Think Positive ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทันหรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดตัวนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2562 นั้น มีนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มคนมีความรู้สาขาวิชาต่างๆ อย่างระบบตรวจจับการลอกคราบปูม้านิ่มอัตโนมัติของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกิดจากคณะประมงกับคณะวิศวกรรมศาสตร์, ‘สะตออบแห้ง’ ที่เก็บไว้กินได้นานกว่า 1 ปีจากฝีมือเจ้าของกิจการกับกลุ่มนักวิจัย รวมถึง ‘บุญ-แชร์’ เก้าอี้สำหรับผู้สูงอายุจากไม้สักเมืองแพร่ โดยหน่วยงานด้านผู้สูงอายุที่จับมือกับองค์กรที่ให้ความรู้เรื่องการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีแคมเปญ ‘โหวตเลขสายรถเมล์’ ชวนออกแบบเลขสายรถเมล์และเมืองที่ต้องการ จาก MAYDAY! ร่วมกับ TDRI และกรมการขนส่งทางบก

ไม่ต้องอดหลับอดนอนรอให้ปูนิ่ม เมื่อ ม.เกษตรฯ พัฒนาระบบตรวจจับการลอกคราบปูม้านิ่มอัตโนมัติ

ลองคิดถึงข้าวสวยร้อนๆ ควันฉุยคลุกเคล้าไปด้วยเนื้อปูพูนจาน เหยาะน้ำจิ้มซีฟู้ดเพิ่มรสชาติความกลมกล่อม ตักเข้าปาก ค่อยๆ ละเลียดเคี้ยวไปทีละคำสองคำ ส่วนกล้ามปูที่เหลือค่อยๆ กระเทาะจนเปลือกล่อนออก เหลือเนื้อขาวๆ อวบๆ แค่คิดก็น้ำลายสอ อืมมม…แต่ก็คงได้แค่คิด เพราะความจริงแล้วจะกินปูแต่ละครั้งการแกะนั้นช่างยากเย็น กินเหลือยิ่งเสียดายของ

ปัญหาตรงนี้ดูเหมือนจะมีอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งก็คือการกินปูนิ่ม ที่ไม่ต้องเสียเวลาแกะและไม่ต้องกลัวเสียดายของเพราะกินได้หมดทั้งตัวไปเลย แต่เงื่อนไขมีอยู่ว่าปูชนิดนี้ราคาแพง เพราะการหาปูนิ่มนั้นมีพิธีรีตองไม่น้อย

ด้วยความที่ปูเป็นสัตว์เปลือกแข็ง การเจริญเติบโตของพวกมันทำได้โดยการลอกคราบสลัดเปลือกเก่าทิ้ง ช่วงเวลานี้แหละที่ตัวพวกมันจะนิ่มและคนงานจะต้องคอยจับจังหวะให้แม่น ห้ามพลาดเป้า เพราะคราบจะแข็งเร็วมาก คนงานต้องอดหลับอดนอนคอยดูกันตลอดเวลาทุกๆ ชั่วโมง

ด้วยเหตุนี้ ‘ดร.สุขกฤช นิมิตรกุล’ นักวิจัยจากภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเหล่าอาจารย์ผู้ใหญ่ในคณะ จึงแก้โจทย์ในการหาปูนิ่มให้ง่ายขึ้น จนเกิดเป็น ‘โครงการพัฒนาระบบตรวจจับการลอกคราบปูม้านิ่มโดยอัตโนมัติเพื่อการผลิตปูม้าเชิงพาณิชย์’

นวัตกรรมการหาปูนิ่มที่ว่านี้คือ การนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด CCTV ติดไว้เหนือตะกร้าเลี้ยงปู และในความมืดนั้นจะเห็นจุดสีขาวซึ่งเป็นกระดองปูที่สะท้อนแสงอินฟราเรด วิธีตามจับปูนิ่มจึงง่ายขึ้น เมื่อไหร่ที่เห็นว่าในตะกร้าเลี้ยงปูมีจุดสีขาวเพิ่มขึ้นมานั่นเท่ากับว่าปูกำลังลอกคราบ กล้องจะประมวลผลส่งภาพมายังจอคอมพิวเตอร์ และจากนั้นคนงานสามารถเดินไปที่ตะกร้าเก็บผลผลิตได้เลย

ดร.สุขกฤชบอกกับเราว่า “ข้อเน้นย้ำว่าโครงการนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากทีมประมงทำงานด้วยกันเอง แต่งานนี้เกิดขึ้นได้เพราะทีมประมงกับทีมวิศวกรมาคุยกัน ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ได้ประโยชน์มากเพราะคนที่มีปัญหากับคนที่หาทางแก้ปัญหาได้มาคุยกัน บูรณาการความรู้ที่แตกต่างมารวมกัน ทำให้เกิดความก้าวหน้ามากขึ้น

“โปรเจกต์นี้ประกอบไปด้วยความรู้ 3 อย่างคือ ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการตรวจจับ ความรู้ทางด้านสรีระ คือการลอกคราบ และส่วนสุดท้ายเป็นความรู้ด้านการเพาะปู ในแต่ละความรู้จะมีผู้เชี่ยวชาญประจำ โครงการนี้ผมเป็นเพียงนักฝันเฉยๆ ฝันแล้วก็ put the right man on the right job. โปรเจกต์นี้เลยขับเคลื่อนได้ และผมไม่ใช่คนที่ทำงานหนักที่สุดแต่เป็นคนเพาะปูและเขียนระบบโปรแกรมตรวจจับ” ดร.สุขกฤชเล่าถึงทุกคนที่มีส่วนเติมเต็ม

สำหรับโครงการนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาแบบ วางแผนให้ทุกอย่างสมบูรณ์ต่อไป อาจารย์เล่าไอเดียให้ฟังอีกว่า ในอนาคตแต่ละกล่องที่ใช้เพาะปูจะมีข้อมูลเพื่อนำไปอ้างอิงได้ เช่น ปูกล่องนี้มีขนาดเท่าไหร่ ใช้เวลาในการลอกคราบนานแค่ไหน หรือแม้แต่การแจ้งเตือนในไลน์เมื่อถึงเวลาที่ปูลอกคราบ อีกทั้งยังวางแผนให้คอมพิวเตอร์แม้จะตั้งอยู่ที่ไหนบนโลกก็ตรวจเช็กการลอกคราบได้

“ผมในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยากได้ปูนิ่มหรอก แต่สิ่งที่อยากได้มากที่สุดคือข้อมูล ผมอยากรู้ว่าในรอบปีปูลอกคราบเดือนไหนมากที่สุดและลอกคราบช่วงเวลาไหนของวันมากที่สุด เพราะข้อมูลตรงนี้จะนำไปสู่เรื่องการตลาด นอกจากจะมีประโยชน์ทางการค้าแล้ว ยังมีประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย และเมื่อรู้ตัวเลขของปูที่ลอกคราบ เราสามารถหาวิธีเร่งการเจริญพันธ์ุ เร่งการลอกคราบได้อีก ข้อมูลตรงนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตได้มากที่สุด

“เป้าหมายสูงสุดของผมคือ ความตั้งใจที่จะสร้างธุรกิจการเพาะเลี้ยงปูม้าให้ได้มากยิ่งขึ้นในประเทศไทย แม้การกินปูนิ่มจะมีอยู่แล้วก็ตาม แต่นั่นเป็นปูดำหรือปูทะเลที่นับวันยิ่งหายากเพราะใช้พันธ์ุจากธรรมชาติ และการจะกินปูนิ่มได้ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ อาศัยความชำนาญในการเช็กทีละตะกร้า ทีละชั่วโมง ว่าปูจะลอกคราบเมื่อไหร่ ปูนิ่มที่มีอยู่ในท้องตลาดจึงมีราคาแพง แต่ไม่ใช่ว่าห้ามกินปูตามธรรมชาตินะ เพียงแต่อยากมีทางเลือกให้มากขึ้น และบอกว่าปูม้าก็เพาะเลี้ยงเป็นปูนิ่มได้ ไม่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ ลดต้นทุนในการจ้างงาน และสำหรับโครงการที่ออกแบบมานี้ไม่ใช่จะใช้ได้แค่กับปูม้าเท่านั้น แต่กับปูดำที่ทำกันอยู่แล้วก็นำไปประยุกต์ใช้ด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นมีประโยชน์กับทั้งหมด อาจจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้มากยิ่งขึ้น” ดร.สุขกฤชเน้นย้ำถึงความตั้งใจ


คืนชีพสะตอด้วยนวัตกรรม ‘สะตออบแห้ง’ ที่เก็บไว้กินได้นานกว่า 1 ปี

สะตอคือพืชผักของดีเมืองใต้ที่มีทั้งคนรักและคนชัง เพราะแม้จะกลิ่นแรงจนคนส่ายหน้าหนี แต่รสชาติอร่อย เคี้ยวมัน ทั้งยังมีสรรพคุณทางยามากมาย และเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน

ปัญหาหนึ่งที่คนชอบกินหรืออยากกินสะตอโดยเฉพาะคนเมืองมักประสบคือ หาซื้อพืชผักชนิดนี้ได้ยาก เพราะสะตอเป็นพืชผักยืนต้นที่ชอบพื้นที่ความชื้นสูง ไม่เหมือนผักสวนครัวอย่างต้นหอม พริกขี้หนู หรือถั่วงอก ที่ปลูกหน้าบ้านหรือในคอนโดได้ และสะตอยังมีปัญหาเรื่องอายุการเก็บรักษาที่สั้นมาก ดังนั้นเวลาใครได้สะตอมาก็ต้องรีบนำไปปรุงอาหาร พออยากจะกินอีกก็ต้องไปขวนขวายหาจากแหล่งขายเฉพาะหรือสั่งทางออนไลน์

ในแง่เกษตรกรผู้ปลูกเอง เมื่อถึงฤดูกาลสะตอที่ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ จะนำไปแปรรูปก็ทำได้แค่ดองและแช่แข็งเท่านั้น ซึ่งรสชาติก็จะไม่ใกล้เคียงกับของสด ด้วยเหตุนี้เอง ‘เกด–ชมนาด ศรีเปายะ’ ผู้ประกอบการแบรนด์ชมนาด จึงคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถยืดอายุการเก็บสะตอให้นานขึ้นถึง 1 ปี และมีกลิ่น สี รสชาติ รวมถึงเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงของสดเกือบ 100%

จุดเริ่มต้นมาจากการที่เธอทำแบรนด์เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรในอำเภอพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีจุดประสงค์แก้ไขปัญหาผลิตผลทางการเกษตรล้นตลาดจนราคาตกต่ำ ซึ่งสะตอคือหนึ่งในนั้น

“เราสังเกตว่าช่วงฤดูกาลที่สะตอออกเยอะๆ ชาวบ้านใช้รถขนไปขาย ขนไปแล้วก็ขนกลับ เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จนได้รู้ว่าในช่วงที่สะตอเยอะจริงๆ นอกจากราคาไม่ดีแล้ว มันยังขายไม่ได้ด้วย เรามองว่าสะตอเป็นพืชที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ แต่ทำไมพืชตัวนี้ถึงไม่ได้รับการดูแลเลย และอย่างที่ทราบกันว่าสะตอมีขายเฉพาะแบบที่เป็นผักสด พอเป็นของสดอายุการเก็บรักษาก็สั้น แถมดูแลยาก การจัดจำหน่ายขนส่งก็ลำบาก เนื่องจากสะตออ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ทำให้เสียง่ายกว่าผักชนิดอื่นๆ”

pain point นี้เองที่ทำให้เกดตั้งโจทย์ถึงสะตอที่พกพาสะดวก ขนย้ายง่าย เก็บรักษาได้นาน และเนื้อสัมผัสกับรสชาติใกล้เคียงของสด เธอทดลองใช้กรรมวิธีการทำแห้งในปัจจุบันแต่ไม่ว่าวิธีไหนก็ไม่ได้ผลตามความต้องการ เธอจึงนำโจทย์นี้ไปปรึกษากับโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จนทำเครื่องจักรตัวโปรโตไทป์เล็กๆ ได้สำเร็จ และขอทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อทำเครื่องจักรที่ใหญ่ขึ้นจนได้เป็นเครื่องอบสะตอแบบตัวที่ใช้อยู่

“ปัจจุบันเราสามารถขยายสเกลเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและได้ช่วยเหลือเกษตรกรจริงๆ เพราะเราเปิดเป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ชมนาด ซึ่งมีนวัตกรรมทำให้ของแห้งและคืนตัวกลับมาเป็นของสดที่คงคุณค่าตัวยาและสารอาหารได้ใกล้เคียงของสดมากที่สุด ดังนั้นเราเลยหันมาเล่นไลน์ผลิตภัณฑ์ทำแห้งพวกพืชผักสมุนไพรท้องถิ่นด้วย”

ด้วยความที่เกดทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องการเพาะปลูกอินทรีย์กับออร์แกนิก บวกกับขั้นตอนการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมี ผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจในผลิตภัณฑ์สะตออบแห้งของแบรนด์ชมนาดได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลิตภัณฑ์นี้ยังสร้างงานสร้างเงินให้คนทำอาชีพขึ้นต้นสะตอ กลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในกระบวนการบรรจุอีกด้วย

ส่วนขั้นตอนการใช้สะตออบแห้งนั้นก็แสนง่าย แค่ฉีกซองแช่สะตออบแห้งในน้ำอุณหภูมิปกติประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก็สามารถนำสะตอที่คืนรูปเป็นของสดไปประกอบอาหารได้เหมือนเพิ่งแกะออกจากฝัก ครบทั้งสี กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัส หรือจะแช่น้ำตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงตอนเย็นก็ไม่มีปัญหา แต่หากต้องรีบนำไปประกอบอาหารก็ใช้น้ำร้อนเพื่อเร่งปฏิกิริยาคืนรูปได้โดยไม่กระทบกับรสชาติ ซึ่งกลิ่นจะแรงกว่าและสีจะเปลี่ยนเป็นเขียวๆ น้ำตาลๆ เหมือนเวลาเราลวกสะตอสด

ปัจจุบันชมนาดกำลังขยายผลิตภัณฑ์ไปยังพืชและสมุนไพรท้องถิ่นชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรและช่วยเหลือคนในชุมชนต่อไป หากใครสนใจชิมรสสะตออบแห้งคืนรูปก่อนก็สั่งซื้อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Chommanad Dried Bitter Beans


‘บุญ-แชร์’ เก้าอี้สำหรับผู้สูงอายุจากไม้สักเมืองแพร่

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ยกตัวอย่างประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ไทยเองนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบภาวะนี้เช่นเดียวกัน นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องคิดหามาตรการเตรียมรับมือแล้ว เหล่าแบรนด์และองค์กรต่างๆ ก็หยิบเอาประเด็นนี้มาพัฒนาเซอร์วิสและโปรดักต์เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายนี้ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ด้วยเหตุนี้เอง ‘บั้ม–พงศธร กันทะวงค์’ อาจารย์วิทยาลัยชุมชนแพร่ สถาบันวิทยาลัยชุมชน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ผู้สูงอายุ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ (CEA) จึงตีโจทย์ร่วมกับชุมชนผู้ประกอบการอาชีพทำไม้ของจังหวัดแพร่ เพื่อออกแบบเฟอร์นิเจอร์รองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยอิงกับไม้สักของดีเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้วของการร่วมมือกัน

บั้มนำหลักการคิดวิธีดีไซน์ที่เรียกว่า design thinking มาจาก TCDC เชียงใหม่ โดยตั้งต้นจาก pain point ของผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุ และทดลองออกแบบเก้าอี้กว่า 20 รูปแบบก่อนจะออกมาเป็นคอลเลกชั่น บุญ-แชร์ แบบที่เห็น “เราคิดเรื่องการพัฒนาแบบมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 พอปี 2562 เราวางขายในตลาดเจาะกลุ่มผู้สูงอายุภาคเหนือ ซึ่งเราคิดย้อนไปถึงการศึกษาและทำความเข้าใจ pain point ต่างๆ มีการทดสอบเสถียรภาพและความแข็งแรง โดยนำเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ไปทดลองกับกลุ่มผู้สูงอายุทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดจนคุณภาพคงที่”

“เราทำงานกับแพทย์เรื่องคำแนะนำกับทำแบบสอบถามในเชิงวิชาการว่านั่งสบายไหม เอียงไปไหม มุมเป็นยังไง ลุกได้สะดวกขึ้นหรือเปล่า อย่างตัวบุญค้ำที่เป็นเก้าอี้ช่วยพยุงตัว เราก็คิดจากน้ำหนักของไม้พยุงตัวที่หนักมาก ลองลดน้ำหนักลงมา เพื่อให้ผู้ใช้พยุงตัวได้สะดวกขึ้น หรือบุญส่งที่มาจาก pain point ของตัวนักออกแบบชาวแพร่เอง โจทย์คือคุณตาที่บ้านเขาอายุประมาณ 70 ลุกยาก ปวดเข่า ต้องใช้การพยุงและดันตัว เขาก็คิดในเชิง mechanic ว่าแรงส่งของตัวคนบวกกับการโยกที่ทิ้งน้ำหนักไปข้างหน้า มันน่าจะตอบโจทย์เรื่องน้ำหนักในการช่วยส่งตัวเวลาลุกขึ้น”

บั้มและทีมลองผิดลองถูกมานานกว่า 3 ปี กว่าจะได้โปรดักต์ที่คงที่ทั้งสเกล องศา และส่วนประกอบต่างๆ ของเก้าอี้ ทั้งยังนำไปทดสอบกับผู้ใช้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีคุณหมอเป็นพี่เลี้ยงอีกประมาณ 3 เดือนเพื่อปรับแก้ไขครั้งสุดท้าย เรียกว่ากว่าจะได้เก้าอี้สักตัว ต้องผ่านหลายกระบวนการและใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว

ตอนนี้เก้าอี้คอลเล็กชั่นบุญ-แชร์มีทั้งหมด 3 รูปทรง ได้แก่ เก้าอี้พยุงตัวช่วยเดินบุญค้ำ เก้าอี้ลุกง่ายบุญส่ง เก้าอี้เก็บไม้เท้าบุญเย็น ซึ่งล่าสุดบั้มได้ติดต่อกับทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเสนอเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุที่ขายได้ทั้งในและต่างประเทศ เกิดเป็นอีกช่องทางสำหรับหารายได้เข้าสู่ชุมชน

ส่วนที่มาของชื่อบุญ-แชร์นั้นมาจากการปรึกษากับทีม TCDC อย่างละเอียดจนได้ชื่อติดหูที่ฟังแล้วอมยิ้ม “โจทย์แรกคือหลักของการตั้งชื่อว่าไม่ควรเกิน 3 พยางค์ ส่วนโจทย์ที่สองต้องขอบคุณนักออกแบบที่เป็นคนที่นี่และอยู่กับเรามา 3-4 ปี เขาตีความจากความเห็นเรื่องการใช้งานเก้าอี้ว่าเป็นเรื่องผู้ซื้ออาจไม่ได้ใช้ ผู้ใช้อาจไม่ได้ซื้อ ซึ่งคนซื้ออาจเป็นลูกหลานซื้อมาให้ปู่ย่าตายายพ่อแม่ที่บ้าน ตีความเป็นเรื่องการทำบุญการตอบแทนพระคุณ ส่วนแชร์ก็มาจากคำว่าเก้าอี้และแชร์ความสุขไปด้วย”

“ทุกวันนี้เราวางเก้าอี้ไว้ใน public area อย่างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้สูงอายุ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวางไว้ที่ห้องพักคอยแพทย์กับห้องรอยา เรามองว่าเก้าอี้ตัวนี้มันต้องแชร์ความสุข แชร์การใช้งาน และแชร์ไปถึงรายได้ที่จะกลับมาสู่คนแพร่ เพราะจังหวัดเราถูกมองว่าเป็นจังหวัดที่ตัดไม้ทำลายไม้ ใช้ไม้ไม่คุ้มค่า เราอยากสร้างภาพลักษณ์ให้จังหวัดว่าเราก็คิดถึงผู้สูงอายุที่จะเป็นคนหมู่มากในอนาคต และพอทุกคนมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของเรา มีใช้ทุกครัวเรือน มันก็ตีกลับมาที่ความมั่นใจในการใช้งานไม้สักของแพร่ทั้งตัวไอเท็มอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นและมีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เขาเชื่อมั่นในการแชร์ความสุข ความมั่นใจ และอาชีพ เพื่อที่ทุกอย่างจะกลับมายังชุมชนจังหวัดแพร่”

ด้วยความที่ต้องควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ทำให้เก้าอี้บุญ-แชร์อาจยังไม่ได้รับการผลิตอย่างรวดเร็วตอบสนองความต้องการของคนจำนวนมากได้ทันใจนัก ดังนั้น บั้มกับทีมจึงพยายามแก้ไขอุปสรรคตรงนี้อยู่ ทั้งยังพยายามคิดหาทางทำธุรกิจออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น ใครที่สนใจสามารถเข้าไปสัมผัสเก้าอี้ของจริงได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เชียงใหม่ หรือในงาน Chaing Mai Design Week 2019 ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธันวาคมนี้


‘โหวตเลขสายรถเมล์’ แคมเปญชวนออกแบบเลขสายรถเมล์และเมืองที่ต้องการ

ใครจำสายรถเมล์ไม่เคยได้ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป เมื่อชาว Mayday กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรื่องขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถเมล์ ชวนทุกคนมาร่วม ‘โหวตเลขสายรถเมล์’ ที่เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

การออกแบบเลขสายรถเมล์ใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งแม้แผนที่ว่าจะถูกรื้อและปรับกันมาหลายรอบ แต่ 2 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงยังคงเดิมคือ

1. รถเมล์ใหม่ : ข้อกำหนดระบุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเดินรถต้องจัดหารถใหม่มาให้บริการ
2. เส้นทางใหม่ : ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มเส้นทางบนถนนสายใหม่ๆ เชื่อมต่อรถไฟฟ้า

การเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถนั้น นอกจากจะทำให้เรามีเส้นทางใหม่ๆ เพื่อสร้างโครงข่ายการเดินทางเชื่อมต่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เส้นทางเดิมที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย โดยแบ่งเป็นเส้นทางการเดินรถใหม่ 80 เปอร์เซ็นต์ และเส้นทางเดิมเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (อ้างอิงจากแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะ 269 เส้นทาง)

เพราะเส้นทางเดินรถใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นยังไม่มีเลขสายรองรับในระบบปัจจุบัน แถมการใช้เลขสายเดิมบนเส้นทางเดินรถที่เปลี่ยนแปลงไปก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดตามมา นั่นจึงทำให้เราต้องออกแบบเลขสายรถเมล์ใหม่อย่างเป็นระบบกว่าของเดิมที่ต้องอาศัยความจำเพียงอย่างเดียว

MAYDAY! ร่วมกับ TDRI และกรมการขนส่งทางบก จัดเวิร์กช็อปกระบวนการมีส่วนร่วมออกแบบระบบเลขสายรถเมล์ใหม่ เริ่มต้นจากการชวนภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ มาช่วยกันออกแบบ ต่อด้วยการนำระบบของแต่ละกลุ่มมาหาความต้องการร่วมและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดจนได้ออกมาเป็นสายรถเมล์ 3 รูปแบบซึ่งอยู่ในระหว่างการเปิดโหวตให้ทุกคนได้ร่วมออกแบบ

ใจความสำคัญของสายรถเมล์ทั้ง 3 รูปแบบคือ ระบบแบ่งกรุงเทพฯ เป็นโซนด้วยตัวเลข และตัวเลขสายรถเมล์จะเป็นตัวบอกว่า รถเมล์แต่ละสายวิ่งไปในทิศใด โซนใดของเมือง แถมในอนาคตอาจนำไปสู่การคิดค่าโดยสารตามโซนเหมือนในต่างประเทศ และนอกจากการร่วมกันโหวตเลขสายรถเมล์แบบใหม่ MAYDAY! ยังอยากให้ทุกคนร่วมออกแบบด้วยว่า เราควรเก็บเลขสายเดิมไว้กับรถที่วิ่งเส้นทางเดิม หรือใช้เลขสายรถเมล์ใหม่ให้เป็นระบบเดียวกันทั้งเมือง

แม้จะมีคำทักท้วงว่ารถเมล์ควรปฏิรูปสิ่งอื่นก่อนเลขสาย แต่ชาว MAYDAY! ก็เห็นว่าเลขสายนั้นไม่ใช่แค่ประเด็นเดียวของการปฏิรูป และข้อกังวลที่ประชาชนมีต่อรถเมล์ก็ถูกกล่าวถึงและบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปครั้งนี้แล้ว (เช่น เรื่องเส้นทางเดินรถ การยกระดับคุณภาพรถเมล์) นั่นแปลว่าการโหวตเลขสายรถเมล์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของประชาชนในการออกแบบเมืองนี้ร่วมกันกับภาครัฐนั่นเอง

แม้จะเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เท่าป้ายบอกสายรถเมล์ แต่นี่ก็เป็นการนับหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนได้ออกแบบบริการสาธารณะด้วยตัวเอง และเราก็หวังว่าในอนาคต เมืองของเราจะน่าอยู่เพราะสร้างขึ้นจากความต้องการของพลเมืองจริงๆ

AUTHOR