TIGER CITY นิทรรศการ data visualisation ที่บอกว่าแม้แต่คนเมืองก็อนุรักษ์ห้วยขาแข้งได้

Highlights

  • TIGER CITY คือนิทรรศการว่าด้วยเสือและระบบนิเวศของเสือที่ห้วยขาแข้ง ที่สองนักออกแบบจาก STUDIO 150 ถ่ายทอดจากเรื่องเล่าของคนทำงานในป่าและประสบการณ์การลงพื้นที่ของพวกเขาเอง
  • ในการลงพื้นที่ พวกเขาพบว่าเสือมีความสำคัญในแง่การเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ส่วนป่าห้วยขาแข้งคือบ้านของเสือ และป่าอันอุดมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นักอนุรักษ์กลุ่มเล็กๆ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาไว้
  • เมื่อเห็นอย่างนั้น พวกเขาจึงทำนิทรรศการ TIGER CITY ขึ้นเพื่อถ่ายทอดความสำคัญของป่าและเสือ การอนุรักษ์ และเป้าหมายที่ซ่อนอยู่คือเพื่อเป็นพื้นที่ที่พูดกับคนเมืองว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันอนุรักษ์ได้ด้วยความสามารถและความถนัดของตัวเอง

คุณรู้จักเสือแค่ไหน?

นอกจากเสือเป็นนักล่าและเป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญอยู่มาก เราสมควรยิ่งที่จะอนุรักษ์ไว้

พัด–พัชร ลัดดาพันธ์ และ เป้–ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งกราฟิกสตูดิโอ STUDIO 150 ยอมรับตรงไปตรงมาว่าเดิมทีพวกเขาไม่รู้อะไรลึกซึ้งไปกว่าข้อมูลข้างต้น แถมยังจับต้นชนปลายได้ไม่ชัดว่าที่ว่าเสือเป็นสัตว์ ‘สำคัญ’ นั้นสำคัญยังไง

TIGER CITY

แต่เมื่อสองนักออกแบบข้อมูล (information designer) ผู้ถนัดนักในการแปลงข้อมูลเป็นกราฟิกตัดสินใจทำงานออกแบบเพื่อสื่อสารเรื่องราวจากป่าให้กับคนเมืองในโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกหรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘โครงการเสือ’ ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ความเข้าใจอย่างแท้จริงจึงจำเป็น

คนเมืองเกี่ยวกับป่าและเสือยังไง? คำถามนี้ถูกทดไว้ในใจก่อนที่พวกเขาค่อยๆ เก็บจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น ทั้งเรื่องเสือ ป่า ชุมชน และคนทำงานมาประกอบเข้าด้วยกัน ทั้งจากทางตรงที่ได้ไปเยือนป่าและทางอ้อมจากการศึกษาผ่านงานวิจัยและพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องแล้วใช้ความถนัดตัวเองถ่ายทอดออกมาเป็น TIGER CITY นิทรรศการ data visualisation เล่าความสำคัญของเสือและป่าห้วยขาแข้งที่เปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2020

TIGER CITY

ถึงดีไซน์วีคจะจบลงไปแต่นิทรรศการยังไม่จบ สองดีไซเนอร์ตั้งใจแต่ต้นที่จะออกแบบงานนี้ให้เป็น touring exhibition เพื่อให้หมุนเวียนนำไปจัดแสดงได้อีกหลายที่ เข้าถึงคนได้อีกหลายคน

วันนี้ TIGER CITY กลับมาเผยโฉมอีกครั้งใน Creative Economy Agency (CEA) ย่านบางรัก และจะจัดแสดงยาวจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม

แรกเริ่มเราตั้งใจจะคุยกับเป้และพัดถึงวิธีคิดงานนิทรรศการ แต่ทั้งสองอาสาพาเราเข้าป่าก่อนเข้าเรื่องการออกแบบงาน

และต่อไปนี้คือเรื่องราวจากผืนป่าสู่นิทรรศการกลางเมือง

TIGER CITY

 

เข้าป่าเพื่อเข้าใจ

เส้นขอบฟ้าที่ตัดกับป่าโดยไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ อยู่ในเฟรมเป็นภาพประทับใจที่พัดและเป้ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

“วิวที่เห็นบนจุดชมวิวบนเขานางรำเป็นต้นไม้ เป็นป่าเขา แล้วก็ท้องฟ้าเลย มันไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ นี่มันป่าจริงๆ” พัดเล่าราวกับยังจำภาพนั้นได้ชัดเจน

ในขณะที่อุทยานแห่งชาติเปิดให้คนเข้าไปท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติได้ ห้วยขาแข้งมีสถานะต่างออกไป เพราะที่นี่มีสถานะเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่มีเพียงนักวิจัยและเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ย่างกรายเข้าไป การทำงานชิ้นนี้จึงเป็นโอกาสหายากที่ทำให้เป้ พัด และทีมได้ตาม ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ นักวิจัยที่คลุกคลีกับเรื่องเสือมากว่า 30 ปี เข้าไปที่ศูนย์วิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเพื่อดูว่าแต่ละวันคนที่ทำงานในป่าทำอะไรกันบ้าง

TIGER CITY

“เราอยากไปหาอินไซต์ของคนทำงานเพราะมันน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเอามาพูด ส่วนเรื่องเสือสำคัญ ป่าสำคัญ เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่แง่มุมอื่นๆ คนในพื้นที่เป็นคนที่สามารถมอบให้เราได้” นี่คือความคาดหวังที่เป้แบกเข้าไปในป่า

เมื่อลงพื้นที่ ชาว STUDIO 150 ถึงได้รู้ว่าภารกิจของทีมวิจัยสัตว์ป่ามีอยู่ 2 อย่าง คือศึกษาเสือกับวงจรชีวิตสัตว์ป่า ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานทั้งเก็บรอยเท้า เก็บขี้สัตว์ ไปจนถึงเก็บภาพ

ลวดลายของเสือเหมือนรอยนิ้วมือของมนุษย์ที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ทีมงานต้องถ่ายและบันทึกลวดลายเหล่านี้ในฐานข้อมูล นอกจากนี้ยังมีวิธีติดปลอกคอที่เชื่อมต่อกับดาวเทียมเพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของเสืออีกด้วย หากเสือวนอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นเวลาหลายวัน ทีมสำรวจก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามเพื่อดูขี้ ร่องรอย และกิจกรรม เช่น เสืออาจรอล่าเหยื่อหรือกำลังคลอดลูกอยู่ก็เป็นได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเสือเพียง 16 ตัวที่ติดอุปกรณ์เรียบร้อย เนื่องจากการติดตั้งใช้กระบวนการมาก เริ่มจากกว่าจะเจอเสือก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การติดปลอกคอเสือยากยิ่งกว่า แถมอุปกรณ์ที่ใช้ยังมีราคาสูงเพราะยังไม่มีอุปกรณ์ที่ผลิตจากในประเทศ

เป้และพัดเล่าต่อว่าการมีข้อมูลเสือแต่ละตัวนั้นสำคัญมาก ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งดี เพราะเสือคือสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดในห่วงโซ่อาหาร ที่ใดมีเสือ แปลว่าที่นั่นมีสัตว์กีบที่เป็นอาหารมากพอ และเช่นกันสัตว์ทั้งหมดในห่วงโซ่อาหารก็ต้องสมบูรณ์ด้วย

ยิ่งกว่านั้น เสือเป็นสัตว์ที่ใช้อาณาบริเวณมาก ป่าใดมีเสืออยู่เท่ากับว่าป่าแห่งนั้นสมบูรณ์ นักอนุรักษ์จึงยกให้เสือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า เช่น หากเสือที่มีลายตามบันทึกไปปรากฏที่บริเวณใดก็อาจเป็นไปได้ว่าป่าสมบูรณ์ขึ้นจนเสือแต่ละตัวมีอาณาบริเวณเป็นของตัวเอง

ถ้าซูมเจาะไปที่ป่าห้วยขาแข้ง เราจะพบว่าป่าแห่งนี้คือป่าที่มีเสือโคร่งอินโดจีนอยู่กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีในธรรมชาติและเสือพันธ์ุนี้เหลือเพียงแต่ที่ไทยเท่านั้น

“พอเสือเป็นตัวชี้วัดธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้เหมือนกัน สิ่งที่เราทำที่นี่มันกระทบถึงป่าและการที่ป่าเปลี่ยนแปลงมันกระทบถึงเราแน่นอนอยู่แล้ว มันคือเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง” เป้เล่า 

 

ลาดตระเวน

ทีมลาดตระเวนออกทำงานกันทุกค่ำคืนเพื่อดูว่ามีใครบุกรุกป่าหรือไม่ มีอะไรผิดปกติท่ามกลางความมืดมิดหรือเปล่า

หากเป็นเมื่อก่อนการเดินลาดตระเวนอาจไม่ได้มีแบบแผนที่ชัดเจนมาก บางครั้งเจ้าหน้าที่แต่ละคนก็เดินซ้ำจุดกัน แต่ปัจจุบันการเดินลาดตระเวนมีระบบแบบแผนตั้งแต่การจัดแถว การเดิน การยืน และหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละบุคคล เช่น ใครเป็นผู้ดูแลความปลอดภัย ใครต้องวัดร่องรอยต่างๆ ใครต้องจดข้อมูล 

“เมื่อทุกอย่างเป็นระบบประกอบกับการใช้กล้องจับความเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้ควบคุมการคุกคามป่าได้ดีขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ดีขึ้น” เป้เล่า “ถ้าเราไม่ได้มาเห็นที่นี่เราก็จะไม่รู้ว่าป่ายิ่งใหญ่แค่ไหน เจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันแบบไหนเพื่ออนุรักษ์สิ่งเหล่านี้

“พอมาที่ป่า เราเห็นความเชื่อมโยงของระบบนิเวศทั้งหมด เราเห็นแล้วว่าที่นี่ผลิตออกซิเจนให้เราหายใจ น้ำส่วนหนึ่งที่เราใช้ในกรุงเทพฯ ก็มาจากป่าผืนนี้ ถ้าป่าผืนนี้หายไปกรุงเทพฯ ประสบปัญหาแน่นอน” พัดย้ำ

 

เขียนเสือให้เป็นนิทรรศการ

หลังจากได้สัมผัสป่าและเห็นความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ พัดและเป้ตัดสินใจถ่ายทอดงานออกมาในรูปแบบนิทรรศการ เพราะนิทรรศการใช้สื่อที่หลากหลายมาประกอบได้ แถมยังเหมาะกับการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุย

ที่สำคัญ​ พวกเขาออกแบบมู้ดแอนด์โทนไปจนถึงคีย์วิชวลจากการลงพื้นที่ป่าทั้งหมด

“พอเข้าไปในป่าแล้วเราเห็นความธรรมชาติ ความไม่ปรุงแต่ง นี่คือเหตุผลว่าทำไมนิทรรศการเสือถึงเป็นสีขาว-ดำ ไม่ต้องสีส้ม หรืออย่างคีย์วิชวลที่เป็นพิกเซล ดูเป็นดิจิทัลไม่น่าเกี่ยวกับเสือก็เหมือนกัน” พัดเล่าถึงที่มาที่ไปว่าพิกเซลนั้นถอดแบบมาจากการเดินลาดตระเวนที่ทีมจะแบ่งป่าเป็นตารางกริดเพื่อให้การทำงานถูกจุดและทั่วถึง

“การทำงานของเขาเหมือนเปิดพิกเซลทีละแผ่น มันคือความรู้และวิธีการที่สอดคล้องกับภาษาของนักออกแบบเลยเอามาทำเป็นคีย์วิชวลที่นักอนุรักษ์เห็นแล้วรู้ทันทีว่ามันคืออะไร” เป้อธิบายเพิ่ม

ภาพป่าเขียวตัดกับเส้นขอบฟ้าที่ต้องเข้าไปในป่าลึกกว่า 30 กิโลเมตรจึงจะได้พบคือภาพประทับใจของทั้งสองที่ถูกเลือกเป็นฉากเปิดนิทรรศการ

“เราเริ่มเล่าว่าห้วยขาแข้งเป็นธนาคารพันธุกรรมของโลก พื้นที่ตรงนี้คิดเป็น 1 ใน 1,000 ของพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด แต่เป็น 1 ใน 1,000 ที่บรรจุความหลากหลายทางพันธุกรรมถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นเหล่านี้ทำให้คนเห็นว่าทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้” 

TIGER CITY

เป้ขยายความว่าพื้นที่ส่วนนี้สร้างความหลากหลายของสปีชีส์ได้เพราะเป็นจุดตัดของหลายภูมิประเทศ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำ ข้อเท็จจริง (fact) เหล่านี้ถูกนำมาเล่าแบบใช้ข้อมูลเป็นหลัก (information-based) ก่อน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ นิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก 2 ส่วนเป็นเรื่องการอนุรักษ์จากฝั่งวิจัยสัตว์และจากหน่วยพิทักษ์ และอีกส่วนหนึ่งคือฝั่งชุมชนรอบๆ ป่า ที่ทาง UNDP ได้ชวนทำโมเดลพื้นที่กันชน ปรับพื้นที่รอบป่าให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้นิเวศสัตว์ป่าโดยมีคนในชุมชนมาช่วยแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าแก่ผู้มาเยือน และได้ร่วมทดลองแนวคิดชุมชนที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าโดยมีหลักการใหญ่ๆ คือขยับพื้นที่เพาะปลูกให้ห่างป่าเพื่อลดความเสี่ยงที่สัตว์ป่าจะมาทำลายผลผลิตของชาวบ้าน และเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสานไร้สารเคมีที่ทำให้ได้ผลผลิตหลากหลาย ผู้ปลูกได้รายได้บ่อยขึ้น

“ภาพรวมทั้งหมดคือการอยู่ร่วมกัน เราทำให้เห็นว่าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองในการทำให้เกิด coexistence ที่สมบูรณ์ นักอนุรักษ์ นักวิจัยอยู่ในป่า และมีคนทำงานกับชุมชนรอบๆ ป่า หรืออย่างเราที่เป็นดีไซเนอร์เข้ามามีบทบาทช่วยสื่อสารให้ตรงนี้สมบูรณ์” พัดบอก

TIGER CITY

การทำงานของฝั่งอนุรักษ์ทั้งบทบาทและชีวิตในทุกยูนิตถูกบอกเล่าผ่านสารคดีความยาว 30 นาทีที่กำกับโดย เบล–นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา ผู้กำกับที่ STUDIO 150 ชักชวนมาร่วมเข้าป่า

ไม่ใช่แค่นี้ ยังมีเครื่องมือต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายใช้ในการทำงานที่นักออกแบบทั้งสองคิดมาแล้วว่าไม่ได้แค่อยากแสดงให้เห็นว่ามีอะไรบ้าง 

“ของเหล่านั้นมันมีแก่นบางอย่างทำให้เห็นชีวิตที่ไม่ปรุงแต่ง อยู่ในป่า ทุกอย่างต้องใช้งานได้จริง ของที่เลือกใส่ในเป้ต้องคิดมาแล้วว่าจะได้ใช้

“ที่พวกเรานำข้อมูลตรงนี้มาเล่า เราหวังว่าอาจจะมีนักออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือใครก็ตามที่มาเห็นอุปกรณ์ต่างๆ แล้วอาจจะจุดประกายเป็นพื้นที่ปลายเปิดว่าความเชี่ยวชาญของคุณจะมีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์ตรงนี้ได้อย่างไร” เป้ยกตัวอย่างปลอกคอเสือที่หากมีผู้ที่มีความถนัดทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีมาช่วยผลิตได้ก็จะเป็นประโยชน์มาก

TIGER CITY

เข้าใจเสือ เข้าใจป่า เข้าใจงานแล้ว พัดกับเป้เลือกทิ้งคำถามไว้ผ่าน data visualisation ที่ชวนคนถอยกลับมามองภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

“เรารู้ว่าความสมดุลของสิ่งแวดล้อมกำลังพัง ภัยธรรมชาติที่เคยเกิดมันรุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น ก่อนนี้เราเคยมีพายุความแรงสุดที่ระดับ 5 แต่ปีที่แล้วมีพายุระดับ 5.5 ส่วนระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปัจจุบันอยู่ที่สี่ร้อยกว่า ppm ก็เหมือนเป็น the last u-turn แล้ว ถ้ามันเกิน 500 ppm เราจะทำอะไรไม่ได้แล้ว มันจะพังโดยสมบูรณ์ มันเป็นคำถามว่าคุณจะอยู่กับมันแบบพังๆ เหรอ หรือจริงๆ ยังมีโอกาสฟื้นฟูให้มันดีขึ้นมา” เป้ฝากคำถามไว้ในความเงียบ

นอกจากสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจเรื่องความสำคัญและความสัมพันธ์ของป่าและคน ทั้งสองยังมีอีกความตั้งใจในการทำนิทรรศการนี้ นั่นคือการทำให้คนที่มาดูอยากมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์

TIGER CITY

“เราทำให้ดูแล้วว่าการอนุรักษ์เป็นเรื่องของทุกคน เห็นมั้ยว่าดีไซเนอร์ก็มีส่วนร่วมได้ อีกอย่างคือเราเอาข้อมูลมากางให้ดูว่าการอนุรักษ์มีอะไรบ้างและคุณจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าถนัดเรื่องไหนก็ทำเลย” พัดว่า

ในสายตาของนักวิจัยและคนทำงานในป่า งานนี้อาจไม่มีข้อมูลอะไรแปลกใหม่ แต่ในวันเปิดนิทรรศการ เสียงตอบรับจากหลายคนอาจช่วยพิสูจน์แล้วว่าเรื่อง ‘ธรรมดาๆ’ แบบนี้อาจมีคนเมืองไม่น้อยที่ไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน

หากอยากเข้าใจความสัมพันธ์ของคน-ป่า-เสือให้ชัดขึ้น

หรืออยากเห็นว่ามีอะไรส่วนไหนที่คุณจะเข้าไปเติมเพื่ออนุรักษ์ป่า อนุรักษ์เสือ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่คุณใช้มันอยู่ได้บ้าง 

เมืองเสือรอคุณอยู่


นิทรรศการ TIGER CITY จัดแสดงครั้งแรกในเทศกาล Bangkok Design Week วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาจัดแสดงที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรักตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 24 พฤษภาคม 2563 และมีแผนจะนำไปจัดแสดงทั่วประเทศต่อไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก