โลงศพย่อยสลายได้ กองกำลังออนไลน์เพื่อผู้ชุมนุม – Think Positive ประจำเดือนตุลาคม 2563

โลงศพย่อยสลายได้ กองกำลังออนไลน์เพื่อผู้ชุมนุม – Think Positive ประจำเดือนตุลาคม 2563

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทัน หรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

เดือนตุลาคม 2563 มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะการชุมนุมทั้งเล็ก-ใหญ่ทั่วประเทศ ผู้ชุมนุมหลายคนจึงพยายามคิดหาวิธีช่วยประสานงานและดูแลผู้ชุมนุมคนอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นกองกำลังออนไลน์ทำหน้าที่ซัพพอร์ตผู้ชุมนุมทางด้านที่พักอาศัย ความปลอดภัย การตรวจเช็กข่าวสาร เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีนวัตกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์บริจาคเงินเพื่อเปลี่ยนเป็นอาหารสำหรับเด็กยากไร้ และโลงศพที่ย่อยสลายได้จากเชื้อราเห็ด

ให้วาระสุดท้ายเป็นมิตรกับดินและโลก ‘Loop Living Cocoon’ โลงศพย่อยสลายได้จากเชื้อราเห็ด

คนเราตายแล้วไปไหน? คำตอบของ Loop บริษัทโลงศพสัญชาติดัตช์คือ “ไปเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้” ด้วย Loop Living Coffin โลงศพย่อยสลายได้จากเส้นใยเชื้อราเห็ด (Mushroom Mycelium) ที่ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายของมนุษย์ให้เร็วขึ้น จากที่โลงศพไม้แบบทั่วไปใช้เวลาย่อยถึง 10 ปี โลงศพจากเส้นใยเชื้อราเห็ดนี้จะใช้เวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น

โลงศพของ Loop ใช้เวลาในการสร้าง (หรือพูดให้ถูกคือเติบโต) เพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นโดยไม่พึ่งพลังงาน แสง หรือความร้อน ภายในปูด้วยมอสที่ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลาย และออกแบบมาให้ฝังในป่าแทนที่จะเป็นหลุมศพ โดยในอนาคต พวกเขายังตั้งใจพัฒนาให้เห็ดเรืองแสงสามารถงอกขึ้นมาจากโลงศพได้ด้วยเพื่อบ่งบอกอาณาบริเวณที่มีร่างกายมนุษย์ฝังอยู่แทนที่ป้ายหินเหนือหลุมศพในสุสานทั่วไป

“ทุกวันนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในสุสานธรรมชาติ” Bob Hendrikx ดีไซเนอร์เจ้าของไอเดียโลงศพและ CEO ของ Loop เล่า “พฤติกรรมของมนุษย์ไม่เพียงเป็นปรสิตต่อธรรมชาติ แต่พวกเรายังมองการณ์ใกล้ด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลภาวะ โดยธรรมชาติ เส้นใยเชื้อราเห็ดจะมองหาของเสียและเปลี่ยนเป็นสารอาหารสำหรับธรรมชาติผมจึงหวังว่า ‘โลงศพมีชีวิต’ จะสร้างวงจรการย่อยสลายมนุษย์ที่สมบูรณ์เพื่อซ่อมแซมธรรมชาติที่เราทำลายไป”

Hendrikx อธิบายว่า Mycelium สามารถย่อยสลายได้ทั้งของเสียทั่วไปและสารพิษจึงมักมีการใช้เส้นใยเชื้อราเห็ดทำความสะอาดพื้นดินอุดมสารพิษ​ เช่น ที่เชอร์โนบิล เขาจึงคาดว่าโลงศพจากเห็ดนี้จะสามารถพัฒนาคุณภาพพื้นดินรอบๆ ได้ด้วย แต่เพราะ Loop เพิ่งทดลองฝังโลงศพพร้อมร่างกายมนุษย์ไปเมื่อต้นเดือนกันยายน จึงต้องรอให้การย่อยสลายสมบูรณ์เสียก่อนถึงจะพิสูจน์ได้ว่าดินรอบๆ มีสารอาหารมากขึ้นจริงหรือไม่

ที่มา : dezeen.com / ภาพจาก loop-of-life.com

“มื้อนี้พี่เลี้ยง” ส่งต่ออาหารดีๆ ให้เด็กยากไร้ด้วยการกดสั่งอาหารในร้านทุพโภชนา

ในขณะที่เราสามารถสั่งอาหารอร่อยๆ มากินได้อย่างสะดวกสบายถึงหน้าบ้าน ในอีกพื้นที่ห่างไกลออกไป ประเทศไทยยังมีปัญหานักเรียนยากจนที่มีสภาวะขาดสารอาหารเป็นแสนคน คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเลี้ยงอาหารน้องๆ ได้สักมื้อสองมื้อหรือไปถึงหลายสิบมื้อตามที่กำลังทรัพย์จะเอื้ออำนวย รวมถึงได้เรียนรู้ไปด้วยว่าหน้าตาอาหารที่น้องๆ ต้องกินเป็นยังไง เพื่อนำไปกระจายข่าวและส่งต่อให้คนรอบข้างมากขึ้นเพื่อดึงคนมาช่วยเหลือกัน

โครงการ Grab Loves Children ช่วยเด็กไทยกันนะ กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงร่วมมือกันสร้าง ‘ทุพโภชนา’ ร้านอาหารแรกและร้านเดียวในแอพพลิเคชั่น GrabFood ที่ถ้าคุณกดสั่งอาหารแล้วจะถูกหักเงินจากการผูกบัญชีหรือบัตรเครดิตไว้กับแอพฯ เท่านั้น และไม่ได้รับอาหารไปกิน

จุดประสงค์ของโปรเจกต์นี้คือ การสร้างการมีส่วนร่วมกับคนทั่วไปในการส่งต่อมื้ออาหารดีๆ เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการให้แก่เด็กที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร ภายใต้แนวคิด ‘มื้อนี้พี่เลี้ยง’ ผ่านวิธีการกดสั่งอาหารภายในร้าน ‘ทุพโภชนา’ แทนวิธีการบริจาคเงินแบบปกติ

วิธีการร่วมบริจาคก็ง่ายๆ แค่คุณเสิร์ชชื่อร้าน ‘ทุพโภชนา’ ในแอพพลิเคชั่น แล้วเลือกดูเมนูอาหารที่ต้องการ ซึ่งจะมีตั้งแต่ราคาสูงสุด 600 บาทไปจนถึงราคา 20 บาท ยกตัวอย่างเมนู ‘เปลี่ยนข้าวคลุกพริกน้ำปลาให้เป็นมื้อเช้าที่ถูกหลักโภชนาการ’ ‘เปลี่ยนถั่วฝักยาวกับน้ำบูดูให้เป็นมื้อเช้าที่ถูกหลักโภชนาการ’ หรือ ‘เปลี่ยนมันต้มให้เป็นมื้อเช้าที่ถูกหลักโภชนาการ’ เป็นต้น โดยภาพที่โชว์จะเป็นเมนูอาหารนั้น เพื่อทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจปัญหามากขึ้น

นอกจากนี้คุณยังสามารถเพิ่มนมจืด ไข่เจียว หรือปลาทูทอด ให้มื้ออาหารของน้องๆ ได้ผ่านฟังก์ชั่นเพิ่มท็อปปิ้งแบบที่สั่งอาหารกันปกติ เพียงแต่ในแอพฯ จะแสดงเป็นคำว่า ‘เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ’ แทน เรียกว่าเจ้าของโปรเจกต์สร้างสรรค์มาได้ราวกับเหมือนเรากำลังได้เลี้ยงข้าวน้องจริงๆ เลย

ทั้งนี้ จำนวนเงินค่าอาหารที่ได้รับการสั่งซื้อทั้งหมดจะรวบรวมเพื่อมอบเป็นทุนค่าอาหารให้แก่น้องๆ โดยไม่มีการหักค่าดำเนินการใดๆ

‘ม็อบมีที่นอน’ โปรเจกต์ที่นอนฟรีที่ไม่ได้มาจากภาษีประชาชน

การชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการแสดงออก อีกทั้งเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม ดังนั้นไม่ว่าใครก็ควรมาร่วมกิจกรรมการชุมนุมได้โดยไม่มีการปิดกั้นหรือถูกคุกคาม

ที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นว่าได้มีการจัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด ไม่ว่าจะนักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุต่างก็ตบเท้าเข้าร่วมชุมนุม เพื่อแสดงถึงจุดยืนทางการเมือง ซึ่งนอกจากอาหารและน้ำฟรีที่แบ่งปันกันในม็อบแล้ว ก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งก่อตั้งโปรเจกต์ ‘ม็อบมีที่นอน’ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวม็อบที่เดินทางมาไกล รวมถึงผู้ที่กลับบ้านไม่สะดวกหลังเลิกม็อบ

“ม็อบมีที่นอน เกิดจากการเห็นผู้ร่วมชุมนุมนอนตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งดูไม่ปลอดภัยและตำรวจอาจเข้ามาจับตัวไปได้ เราเลยอยากหาที่พักเป็นหลักเป็นแหล่งที่ปลอดภัยสำหรับผู้ร่วมชุมนุม เพราะอย่างม็อบเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ตำรวจก็เข้ามาสลายการชุมนุมช่วงตี 4 เหตุการณ์นี้ทำให้เราตัดสินใจสร้างแอ็กเคานต์นี้ขึ้นมา” หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งโปรเจกต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟัง

หลังจากที่เปิดแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @mobmeeteenon ได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็มีคนมาร่วมเป็นแอดมินช่วยกันประสานงานในแอ็กเคานต์จำนวหนึ่ง เพื่อช่วยกันตอบข้อความและกระจายข่าว

ส่วนกระบวนการจัดการของม็อบมีที่นอน สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาในการหาที่พักหรือการเดินทางกลับบ้านที่อยู่ไกล ให้ส่งข้อความแจ้งความจำนงรวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่ต้องใช้สำหรับจองที่พัก จากนั้นทีมงานจะติดต่อประสานงานและจ่ายเงินให้ รวมถึงมีทีมที่ประจำในพื้นที่ม็อบเพื่อทำหน้าที่รับ-ส่งผู้ชุมนุม ดำเนินการเช็กอินให้สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สะดวก

“นอกจากนี้ก็มีแอดมินจำนวนหนึ่งที่ลงพื้นที่ม็อบเพื่อจัดการหาที่พักให้ผู้ชุมนุมด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าที่พักไม่รองรับการจ่ายเงินออนไลน์ อยากได้เป็นเงินสด เราก็กระจายเงินในบัญชีให้ไปจ่ายที่หน้าเคาน์เตอร์แทน”

ถึงแม้โปรเจกต์นี้จะไม่ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการนัก แต่ทีมผู้ก่อตั้งบอกว่าม็อบมีที่นอนจะคงอยู่ต่อไปเพื่อหาที่พักให้ผู้ชุมนุม โดยจะมีบริการรับ-ส่งไปยังที่พัก และเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายให้ จนกว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตย พร้อมทั้งฝากทุกคนที่ไปม็อบให้สังเกตคุณลุง คุณป้า หรือคนที่มาจากต่างจังหวัด เพื่อถามไถ่เรื่องที่พักด้วย

“เราทุกคนคือแกนนำ” รวมกองกำลังออนไลน์ที่ซัพพอร์ตผู้ชุมนุม

เนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการจับกุมแกนนำไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดช่องว่างรอยต่อระหว่างกลุ่มที่นำการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุม ส่งผลให้เกิดหลักการ ‘เราทุกคนคือแกนนำ’ ที่ผู้ชุมนุมร่วมด้วยช่วยกันประสานงานและสอดส่องดูแลความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวนี้ด้วยช่องทางออนไลน์บนทวิตเตอร์

กองกำลังออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมนี้ครอบคลุมความช่วยเหลือหลายด้าน ตั้งแต่การประสานงานจากแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อซัพพอร์ตผู้ชุมนุมในพื้นที่จริง จนไปถึงการสอดส่องดูแลเฟคนิวส์ และผู้มีเจตนาปลุกปั่นยุยงในกลุ่มผู้ชุมนุม

ด้วยความที่อยากให้ผู้ชุมนุมหาพวกเขาเจอง่ายๆ เลยขออาสารวบรวมแอ็กเคานต์เหล่านี้ พร้อมคำอธิบายสั้นๆ ถึงสิ่งที่ทำมาให้ตามนี้

1. ม็อบมั้ย? @mobmaiTH
รวมข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่ควรรู้ ฮาวทูชุมนุมยังไงให้ปลอดภัย

2. ในม็อบมีอะไร @whathappeninmob
ช่วยกรองข่าวสารในการแชร์ข้อมูลจากผู้ที่อยู่ในการชุมนุมและทีมสังเกตการณ์

3. ม็อบหน้าคอม @MobAndComp
กระจายข่าวและข้อมูลของการชุมนุมที่สำคัญ

4. ห้องน้ำใกล้ม็อบ @ToiletNearMob
ชี้พิกัดห้องน้ำใกล้ม็อบในพื้นที่การชุมนุม

5. ม็อบมีที่นอน @mobmeeteenon
ช่วยเหลือเรื่องที่พักแก่ผู้มาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

6. ของหายในม็อบ @khonghaiinmob
ติดตามหาของหายสำหรับผู้ไปร่วมชุมนุม

7. คืนของม็อบ @dropoffmob
พื้นที่สำหรับคืนของในม็อบ สำหรับนำไปใช้ในการชุมนุมครั้งต่อไป

8. Full Jai People @fulljaipeople
พื้นที่ดูแลและสนับสนุนด้านจิตใจเพื่อเพื่อนนักกิจกรรม

9. IO WARNING BOT @IOwarningbotTH
ตรวจสอบการกระจายข้อมูลข่าวสารเท็จ (fake news) หรือโปรไฟล์ที่เข้าข่ายต้องสงสัยเป็น IO

ขอย้ำอีกครั้งว่าการชุมนุมหรือการเดินขบวนเรียกร้อง ถือเป็นเสรีภาพประการหนึ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาแต่กำเนิดตามแนวคิดสิทธิมนุษยชน โดยเรียกชื่อเสรีภาพประเภทนี้ว่า เสรีภาพในการชุมนุม (freedom of assembly) โดยในประเทศที่เจริญแล้วล้วนใช้วิธีการนี้ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพด้วยกันทั้งสิ้น ถือเป็นเรื่องปกติที่พลเมืองสามารถทำได้

AUTHOR