THINKK สตูดิโอออกแบบที่ ‘คิดลึก’ เรื่องโปรดักต์และ ‘คิดมาก’ เผื่อช่างฝีมือและคนรุ่นใหม่

Highlights

  • คุยกับสองผู้ก่อตั้ง THINKK Studio พลอย–พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดย์–เดชา อรรจนานันท์ สองนักออกแบบที่ไม่เคยตีกรอบให้กับงานสร้างสรรค์ของตัวเองตลอดระยะเวลาการทำงานสิบกว่าปีที่ผ่านมา
  • สตูดิโอออกแบบแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ก่อนและหลังการทำงานมากที่สุด แถมยังสนุกกับการเรียนรู้ ค้นคว้า และการทดลองกับความท้าทายใหม่ๆ
  • งานออกแบบของ THINKK ไม่ยึดตามเทรนด์ ถึงจะล่วงรู้กันว่าทำออกมาแล้วขายดีแน่ๆ แต่ทั้งสองเลือกที่จะเชื่อในวิธีการทำของให้ฉีกกว่าคนอื่น พยายามค้นหาและค้นคว้าวัสดุใหม่ๆ และใส่ใจเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้น

THINKK Studio คือหน่ึงในดีไซน์สตูดิโอที่นักออกแบบหน้าใหม่ ไม่ว่าจะสายอินทีเรียร์ โปรดักต์ หรือเฟอร์นิเจอร์รู้จักกันดีด้วยหลายเหตุผล

หนึ่ง–คือความถนัดในการออกแบบหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะทำอะไรก็สนุกและน่าทึ่ง

สอง–คือลายเซ็นของพวกเขาที่ออกแบบให้โปรดักต์และเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นแสนจะเป็นมิตรและดึงดูดทั้งคนทั่วไปและแบรนด์สินค้าดีไซน์ในต่างประเทศ 

และสาม–ที่เราประทับใจที่สุด คือความพยายามในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นบุคลากรชั้นยอดของอุตสาหกรรมออกแบบของไทย 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เราจึงขอนั่งเก้าอี้ดีไซน์สวย คุยกับ พลอย–พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดย์–เดชา อรรจนานันท์ หัวเรือใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานออกแบบและหมุดหมายการทำงานที่น่ารักน่าชม

“ตอนแรกที่คิดชื่อ THINKK ยอมรับเลยว่าเราคิดแบบไม่ค่อยตั้งใจเท่าไหร่” พลอยเล่าที่มาของชื่อสตูดิโอพลางหัวเราะ 

“เรามานั่งคิดกันทีหลังว่าตัวตนของเราคืออะไร แล้วเป็นความบังเอิญที่สตูดิโอเราเน้นการคิดวิเคราะห์ก่อนและหลังการทำงานเสมอ เราใช้เวลากับกระบวนการคิดเยอะที่สุดเพราะเราชอบเรียนรู้ ชอบค้นคว้า แล้วก็ชอบทดลองกับความท้าทายใหม่ๆ

“เวลาคนชวนเราไปเล่าวิธีคิดงาน เราไม่เคยบอกเลยว่าเราเก่งเรื่องอะไร หรือนิยามตัวเองเป็นสไตล์ไหน เราเป็นสตูดิโอออกแบบที่พร้อมสนุกกับทุกวัสดุ ทุกเทคนิค ทุกงานเราเข้าไปลุยกันจริงๆ อย่างงานที่ต้องแกะไม้เราก็เข้าไปแกะไม้กับช่าง เรียนรู้เองเลยว่ามันเป็นยังไง เขาทำงานด้วยข้อจำกัดแบบไหน พอรู้ข้อจำกัดก็ค่อยหาวิธีผลักข้อจำกัดนั้นหรือหาทางฉีกไปอีกแบบหนึ่ง เราเชื่อว่าเราจะหาทางเล่นกับข้อจำกัดนั้นได้มากขึ้นถ้าลงไปสัมผัสกับวัสดุและเทคนิคเหล่านั้นด้วยตัวเอง”

ลำพังแค่ชื่อและตัวตนของสตูดิโอก็ผ่านการตกตะกอนทางความคิดมาไม่น้อย แล้วเบื้องหลังเส้นทางการเติบโตที่สวยงามของดีไซน์สตูดิโออายุ 12 ปีอย่าง THINKK ต้อง ‘คิดหนัก’ กับเรื่องอะไรบ้าง เราให้พลอยและเดย์เล่าให้ฟังดีกว่า

 

คิดก่อนว่าอยากทำอะไร

แม้ทั้งคู่จะเรียนจบด้านอินทีเรียร์ดีไซน์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่จุดเร่ิมต้นของแพสชั่นเรื่องโปรดักต์ดีไซน์ของพลอยและเดย์นั้นต่างกันออกไป 

พลอยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่าทำไมตลาดเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์แทบไม่มีแบรนด์ไทยปรากฏให้เห็น หรือหากมีก็ล้วนเป็นโปรดักต์ที่ตั้งราคาแพงเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเอื้อมถึง ส่วนเดย์เริ่มต้นในช่วงที่เรียนปี 3 เมื่อได้เตะตาเข้ากับโต๊ะสำนักงานที่ออกแบบโดยสองพี่น้องดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส Ronan & Erwan Bouroullec ความพิเศษคือเป็นโต๊ะที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลากหลาย 

“มันทำให้เรารู้สึกว่าการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นอะไรที่มากกว่าแค่โปรดักต์หนึ่งชิ้น ส่วนหนึ่งมันทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนได้ด้วย เราชอบที่โปรดักต์ดีไซน์และอินทีเรียร์ดีไซน์มันส่งเสริมกัน สมมติถ้าเราจับงานในสเกลเล็กอย่างโปรดักต์ มุมหนึ่งเราสามารถหยิบยืมอะไรบางอย่างมาช่วยในงานอินทีเรียร์ เช่น เราสามารถคิดลูกเล่นที่พิเศษขึ้น ไม่ได้ยึดตัวเองไว้กับฟอร์แมตมาตรฐาน ตู้ต้องแบ่งขนาดเท่านี้ หน้าบานต้องเป็นแบบนี้เป๊ะๆ

“ขณะเดียวกันการมีพื้นฐานทางด้านอินทีเรียร์ช่วยให้รู้พื้นฐานของความพอดี หรือความจำเป็นในการวางของชิ้นนั้นๆ แล้วของที่ออกแบบมามันควรจะสอดคล้องกับสเปซแค่ไหน เรามีหน้าที่ต้องเลือกอยู่แล้ว แค่ต้องออกแบบในสิ่งที่เราอยากจะใช้มัน”

แม้ว่าขาข้างหนึ่งยังเหยียบอยู่บนโลกของอินทีเรียร์ แต่ขาอีกข้างก็พาพวกเขาก้าวสู่โลกโปรดักต์และเฟอร์นิเจอร์ ทั้งคู่ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มเพื่อสะสมพอร์ตก่อนจะแยกย้ายกันไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ พลอยเลือกเรียนด้าน Spatial Design ที่มหาวิทยาลัย Konstfack ประเทศสวีเดน ส่วนเดย์เรียนด้าน Design for Luxury & Craftsmanship ที่ École cantonale d’art de Lausanne (ECAL) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประสบการณ์ชีวิตต่างถิ่นได้เปลี่ยนวิธีการมองสิ่งรอบตัวพวกเขาด้วย

“ตอนแรกเราอาจจะรู้จักวิธีคิดงานแค่ 1-2 วิธี แต่พอไปเรียนรู้จริงๆ มืออาชีพเขามีวิธีการคิดที่หลากหลายมากที่มันสามารถปรับใช้กับงานออกแบบได้ ตั้งแต่การมองในเชิงศิลปะ มองเรื่องฟังก์ชั่น การหยิบประสบการณ์ในวัยเด็กหรือเรื่องประวัติศาสตร์มาใช้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต่างคือเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ตีกรอบเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกัน เขามองเห็นความสวยงามของเด็กแต่ละคนแล้วพยายามผลักดันด้านนั้นออกมา” เดย์เปิดประเด็นน่าสนใจกลางวงสนทนา

“เหมือนเราก็รับแนวคิดที่เปิดกว้างนั้นกลับมาด้วย เรารู้สึกว่าเราจะไม่ตัดสินอะไรง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อนที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย งานแบบนี้มันผิด มันไม่ดี ตอนนี้เราไม่มองแบบนั้นแล้ว เราจะมองว่ามันเป็นความหลากหลายของวิธีคิดมากกว่า” พลอยสรุปบทเรียน

Weight Vases

 

คิดเรื่องส่งออก

หลังจากจบปริญญาโทพลอยและเดย์ตั้งใจกลับมาอยู่ไทยทันที บรรยากาศวงการนักออกแบบไทยเมื่อสิบปีที่แล้วไม่มีทางที่จะคึกคักและเปิดกว้างกับคนนอกได้มากเท่าวันนี้แน่ๆ ด้วยวัฒนธรรมและสภาพเศรษฐกิจที่ตีกรอบให้เรามองหาแต่สิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตมากกว่ามองหาสินค้าดีไซน์ที่ตอบโจทย์ด้านฟังก์ชั่นและความรื่นรมย์ เรายิงความสงสัยไปยังคนตรงหน้าว่า วันนั้นพวกเขากลับมาด้วยความรู้สึกแบบไหน

“เรารู้ว่าการกลับมาไทยมันมีการเสียโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน ความฝันของดีไซเนอร์คืออยากให้แบรนด์ดังมาซื้อแบบของเรา แต่ความเป็นจริงมันยากมาก เพราะปกติเขาใช้งานดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงกันอยู่แล้ว แถมเราเองก็ยังเด็กมาก การกลับมาอยู่ไทย โอกาสที่ยากอยู่แล้วก็ยิ่งยากเข้าไปอีกเพราะเราอยู่ห่างกันคนละซีกโลก” พลอยคลายความสงสัย

ฝันของพลอยและเดย์คือการผลักดันงานตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พวกเขาพยายามอย่างมากในการมองหาโอกาสนำผลงานตัวเองไปโชว์ตามงานแฟร์ในต่างประเทศ เพราะงานแฟร์ (ควบรวมทั้งแฟร์ในประเทศเราด้วย) ถือเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการขายไอเดียดีไซน์ให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่กำลังมองหาโปรดักต์ใหม่ๆ เติมในแค็ตตาล็อกสินค้าของพวกเขา

ไปบ่อยครั้งเข้า ชื่อของสตูดิโออย่าง THINKK ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักและจดจำในฐานะดีไซเนอร์น่าจับตาจากฝั่งเอเชีย

เก้าอี้เอาต์ดอร์อย่าง BATTEN คืองานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ที่พลอยและเดย์นิยามว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พาดีไซน์ของ THINKK ออกสู่ตลาดสากลอย่างเต็มตัว

“เราทำดีไซน์นี้ตอนปี 2016-2017 พอดีแบรนด์ Tectona (แบรนด์เฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์สัญชาติฝรั่งเศส) จัดงานประกวดแบบปิด เชิญดีไซเนอร์ 11 คนจากทั่วโลกมาประกวดแบบเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์ในวาระที่แบรนด์อายุครบ 40 ปี เราได้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย” แถมดีไซเนอร์ที่เดย์ชื่นชอบอย่าง Ronan Bouroullec ก็เป็นหนึ่งในผู้ตัดสินงานประกวดครั้งนี้ด้วย งานนี้เจ้าตัวจึงใส่ความตั้งใจเข้าไปอย่างเต็มที่ 

ผลการตัดสินคือ THINKK ได้รับรางวัลชนะเลิศ

“หลังจากส่งแบบไปหนึ่งเดือนเขาก็โทรศัพท์มาบอกว่า ‘ดีใจด้วยนะ คุณชนะ’ เราก็เอ๊ะ ฟังผิดหรือเปล่านะ (หัวเราะ) เราไม่ได้คิดว่าจะชนะเลยเพราะดีไซเนอร์อีก 10 คนที่เหลือเขาเก่งมาก บางคนทำแบรนด์ในฝรั่งเศสอยู่แล้ว หรือเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ระดับโลกก็มี” พลอยเล่าพร้อมรอยยิ้ม 

“ซึ่งหลังจากที่ได้รางวัลก็มีเรื่องดีหลายเรื่องเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้แบรนด์เคยให้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเราผลิตสินค้าให้ ซึ่งเป็นโรงงานที่ตอนนั้นเราทำงานด้วยพอดี แล้วเขาไม่ได้คอนเนกต์กันมาหลายปีเพราะเปลี่ยนไปใช้โรงงานที่อินโดนีเซียกับพม่าแทน พอต้องผลิตเก้าอี้ไม้สักตัวนี้ไปขาย Tectona ก็ได้กลับมาทำงานกับโรงงานนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เราตรวจงานสะดวกขึ้น กลายเป็นว่าเราไปช่วยสานสัมพันธ์ให้พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้ง แล้วเขาก็เอาดีไซน์อื่นๆ กลับมาผลิตที่โรงงานนี้ด้วย” เดย์เสริม

 

ฟังทั้งคู่เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ใจเรากลับฉุกคิดถึงบทบาทของนักออกแบบที่คนส่วนใหญ่ (แบบเรา) มักมองข้าม ผลลัพธ์ของการส่งออกไอเดียสร้างสรรค์มีมากกว่าคำว่าชื่อเสียง เพราะมันพ่วงด้วยประโยชน์ที่ได้สร้างงานให้กับคนต้นทางอย่างช่างฝีมือ โรงงาน หรือกระทั่งคนจัดหาวัตถุดิบ 

และถ้าหากคนในอุตสาหกรรมนี้ได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐมากพอ โปรดักต์ดีไซน์จากประเทศเราก็น่าจะมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

“บ้านเรายังไม่มีหน่วยงานไหนที่ซัพพอร์ตนักออกแบบโดยตรง ส่วนมากจะเป็นเรื่องการกระตุ้นผู้ประกอบการมากกว่าและให้พาร์ตของการออกแบบเป็นแค่มุมมุมหนึ่ง ซึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศที่เราสัมผัสเวลาไปออกงานแฟร์ แต่ละประเทศเขามีงบซัพพอร์ตให้เต็มที่เพราะพวกเขามองว่างานออกแบบเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เหมือนส่งนักออกแบบไปหาโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศเขาด้วย ตอนนี้โมเดลเราอาจจะยังไม่ชัดหรือเข้มข้นขนาดนั้น” เดย์เล่า

เหตุผลที่ผู้ประกอบการได้รับการซัพพอร์ตมากกว่านักออกแบบคือมันวัดผลปลายทางที่เป็น ‘ตัวเลข’ ได้ง่ายกว่าการวัดค่าความฉลาดหรือความเก่งกาจของนักออกแบบ ซึ่งคนที่มีหน้าที่ดึงกราฟของการสนับสนุนผู้ประกอบ (ที่จริงๆ ก็สำคัญเพราะคนกลุ่มนี้จ่ายเงินให้นักออกแบบอีกที) ให้กลับมาเป็นเส้นกราฟที่ขนานกับการสนับสนุนนักออกแบบก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเลยนอกจากรัฐ ยิ่งรู้แบบนี้ก็ยิ่งอยากเอาใจช่วยนักสร้างสรรค์เหล่านี้มากขึ้นไปอีก

 

คิดออกไปให้กว้าง

หากมองสตูดิโอที่ทำทั้งงานโปรดักต์ เฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรม และอินทีเรียร์ดีไซน์ของทั้งคู่ว่าทำงานแบบเป็ดคงดูใจร้ายมากไปหน่อย พลอยตอบกลับอย่างใจดีว่า “จริงๆ การเป็นเป็ดมันดีนะ มันเปิดโอกาสให้เราได้ทำอะไรที่หลากหลาย หรืองานแบบไหนที่เราไม่ถนัด อย่างงานกราฟิกดีไซน์ เราก็ชวนกราฟิกดีไซเนอร์เก่งๆ มาทำงานด้วย แค่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำงานร่วมกับคนที่เขาเก่งด้านนั้นจริงๆ ได้เรียนรู้จากเขาด้วย”

นอกจากวิธีการออกแบบสิ่งของและสเปซจะเอื้อกันอย่างที่พลอยและเดย์อธิบายให้ฟังในตอนแรกๆ แล้ว สิ่งที่ทั้งคู่พิสูจน์ได้ไม่นานมานี้คือ ความถนัดที่หลากหลายช่วยให้สตูดิโอของพวกเขาก้าวผ่านโควิด-19 มาได้อย่างสวยงามทีเดียว

“ตอนที่เราประสบปัญหาโควิด-19 ถ้าเราโฟกัสกับอะไรบางอย่างมากๆ เราอาจจะไปไม่รอด เช่น ถ้าเราทำแค่โปรดักต์หรือเฟอร์นิเจอร์ส่งออกอย่างเดียวพอมันกระทบตรงนั้นปุ๊บเราจะทรุดทันทีเลย โชคดีที่เราจับงานหลายอย่าง จริงๆ มีงานเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐ ลงไปช่วยเหลือชุมชนบ้าง ในมุมที่แย่มันเลยมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นในหลายๆ ทาง 

“ความหลากหลายคือข้อดีที่เราพยายามจะเก็บไว้ ซึ่งถ้าต้องแนะนำนักออกแบบรุ่นน้องๆ คงอยากให้เปิดใจลองทำอะไรที่ขยายขอบเขตความสามารถของตัวเองไปในหลายๆ ช่องทางก็น่าจะดี อย่างน้อยก็ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต แต่อย่าลืมว่ามันต้องเป็นส่ิงที่ส่งเสริมและสอดคล้องกับสิ่งที่เราถนัดนะ”

เดย์บอกว่าวิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับโปรดักต์ดีไซเนอร์คือ ให้ลองทำแบรนด์โปรดักต์ของตัวเองโดยที่ต้องไม่ไปแข่งกับแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว

น้อยครั้งที่ THINKK จะเผยแพร่งานออกแบบอินทีเรียร์บนมีเดียของตัวเอง แม้ความจริงแล้วงานอินทีเรียร์เป็นขาอีกข้างที่สำคัญต่อการทำสตูดิโอ เหตุผลที่พวกเขาเลือกพูดถึงงานพาร์ตนี้น้อยกว่าโปรดักต์เป็นเพราะงานอินทีเรียร์เป็นงานที่มีความเป็นส่วนตัวและรสนิยมของลูกค้าอยู่ และพวกเขาเคารพ ‘ความเป็นเจ้าของ’ สิ่งเหล่านั้นเอามากๆ

“เมื่อก่อนเราอาจจะเริ่มจากงานอินทีเรียร์มาก่อน ลูกค้าบางกลุ่มอาจจะไม่ได้เข้าใจว่าเราคือใคร หรือมีวิธีคิดและแนวทางในการออกแบบประมาณไหน งานที่ทำออกมาก็ออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ช่วงหลังๆ กลายเป็นว่ามีคนเข้ามาหาเราเพราะคาแร็กเตอร์ของเฟอร์นิเจอร์หรือโปรดักต์ที่ค่อนข้างชัด หรือรู้จักเราผ่านนิทรรศการหลายๆ ครั้งที่เคยทำมา คนเริ่มอยากได้งานอินทีเรียร์ที่มีความเป็นตัวตนของเรามากขึ้น ช่วงนี้งานในพาร์ตนี้ค่อนข้างสนุกมากขึ้นในแง่ที่ว่าลูกค้าเปิดพื้นที่ให้เราเยอะขึ้น เพราะเขาเชื่อในสไตล์ของเรา” เดย์สรุป

City Materials

City Materials

คิดลึกเรื่องวัสดุและความยั่งยืน

ปีนี้เป็นปีที่ 12 ของ THINKK Studio สำหรับพวกเขาแล้วสิ่งที่ยากที่สุดในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทุกวันนี้คืออะไร–เราเอ่ยถาม

“จริงๆ ก็พบว่ามันยากขึ้นทุกปี” พลอยหัวเราะ “เพราะว่ามีโปรดักต์ใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เพราะฉะนั้นการจะทำให้งานเรามีคุณภาพดีทั้งในฝั่งของดีไซน์และฟังก์ชั่น มันทำให้เราต้องคิดเยอะขึ้น แคร์เรื่องโปรดักชั่น ทำยังไงให้ราคามันคุ้มค่ากับการซื้อของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันประสบการณ์ที่เยอะขึ้นมันช่วยให้เราใช้เวลาในการทำงานสั้นลงด้วย”

“เราคิดว่าเป็นเรื่องเหตุและผลในการทำของชิ้นนั้นออกมาใหม่ เพราะวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงวิธีการผลิตที่คล้ายๆ กันได้ง่ายขึ้น ในโรงงานไม้แต่ละที่ก็มีไม้เหมือนกัน วิธีการจัดการกับไม้เรารู้แล้วว่ามันมีวิธีการที่ 1 2 3 แบบนี้ โจทย์คือเราจะใช้วิธีการที่มีอยู่แล้วสร้างสิ่งใหม่หรือดีเทลใหม่ๆ ออกมาได้ยังไง” เดย์เล่าเสริม

งานออกแบบของ THINKK ไม่ยึดตามเทรนด์หรือสไตล์ที่คนในตลาดจับตา ที่สำคัญต้องมีเซนส์ของความเป็นสากลเพราะพวกเขาเชื่อว่าเดี๋ยวนี้คนไทยกับคนอเมริกาไม่ได้ชอบของต่างกันมาก และแม้จะเป็นที่ล่วงรู้ว่าทำออกมาแล้วขายดีแน่ๆ ดีไซเนอร์ทั้งสองก็เลือกที่จะเชื่อในวิธีการทำของให้ฉีกกว่าคนอื่น พยายามค้นหาวัสดุใหม่ๆ ที่วันหนึ่งอาจมาแทนที่วัสดุที่พวกเขาเคยใช้ และต้องคิดถึงความยั่งยืนให้มากขึ้น

“เราคิดถึงความยั่งยืนมากขึ้นเพราะเรารู้สึกว่านักออกแบบเป็นคนอีกกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรเยอะ เราเลือกใช้ของและสร้างของใหม่กันตลอดเวลา ถ้าเราไม่หาทางออกอื่นๆ หรือหาวัสดุทางเลือกที่มันลดการใช้วัสดุใหม่มาใช้ เราก็จะกลายเป็นคนที่สร้างปัญหาและทับถมมันไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราเลยเริ่มสนใจเกี่ยวกับวัสดุทางเลือกกันมากขึ้น” เดย์อธิบาย

หลายๆ โปรดักต์ของ THINKK ไม่ได้สนใจแค่เรื่องความยั่งยืนในเชิงทรัพยากรเท่านั้น ความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนก็เป็นเรื่องที่อยู่ในห้วงความคิดของพวกเขาเช่นกัน

SARN lamp

“อย่าง SARN lamp เป็นงานจากโปรเจกต์พัฒนาสินค้าที่ทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ หมู่บ้านที่เราไปมีจุดแข็งคือเป็นแหล่งปลูกต้นลานที่ใหญ่ แล้วเขาเอาใบลานมาสานเป็นกล่องทิชชู รองเท้า และกระเป๋าส่งขายตามจตุจักร เราเห็นว่าเขามีศักยภาพทั้งในเรื่องฝีมือการสานและวัสดุที่มีคุณสมบัติต่างจากไม้ไผ่กับหวายซึ่งค่อนข้างยูนีค ก็เลยลองคิดดีไซน์โคมไฟอันหนึ่งให้เขาลองทำกัน 

“ระหว่างนั้นเราก็คิดถึงวิธีการที่จะทำยังไงให้ข้อด้อยของมันหายไปด้วย” ข้อด้อยที่ว่าคือความไม่เรียบร้อยและความบิดเบี้ยวที่เป็นธรรมชาติของงานที่สานด้วยมือ “ขนาดมันไม่เป๊ะ บางอันคับจนสวมเข้ากับหลอดไฟไม่ได้ บางอันหลวมไป เราเลยแก้ด้วยการออกแบบลายการสานใหม่ ชั้นนอกสีหนึ่ง ชั้นในอีกสีหนึ่ง เพราะคุณสมบัติเด่นของใบลานคือความบางเลยสานซ้อนกันได้”

พลอยบอกเราว่าเกมนี้ไม่ง่าย เพราะช่วงแรก SARN lamp วางขายแค่ในหมู่บ้านหรือช่องทางที่ชาวบ้านมี ผลคือคนที่เข้ามาหน้าร้านตรงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนทั่วไป ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเสพงานดีไซน์ ยอดขายโคมไฟมีดีไซน์รุ่นนี้จึงเงียบเกินคาด พลอยจึงแก้เกมด้วยการรับมาช่วยขาย

“ช่วงนั้นเราได้โอกาสไปออกแฟร์ที่ปารีสพอดี เลยเอาโปรดักต์ตัวนี้ไปโชว์ด้วย ปรากฏว่าฟีดแบ็กดี ดีไซเนอร์ระดับโลกเดินมาจับ มาถามว่าทำจากวัสดุอะไร เรารู้สึกดีใจที่มันไปเตะตาคนที่นู่น หลังจากนั้นก็มีเอเจนซีจากปารีสติดต่อขอซื้อไปขาย” สำหรับพลอยดีไซน์คือเรื่องสำคัญ แต่การวางให้ถูกที่ถูกเวลาก็สำคัญไม่แพ้กันเลย

 

FLUTED GLASS TABLE

FLUTED GLASS TABLE

ต่อด้วย FLUTED GLASS TABLE โต๊ะกระจกตัวจิ๋วที่มีดีกรีเป็นรางวัลชนะเลิศหมวดโต๊ะข้างจาก Interior Design’s Best of Year Awards ปี 2018

“พอพลอยเล่าในมุมคราฟต์แล้ว ผมอยากเล่าในมุมของงานอุตสาหกรรมบ้าง เรามีโอกาสได้รู้จักโรงงานกระจก Thai Techno Glass เขารับทำพวกกระจกลามิเนตสำหรับงานตกแต่งอินทีเรียร์ แล้วก็ถนัดเรื่องการใส่เทคนิคนู่นนี่เข้าไปในกระจก” ไม่เพียงแค่ทำความรู้จัก เดย์กับพลอยยังติดต่อเข้าไปเยือนโรงงานเพื่อดู know-how ที่พวกเขามีด้วย

“ทุกคนน่าจะเคยเห็นกระจกลอนที่ปกติจะเป็นแผ่นแฟลตแบนๆ แต่พอดีว่าที่โรงงานนี้เคยรับทำกระจกโค้งรถยนต์มาก่อน เขารู้วิธีการดัดกระจกดีอยู่แล้ว เราเลยเอาวิธีการดัดโค้งนี้มาใช้กับกระจกลอน แล้วก็ลามิเนตฟิล์มสีที่ไล่ระดับเฉดจากอ่อนไปเข้มไว้ตรงกลาง ซึ่งโรงงานเขาก็ทดลองให้จนทำได้จริงๆ เราเลยเอากระจกลอนโค้งนี้มาทำเป็นโต๊ะกระจก พอทำชิ้นนี้ออกมามันทำให้เราฉุกคิดกันว่า จริงๆ แล้วงานอุตสาหกรรมบ้านเราไม่ได้ล้าหลังหรือด้อยไปกว่าใครเลย เพียงแค่เราต้องหยิบดีไซน์เข้าไปจับให้ถูก”

 

คิดเผื่อวงการออกแบบและวงการอื่นๆ

“สิ่งที่เดย์ชอบมากคือการสอน ชอบให้ความรู้ เวลามีดีไซน์วีคหรือช่วงที่เด็กๆ ต้องหาที่ฝึกงาน เราก็จะเปิดรับเด็กๆ เข้ามาทำงานกับเรา ก็เลยคิดกันว่าอนาคตอยากทำ THINKK ให้เป็นโรงเรียน” 

พลอยและเดย์อยากเปิดพื้นที่ที่คล้ายกับ research center เล็กๆ ให้คนมาเรียนรู้เรื่องวัสดุ เครื่องไม้เครื่องมือ กระบวนการสร้างของสักชิ้น จัดเวิร์กช็อปให้กับเด็กๆ และมีโชว์รูมสำหรับโชว์ผลงาน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนความหวังที่อยากจะเห็นวงการออกแบบของบ้านเราสนุกและมีสีสันมากขึ้นนั่นเอง

“เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาส่วนมากเขารู้จักงานเรามาประมาณหนึ่ง อาจจะเคยฟังเราพูดหรืออ่านบทสัมภาษณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะรู้อยู่แล้วว่าสไตล์งานเราเป็นแบบไหนยังไง หลายๆ คนก็เคยเป็นเด็กที่ขอมาฝึกงานที่ THINKK ใครหน่วยก้านดีเราก็ชวนเขามาทำงานต่อ แต่จริงๆ เรากับเดย์ไม่ได้อยากจะโตขึ้น แต่พอโอกาสการทำงานที่เข้ามาเยอะมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่เราจะต้องการคนเข้ามาช่วย เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสทำงานสนุกๆ ได้เยอะขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกงานเรากับเดย์ต้องลงไปดู ไม่มีงานชิ้นไหนที่เราสองคนไม่รู้ไม่เห็นนะ”

อีกหนึ่งเป้าหมายที่พลอยตั้งใจคือการพัฒนาแบรนด์โปรดักต์ THINGG ที่พวกเขาปลุกปั้นให้แข็งแรง

“หลังจากที่เรามีโอกาสพัฒนาโปรดักต์ร่วมกับชาวบ้าน ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือเขาไม่มีตลาด เขามีแต่ฝีมือและวัตถุดิบ แต่เรารู้ว่ามันมีโอกาสในการขายในตลาดได้จริง เราทำแบรนด์นี้ขึ้นมาเพราะอยากทำให้คนได้เห็นว่า design object สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งดีไซเนอร์และคนในชุมชนด้วย

“อาชีพดีไซเนอร์เกี่ยวข้องกับคนหลากหลายมาก ตั้งแต่ช่างในชุมชน โรงงาน ผู้ประกอบการ จนถึงธุรกิจการค้าของประเทศ การตัดสินใจหรือการตั้งใจทำงานของเรามันส่งผลกระทบกับคนในปริมาณค่อนข้างเยอะ เป็นไปได้เราก็อยากจะทำให้ทุกองค์ประกอบมันดี ยิ่งถ้ามีคนมาช่วยซัพพอร์ตหรืออย่างน้อยๆ ถ้าเราสามารถซัพพอร์ตคนได้มากขึ้น เติมลูปธุรกิจสินค้าดีไซน์ให้มันครบ แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว 

“ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าเราไม่ได้อยากจะดังระดับโลกหรือมีเงินเป็นเป้าหมาย แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราต้องคิดบ้างเพราะเรารู้แล้วว่าสิ่งที่ทำมันคือธุรกิจอย่างหนึ่งที่ต้องมีผลกำไรตอบแทนกลับไปให้สังคมบ้าง เราอยากให้คนที่ทำงานให้เรามีความสุขและมีเงินด้วยเหมือนกัน” พลอยทิ้งท้าย

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!