Vitra Design Museum พิพิธภัณฑ์ถูกใจสายออกแบบ ตั้งแต่ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงตัวอาคาร

คุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร ?

แล้วเราสามารถสร้างสิ่งนั้นให้กับตัวเราเองได้ไหม ?

คำถามนี้คงแตกต่างไปตามแต่ละคน หลายคนอาจนึกถึงอากาศและน้ำสะอาด สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต 

จริงๆ แล้ว ‘คุณภาพชีวิต’ หมายรวมถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด อย่างข้าวของเครื่องใช้ และสิ่งที่เรานึกไม่ถึงอย่างเฟอร์นิเจอร์

เฟอร์นิเจอร์อยู่ตรงกลางระหว่างการใช้งาน ความสวยงามและความสบายในการนั่ง เป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม ทั้งๆ ที่มีศักยภาพในการมอบคุณภาพชีวิตทีดีให้กับเรา

เฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการออกแบบและผลิตมาอย่างดี จะไม่ทำให้เรามีอาการปวดหลัง แม้นั่งทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน ก็ยังรู้สึกสบายอยู่

วันนี้เรามาดูเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์รวบรวมผลงานออกแบบ ‘เฟอร์นิเจอร์’ ที่มอบคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับมนุษย์กัน 

เมืองประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตชั้นยอด

เมือง Weil am Rhein ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของฝรั่งเศส เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ ติดกับแม่น้ำไรน์ สายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงเยอรมนีและทวีปยุโรปตอนกลาง เมืองๆ นี้มีจำนวนประชากรไม่หนาแน่นมาก มีท้องฟ้าสดใส ลำน้ำสดสวย อากาศบริสุทธิ์ แล้วยังมีพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ 

จังหวะการเคลื่อนไหวของเมือง ดำเนินไปแบบไม่รีบเร่ง แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด 

ห่างจากตัวเมืองออกมาไม่เท่าไร จะถึงเมือง Basel ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเทศกาลศิลปะระดับโลกอย่าง ’Art Basel‘ ในทุก ๆ ปี 

กล่าวได้ว่า Weil am Rhein เป็นเมืองที่มีความพร้อมทางด้านคุณภาพชีวิต การอยู่อาศัย การทำงาน และการเติมเต็มชีวิต

แล้วเมืองแห่งนี้เอง เป็นที่ตั้งของวิทรา (Vitra) Design Museum พิพิธภัณฑ์ซึ่งรวบรวมผลงานออกแบบชั้นบรมครูของบริษัท ‘วิทรา (Vitra)’ จากสวิตเซอร์แลนด์ไว้

ก่อนจะเป็นพิพิธภัณฑ์ Vitra Design Museum 

ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของวิทรา นำเสนอ ‘คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ผ่านงานออกแบบมาโดยตลอด

แต่เดิม ‘เฟอร์นิเจอร์’ เป็นเพียงสิ่งที่รองรับอิริยาบถของมนุษย์ หรือไม่ก็เป็นเครื่องแสดงออกสถานะทางสังคม ถ้าไม่ทำจากวัสดุแข็งๆ เพื่อความทนทาน ก็มักบุด้วยเบาะหนังหรือวัสดุนุ่มๆ แล้วประดับตกแต่งให้ดูสวยหรูฟู่ฟ่า

แต่ด้วยแนวคิดการออกแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาที่โลกขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต และเศรษฐกิจในทุกประเทศฝืดเคือง การดีไซน์งานออกแบบแต่ละชิ้นจึงต้องให้ความน้ำหนักกับประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้งาน เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุด 

นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจากอดีต เข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเรียบง่ายและใช้ได้จริง

ในช่วงปลายยุค 50 บริษัท Vitra ได้ร่วมทำงานอย่างเป็นทางการกับสองสามีภรรยานักออกแบบชาวอเมริกันอย่าง ชาร์ล (Charles) และ เรย์ อีมส์ (Ray Eames) ด้วยการเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบโดย อีมส์ ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า ‘Herman Miller’  

ทั้งชาร์ลและเรย์มาพร้อมกับความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ เข้ากับสถานการณ์โลก และตอบโจทย์การใช้งานของมนุษย์ ด้วยการผลิตของวิทรา เก้าอี้ของอีมส์ ได้วางขายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะในแวดวงดีไซน์

ผ่านมาก็ 70 กว่าปีแล้ว แต่งานออกแบบของอีมส์ที่ผลิตโดยวิทราก็ยังไม่ตกยุค ยังคงมีการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ จากความต้องการคุณภาพชีวิตในแบบของวิทราที่มีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละมุมโลก

ปรัชญาการออกแบบในพิพิธภัณฑ์ Vitra Design Museum 

ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งในปี 1989 พิพิธภัณฑ์ Vitra Design Museum ก็เป็นความภูมิใจของผู้คนในเมือง และเป็นจุดหมายปลายทางของสายดีไซน์มาโดยตลอด

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นำเสนอแนวคิดในการออกแบบและสร้างสรรค์ของวิทราซึ่งเป็นต้นแบบให้กับการทำงานออกแบบในรุ่นต่อๆ มา 

ภายในพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและวิสัยทัศน์ที่กำลังมุ่งไป ตัวอาคารออกแบบหลักโดย Frank Gehry สถาปนิกชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานระดับมาสเตอร์พีซของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ภายนอกอาคารเป็นทรงกลมผสมสี่เหลี่ยมสีขาว ไหลเวียนเชื่อมต่อกันขึ้นไป คล้ายจะนำเราขึ้นไปยังชั้นบนสุด

ความน่าสนใจของอาคารอยู่ตรงที่มุมที่มองเข้ามา เพราะถ้ามองจากมุมหรือองศาที่แตกต่าง รูปทรงของอาคารก็จะดูแตกต่างกันไปด้วย นับว่าเป็นแนวคิดที่นำสมัย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

ใกล้ๆ กันเป็นอาคารที่เรียกว่า ‘Vitra Schaudepot’ พื้นที่จัดแสดงคอลเลกชันงานออกแบบของวิทราอาคารนี้มีความเรียบง่าย แต่แฝงเอาไว้ด้วยความเนี้ยบ เรียบในรายละเอียด ตามสไตล์มินิมอล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของดีไซน์ของ Herzog & de Meuron บริษัทสถาปนิกชั้นนำที่ฝากผลงานชิ้นเยี่ยมไว้ทั่วทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย

คอลเลกชันที่จัดแสดงในส่วนนี้ ประกอบไปด้วยงานการออกแบบหลายร้อยชิ้น แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์ภายในและภายนอกอาคาร ไปจนถึงของแต่งบ้านมากฟังก์ชัน แต่มักถูกมองข้าม อย่างโคมไฟและอุปกรณ์ให้แสงสว่างต่างๆ หลายชิ้นเป็นผลงานดีไซน์ระดับอมตะที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงงานออกแบบของชาร์ลและเรย์ อีมส์ 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี ทั้งหมดผ่านการคัดเลือกจากภัณฑารักษ์และทีมงานของวิทรา และเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบไปยังนักออกแบบรุ่นใหม่และสาธารณชนในวงกว้าง ทางพิพิธภัณฑ์ยังมักเชิญสถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำ มาร่วมจัดเวิร์กช็อปและกิจกรรมถ่ายทอดเทคนิคความรู้ด้านการออกแบบเป็นระยะๆ 

ไฮไลต์ของปีนี้คือ เวิร์กช็อป ‘Because Chair – a Chair for Everyone’ โดย Van Bo Le-Mentzel สถาปนิกจากเบอร์ลินเชื้อสายลาว เจ้าของผลงาน ‘บ้าน 1 ตารางเมตร’ และหนังสือ Hartz IV Moebel.com: Build More Buy Less! ซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีของฝั่งยุโรปและอเมริกา 

Vitra กับการขับเคลื่อนแวดวงการออกแบบ

พิพิธภัณฑ์ Vitra Design Museum มีหน้าที่และภารกิจในการนำเสนอผลงานออกแบบที่ดีเลิศ ทั้งในเรื่องวิธีการคิด รูปลักษณ์และการใช้งาน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์  

ทั้งหมดผ่านกระบวนการดีไซน์และการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ใช้งานสูงสุด และยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ และอายุการใช้งานที่ยาวนานหลายสิบปี

ทางพิพิธภัณฑ์มีนโยบายที่จะนำคอนเทนต์ในด้านดีไซน์และการผลิตของบริษัทมานำเสนอแก่สาธารณชนเป็นระยะๆ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการออกแบบ และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

หากวางแผนการเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ Vitra Design Museum ควรเผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 1 วันเต็มๆ และควรเช็กตารางเวลาของกิจกรรมสำคัญอย่างนิทรรศการและเวิร์กช็อปด้วย จะได้สามารถเยี่ยมชมและลองสร้างสรรค์ผลงานออกแบบไปพร้อมๆ กันในทริปเดียว

AUTHOR