บริการเรียกรถสามล้อ ม็อบดาต้า สีจากยางพารา – Think Positive ประจำเดือนสิงหาคม 2563

บริการเรียกรถสามล้อ ม็อบดาต้า สีจากยางพารา – Think Positive ประจำเดือนสิงหาคม 2563

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทัน หรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

ในเดือนสิงหาคม 2563 มีนวัตกรรมน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย บ้างพัฒนามาจากปัญหาใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน บ้างพัฒนามาจากปัญหาสเกลระดับประเทศที่ส่งผลต่อคนจำนวนมาก ทั้งนี้แต่ละชิ้นงานต่างตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาหลากหลายกันไป ไม่ว่าจะด้านการเดินทาง สุขอนามัย ความปลอดภัยในการชุมนุม หรือกระทั่งของเล่นและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไม่เคยหยุดนิ่ง นวัตกรรมเหล่านั้นประกอบด้วย MuvMi บริการเรียกรถสามล้อไฟฟ้าเดินทางเฉพาะย่าน, Health Club ร้านมัลติแบรนด์สายสุขภาพบน BTS, Mob Data Thailand แพลตฟอร์มแชร์ข้อมูลการชุมนุม และ JonJon สีสร้างสรรค์จากน้ำยางพารา

 

ทางเดียวกันไปด้วยกัน กับ MuvMi บริการเรียกรถสามล้อไฟฟ้าเดินทางเฉพาะย่าน

เคยไหม เวลาที่ไปเที่ยวหรือทำธุระในย่านฮิตคนพลุกพล่าน การเดินทางต่อจากขนส่งมวลชนอย่าง MRT หรือ BTS เป็นหนทางที่ลำบากไม่น้อย เพราะการเดิน นั่งวินมอเตอร์ไซค์ หรือนั่งแท็กซี่ อาจไม่ตอบโจทย์สภาพอากาศที่ร้อน เดินทางลำบาก เรียกรถยากหรือราคาสูงเกินไป ยิ่งถ้ามากันเป็นแก๊งใหญ่ๆ 5-6 คนก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

จากความชอบรถยนต์และร่ำเรียนด้านนี้มาจนถึงปริญญาเอก บวกกับความไม่ชอบรถติดอยู่แล้ว ทำให้ กฤษดา กฤตยากีรณ ร่วมด้วยเพื่อนๆ เมธา เจียรดิฐ, พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล และ ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ร่วมกันริเริ่มบริการเรียกรถโดยสารขึ้นมา

“เรารู้สึกว่าจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชนมีปัญหาตลอด จะไป MRT หรือ BTS ยังไง หรือออกจากรถไฟมาแล้วจะไปจุดหมายยังไงมันมีความยากอยู่ โดยส่วนตัวไม่ได้ชอบตัวเลือกมอเตอร์ไซค์มากนัก แต่พอไม่มีตัวเลือกอื่นเลยเป็นที่มาของไอเดียนี้ และช่วงนั้นเราทำงานอยู่แถวศาลาแดง เห็นว่าตุ๊กตุ๊กเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างตอนเช้าๆ คนใช้กันไม่เยอะหรอก แต่ตอนเที่ยงคนจะนั่งอัดกันมา ซึ่งคนจะใช้ตุ๊กตุ๊กเวลามีคนเยอะๆ มาช่วยหาร แล้วมันก็เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีโมบายล์แอพพลิเคชั่นที่เข้ามาเพื่อเข้าถึงคนใช้มากขึ้น มันสามารถดึงคนที่ไม่รู้จักกันแต่ไปในเส้นทางเดียวกันขึ้นมานั่งบนรถคันเดียวกันได้”

โปรเจกต์ที่กฤษดากับเพื่อนร่วมกันทำมีชื่อว่า มูฟมี (MuvMi) คือบริการเรียกรถสามล้อไฟฟ้าแบบ on-demand ผ่านแอพพลิเคชัน โดยให้บริการในรูปแบบ sharing เส้นทางเดียวกันไปด้วยกัน จึงทำให้ราคาค่าบริการถูกลง โดยเน้นบริการไปที่การเชื่อมต่อกับขนส่งมวลชน (first mile / last mile) และการเดินทางในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ

“เราเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2016 แต่เราไม่ได้มองแค่ซอฟต์แวร์อย่างเดียว มูฟมีคือบริการ และส่วนหนึ่งของการเดินทางคือตัวรถ ซึ่งตุ๊กตุ๊กที่เป็นรถแก๊สในปัจจุบันก็มีความยากในการขึ้น-ลง หรือนั่งกันหลายๆ คนแบบไม่ค่อยสะดวก ทีมงานคนหนึ่งของเรามีประสบการณ์เรื่องรถพลังงานไฟฟ้ามากว่า 10 ปี เลยคุยกันและมาออกแบบสามล้อไฟฟ้ากันใหม่ ทำให้ที่นั่งข้างหลังขึ้น-ลงง่าย นั่งกันได้หลายคน”

“นอกจากนี้การออกแบบผลิตรถต้องใช้เวลาประมาณ 12 เดือน โดยได้รับการสนับสนุนจาก NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) และระหว่างที่รอกระบวนการพัฒนาตัวรถ เราก็คิดว่าจะทำยังไงกับตุ๊กตุ๊กตัวที่ใช้กันอยู่ดี เลยปล่อยตัวแอพฯ Tuk Tuk Hop ที่จอดรับนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2016 มาก่อน เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ จากนั้นจึงมาทำตัวมูฟมี”

ขณะนี้พื้นที่ให้บริการตุ๊กตุ๊กสีเหลืองเปิดให้บริการทั้งหมด 5 ย่านใหญ่ ได้แก่
– อารีย์ – สะพานควาย
– พหลโยธิน
– จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – สามย่าน – โรงพยาบาลจุฬาฯ
– เกาะรัตนโกสินทร์
และพื้นที่ใหม่ อโศก – นานา

วิธีใช้บริการก็ง่ายๆ แค่โหลดแอพพลิเคชั่น MuvMi ใส่เบอร์โทรศัพท์เพื่อ verify ตัวตน เลือกจุดรับ-ส่งและจำนวนคน ค่าโดยสารจะขึ้นมาแล้วกดเรียกรถได้เลย เรียกใช้ฟรีได้ 1 ครั้ง หลังจากนั้นหากต้องการใช้งานครั้งถัดไป แค่เติมเงินลงใน Wallet และสแกน QRcode จ่ายเงินก่อนขึ้นรถ

ใครสนใจสามารถดาวน์โหลดแอพฯ ได้ที่ onelink.to/5dpgvz หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก www.muvmi.co

 

เดินทางไปด้วยดูแลตัวเองไปด้วย ได้ที่ Health Club ร้านมัลติแบรนด์สายสุขภาพบน BTS

ปฏิเสธไม่ได้ว่า new normal ได้กลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคสมัยนี้ไปแล้ว การใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลล้างมือกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปโดยปริยาย เหล่าเจ้าของแบรนด์จึงพยายามผลิตโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้อุปโภคบริโภค เห็นได้จากโปรดักต์สายสุขภาพและสุขอนามัยจำนวนไม่น้อยที่วางขายตามร้านค้าและช่องทางออนไลน์ แต่จะดีแค่ไหนหากมีสถานที่ที่รวบรวมโปรดักต์ประเภทนี้ไว้ให้เราไปทดลองใช้และเลือกสรร

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา WERK (เวิร์ค) ได้ก่อตั้ง Health Club ร้านมัลติแบรนด์สายสุขภาพแห่งใหม่ขึ้นมา โดยมีความตั้งใจที่จะเป็นร้านที่รวบรวมสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัยไว้อย่างครบครัน ในราคามิตรภาพและเข้าถึงได้ง่าย

ทีม WERK เล่าว่าด้วยความที่พวกเขาทำงานพัฒนา retail บน BTS อยู่แล้ว ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดเลยผุดไอเดียทำ Health Club กันขึ้นมา “ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน เป็นช่วงที่คนทำงานที่บ้านกัน เราเลยเบรนสตอร์มกับทีมกันว่าอยากลองทำ pop-up store เป็นของตัวเอง เลยเลือกกันว่าอะไรที่เหมาะสมที่สุด ก็มาลงตัวที่โปรดักต์สุขอนามัย”

“ที่เลือกทำเป็นคอนเซปต์ Health Club เพราะในช่วงเวลานั้นเวลาจะหาของแนวนี้เราก็นึกถึงแต่ร้านยาหรือร้านออนไลน์เท่านั้น เราเลยอยากสร้างภาพจำใหม่ให้กับร้านแนวนี้ ทั้งเรื่องการออกแบบร้าน การคัดเลือกสินค้าที่เข้ามาวางขาย และพอดีกับพื้นที่บนสถานี BTS ที่เราดูแลอยู่ ก็เลยตอบโจทย์ทั้งความสะดวกในการเข้าถึงของลูกค้า และการได้พื้นที่โชว์สินค้าของแบรนด์ที่มาวางในร้านเรา จึงทำให้เราตัดสินใจเริ่มโปรเจกต์กันแบบไม่ลังเล”

เนื่องจาก WERK มองกลุ่มลูกค้าว่าเป็นคนเมือง ทางทีมจึงคิวเรตแบรนด์ที่จะมาอยู่ในร้านจากรูปร่างหน้าตาของแพ็กเกจจิ้ง รวมไปถึงสรรพคุณและคุณภาพของโปรดักต์ด้วย “เราอยากให้ประสบการณ์ของการเลือกสินค้าเพื่อดูแลตัวเองเป็นประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า ได้เดินเข้ามาในร้านสวยๆ ถ่ายรูปได้ เดินดูของน่ารักๆ ในร้านแบบเพลินๆ แถมของที่นำกลับไปก็ดูแลสุขภาพสุขอนามัยในขณะเดียวกัน”

หลังจากเปิดให้บริการมาได้เกือบ 2 เดือน พวกเขาเล่าว่ากระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะแม้ว่าโปรดักต์สายสุขอนามัยอย่างหน้ากากอนามัยกับเจลล้างมือจะเริ่มล้นตลาด แต่ด้วยแบรนด์ที่เลือกมามีการปรับตัวคิดค้นโปรดักต์ใหม่ๆ มาตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ ทำให้ Health Club ยังไปต่อได้ บวกกับทางร้านเองก็เริ่มคิวเรตโปรดักต์อื่นๆ อย่างแก็ดเจ็ตด้านสุขภาพและของใช้ในชีวิตประจำวันมาเติมเข้าไป ทำให้ลูกค้าได้ความหลากหลายยิ่งขึ้น

“เราดูแลทั้งลูกค้าและแบรนด์ด้วย เพราะเป้าหมายของเราคืออยากซัพพอร์ตแบรนด์ SMEs อยู่แล้ว จึงพยายามเลือกแบรนด์ออนไลน์ที่มองหาพื้นที่โชว์เคสและเป็นจุดรับโปรดักต์ มีหลายแบรนด์ที่ยอดออนไลน์ดีอยู่แล้ว แต่พอคนอยากได้มากๆ ไม่อยากรอ เขาก็มองเราเป็นจุดเชื่อมต่อ ถ้าถามแบรนด์ว่าอยากได้วันนี้เลย ซื้อที่ไหนได้บ้าง แบรนด์ก็จะให้แวะมาที่เรา”

นอกจากนี้ ทีม Health Club จะมีการแบ่งรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ หลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้มูลนิธิรามาธิบดี เพื่อร่วมสมทบทุนในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ใครสนใจอยากไปช้อปปิ้ง ร้านตั้งอยู่ในสถานี BTS อารีย์ ระหว่างร้าน Pomelo กับ Supermom ฝั่งทางออก 1 และ 2 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8:30-19:30 น. หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Health Club

 

ร่วมแชร์ข้อมูลการชุมนุมง่ายๆ ที่ Mob Data Thailand

ในยุคที่คนจำนวนมากตื่นตัวกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ตนเองและผู้อื่น การทำแคมเปญเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมประท้วงตามพื้นที่ต่างๆ ได้กลายมาเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามประชาชนอยู่ไม่น้อย การแชร์ข้อมูลกันแค่ในโซเชียลมีเดียจึงอาจไม่เพียงพอ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมมือกันพัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (mobdatathailand.org) เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และเปิดให้ทดลองใช้งานตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2563 ที่ประชาชนมีความต้องการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและรณรงค์ต่อสาธารณะในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อเรียกร้องให้รัฐหรือผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาสังคม แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หลายครั้งทำให้การชุมนุมนั้นต้องยกเลิกไป กลายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของคนในสังคม

คณะผู้ทำงานจึงจำเป็นต้องเก็บข้อมูลการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นและการคุกคามของรัฐอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลที่ชัดเจนเป็นระบบ ในการเสนอพัฒนากฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป โดยนอกจากเจ้าหน้าที่องค์กรที่ช่วยติดตามสังเกตการณ์ในพื้นที่จริงแล้ว เว็บไซต์ยังเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้

วิธีการกรอกข้อมูลชุมนุมก็ไม่ยาก เพียงแค่ล็อกอินและยืนยันตัวตน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนกรอกข้อมูลชุมนุมที่คุณไปร่วมกิจกรรม ได้แก่ ลักษณะของการชุมนุม สถานที่จัด วัน-เวลาที่จัด เวลาที่คุณสังเกตการณ์ ชื่อผู้จัดการชุมนุม วัตถุประสงค์ จำนวนผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐคร่าวๆ อุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ การกีดขวางการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้ความรุนแรงในการชุมนุม โดยคุณสามารถอัพโหลดหลักฐานเป็นภาพ เสียง และคลิปวิดีโอได้ วิธีการสิ้นสุดการชุมนุม และสุดท้ายคือข้อมูลผู้บาดเจ็บ-ผู้เสียชีวิต

เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยและทีมงานอัพเดตข้อมูลเว็บไซต์เป็นปัจจุบันแล้ว ข้อมูลการชุมนุมจะปรากฏที่หน้าเว็บไซต์เป็นอินโฟกราฟิกแผนที่ประเทศไทย ทั้งยังสามารถกดดูข้อมูลการชุมนุมแต่ละครั้งได้ทันที ประกอบด้วยภาพรวมของการชุมนุม รวมถึงรายละเอียดการชุมนุมโดยสรุปและลำดับเหตุการณ์ด้วย

ทั้งสองหน่วยงานยังร่วมมือกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมูลนิธิ ศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ประชาไท และ Law Long Beach ในการติดตามชุดข้อมูลที่ได้มา เพื่อนำไปพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในอนาคต

ใครที่ไปร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมและต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้บันทึกมา สามารถกรอกข้อมูลได้ที่ mobdatathailand.org/participant-form หากมีข้อสงสัยหรือต้องการติดตามข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ iLaw

 

บีบ วาดรูป ระบายสี ลอก หล่อ กับ JonJon สีสร้างสรรค์จากน้ำยางพารา

ในยุคที่ของเล่นถูกย้ายไปอยู่บนหน้าจอสมาร์ตโฟน แท็บเลต และคอมพิวเตอร์ เด็กหรือกระทั่งผู้ใหญ่แบบเราๆ ที่อยากหาของเล่นแบบสัมผัสได้ ไม่อยากจ้องแต่หน้าจอ ก็อาจเลือกกิจกรรมวาดภาพระบายสีที่ทำได้ง่ายที่บ้านเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่นึกถึง แต่จะดีแค่ไหนหากกิจกรรมนี้สามารถต่อยอดให้สนุกและสร้างสรรค์ขึ้นด้วยการระบายสีแล้วแกะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เพนต์ลงบนผิวผ้า นำไปหล่อ หรือปั้นขึ้นรูปได้

‘ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย’ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ไอเดียผลิต JonJon สีสร้างสรรค์จากน้ำยางพาราที่ตอบโจทย์นี้เมื่อครั้งจัดงานวันเด็กในมหาวิทยาลัยเมื่อหลายปีก่อน

“ตอนนั้นตัวน้ำยางที่จะทำให้เด็กๆ เล่นมันเสีย หนืดมากจนต้องทิ้ง สุดท้ายพอเป็นของที่ไม่ได้ใช้แล้วผมก็คิดว่าเอามาทำอะไรดี เลยมาผสมสีให้เด็กบีบวาดรูปแทนก่อนทิ้งแล้วกัน บังเอิญว่าภาพที่เกิดขึ้นน่าสนใจ เราจึงพยายามพัฒนาโปรดักต์ที่มีคาแร็กเตอร์เป็นน้ำยางนี้ การใช้งานคือบีบออกมาเพื่อวาดรูป โดยสีมีความหนืดที่เหมาะสม ใช้เวลาพัฒนาค่อนข้างนานพอสมควร”

หลังจากนั้นณัฐพงศ์ได้นำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาแล้วให้ลูกลองเล่นในกลุ่มบ้านเรียนที่ตนก่อตั้งขึ้น ผู้ปกครองคนอื่นๆ เห็นก็สนใจ ขอให้เขาทำออกมาจำหน่าย “ด้วยความที่เป็นของเล่นปลายเปิด เด็กจะเลือกทำอะไรก็ได้ บวกกับมันไม่ใช่สีที่ใช้วาดรูปแล้วเสร็จ แต่เป็นวัสดุที่ทำออกมาเป็นของเล่นต่อได้ ตอนเริ่มต้นทำขายก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ดีไซน์และสีต่างๆ ยังไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ พอเห็นว่าสิ่งนี้มีโพเทนเชียล มีสตอรี และขายดี เราเลยกลับไปพัฒนาเรื่องสี ดีไซน์ และข้อควรปรับปรุงทั้งหลายที่ได้จากการขายรอบแรก และจำหน่ายใหม่เมื่อไม่นานมานี้”

JonJon Everlastic Paint เป็นผลิตภัณฑ์สีสร้างสรรค์จากน้ำยางพารา ที่ใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนประกอบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ออกแบบเพื่อให้เด็กวัย 3 ปีขึ้นไปใช้สร้างสรรค์ชิ้นงานตามจินตนาการ นอกจากเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้น้ำยางในสภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดอีกด้วย ซึ่งจุดที่น่าสนใจและทำให้ JonJon แตกต่างจากสีชนิดอื่นๆ คือการเป็นวัสดุที่ทำได้หลายอย่าง

“นอกจากการใช้งานเบสิกแบบบีบเล่นหรือระบายเป็นสีวาดรูปแล้ว ยังสามารถเล่นได้อีกหลายสเตป ได้แก่ การเพนต์เสื้อ เพนต์กระเป๋า เพื่อนำไปใช้ต่อได้ และถ้าเรานำสีไปทาบนกระจกก็จะลอกออกมาแปะตามพื้นที่ต่างๆ อย่างกระจก ผนังห้อง ตู้เย็น เป็นต้น เด็กๆ ชอบเพราะตัวกิจกรรมสนุก หรือถ้าจะนำไปทำให้ซับซ้อนขึ้นก็ใส่เบ้าหล่อเป็นตุ๊กตุ่นสามมิติ แล้วแต่คนประยุกต์” ทั้งนี้ณัฐพงศ์เสริมว่าช่วงหลังเริ่มเห็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาสร้างสรรค์ผลงานกันอย่างจริงจังและออกมาสวยด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางศิลปะ รวมถึงมีการนำสีจากน้ำยางพาราไปใช้ในงานศิลปะบำบัดแทนการระบายสีแบบปกติ

ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตัวยางพาราไม่มีสารพิษหรือสารออกฤทธิ์ใดๆ อยู่แล้ว แต่เป็นไปได้ณัฐพงศ์ก็อยากแนะนำให้ครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ มากกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขารับประทานหรือนำสีป้ายตามศีรษะและเนื้อตัว เพราะแม้ไม่อันตรายแต่สียางที่แห้งติดขนจะดึงออกยากมาก

เป้าหมายต่อไปของเขาคือการพัฒนาและทำสีประเภทนี้ให้ออกมาได้อีกเยอะๆ เพราะแนวคิดแรกที่ยึดถือในการทำผลิตภัณฑ์นี้คือการนำเอายางพารามาใช้ประโยชน์ และสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กในการทำความรู้จักยางพารา “ผมคิดว่าน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ทางเกษตรอันดับหนึ่งของไทย และเป็นวัสดุพื้นฐานคล้ายโลหะ ยาง ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมคนไทยเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัสดุไทยอย่างยางพารา น้ำมันปาล์ม ทั้งที่เรามีความได้เปรียบ ทำไมต้องไปเรียนอะไรที่ไม่มี เราเลยอยากทำเป็นกึ่งๆ หลักสูตรว่าถ้าเล่นแบบนี้ มีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเด็กได้ทำความเข้าใจ มันคล้ายๆ เป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านวิธีการใช้และความรู้เรื่องยางพาราที่เกิดขึ้นจากการเล่น”

“เราอยากให้เรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตร รู้สึกว่านี่คือหน้าที่ที่เราต้องผลักดันเรื่องนี้ พอโตขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ต้องโทรมาถามว่ายางเอาไปทำอะไรได้บ้าง ราคาตกจังเลย ถ้าเรามีของเล่นเกี่ยวกับยางและทำให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับยางดีขึ้น คนโตไปก็จะนึกถึง เข้าใจ และใช้วัสดุนี้มากขึ้น”

ใครสนใจผลิตภัณฑ์ สามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ JonJonPaint

AUTHOR