นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ : วันที่หมอหัวใจเปลี่ยนหัวใจตนเองเป็นสีเขียวเพื่อรักษาโลก

Highlights

  • นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง คือ คุณหมอหัวใจสีเขียว เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้เป็นทั้งอาจารย์แพทย์โรคหัวใจ เป็นนักอนุรักษ์ เป็นนักสื่อสารเรื่องธรรมชาติ เป็นนักดูนกผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เป็นคุณหมอที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดมากกว่า 30 ปี และเป็นที่ได้รับความนับถือและรู้จักอย่างดีในวงการอนุรักษ์
  • ทุกวันหยุดจากการทำงานเป็นแพทย์ หมอหม่องมักจะจัดกิจกรรมพาเด็กๆ และผู้ที่สนใจเดินเข้าป่า พาผู้คนไปชมนกชนิดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวของสัตว์และต้นไม้นานาพันธุ์ โดยมีกลวิธีการเล่าเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ "ต้นแต้ว หรือติ้วขน ติ้วหนาม ผมเรียกมันว่าต้นไม้ดนตรี ลองดีดหนามมันดูสิครับ หนามยาวผอมเสียงสูง หนามอ้วนสั้น เสียงต่ำเลือกดีๆ ทั้งต้น คงครบโน๊ตดนตรี เพราะใช้ได้เลยนะครับ"
  • สิบกว่าปีที่แล้ว เขานำเงินที่ได้จากมรดกของแม่ไปซื้อที่ดินชุ่มน้ำกว่า 80 ไร่ ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเพื่อฟื้นฟูให้กลายเป็น พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ ที่อนุรักษ์โดยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีนกมากถึง 233 ชนิดบินเข้ามาใช้ รวมถึงนกที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วถึง 139 ปี
  • ล่าสุดเขากำลังจัดแสดงนิทรรศการแสดงภาพวาดสีน้ำในสมุดบันทึกธรรมชาติจากจำนวน 15 เล่ม ที่เขาจดบันทึกวาดและระบายสีจากการสังเกตตลอดระยะเวลา 36 ปี และเรื่องราวความเป็นนักดูนกของเขาที่ถูกนำเสนอในรูปแบบสารคดี Dr Birdman จัดแสดงที่ ซีเนม่า โอเอซิส (Cinema Oasis)

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง คืออาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ผู้มีความเชี่ยวชาญชนิดที่คนไข้หลายต่อหลายคนเชื่อมั่นฝากหัวใจไว้ในมือของเขา เมื่อถอดชุดกาวน์ออก เขาคือนักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสื่อสารเรื่องธรรมชาติมาเป็นเวลานาน ทั้งยังเป็นนักดูนกตัวยง ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาขึ้นมา

ในวันที่กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติยังไม่เกิดขึ้นในไทย เขาในตอนนั้นที่เรียนจบและปฏิงานเป็นแพทย์มาสองปี ได้ลาออกเพื่อไปทำงานอนุรักษ์นกเงือกกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลกจากการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองนกเงือก ก่อนกลับมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์และจบออกมาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วันว่างเว้นจากหน้าที่หมอ เขามักพาเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่เข้าป่า ชี้นกนานาพันธุ์ให้ผู้ร่วมเดินได้ส่องดูและรู้จัก บอกเล่าเรื่องราวของต้นไม้และสัตว์ป่าต่างๆ ระหว่างทางให้ผู้เดินตามได้เข้าใจ และมักมีกลวิธีเล่าที่สนุก สอดแทรกเกร็ดความรู้น่าสนใจจนทำให้หลายคนติดใจ

สิบกว่าปีก่อนเขานำเงินที่ได้จากมรดกของแม่ไปซื้อที่ดินชุ่มน้ำกว่า 80 ไร่ ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อฟื้นฟูให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ นับเป็นพื้นที่ที่อนุรักษ์โดยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีนกมากถึง 233 ชนิดบินเข้ามาใช้ รวมถึงนกที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วถึง 139 ปี ที่นี่จึงกลายเป็นทั้งสรวงสวรรค์ของนกและของนักดูนกจากทั่วโลก

ล่าสุดเขากำลังมีนิทรรศการแสดงภาพวาดสีน้ำในสมุดบันทึกธรรมชาติจากจำนวน 15 เล่ม ที่จดบันทึก วาด และระบายสีจากการสังเกตของเขาตลอดระยะเวลา 36 ปี จนในที่สุดเรื่องราวความเป็นนักดูนกของเขาถูกนำเสนอในรูปแบบสารคดี Dr Birdman จัดแสดงที่ Cinema Oasis

หากผ่าหัวใจของหมอหม่องออกมาดู ไม่ว่าใครเป็นต้องไร้ข้อกังขา ลงความเห็นตรงกันว่าหัวใจของหมอคนนี้เป็นสีเขียว

ทำไมหัวใจของเขาถึงเป็นสีเขียว

ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป คุณจะค่อยๆ มองเห็น

หัวใจที่แม่มอบให้

ตั้งแต่จำความได้ แม่ของผม (ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์) จะชอบเล่านิทานก่อนนอนเกี่ยวกับสัตว์ให้ฟัง ไม่ใช่เรื่องของเจ้าหญิงเจ้าชาย แต่เป็นสัตว์ต่างๆ ตัวนี้นิสัยมันเป็นยังไง วิธีเล่าของแม่มีชีวิตชีวามาก ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แห้งๆ มีความรู้สึกอยู่ในนั้นเยอะมาก ด้วยความที่แม่มีความรักและห่วงใยต่อเรื่องเหล่านี้ เรื่องราวจึงถูกถ่ายทอดออกมาในน้ำเสียงที่เขาเล่า และนั่นทำให้ผมรู้สึกประทับใจและผูกพันกับสัตว์

“สัตว์แต่ละตัวมีชีวิต มีตัวตน มีความเป็นปัจเจก ไม่ได้เป็นแค่สัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นแค่ทรัพยากรธรรมชาติ ผมไม่ได้มองแบบนั้น แต่มันเป็นเพื่อน เป็นผู้ที่อยู่ร่วมโลกกับเรา

“เวลาศึกษาเรื่องสัตว์ป่าตอนเด็ก แม่จะพาผมไปที่สวนสัตว์ แต่ไม่ใช่แค่เดินไปดูเสือแล้วก็ไป แม่มีความรู้เยอะ เขาจะเล่าให้ผมฟัง เห็นไหมลูกว่ามันมีชีวิตยังไง มีลายเพื่อพรางตัวอย่างนี้นะ เสืออาศัยอยู่ที่ไหน และในที่สุดนอกจากเรื่องความรู้เกี่ยวกับสัตว์ตัวนั้น แม่เขาจะพูดให้เราเห็นว่าสัตว์ตัวนั้นน่าสงสารนะ มันโดนพรากจากพ่อกับแม่มาอยู่ในกรงแบบนี้ อยู่ห่างไกลจากบ้านมันเพื่อเป็นตัวแทนของเผ่าพันธุ์มันให้คนได้รู้จัก แต่ชีวิตของมันก็น่าเศร้า บ้านเคยกว้างขวางแต่กลับต้องมาอยู่ในกรง ดูสิเดินย้อนไปย้อนมาย้ำคิดย้ำทำจนเป็นโรคเครียด

“การเล่าแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าสัตว์ที่เห็นอยู่ตรงหน้าหน้าตามันเหมือนเสือนะ แต่มันไม่ได้มีศักดิ์ศรีของความเป็นเสือเลย มันไม่ได้ทำหน้าที่ทางระบบนิเวศที่มันควรจะทำ เป็นอย่างที่มันภูมิใจ เป็นผู้ล่าอันดับหนึ่ง ควบคุมประชากรของกวางบริเวณนั้น ศักดิ์ศรีของมันไม่มีเหลือ เป็นแค่ตัวประดับเฉยๆ

“ผมเกิดความคิดและมุมมองหลายอย่างจากการถ่ายทอดที่มีความรู้สึกของแม่ มันทำให้ผมได้มองเห็นและเคารพสิทธิของสัตว์ทุกตัว ตัวนี้ ตัวนั้น ตัวไหนก็มีความหมาย มดทุกตัวก็มีคุณค่า มันมีหน้าที่ย่อยสลาย ปลวกที่เราอยากกำจัดเพราะมันมากัดบ้านเรา แม่ก็เล่าให้ฟังว่า ถ้าไม่มีปลวก ต้นไม้ใบไม้หล่นลงมาทับถมจนล้นโลก แถมยังไม่มีการคืนแร่ธาตุให้แก่ดิน ซึ่งของพวกนี้มีให้อ่านได้จริงในตำราถ้าเราไปหาและเปิดอ่าน แต่การที่มีคนหยิบยกประเด็นมาชี้ให้เห็น เล่าให้ฟัง ให้รู้สึกว้าว และค่อยๆ ซึมซับ มันทำให้ผมเห็นว่าไม่ว่าจะตัวใหญ่เท่าปลาวาฬหรือเล็กเท่ามดก็ล้วนมีคุณค่าในโลกทั้งสิ้น

หัวใจที่ถูกเปิดประตู

“ผมได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ การสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ มันเกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์นะ การลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าอะไรต่างๆ แต่ในเมืองไทยตอนนั้นเพิ่งมีนิยมไพรสมาคม ก่อตั้งโดยหมอบุญส่ง เลขะกุล สมัยนั้นหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยายังไม่มีเลย มีแค่หนังสือ ‘ธรรมชาติ นานาสัตว์’ ที่หมอบุญส่งเป็นคนเขียน ผมเก็บไว้หมด เพราะตามอ่าน เขาเป็นเหมือนไอดอลของเรา วันหนึ่งแม่ก็เดินมาบอกว่า ปะ แม่นัดหมอบุญส่งให้ได้แล้ว เราเลยไปหาหมอบุญส่งที่คลินิกแถวบางรัก

“โอ้โห ตอนเข้าไปในห้องทำงานท่านมีแต่หัวสัตว์ คือท่านเคยเป็นนักล่ามาก่อน แล้วตอนหลังท่านก็ตระหนักและเปลี่ยนมาเป็นนักอนุรักษ์ และยังเป็นนักอนุกรมวิธาน ศึกษาสัตว์ เก็บตัวอย่าง ในลิ้นชักท่านมีซากต่างๆ ของสัตว์เต็มไปหมดเลย มีนกสารพัดพันธุ์ ตอนนั้นท่านกำลังทำหนังสือนกเมืองไทย เป็นหนังสือเกี่ยวกับนกเล่มแรกของไทย ซึ่งผมยังเก็บไว้อยู่จนถึงวันนี้ชื่อ Bird Guide of Thailand ทั้งหมดภายในเล่มท่านเป็นคนวาดเอง ช่วงที่เราไปท่านกำลังทำหนังสือเล่มนี้อยู่ กำลังนั่งวาดภาพภายในเล่ม บนโต๊ะเต็มไปด้วยหนังกับซากนกต่างๆ ท่านใจดีให้เวลากับเด็กคนนี้ ผมเลยได้นั่งคุยกับท่านเรื่องสัตว์ต่างๆ ในเมืองไทย

“ท่านบอกว่าเราสนใจจริง ตอนนั้นท่านก็มีอายุพอสมควรแล้ว เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ เลยชวนว่ามีกิจกรรมชมรมดูนกกรุงเทพฯ ไปร่วมกันได้ ท่านดีใจที่มีเด็กสนใจเรื่องราวเหล่านี้ แม่เห็นว่าผมสนใจเลยพยายามจะเปิดประตูสู่เรื่องราวเหล่านี้ให้

“พอโตขึ้นแม่ก็มีโอกาสพาผมไปป่า สมัยนั้นไปเขาใหญ่เป็นเรื่องใหญ่นะ ถนนหนทางก็ไม่ค่อยดี เราไปตั้งแคมป์กัน สนุกสนานมาก ตอนนั้นผมเริ่มชอบเรื่องดูนกแล้ว เพราะที่บ้านมีต้นตะขบออกลูกเต็มไปหมด มีนกพญาไฟตัวผู้สีแดงแจ๊ด มีนกเขียวก้านตองตัวสีเขียวสวยมากมาหากินอยู่ใกล้ๆ โห มันสวยมากเลย หนังสือคู่มือดูนกของหมอบุญส่งก็วางอยู่ใกล้ๆ บนชั้น เมื่อก่อนผมแค่เปิดอ่านเล่นๆ แต่คราวนี้ผมเอาจริง

“เราเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังเพื่อหาว่านกสวยๆ ที่เราเห็นชื่ออะไร เป็นยังไง สมัยนั้นมีนกอยู่ในหนังสือแค่ 700 ชนิดเอง แต่ตอนนี้เข้าไปพันกว่าชนิดแล้ว นกในเมืองไทยเยอะมาก ความหลากหลายของนกมีสูงมาก ผมอยากรู้จักอยากเห็นนกชนิดต่างๆ แล้วต้องไปดูที่ไหนนะ ก็ยิ่งศึกษา ตอนไปเดินป่ากับแม่ผมก็จะได้ดูนกเยอะมาก แต่สิ่งที่สนุกคือแม่ไม่ได้รู้จักชื่ออะไรในป่ามากเท่าไหร่ เพราะแม่เกิดและโตที่อังกฤษ เขาเลยไม่ค่อยรู้จักว่าป่าไทย สัตว์ไทย มีชื่อว่าอะไร แต่ที่เมืองนอกเขาสอนนักเรียนต่างกับไทย เขาไม่ได้สอนวิชาการอะไรเยอะแยะ เขาสอนแค่ ศิลปะ ดนตรี ธรรมชาติ ให้กับเด็กช่วงอนุบาล 3

“แม่บอกกับผมว่า สิ่งที่แม่คิดว่าจำเป็นที่สุดในชีวิตแม่คิดว่าแม่เรียนจบหมดแล้วในชั้นอนุบาล หลังจากนั้นเป็นวิชาที่เอาไว้ให้คนไปใช้ทำมาหากิน เป็นวิชาชีพแล้ว แต่ศิลปะ ดนตรี ธรรมชาติ มันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ แม่มองว่าแบบนั้นทำให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างมีคุณค่า

หัวใจที่ละเอียดอ่อน

“ผมคิดว่าแม่พยายามถ่ายทอดสิ่งนี้กับผม เวลาเข้าป่ากับแม่ แม่จะไม่ได้ชี้บอกว่าสิ่งนั้นชื่อนี้ ชื่ออะไรเลย มันไม่ใช่สิ่งสำคัญ โอเค ชื่อมันสำคัญในแง่ที่เราจะใช้ในการไปเปิดค้นข้อมูลเพิ่มเติม แต่แม่มองทุกอย่างเป็นเชิงระบบ อย่างในสังคมมนุษย์เรามีหมอ มีครู มีนักหนังสือพิมพ์ มีแม่ค้า มีช่างซ่อมรถ มีอาชีพที่หลากหลาย เวลาเข้าป่าสังคมป่าก็เป็นอย่างนั้น สัตว์ทุกตัว ต้นไม้ทุกต้น ต่างก็มีอาชีพเฉพาะของมัน ยิ่งมีอาชีพเยอะและหลากหลายเท่าไหร่ สังคมป่าก็จะเป็นสังคมที่เสถียรภาพดี ประเภทให้คนคิดเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้

“ในป่าเวลาที่มีความหลากหลาย พอมีอะไรเข้ามามันก็จะสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงและกลับมาฟื้นฟูหรือปรับตัวได้มากกว่า แม่พยายามอธิบายให้ผมเห็นว่าสัตว์แต่ละชนิด ต้นไม้แต่ละต้น มีอาชีพอะไร ทำหน้าที่อะไร ทำไมเถาวัลย์ถึงเป็นอย่างนั้น

“สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในป่าและทุกคนแย่งกันคือแสงแดด ต้นไม้ทุกต้นต่างแย่งกัน บางต้นก็เริ่มต้นจากเมล็ดเล็กๆ ยืนด้วยลำแข้งตนเองจนสามารถกลายเป็นไม้ใหญ่ แต่โอกาสแบบนั้นบางทีก็ยากมากเพราะโอกาสข้างบนถูกจับจองหมดแล้ว มันไม่มีทางจะแทงยอดขึ้นไป ยกเว้นว่าจะมีต้นหนึ่งล้มไป อีกต้นหนึ่งก็ขึ้นไปแทนที่ เหมือนที่ดินแถวนิมมานเหมินทร์ (หัวเราะ) ต้นไม้บางต้นอาจไม่ไหวหรอก ก็ใช้เถาวัลย์

“เวลาแม่เจอเถาวัลย์ก็จะชี้ให้เห็นว่า ลูกเห็นไหม มันเกาะคนอื่นขึ้นไปบนยอด วิธีนี้ก็ไม่ต้องลงทุนสร้างตัวเองให้แข็งแรง แต่คุณต้องมีความยืดหยุ่น มีความเหนียว ลมพัดแล้วไม่เป็นไรนะ ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เราที่อยากไต่เต้าให้สูงๆ บางทีก็ใช้วิธีเลียแข้งเลียขาเขาขึ้นไป แต่ถ้าต้นไม้นั้นล้มหรือถูกเกษียณไปแล้วคุณเกาะอยู่ตรงนั้น คุณก็จะเสียไปด้วย

“แม่เป็นคนที่เปรียบเปรยเก่ง เชื่อมโยงทุกๆ อย่าง ทำให้ผมเห็นภาพว่าทุกอย่างไม่ได้แยกส่วนจากกัน ไม่ได้แบ่งวิทยาศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ เวลาเขาสอนเรื่องป่าก็สอนเรื่องสังคมไปด้วย เขามองเห็นความเชื่อมโยงได้ดี และนั่นทำให้เราเห็นภาพต่างๆ มากขึ้น

“เวลาเจอใบไม้มีลวดลายหยึกๆ หยักๆ แม่ก็จะชอบเก็บ แค่ใบไม้ที่มีลวดลาย มันก็มีนิทานแล้ว มันคืออะไร มันเป็นหนอนที่ไชใบไม้ เขาเรียกว่า leaf miner เป็นตัวทำเหมืองในใบไม้ เริ่มต้นจากวางไข่ตรงนี้ พอมันกินใบไม้ไปเรื่อยๆ ตัวใหญ่ขึ้นๆ ทางมันก็จะค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ลายบนใบก็จะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ลวดลายบนใบไม้นั้นก็มีความหมายขึ้นมาทันที

“วิทยาศาสตร์มันสนุกน่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีความงามทางศิลปะ ในใบไม้ทุกใบมีนิทานอยู่ในนั้น แม่มักเก็บสิ่งเหล่านี้ เราก็ด้วย ทุกอย่างมีเรื่องราวของมัน หลายครั้งเราไม่มองอะไรให้มันละเอียด ถามว่าลิงมีกี่ชนิด ลิงก็คือลิง มีใครรู้บ้างว่าในเมืองไทยลิงมีตั้ง 5 ชนิด หรืออย่างกวาง ทุกคนเรียกกวาง จริงๆ มันมีกวางแซมบาร์ มีสมัน เนื้อทราย เก้ง ทุกอย่างมีรายละเอียดของมันถ้าเรามองให้ละเอียด

“ถ้าลงรายละเอียดไปยิ่งกว่านั้นจะพบว่าแต่ละตัวมีอาชีพที่แตกต่างกันนิดหน่อย กินพืชเหมือนกัน ใช่ แต่รายละเอียดการกิน ที่อยู่อาศัยนั้นแตกต่างกัน พอเรามองอย่างนี้ ทุกตัวจึงมีความหมายมาก ทุกตัวต่างก็เป็นฟันเฟืองของโลก ถ้ามันถูกทำลายหรือสูญพันธุ์ไป มันจึงกระทบการทำงานทั้งระบบ”

“แม่นำให้ผมเริ่มหยุดมอง พอเห็นความมหัศจรรย์ต่างๆ ผมก็คิดว่าน่าเสียดาย ถ้าจะมองทุกอย่างแบบผ่านๆ เราพลาดอะไรไปเยอะจริงๆ เราขับรถเลนส์ขวาไปถึงจุดหมายเร็วก็อาจจะพลาด ไม่รู้ว่าเส้นนั้นมีร้านส้มตำที่มีลูกสาวสวยอยู่ก็เป็นได้ (หัวเราะ)

วันที่หัวใจหมอเปลี่ยนเป็นสีเขียว

“ตอนเด็กผมยังไม่ได้คิดอะไร สนุกที่จะได้มองได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะมาเป็นผู้ส่งสาร จนกระทั่งเหตุการณ์หนึ่งตอนที่ผมยังเป็นนักศึกษา

“ตอนนั้นผมอยู่ชมรมอนุรักษ์ พวกเรากำลังจะพาคนไปศึกษาธรรมชาติในป่าต่างๆ คิดแค่ว่าอยากให้คนหันมาสนใจเรื่องแบบนี้เหมือนกับเรา วันนั้นชมรมเราไปออกค่ายกันที่เขาใหญ่ ไปนอนกันที่คลองอีเฒ่า เดินเข้าไปในป่าที่ไกลจากที่ทำการอุทยานพอสมควร

“คืนนั้นเราพักกันในกระต๊อบเก่าๆ หลังหนึ่ง ฝนตกหนัก อยู่ดีๆ ก็มีเสียงตู้มดังมาก เราพยายามไม่คิดอะไรให้เสียบรรยากาศ คงเป็นต้นไม้ใหญ่ล้มมั้ง พอรุ่งเช้า ผมกับเพื่อนๆ ออกไปเดินกันตามชายป่า เจอรอยตามทุ่งหญ้าเป็นหลุมๆ เมื่อเทียบรอยหญ้าแล้วมันขนาดราวกระทิง เป็นรอยของกระทิงที่มานอนแถวนี้แน่ๆ พวกเราจึงเดินกันต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เจอกับก้อนสีดำๆ ตอนแรกผมคิดว่าต้องเป็นก้อนหิน แต่ผิด หากมองให้ดี ข้างหน้าของเราคือกระทิง …เพียงแต่มันไม่มีหัวแล้ว

“ผมไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราเคยเห็นภาพการล่าสัตว์ตามสื่อต่างๆ แต่ไม่ใช่เจอกับตัวต่อหน้าอย่างนี้ มันยังสดอยู่เลย เลือดที่คอยังไหลอยู่ พวกเราทุกคนในวันนั้นต่างช็อก สิ่งที่ฆ่ากระทิงตัวนี้ก็คือเสียงตู้มเมื่อคืนนั้นเอง

“นอกจากหัวของกระทิง คนที่ฆ่ากระทิงตัวนี้ไม่ได้เอาเนื้อส่วนใดไปเลย เขาไม่ได้เป็นคนหิวโซ แล้วใครกันที่ต้องการหัวกระทิง การเอาไปประดิษฐ์ข้างฝามันได้อะไรขึ้นมา ถ้ากระทิงตัวนี้ยังมีหัวอยู่ ป่านนี้มันคงออกลูกออกหลานไปตั้งเท่าไหร่แล้ว บ้าหรือเปล่ามนุษย์ ฆ่าโดยที่ไม่ได้โกรธหรือไม่ได้เพื่อป้องกันตัวใดๆ ทั้งสิ้น แต่ฆ่าเพื่อเอาหัวไปประดับ ตอนนั้นผมรู้สึกละอายในความเป็นคนมาก

“ผมยังจำบรรยากาศวันนั้นได้ มันเศร้า ฝนตกลงมาหนัก หนักจนผมไม่รู้ว่าใบหน้าเปียกน้ำฝนหรือน้ำตา พวกเราเดินออกจากป่ามาด้วยความรู้สึกหัวใจหนักอึ้ง หนักไปถึงเท้าเลย คุยกับเพื่อนว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก ก่อนที่จะไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่แล้วเขาก็ออกลาดตระเวนด่วน

“ปกติเวลากระทิงเจอคนมันก็หนีแล้ว มันมีเขาก็จริงแต่มันเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง เคี้ยวหญ้า มันไม่ทำร้ายคนยกเว้นหากต้องป้องกันตัว ผมเจอกระทิงทีไรมันวิ่งหนีทุกที ไม่ได้เก่งอะไร แต่เหตุการณ์วันนั้นมันสะเทือนหัวใจเรามาก จนตอนนั้นต้องบอกกับตัวเองว่า ไม่ได้แล้ว ผมไม่สามารถมาเพลิดเพลินกับธรรมชาติอย่างเดียวได้อีกต่อไปได้ จากหลายเหตุการณ์ที่สะสมอยู่ข้างในมาตลอด สุดท้ายเราก็ไม่ไหวเมื่อเจอกับเหตุการณ์นี้

“ตอนนั้นเลยเกิดความตั้งใจมากที่จะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไป หาแนวร่วม และต้องการทำงานด้านอนุรักษ์ เป็นคนสื่อความหมาย อยากสื่อสารเรื่องสัตว์และเรื่องป่าให้สังคมรู้”

หัวใจของการสื่อความหมายคือการเล่าเรื่องให้สนุกน่าสนใจ

“ตอนนั้นมีกิจกรรมนักสื่อความหมายโดยมีพี่สุรชัย ท้วมสมบูรณ์ หรือพี่ต้อย ที่จัดกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เกษียณไปแล้ว พี่ต้อยเคยมาเป็นหัวหน้าอุทยานดอยอินทนนท์ เป็นคนที่สร้างขบวนการนักศึกษา เป็นผู้เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมเคยไปร่วมค่ายกับท่านและเห็นวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวในป่าไปจนถึงกิจกรรมเกมธรรมชาติต่างๆ ก็เกิดความสนใจ รู้สึกว่าดีจัง ในตอนนั้นผมถึงได้เข้าใจว่าการทำให้คนหันมาสนใจธรรมชาติ เราต้องพาเขาไปสัมผัสกับธรรมชาติก่อน สิ่งพวกนี้ไม่สามารถอ่านในหนังสือหรือหาอะไรมาทดแทนได้

“ตอนที่ผมเรียนจบแพทย์ ผมตัดสินใจไปทำงานที่โรงพยาบาลในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เลือกที่นี่เพราะมีอุทยานแห่งชาติ มีป่าและสัตว์ป่าเยอะ ผมไปติดต่อครูในโรงเรียนที่นั่นว่าขอเข้าไปตั้งชมรมอนุรักษ์ได้ไหม เข้าไปสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเด็กๆ ขอทำค่ายพาเด็กไปสัมผัสกับธรรมชาติ ไปค้นตำราจากต่างประเทศเกี่ยวกับเกมศึกษาทางธรรมชาติที่เรียกว่า Nature Game เพื่อสร้างเกมขึ้นมาให้เด็กๆ ได้เล่นและเรียนรู้

“เด็กๆ ที่ผมเห็นไปไล่ยิงนกแถวโรงพยาบาล ผมเลยชวนให้มาดูนกกันดีกว่า เอากระดาษให้เขาวาดรูปนกที่เจอ ตั้งเป็นชมรมเด็กรักนก พยายามเปลี่ยนให้เขาไม่ไปล่าสัตว์ วางหนังสติ๊กแล้วหันมาดูนก ผมค่อยๆ เริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ ใกล้ตัว แชร์ความตื่นเต้นและความรักที่เรามีให้กับเด็ก ให้เขาอินและสนุกไปกับกิจกรรมด้วย กระทั่งมาช่วยกันป้องกันเวลาใครจะมายิงนก ผมเริ่มสนุกที่ได้ทำงานแบบนี้ เราปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ลงในใจของเขา เห็นประกายในแววตาของพวกเขา เด็กเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะถนอมโลก อ่อนโยนต่อสิ่งรอบตัว มันตอบความรู้สึกของเราด้วย มันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า ผมเอาประสบการณ์เหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ที่ทำเหมือนกัน กิจกรรมจึงเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ

“เป็นเรื่องยากนะ ถ้าคนที่ไม่เคยเข้ามาสัมผัสป่า ไม่ได้ผูกพันกับมัน เพราะอะไรก็ตามถ้าเราไม่รู้จักมัน ไม่มีทางที่เราจะรักมัน ไม่ได้อยากปกป้องรักษาหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นภาระต่อโลกนี้น้อยลง เพราะไม่รู้สึกเชื่อมโยง ไม่รู้จัก หัวใจเขายังไม่เคยได้สัมผัสกับความงดงามและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ที่เราต้องทำคือการพาเขากลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเขากับธรรมชาติ ต้องทำให้เขามองเห็น ได้เข้าใจ ได้รู้จัก ได้สัมผัส จนเห็นความงดงามของธรรมชาติ เห็นความสวยของดอกไม้ ได้กลิ่นหอมของมัน เห็นลำธารใส ให้เขาเกิดความรัก หรือรู้สึกว่าต้องอ่อนโยนต่อสิ่งต่างๆ ในโลก พอรู้สึกเชื่อมโยงแล้วเขาอยากปกป้องมันเอง”

“ผมอยากเชื่อมนักวิทยาศาสตร์กับสังคมเข้าไว้ด้วยกัน งานวิจัยเป็นของนักวิทยาศาสตร์ คนทั่วไปเข้าถึงยาก มันต้องทำให้เกิด popular science เพื่อให้สังคมเข้าถึง ผมจะทำยังไงให้หยิบยกเรื่องเหล่านี้มานำเสนอแล้วคนรู้สึกว้าว

“ตอนทำงานอนุรักษ์นกเงือก เราทำกิจกรรมประกวดวาดรูปนกเงือก กิจกรรมระบายสีบนกำแพง ทำให้นกเงือกเป็นทูตทางธรรมชาติเพื่อให้คนไทยได้มาสนใจป่าเมืองไทย นกเมืองไทยมันมหัศจรรย์มากเลยนะ เป็นสัตว์ดาราที่จะทำให้คนหันมาสนใจป่า ตอนนั้นเหมือนการปั้นดาราเลย เพราะผมรู้ว่าถ้านกเงือกอยู่ได้ สัตว์ชายขอบต่างๆ ที่มีความสำคัญมากต่อระบบนิเวศอย่างหอยทาก ทากดูดเลือด แมงมุม ที่คนรังเกียจ แต่จริงๆ แล้วพวกมันซึ่งเป็นฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้สำคัญมาก แต่มันไม่มีช่องเฉพาะส่วนตัวเหมือนแพนด้า มันเลยยากไปอีกขั้น แต่ถ้ารักษานกเงือกให้อยู่ได้ สัตว์ต่างๆ เหล่านี้ก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย ระบบนิเวศก็ไปได้หมด

“บางทีคนอาจจะมองว่าเราพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ มาตลอด ไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ ผมก็คิด แต่ผมก็รู้สึกว่าไอ้เรื่องเดิมๆ นี่แหละ เรายังต้องสื่ออยู่นะ ยังมีคนไม่เข้าใจว่าทำไมการสร้างฝายเป็นการทำลายระบบนิเวศ ยังคงมีการรณรงค์ให้ไปสร้างฝายตลอดเวลา ผมก็ต้องไปนั่งอธิบาย ไปนั่งทะเลาะกับเขาอยู่ตลอด เป็นเรื่องที่เราพูดซ้ำ บางทีก็รู้สึกเบื่อเหมือนกัน คนมาอ่านก็อาจจะรู้สึกว่าผมพูดเรื่องเดิมๆ แต่ผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่จำเป็น

“เรื่องการถ่ายทอดให้น่าสนใจ ถ่ายทอดให้สนุก ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากแม่ เขาอยู่ในตัวเราตลอดเวลา ผมคิดอย่างนั้น ผมทำไม่ได้ถ้าผมไม่ได้สิ่งนี้จากแม่ การถ่ายทอดให้เห็นภาพ การเปรียบเปรยการทำงานของธรรมชาติกับสิ่งที่เราคุ้นเคย เป็นเรื่องซับซ้อนมากๆ แต่ถ้าเราเข้าใจมันจริงๆ เราจะย่อยให้มันดูง่ายได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดศัพท์ภาษาละตินหรือภาษาวิชาการอะไรมากมาย ทำให้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ไม่ใช่ง่ายจนไม่มีอะไรนะ เพราะในเรื่องง่ายๆ นั้นยังคงมีความซับซ้อน มีเรื่องราวอยู่ แต่มันว้าว ผมมองว่านี่คือทักษะที่ผมมีและได้จากแม่

“ผมสามารถหยิบจุดเด่นของเรื่องราวที่จะบอกมาเล่าให้มันสนุกและน่าสนใจได้ ผมเลยทำตรงนี้มาถึงวันนี้ ผมคิดว่าผมทำต่อจากสิ่งที่แม่ทำ สืบสานสิ่งที่แม่ทำ ถึงวันหนึ่งเราก็ทำได้มากกว่าแม่ เพราะยุคแม่ยังไม่มีเครื่องมืออย่างทุกวันนี้ สังคมก็ตื่นเยอะ พร้อมรับสารมากขึ้น สมัยนั้นพูดเรื่องอนุรักษ์ไม่มีใครฟัง เดี๋ยวนี้คนสนใจมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องเหล่านี้เยอะมาก และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ”

หัวใจของนักอนุรักษ์

“คนทำงานสิ่งแวดล้อมสำหรับผมต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีประมาณหนึ่ง ไม่งั้นมันจะปวดหัวใจมาก เราจะเห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมีแต่ข่าวร้าย มันจะสำเร็จไหม เราจะสู้ไหวไหมกับสารพัดกระแสสังคมที่ถาโถมเข้ามา การบริโภคนิยม อำนาจทุนในทางที่ไม่ดีต่างๆ อีกมากมาย ตอนทำงานด้านนี้แรกๆ ผมก็รู้สึกหัวใจห่อเหี่ยวอยู่เหมือนกัน

“ในณะที่อาชีพหมอมันได้รับการตอบสนองทันที คือคนไข้หายปุ๊บเราก็รู้ว่าสำเร็จแล้ว คนไข้ยกมือไหว้ขอบคุณ เรารู้สึกว่ามันสำเร็จ เลยเกิดเสพติดความรู้สึกนี้เหมือนกัน ผมเสพติดความรู้สึกอยากมีคุณค่า อยากมีประโยชน์ งานสิ่งแวดล้อมมันมีประโยชน์มาก แต่มันเหมือนน้ำซึมทีละน้อยใช้เวลานาน ต้องพยายามเตือนตัวเองให้มองโลกในแง่ดีว่าสิ่งที่เราทำมันค่อยๆ เกิดขึ้นนะ

“ผ่านมาหลายสิบปี มองย้อนไปก็เห็นเด็กที่เราเคยพาไปดูนก ถึงแม้เขาไม่ได้ออกมาเป็นนักอนุรักษ์ แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นวิศวกร เป็นนักหนังสือพิมพ์ เราได้สัมผัสหัวใจของเขา มีผลต่อความคิด มุมมอง และเปิดประตูสู่โลกธรรมชาติของเขา ผมว่ามันเกิดผลนะ และมันค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ จนวงการอนุรักษ์ ณ วันนี้แข็งแรงขึ้น แตกแขนงออกไปเยอะมาก นี่เป็นเรื่องที่ดี”

รักษาโลกช่วยรักษาโรคของหัวใจ

“ถ้าเรารักษาธรรมชาติของโลกนี้ได้ ไม่ปล่อยให้โลกร้อนไปกว่านี้ ไม่เกิดความผันผวนทางภูมิอากาศ เราก็ไม่เกิดอุบัติการณ์โรคใหม่ หากมนุษย์เราเข้าใจว่าเราตัดขาดจากธรรมชาติขนาดไหนในวิถีชีวิตตอนนี้ เราหลุดจากวิถีที่ควรจะเป็นขนาดไหน ถ้ากลับคืนมาได้ ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ภาวะโรคทางจิต อย่างโรคซึมเศร้า ความเครียดที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงต่างๆ จะดีขึ้นมาก

“มันมีศาสตร์ที่เข้ามาศึกษาเรื่องการบำบัดแบบนี้อยู่นะ อย่างญี่ปุ่นก็มีชินรินโยคุ หรือการอาบป่า หมอจะเขียนเลยนะ คุณเป็นโรคหัวใจใช่ไหม เป็นความดันโลหิตสูง คุณไปอาบป่านะ ไปใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ตอนที่เราใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติเราจะรู้สึกเลยนะว่าใจที่มันฟุ้งอยู่จะค่อยๆ นิ่ง ความดันลดลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลง สมาธิเกิด ปราศจากความวุ่นวาย ปัญญาเกิด เพราะป่ามีผลต่อระบบการทำงานของร่างกายเราอย่างมาก

“ผมก็ยังไม่เข้าใจที่มาที่ไปทั้งหมด แต่ผมรับประกันได้ ผมพาคนเข้าป่า เวลาออกจากป่าเขาจะรู้สึกว่าสดชื่น เราจะไม่ได้ความรู้สึกนี้เวลาไปห้างแน่ๆ กลับกัน การเดินห้างเสร็จมันเป็นความรู้สึกหมดแรงนะ เวลาไปป่ามันก็เหนื่อย แต่ทำไมกลับมามันรู้สึกสดชื่นก็ไม่ทราบ

“หลายทฤษฎีพยายามอธิบายเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่าคนยังไม่เข้าใจมันทั้งหมด แต่ผมบอกได้ว่ามันมีพลังในการเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำ เยียวยาร่างกายและหัวใจที่บอบช้ำจากความเครียดที่เป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตในเมือง”

หัวใจสีเขียวที่ถูกบันทึกลงในสมุด

“Helen Keller นักเขียนชาวอเมริกัน เคยบอกว่า ‘The best and most beautiful things in the world cannot be seen or even touched. They must be felt with the heart. (ความงามที่งดงามที่สุดในโลกมันไม่สามารถรับรู้ด้วยตาหรือสัมผัสด้วยมือ แต่ต้องรับรู้ด้วยใจ)

“รูปที่ผมวาดและจดลงไปในสมุด หากมองที่ปลายทางมันก็ไม่ได้สวยงามอะไร สิ่งสำคัญมันคือกระบวนการ ถ้าเรามาตัดสินด้วยผลสุดท้าย เรื่องความสวย ความเหมือน ภาพที่ผมวาดมันก็ไม่ใช่ภาพที่เหมือนจริง แต่กระบวนการตอนที่ผมวาดมันทำให้ผมได้มองธรรมชาติด้วยตาและหัวใจที่ละเอียดมากขึ้น

“เราพยายามทำความรู้จักกับมัน ตั้งแต่มอง เริ่มวาด จรดปากกาบนกระดาษ เริ่มเขียนและพยายามเข้าใจลักษณะและรูปทรงของมัน อะไรคือพฤติกรรมของนกตัวนั้น เรามองมันอย่างจริงจังไม่ใช่แค่สปีชีส์ แต่มันคือตัวนั้น มันมีนิสัยแบบนี้ มันเป็นปัจเจก มันมีตัวตน มีชีวิตของมันเอง มีข้อมูลมากมายที่สื่อพฤติกรรมความเป็นปัจเจกของมัน เราเห็นมันกระโดดมาอย่างนี้ มันเดินไต่ดุ๊กๆ มาอย่างนี้ เรารู้สึกยังไง

“การบันทึกสิ่งเหล่านี้ลงไปมันทำให้เรารู้สึกว่าได้เชื่อมกับธรรมชาติ”


สำหรับผู้ที่สนใจรับชมเรื่องราวและความรู้จำนวนมากที่ถูกบันทึกลงในสมุดธรรมชาติของหมอหม่อง ยังสามารถเข้าไปชมได้ที่นิทรรศการ ‘บันทึกป่าของหมอหม่อง’ รวมถึงรับชมภาพยนตร์สารคดี Dr Birdman ตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2563 ณ Cinema Oasis

AUTHOR