คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต
ปัจจุบันสถานการณ์และการใช้ชีวิตของคนไทยเริ่มกลับไปสู่ความปกติอีกครั้ง หลังจากที่ประสบวิกฤติโควิด-19 และผลกระทบของมันที่ทิ้งไว้มากมาย เดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาได้มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นไม่น้อย ซึ่งบางแนวคิดนั้นได้หยิบเอาปัญหาโรคระบาดมาเป็นโจทย์ในการต่อยอดปรับตัวและพัฒนาให้เฉียบคมขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘Doisters’ กลุ่มนักพัฒนาและนักสื่อสารเพื่อชุมชนชาวดอย และบางแนวคิดที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แต่ก็มุ่งหมายทำให้คุณภาพชีวิตของใครหลายคนดีขึ้น ได้แก่ ‘สัมผัสสี’ ดินสอสีสำหรับผู้พิการทางสายตา ‘DoiSter’ กลุ่มนักพัฒนาและนักสื่อสารเพื่อชุมชนชาวดอย และ ‘eaten’ สตาร์ทอัพจัดส่งอาหารที่อยากลดปัญหา food waste
‘สัมผัสสี’ อุปกรณ์ระบายสีที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสร้างสรรค์งานศิลปะได้
การระบายสีนับเป็นกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่คนทั่วไปทำได้อย่างไม่ยากเย็น จะออกมาสวยไม่สวยไว้ทีหลัง เพราะการได้เลือกหยิบสีที่เข้ากับภาพวาดหรืออารมณ์ของเราในตอนนั้นมาระบายอย่างเพลิดเพลินคือความสุขที่จับต้องได้มากกว่า ทว่าสำหรับผู้พิการทางสายตา ข้อจำกัดเรื่องการมองเห็นถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้พวกเขาสร้างสรรค์งานศิลปะหรือถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองผ่านสีสันไม่ได้ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ช่วยทดแทนตรงนี้ได้คงดีไม่น้อย
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ‘มะม่วง–วสุวัต จักษุเวช’ นักออกแบบและที่ปรึกษาด้านวัสดุ ห้องวิจัยวัสดุ CMTEL แห่ง Tama Art University ประเทศญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นกำลังศึกษาปริญญาโท จึงเลือกทำวิทยานิพนธ์เป็นโปรเจกต์ชุดสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์ระบายสีสำหรับผู้พิการทางสายตาที่มีชื่อว่า ‘สัมผัสสี’
ด้วยความที่เคยทำปริญญานิพนธ์เป็นบรรจุภัณฑ์ยาน้ำสำหรับผู้พิการทางสายตาตอนปริญญาตรี บวกกับมีความสนใจเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาเป็นทุนเดิม มะม่วงเลยเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้ผู้พิการทางสายตาสามารถวาดภาพระบายสีได้ด้วยตัวเอง เธอใช้เวลาวิจัยและทดสอบกับผู้ใช้งานอยู่นาน จนในที่สุดก็ออกมาเป็น ‘สัมผัสสี’ สีไม้ที่ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ เข้าใจ รวมถึงแยกแยะสีสันต่างๆ ได้โดยการสัมผัส
“ตอนออกแบบเราเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น เรื่องของการรับรู้สีมันมีปัจจัยของประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากถ้าพูดถึงแอปเปิลคนไทยจะนึกถึงสีแดง แต่ถ้าไปถามคนฮังการีเขาจะมีภาพของแอปเปิลเป็นสีเขียว ด้วยความที่โปรเจกต์นี้เราโฟกัสที่เด็กนักเรียนตาบอดไทย และการรับรู้ของเด็กจะมีเรื่องการยกตัวอย่างสิ่งของในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เขาจดจำสีได้เราจึงต้องตั้งกลุ่มเป้าหมายให้ชัด”
หลังจากรีเสิร์ช ทดสอบกับผู้พิการทางสายตา และเข้าแคมป์ศิลปะของผู้พิการแล้ว มะม่วงก็ได้โปรดักต์ที่การใช้งานครอบคลุมผู้พิการทางสายตาทั้งมองเห็นได้เล็กน้อยและบอดสนิท
“เราเอาเรื่องอารมณ์ของสีที่คนตาดีเห็นและเรื่องความรู้สึกในการสัมผัสเทกซ์เจอร์ของน้องที่มองไม่เห็นมาเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างถ้าเราเห็นสีแดงจะรู้สึกร้อนและอันตราย ทีนี้เนื่องจากน้องมองไม่เห็นเราเลยออกแบบมาหลายๆ เทกซ์เจอร์ นำไปให้น้องสัมผัสแต่ละเทกซ์เจอร์ว่ารู้สึกยังไง เก็บรวบรวมผลการสำรวจ เพื่อมาสรุปว่าเทกซ์เจอร์นี้จับแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เทกซ์เจอร์นั้นจับแล้วรู้สึกอันตราย แล้วค่อยนำความรู้สึกที่มองเห็นกับความรู้สึกจากการสัมผัสมารวมกัน ได้เป็นเทกซ์เจอร์ของสีต่างๆ เช่น สีแดงที่เป็นเส้นซิกแซก จับแล้วจะรู้สึกอันตรายนิดหนึ่ง หรือเทกซ์เจอร์เส้นเรียบๆ ของสีฟ้าที่จับแล้วรู้สึกสงบเงียบ โปรดักต์นี้จึงใช้ได้ทั้งคนตาบอดและคนตาปกติ”
มะม่วงออกแบบให้ดินสอสีมีลักษณะเป็นเหลี่ยมทั้ง 4 ด้านเพื่อป้องกันการกลิ้งหล่น ซึ่ง 3 ด้านของแท่งดินสอมีเทกซ์เจอร์เดียวกับตอนที่ระบายบนกระดาษแล้วสีนูนขึ้นมา ส่วนอีกหนึ่งด้านที่เหลือคืออักษรเบรลล์ที่เขียนชื่อสีเป็นภาษาไทย พร้อมกับคำอธิบายความรู้สึกของสี เช่น สีม่วงลึกลับ สีส้มสนุกสนาน
“เหตุผลที่ไม่ได้เขียนแค่สีม่วงหรือสีฟ้าเพราะเราอยากให้เขาจำความรู้สึกของสีได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันน้องผู้พิการทางสายตาใช้สีไม้ลำบาก จะถนัดศิลปะ 3 มิติมากกว่า นอกจากสีไม้ชุดนี้จะเพิ่มโอกาสในการระบายสีหรือทำงานศิลปะ 2 มิติให้น้องๆ แล้ว ยังทำให้น้องๆ ใช้มันเพื่อสื่อสารอารมณ์ออกมาให้คนตาปกติเห็นได้
“ที่จริงแล้วแต่ละสีมีความเข้ม-อ่อนต่างกัน ซึ่งให้ความรู้สึกที่ต่างกันด้วย แต่เหมือนเรายกแค่แม่สีขั้นที่ 1 กับขั้นที่ 2 มานำร่องก่อน เพราะฉะนั้นอารมณ์ของสีแดงจริงๆ มีหลายอารมณ์แหละ แต่เราขอเลือกอารมณ์เด่นสุดของแต่ละสีมาใช้ก่อน”
ตอนนี้ดินสอชุด ‘สัมผัสสี’ อยู่ในขั้นตอนหาผู้ผลิต เนื่องจากแท่งดินสอเป็นทรงเหลี่ยมและมีขนาดต่างจากดินสอสีปกติ บวกกับข้อจำกัดของอักษรเบรลล์ที่ย่อหรือขยายไม่ได้จึงเป็นเรื่องยากในการหาผู้ผลิตเสียหน่อย แต่คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นโปรดักต์ของมะม่วงวางจำหน่ายกัน
‘DoiSter’ กลุ่มนักพัฒนาและนักสื่อสารที่ใช้งานวิจัยมาพัฒนาชุมชนชาวดอย
ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น กิจการต่างๆ ทยอยกลับมาเปิด ผู้คนเดินขวักไขว่ตามพื้นที่สาธารณะมากขึ้น หลายคนกลับมาทำงาน เด็กๆ เตรียมสวมชุดนักเรียนอีกครั้ง แต่ชาวดอยในพื้นที่ห่างไกลที่ปกติอาศัยการท่องเที่ยวชุมชนและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อหารายได้ยังคงประสบปัญหาอยู่ ที่สำคัญพวกเขายังขาดพื้นที่สื่อในการนำเสนอเรื่องราวของตน
เพราะเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชาวเขา DoiSter ดอยสเตอร์ แพลตฟอร์มของกลุ่มนักพัฒนาจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นแก่คนนอกชุมชน
ย้อนกลับไปปี 2559 ช่วงที่การท่องเที่ยวชุมชนกำลังมาแรง ทั้งองค์กรรัฐและบริษัทเอกชนต่างหันมาทำการท่องเที่ยวชุมชนกันทั้งนั้น กลุ่มนักวิชาการหลายแขนงที่ต้องการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนอย่างจริงจังจึงเบนเข็มจากการท่องเที่ยวไปโฟกัสที่งานสื่อสารเรื่องราว
‘สมภพ ยี่จอหอ’ ผู้ก่อตั้ง DoiSter แย้มกับเราว่า “แรกเริ่มเรามี 5 เสาหลักในการทำงาน ได้แก่ ที่พักในชุมชน การขนส่ง กิจกรรม อาหาร และของที่ระลึก ช่วงนั้นยังไม่มีใครทำเรื่องการสื่อสารเรื่องราวทางชาติพันธุ์ในแง่วัฒนธรรม เราจึงหันมาพัฒนาส่วนนี้แทน เฟสแรกคือการให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับชาติพันธุ์ เฟสสองคือเรื่องงานหัตถกรรม และที่กำลังทำคือเรื่องอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น”
แม้ DoiSter จะเข้าไปพัฒนาและช่วยสื่อสารสารพันเรื่องราวของชุมชนชาวดอย แต่พวกเขาไม่ได้มองตนในฐานะเจ้าของโครงการ เขามองว่าเป็นเพียงส่วนเสริมสร้างให้เจ้าของวัฒนธรรมได้ก้าวไกล “เราทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นก็จริง แต่ทำงานแบบมีส่วนร่วม เน้นรับฟังว่าปัญหาของเขาคืออะไร แล้วใช้ปัญหานั้นเป็นโจทย์เพื่อหาวิธีการทำงาน ไม่ใช่ไปกำหนดผลลัพธ์และวิธีให้เขาทำตาม
“อย่างตอนทำงานหัตถกรรมกับห้วยตองก๊อ ผู้นำชุมชนเปรยกับเราว่า ห่วงว่าวันหนึ่งที่นี่จะกลายเป็นหมู่บ้านร้าง เพราะเมื่อเด็กๆ ไปเรียนหนังสือในเมืองแล้วรู้ว่าที่บ้านไม่มีงานทำ พวกเขาก็จะไปทำงานหาเงินในเมือง หมู่บ้านก็จะเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ เราเลยหาวิธีจูงใจให้ลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน
“แปลว่าโจทย์ของที่นี่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นเราต้องสร้างรายได้ให้เขาแม้จะไม่เท่าคนในเมืองก็ตาม เราเห็นว่างานทอผ้าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกบ้านทำได้ จึงนำมาพัฒนาต่อยอดให้แตกต่างจากที่อื่น ช่วงนั้นกระเเสรักษ์โลกกำลังมาเราก็ทำผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ออกแบบให้เข้ากับวิถีคนเมือง ขณะที่หมู่บ้านอื่นอาจไม่ได้เริ่มแบบนี้”
ทว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี แผนการต่างๆ ของ DoiSter จึงชะงักไป สมภพกับทีมจึงเน้นสื่อสารเรื่องราวทางวัฒนธรรมผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วิถีชีวิต หัตถกรรมพื้นถิ่น จนถึงการเปิดตัวโครงการเล็กๆ ที่ชวนคนมาบริจาคหนังสือให้โรงเรียนทั่วไทย
“เราอยากสร้างความตระหนักรู้เรื่องวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านคอนเทนต์ที่นำเสนอมากกว่าการขายของ เพื่อทุกคนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวดอย เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคุณอาจอยากไปเที่ยวชุมชนหรือสนับสนุนงานหัตถกรรมพวกเขาก็ได้”
หากใครอยากร่วมสนับสนุน DoiSter และเจ้าของวัฒนธรรมอย่างชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือ สามารถเข้าไปติดตามเรื่องราวอันรุ่มรวยและช่วยช้อปหัตถกรรมพื้นถิ่นได้ที่ DoiSter ดอยสเตอร์
“เจอโปรเด็ด เปิดตี้หารจ้า” เปิดตี้กับแอพฯ ‘ปาร์ตี้หาร’ ปาฏิหาริย์ของนักช้อปสายหาร
ในยุคที่เราถูกล่อใจด้วยโปรโมชั่นสินค้าและบริการ หลายคนคงประสบปัญหาเจอโปรโมชั่นที่แสนถูกใจ แต่ถ้าซื้อคนเดียวหรือคนน้อยๆ ก็ดูไม่คุ้ม รวมถึงปัญหายุ่งยากอย่างการหาคนแชร์ค่าบริการต่างๆ
ขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักแอพพลิเคชั่น ‘ปาร์ตี้หาร’ (PartyHaan) ที่ตอบโจทย์นักช้อปที่มาคนเดียวแต่อยากจ่ายถูกลง
ชื่อสะดุดหูของแอพฯ นี้มีที่มาจาก ‘ปาร์ตี้’ กับ ‘หาร’ คำว่า ‘ปาร์ตี้หาร’ ออกเสียงคล้ายกับคำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ สอดคล้องกับแนวคิดของแอพฯ ที่ว่าด้วยการสร้างปาฏิหาริย์จากการพาคนแปลกหน้ามาหารค่าใช้จ่ายกัน ขณะเดียวกันคำว่า ‘หาร’ ยังพ้องเสียงกับ ‘ห่าน’ คาแร็กเตอร์ประจำแอพฯ จึงเป็นห่านสีขาวจอมกวน
เกรท–อภิชิต รุ่งจิราภิรัตน์ Product Owner ของ SCB10X ผู้พัฒนาแอพฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าเกิดจากไอเดียที่ส่งประกวดในเวที LINE HACK เมื่อปี 2019 ด้วยความต้องการที่จะหาคนหารค่าอาหารหรือสินค้า ก่อนจะพัฒนาไอเดียมาเรื่อยๆ จนเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมคนที่มีความต้องการเดียวกัน
“ก่อนหน้านี้พฤติกรรมของคนที่จะหารกันมีอยู่ไม่กี่แบบ สมมติเราอยากกินกาแฟ 1 แถม 1 ก็จะถามเพื่อนรอบตัวว่าใครอยากหารบ้าง อีกวิธีการหนึ่งคือเข้าไปตั้งโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าเราอยากได้ของชิ้นนั้นชิ้นนี้ หาคนมาแชร์ด้วยกันหน่อย เหล่านี้เป็นวิธีปกติที่ใช้แก้ปัญหา แต่จริงๆ แล้วมันมี pain point มากมาย ทั้งใช้เวลานาน กว่าจะหาคนหารได้เราก็หายอยากพอดี หรือกลายเป็นการยัดเยียดเพื่อนว่าต้องมาหารกัน เราคิดว่าน่าจะมีวิธีแก้ปัญหานี้ ซึ่งแอพฯ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนที่มีความต้องการเหมือนกันเข้าด้วยกัน”
หลังจากได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เกรทและทีมเห็นความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดไปเป็นธุรกิจ จึงเก็บข้อมูลเพิ่มเติมและพัฒนาตัวต้นแบบ ก่อนปล่อยแอพฯ ให้ดาวน์โหลดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระแสตอบรับก็เป็นที่น่าพอใจ เห็นได้จากยอดดาวน์โหลดกว่า 30,000 ครั้ง
“use case ของแอพฯ ที่พบมีอยู่ 4 แบบหลัก ตั้งแต่โปรโมชั่นสินค้าต่างๆ บนโลกออนไลน์ โปรโมชั่นสินค้าออฟไลน์ที่จัดตามร้านค้าทั่วไป สินค้าที่ไม่มีโปรโมชั่นแต่หารกันได้ เช่น บริการสตรีมมิง ไปจนถึงสินค้าบนโลกออฟไลน์ที่ไม่มีโปรโมชั่นอย่างการหารค่าน้ำมันหรือค่าแท็กซี่”
ความพิเศษของปาร์ตี้หารคือ การถอดแบบพฤติกรรมในโลกออฟไลน์มาอยู่บนโลกออนไลน์ ตั้งแต่การรวบรวมคนที่สนใจหารสินค้าและบริการชนิดต่างๆ ไว้ด้วยกัน มีระบบแชตและรายการปาร์ตี้ที่น่าสนใจ โดยผู้ใช้สามารถดูรายละเอียดในห้องนั้นๆ ได้ เช่น สถานที่ที่นัดหาร จำนวนคน ราคา รวมถึงระบบโปรไฟล์ของผู้ใช้เพื่อความน่าเชื่อถือ และมีระบบชำระเงินกันโกง (safety payment) ที่ให้สมาชิกโอนเงินให้แอพฯ ก่อน และเมื่อทุกคนได้ของแล้วค่อยโอนให้หัวหน้าปาร์ตี้
ในอนาคตเกรทตั้งใจให้ปาร์ตี้หารเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ทุกคนนึกถึงเมื่อพูดถึงการหาร และยังตั้งใจพัฒนาแอพฯ ให้รองรับการหารในรูปแบบอื่นๆ เช่น การหารแบบ group buying ที่เป็นการรวมกลุ่มกันซื้อสินค้าปริมาณมากในราคาที่ถูกลง รวมถึงวางแผนรวบรวมร้านค้าและบริการให้มาอยู่ในแอพฯ เพื่อเสนอโปรโมชั่นและทางเลือกการหารให้ผู้ใช้อย่างกว้างขวางขึ้น
ใครสนใจแอพพลิเคชั่นปาร์ตี้หารสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งใน iOS และ Android หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ PartyHaan
‘eaten’ สตาร์ทอัพจัดส่งอาหารฝีมือคนไทยที่ตั้งใจลดปัญหา food waste ให้ได้จริง
ในแต่ละวันอาหารที่เรากินเหลือหรืออาหารที่ร้านค้าขายไม่หมดกลายเป็นอาหารเหลือทิ้งและถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งอาหารเหลือพวกนี้แหละล้วนแต่ทำให้เกิด food waste หรือขยะอาหาร สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก แม้ปัจจุบันหลายภาคส่วนจะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาขยะอาหารยังคงดูแลจัดการได้ยาก ทั้งยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิด Eaten สตาร์ทอัพจัดส่งอาหารสัญชาติไทยภายใต้แนวคิดแก้ไขปัญหาขยะอาหาร ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาสาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้านอาหารหรือร้านเบเกอรีสามารถนำอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวันหรือสินค้าที่จะถูกกำจัดทิ้งมาขายต่อให้ eaten เพื่อเป็นตัวกลางนำไปส่งต่อให้ลูกค้าคนอื่นในราคาที่ถูกลง
ต้นไม้–พษุ อัคนิวรรณ CEO แห่ง eaten เล่าว่า “เราเริ่มจากการที่อยากแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่างในสังคมไทย ทุกคนในกลุ่มค่อนข้างสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เลยมองว่าเรื่องขยะอาหารเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ คนเริ่มรู้แล้วว่า 1 ใน 3 ของอาหารแปรรูปกลายเป็นขยะอาหารรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่คนที่มาดูแลตรงนี้ยังมีน้อย เราเลยมองว่ามันเป็นโอกาส
“เราอยากแก้ไขปัญหาขยะอาหารเพราะปัญหานี้มีผลกระทบในวงกว้าง มีทั้งขยะที่มาจากการที่ผู้บริโภคทานเหลือ แต่ขยะที่ใหญ่ๆ ส่วนมากมาจากร้านอาหาร เพราะในแต่ละวันจะมีโปรดักต์ อาหาร หรือเบเกอรี ที่ขายไม่หมดและต้องถูกกำจัดด้วยการทิ้งไปเฉยๆ เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ จึงมาคิดกับทีมว่าจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ จนออกมาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถให้ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี หรือสินค้าที่กำลังจะถูกกำจัดทิ้ง มาขายบนแพลตฟอร์มของเราในราคาที่ถูกลง เพื่อดึงดูดลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากแต่อยากรับประทานอาหารดีๆ เหล่านั้น”
กระบวนการทำงานของ eaten นั้นไม่ซับซ้อนเลย แค่ลูกค้าเลือกสั่งอาหารจากเมนูใน LINE Official Account ที่แต่ละวันจะมีเมนูแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจำนวนอาหารที่เหลือของร้านค้าต่างๆ โดยรอบการจัดส่งจะเป็นช่วงเย็นๆ ไปจนถึงค่ำๆ และเก็บค่าบริการเพียง 20 บาทเท่านั้นตลอดเส้นทาง
ต้นไม้ยังเล่าเสริมอีกว่า สิ่งที่วัดค่าความสำเร็จของสตาร์ทอัพนี้ไม่ใช่กำไร แต่เป็นการวัดค่า KPI ว่าพวกเขาสามารถลดขยะอาหารได้เท่าไหร่ในแต่ละวัน แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นทำโปรเจกต์ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ การให้บริการจึงยังคงจำกัดอยู่ที่เขตวัฒนาและปทุมวันเท่านั้น
เป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือการทำธุรกิจที่ยั่งยืนและสามารถช่วยสังคมได้ เพราะเชื่อว่ายังมีคนที่อยากแก้ไขปัญหานี้อยู่ และอีกไม่นาน eaten ก็จะมีแอพพลิเคชั่นออกมาให้เหล่าลูกค้าได้ใช้กัน มากไปกว่านั้นทีมยังผุดไอเดียการบริจาค ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจปัญหาเรื่องขยะอาหารซื้ออาหารไปบริจาคต่อให้กับมูลนิธิต่างๆ หรือให้เด็กๆ ที่ขาดแคลน เพราะในขณะที่ปัญหาขยะอาหารกำลังเพิ่มขึ้น ก็ยังมีเด็กๆ จำนวนมากที่ต้องการอาหารอยู่
หากใครสนใจอยากใช้บริการหรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาขยะอาหาร ก็สามารถเข้าไปติดตามที่เพจ Eaten ได้เลย