jibberish แบรนด์ผ้าย้อมครามเชียงใหม่ที่ยืมเคล็ดลับจากคนญี่ปุ่น อินเดีย และผู้คนระหว่างทาง

Jibberish

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เรามีโอกาสได้เจอกับ นัด–ณัฐพร วรรณปโก มือและเล็บของเธอมักจะเปื้อนด้วยสีน้ำเงินเข้มจนเกือบดำเสมอ ราวกับเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นโปรดที่ต้องสวมทุกวัน

นัดเป็นเจ้าของ jibberish (จิ๊บเบอหริด) แบรนด์ผ้าย้อมสีธรรมชาติโดยเฉพาะผ้าสีครามแห่งจังหวัดเชียงใหม่ เธอเคยเล่าให้เราฟังถึงที่มาของมือเปื้อนสีน้ำเงินว่าตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น มือที่เปื้อนสีน้ำเงินคืออาภรณ์ของผู้ทำงานย้อมคราม ยิ่งสีที่ติดมือมีความเข้มและชัดเท่าไหร่ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นมีทักษะในการทำผ้าย้อมครามมากเท่านั้น

jibberish

เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา jibberish ผลิตสินค้าจากผ้าย้อมครามน่าสนใจออกมาไม่น้อย ทั้งกระเป๋าผ้าและเสื้อผ้าใส่สบายที่คนรักผ้าย้อมธรรมชาติต้องหลงรัก นัดเคยนำผ้าย้อมครามมาทำเป็นชิ้นงานศิลปะจัดแสดงที่หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) และจัดนิทรรศการเดี่ยวที่เชียงใหม่ นอกจากนั้นเธอยังมีโอกาสร่วมงานแฟร์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก 

สีน้ำเงินที่มือชัดเจนขึ้นตามวันที่ผ่าน แต่นัดยังคงออกตัวว่าเธอยังไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมครามเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ และทุกวันนี้ก็ยังคงออกเดินทางหาความรู้เกี่ยวกับการทำผ้าย้อมครามอยู่

เช่นเดียวกับเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ก็เป็นการเดินทางนี่แหละที่ทำให้เธอได้มาเจอกับการย้อมครามธรรมชาติ เส้นทางหลักของชีวิตนับแต่นั้น

 

เดินทางสู่ธรรมชาติ

ในวันที่แดดดีเหมาะกับการตากผ้า นัดเปิดประตูสตูดิโอต้อนรับเรา และเปิดประตูความทรงจำเพื่อย้อนเวลาสู่จุดเริ่มต้นของแบรนด์

ความฝันของนัดในเวลานั้นน่าจะเหมือนกับใครอีกหลายคน เธอรู้ตัวว่าไม่อยากทำงานประจำ ต้องคอยตอกบัตรเข้างานเวลาเดิมทุกสัปดาห์ แต่จะทำอะไรล่ะ คำตอบเกิดขึ้นเมื่อนัดมีโอกาสได้เข้าโครงการ WWOOF โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ให้เราได้พักในบ้านของโฮสต์แบบฟรีๆ แลกกับการทำงานให้

ครั้งนั้นเธอเลือกไปประเทศญี่ปุ่น

“บ้านที่เราไปอยู่ด้วยเป็นบ้านของสองสามีภรรยา สามีเป็นช่างปั้นเซรามิก ส่วนภรรยาทำแยมขาย เรารู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาสมดุลมากเลย อยากทำอะไรก็ได้ทำ เป็นเจ้าของชีวิตของเขาเอง นึกจะไปเที่ยวก็ไปได้เลย เราค้นพบว่านี่เป็นโมเดลการใช้ชีวิตที่ดีและเหมาะกับเรานั่นคือการทำธุรกิจเล็กๆ ที่พอจะเลี้ยงชีพได้และมีอิสระพอ พอกลับมาเราก็เลยเริ่มเห็นแนวทางต่อไปของชีวิต”

jibberish

เมื่อกลับมาไทย นัดเริ่มค้นหาถึงต้นทุนที่มีว่าอะไรจะทำให้เธอประกอบธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองได้

“เรากลับมาคิดว่าเราสามารถตั้งต้นงานอะไรด้วยตัวเองได้บ้าง จริงๆ เราชอบเครื่องเขียนมากแต่เราไม่สามารถผลิตเครื่องเขียนที่ทำมือเองได้ และไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยการขายเครื่องเขียนในราคาที่ไม่แพงมาก อีกอย่างที่เราชอบคือการห่อของ เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ได้ห่อของให้ลูกค้า เลยคิดต่อถึงต้นทุนที่มี เรามองย้อนกลับไปที่แม่ แม่เราเป็นช่างเย็บผ้า ถึงอย่างนั้นถ้าจะทำผ้าที่เป็นของตัวเองเราก็ต้องไปหาฝ้าย หาคนทอ หาคนปั่นด้าย ซึ่งครอบครัวเราไม่ได้มีพื้นฐานตรงนี้ มันจึงยากมากและต้องใช้ต้นทุนมหาศาลด้วย”

ก่อนจะถอดใจ อยู่ๆ นัดก็ได้ไอเดีย

“เราคิดว่าถ้าทำผ้าไม่ได้แล้วถ้าเป็นสีผ้าล่ะ เราก็พอทำได้นี่นา เลยเริ่มลองย้อมสีผ้าจากธรรมชาติดู

jibberish

“ที่เลือกย้อมสีจากธรรมชาตินั้นตอนแรกเราไม่ได้สนใจเรื่องการสร้างสตอรีให้แบรนด์หรืออะไรเลย แค่คิดว่าสีธรรมชาติมันดีกับตัวเราเอง เทียบกับสีย้อมเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวแน่ๆ และแม่เราก็สุขภาพไม่ค่อยดีด้วย

“ตอนแรกเรายังไม่ได้ย้อมครามแต่เริ่มจากอะไรง่ายๆ อย่างใบหูกวางที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก ไม่ต้องไปหาซื้อจากกาดหลวงด้วยซ้ำ เราสามารถปั่นจักรยานไปหาเก็บใบหูกวางกับแม่ได้ มันง่ายและก็สนุกด้วย”

 

เดินทางไปหาการย้อมคราม

แบรนด์ของนัดเริ่มต้นจากการทำกระเป๋าผ้าย้อมสีธรรมชาติขายเป็นสินค้าแรกๆ

“ตอนนั้นแม่เราอยู่บ้านที่สุรินทร์ ยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ พอต้องทำงานด้วยกันผ่านโทรศัพท์เราเลยยังไม่สามารถทำงานที่ซับซ้อนมากอย่างเสื้อผ้าได้ เลยเริ่มต้นจากการส่งผ้าไปให้แม่ลองเย็บกระเป๋าใบเล็กๆ แล้วส่งกลับมาขายที่เชียงใหม่” 

ถึงอย่างนั้นความรู้สึกก็บอกเธอว่าการขายกระเป๋าย้อมสีธรรมชาติยังไม่เฉพาะตัวพอที่จะทำให้ jibberish โดดเด่นอยู่ในใจคนได้ แฟนของเธอจึงแนะนำให้เธอลองไปขอคำแนะนำจากนุสรา เตียงเกตุ นักประวัติศาสตร์ด้านสิ่งทอ ช่างทอ นักออกแบบ และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ Nussara ที่ทำงานร่วมกับชุมชนอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

“พี่นุสให้คำแนะนำกับเราเยอะมากแต่เรากลับสนใจแค่เรื่องการย้อมคราม เหมือนมีคนยืนรอบตัวเราสิบคน มีคุณฝาง คุณหูกวาง คุณคนนู้น คนนี้ แต่คุณครามโดดเด่นที่สุดสำหรับเรา เราสงสัยว่าทำไมคนคนนี้ถึงมีเรื่องราวเยอะแยะ ทำไมเขาถึงย้อมยาก ทำไมต้องใช้เวลาศึกษามากกว่าสีอื่น มันจะอะไรขนาดนั้นเชียว ไหนลองดูซิ”

การทำผ้าย้อมครามธรรมชาติเป็นงานยาก เป็นงานที่ต้องทำร่วมกับสิ่งมีชีวิต และต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงเพราะการจะนำผ้ามาย้อมครามได้นั้นผู้ทำจะต้องเริ่มต้นจากการนำครามมา ‘ก่อหม้อ’ ก่อน เป็นการนำเนื้อครามมาทำปฏิกิริยาภายในหม้อร่วมกับตัวทำปฏิกิริยาอื่นๆ ในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วแต่สูตรลับของแต่ละคน บ้างก็ใช้ผลไม้อย่างกล้วย ส้ม มะขาม บางทีก็ใช้เหล้า ถึงขั้นมีบางคนใช้โซจูในการก่อหม้อเพื่อเลี้ยงให้จุลินทรีย์ทำปฏิกิริยากับครามในหม้อจนพอเหมาะ เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า ‘การเลี้ยงหม้อคราม’ ใครสามารถทำขั้นตอนนี้ได้ดีสีครามจะติดบนผ้าและได้โทนสีที่สวยงาม รวมถึงยังปรากฏบนมือผู้ย้อมได้ชัดเจน

การเลี้ยงหม้อครามจึงเป็นตัวชี้วัดว่าผู้ทำงานย้อมครามมีความเชี่ยวชาญแค่ไหน นอกจากนั้นเพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ในหม้อครามตาย ผู้ย้อมต้องคอยสังเกตด้วยว่าครามในหม้อมีอาการเหนื่อยหรือยังจากการดูสีของน้ำและฟองบนหม้อ และดมกลิ่นเพื่อกะปริมาณในการย้อมให้เหมาะสม การฝึกร่างกายให้ทำงานกับสิ่งมีชีวิตที่พูดไม่ได้อย่างจุลินทรีย์ให้แม่นยำต้องใช้เวลาและความมานะนานหลายปีจนเป็นสาเหตุว่าทำไมงานย้อมครามธรรมชาติถึงมีราคาสูงนัก

jibberish

jibberish

 

เดินทางสู่การออกแบบ

หลังจากทำกระเป๋าได้สักพัก แม่ของนัดก็ย้ายมาอยู่ด้วยที่จังหวัดเชียงใหม่ คราวนี้เธอจึงสามารถเริ่มต้นทำเสื้อผ้าได้อย่างที่ต้องการ

“สำหรับเรา jibberish เป็นแบรนด์ของแม่มากกว่าเราด้วยซ้ำ งานทุกชิ้นของเราต้องผ่านมือแม่ทั้งหมด แม่เป็นคนวางแพตเทิร์น เป็นคนเย็บ และเป็นคนตรวจ เวลาเราเจอเสื้อผ้าที่ชอบเราจะพลิกดูตะเข็บ ดูแพตเทิร์น แล้วนำสิ่งที่เราชอบหลายๆ แบบมาผสมเป็นของเราเอง วิธีคือเราจะวาดรูปส่งให้แม่ซึ่งการวาดแบบนี้ของเรามันไม่สามารถไปสั่งช่างคนอื่นได้ แต่แม่เราเข้าใจและเป็นคนเดียวที่สามารถถอดแบบรูปวาดโง่ๆ ของเราเป็นเสื้อผ้าได้” นัดเล่าถึงแม่แล้วหัวเราะ

jibberish

เมื่อเริ่มขายเสื้อผ้า แบรนด์ก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจเล็กๆ ที่เธอวาดฝันไว้ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง นอกจากนี้น้องสาวของนัดยังเข้ามาช่วยเหลืองานด้านต่างๆ ของแบรนด์ รวมถึงช่วยด้านงานปักอีกสินค้าที่กลายมาเป็นสิ่งที่คนจดจำเมื่อนึกถึงแบรนด์ย้อมครามแบรนด์นี้

“เราค้นพบว่าน้องเราชอบงานปัก เขาสามารถอยู่แบบนี้ได้ทั้งวัน แล้วก็สามารถทำได้ดีด้วยโดยเฉพาะการปักรายละเอียดเล็กๆ เวลาเราคุยงานกับน้องก็เหมือนคุยงานกับแม่เลย คือเราก็วาดรูปโง่ๆ ของเราแล้วให้น้องไปคิดเองว่าจะปักแบบไหน ยังไง แล้วเขาก็สามารถทำออกมาได้ดีมากๆ เราก็เอามาวางขายภายในร้าน ทำให้ทุกคนในครอบครัวต่างก็มีตัวตนอยู่ใน jibberish

“เวลาคนที่มาร้าน หลายคนจะเห็นน้องเราอยู่หลังเคาน์เตอร์กำลังนั่งทำงานปักจนกลายเป็นภาพจำของร้านไปแล้ว”

jibberish

jibberish

 

เดินทางสู่การเดินทางใหม่ๆ ที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

พอร้านเริ่มอยู่ตัวนัดก็สามารถทำอย่างที่วาดฝันไว้ได้ นั่นคือการได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ และการเดินทางก็มักจะทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้กับแบรนด์ได้เสมอ ทั้งที่เธอตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

facebook.com/jibberish.chiangmai

facebook.com/jibberish.chiangmai

“มันเหมือนคนชอบแมวที่มองเห็นแมวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม สำหรับเรา ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนสายตาเราจะโฟกัสไปที่ผ้าย้อมคราม หลายครั้งก็ทำให้เราบังเอิญได้เจอกับคนที่ทำงานย้อมคราม เช่น คราวที่ไปเวียดนาม เราเจอเด็กคนหนึ่งที่มือของเขามีสีดำที่สวยมากๆ เราเห็นก็รู้เลยว่าเขาทำงานย้อมครามเลยลองขอไปดูบ้านเขาบ้าง มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้

“ตอนที่ไปอินเดีย เรากำลังเดินๆ ดูบล็อกไม้สำหรับทำลายบนผ้า อยู่ดีๆ ก็เจอกับคุณลุงคนหนึ่งที่มาดูบล็อกไม้เหมือนกัน เขาชวนเราไปดูสตูดิโอของเขา เราก็ไป ซึ่งมันไกลมาก แต่ก็ทำให้เราค้นพบว่าลุงแกเป็นมาสเตอร์ด้านครามเลย สตูดิโอแกใหญ่มาก เราก็เลยได้ลองย้อมผ้ากับเขา ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการย้อมครามของคนอินเดียซึ่งถือเป็นหนึ่งในเมืองหลวงด้านผ้าจริงๆ พวกเขามีภูมิปัญญาที่สืบทอดด้านนี้กันมายาวนานมากๆ

“การเดินทางอีกครั้งที่สำคัญกับเรามากๆ คือตอนที่เราจะไปโครงการ WWOOF ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกรอบ เราเลือกไปที่ Pasa Moon เพราะเป็นชุมชนเกี่ยวกับศิลปะ ตอนที่เลือกเราไม่รู้เลยว่า ‘นัตซัง’ เจ้าของที่แห่งนี้เขาเป็นมาสเตอร์ด้านผ้า เรียนจบด้านผ้าสาขา Katazome มาโดยเฉพาะ พอนัตซังเห็นว่าเราสนใจ จากที่เขาจะให้เราไปทำงานให้อาหารไก่ ไปถอนหญ้า ก็เปลี่ยนให้เรามาทำงานผ้ากับเขาเลย เขาดีใจมากที่มีคนสนใจเรื่องนี้จริงๆ จังๆ เราก็เลยได้วิชาทำ Katazome มาจากนัตซัง มันเป็นความบังเอิญที่ทำให้แบรนด์ของเราเจอก้าวต่อไป”

นัดเล่าว่า Katazome เป็นเทคนิคการทำลายบนผ้าของญี่ปุ่นที่สามารถย้อนไปได้หลายร้อยปี โดยใช้วิธีการแกะลวดลายที่ต้องการลงบนกระดาษเยื่อไม้ชนิดพิเศษที่ทำมาจากเปลือกต้นหม่อน เคลือบด้วยยางลูกพลับเพื่อให้มีคุณสมบัติกันน้ำ (เป็นยางชนิดเดียวกับที่คนญี่ปุ่นใช้เคลือบร่มกระดาษ) หลังจากนั้นก็นำมาวางบนผ้าที่ยังไม่ได้ย้อม แล้วปาดกาวจากข้าวเหนียวลงไปและนำกระดาษออก กาวที่ปรากฏบนผ้าจะกลายเป็นเกราะป้องกันสีย้อมทำให้เมื่อย้อมเสร็จผ้าจะมีลวดลายสวยงามตามที่เราได้แกะไว้

“ตอนที่เราเริ่มต้นทำงานผ้าย้อมครามเราก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้เอกอุอะไร มีหลายสตูดิโอที่ทำผ้าย้อมครามเหมือนกัน และเราเป็นคนชอบย้อมผ้าสีพื้นทั้งตัว แพตเทิร์นก็เรียบๆ ใส่สบาย เลยทำให้เราไม่ค่อยมีอัตลักษณ์เท่าไหร่ จนได้มาเจอ Katazome เทคนิคนี้แหละที่ช่วยเราได้ เพราะพอเราวาดรูปได้นิดหน่อยมันช่วยเรื่องการทำลายบนผ้า ทำให้เรามีลายผ้าเป็นของตัวเอง อัตลักษณ์ในงานของเราก็เลยชัดขึ้นมา

jibberish

jibberish

jibberish

“เราคิดว่าคนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ใส่ใจเรื่องรายละเอียดมากๆ และเทคนิค Katazome ยังช่วยส่งเสริมงานกึ่งหัตถกรรมกึ่งอุตสาหกรรมได้ดี สมมติผลิตผ้าร้อยผืน ถ้าใช้เทคนิคบาติก (การเขียนด้วยเทียนหรือขี้ผึ้ง) เราจะสามารถทำได้ทีละผืนและต้องใช้เวลานาน ส่วนบล็อกปรินต์ก็อาจจะทำลวดลายได้ไม่ละเอียดเท่าการแกะลายบนกระดาษแม่พิมพ์ซึ่งสามารถทำซ้ำๆ ได้เหมือนกัน”

พอได้เทคนิค Katazome มา ผ้าทั้งผืนของ jibberish ก็กลายเป็นผืนผ้าใบว่างเปล่าต่อหน้าศิลปินที่รอการระบายถ่ายทอดจินตนาการลงไป นั่นจึงทำให้ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานบนผ้าของนัดมีมากขึ้น

jibberish

 

เดินทางสู่การเยียวยา

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นัดนำเอาเทคนิค Katazome มาสร้างงานชิ้นใหม่ลงบนผ้าผืนเล็กๆ เท่าหน้ากระดาษและจัดแสดงเป็นนิทรรศการ Better Cutter

เธอได้ไอเดียการทำงานชิ้นนี้มาจากรุ่นน้องที่วาดภาพหนึ่งภาพทุกๆ วันเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ที่ประทับใจหรือกระทบใจในวันนั้นจนครบ 100 วัน ในเมื่อเธอเป็นคนทำงานย้อมผ้า เธอเลยขอนำไอเดียนี้มาใช้บ้างผ่านการแกะลวดลายด้วยเทคนิค Katazome ลงบนผ้าแล้วย้อม ห้วงเวลานั้น นัดกำลังเจอกับความรู้สึกเคว้งคว้าง และการได้บอกเล่าสิ่งที่เจอในแต่ละวันเป็นภาพลงบนผ้าก็สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของเธอได้ แถมยังทำให้เธอได้ฝึกปรือฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

jibberish

jibberish

jibberish

ล่าสุด หลังจากที่ตัดสินใจลองเปิดแกลเลอรีเล็กๆ ชื่อ Emptyday ภายในโครงการเวิ้งเหล็กแดง เธอก็ได้หยิบเรื่องราวทั้ง 100 วันนั้นมาสะบัดและจัดแสดงอีกครั้ง

“ตอนที่จัดงานเมื่อต้นปีเราก็ได้เสียงตอบรับที่ค่อนข้างโอเค คนมาคุยกับเราเยอะ เขียนคอมเมนต์หรือทักทายในสมุดเยี่ยมก็เยอะ เราคิดว่ามีคนที่เป็นแบบเราเยอะมากคือเป็นคนธรรมดาที่อยู่ๆ พลังงานก็หมด ต้องการเชียร์ตัวเอง ต้องการรักษาตัวเองในรูปแบบที่ต่างกัน สำหรับเราการเยียวยาด้วยการย้อมผ้าช่วยเราได้ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราได้รักษาตัวเองก็เลยนำมารวบรวมทำเป็นหนังสือและนำผลงานกลับมาแสดงเป็นนิทรรศการอีกครั้งพร้อมหนังสือ เพื่อเยียวยาทุกคนที่เจอเรื่องหนักๆ ในปีนี้มา”

นิทรรศการของนัดมีชื่อว่า BETTER CUTTER : one more chapter จัดแสดงอยู่ที่แกลเลอรี Emptyday ตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2563 จนถึง 6 มกราคม 2564 ภายในนิทรรศการมีหนังสือที่รวบรวมภาพชิ้นงาน 100 ชิ้นในนิทรรศการ พิมพ์ด้วยเทคนิค Risograph และเย็บด้วยมือโดย dibdee.binder จำหน่ายด้วย

jibberish

ปัจจุบันการเดินทางของนัดพาให้ jibberish มีหน้าร้านถึงสองสาขา สาขาแรกเป็นร้านหลักตั้งอยู่บริเวณหน้าทางขึ้นดอยคำ และสาขาที่สองเป็นสตูดิโอทำเวิร์กช็อป ตั้งอยู่ในโครงการเวิ้งเหล็กแดง ด้านบนของแกลเลอรี Emptyday ส่วนใครที่อยากซื้อสินค้าน่ารักของเธอก็สามารถไปเลือกได้ภายในร้าน Rivers and Roads ร้านขายของกระจุกกระจิกที่เธอและเพื่อนๆ เปิดในเวิ้งเดียวกัน

ไม่ว่าต่อจากนี้นัดจะวางแผนการเดินทางของตัวเอง แม่ น้องสาว และ jibberish ไว้ยังไง ไม่แน่ความบังเอิญก็อาจพาเธอเดินออกนอกเส้นทางไปเจอทางใหม่ๆ อีกก็ได้

ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย หรือเชียงใหม่ การเดินทางของ jibberish ยังดำเนินไปไม่จบสิ้น

jibberish


สำหรับผู้ที่สนใจการย้อมครามและเทคนิค Katazome ที่เธอเรียนรู้ตลอดสิบปีที่ผ่านมา นัดเปิดเวิร์กช็อปอยู่เสมอ สามารถติดต่อได้ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ไม่แน่ การได้วาดลวดลายลงบนผ้าย้อมครามที่ลงมือด้วยตัวเองอาจช่วยเยียวยาหัวใจของคุณจากปีที่หนักหน่วงนี้ได้เช่นเดียวกับเธอ

นิทรรศการ ‘BETTER CUTTER : one more chapter’ จัดแสดงอยู่ที่แกลเลอรี Emptyday ภายในโครงการเวิ้งเหล็กแดงตั้งแต่ 6 ธันวาคม 2563 จนถึง 6 มกราคม 2564 สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่ 12:00-20:00 น. (แกลเลอรีปิดทุกวันอังคาร)

AUTHOR