ฉมา และฉมาโซเอ็น กลุ่มภูมิสถาปนิกไฟแรงกล้าที่บอกว่าวิชาชีพนี้เกิดมาเพื่อดูแลโลก

Highlights

  • ภูมิสถาปนิก คือวิชาชีพที่ออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทั้งในเมือง พื้นที่ชนบท หรือในป่า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
  • ฉมา และฉมาโซเอ็น เป็นบริษัทที่ประกอบไปด้วยภูมิสถาปนิกที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาเมือง และพื้นที่สาธารณะเป็นพิเศษ
  • ในช่วงเวลาทำงาน 11 ปี ฉมาเจอกับความท้าทายหลายรูปแบบ และยังคงต่อสู้เพื่อไปสู่เป้าหมายเดิม โดยหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคสังคมมากยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้เราหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับบุคคลอย่างการลดขยะในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงระดับที่ใหญ่โตขึ้นและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากอย่างการดูแลระบบนิเวศแม่น้ำและการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว เริ่มเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหูบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ซึ่งการดูแลสิ่งแวดล้อมในแบบหลัง จะไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ไปได้หากขาดบทบาทวิชาชีพที่สำคัญอย่างภูมิสถาปนิก

บริษัท ฉมา จำกัด และ บริษัท ฉมาโซเอ็น จำกัด คือบริษัทภูมิสถาปนิกที่เชื่อว่า งานออกแบบที่ดีจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นได้ ทุกโปรเจกต์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์จากลูกค้าฝั่งเอกชน และโปรเจกต์ที่ร่วมทำงานกับภาครัฐ จึงมีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่มีต่อสังคมอยู่เสมอ ล่าสุดผลงานการออกแบบโครงการ Lupin Research Park ที่ประเทศอินเดีย จึงผ่านเข้าไปถึงรอบ shortlist ในการประกวดภูมิสถาปัตยกรรมหมวด Landscape-Rural Projects จากงาน World Architecture Festival 2018

นอกจากนี้ ผลงานเชิงคอนเซปต์อย่าง 10 KM ที่สนใจการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่รอบสวนจตุจักร ทั้งพื้นที่ใต้ทางด่วน ทางเดินลอยฟ้า บาทวิถี และพื้นที่ริมฝั่งคลอง ยังคว้ารางวัลพิเศษ WAFX หมวด Smart Cities จากงานเดียวกันมาครอบครอง

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังได้รับคัดเลือกจากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) ให้ได้รับรางวัลภูมิสถาปัตยกรรมที่สมควรได้รับการยกย่องในสาขาต่างๆ ถึง 9 รางวัล จากกว่า 75 ชิ้นงานจากบริษัททั่วประเทศ

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

ปีนี้เหมือนจะเป็นปีของฉมาและฉมาโซเอ็นอย่างแท้จริง กระนั้นเราก็รู้ว่าความสำเร็จที่เห็นในวันนี้ย่อมมาจากการทำงานเปี่ยมคุณภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ในโอกาสนี้ เราจึงชวนกลุ่มผู้ก่อตั้งมาล้อมวงสนทนาว่าด้วยวิธีการทำงานของพวกเขา วิชาชีพภูมิสถาปนิก และบทบาทในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

 

ความเป็น(ฉ)มา

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน ภูมิสถาปนิกยังเป็นอาชีพค่อนข้างใหม่ คนไทยส่วนใหญ่ยังแทบไม่รู้จัก ภูมิสถาปนิกหนุ่มไฟแรงสามคน ได้แก่ ยศ–ยศพล บุญสม, ใหม่–ประพันธ์ นภาวงศ์ดี และอู๊ด–นำชัย แสนสุภา รวมตัวกันก่อตั้งออฟฟิศของตัวเอง และตั้งชื่อออฟฟิศว่า ฉมา ที่แปลว่าผืนดิน สื่อถึงแนวทางการทำงานที่พวกเขาตั้งใจ

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

จากซ้ายไปขวา ซี ยศ อู๊ด ใหม่ และจอย

“เราเรียนจบในยุคฟองสบู่แตก สถานการณ์ในไทยไม่ค่อยดี สถาปนิกไทยนิยมไปทำงานที่สิงคโปร์ เราสามคนก็เช่นกัน ทำให้เราเห็นตัวอย่างที่ดีของการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยใช้งานออกแบบ เลยเปิดบริษัทด้วยความตั้งใจให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในบ้านเรา ซึ่งนอกจากงานคอมเมอร์เชียลจากฝั่งเอกชน งานพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อส่วนรวมก็เป็นสิ่งที่อยากทำมากเช่นกัน เป้าหมายบริษัทจึงไม่เจาะจงว่าจะทำงานแค่สเกลใดสเกลหนึ่ง แต่มองว่าทุกสเกลสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สภาพแวดล้อมเมืองได้” ยศเล่า

แต่ในช่วงแรก การทำงานเพื่อพัฒนาเมืองก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในทันที เพราะต้องอาศัยการร่วมมือจากภาครัฐ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของวิชาชีพภูมิสถาปนิก งานส่วนใหญ่ของฉมาจึงมักเป็นงานจากภาคเอกชนที่ใช้ภูมิสถาปัตยกรรมในการสร้างบรรยากาศที่ดีให้เป็นจุดขายของโครงการเสียส่วนใหญ่ นอกเหนือจากนั้นพวกเขาพยายามผลักดันโปรเจกต์ต่างๆ หรือเข้าร่วมประกวดแบบในแนวทางที่สนใจเมื่อมีโอกาส

จนเมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 ของการทำงาน หลังจากสั่งสมองค์ความรู้ มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เห็นชัดเจน รวมทั้งมีเครือข่ายทั้งกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม และกัลยาณมิตรอื่นๆ ฉมาได้ตัดสินใจเปิดบริษัทน้องภายใต้ชื่อ ฉมาโซเอ็น มาจากคำว่า social และ environment เพื่อรับงานพื้นที่สาธารณะและงานจากภาคสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนโดยเฉพาะ โดยได้ จอย–ขวัญชนก คงโชคสมัย และ ซี–กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา สองภูมิสถาปนิกผู้มีความสนใจงานแนวทางนี้ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปีแรกๆ มาช่วยกันดูแล จนทุกวันนี้ฉมาโซเอ็นกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 อย่างมั่นคงแข็งแรง

“เราแยกยูนิตออกมาเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะเราสนใจการพัฒนา และรู้ว่างานแลนด์สเคปมันทำในระดับเมืองและเป็นงานสาธารณะได้ เมื่อแยกยูนิตแล้วเราจะได้โฟกัสจุดนี้โดยตรง และมีข้อดีในการพัฒนาบุคลากรที่จะทำงานเฉพาะเจาะจงในเรื่องนี้ เพราะนอกจากความรู้ ความแม่นยำ ความเชี่ยวชาญในงานภูมิสถาปัตย์แล้ว ยังต้องเข้าใจวิธีพูดคุยเพื่อเข้าถึงชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย แนวทางปฏิบัติงานของฉมาและฉมาโซเอ็นจึงมีความแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย ส่วนการบริหารจัดการงบประมาณและค่าใช้จ่าย พอแยกออกมาเป็นบริษัทแบบนี้ก็ต้องทำโมเดลธุรกิจให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง” จอยอธิบาย

“แต่ไม่ได้หมายความว่าสองบริษัทจะทำงานใต้ปรัชญาที่ต่างกันนะ ผมเคยมีช่วงที่คิดว่าทุนนิยมคือทำลาย งานเพื่อสังคมเท่านั้นที่จะช่วยโลก แต่สุดท้ายมันเป็นเรื่องเดียวกัน งานคอมเมอร์เชียลเราก็ต้องให้คุณค่าสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย” ยศย้ำ

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

11 ปีที่ผ่าน(ฉ)มา

เพราะการตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี ทำให้คนเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของภูมิสถาปนิกมากขึ้น จากในช่วงแรกที่งานภูมิสถาปัตยกรรมในไทยส่วนใหญ่จะเป็นงานประเภทรีสอร์ตที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับความสวยงามของภูมิทัศน์เป็นหลัก

“คนทำงานภาคเอกชนเองก็เปลี่ยนเจเนอเรชั่นไป และเขารู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เขาสนใจการปลูกต้นไม้โดยไม่ไปขุดมาจากป่า ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โปรเจกต์ใหม่ที่เราทำก็พูดเรื่องการดูแลน้ำในโครงการ กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อประหยัดน้ำประปาในการรดน้ำต้นไม้และป้องกันน้ำท่วมไปในตัว มันคือการบริหารจัดการน้ำองค์รวม ซึ่งแสดงออกมาผ่านงานแลนด์สเคป เมื่อคนมองเห็นคุณค่าของมัน บางโปรเจกต์ถึงกับให้แลนด์สเคปออกแบบก่อนตัวสถาปัตยกรรมด้วยซ้ำ” ยศเล่าโดยมีใหม่ช่วยเพิ่มเติม

ไม่ใช่แค่เอกชน แต่ฝั่งภาครัฐเองก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเช่นกัน ยศบอกว่าเดิมที กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนถูกมองเป็นสิ่งที่อยู่ในเช็กลิสต์การทำงานเฉยๆ แต่เดี๋ยวนี้คนเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจทำจริงๆ เพราะหากรัฐทำอะไรโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านจริงๆ ก็จะเกิดกระแสต่อต้านได้

“ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่ดี แต่ความท้าทายรูปแบบเดิมก็ยังมีนะ” ใหม่พูดติดตลก ก่อนอู๊ดจะอธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ต้องเผชิญในการทำงานกับภาครัฐ คือขั้นตอนและระเบียบการทำงานตามระบบราชการที่ซับซ้อน ไม่เอื้อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีบทบาทในการดูแลพื้นที่สาธารณะเท่าที่ควร รวมทั้งไม่มีการทำแผนแม่บทที่จะควบคุมให้แต่ละโครงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและภาคสังคมอย่างเหมาะสม ต่างจากบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ที่ดินแต่ละแปลงมีการศึกษากำหนดจากภาครัฐเพื่อให้ภาพรวมของเมืองมีความต่อเนื่องกัน

แล้วความท้าทายใหม่ที่เพิ่มเข้ามามีอะไรบ้าง เราสงสัย

“พอเราได้ทำงานภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาเมือง หรืองานที่อยู่ในกระแสสังคมภาพใหญ่ เราก็จะโดนจับจ้อง และเจอกับกระแสตีกลับ เพราะเรายังอ่อนประสบการณ์ในด้านนี้ และคนยังไม่มีความเชื่อใจ จะทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง หาวิธีลดแรงเสียดทานของโปรเจกต์ โดยเราใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศ และหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอ” จอยเล่าถึงการทำงานของฉมาโซเอ็น

“ความคาดหวังของสังคมและลูกค้าสูงขึ้น ยิ่งเป็นโปรเจกต์สาธารณะ ยิ่งต้องสื่อสารหรือพูดคุยอย่างระมัดระวัง”

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

ภาพเมื่อครั้งไปร่วมงาน World Architect Festival 2018

(ฉ)มาด้วยกัน ไปด้วยกัน

เริ่มต้นกันมาสามคน แต่ในเวลานี้ครอบครัวฉมาและฉมาโซเอ็น มีสมาชิกร่วม 70 คนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นบริษัทภูมิสถาปนิกที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ฉมาจึงเริ่มมองถึงรูปแบบการบริหารจัดการและทิศทางการเดินหน้าต่อไป โดยช่วงก่อนหน้านี้มีการจัดสัมมนาที่ออฟฟิศซึ่งทุกคนมารวมหัวกันคิดว่า แต่ละคนมองภาพอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าของฉมาเป็นอย่างไร

“เราใช้วิธีทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นวิธีที่เวิร์ก เลยรันบริษัทไปในทิศทางเดียวกัน ให้ทุกคนในบริษัทได้มีส่วนร่วม ดึงไอเดียออกมาว่าอยากให้บริษัทเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน แล้วทำให้มันเกิดขึ้นจริง พยายามให้มันมีลักษณะเป็น flat-organization ไม่ใช่ top-down” อู๊ดอธิบาย

การมาร่วมระดมความคิดเห็นและรับฟังกันในบริษัทก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในองค์กร ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานในเชิงกายภาพที่เดิมทีมีความแออัดให้สะดวกสบาย เป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน แก้ปัญหาเรื่อง work-life balance จากเดิมที่ทุกคนรู้สึกทำงานหนัก และโฟกัสไปที่การให้ผลตอบแทนเพิ่มเติม แต่ในปัจจุบันมีการดูแลเรื่องสุขภาพ มีอาหารกลางวันให้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี มี Massage Thursday บริการนวดในวันพฤหัสบดีที่ 2 และ 4 ของเดือนให้ทุกคนในออฟฟิศ และ Happy Friday ให้ทุกคนเลิกงานเวลาสี่โมงเย็นในวันศุกร์สิ้นเดือน และมีโปรแกรมพัฒนาศักยภาพพนักงานด้านต่างๆ อย่างการให้ทุนฝึกอบรมในเรื่องที่สนใจ

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

“สเตปต่อไปเรากำลังมองถึงการปรับ work flow ในการทำงานให้เกิดช่องสำหรับการระดมความคิดและการเวิร์กช็อป การทำงานจะไม่เป็นไปเพื่อการผลิตงานอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้สังคม สร้างความร่วมมือ และเป็นบทเรียนให้กับคนที่ทำงานไปด้วย โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการทำงาน และต้องการการเติมเต็ม” ยศบอก

เมื่อไอเดียจากทุกคนมารวมกัน ก็จะเกิดเป็นพลังงานกลุ่มและมุ่งไปในทิศทางที่น่าสนใจและเกิดความเป็นไปได้มากมาย นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเชื่อ

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

บรรยากาศการทำงานในออฟฟิศ

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

บรรยากาศการทำงานในออฟฟิศ

ก้าวถัด(ฉ)มา

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมเสมอคือ เป้าหมาย

“เป้าหมายของเราเติบโตขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เรายังคงอยากพัฒนาและลงมือทำเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสังคม แต่ตอนนี้ทิศทางของเราชัดเจนขึ้น เราพูด public agenda ได้มากขึ้นผ่านงานที่ทำ เลยคิดว่ามันคงดีหากเราทำงานโดยไม่ได้มีโปรเจกต์เป็นเป้าหมาย แต่สนใจเรื่องการสร้างองค์ความรู้ การเป็นแพลตฟอร์มให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้ตรงนี้เป็นกลไกที่ทำให้เกิดวิสัยทัศน์การมองเมือง” ยศเล่า

เขามองว่าวิชาชีพภูมิสถาปนิกควรมีบทบาทในการนำเสนอโปรเจกต์สาธารณะต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ภาครัฐเป็นฝ่ายเริ่ม นอกจากนี้เขายังเห็นว่า น่าจะเป็นเรื่องดีหากฉมามีฝ่ายที่ทำการวิจัย ค้นคว้าข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะมาเพิ่มเติม จากในปัจจุบันที่แต่ละคนต้องแบ่งเวลาจากโปรเจกต์อื่นๆ มาทำ จึงอาจไม่มีเวลาดูแลอย่างต่อเนื่อง

“เราอยากเสริมตัวเองให้เป็น research-based office เพื่อให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมความคิดในการออกแบบ เพราะเราต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เจอกับโปรเจกต์รูปแบบใหม่ๆ และแนวคิดเรื่องเมืองที่แตกต่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันในยุคปัจจุบันคือการสื่อสาร จอยเล่าให้ฟังว่าการหมั่นสื่อสารออกไปว่าความคิดเบื้องหลังงานที่ทำเป็นอย่างไร มีมิติความยั่งยืน มีคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทำให้คนเริ่มเข้าใจถึงตัวตนและแนวทางของฉมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และงานที่เข้ามาหาก็จะเป็นไปในทิศทางที่ตรงกับความสนใจมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับสังคม

“แต่ละโปรเจกต์เราจะมีการทำสารคดีบันทึก เป็นคลิปสั้นๆ สื่อสารออกไป ต่อให้รัฐไม่เข้าใจแต่ถ้าสังคมเริ่มเข้าใจ มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้รัฐตระหนักว่าสังคมต้องการตรงนี้มากขึ้น”

แม้เป้าหมายที่วางไว้จะเป็นเป้าหมายระยะยาวที่อาจไม่ทันได้เห็นในชั่วอายุของคนคนหนึ่ง แต่พวกเขาก็ยังพยายามไปต่อทีละก้าว

อาจไม่เร็ว แต่มั่นคง

ภูมิสถาปนิก landscape architect ฉมา ฉมาโซเอ็น Shma

ก่อนจะจาก(ฉ)มา

สุดท้ายนี้ เราถามพวกเขาว่า บทบาทของภูมิสถาปนิกที่ดีในโลกปัจจุบันคืออะไร

“สำหรับผมมีคำตอบเดียว เราทำงานกับสิ่งแวดล้อม แล้ววิชาชีพนี้ก็มีผลต่อทรัพยากร เรา ทำงานกับสิ่งมีชีวิต ทั้งคนและต้นไม้ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้นไม้ที่เห็นสวยๆ บางทีถูกขุดมาจากป่า ขุดมาสามต้น ตายไปหนึ่ง มันเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจริงหรือเปล่า ต้องไม่ลืมเรื่องพวกนี้ในขณะที่ปฏิบัติวิชาชีพ เราจึงต้องมุ่งไปในทิศทางที่ยั่งยืนกว่านี้ มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่านี้ ในขณะที่ทำให้สภาพแวดล้อมที่คนอยู่ดีขึ้น” อู๊ดตอบ

“และเราต้องคำนึงถึงเสมอว่า เราคือกลไกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งมันมากกว่าเรื่องกายภาพ แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วนที่มากกว่าภูมิสถาปนิก เราจึงจะไปสู่จุดหมายของการสร้างทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนของเราทุกคน และที่สำคัญเราต้องไม่หยุดตั้งคำถามและมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับอนาคตด้วย” ยศกล่าวเสริม

วิชาชีพนี้เกิดมาเพื่อดูแลโลก ฉมาบอกเราอย่างนั้น

 

*ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากฉมาและฉมาโซเอ็น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!