คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดตัวนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต
สำหรับเดือนกันยายน 2562 นั้น มีนวัตกรรมเว็บไซต์ถอดเทปที่ช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานด้านสื่อมวลชน โปรเจกต์ปลูกปะการังจากขยะในทะเล กระดาษบรรจุภัณฑ์จากฟางข้าวที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงอาหาร MRE ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยที่จังหวัดอุบลราชธานี
tordtape.com เว็บไซต์ที่จะช่วยให้การถอดเทปของคุณไม่ต้องยุ่งยากอีกต่อไป
คนทำงานสื่อส่วนใหญ่ มักมีปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำคอนเทนต์แต่ละชิ้น นั่นคือการถอดเทปบุคคลที่ได้สัมภาษณ์พูดคุยมา แม้เป็นขั้นตอนที่ดูไม่ค่อยสลักสำคัญเท่าไหร่ แต่ที่จริงแล้วมันสำคัญมากและค่อนข้างใช้เวลา เพราะการสลับหน้าต่างโปรแกรมไปมาเพื่อฟังเทปและพิมพ์ถือเป็นเรื่องยุ่งยากน่าเบื่อไม่น้อย
แต่เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2016 คนในแวดวงสื่อได้พากันแชร์เว็บไซต์ที่ช่วยถอดเทปในหน้าต่างเดียวจบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเว็บไซต์ส่วนตัวของ ‘เต้–ธนวิชญ์ ประสงค์พงษ์ชัย’ นักศึกษาปริญญาโทสาขา Human-Computer Interaction มหาวิทยาลัย Georgia Tech ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อไม่นานมานี้เขาได้แยกมันมาเป็นโดเมนที่จำได้ง่ายขึ้นในชื่อ tordtape.com (ถอดเทปด็อตคอม) เนื่องจากมียอดผู้ใช้ที่แอ็กทีฟคงที่ 400-500 คนมาเป็นปีแล้ว ทำให้เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นเว็บไซต์ที่อยู่ด้วยตัวเองได้ ทั้งยังอาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รายใหม่เจอง่ายขึ้น
“ผมเป็นคนที่ชอบมี side project เล่นๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลายทีก็จะมาจากการที่คิดอะไรออกในรถตอนกลับบ้าน คิดว่ามันไม่น่าทำยาก พอถึงบ้านก็เริ่มเขียนโปรแกรมตามไอเดียนั้นจนตีหนึ่งตีสอง โปรเจกต์นี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่มีที่มาที่ไปพิเศษอีกนิดหน่อยคือเมื่อประมาณปี 2016 แฟนผมไปฝึกงานที่ a day ช่วงนั้นเขาทำงานคอนเทนต์เยอะ ก็จะบ่นๆ เรื่องถอดเทป วันหนึ่งผมนั่งรถกลับบ้านก็เกิดไอเดียว่าเราน่าจะทำโปรแกรมแบบนี้ในเว็บไซต์ได้ไม่ยากนี่หว่า เลยลองเสิร์ชกูเกิลดูในทางเทคนิคว่ามันเป็นไปได้ขนาดไหน เย็นวันนั้นพอถึงบ้านก็นั่งงมอยู่ 3-4 ชั่วโมง พอเริ่มใช้งานได้ก็อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ตัวเอง ออกมาเป็นตัวเวอร์ชั่นแรกส่งให้แฟนลองใช้ แล้วก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กให้คนอื่นได้ลองเล่นด้วย เพราะไหนๆ เราทำแล้วก็แชร์ออกไปเลยแล้วกัน”
แม้จะดูเป็นโปรเจกต์ทำเล็กๆ สนุกๆ แต่เมื่อมีสื่อออนไลน์นำไปเผยแพร่ก็ทำให้เว็บไซต์ของเต้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น อย่างปีที่แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่มีคนเข้ามาในเว็บถึงหลักสี่พันคน “แรกเริ่มเดิมทีคิดว่าคนที่น่าจะใช้เว็บเราคงเป็นคนที่ทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์และงานนิตยสาร แต่พอหลังๆ ก็รู้สึกว่าหลายคนมีปัญหานี้มากกว่าแค่คนทำงานสายคอนเทนต์ คือการสลับโปรแกรมมันเป็นเรื่องเล็กๆ ก็จริง แต่พอเราถอดเทปแล้วต้องสลับไปมาทุกๆ ไม่กี่วิฯ หนึ่งเทปน่าจะสลับกันเป็นหลายร้อยครั้ง มันเลยเกิดเป็น pain point ที่คนเคยถอดเทปทุกคนเคยเจอ ทั้งคนทำวิจัยที่ต้องสัมภาษณ์คน ไปจนถึงนักเรียนนักศึกษาที่ต้องทำงานสัมภาษณ์ มีคนแชร์ไปเยอะ และหลายๆ คนก็แท็กเพื่อนถามว่าลองใช้ไหม หรือพูดประมาณว่าน่าจะเห็นเว็บนี้ตั้งแต่เมื่อตอนทำโปรเจกต์นั้น ก็เลยได้รู้ว่างานเรามีอิมแพกต์กับคนกว้างกว่าที่คิด”
tordtape เป็นเว็บไซต์ที่ใช้ง่าย และประกอบด้วย feature ที่คนทำงานถอดเทปต้องการ ไม่ว่าจะ shortcut ที่ใช้กดหยุดหรือเล่นเทป เดินหน้าถอยหลัง ลดหรือเพิ่มความเร็วของผู้พูด การระบุชื่อผู้พูดได้สูงสุด 9 คน และเวลาของเทปที่เราถอดอยู่ปัจจุบัน รวมถึงสามารถเซฟและโหลดไฟล์ที่ทำอยู่เพื่อทำงานต่อได้ในครั้งถัดไป แถมใครที่ชอบทำงานตอนกลางคืน ก็มี Dark Theme รองรับ ซึ่งผู้พัฒนาอย่างเต้มีแผนจะปรับอินเตอร์เฟซใหม่ให้ใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงการแก้บั๊กที่เมื่อเปิดไฟล์เสียงใหญ่ๆ แล้วโปรแกรมมักจะรวน
ส่วนการต่อยอดเว็บไซต์เพื่อสร้างรายได้ก็เป็นเรื่องที่เขาสนใจและพยายามหาจุดที่เหมาะสม “ในเชิงธุรกิจก็มีไอเดียอยู่บ้าง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำยังไงดี เพราะผมเข้าใจว่าการจ่ายเงินใช้แอพฯ เป็นเรื่องเซนซิทีฟ ที่แน่ๆ คือคิดว่ายังไงก็ยังเปิดฟังก์ชั่นหลักๆ ให้ใช้ฟรี แต่อาจจะมี feature พิเศษที่เก็บเงินบ้างนิดๆ หน่อยๆ หรืออาจจะใส่โฆษณาในเว็บ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคนเราก็ไม่ชอบโฆษณา ตอนนี้ก็พยายามหาทางทำให้มันไม่รบกวนผู้ใช้ให้ได้มากที่สุดอยู่ เพราะเว็บ tordtape นี้อยู่ได้ด้วย user experience ถ้า experience ไม่ดี ใช้ไม่ง่าย ใช้แล้วรำคาญ คนก็ไม่เลือกเรา เขาจะกลับไปถอดเทปในโปรแกรมเวิร์ด ส่วนจะเปลี่ยนเป็นโปรแกรมเลยไหม คิดว่าคงจะไม่ขนาดเปลี่ยนจากเว็บไซต์ไปเป็นโปรแกรมแล้วปิดเว็บเลย เพราะข้อดีหนึ่งของเว็บ tordtape คือมันเป็นเว็บนี่แหละ แปลว่ามันไม่ต้องดาวน์โหลดเป็นโปรแกรม ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่โปรแกรมก็มีข้อดีของมัน อันนี้ก็ต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่าผู้ใช้กลุ่มไหนอยากได้อะไร”
ตอนนี้เต้เพิ่งเขียนโปรแกรม paifai (ป้ายไฟ) ออกมาให้ใช้กัน เพื่อที่เวลาเราบังเอิญเจอศิลปินหรือคนที่ชื่นชอบจะได้ทำป้ายไฟให้กำลังใจได้ทันท่วงที ถือเป็น side project น่ารักๆ ที่ทำออกมาตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้เขายังมีไอเดียทำโปรเจกต์น้อยใหญ่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่เขาเคยทำกับเพื่อนมาแล้วและน่าสนใจมากๆ ก็คือ เว็บไซต์ที่ให้คนเช็กรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา thai-election-2019.netlify.com ส่วนหลังจากนี้เขาจะทำอะไรออกมาอีก ติดตามได้ที่ taepras.com
ทดแทนการตัดต้นไม้ด้วยนวัตกรรมกระดาษจากฟางข้าว
เมื่อ 2-3 ปีก่อนหลายคนน่าจะเคยเห็น Grow Up Paper แบรนด์สมุดและกระดาษโน้ตที่ทำจากฟางข้าว ผ่านตากันมาบ้าง นอกจากความอยากช่วยแก้ปัญหาการเผาฟางข้าวในภาคเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ฝุ่นควันระดับประเทศแล้ว เจ้าของไอเดียอย่าง ‘นุ๊ก–จารุวรรณ คำเมือง’ ยังอยากสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น ด้วยการรับซื้อฟางข้าวที่ดูเป็นขยะจากการปลูกข้าวทำนา เพื่อให้พวกเขาเห็นคุณค่าในผลลัพธ์ของการลงมือตรากตรำทำงาน นอกจากผลิตผลที่เป็นเมล็ดข้าวด้วย
ช่วงแรกๆ นุ๊กกับสามีเริ่มต้นด้วยการนำฟางข้าวมาดัดแปลงทำเป็นพวงกุญแจและโคมไฟก่อน จนกระทั่งพัฒนามาเป็นกระดาษอย่างที่เราเห็น ก่อนจะต่อยอดโดยการร่วมมือกับ สวทช.ในการนำเมล็ดพันธุ์ที่เหลือจากงานวิจัยด้านการเกษตรมาจับคู่กับกระดาษฟางข้าว เกิดเป็นกระดาษฟางข้าวที่บรรจุเมล็ดพันธุ์พืชผักต่างๆ เช่น ผักกาด กวางตุ้ง คะน้า ฯลฯ ซึ่งเมื่อเราเขียนหรือใช้กระดาษใบนั้นเสร็จแล้ว แค่โยนลงดินรดน้ำทุกวันก็จะมีต้นอ่อนขึ้น กลายเป็น ‘สวนกระดาษ’ ได้
“ด้วยกระบวนการเราไม่ได้ใช้สารเคมี และตัวฟางข้าวเองก็มีสารอาหารอยู่แล้ว เพราะปกติจะเห็นได้ว่าเขาเอาไปใช้รองดินเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดิน พอเอาเมล็ดพืชมาแมตช์กับงานฟางข้าว ฟางข้าวที่ย่อยสลายก็เป็นปุ๋ยให้เมล็ดพืช แล้วพืชก็โตขึ้นมาเป็นผักให้เรากิน หรือต่อให้เป็นกระดาษจากฟางข้าวที่ไม่ได้บรรจุเมล็ดพันธุ์ คุณโยนกระดาษทิ้งเรี่ยราดลงดิน สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ทำลายธรรมชาติอยู่ดี เพราะด้วยคุณสมบัติฟางข้าวที่เป็นปุ๋ย เวลาย่อยมันก็บำรุงดินและต้นไม้แถวนั้น”
และด้วยเหตุที่ฟางข้าวเป็นวัสดุเหลือใช้และย่อยสลายเร็ว มันจึงช่วยทดแทนการตัดต้นไม้เพื่อนำมาทำกระดาษ ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นุ๊กจึงพยายามคิดค้นพัฒนา ‘เยื่อ’ จากฟางข้าวให้ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน
“ตอนนี้ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมกระดาษหรือวัสดุแทนโฟม เขาก็หันมาใช้วัสดุอื่นอย่างเยื่อหรือกระดาษรีไซเคิล เพราะต้องการลดการตัดต้นไม้ อย่างเราเองก็พัฒนาเยื่อฟางข้าวที่สามารถทำเป็นกระดาษที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยจะเน้นไปที่กระดาษแพ็กเกจจิ้งเป็นหลัก เพราะมีลูกค้าหลายคนที่ทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเพื่อการส่งออก ก็จะโดนตั้งข้อสงสัยเรื่องแพ็กเกจจิ้งว่าออร์แกนิกไหม ปลอดภัยไหม ไปวางบนชั้นแล้วจะเกิดไดออกซินและสารพิษต่อผลิตภัณฑ์หรืออาหารหรือเปล่า ผู้บริโภคเขาจะมองถึงแพ็กเกจจิ้งด้วย ซึ่งเยื่อฟางข้าวของเราก็ตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะกระบวนการผลิตเราไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ”
“อีกอย่างหนึ่ง เรามองว่าจากปกติผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ อาจขายได้ราคาเท่านี้ แต่พอไปนำเสนอด้วยแพ็กเกจจิ้งที่ทำจากฟางข้าวแล้วมันสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เราก็ดีใจที่แพ็กเกจจิ้งของเราที่มาจากฟางข้าวมาจากชาวนาสามารถไปช่วยเสริมสร้างอุตสากรรมอื่นให้มีคุณค่ามากขึ้น”
ตอนนี้บริษัทของนุ๊กกำลังอยู่ในขั้นตอนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพและใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกกันมากกว่าเมื่อก่อน บวกกับมีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่อยากได้กระดาษฟางข้าวปลูกในรูปแบบต่างๆ อย่างนามบัตร ป้ายราคา ป้ายชื่อสินค้า ฯลฯ มาใช้เพื่อลดการใช้วัสดุที่ย่อยสลายยาก เรียกว่าเป็นการหยิบขยะทางการเกษตรมาใช้ได้อย่างมีคุณค่า ทั้งยังเพิ่มงาน เพิ่มเงิน สร้างรายได้ ให้กับคนทำงานและเกษตรกรไทยอีกด้วย
หวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวมากขึ้น และอาจได้ใช้เองสักวันหนึ่ง ไม่แน่ว่าในไม่ช้านี้เราอาจจะได้อ่านหนังสือจากกระดาษชนิดนี้ก็ได้ ส่วนใครที่สนใจนวัตกรรมกระดาษจากฟางข้าวนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หจก.ฟางไทย แฟคทอรี่ หรืออีเมล [email protected]
’กล่องข้าวน้อยให้แม่‘ นวัตกรรมข้าวเหนียวหมูย่างเก็บได้ 2 ปี ช่วยผู้ประสบภัย #SaveUbon
ในโมงยามที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีกำลังประสบอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ชาวไทยก็ไม่รั้งรอที่จะช่วยเพื่อนร่วมประเทศด้วยการบริจาคทั้งแรงกาย ทรัพย์สิน และอาหารหยูกยาของใช้ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาครั้งนี้
หนึ่งในความช่วยเหลือที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ โครงการ ‘กล่องข้าวน้อยให้แม่’ นวัตกรรมอาหาร Meal Ready to Eat (MRE) ที่หลายคนได้เห็นในรูปแบบข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ ที่อยู่นอกตู้เย็นได้ 2 ปี ไม่เน่าไม่เสีย เพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นไอเดียของ ‘ดร.อัศวิน อมรสิน’ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“ที่มาที่ไปก็คือ ผมเคยเห็นอาหารลักษณะนี้ที่เขาใช้สำหรับส่งไปยังเขตที่เกิดอุทกภัยในต่างประเทศ หรือกระทั่งส่งไปให้ทหารที่รบอยู่แนวหน้า อาหารจะไม่เน่าเสียในระหว่างการขนส่งหรือการเก็บในที่ที่ไม่สามารถหุงต้มได้ เลยคิดว่าอาหารแบบนี้น่าจะเหมาะกับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ถึงแม้ว่าจะมีอาหารคล้ายๆ กันอย่างปลากระป๋องและมาม่า แต่ผมก็คิดว่าน่าจะมีอาหารแบบอื่นที่ไม่ใช่อาหารสองชนิดนี้ และกินได้เหมือนอาหารทั่วๆ ไปแบบข้าวบ้าง และพอเรานึกถึงข้าวก็นึกถึงข้าวเหนียว เพราะคนอีสานกินข้าวเหนียว และเวลากินก็ได้พลังงานเยอะ หมูก็ให้พลังงานเยอะ เพราะฉะนั้นสองตัวนี้ก็น่าจะเหมาะเป็นอาหารที่ให้พลังงาน กินเพื่อแก้หิวและประทังชีวิตในช่วงนี้”
ด้วยความที่ร่ำเรียนด้านวิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกามา อาจารย์อัศวินจึงมีความรู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพราะเคยพัฒนาอาหารประเภทนี้มาแล้วในห้องแลปที่นั่น เพื่อส่งให้ทหารอเมริกันที่ไปรบในสงครามห่างไกล
“วันที่ 11 กันยายนผมก็เริ่มคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่มของคณะภาควิชา ไม่ได้คิดว่าจะกว้างขนาดนี้ ลงทุนกับอาจารย์ที่อยู่ใกล้ๆ บอกว่าผมมีบรรจุภัณฑ์เหลืออยู่นะ กะว่าจะทำอาหารส่งไปช่วยเขา มีใครช่วยสมทบทุนไหม ก็โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว นั่นคือจุดเริ่มต้น พอวันที่ 12 ผมก็เริ่มทำกระบวนการ R&D ระดับเบื้องต้น ใช้เวลา 2 วันในการเช็กอายุของอาหารและวิธีการทำให้ถูกต้อง รวมถึงเริ่มผลิตและนัดคนมาช่วย ซึ่งช่วงนี้นิสิตก็สอบด้วย มีแรงงานมาช่วย 3-4 วัน สัปดาห์หน้าก็ไม่มีแล้ว เพราะติดช่วงสอบกัน ก็เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 13-15 เป็นเรื่องเป็นราว เป้าหมายคือ 2,000 ถุง”
“คนที่มาช่วยก็มีอาจารย์ใกล้ๆ นักเรียน และนิสิตของเรา แต่ส่วนที่ต้องเฝ้าระวังเราก็ให้นิสิตของเราประจำ เพราะต้องทำตามหลักสุขาภิบาล ไม่มีเชื้อปะปน สถานที่แพ็กบรรจุอาจไม่ค่อยเรียบร้อย แต่เราฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง 120 องศาเซลเซียส มั่นใจแน่นอนว่าเชื้อจุลินทรีย์ถูกทำลาย ปลอดภัย”
ความตั้งใจจริงของอาจารย์อยากทำให้ได้ถึง 10,000 ถุง แต่ด้วยกระบวนการทำที่ข้าวเหนียวอัดตัวแน่นในถุง และเครื่องรีทอร์ตที่ใช้ฆ่าเชื้อค่อนข้างเก่าและเล็ก ทำให้ 1 รอบการทำงานของเครื่องที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ผลิตได้ทีละ 84 ถุง ซึ่งยังได้จำนวนไม่มากเท่าที่ควร
แม้ข้าวเหนียวหมูที่ผ่านกระบวนการทั้งหมดมาแล้วจะรับประทานได้เลย แต่ข้าวเหนียวอาจจะแข็งไม่ถูกปากไปบ้าง หากอยากได้รสสัมผัสและรสชาติอาหารแบบดั้งเดิม อาจารย์อัศวินก็แนะนำว่าสามารถนำไปต้ม 3-5 นาที และอุ่นในไมโครเวฟ 1-2 นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง เพราะถุงที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส โดยด้านข้างถุงจะมีสติกเกอร์อธิบายส่วนประกอบและวิธีบริโภคไว้อย่างชัดเจน
ส่วนที่มาของชื่อ ‘กล่องข้าวเหนียวให้แม่’ นั้นก็มาจากนิทานท้องถิ่นเรื่อง “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” ของจังหวัดยโสธร ซึ่งข้าวเหนียวหมูย่างที่ผลิตขึ้นนี้ก็มีบรรจุภัณฑ์เล็ก ขนส่งง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยข้าวเหนียว 120 กรัม และหมูย่าง 50 กรัม ล้อไปกับกล่องข้าวเหนียวในนิทานที่แม้ดูเล็ก จำนวนน้อย แต่รับรองว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมกินอิ่มแน่นอน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘กล่องข้าวน้อยให้แม่’ นวัตกรรมอาหาร MRE ที่ทำเพื่อช่วย #SaveUbon และ save ทุกคนในอนาคต
เมื่อขยะจากทะเลกลับมาฟื้นฟูระบบนิเวศใต้น้ำได้
ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะ และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยเฉพาะบริเวณชายหาดและทะเลที่สัตว์น้ำได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง European Union หรือ EU คือหน่วยงานที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้และคิดหาวิธีการดูแลสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็น EU Plastics Strategy
วันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมาถูกกำหนดให้เป็นวันทำความสะอาดชายฝั่งสากล หน่วยงาน EU ประจำประเทศไทยจึงจัดกิจกรรม EU Beach Cleanup 2019 ขึ้นที่เกาะสาก พัทยา ซึ่งต่อยอดจากโปรเจกต์เกาะสากที่ร่วมมือกับทางวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ภายใต้แกนนำการทำงานของด็อกเตอร์ Wayne Phillips อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ที่มีจุดประสงค์ในการทำความสะอาดชายหาดของเกาะในบริเวณชายฝั่งพัทยา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกในแนวโขดหินปะการัง
นอกเหนือจากกิจกรรมการแบ่งกลุ่มเก็บขยะแยกประเภทบริเวณชายฝั่ง เช่น เศษแก้ว ฝาขวด พลาสติก ฯลฯ เวย์น ฟิลลิปส์ ยังทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลมากมาย หนึ่งในนั้นคือการคิดและพัฒนาเครื่องฉีกขยะพลาสติกให้ออกมาเป็นชิ้นๆ เพื่อนำไปใช้ปลูกปะการังร่วมกับเศษแก้วที่ได้จากการเก็บขยะตามชายหาด
“ความมหัศจรรย์ของปะการังก็คือ ถ้าคุณนำมันออกมาจากทรายและนำไปไว้ในที่ปลอดภัย พวกมันจะสามารถงอกเป็นปะการังใหม่ขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำก็คือ ช่วยฟื้นฟูปะการังที่ได้รับความเสียหายจากคนเหยียบ สมอเรือ และพฤติกรรมแย่ๆ ของบางกลุ่มทัวร์ เราจึงทำกระถางซีเมนต์เล็กๆ ที่มาจากแกนกระดาษชำระ ใส่ซีเมนต์ลงไปในนั้น นำเศษแก้วจากขวดวางบนกระถางซีเมนต์ นำไปแช่น้ำทะเลเพื่อลดค่า PH จากนั้นค่อยนำส่วนของปะการังมาติดกาวกับเศษแก้วแล้วดำน้ำลงไปไว้ใต้ทะเล”
ปกติเวลาปลูกปะการังทั่วไป เรามักคุ้นชินกับการใช้แผงท่อ PVC แต่แท้จริงนั่นอาจก่อให้เกิดผลเสียกับปะการังภายหลัง “นอกจากไม่สวยงามแล้ว ตัววัสดุ PVC ก็ค่อนข้างมีสารปนเปื้อน และมันแตกหักได้ เราต้องเก็บขยะที่เป็นท่อ PVC จากกอปะการังอยู่ตลอด ส่วนตัวกระถางซีเมนต์ที่เราใช้มีผลเสียก็จริงแต่น้อยมาก เพราะด้วยขนาดที่เล็กกว่าและกรรมวิธีในการเตรียม”
ด้วยความที่สิ่งแวดล้อมใต้น้ำบริเวณแหล่งท่องเที่ยวของพัทยามักได้ผลกระทบจากมนุษย์ ขยะ และมลภาวะทางเสียง อย่างเสียงเครื่องจักรเรือ และเจ็ตสกี ปะการังแถบนั้นจึงมีโอกาสรอดน้อยลงเรื่อยๆ ในอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เขาจึงพยายามพัฒนาปะการังเหล่านี้ให้แข็งแรงขึ้นด้วยวิธีการทางชีววิทยา
นอกจากนี้ เวย์น ฟิลลิปส์ ยังออกแบบสมอเรือแบบใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและปะการัง รวมถึงเสนอทุ่นลอยน้ำในบริเวณแหล่งดำน้ำให้เรือผูกทุ่น เพื่อลดความเสียหายใต้ท้องทะเล หลังพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำลายแนวปะการังจำนวนมากมาจากสมอเรือ รวมถึงพฤติกรรมของคนทำทัวร์ที่ไม่สนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
แน่นอนว่าหลายคนกำลังโฟกัสกับเรื่องขยะ แต่อีกเรื่องที่สำคัญซึ่ง เวย์น ฟิลลิปส์ พยายามทำงานและผลักดันอยู่คือ การขอความร่วมมือและให้ความรู้แก่คนทำทัวร์และธุรกิจด้านการท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศใต้ทะเล เพราะท้ายที่สุดแล้วต่อให้มีการปลูกปะการังทดแทนเพิ่มอีกกี่ครั้ง ถ้ายังมีการทำลายปะการังการอนุรักษ์ก็จะไม่มีทางยั่งยืน ใครที่สนใจข้อมูล อยากไปร่วมเก็บขยะ รวมถึงศึกษาวิธีการพัฒนาปะการัง ติดตามได้ที่ Project Koh Sak และ European Union in Thailand