ทำ-ลาย(ไทย) : ลายไทยยุคมิลเลนเนียลส์ที่พิสูจน์ว่าลายไทยก็สนุกได้

Highlights

  • ทำ-ลาย(ไทย) คือนิทรรศการแสดงผลงานการวาดลายไทยในแบบของ กช–กชวัช บูรณภิญโญ ที่ดึงเอาโครงสร้างลายไทยมาใส่สารพัดสัตว์หน้าตากวนโอ๊ยลงไปข้างใน
  • แม้จะดูเป็นงานลายเส้นง่ายๆ ให้ความรู้สึกสนุกสนาน แต่ศิลปินต้องศึกษาและวาดลายไทยอย่างจริงจังก่อนที่จะประยุกต์มาเป็นรูปแบบของตัวเอง โดยศึกษาทั้งจากการดูภาพวาดและลงพื้นที่จริงตามวัดต่างๆ
  • กชมองว่าการหยิบเอาลายไทยมาเล่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นการสานต่อศิลปะไทยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในบริบทปัจจุบัน

เมื่อมองในระยะที่ห่างจากรูปมาสักหน่อย ภาพเขียนที่เห็นคือลายไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่เมื่อไหร่ที่ก้าวเท้าพาตัวเองไปพิจารณาผลงานใกล้ๆ ก็ทำให้หลายคนต้องอมยิ้มออกมาแบบไม่รู้ตัว เพราะลายไทยที่เห็นเกิดจากการต่อตัวของสารพัดสัตว์ในลายเส้นสุดกวน ไม่ใช่ลายไทยแบบดั้งเดิมอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งสัตว์แต่ละตัวมีลักษณะท่าทางและสีสันที่แทบไม่ซ้ำกัน พอเราไล่ดูดีๆ ก็เห็นรายละเอียดสนุกๆ และความทะเล้นที่ซ่อนไว้ เช่น เจ้าหมาที่เนียนมาอยู่ในฝูงแมว หรือควายสองตัวที่ไม่น่าจะขี่หลังกันเฉยๆ

แมวฬสิงห์ ภาพวาดใบหน้าของตัวสิงห์ที่เกิดจากแมวสารพัดสีหลายสิบตัวในหลากอิริยาบถ

ลายกนก ทำลายไทย

ลายกนก ทำลายไทย

คันทวยหมา ภาพวาดคันทวย ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมไทยที่ดูดีๆ แล้วเป็นเหล่าน้องหมายืดตัวต่อตัวกันจนเป็นรูปเป็นร่าง

ลายกนก ทำลายไทย

ใบเสมา ภาพวาดใบเสมาที่รายละเอียดลวดลายต่างๆ เป็นฝูงม้าหน้าตาเด๋อด๋าส่งยิ้มมาทักทาย

ทั้งสามภาพเป็นผลงานส่วนหนึ่งของ กช–กชวัช บูรณภิญโญ สถาปนิกหนุ่มที่ลาออกจากการทำงานออฟฟิศ และผันตัวมาเป็นศิลปินที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์

ลายกนก ทำลายไทย

กชย้อนความให้เราฟังว่า “ตอนปี 3 นั่งเรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทยเบื้องต้น ซึ่งเป็นวิชาบังคับ อาจารย์สอนวาดลายกนก เราเบื่อๆ เลยวาดรูปเล่นออกมาเป็นกนกหมา กนกแมว เริ่มมาจากพวกเล็กๆ ก่อนแล้วก็รู้สึกสนุก วาดมาเรื่อยๆ พอปิดเทอมมีเวลาว่างเยอะ ก็เอาโปรเจกต์เรียนของเพื่อนภาควิชาสถาปัตยกรรมไทยมาดราฟต์ไฟแล้ววาดเล่น แต่พอมีความคิดจะวาดเอง ก็พบว่าเราวาดเองตั้งแต่แรกไม่ได้ เลยอยากศึกษาให้จริงจังขึ้น”

นับเป็นโชคดีของกชที่เมื่อเขาตัดสินใจจะศึกษางานไทยอย่างจริงจังก็ได้ความช่วยเหลือเกื้อกูลจากอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทยให้ได้เข้าถึงงานเหล่านี้ โดยมองว่าสิ่งที่เขาทำจะช่วยต่อชีวิต ทำให้คนหันมาสนใจงานไทยมากขึ้น และยังมีเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องภาควิชาสถาปัตยกรรมไทยที่ร่วมเดินทางไปดูงานตามวัดวาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วยกัน

“ล่าสุดเข้าฝึกอบรมศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่ วิชาประติมากรรมไทย ที่เป็นคอร์สสั้นๆ ก็รู้สึกเข้าใจฟอร์มมันมากขึ้น เห็นสามมิติมากขึ้นว่าลายมันเป็นยังไง”

ในการวาดผลงานแต่ละชิ้น กชจะเริ่มจากการเลือกวัตถุที่ต้องการวาดในงานไทยก่อน เช่น บานประตู แล้ววาดโครงสร้างของลวดลายไทยดั้งเดิม ก่อนจะวาดสัตว์ลงไปโดยจับบิดไปตามลวดลาย ส่วนสีสันในช่วงแรกกชเล่าว่าเขาระบายตามใจ แต่หลังจากที่ศึกษางานไทยมากขึ้นก็เริ่มซึมซับชุดสีที่พบในงานไทยและมีหลักการในการเลือกสีมากขึ้น

ลายกนก ทำลายไทย

แล้วหลักการในการเลือกสัตว์ให้เข้ากับงานแต่ละชิ้นคืออะไร เราสงสัย

“ที่มาของสัตว์ในเชิงนามธรรมไม่มีเลย ตามใจตัวเอง บางครั้งมาในเชิงการเล่นคำ เช่น ใบเสมาก็วาดม้าเพราะคำใกล้กัน หรืออย่างลายก้านขด เลือกวาดเพราะคิดว่าฟอร์มรวมมันสวย เราก็ดูว่าลายตัวนี้มีโครงยังไง แล้วคิดว่าจากรูปร่างลายน่าจะเป็นหงส์ แต่ละงานที่มาจะไม่เหมือนกัน หรือบางครั้งก็ไร้สาระ มีงานที่เป็นฐานพระ เราวาดนกเพราะคิดว่านกมันบินเลยเป็นสัตว์สูง น่าจะไม่บาปมาก” เขาหัวเราะ

ที่ผ่านมากชมักจะโพสต์งานวาดลายไทยในแบบของเขาในโซเชียลมีเดีย งานนิทรรศการ ทำ-ลาย(ไทย) ที่จัดขึ้นบนพื้นที่ชั้นสองของร้าน Dialogue Coffee and Gallery จึงเป็นการแสดงงานครั้งแรกของเขา โดยมีทั้งงานเก่าไปจนถึงงานใหม่ในโปรเจกต์พิเศษที่ทำขึ้นมาเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ นั่นคือการเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและตามเก็บภาพวัดต่างๆ เช่น วัดพนัญเชิง, วัดราชบูรณะ, วัดเชิงท่า แล้วนำกลับมาวาดต่อเติมส่วนที่ชำรุดหรือสึกหรอให้สมบูรณ์ด้วยลายเส้นของเขา ซึ่งภาพชุดนี้จะไม่ได้เป็นสารพัดสัตว์ แต่เป็นตัวละครที่กชวาดเล่นอยู่เป็นประจำในท่าทางต่างๆ ที่ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความทะเล้นไม่ต่างจากตอนวาดสัตว์

ฐานพระอุโบสถวัดพนัญเชิง, พระนครศรีอยุธยา

หน้าบันวัดราชบูรณะ, พระนครศรีอยุธยา

ฐานเจดีย์วัดเชิงท่า, พระนครศรีอยุธยา

เราถามว่า การที่เขาหยิบคำว่า ‘ทำ-ลาย’ มาเล่นนั้นมีนัยอะไร หรือเขาจะมองว่างานของตัวเองเป็นการทำลายงานไทยให้เสียหาย กชส่ายหน้า

“จริงๆ ชื่อของงานมันเริ่มมาจากคำว่า timeline เพราะงานชุดที่ถ่ายภาพวัดนี้มันแสดงให้เห็นถึงศิลปะสถาปัตยกรรมโบราณที่ผ่านกาลเวลาเข้ามา แล้วเราเติมงานยุคใหม่เข้าไป ซึ่งบังเอิญพ้องกับคำว่าทำลายพอดี หมายถึงการทำลายกรอบเดิมๆ หรือทำลวดลายไทยแบบใหม่ขึ้นมา” เขาอธิบาย

“เรามองว่างานไทยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เพราะนึกถึงคำว่า ‘สืบสาน’ หรือสืบสานวัฒนธรรมไทยที่พูดกันบ่อยๆ พอแยกออกมาเป็น สืบ กับ สาน การสืบมันคือการรีเสิร์ช สิ่งที่เราทำน่าจะเป็นส่วนของการสาน ถ้าเขาใช้คำว่าสืบสานได้ อะไรๆ มันก็จับต้องได้ทั้งนั้น สืบสานเพื่อไม่ให้มันอยู่ที่เดิม เราก็ไม่ได้เป็นคนแรก เขาทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อน เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ”

หากใครไปนิทรรศการ อาจได้เห็นผลงานกนกแมวในรูปแบบสามมิติ ที่กชร่วมมือกับพันธมิตร Yer space ที่มาช่วยปั้นเหล่าน้องแมวให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่หลังจบนิทรรศการ กชตั้งใจจะหันมาปั้นงานด้วยตัวเอง เพื่อต่อยอดพัฒนาลวดลายไทยในแบบของเขาให้ออกมาเป็นสามมิติมากยิ่งขึ้น

ไม่แน่ว่า วันหนึ่งเราอาจได้เห็นคันทวยหมากำลังทำหน้าที่ค้ำยันชายคาอยู่จริงๆ ก็ได้


ติดตามความเคลื่อนไหวของกชได้ที่

Instagram | kotch.bu 

Facebook | kotch.bu

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!