HOW TO ดูจิตรกรรมฝาผนังยังไงให้สนุก

วัยรุ่นหลายคนอาจจะเบื่อเมื่อถูกชวนแกมบังคับให้ไปวัดกับญาติผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการตระเวนไปไหว้พระ 9 วัด 10 วัด 11 วัด เพื่อเสริมสิริมงคลนั้นถือเป็นแบบทดสอบวัดใจ ใครไม่ใช่สายบุญตัวจริงอาจจะขอถอนตัวตั้งแต่ยังไม่ถึงวัดที่สองไปอย่างน่าเสียดาย

เพราะเราอยากให้ลองมองวัดในฐานะแหล่งรวมศิลปวิทยาการของผู้คนหลากหลายยุคสมัยไว้ด้วยกัน ทั้งงานวาด งานปั้น สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และข้าวของเครื่องใช้ต่างบทบาทต่างที่มาซึ่งถูกนำมารวมไว้ด้วยกัน หนึ่งในสิ่งที่เราไม่อยากให้พลาดก็คือ ‘จิตรกรรมฝาผนัง’ ซึ่งปู่ย่าตายายของเราหยิบกาลเวลามาหยุดไว้บนผนังปูนเหล่านี้

ดูเผินๆ วัดไหนก็มีแต่พุทธประวัติเหมือนๆ กันไปหมด แต่หากโน้มตัวเข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย จะพบว่ามีเรื่องน่าสนใจซุกซ่อนอยู่ในฝีแปรงสีซีดๆ เหล่านั้นเต็มไปหมด เรามี 5 วิธีดูจิตรกรรมฝาผนังในวัดให้สนุกจาก ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แฟนพันธุ์แท้วัดไทยที่จะมาฝึกวิชาให้เรา มาฝากกัน

1. จงจับจุด

เมื่อเข้าไปในพระวิหารหรือพระอุโบสถแล้ว เราอาจจะตาพร่างพรายด้วยรูปเขียนทั้งฝาผนังทั้งเพดานพร้อยไปหมด แต่ลองใจเย็นๆ ค่อยๆ ไล่สายตาจากด้านใน ซ้ายสุด ขวาสุด เพราะภาพเขียนที่เป็นเรื่องราวมักจะไล่เรียงจากด้านในออกมาเสมอ หรือไม่ก็เลือกสักจุดที่เราสนใจก่อนก็ได้แล้วจึงค่อยสืบสาวราวเรื่องต่อไป

บางวัดวาดเป็นทศชาติชาดก โดยช่างเขียนจะเลือกเฉพาะสถานการณ์เด่นๆ เท่านั้น เช่น พระมหาชนกตอนเรือแตก พระสุวรรณสามตอนถูกศรยิง บางวัดเป็นเรื่องของตำนานท้องถิ่น เช่น วัดประเสริฐสุทธาวาสมีภาพวาดสามก๊กด้วยหมึกจีน วัดหงส์รัตนารามมีเรื่องราวตำนานพระแก้วมรกต วัดโสมนัสราชวรวิหารมีเรื่องอิเหนา วัดปทุมวนารามมีเรื่องศรีธนญชัย มองหาตัวละครเอกให้เจอรับรองว่าไปต่อง่ายแน่นอน

2. จงมีสายตาซุกซน

ลองคิดถึงการเป็นช่างเขียนเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ว่านอกจากเรื่องราวหลักที่ได้รับมอบหมายให้มาวาด เราอยากจะแต่งเติมหยอดอะไรลงไปในภาพอีกบ้าง แน่นอนว่าคนเราย่อมอยากถ่ายทอดความประทับใจจากสิ่งที่พบเห็นรอบตัวลงไปในผลงานของตนเอง เราจึงจะได้เห็นภาพสะท้อนของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น พวกเขาแต่งตัวกันอย่างไร อยู่อาศัยในบ้านเรือนแบบไหน กิจกรรมในแต่ละวันมีอะไรบ้าง

วัดในสมัยอยุธยานั้นมักจะไม่มีภาพต้นไม้ บ้านเรือนคน เพราะโบสถ์มีขนาดเล็ก วาดเนื้อเรื่องให้พอก็ว่ายากแล้ว แต่จะพบมากในวัดสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากวิทยาการการสร้างโบสถ์วิหารสมัยใหม่ที่ขยายอาคารได้ใหญ่โตโอ่อ่าขึ้น ส่วนที่เรียกว่า ‘ห้อง’ ซึ่งเป็นช่องระหว่างหน้าต่างจึงมีพื้นที่ว่างเหลือเยอะให้เติมแต่งเรื่องราวอื่นๆ เข้าไปด้วย การเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดใหญ่ๆ จะแบ่งงานกันเป็นทีม นายช่างใหญ่จะคอยเก็บงานที่ต้องลงรายละเอียดหรือตัวละครสำคัญ ส่วนลูกมือก็รับหน้าที่วาดไพร่ฟ้าประชาชน เติมกิ่งก้านใบไม้ระบายสีท้องฟ้ากันไป สังเกตง่ายๆ ว่าใครฝีมือเก่งกาจจะได้อวดผลงานอยู่ข้างล่าง ใครยังเป็นมือสมัครเล่นก็จะต้องปีนนั่งร้านขึ้นไปวาดข้างบนแทน

3. จงสังเกตสีสัน

สีสันของจิตรกรรมฝาผนังก็น่าสนุกไม่แพ้กัน เมื่อลองหลับตาจินตนาการเล่นๆ สวรรค์ในภาพจำของเรามักเป็นสีขาวสว่างไสว แต่สวรรค์บนผนังโบสถ์ไทยมักใช้สีแดงมาระบายเป็นพื้นหลัง เพราะเป็นทั้งสีมงคล ดูศักดิ์สิทธิ์ แถมยังขับให้ทองที่ปิดทับลงไปดูเปล่งประกายสวยงามยิ่งขึ้นด้วย

สีไม่ได้เพียงตกแต่งภาพให้สวยงาม แต่ยังมีความหมาย มีที่มาที่ไปแฝงอยู่ เช่น รัศมีรอบกายของพระอินทร์ที่ปกติจะเป็นสีแดง หากกำลังพรางตัวอยู่ก็จะระบายสีรอบๆ เป็นสีดำแทน เป็นวิธีเล่าเรื่องด้วยภาพที่เรียบง่ายแต่เข้าใจได้ทันที หรือสีของเสาที่แตกต่างกันในโบสถ์จะค่อยๆ ไล่สีจากเข้มเข้าไปหาอ่อน เมื่อเราเดินเข้าหาพระประธานจึงให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ายิ่งเข้าใกล้เท่าไหร่ก็ยิ่งพบแสงสว่างรออยู่

4. จงแกะรอยสัญลักษณ์

สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป ทศชาติชาดกเรื่องภูริทัตชาดก พระพุทธเจ้าเกิดเป็นนาค ในบางฉาก ช่างจะไม่เขียนเป็นรูปนาคซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลาน แต่จะวาดภาพคนสวมมงกุฎรูปนาคแทน

ตำแหน่งการจัดวางภาพแต่ละฉากแต่ละตอนก็มีความหมายซ่อนอยู่เช่นเดียวกัน ลองสังเกตให้ดีจะพบว่า ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานโดยมากมักวาดเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังหลังพระประธานนิยมวาดภาพจำลองไตรภูมิ เป็นปริศนาธรรมที่บอกว่าพระพุทธเจ้าทรงหันหลังให้การเวียนว่ายตายเกิดแล้วนั่นเอง แต่ไม่ได้เป็นกฎตายตัวเสมอไปนะ บางวัดก็สลับกันบ้าง หรือเป็นเรื่องราวอื่นๆ ไปเลยก็มีเหมือนกัน

5. ไม่ต้องหลบสปอยล์

ความสนุกของการดูจิตรกรรมฝาผนังไม่ได้อยู่ที่ความตื่นเต้นเร้าใจคาดเดาไม่ได้ของเนื้อเรื่อง (เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กันทั้งนั้นแหละ) แต่ความสนุกอยู่ที่การนำเสนอเรื่องราวเดียวกันในรูปแบบที่ไม่เหมือนกันของช่างเขียนแต่ละวัดต่างหาก จะว่าไปก็เหมือนการดูบ้านทรายทองที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยังสนุกได้ทุกตอน แล้วแต่มุมมองและวิธีการนำเสนอของช่างเขียนแต่ละยุคแต่ละคนว่าจะถ่ายทอดฉากเหตุการณ์ต่างๆ ออกมาอย่างไร

เรายังสังเกตยุคสมัยของภาพเขียนจากคำอธิบายได้ด้วยเช่นกัน ภาพที่เขียนขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 จะมีแต่ภาพล้วนๆ เพราะฟังก์ชั่นของจิตรกรรมฝาผนังในอดีตมีไว้เพื่อให้พระสงฆ์ใช้ประกอบการเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง การเขียนคำอธิบายภาพไว้ด้านล่างนิยมมากขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เพราะจิตรกรรมไม่ได้มีฟังก์ชั่นเหมือนในอดีต จึงไม่มีเนื้อหาที่เป็นนิทานชาดกหรือตำนานปรัมปราสักเท่าไหร่ แต่เป็นประวัติศาสตร์หรือบันทึกเหตุการณ์ อย่างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีจิตรกรรมพระราชประเพณีสิบสองเดือนที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม รวมทั้งการลอยกระทงและการบวชนาค โดยเฉพาะการบวชนาคซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของพระสงฆ์ในขณะนั้น แถมยังมีภาพของสถาปัตยกรรมยุคนั้นให้ชมเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปด้วย ใครอยากเห็นภาพวัดสุทัศน์และวัดราชบพิธเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ก็ตามไปดูได้เลย

AUTHOR