หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ : องค์กรที่บอกสังคมว่า ‘นกนักล่า’ ที่บาดเจ็บก็ต้องการการดูแล

Highlights

  • ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว คือหัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เขาคือสัตวแพทย์และนักดูนกที่ปลุกให้สังคมหันมาสนใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนกนักล่ากันใหม่ โดยการพยายามสื่อสารว่าจริงๆ แล้วคำว่า ‘นกนักล่า’ หมายถึงอะไร
  • นกนักล่าคือสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร อาหารของนกจะผันแปรไปตามที่อยู่อาศัย ยกตัวอย่างเช่นอีแร้งที่จะไม่ล่าสัตว์อื่น แต่จะกินซากสัตว์เท่านั้น ถ้าเป็นเหยี่ยวหรือนกอินทรีจะล่าหนูนา นกขนาดเล็ก งู หรือแมลง เพราะฉะนั้นฟังก์ชั่นของนกนักล่าในธรรมชาติจึงสำคัญมากในเรื่องการควบคุมประชากรสัตว์เหล่านี้ซึ่งส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน
  • ดร.ไชยยันต์เป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิด ‘หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ’ ขึ้น เพื่อดูแลและฟื้นฟูสุขภาพนกก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ รับดูแลลูกนกกำพร้าที่ตกจากโพรงรังช่วงพายุเข้า รักษานกนักล่าที่เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ และฟื้นฟูสุขภาพนกอพยพที่ขาดอาหารแล้วร่วงตกลงมา โดยรับรักษาฟรีและไม่แสวงหากำไรใดๆ ทั้งสิ้น

สมัยก่อน โรคห่าจะเวียนมาในทุกฤดูแล้ง

โดยเฉพาะวัดสระเกศ คนจะเอาศพมาทิ้งไว้จำนวนมาก ฝูงอีแร้งจะแห่มารุมทึ้งกินซากอย่างหิวกระหายจนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของอีแร้งจึงเป็นที่น่าสยดสยองและเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว จนใครที่เห็นอีแร้งก็จะพลอยไล่ตะเพิดเพราะถือว่าเป็นโชคร้าย นกเหยี่ยว นกอินทรี อีแร้ง นกฮูก นกเค้า นกแสก และนกนักล่าอื่นๆ ก็พลอยติดร่างแหของความเป็น ‘ลางร้าย’ กับเขาไปด้วย

แต่เดี๋ยวนี้ใครที่ได้เห็นอีแร้งต้องถือว่าโชคดี ไม่ใช่โชคร้าย เพราะอีแร้งเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย นานทีปีหนจะโผล่มาให้เห็นหน้าค่าตาสักทีหนึ่ง และการอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร รวมถึงการล่าเหยื่ออันเก่งกาจ ไม่ได้บอกว่าพวกมันไม่ต้องการการดูแล

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

สมัยนี้ ไม่มีโรคห่า

ไม่มีอีแร้งมาบินร่อนรอบวัดรอกินซากศพอีกต่อไป แต่สิ่งที่ยังคงเวียนมาทุกหน้าแล้งคือแร้งอพยพที่บินมาตกในประเทศไทยเสมอๆ ใครหลายคนเรียกพวกมันอีกชื่อว่า ‘แร้งร่วง’ เพราะเมื่อบินมาหลายพันหลายหมื่นไมล์ มันจะหมดแรงและร่วงลงกลางอากาศเพราะขาดอาหาร

ผศ. น.สพ. ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม คือสัตวแพทย์นักดูนกที่ปลุกให้สังคมหันมาสนใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนกนักล่ากันใหม่ ด้วยความหลงใหลที่มีต่อนกนักล่า การเฝ้าดูเหยี่ยวอพยพตั้งแต่สมัยเรียน และการออกฟิลด์ทริปดูนกอย่างจริงจัง ดร.ไชยยันต์จึงเป็นนักดูนกในธรรมชาติตัวยง พ่วงด้วยตำแหน่งสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกนักล่า ดังนั้นที่ผ่านมาเขาพยายามสื่อสารเสมอมาว่าจริงๆ แล้วคำว่า ‘นกนักล่า’ หมายถึงอะไร

“นกนักล่าคือสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร อาหารของมันจะผันแปรไปตามที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นอีแร้งจะไม่ล่าสัตว์อื่น แต่จะกินซากสัตว์เท่านั้น ถ้าเป็นเหยี่ยวหรือนกอินทรีจะล่าหนูนา นกขนาดเล็ก งู หรือแมลง เพราะฉะนั้นฟังก์ชั่นของนกนักล่าในธรรมชาติจึงสำคัญมากในเรื่องการควบคุมประชากรสัตว์เหล่านี้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน”

ดร.ไชยยันต์เป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิด ‘หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ’ ขึ้น เพื่อดูแลและฟื้นฟูสุขภาพนกก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ รับดูแลลูกนกกำพร้าที่ตกจากโพรงรังช่วงพายุเข้า รักษานกนักล่าที่เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ และฟื้นฟูสุขภาพนกอพยพที่ขาดอาหารแล้วร่วงตกลงมา โดยรับรักษาฟรีและไม่แสวงหากำไรใดๆ ทั้งสิ้น

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

จุดประกายโครงการจาก ‘แร้งดำอนาคิน’

เดิมทีงานวิจัยเกี่ยวกับนกนักล่าและอายุรศาสตร์การอนุรักษ์เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2550 ตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดของราชการหรือคลินิกที่รับดูแลนกนักล่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว นกนักล่าซึ่งประกอบไปด้วยนกอินทรี อีแร้ง นกฮูก นกเค้า นกแสก ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ใครที่เคลมว่าเป็นเจ้าของหรือครอบครองนกเหล่านี้จะถือว่าผิดกฎหมาย

ในปีเดียวกันนั้นมีแร้งดำหิมาลัยซึ่งเป็นแร้งอพยพร่วงมาตกที่จังหวัดจันทบุรีหนึ่งตัว ในตอนนั้นคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขออนุญาตกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำโครงการฟื้นฟูสุขภาพแร้งดำหิมาลัยในชื่อว่า ‘Fly the Vulture Home’ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพแร้งดำก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

“แร้งดำหิมาลัยเป็นนกบินได้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปีกยาวประมาณสามเมตร ในปีนั้นประเทศไทยไม่มีความรู้เรื่องแร้งอพยพเลย  แร้งดำตัวนั้นมีสื่อสนใจ มีผู้สนใจให้ความช่วยเหลือจำนวนมาก เราเลยตั้งชื่อให้ว่า ‘อนาคิน’ เพราะมีสีดำ เดิมเรามักจะเห็นอีแร้งกินซากสัตว์หรือซากศพซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะมีหลักฐานทั้งทางชีววิทยาและทางประวัติศาสตร์มายืนยัน แต่เจ้าอนาคินช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่ออีแร้งให้ดีขึ้นว่าแร้งไม่ได้เป็นตัวอัปมงคล และนกนักล่าที่บาดเจ็บก็ต้องการการพยาบาลดูแลไม่ต่างจากสัตว์อื่นๆ

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

“ถือว่าแร้งดำอนาคินเป็นตัวจุดประกายให้สังคมได้รับรู้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับอีแร้งอพยพที่ร่วงลงมาและนกอพยพอื่นๆ ที่บาดเจ็บ ขาดอาหาร หรือถูกมนุษย์กระทำ เป็นปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่หน่วยงานรัฐยังไม่มีความพร้อม และยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลโดยตรง รวมทั้งไม่มีองค์ความรู้”

ด้วยแรงสนับสนุนจากคนในสังคม จึงเป็นตัวจุดประกายให้ ดร.ไชยยันต์สานต่อโครงการฟื้นฟูสุขภาพนกนักล่าขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยรักษาและให้การอุปถัมภ์นกนักล่าต่อไป ที่สำคัญคือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเยี่ยมเพื่อต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับนกนักล่าให้แก่สัตวแพทย์รุ่นใหม่ได้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้นไป

“ตอนนั้นยังเหลือเงินบริจาคที่เหลือจากการช่วยเหลือเจ้าอนาคิน ผมจึงขออนุญาตคณะสัตวแพทย์เพื่อก่อตั้ง ‘หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ’ เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทางหน่วยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่านำส่งนก แต่จะเปิดรับบริจาคในนามกองทุนนกนักล่า อุปถัมภ์เป็นค่าใช้จ่ายค่ารักษาและค่าอาหาร”

ส่วนคณะสัตวแพทยศาสตร์สนับสนุนโครงสร้างหลัก คืออาคารสถานที่และบุคลากรซึ่งประกอบด้วยสัตวแพทย์ประจำหน่วย ผู้ช่วยสัตวแพทย์ และฝ่ายคลินิก ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะช่วยดูแลเรื่องการติดต่อประสานงานและการปล่อยนกนักล่าคืนสู่ธรรมชาติ ดร.ไชยยันต์และทีมงานของหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อจึงไม่ต่างจากลมใต้ปีกที่พยุงให้นกนักล่าให้บินไกลได้อีกครั้ง

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

 

รับนกเข้าหน่วย ขึ้นทะเบียนคนไข้

ในบ้านเราจะมีแร้งอพยพบินผ่านเข้ามาในประเทศไทยช่วงเดือนพฤศจิกายน และส่วนใหญ่จะหาอาหารกินไม่ได้ ทำให้นกหมดแรงบิน แร้งที่ขาดอาหารก็จะกลายเป็นแร้งร่วงให้เห็นกันทุกปี

“ฤดูกาลนี้เรารับแร้งร่วงมาสามตัวและกำลังฟื้นฟูสุขภาพอยู่ เมื่อสัตวแพทย์ประเมินว่านกแข็งแรงดีแล้วก็จะนำไปปล่อยช่วงปลายเดือนมีนาคม นอกจากแร้งร่วงแล้ว เรายังรับอุปการะลูกนกแสกตกจากรังช่วงพายุเข้า โพรงรังหัก หรือลูกนกกำพร้าที่แม่โดนนายพรานล่า บางทีนกที่โดนรถชน ชาวบ้านก็จะนำมาส่ง”

เมื่อรับนกเข้ามาในหน่วย นกทุกตัวจะมีการใส่ห่วงขาซึ่งจะมีหมายเลขประจำตัวเหมือนเลขบัตรประชาชนของคน ซึ่งห่วงขานั้นทำเป็นเหล็กที่มีน้ำหนักเบามาก แทบจะไม่มีผลเวลานกบิน  เป็นการขึ้นทะเบียนระบุตัวตนก่อนทำการรักษาไม่ต่างจากคนไข้ของโรงพยาบาล

เมื่อรับนกเข้ามาในหน่วยแล้ว สัตวแพทย์ก็จะตรวจสุขภาพ ถ่ายพยาธิ เก็บเลือดมาตรวจเพื่อประเมินสุขภาพ และรักษาตามอาการ ในกรณีที่เป็นลูกนกกำพร้า ทางหน่วยก็จะรับเลี้ยงจนโต จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการฝึกบิน

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

ฟูมฟักให้ปีกกล้า ขาแข็ง

ในหน่วยจะมีกรงสำหรับฝึกบินหลายระดับ ยาวตั้งแต่ 15-24 เมตรขึ้นอยู่กับชนิดของนก เพื่อให้นกแต่ละชนิดซึ่งมีขนาดลำตัวแตกต่างกัน ได้ฝึกบินในระยะทางที่เหมาะสม

“เราทำเพื่อให้มั่นใจว่าเวลาปล่อยนกกลับสู่ธรรมชาติ นกเหล่านั้นจะบินได้จริง เพราะนกนักล่าต้องบินได้มันถึงจะล่าเหยื่อได้”

ดร.ไชยยันต์ชี้ให้เห็นถึงความสลักสำคัญของการเอานกมาฝึกให้บินได้ (อีกครั้ง) เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยหากประคบประหงมนกนักล่ากันแทบตาย แต่ไม่เคยฝึกให้นกบิน เพราะนั่นหมายถึงการปล่อยนกไปตาย เพราะสุดท้ายพวกมันจะล่าเหยื่อไม่เป็น

เมื่อนกนักล่าแข็งแรงและปีกกล้าขาแข็งจนบินคล่องแล้ว ก็ต้องมีการตรวจโรคให้แน่ใจในขั้นสุดท้าย “เพราะเราไม่อยากเอาโรคไปปนเปื้อนกับนกในธรรมชาติ โรคที่ต้องแน่ใจว่านกที่ปล่อยไปปลอดจากเชื้อโรคคือ โรคไข้หวัดนก โรคไวรัสนิวคาสเซิล และโรคพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นความชำนาญหลักของคณะสัตว์แพทย์อยู่แล้ว ส่วนนี้เลยเข้ามาอยู่ในกรอบของเวชศาสตร์การอนุรักษ์ คือการใช้การวินิจฉัยโรคและการรักษามาช่วยในการอนุรักษ์นกนักล่าซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง”

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

โบยบินสู่อ้อมอกของธรรมชาติ

ขั้นสุดท้าย เมื่อมั่นใจแล้วว่านกปลอดจากโรคและบินได้แข็งแล้ว ก็จะมาถึงขั้นการเลือกสถานที่ปล่อยนกให้สอดคล้องกับฤดูกาลและชนิดพันธุ์ของนกตัวนั้น

“นกอินทรีหรือเหยี่ยวขาวจะปล่อยที่ทุ่งนา ในขณะบางชนิดต้องปล่อยในป่าเต็งรังหรือป่าดิบชื้น เช่น เหยี่ยวดง เราต้องใช้ความรู้ทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกนักล่ามาประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกปล่อยนกนักล่าที่ใด ถ้าปล่อยผิดที่ นกจะไม่คุ้นเคยกับถิ่นอาศัยนั้น เหยื่อที่อยู่ในพื้นที่ก็ไม่ตรงกับอาหารที่จะล่า โอกาสที่นกจะรอดชีวิตในธรรมชาติก็น้อย ขั้นตอนนี้จึงสำคัญไม่แพ้กระบวนการฟื้นฟูและรักษาสุขภาพ”

นอกเหนือจากชนิดพันธุ์ของนกที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ แล้ว ฤดูกาลในการปล่อยนกก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยนกในประเทศไทยมีสองแบบ คือนกประจำถิ่น หมายถึงนกที่ทำรังวางไข่ในประเทศไทย ไม่มีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล เช่น เหยี่ยวขาว เหยี่ยวแดง เหยี่ยวดำพันธุ์ไทย นกแสก นกเค้ากู่ นกเค้าโมง นกนักล่าเหล่านี้สามารถปล่อยเดือนไหนก็ได้

กลุ่มที่สองคือนกอพยพซึ่งจะย้ายถิ่นตามฤดูกาล นกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำรังในเขตอบอุ่นแถบไซบีเรีย รัสเซีย จีน มองโกเลีย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนเมษายนจะเลี้ยงลูก เมื่ออุณหภูมิลดลงในช่วงฤดูหนาว เหยื่ออพยพหนีหนาว นกนักล่าเหล่านี้จึงต้องอพยพด้วย โดยจะบินผ่านประเทศไทยไปหากินในเขตร้อนชื้น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บางชนิดก็เข้ามาอาศัยในประเทศไทยตลอดฤดูหนาว เช่น อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย อีแร้งดำหิมาลัย แน่นอนว่านกกลุ่มนี้ควรปล่อยฤดูหนาว

“จะสังเกตว่านกนักล่าแต่ละชนิดจะมีสัญชาตญาณที่เป็นนาฬิกาชีวิตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูแล้งในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ถ้านกสุขภาพดีก็จะบินกลับไปยังบ้านเกิด เพราะมีสัญชาตญาณผูกพันกับถิ่นอาศัย คือเกิดที่ไหนก็จะกลับไปหาคู่และทำรังวางไข่ที่เดิม ภูมิประเทศในถิ่นอาศัยจึงสำคัญมาก หากป่าไม้ถูกทำลาย พื้นที่เปลี่ยนไปก็จะลดโอกาสในการขยายพันธุ์ของนกในกลุ่มนี้ เราจึงต้องปล่อยนกโดยคำนึงถึงแหล่งที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์”

ดร.ไชยยันต์เน้นยำว่าสองปัจจัยนี้คือตัวแปรสำคัญที่สามารถบอกได้ว่า นกนักล่าที่ปล่อยไปจะรอดหรือตาย แต่ส่วนมากทางหน่วยจะปล่อยนกนักล่าในเขตอุทยานสัตว์ป่าแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเขตห้ามล่า อัตราการรอดก็จะมากขึ้น

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

ขอติดตามไปสุดหล้าฟ้าเขียว

ทางหน่วยมีการติดตามนกนักล่าที่ปล่อยไปหลายวิธีด้วยกัน เริ่มจากวิธีง่ายๆ ใช้งบน้อย คือ ‘ห่วงขา’ ที่มีหมายเลขเฉพาะตัวประมาณ 8 ตัว โดยในห่วงขาจะมีอีเมล ไม่ว่านกจะบินไปที่ใดก็ตาม หากมีคนพบเห็นและถ่ายภาพได้ จะรู้ได้ทันทีว่านกตัวนั้นบินไปถึงไหน และสามารถรู้ได้ว่านกใช้เวลาเท่าไหร่จากจุดหนึ่งเพื่อบินไปอีกจุดหนึ่ง

แต่โอกาสที่จะได้ข้อมูลจากห่วงขามีน้อยมาก เพราะการจะได้ข้อมูลจากห่วงขา หมายความว่าต้องเฝ้ารอให้คนมาเจอนกและถ่ายรูปส่งอีเมลกลับไปให้เท่านั้น ทางหน่วยจึงมีเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องช่วยติดตามนกด้วยระบบพิกัดจีพีเอสอีกทางหนึ่ง

“เครื่องติดตามนกมีลักษณะเป็นเป้แบ็กแพ็กสะพายหลังให้นก เราจะใช้กับนกนักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ข้อดีของเครื่องนี้คือเราสามารถรู้พิกัดจีพีเอสแบบเรียลไทม์ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ชาร์จแบตไปในตัว อายุการใช้งานของเครื่องก็จะยาวนานขึ้น ทำให้เราสามารถดูได้ว่าหลังปล่อยนกไปแล้ว นกไปเกาะที่ใด สูงจากพื้นดินหรือน้ำทะเลกี่เมตร บินด้วยความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าติดตามด้วยห่วงขาอย่างเดียวและไม่มีใครถ่ายภาพได้ เราจะไม่มีทางได้ข้อมูลแบบนี้เลย”

องค์ความรู้เกี่ยวกับนกนักล่าที่ค่อยๆ งอกเงยขึ้นทุกวัน มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาต่อสัตว์และการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ป่าของทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อทุกคน

ปัจจุบันทางหน่วยมีโครงการอีกโครงการหนึ่งที่ร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์แร้งในห้วยขาแข้ง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของพญาแร้ง ถือเป็นความพยายามอีกด้านหนึ่งนอกจากการช่วยเหลือและรักษาสุขภาพนกนักล่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพยายามขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าด้วย

“สัตว์ป่าวิวัฒนาการมาเพื่อสามารถอาศัยอยู่ในป่าได้ด้วยตัวเอง ธรรมชาติไม่ได้สร้างนกให้มีปีกขึ้นมาเพื่ออยู่ในกรงหรือเป็นสัตว์เลี้ยง ถ้ารักสัตว์ป่าและนกนักล่า ขอความร่วมมือ ไม่ซื้อ ไม่เลี้ยง ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เพราะสำหรับสัตว์ป่า ธรรมชาติคือบ้านที่วิเศษที่สุด” ดร.ไชยยันต์ทิ้งท้าย

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ

ข้อแนะนำสำหรับผู้พบเห็นนกล่าเหยื่อ

หากพบเห็นนกนักล่าที่ได้รับบาดเจ็บหรือแร้งร่วง ดร.ไชยยันต์ไม่แนะนำให้จับเอง เพราะจะงอยปากของนกนักล่าแหลมคมมาก อาจทำให้บาดเจ็บ แต่แนะนำให้ติดต่อสายด่วนคลินิกสัตว์ป่า 1362 ถ้าพบเห็นแร้งร่วงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เจ้าหน้าที่จะไปรับตัวนกเพื่อมาส่งที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ส่วนในต่างจังหวัด จะมีคลินิกสัตว์ป่ากระจายอยู่ตามสำนักพื้นที่อนุรักษ์ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ขอนแก่น สงขลา พิษณุโลก และเชียงใหม่ สามารถติดต่อแจ้งด้วยเบอร์เดียวกัน

หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ


หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อใช้เงินบริจาคจากสังคม รักษาฟื้นฟูนกล่าเหยื่อที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อรับรักษานกบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคได้ที่ บัญชี กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ (Raptor Fund) คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บัญชีเลขที่ 374-1-67289-9

ขอบคุณรูปภาพจาก หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

AUTHOR