พื้นที่ละหมาดชั่วคราว เว็บไซต์รวมความเคลื่อนไหวในสังคมไทย – Think Positive ประจำเดือนกรกฎาคม 2563

พื้นที่ละหมาดชั่วคราว เว็บไซต์รวมความเคลื่อนไหวในสังคมไทย – Think Positive ประจำเดือนกรกฎาคม 2563

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทัน หรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราได้เดินทางมาเกินครึ่งปีแล้ว นอกจากคนในสังคมไทยต้องปรับตัวไปตามวิถีชีวิตใหม่หลังจากเหตุการณ์โควิด-19 คนรุ่นใหม่รวมถึงคนวัยอื่นๆ ก็เริ่มหันมาจุดไฟสร้างความตระหนักรู้ทางการเมืองและสังคมอีกครั้ง เห็นได้จากการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งจากผู้คน กลุ่มคน และหลากหลายองค์กร ซึ่งในขณะเดียวกันก็เกิดนวัตกรรมที่ส่งเสริมมูฟเมนต์เหล่านี้ รวมถึงช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมดีขึ้นด้วย ซึ่งหลายชิ้นสามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้นในอนาคตได้ ได้แก่ ‘Prayer Room’ พื้นที่ละหมาดชั่วคราวสำหรับพื้นที่เปิด ‘จ้างวานข้า’ โครงการจ้างงานทำความสะอาดของมูลนิธิกระจกเงา FREEDOMFORTHAI เว็บไซต์ที่รวบรวมทุกความเคลื่อนไหวในสังคม และจุดรับทิ้ง E-waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์

‘Prayer Room’ พื้นที่ละหมาดชั่วคราวที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการละหมาดในพื้นที่เปิด

การละหมาดเป็นหนึ่งในศาสนกิจประจำวันที่ชาวมุสลิมพึงปฏิบัติกันวันละ 5 เวลา เพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อพระอัลลอฮ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมุสลิมทั่วโลก การละหมาดจำเป็นต้องทำในพื้นที่สะอาด แต่บ่อยครั้งที่พื้นที่ที่จัดเตรียมไว้มีไม่เพียงพอและไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ทำให้ชาวมุสลิมต้องละหมาดในพื้นที่เปิดซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นส่วนตัวและนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดหลักศาสนาได้

‘ปภัสวรรณ วงษ์สิน’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นไอเดียของงานปริญญานิพนธ์ โดยเธอได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากชมรมมุสลิมประจำมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยพื้นที่ห้องเรียนที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้บางคณะไม่สามารถสร้างห้องละหมาดแยกได้ นักศึกษาชาวมุสลิมจำเป็นต้องละหมาดกันเองนอกสถานที่ เธอจึงเริ่มพัฒนาโครงการออกแบบพื้นที่เพื่อใช้ในการละหมาดชั่วคราว เพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจของศาสนาอิสลาม โดยมีกรณีศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

ปภัสวรรณออกแบบตัวผลิตภัณฑ์โดยใช้โครงหลักเป็นเหล็กเพื่อความแข็งแรงและบริเวณด้านบนทำด้วยไม้ เธอดึงองค์ประกอบของทางเข้ามัสยิดมาทำเป็นลายผ้า การตกแต่งด้านในมีผ้ากั้นที่แสดงทิศไปทางกิบละฮ์ (กรุงเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) ซึ่งจะตรงกับทิศตะวันตกของประเทศไทย

“ตัวชิ้นงานเหมือนเป็นการสร้างพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาในพื้นที่สาธารณะ เพราะเราออกแบบให้มันเลื่อนเข้า-ออกได้เหมือนบานพับ ดึงออกมาเพื่อใช้งาน พอใช้เสร็จก็ดันกลับไป พื้นที่ตรงนั้นก็เอาไปทำอย่างอื่นได้ สามารถเคลื่อนย้ายโปรดักต์ได้ด้วยล้อที่ติดไว้ข้างล่าง”

ผลตอบรับของโครงการออกแบบพื้นที่นี้เป็นไปในทิศทางบวก ผู้ทดลองใช้ให้ความเห็นว่าเมื่อเข้าไปในพื้นที่แล้วรู้สึกสงบดี เพราะเป็นการล้อมพื้นที่รอบตัวไว้ทั้ง 4 ทิศ แต่ยังต้องปรับปรุงเรื่องระบบระบายอากาศของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมุสลิมหญิงต้องสวมชุดที่ปกคลุมมิดชิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ปภัสวรรณต้องพัฒนาต่อไป โดยในอนาคตเธออยากปรับปรุงให้เป็นรูปแบบที่พกพาแบบส่วนบุคคลได้ด้วย

‘จ้างวานข้า’ โครงการจ้างงานทำความสะอาดที่สร้างโอกาสให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ประเด็นคนไร้บ้านเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนานกว่าสามทศวรรษ โดยเฉพาะศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงเทพฯ คนไร้บ้านถือเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงโครงสร้างต่างๆ ของประเทศที่ทำให้ไม่สามารถมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปได้

‘สิทธิพล ชูประจง’ หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านมานานมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทดลองสร้างโครงการ ‘จ้างวานข้า’ โดยหวังว่าคนไร้บ้านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เขาอธิบายชื่อของโครงการสุดสร้างสรรค์นี้ว่า คำว่า ‘จ้าง’ มาจากจ้างพวกเราทำงานให้มีรายได้ ‘วาน’ มาจากวานพวกเราทำความสะอาดพื้นที่ที่คิดว่าสกปรกและอยากเห็นมันสะอาด ส่วน ‘ข้า’ มาจากข้าคือคนไร้บ้านที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น

วิธีการคือเปิดให้ผู้สนใจจ้างคนไร้บ้านไปทำความสะอาด โดยรายได้มาจากคนในสังคมที่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ เพราะปัญหาหลักของคนไร้บ้านคือไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นผลจากการไม่มีอาชีพและโอกาสอันเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ไม่ได้แก้กันได้ง่ายๆ

สิทธิพลอธิบายว่า “ต้นตอของปัญหาคนไร้บ้านคือโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสวัสดิการ ซึ่งโครงสร้างแต่ละส่วนส่งผลให้เกิดคนไร้บ้าน โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการนั้นเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะก่อนจะมาเป็นคนไร้บ้านเขาทำงานใช้แรงงานมาก่อน ทำงานอย่างหนักหน่วงแต่ได้ค่าแรงแค่ 200-300 บาท ซึ่งเขาไม่สามารถนำเงินส่วนนี้ไปเก็บออมไว้ใช้ตอนที่เขาไม่สามารถทำงานได้ หรือแม้แต่สวัสดิการที่เขาควรจะได้รับก็ไม่ได้เพราะเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีสวัสดิการดูแลหลังจากที่เขาไม่มีเรี่ยวแรงจะทำแล้ว ทำให้คนคนหนึ่งไม่มีต้นทุนพอที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น”

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา คนไร้บ้านกว่า 40 ชีวิตได้เริ่มงานครั้งแรกด้วยการทำความสะอาดสกายวอล์กอนุสาวรีย์ชัยฯ แผนของโครงการนี้เริ่มต้นด้วยการให้คนไร้บ้านทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะก่อน หลังจากนั้นหากคนในสังคมช่วยกันสนับสนุนจนคนไร้บ้านมีทักษะการทำความสะอาดและเรียนรู้ระบบงานได้มากขึ้น ก็จะมีการขยายพื้นที่ในวงกว้างและต่อยอดไปสู่โมเดลธุรกิจทำความสะอาดตามที่พักอาศั

ส่วนเรื่องระยะเวลาของโครงการนั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของคนในสังคมที่เห็นคุณค่าของโครงการนี้ โดยร่วมเป็นผู้จ้างวานได้ที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา บัญชี 202-2-58289-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ และแจ้งพื้นที่ให้กลุ่ม ‘จ้างวานข้า’ ไปทำความสะอาดได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา

มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย FREEDOMFORTHAI เว็บไซต์ที่รวบรวมทุกความเคลื่อนไหวในสังคม

ในยุคสมัยที่เกิดกระแสคนในโซเชียลมีเดียเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่อหลากหลายประเด็นในสังคม แฮชแท็กจำนวนมากเกิดขึ้นและติดเทรนด์ระดับประเทศ (หรือบางครั้งไปถึงระดับโลก) ก่อนจะจมหายไป เพราะเกิดเหตุการณ์ความอยุติธรรมใหม่ๆ ที่แต่ละคนต้องใช้พื้นที่ของตัวเอง ณ ตอนนั้นแสดงออกจุดยืน ส่งผลให้หลายเหตุการณ์หรือมูฟเมนต์ทางสังคมที่ผ่านมาถูกหลงลืมหรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

ด้วยเหตุนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจึงได้ไอเดียเรื่องการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ในที่เดียว และทำหน้าที่เหมือน one stop service ที่แค่กดเข้าไปในแพลตฟอร์มนี้ก็รู้ทุกอย่างได้ ไม่ต้องใช้เวลามหาศาลในการไล่ติดตามเรื่องราวและแฮชแท็กทั้งหมด จนสุดท้ายเกิดเป็นเว็บไซต์ freedomforthai

“เราได้เห็นมูฟเมนต์ของ #BlackLivesMatter ที่มีเว็บไซต์รวมลิงก์ให้เรากดไปตามหน้าอื่นๆ ที่สนใจ ซึ่งค่อนข้างเป็นประโยชน์มากๆ กับสิ่งที่เรากำลังจะทำ พอไปนั่งคุยกับเพื่อนก็คิดได้ว่าถ้าเราทำบ้างน่าจะดี ใส่ข้อมูลที่หลายๆ คนน่าจะยังไม่รู้ และข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนหมู่มากเข้าไปด้วย ทำเป็นเว็บไซต์ที่สามารถอัพเดตเหตุการณ์ปัจจุบันให้คนที่เข้าไปรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยบ้าง”

ทีมผู้จัดทำเว็บไซต์เล่าว่า พวกเขาใช้เวลารวบรวมข้อมูลและทำเว็บไซต์ประมาณ 2 สัปดาห์ในช่วงที่มีข่าว #Saveวันเฉลิม โดยได้รับความช่วยเหลือเรื่องข้อมูลจากคนในแวดวงสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พวกเขาพบคือ จริงๆ แล้วในไทยมีแหล่งข้อมูลพวกนี้อยู่ไม่น้อย เพียงแต่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง

เมื่อเทียบกับจำนวนคนทำงานและข้อมูลในเว็บไซต์แล้ว สิ่งนี้ดูจะเป็นงานหนักอยู่เหมือนกัน ทว่าทีมผู้จัดทำก็มุ่งมั่นตั้งใจลงทุนลงแรงกับเว็บไซต์นี้เต็มที่ “หลักๆ คือเป็นความที่จะไม่ทนแล้ว เพราะในชีวิตจริงเราถูกลิดรอนสิทธิในการแสดงออก เราค่อนข้างเก็บกดและอัดอั้น เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นบางเรื่องก็ถูกทำให้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วผ่านไป ติดเทรนด์ทวิตเตอร์กันแค่วันสองวันแล้วกระแสก็หาย ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลย คุยกับทางทีมก็ไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนั้น ทุกคนอยากให้เป็นเรื่องที่สามารถตีแผ่ต่อไปและทำให้ทุกคนจำได้ว่ามันเคยเกิดขึ้นและเราจะไม่ปล่อยให้หายไป เหมือนที่คนชอบพูดว่าคนไทยลืมง่าย เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”

ด้วยความที่อยากให้เว็บไซต์นี้มีทุกอย่างครบถ้วน องค์ประกอบใน FREEDOMFORTHAI จึงมีหลายส่วน ทั้งการรายงานข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์ทางสังคมในไทย รายชื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เรื่องควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน แฮชแท็กสำคัญๆ ที่เคยเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ทั้งยังมีส่วน petitions ที่เปิดให้ทุกคนลงชื่อแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ส่วนเปิดรับอินโฟกราฟิกเพื่อให้ผู้สนใจดาวน์โหลดไปส่งต่อได้ รวมถึงส่วนการบริจาคเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในสังคมไท

ในอนาคตพวกเขามีแผนจะทำหน้าเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษล้วน เพื่อให้ชาวต่างชาติรับรู้ข้อมูลทั้งหมดในบริบทของคนที่ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองไทยมาก่อน รวมถึงอัพเกรดเว็บไซต์ให้วิเคราะห์สถิติต่างๆ เพื่อง่ายต่อการปรับปรุงในภายหลัง

“จุดประสงค์ของเราคืออยาก enlighten คนให้ได้มากที่สุด ถ้าเขาไม่มีเวลาอ่านอย่างน้อยก็อยากให้กดเข้ามาเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แค่รับรู้ว่ามีเรื่องเกิดขึ้นเยอะมากแค่ไหน เท่านี้เราก็รู้สึกว่าบรรลุจุดประสงค์แล้ว และมันจะดียิ่งขึ้นอีกถ้าทุกคนช่วยกันลงชื่อหรือบริจาคให้เกิดแอ็กชั่นที่มากกว่าตัวอักษรไปด้วย เราจะรู้สึกดีมากถ้าสิ่งที่ทำสามารถ educate ผู้คนและช่วยให้องค์กรที่กำลังทำงานอยู่ได้รับแรงสนับสนุนไปด้วย”

ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกที่กับจุดรับทิ้ง E-waste

ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากหันมาตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้น นอกจากลดการใช้ขยะจำพวกพลาสติก โฟม และวัสดุที่ย่อยยากแล้ว การแยกขยะให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล ใช้ประโยชน์ หรือทำลายก็ถือเป็นวิธีดูแลสิ่งแวดล้อมที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้เช่นกัน ปัญหาหนึ่งที่หลายคนน่าจะพบเวลาทิ้งขยะ คือขยะประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่รู้ว่าต้องทิ้งที่ไหนอย่างไรโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายภายหลัง

ด้วยเหตุนี้เอง เอไอเอส เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ที่ต้องทำงานข้องเกี่ยวกับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและแก็ดเจ็ตต่างๆ จึงจัดตั้งโครงการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการทิ้งขยะประเภทนี้ไม่ถูกวิธี และดำเนินการร่วมกับเหล่าพันธมิตรเพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธีและยั่งยืน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-waste หมายถึงซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หมดอายุการใช้งานหรือล้าสมัย ขยะประเภทนี้จะกำหนดว่าต้องทิ้งเมื่อหมดอายุการใช้งาน เช่น โทรทัศน์ 18 ปี คอมพิวเตอร์ 7 ปี โทรศัพท์มือถือ 2 ปี แบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ 1 ปี เป็นต้น

การจัดการขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธีนับเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเมื่อปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีมีมากขึ้นจะก่อให้เกิดสารตกค้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคม และส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์ จากสถิติประเทศไทยพบว่าปริมาณขยะอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

จุดรับทิ้ง E-waste เพื่อรองรับขยะประเภทนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในรูปแบบของถังขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่วางตาม AIS Shop กว่าร้อยสาขา รวมถึงโซน E-Center ตามห้างเซ็นทรัลสาขาต่างๆ ที่ทำการไปรษณีย์ และสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร สถานีตำรวจ เป็นต้น ซึ่งชิ้นส่วน E-waste ที่รับคือ โทรศัพท์/มือถือ พาวเวอร์แบงก์ แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ และหูฟัง ในขณะเดียวกันจะมีการรายงานจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาทิ้งแบบเรียลไทม์บนเว็บไซต์ของโครงการด้วย

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดจะเดินทางไปสู่โรงงานแยกขยะที่ถูกวิธี ผ่านกระบวนการแยกขยะที่คัดแยกชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาเป็นวัสดุแต่ละประเภท และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วยการนำเข้าเตาหลอมของวัสดุแต่ละประเภทจนสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ลดการฝังกลบที่เป็นมลพิษต่อโลก

ใครที่ต้องการเช็กจุดรับทิ้ง E-waste ในพื้นที่ใกล้เคียง และสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ ewastethailand

AUTHOR