ร้านอาหารแร้ง : โครงการอนุรักษ์ไฟแรงที่ช่วยให้แร้งมีแรงบินต่อ

Highlights

  • ร้านอาหารแร้ง คือโครงการช่วยแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยและแร้งดำหิมาลัยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยช่วงฤดูหนาว ริเริ่มเป็นครั้งแรกช่วงปลายปี 2018 โดยอาจารย์ต้น–ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เพราะในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างก็มีระบบการจัดการซากสัตว์ที่ดีขึ้น แหล่งอาหารของแร้งในธรรมชาติจึงลดลง บวกกับการใช้สารเคมีอย่างยาลดอักเสบในปศุสัตว์ทำให้แร้งจำนวนมากเสียชีวิตเมื่อกินซากที่มียาเหล่านี้ตกค้าง ประชากรแร้งจึงลดจำนวนลงเรื่อยๆ และพบแร้งอพยพร่วงเพราะขาดอาหาร ไม่มีแรงบินต่อ ในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
  • ทางออกของการอนุรักษ์และพยุงประชากรแร้งจึงเป็นการเพิ่มแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและเป็นวิธีการสากลที่ใช้กันทั่วโลก
 

รู้ไหมว่า ประเทศไทยเรามีนกแร้ง

แม้ว่าในตำราจะบอกว่าเรามีแร้งประจำถิ่นทั้งหมด 3 ชนิด คือพญาแร้ง แร้งสีน้ำตาล และแร้งเทาหลังขาว แต่ไม่มีใครพบเห็นแร้งทั้ง 3 ชนิดในประเทศไทยมาเป็นเวลาเกือบจะ 30 ปีแล้ว

แร้งประจำถิ่นชนิดสุดท้ายที่มีการรายงาน คือฝูงพญาแร้งจำนวน 30 กว่าตัวที่ลงไปกินซากเก้งที่ห้วยขาแข้ง โดยไม่รู้ว่าซากเก้งนั้นมียาเบื่อที่นายพรานตั้งใจจะวางยาเสือเพื่อถลกหนังไปขายแบบไร้รอยกระสุน นับจากนั้นแม้จะมีการสำรวจป่าสักเพียงไหนก็ไม่มีวี่แววของแร้งทั้ง 3 ชนิดมาให้เราเห็นอีกต่อไป

แต่นอกเหนือไปจากแร้งไทยประจำถิ่นที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ยังมีแร้งต่างประเทศ 2 ชนิดเลือกประเทศไทยเป็นโลเคชั่นพักตากอากาศในฤดูหนาว และถูกนับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบ้านเรา

กลางเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีคนพบเห็นแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยอพยพมาในไทยปีละ 15-30 ตัว ส่วนแร้งดำหิมาลัยที่หายากกว่านั้น 2-3 ปีก็จะพบสักตัว ซึ่งตามธรรมชาติแล้วแร้งทั้งสองชนิดนี้จะทำรังและวางไข่อยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์ที่แถวเอเชียกลาง ไปจนถึงมณฑลชิงไห่และซินเจียงในประเทศจีน แต่เมื่อถึงหน้าหนาวที่อากาศเย็นจัดและน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง หาอาหารยาก ก็จะอพยพลงมาอยู่แถวเทือกเขาหิมาลัยและอินเดีย อันเป็นที่มาของคำว่าหิมาลัยในชื่อ แต่ก็มีบางฝูงที่อาจจะรักการผจญภัย ชอบความท้าทาย ไม่อยากแมส จึงอพยพยาวมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไปจนถึงเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย

หลังเดินทางไกล แร้งก็หาทำเลเหมาะเจาะเพื่อเกาะนอนพัก โดยมากมักจะเป็นต้นไม้ใหญ่สูง 10 เมตรขึ้นไป เพราะแร้งดำหิมาลัยและแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยเป็นนกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งและสองของเอเชีย น้ำหนักอยู่ที่ 6-12 กิโลกรัม และนอกจากนั้นก็เติมพลังด้วยการหาอาหาร

ถึงจะเป็นญาติห่างๆ กับนกเหยี่ยวหรืออินทรี แต่บรรพบุรุษของแร้งออกจะขี้เกียจไล่ล่าใครให้เหนื่อย เลยพัฒนาตัวเองมาเป็นสัตว์กินซาก ไม่ออกล่าเองแต่กินสัตว์ที่ตายในธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันทั้งที่ประเทศไทยและต่างประเทศเองต่างก็มีระบบการจัดการซากที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน ชาวบ้านเองก็ไม่ทิ้งซากวัว ซากควาย หรือสุนัขให้เน่าสลายเองตามธรรมชาติ ทำให้แร้งหาอาหารได้ยาก ทุกปีนอกจากจะเห็นแร้งบินบนฟ้า ก็จะเจอ ‘แร้งร่วง’ หรือหมดแรง บินไม่ไหวเพราะขาดสารอาหาร ถ้าโชคดีชาวบ้านช่วยเอาไว้ได้ก็จะถูกนำส่งหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการรักษาฟื้นฟูก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ก็อาจมีหลายตัวที่จากไปโดยไม่มีใครเห็น

เพราะเห็นว่าการฟื้นฟูแล้วปล่อยคืนเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่อาจจะไม่เพียงพอ อาจารย์ต้น–ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คอยดูแล ศึกษา และเก็บข้อมูลแร้งทั้งสองชนิดมาตั้งแต่ปี 2007 จึงสนใจการอนุรักษ์เชิงรุกอย่างการทำ ‘ร้านอาหารแร้ง’ ขึ้น

“การทำร้านอาหารแร้งเป็นวิธีการสากลในการอนุรักษ์และพยุงประชากรแร้ง โดยจะเติมแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้ ทำกันมากที่ทวีปยุโรป เช่น สเปนและยุโรปตะวันออก ในภูมิภาคเราก็มีที่กัมพูชา ริเริ่มโดย Wildlife Conservation Society ตั้งแต่ปี 2004 เพื่ออนุรักษ์แร้งประจำถิ่น ตอนนี้มีร้านอาหาร 7 แห่งทั่วประเทศ ใช้ระบบ eco-tourism เปิดบังไพรให้นักดูนกและคนทั่วไปมาดู แล้วเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อซื้อซากวัว ซากควายให้แร้ง ผมไปศึกษาดูงานมาตั้งแต่ปี 2009 เพื่อเรียนรู้ระบบ” อาจารย์ต้นบอก

เส้นทางแรกในการอพยพของแร้งคือเข้ามาประเทศไทยจากทางภาคเหนือ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไล่มาตามผืนป่าตะวันตก ยาวลงมาภาคใต้ และมาหมดแรงร่วงที่ภาคใต้อยู่บ่อยๆ เพราะอาจารย์ต้นจึงพูดคุยประสานกับนักดูนกท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตที่เคยช่วยเหลือแร้งร่วงมาก่อนเพื่อเตรียมการหาพื้นที่ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ และเริ่มเปิดร้านอาหารแร้งเป็นครั้งแรกที่ภูเก็ต ในวันที่ 1 ธันวาคม

แต่กว่าจะมีแร้งลงมากินเป็นครั้งแรก ก็ผ่านไปเกือบเดือน

“แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยฝูงแรกลงมากินซากที่ร้านอาหารครั้งแรกวันที่ 3 มกราคม มากันเป็นฝูง 5 ตัว พอเห็นซากแล้วเขาก็จะบินวนเหนือซาก ถ้าตัวอื่นในพื้นที่เห็นแร้งร่อนตรงไหนนานๆ ก็จะรู้ว่าบริเวณนี้มีอาหารและบินมาด้วย หัวหน้าฝูงเป็นแร้งวัยรุ่นจะลงมากินก่อน แล้วตัวอื่นก็ค่อยตามมากินด้วยกัน แวะมากินกันทุกวันจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ก็หายไปจากพื้นที่พร้อมกันทั้งหมด แสดงว่าน่าจะอพยพกลับ ถือเป็นร้านอาหารแร้งครั้งแรกในประเทศไทยที่สำเร็จ เราช่วยแร้งได้ 5 ตัว”

หลายคนเข้าใจผิดว่าแร้งชอบกินของเน่า แต่นั่นเป็นเพราะในธรรมชาติแร้งไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าเลือกได้แร้งก็ชอบอาหารสดมากกว่า อาจาย์ต้นบอกอย่างนั้น

อาหารหลักๆ ที่แร้งจะได้กินจากร้านอาหาร คือขาหมู ปอดหมู ซี่โครงหมู และซี่โครงวัว ซึ่งเป็นส่วนกล้ามเนื้อที่เหมาะกับพฤติกรรมแร้งที่จะเหยียบซากเอาไว้ แล้วใช้จะงอยปากฉีกเนื้อเป็นชิ้นๆ โดยสิ่งที่สำคัญมากคือจะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อว่าไม่มีการใช้ยา Diclofenac หรือต้านอักเสบในการรักษาอาการเจ็บป่วย เพราะเมื่อแร้งได้รับยาประเภทนี้เข้าไปจะเกิดอาการไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเคยเป็นสาเหตุทำให้แร้งประจำถิ่นในอินเดียลดจำนวนฮวบลงจนเกือบสูญพันธ์ุมาแล้ว นอกจากนี้ก็จะหลีกเลี่ยงการให้ตับและไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่เป็นแหล่งสะสมสารพิษในร่างกายเพื่อความปลอดภัยของแร้ง

ส่วนทำเลที่ตั้งของร้านอาหารก็จะต้องเป็นพื้นที่กว้างที่แร้งสามารถมองเห็นซากได้ง่ายขณะร่อน และต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะไม่มีใครทำร้ายแร้ง เพราะแร้งตัวใหญ่เทอะทะ อุ้ยอ้าย ก่อนที่จะบินขึ้นก็ต้องกางปีกวิ่งไปตามพื้นเป็นการเทคออฟ และใช้เวลานานกว่าจะไต่ระดับความสูงขึ้นไปอยู่ในระยะปลอดภัยได้ โดยร้านอาหารที่ภูเก็ตเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล จึงไม่ต้องเป็นห่วงในประเด็นนี้

ทีแรกอาจารย์ต้นตั้งใจจะทำร้านอาหารแร้งที่ภูเก็ตแห่งเดียว แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจ

“วันที่ 20 มกราคม นักดูนกและผมเจอแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นเส้นทางที่สองในการอพยพ เรียกว่าสายอีสาน-ตะวันออก หรือสายอินโดจีน เข้ามาทางจังหวัดชัยภูมิ ผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และไปตกที่ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง เลยคิดว่าทางสายอินโดจีนยังไม่มีอาหารเลย” เขาเล่า

เดิมทีปากพลีนั้นเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งพักพิงที่สำคัญของนกอพยพอื่นอย่างเหยี่ยวดำกับนกอินทรีหลายชนิด เมื่อคิดจะทำร้านอาหาร อาจารย์ต้นก็ได้ความร่วมมือจากชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี กับกลุ่มถ่ายภาพนกและธรรมชาติ Bird Home จึงเปิดร้านอาหารแร้งแห่งที่สองขึ้นในวันที่ 22 มกราคม โดยที่นี่จะแตกต่างจากที่ภูเก็ต คืออยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์และใช้ระบบเดียวกับที่กัมพูชาคือเปิดบังไพรสาธารณะให้คนทั่วไปเข้ามาดูได้ แต่ในปีนี้เป็นระยะทดลองที่ยังไม่เก็บค่าธรรมเนียม เมื่อผ่านไปสิบกว่าวัน ในที่สุดก็มีแร้งลงมาประเดิมร้านอาหารให้ชื่นใจ

“ที่ปากพลีแร้งจะลงกินซากทีละตัว แต่เมื่อดูรูปจากช่างภาพที่ใช้เลนส์เทเลถ่ายภาพจากระยะไกลก็พบว่ามีแร้งถึง 8 ตัวด้วยกัน สลับกันมากิน คาดว่าเพราะมาจากต่างฝูงกัน ไม่เหมือนที่ภูเก็ต และอีกอย่างที่แตกต่างคือแร้งที่ปากพลีชอบกินปอดหมู ลงมาแล้วก็จะงับเป็นอย่างแรก ส่วนที่ภูเก็ตชอบกินขาหมู ชอบไม่เหมือนกัน” อาจารย์ต้นหัวเราะ

โก๋–สิทธิชัย อิ่มจิตร ประธานชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี หนึ่งในผู้พบเห็นแร้งที่ปากพลีตั้งแต่วันแรกและคอยดูแลร้านอาหารแร้งอย่างใกล้ชิดเล่าให้ฟังว่า แร้งมีนิสัยระวังภัยสูง ในแต่ละวันแร้งจะบินมาตั้งแต่เช้า แล้ววนอยู่ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยก่อนจะลงมากินอาหาร การใช้บังไพรจึงมีกฎกติกาต่างๆ ที่ทุกคนต้องทำตามอย่างเคร่งครัด เช่น เข้าบังไพรพร้อมกันตั้งแต่เช้าก่อนแร้งมา และกลับออกไปพร้อมกันหลังแร้งกลับ เมื่อไหร่ที่แร้งเริ่มมาบนวนเหนือซาก ทุกคนจะต้องไม่ออกจากบังไพรและใช้เสียงให้น้อยที่สุด เพราะเพียงใครสักคนแวะออกไปเข้าห้องน้ำ แร้งซึ่งสามารถมองเห็นได้ระยะ 1-2 กิโลเมตรก็อาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและตัดสินใจไม่ลงกินอาหารในวันนั้น

“แม้แต่ตอนที่ลงมาแล้ว เขาก็จะไม่กินอาหารทันที แต่จะนั่งอยู่บนตอไม้แล้วมองซ้าย มองขวา นั่งอยู่พักใหญ่จนแน่ใจถึงลงไปกินซาก เพราะเวลาเขาอยู่บนตอไม้จะรู้สึกปลอดภัยกว่าบนพื้น ตอนหลังเราเลยไปหาก้อนหินสูง 1.5 เมตร กับขอนไม้สูงๆ มาวาง เขาก็ชอบมาก ขึ้นไปยืน บางวันกระโดดขึ้นกระโดดลงก้อนหินอยู่สามเที่ยว พอกินเสร็จ อิ่ม ก็มายืนย่อยอาหารเป็นชั่วโมง แต่ถ้าคนในบังไพรไม่นิ่งพอ กินเสร็จเขาก็จะไปเลย” โก๋เล่า

ถึงจะมีร้านอาหารให้มากินได้จุใจ แต่เจ้าแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่ปากพลีก็ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างเจ้าถิ่นที่ไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่นัก

“ดงยูคาลิปตัสแถวนี้เป็นที่นอนของเหยี่ยวตอนกลางคืน เหยี่ยวดำกับนกอินทรีจะค่อนข้างคุ้นกันแล้ว นอนแยกดงกัน ไม่ยุ่งกัน แต่แร้งเป็นหน้าใหม่ ทุกวันเวลาแร้งบินมา เหยี่ยวดำจะบินเข้าไปตี บินเข้าใกล้แล้วกางขา แร้งตัวใหญ่ก็จริงแต่เทอะทะ ตีกลับไม่ทันเลยใช้วิธีหนี ร่อนออกจากพื้นที่ให้เหยี่ยวตามไป พอไกลหน่อยเหยี่ยวเบื่อก็บินไปหากินที่อื่น แร้งก็ค่อยร่อนกลับมากิน คราวนี้ก็ไม่โดนตีแล้ว” อาจารย์ต้นเล่าถึงวิธีแก้ปัญหาในแบบของแร้ง

แวะกินอาหารอยู่ได้เดือนกว่า ในที่สุดแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยก็จากปากพลีไปในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ผิดจากการคาดคะเนของอาจารย์ต้นที่คิดว่าแร้งจะกลับกลางเดือนมีนาคม อาจเพราะได้รับแรงกระตุ้นจากพายุฝนที่เข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี ส่วนร้านอาหารยังคงมีการวางอาหารอยู่อีกพักใหญ่จนกว่าจะแน่ใจว่าแร้งจากไปแล้วจริงๆ จึงค่อยปิดร้าน

เมื่อรวมยอดร้านอาหารแร้งทั้งสองแห่ง ในปีนี้เราช่วยให้แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยได้ทั้งหมด 13 ตัวด้วยกัน

ถึงอย่างนั้นการทำร้านอาหารแร้งก็มีเสียงเปรยด้วยความเป็นกังวลว่า จะเป็นการยื่นมือเข้าไปยุ่งมากเกินไป จนทำให้แร้งนิสัยเสีย ธรรมชาติเสียสมดุลหรือไม่ ซึ่งในช่วงแรกอาจารย์ต้นก็มีความหวั่นใจอยู่บ้างเล็กน้อย แต่เมื่อจบฤดูกาล สัตวแพทย์ก็มั่นใจว่าร้านอาหารแร้งไม่ได้ส่งผลเสีย

“นอกจากเป็นวิธีที่สากลทำกัน เมื่อดูจากหน้างานของเราจะเห็นว่าการให้อาหารไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของแร้งเลย ยังคงมีความระแวง ไม่เชื่องคน และเขาก็ไม่ติดใจจะอยู่ต่อ เพราะนกอพยพจะมีสัญชาตญาณนาฬิกาชีวิตที่พอถึงเวลาเขาก็จะออกเดินทาง บวกกับเขาเติบโตในอากาศที่หนาวเย็น ผิวหนังบนหัวและคอมีขนปุยสีขาวปกคลุม ไม่เหมือนแร้งประจำถิ่นที่หัวล้านเลี่ยน เมื่ออากาศร้อนขึ้นก็จะไม่เหมาะ เขาจะไม่เห็นแก่กินแล้วอยู่ต่อ ความกังวลนี้จึงไม่มีน้ำหนักเลย”

ในปีหน้าร้านอาหารแร้งทั้งสองแห่งก็จะเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง โดยจะนำประสบการณ์ในปีนี้มาปรับใช้ตามความเหมาะสม เปลี่ยนช่วงเวลาเปิดร้านเป็นกลางเดือนธันวาคมแทนต้นเดือน ในร้านอาหารที่ปากพลีก็จะมีการหาต้นยางนาต้นใหญ่มาปลูกเพื่อให้แร้งมีที่เกาะ และอาจได้พักนอนที่ปากพลีโดยตรง เพราะในปีที่ผ่านมาแร้งไม่ได้อาศัยในปากพลี แต่บินมาจากทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเกรงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีลอบยิงกลางทางจนทำให้บาดเจ็บ

“ในปีนี้มีแร้งตก 3 ตัว แต่ตกก่อนที่เราจะทำร้านอาหารแร้ง และไม่ตกในภาคตะวันออกเลย แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ ต้องทำต่อไปอย่างน้อย 3 ปีก็จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นโครงการระยะยาวที่จะช่วยเหลือสัตว์ป่าคุ้มครอง” อาจารย์ต้นว่า

สำหรับเราที่เป็นบุคคลทั่วไป หากอยากจะช่วยเหลือแร้งอพยพก็เริ่มต้นได้จากการทำความรู้จักและทำความเข้าใจแร้ง ช่วยกันบอกต่อว่าเรามีร้านอาหารแร้งที่ปากพลี ถ้าใครอยากช่วยบริจาคก็สามารถทำได้ตามกำลังศรัทธา หรือจะแวะไปดูแร้งกับตาในบังไพรแล้วจ่ายค่าธรรมเนียมก็จะกลายเป็นค่าอาหารให้แร้งได้เช่นกัน ส่วนใครที่อยากดูแร้งเพลินๆ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลีจะเตรียมพื้นที่ริมถนนที่สามารถเฝ้าดูแร้งได้ เพียงแค่จะห่างจากแร้งมากกว่าภายในบังไพรสักหน่อยเท่านั้นเอง

“ในอดีตแร้งเป็นตัวกำจัดซากที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค ซากวัวทั้งตัว แร้งรุม 20-30 ตัว ภายในครึ่งชั่วโมงคุณจะไม่เห็นซากเลย เหลือแต่ซี่โครง เป็นเทศบาลที่มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ในยุคปัจจุบันหน้าที่ในระบบนิเวศของแร้งหายไปเพราะเรามีระบบการจัดการที่ดีกว่า แต่มันกลายเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพที่ย้ำเตือนเราว่า กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่วิวัฒนาการตัวเองจนอยู่มาได้เป็นล้านปี” สัตวแพทย์กล่าว

“ถ้าเรายังคงควบคุมจัดการ ทำอะไรก็ตามต่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ต่อไป เราก็จะเห็นสัตว์ป่าต่างๆ ถูกผลักให้ใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงแต่แร้งเท่านั้น”

 



หากใครสนใจเรื่องราวของแร้งและนกอื่นๆ ในไทย สามารถติดตามได้ที่

กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย ThaiRaptorGroup.TRG

ชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี PakpliRaptorClub

ภาพโดย : กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์  และ ชมรมอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี

AUTHOR