เป็นแนวยาวบอกให้รู้ว่าเจ้าของบ้านทำอาชีพและมีความชอบความสนใจในอะไร ก็แทบจะไร้ของตกแต่งอื่นๆ

ting chu

เธอคือศิลปินที่แม้จะไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรงแต่ก็ฝึกฝนทำงานศิลปะต่างๆ ด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ก่อนความพยายามที่ว่าจะเริ่มออกผล ได้เริ่มต้นเส้นทางศิลปะอย่างจริงจังด้วยการเป็นนักวาดภาพประกอบให้กับหนังสือของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และค่อยๆ เก็บประสบการณ์จนไปเรียนรู้เทคนิคการปั้นจากเพื่อนอย่าง เจิน–กฤชนันท์ ศรีระกิจ ด้วยการดูแลสตูดิโอเซรามิก Slow Hands ด้วยกัน

หลังอยู่เชียงใหม่จนเคยชิน การเดินทางครั้งใหม่ของเธอเริ่มต้นอีกครั้งด้วยการเปิดสตูดิโอปั้นเซรามิกใจกลางชุมชนย่านบางขุนนนท์ ที่เธอให้เหตุผลการย้ายที่อยู่ครั้งนี้เอาไว้ว่า ‘ถึงเวลาเป็นผู้ใหญ่’

และเรากำลังอยู่ในบ้านและสตูดิโอของศิลปินที่บอกเราว่าทั้งชีวิตนี้ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับที่ไหนเลย

ting chu

1.

ถิง ชู เป็นคนไต้หวัน

พ่อและแม่ของเธอย้ายมาทำงานที่ประเทศไทยตั้งแต่ตอนเธอยังเด็ก เรื่องราวเท่าที่จำความได้ทั้งหมดจึงเริ่มต้นที่ประเทศไทย 

หนึ่งในความทรงจำเหล่านั้น เธอจำได้ดีมาตลอดว่าศิลปะคือความชอบที่แยกออกจากกันไม่ขาด ในช่วงวัยที่อยากหากิจกรรมทำร่วมกับพี่สาว การวาดภาพคือกิจกรรมไม่กี่อย่างที่พี่สาวซึ่งโตกว่าจะลงมาร่วมเล่นด้วย หรือในคราวที่ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยครั้งจนทำให้รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสภาพแวดล้อมและเพื่อนฝูง เธอก็ผ่านพ้นมาได้โดยใช้การวาดรูปเป็นเครื่องมือหลบหนีจากความเปลี่ยวเหงา 

แม้เครื่องมือที่ว่านี้จะถูกคนเป็นพ่อแม่กีดกันแค่ไหนก็ตาม แต่เธอก็ยังลักลอบคบค้ากับความชอบที่ชื่อศิลปะอยู่เสมอ

“พ่อแม่เห็นศิลปะและการวาดรูปเป็นกิจกรรมที่ไร้สาระ เขาไม่ได้คิดอย่างคนยุคนี้ที่คิดว่ามันเป็นอาชีพได้ ไม่ได้มองในเชิงจิตวิทยาว่ามันจะส่งเสริมด้านต่างๆ เขาไม่มีกระบวนทัศน์นั้น ไม่ให้คุณค่า หลายครั้งเขาเอารูปวาดของเราไปเผาด้วยซ้ำ” ถิงอธิบายความคิดของพ่อแม่ในตอนนั้น

แม้วิธีปฏิบัติอาจฟังดูรุนแรงแต่เธอไม่ได้เก็บมาท้อหรือน้อยใจนัก ตรงกันข้าม เธอกลับยิ่งอยากเอาชนะ อยากวาดภาพให้เยอะขึ้นไปอีก

“เรารับรู้ว่าเขาคงไม่ส่งเสริม ยิ่งเขาห้ามเรายิ่งทำ ยิ่งเราทำเราก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองฝีมือดีขึ้นเรื่อยๆ การที่เขาห้ามเรามาตลอดและยิ่งห้ามหนักขึ้นในช่วงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยมันเลยยิ่งตอกย้ำให้เรารู้ตัวเองชัดเจนว่าเราชอบศิลปะ เราจะไปทางนี้”

ting chu
ting chu

2.

แม้สุดท้ายจะไม่ได้เรียนในคณะเกี่ยวกับศิลปะอย่างที่ตั้งใจ แต่เธอก็พาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางศิลปะหลากหลายอย่าง พยายามฝึกฝีมือวาดภาพอยู่ไม่ขาด จนในที่สุดก็ได้แสดงฝีมือในหนังสือของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ และวาดภาพประกอบให้หนังสืออื่นๆ อยู่หลายเล่ม และได้ทำงานกับอาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ ในโปรเจกต์ 31st Century Museum of Contemporary Spirit

นอกจากนี้เธอยังได้เป็นหนึ่งในอาจารย์สอนปั้นร่วมกับเจินที่สตูดิโอ Slow Hands หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นศิลปินเซรามิกอย่างในทุกวันนี้ ก่อนจะพาตัวเองมาตั้งรกรากและเริ่มต้นชีวิตการเป็นศิลปินที่จริงจังขึ้นที่ย่านบางขุนนนท์อย่างปัจจุบัน

ting chu

ถิงบอกว่าสาเหตุที่เธอต้องย้ายออกจากเชียงใหม่มาไกลถึงที่นี่เพราะคิดว่าถึงเวลาที่ต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองได้แล้ว 

ting chu

“มันเกิดจากคำว่า ‘วินัย’ คำเดียวเลย เราคิดว่าถ้าจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพจริงๆ เราต้องฝึกตัวเองให้จริงจังขึ้นกว่านี้

“ต้องเลิกหลอกตัวเองว่าตอนนี้เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีแล้ว แต่พอลงมือทำจริงๆ กลับยังทำไม่ได้ อ่อนด๋อย แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สร้างพื้นที่ให้ตัวเองได้ฝึกฝนในทุกๆ วัน ทำข้อตกลงกับตัวเองว่าจะเหนื่อยจะอึดอัดแค่ไหนก็ต้องฝึกฝน เพราะถ้าไม่มีวินัยก็ไม่รู้จะหารายได้จากไหนมาจุนเจือตัวเอง” 

นั่นเองเป็นเหตุผลที่เมื่อเพื่อนศิลปินอย่าง ตั้ม–วิจักขณ์ พานิช แนะนำให้รู้จักกับบ้านหลังนี้ เธอจึงตัดสินใจทิ้งชีวิตที่เชียงใหม่มาเผชิญหน้ากับความอึดอัดและความลำบากในการฝึกตัวเอง

ting chu

ที่ผ่านมาถิงฝึกฝนศิลปะด้วยการลงมือทำ เธอเชื่อในการฝึกทำบ่อยๆ จนกระทั่งกล้ามเนื้อของร่างกายจำได้ เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่เก่งเรื่องอนาโตมีก็หาหนังสืออนาโตมีมาลอกตาม เมื่อเห็นว่าเรื่องการใช้สีน่าสนใจก็หัดเรียนรู้ดูบ้าง เช่นเดียวกับการปั้น กว่าเธอจะได้เริ่มเรียนรู้ทักษะการปั้นอื่นๆ เธอก็ช่วยเจินปั้นช้อนมาเกือบปีจนร่างกายจับจังหวะได้ 

“เรามีประสบการณ์ตรงที่ว่าถ้าไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องมากพอ ร่างกายเราจะจำวิธีไม่ได้ พอจำไม่ได้ก็ทำงานออกมาไม่ได้สักที เราเลยรู้ว่าถ้าเราฝึกฝนไปอย่างหลวมๆ เราจะเสียเวลา เราเลยต้องยอมจ่ายอะไรบางอย่างไปกับมัน อาจต้องผ่านความอึดอัดสักหน่อย แต่เมื่อผ่านกระบวนการฝึกฝนจนทำได้ มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราเองในสักวัน

ถิงชู
ting chu สตู

“อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าก่อนหน้านี้เรามัวแต่เล่นสนุกทุกวัน ทำตัวเป็นเด็กมหาวิทยาลัยตลอดเวลา จนตอนนี้มันพ้นช่วงวัยที่เราจะเล่นสนุกแล้ว เราถึงวัยที่เพื่อนๆ ครองเรือน วัยที่ควรต้องลงหลักปักฐาน หรือวัยที่ควรต้องทำอะไรบางอย่างคืนสู่สังคมสักที

“เลยคิดว่าถ้าอยากสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนรู้สึกเป็นมิตรกับศิลปะ อยากกระจายความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะให้กว้างขวางขึ้น งั้นเราก็ทำเลยสิ เปิดสตูดิโอ จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคน ได้มีพื้นที่ย่อยความรู้หรือกระบวนการในศาสตร์ที่เราสนใจ ถ่ายทอดออกไปให้ทุกคนเข้าใจได้”

ting chu

3.

นอกจากจะใช้พื้นที่บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ ที่ทำงาน ถิงยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเปิดเป็นสตูดิโอสอนปั้นและที่จัดแสดงงานศิลปะอย่างที่เห็น

เป็นสตูดิโอสอนปั้นที่ไม่เน้นทฤษฎี หากแต่เปิดเป็นพื้นที่ที่คนจะได้เข้ามาพักใจ

“สำหรับเรางานปั้นต่างจากการวาดภาพตรงที่มันทำงานกับร่างกายเยอะ เราไม่ใช่คนที่มีทักษะสูงมากในเรื่องของการปั้นเพราะเพิ่งเริ่มได้ไม่นานเมื่อเทียบกับหลายๆ คน เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงานปั้น เราจะมีท่าทีที่อ่อนน้อมกับตัวเองกว่าการทำงานศิลปะอื่นๆ ที่เราฝึกฝนจนชำนาญ มันเลยทำงานกับระดับภายในได้มากกว่า เพราะเราไม่มีกรอบหรืออีโก้มาบีบตัวเอง” 

ting chu ถิง ชู
ting chu

เธอบอกว่างานปั้นมีเมจิกบางอย่าง ตลอดเวลาที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของดิน เมื่อดินค่อยๆ แห้ง แตกรอยร้าว เธออาศัยรอยกดรอยนวดเพื่อสมานให้เป็นทรง กระบวนการเหล่านี้ก่อให้คนทำเกิดบทสนทนากับตัวเองภายใน อีกทั้งผลลัพธ์ของงานปั้นก็ออกมาเป็นรูปธรรมมากกว่า ต่างจากงานวาดที่นักวาดมือใหม่ส่วนใหญ่มักตีกรอบตัวเองเอาไว้ด้วยคำว่าไม่เก่งศิลปะ วาดไม่เป็น หรือวาดไม่สวย

“คำพูดนี้มักมาด้วยกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วการวาดรูปไม่ได้ทรงหรือไม่ได้ฟอร์มนั้นเป็นเพราะกล้ามเนื้อเรายังไม่ถูกฝึก มันเลยทำให้คนเสียเซลฟ์ได้ง่าย แถมยังอายไม่กล้าโชว์งาน แต่กับงานปั้น แม้ว่ากล้ามเนื้อจะยังไม่ได้ถูกฝึก แต่ยังไงเมื่อทำเสร็จคุณก็จะได้แก้วใบหนึ่งกลับบ้านไป พอเขาทำได้เราก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจและความชอบธรรมให้เขาว่ามันสวย มันดี เขาก็จะยิ่งมีความภูมิใจ มันไม่ต้องใช้เวลาเยอะในการพิสูจน์ฝีมือ เขาเห็นด้วยตาตัวเองว่าเขาได้แก้วที่สามารถเอาไปใช้เอาไปดื่มได้จริงๆ 

“งานปั้นจึงเป็นมิตรมากกว่า กับคนที่เชื่อไปแล้วว่าตัวเองไม่มีความสามารถด้านศิลปะเลย”

ting chu ถิง ชู

4.

การสอนของถิงไม่ได้เน้นว่าคนที่มาเรียนจะต้องตั้งหน้าตั้งตาปั้นให้ครบชั่วโมงเพื่อที่จบแล้วจะได้รับทักษะการปั้นกลับไปอย่างครบถ้วน หากแต่เธออยากให้สตูดิโอแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่คนจะได้มีเวลาและตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง

“เราอยากให้บ้านเราเป็นที่ที่เขามาแล้วสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ วันนี้มีความรู้สึกยังไงก็ยอมรับมัน เพราะเรารู้สึกว่าสังคมปัจจุบันมนุษย์มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับตัวเองและยอมรับความรู้สึกของตัวเองน้อยลงทุกวัน มันแทบไม่มีพื้นที่นั้นให้แต่ละคนเลย สมมติวันนี้นั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ ไม่ทำงานก็จะเริ่มรู้สึกแล้วว่าไม่โปรดักทีฟแล้วพานไปต่อว่าตัวเองอีก

“เราเลยอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่ทุกคนยอมรับตัวเอง อย่างน้อยตอนปั้นดินเขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงาน ต้องโปรดักทีฟ มาแล้วจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้ ไม่เป็นไร หรือถ้าทำแล้วไม่สวยก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องทำให้สวยก็ได้ แค่ได้อยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องขอความชอบธรรมจากใคร ไม่ต้องรู้สึกว่าวันนี้ฉันเศร้าแต่ต้องปิดบังไว้แล้วบอกตัวเองว่าต้องทำงานก่อน ห้ามเศร้า ให้งานเสร็จก่อน”

ting chu

ความตั้งใจนี้สะท้อนออกมาผ่านทั้งวิธีการสอนไปจนถึงการออกแบบพื้นที่บ้านของเธอ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สบายและเรียบง่ายที่สุด ดังนั้นไม่ว่าใครที่ก้าวเข้ามาในอาณาบริเวณของบ้านหลังนี้ก็จะไม่รู้สึกถูกกดดันหรือถูกตัดสินจากใคร ซึ่งเธอเล่าว่าความตั้งใจนี้อาจมาจากพื้นเพของตัวเอง

“เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งกับทั้งความเป็นไทย ความเป็นจีน หรือความเป็นอะไรสักอย่างเลย มันมีแหละคนที่สบายๆ อยู่ได้ ไปได้ทุกที่ ประหนึ่งที่เหล่านั้นเป็นบ้านของเขาเอง แต่มันก็มีคนอย่างเราอยู่ คนที่รู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งกับที่ไหนเลย บางสถานที่เข้าไปแล้วเหมือนต้องหดตัวตลอดเวลา หรือสัมผัสได้ถึงความกระจ้อยร่อยของตัวเอง เราจึงอยากสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตร พื้นที่ที่เรายังสามารถเป็นตัวเองเมื่ออยู่กับนักเรียนหรือคนที่แวะมาชมงานได้ และพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรมากไปกว่าเป็นตัวของตัวเอง”

ting chu จาน

ส่วนหนึ่งที่เธอออกแบบพื้นที่มาแบบนี้ก็เพื่อตัวเอง 

เธอบอกว่าเมื่อเห็นนักเรียนนั่งทำงาน มันทำให้เธอรู้สึกกระตือรือร้นอยากจะทำงานบ้าง อยากมีส่วนร่วมกับความรู้สึกสบายใจที่ได้ปั้นได้นวดดินเหมือนกันกับนักเรียน ที่ตรงนี้ยิ่งช่วยเสริมให้เธอเกิดแรงบันดาลใจ มีเรี่ยวแรงที่จะสร้างงานหรือทำนู่นทำนี่ต่อไปได้

ถิงชู Ting Chu Studio

5.

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยความที่เธออาศัยอยู่ที่เชียงใหม่มาเป็นหลัก 20 ปีตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย เธอจึงยอมรับว่าการย้ายถิ่นฐานมากรุงเทพฯ ในช่วงกลางปีที่แล้ว นอกจากความตื่นเต้นที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ ก็ยังมีความกังวลเข้ามาผสมอยู่สูง

“เราไม่เคยอยู่กรุงเทพฯ มาก่อน ไม่รู้ว่ากลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายที่นี่เขาเป็นยังไง ความต้องการเป็นแบบไหน แล้วดันย้ายมาช่วงโควิด-19 อีก เหมือนมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง” ถิงหัวเราะแล้วเล่าต่อว่าตอนนั้นคิดแค่ว่าขอลองไปตายเอาดาบหน้า ถ้าไม่เวิร์กจริงๆ ก็ค่อยถอยกลับไปอยู่เชียงใหม่เหมือนเดิม

“อย่างน้อยเราก็ได้ลอง ได้บอกกับตัวเองว่าครั้งหนึ่งเราเคยลองแล้ว”

“ดีที่พอย้ายมาแล้วทั้งเพื่อนและชุมชนรอบข้างช่วยเหลือเราไว้เยอะมาก เราตกหลุมรักสองข้างทางที่เราเดินมาก่อนถึงบ้าน รู้สึกว่าชุมชนตรงนี้น่าอยู่ ตลอดทางมีร้านอาหาร ร้านตัดผม ไปรษณีย์ สวนสาธารณะ เราไม่มีทางอยู่ที่นี่ได้หากไร้ชุมชนโดยรอบรองรับ ทั้งชุมชนที่อยู่อาศัย สังคมรอบตัว และคนที่มาเรียน ซึ่งเขาพร้อมแชร์พร้อมพูดว่าเขาต้องการอะไร ทุกคนมีส่วนสำคัญ”

เธอย้อนเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนที่เธอจะเริ่มทำสตูดิโอกับเจิน เธอเคยคิดว่าสตูดิโอศิลปะแห่งหนึ่งจะสามารถอยู่รอดได้ด้วยชื่อเสียงและความโด่งดัง เหมือนกับที่คนจะแห่ไปกินร้านอาหารดังๆ โดยไม่ได้มีระยะทางมาเป็นตัวตัดสิน แต่พอได้มีส่วนร่วมดูแล Slow Hands เธอจึงคิดได้ว่าชุมชนโดยรอบสำคัญกับการมีอยู่ของสตูดิโอมาก

“ถ้าตอนนั้นไม่มีร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยที่ชื่อเส้น sitive คนที่มาเรียนในสตูดิโอก็คงจะหาข้าวกินยาก หรือถ้าไม่มีพี่ที่ร้านคอยบอกลูกค้าของเขาว่ามีสตูดิโอเราอยู่นะ เราก็คงอยู่ยาก การที่พวกเราช่วยสนับสนุนกันและกันจนบ้านข้างวัดค่อยๆ บูม นิเวศมันเลยค่อยๆ เติบโต เหมือนสวนผักเล็กๆ ที่มีต้นไม้ใบหญ้าช่วยกันโอบอุ้มให้กลายเป็นพื้นที่ที่มันอยู่ได้

“สิ่งนี้ทำให้เราเห็นชัดมากว่าทุกอย่างสัมพันธ์กัน ถ้าเราจะไปได้ดีเราก็ต้องอาศัยผู้อื่น และถ้าหากเขาจะไปได้ดีเขาก็ต้องอาศัยเราด้วย เราเลยต้องทำหน้าที่ของเราให้ดี ทำให้พื้นที่น่าอยู่ ดูแลหน้าบ้านของเราให้ดูดีเหมือนเป็นการเรียกแขก เพราะถ้าไม่มีกระบวนการนี้ก็ไม่มีใครรอด”

ถิง ชู ting chu studio
ถิง ชู

“ความรู้สึกแปลกแยกจากที่ต่างๆ มันยังคงอยู่นั่นแหละ เมื่อก่อนมันเคยเป็นปัญหาสำหรับเรา แต่เดี๋ยวนี้เราไม่มองมันเป็นปัญหาแล้ว ไม่ belong ก็ไม่ belong เรารู้แค่ว่าถ้าเราอยู่ที่นี่เราจะทำอะไรให้กับชุมชน คนอื่น หรือแม้แต่ตัวเองได้บ้าง แม้แค่นิดๆ หน่อยๆ ก็นับ”

เธอจึงหวังว่าบ้านใหม่ที่ย้ายมาอยู่จะสามารถเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความสบายใจกับทั้งตัวเองและคนที่มาเยือนได้ สร้างพื้นที่ที่คนในชุมชนจะสามารถเข้าถึงศิลปะและร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้โดยไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา และหากเป็นไปได้ เธอหวังว่าสตูดิโอแห่งนี้จะสามารถสร้างความชอบธรรมให้คนที่มารู้สึกมั่นใจที่จะเป็นตัวเองได้จริง

AUTHOR