ตลาดเกษตรกรออนไลน์ กลุ่มออกแบบประชาธิปไตย – Think Positive ประจำเดือนกันยายน 2563

ตลาดเกษตรกรออนไลน์ กลุ่มออกแบบประชาธิปไตย – Think Positive ประจำเดือนกันยายน 2563

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทัน หรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

เดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา เราพบว่านวัตกรรมส่วนใหญ่ที่เจอมักเป็นการหยิบเอาประโยชน์ของโซเชียลมีเดียและความเป็นโลกออนไลน์มาเชื่อมต่อกับตัวคน เพื่อให้เกิดแอ็กชั่นในชีวิตจริง ตั้งแต่ LocalFarm ที่เป็นตัวกลางช่วยขายสินค้าในท้องถิ่น, การใช้ความสามารถและพื้นที่ออนไลน์ในการกระจายความรู้สร้าง awareness ของกลุ่ม Young Designers For Democracy, การขอความคิดเห็นและประสบการณ์การเดินทางเพื่อนำไปพัฒนาเป็นป้ายรถเมล์ในเชียงใหม่ของ MAYDAY! และการเปิดรับบริจาคอุปกรณ์วาดภาพและอุดหนุนผลงานศิลปะบ้านผู้สูงอายุราชสีมา ซึ่งแม้จะไม่ใช่นวัตกรรมสุดล้ำระดับที่ต้องร้องว้าว แต่การใช้วิธีสร้างสรรค์แก้ปัญหาก็ถือเป็น think positive ที่น่าชื่นชม

LocalFarm ตลาดกลางออนไลน์ที่อยากเชื่อมต่อเกษตรกรและชุมชนโดยตรง

ในช่วงนี้เราคงได้เห็นแคมเปญออนไลน์ที่รณรงค์ให้คนหันมาอุดหนุนโปรดักต์ที่มีจุดยืนตรงกับความเชื่อของพวกเขา รวมถึงโปรดักต์ที่เป็นของแบรนด์ท้องถิ่นและเกษตรกรในพื้นที่จริงๆ กันมากขึ้น นอกจากเป็นการขยายตัวเลือกในการอุปโภคบริโภคให้ตัวเองแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ค้ารายย่อยอื่นๆ ที่เราอาจไม่เคยมองเห็นด้วย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และเทคมีทัวร์ (TakeMeTour) ได้สร้างสรรค์และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มีชื่อว่า LocalFarm ขึ้นมา เพื่อมุ่งหวังในการช่วยเหลือเกษตรไทยและชุมชนท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวในสถานการณ์โควิด-19 และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผักผลไม้ที่ดีมีคุณภาพจากชาวสวนโดยตรง ถือเป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่เหมือนพ่อค้าแม่ค้าคนกลางให้ระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อ เพียงแต่ทั้งสองฝั่งจะไม่มีใครเสียเปรียบ ไม่มีใครโดนกดหรือโก่งราคา

‘นพ–นพพล อนุกูลวิทยา’ ผู้ร่วมก่อตั้ง TakeMeTour และ LocalFarm เล่าว่าเขาและเพื่อนได้ไอเดียเริ่มต้นทำแพลตฟอร์มนี้จากการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ TakeMeTour ที่จับคู่ระหว่างชาวต่างประเทศที่อยากเที่ยวแบบโลคอลกับคนในท้องที่อย่างแท้จริงเพื่อเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวให้กว้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อน จนมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ส่วนนี้ต้องหยุดไป

นพกับเพื่อนจึงปิ๊งไอเดียปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มนี้มาเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่ เพราะนอกจากเกษตรกรท้องถิ่นที่ได้ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หายไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่ LocalFarm ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก พวกเขาจึงติดต่อหาองค์กรต่างๆ มาช่วยซัพพอร์ต กลายเป็นการร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน

คอนเซปต์ของ LocalFarm คือตลาดผักผลไม้และสินค้าแปรรูปออนไลน์ที่คัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากเกษตรไทยทั่วประเทศ มากกว่า 50 สวน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ประจำฤดูกาล ผักสลัด และผลไม้แปรรูป เช่น น้ำมะพร้าวหอมหรือกล้วยตาก รวมแล้วมากกว่า 150 รายการ โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อผ่านการพูดคุยกับชาวสวนโดยตรง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะจ่ายตรงให้กับชาวสวน ไม่มีการหักค่าคอมมิสชั่น

วิธีการใช้งานตลาดออนไลน์นี้ก็แสนง่าย เพียงเข้า https://www.takemetour.com/localfarm เมื่อลงทะเบียนกับเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เลือกผลิตภัณฑ์ที่สนใจ สั่งซื้อกับเจ้าของไร่ได้โดยตรง และชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะได้รับผักและผลไม้ที่มีคุณภาพ สดใหม่ เหมือนเพิ่งเด็ดจากสวนส่งตรงถึงบ้าน

นอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าคุณภาพที่คัดสรรมาแล้ว ในแพลตฟอร์มยังมีส่วน ‘เรื่องเล่าจากสวน’ ที่บอกเล่าสตอรีของแต่ละสวน ช่องทางติดต่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายด้วย ทั้งนี้ยังมีส่วนรวบรวมผลไม้ GI หรือผลไม้ที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นสินค้าเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ซึ่งต้องมีแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีคุณภาพ แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตจากพื้นที่อื่นๆ โดยสินค้า GI นี้ช่วยสร้างมูลค่าให้สินค้าของชุมชน และนำมาซึ่งรายได้ที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกันสำหรับใครที่อยากส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นแนวหน้าในช่วงวิกฤตโควิด-19 LocalFarm ก็จัดตั้งโครงการ ‘Thanks Heroes’ ให้ทุกคนสามารถเลือกสั่งซื้อผัก ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูป และทางแพลตฟอร์มจะรับหน้าที่ประสานงานจัดส่งถึงโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมกับ ‘Gift Card’ ที่สามารถเขียนข้อความดีๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย

ใครสนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ LocalFarm

 ‘ยังดี’ กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อออกแบบประชาธิปไตยของตัวเอง

ในยุคสมัยหนึ่งที่การส่งต่อข้อมูลหรือรณรงค์ทำอะไรสักอย่างจะสื่อสารผ่านโปสเตอร์แล้วนำไปแปะตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนจำนวนมากเห็นและรับรู้ ตัดภาพมาที่ยุคสมัยปัจจุบัน คนจำนวนมากใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารข้อมูล ทั้งยังกระจายไปไวด้วยสีสัน รูปภาพ กราฟิก และข้อมูลที่สรุปมาแบบเข้าใจง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองและประเด็นสังคม หลายคนคงได้เห็นโปสเตอร์หรืออินโฟกราฟิกสวยๆ สื่อสารถึงการชุมนุม แคมเปญรณรงค์ หรือสรุปเหตุการณ์สำคัญๆ อันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนตามโซเชียลมีเดีย

Young Designers For Democracy (YDFD หรือชื่อภาษาไทยว่า ยังดี) จึงเกิดขึ้น โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีความสนใจในสถานการณ์การเมือง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ในอดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต เพื่อร่วมกันหยิบยื่นความสนใจที่ตนมีมาผลิตสื่อเฉพาะกิจต่างๆ ตั้งแต่บทความ กราฟิก วิดีโอ และอีกมากมาย ซึ่งสื่อทั้งหมดจะปล่อยเป็น Open Source ทุกคนสามารถนำไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ทันที

ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์เล่าถึงที่มาของ ‘ยังดี’ ว่าตนได้เห็นการส่งต่อข้อมูลผ่านสื่ออินโฟกราฟิกที่สามารถเข้าถึงและแชร์ได้ง่าย “เป็นการสรุปข้อมูลที่เซฟแค่รูปเดียวก็รู้ครบเลย แต่ส่วนใหญ่อินโฟกราฟิกที่ตีแผ่ข้อเท็จจริงและข้อมูลเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันจะไปกองงานกันที่เหล่าองค์กรสื่อออนไลน์ ซึ่งปกติคนที่ทำภาพประกอบ กราฟิก หรือผลิตสื่อประเภทนี้ไม่ได้มีจำนวนเยอะมาก ทั้งนี้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเองก็มีปัญหาเรื่องมีมือทำกราฟิกที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“เป้าหมายของเราจึงเป็นการรวมตัวกันของนักเรียนนักศึกษาที่มีความสนใจและความสามารถในการผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ อย่างการออกแบบ ศิลปะ การเขียน การตัดต่อ เพื่อเผยแพร่สื่อเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยที่ทำให้คนสามารถเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้นในรูปแบบที่หลากหลายโดนใจผู้พบเห็น รวมถึงช่วยประชาสัมพันธ์และผลิตสื่อให้กับกลุ่มคนที่ต้องการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในด้านต่างๆ ถ้าให้เปรียบเทียบ YDFD อาจเป็นจุดรวมข้อมูลที่เป็นเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่รวดเร็วแล้วก็มีหลายรสชาติให้เลือกกินได้ แค่เปลี่ยนเป็นให้เลือกเซฟและแชร์ต่อแทน”

เธอเล่าเพิ่มว่าตอนนี้สมาชิกตั้งต้นในทีมมีประมาณ 20 กว่าคน โดยแบ่งเป็นทีมที่คิดหัวข้อ จัดเตรียมข้อมูล รวบรวมข้อมูล และตรวจสอบข้อมูล รวมถึงทีมแปลภาษา ทีมเขียนคอนเทนต์ และทีมทำงานอาร์ตเวิร์ก ซึ่งจะมีการเปิดให้สอบถาม ปรึกษากันและกัน เพื่อทำให้งานออกมาตอบโจทย์และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แต่ด้วยความที่สมาชิกหลายคนยังเรียนอยู่ ทำให้หลายอย่างเกิดความล่าช้าเพราะข้อจำกัดเรื่องเวลา รวมถึงในส่วนตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ต้องมีการรวบรวมข้อมูลมาเยอะๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อย่อยให้ชุดข้อมูลนั้นสั้นและเข้าใจง่ายขึ้น ก็ถือเป็นขั้นตอนที่ยากและใช้เวลามากกว่าที่คิด

หากใครสนใจอยากเข้ามาเสริมพลัง ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์เล่าว่าจะมาประกาศหาเพื่อนร่วมทีมอีกครั้งเร็วๆ นี้ หรือถ้าอยากติดตามข้อมูลและแชร์สื่อที่พวกเขาทำ สามารถกดติดตามได้ที่ YDFD อินสตาแกรม : ydfd.2020 และทวิตเตอร์ : @YDFD2020

MAYDAY! ชวนทุกคนสร้างป้ายรถเมล์ใหม่ ให้เชียงใหม่เดินทางได้ง่ายขึ้น

เชียงใหม่เป็นจังหวัดยอดฮิตที่ใครๆ ล้วนนึกถึงเมื่อต้องการพักผ่อนหรือไปตะลุยเที่ยวเมืองที่มีบรรยากาศแบบธรรมชาติล้อมรอบ ด้วยความเจริญที่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ทำให้ขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่เป็นที่ต้องการและอยากให้พัฒนาควบคู่ไปด้วย จะดีแค่ไหนหากคุณที่เป็นคนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวก็ตาม สามารถนำประสบการณ์การใช้ขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่มาพัฒนาปรับปรุงส่วนนี้ให้ดีขึ้น

MAYDAY! กลุ่มคนที่มีความสนใจในการแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์มาสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงชวนทุกคนมาร่วมออกแบบป้ายรถเมล์เชียงใหม่ครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่เคยทำงานออกแบบป้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ ให้เรียบร้อย อ่านง่าย และอำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางมาแล้ว

ครั้งนี้ MAYDAY! ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่, UNDP, CEA, TCDC, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดเวิร์กช็อป ‘ป้ายใหม่ ยะใดดี?’ กิจกรรมสร้างสรรค์ป้ายรถเมล์จากความต้องการของทุกคน เพื่อค้นหารูปแบบที่ใช่ที่สุดสำหรับเมืองเชียงใหม่ ให้ทุกคนเดินทางง่ายและหันมาเดินทางในเชียงใหม่กันด้วยรถเมล์ โดยผลลัพธ์ของป้ายรถเมล์ที่เกิดขึ้นภายในเวิร์กช็อปจะได้รับการติดตั้งจริง

เพราะพวกเขาเชื่อว่าการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ ต่อให้คุณไม่มีทักษะเกี่ยวกับการออกแบบ ขอแค่รู้จักเชียงใหม่ไม่ว่าจะมิติไหนก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างป้ายรถเมล์เหล่านี้ได้ด้วยกัน

ก่อนจะไปทำเวิร์กช็อปในวันที่ 10-11 ตุลาคม ที่ TCDC เชียงใหม่นั้น ทางทีมงานต้องการข้อมูล ความคิดเห็น และประสบการณ์การเดินทางที่เชียงใหม่จากทุกคนเพื่อใช้ในการทำงานต่อไป

ในแบบสอบถามประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ที่ค่อนข้างละเอียด ได้แก่ ข้อมูลการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น พฤติกรรมการใช้ขนส่งสาธารณะ ระยะเวลาการรอรถ เส้นทางรถเมล์ เป็นต้น และประสบการณ์การเดินทาง ได้แก่ การหาข้อมูลการเดินทาง ความเชื่อมั่น ประสบการณ์การหลง ฯลฯ โดยคุณสามารถร่วมแบ่งปันประสบการณ์ได้ที่ https://forms.gle/3fVh6Ytp5fYRTkga6

ส่วนผู้ที่สนใจอยากไปร่วมเวิร์กช็อป ‘ป้ายใหม่ ยะใดดี?’ ออกแบบเชียงใหม่ให้เดินทางง่าย ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://forms.gle/eXSB8sbRZvYgDrFt5 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Mayday

ร่วมส่งต่ออุปกรณ์วาดภาพและอุดหนุนผลงานศิลปะบ้านผู้สูงอายุราชสีมา

สำหรับผู้สูงอายุที่ประสิทธิภาพการทำงานของส่วนต่างๆ ในร่างกายถดถอยลงตามวันเวลา สิ่งสำคัญที่ช่วยให้พวกเขายังแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง คือการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ได้แก่ ร้องเพลง เต้นรำ โยคะ รวมไปถึงการทำศิลปะบำบัดอย่างวาดภาพระบายสี เพื่อเป็นเครื่องมือในการเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

โครงการ ‘หอศิลป์บำบัด / ผู้สูงอายุโคราช’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านผู้สูงอายุราชสีมาจึงก่อตั้งขึ้น โดยมีแนวคิดเป็นพื้นที่ในการนำประโยชน์จากศิลปะแขนงต่างๆ เป็นสื่อเพื่อใช้ส่งเสริมสุขภาพและเพื่อการบำบัด ทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนชุมชนและผู้สูงอายุที่เกษียณอายุอยู่ที่บ้านให้มีโอกาสได้รับประโยชน์เช่นกัน

ในโครงการแบ่งเป็นส่วนแกลเลอรีแสดงผลงานศิลปะผู้สูงอายุ เพื่อเผยแพร่ความสามารถและส่งเสริมด้านจิตใจแก่ผู้สูงอายุ ทั้งยังมีส่วนกิจกรรมศิลปะหลากหลายแขนง เช่น ดนตรี การแสดง เวิร์กช็อป กิจกรรมเพื่อชุมชน และ Crafts DIY Therapy เป็นกิจกรรมยามว่างเพื่อการบำบัด เพิ่มพูนศักยภาพ และต่อยอดสู่อาชีพต่อไป อีกส่วนคือ Art Therapy โดยส่วนนี้จะไม่เน้นที่ผลงานศิลปะแต่เน้นที่กระบวนการและผลลัพธ์ที่ผู้รับการบริการจะได้ประโยชน์ด้านร่างกายและจิตใจ

‘โอ๋–สุกัญญา เที่ยงทัศน์’ หนึ่งในทีมผู้ดูแลหอศิลป์ บ้านผู้สูงอายุราชสีมา เล่าว่าที่เปิดรับบริจาคอุปกรณ์สำหรับการวาดภาพนั้น เพราะในบ้านผู้สูงอายุมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่รวมกว่า 150 คน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช้ในกิจกรรมแล้วหมดไป จึงขอเปิดรับบริจาคเพื่อจะได้มีอุปกรณ์มาให้ผู้สูงอายุใช้ทำกิจกรรมศิลปะบำบัดอย่างต่อเนื่อง “เราไม่ได้ใช้แค่เฉพาะบ้านผู้สูงอายุอย่างเดียว เพราะเรามีโครงการเยี่ยมชุมชนคนยากจนในเขตนครราชสีมาด้วย โดยเราจะนำของบางส่วนนี้ไปให้เด็กๆ ใช้ทำกิจกรรมด้วย”

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคดินสอ สีทุกชนิด กระดาษ พู่กัน สมุดวาดเขียน อุปกรณ์สำหรับการวาดภาพที่ไม่ได้ใช้แล้ว ให้ผู้สูงอายุได้นำมาใช้ต่อในงานศิลปะด้านต่างๆ และส่งต่อให้ผู้สูงอายุ คนยากจนในเขตชุมชน หรือร่วมสมทบทุนเป็นเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง หรือส่งพัสดุมาได้ที่หอศิลป์ บ้านผู้สูงอายุราชสีมา 892 ถ.เดชอุดม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000

หากต้องการบริจาคเป็นตัวเงิน สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขบัญชี 144-1-64884-8 ชื่อบัญชี มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ผู้สนใจยังสามารถอุดหนุนผลงานศิลปะของผู้สูงอายุเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุในศูนย์กิจกรรมได้อีกด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.artelderly.com โดยชำระเงินผ่านธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี สุกัญญา เที่ยงทัศน์ เลขที่บัญชี 4360392361

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 092-4147612, 083-2714553 และ หอศิลป์ บ้านผู้สูงอายุราชสีมา

AUTHOR