แอพพลิเคชั่นเช็กสภาพปอด แคมเปญช่วยร้านอาหาร เซฟพนักงานเก็บขยะ – Think Positive ประจำเดือนเมษายน 2563

แอพพลิเคชั่นเช็กสภาพปอด แคมเปญช่วยร้านอาหาร เซฟพนักงานเก็บขยะ – Think Positive ประจำเดือนเมษายน 2563

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทันหรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

จากเดือนเมษายนที่นับเป็นเดือนรื่นเริงอันดันต้นๆ ของปี มาปี 2563 ต้องกลายเป็นเดือนที่คนไทยต้องกักตัวอยู่บ้านตามมาตรการ social distancing เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้านรวงได้รับผลกระทบไม่น้อย รวมถึงคนทำงานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เมื่อรัฐบาลไม่มีนโยบายช่วยเหลือรองรับ ประชาชนจึงต้องลุกขึ้นมาดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกันเอง เกิดเป็นนวัตกรรมและแคมเปญที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะแอพพลิเคชั่นเช็กสภาพปอด, แคมเปญช่วยร้านค้าจาก Wongnai, รถขายของชำบรรทุกสินค้าในย่านอารีย์

รู้สึก ปอดโปร่งอยู่หรือเปล่า LUNG CARE แอพพลิเคชั่นที่เป่าแล้วรู้สภาพปอด

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และฝุ่นควัน PM2.5 หลายคนคงเป็นกังวลห่วงสุขภาพปอดของตัวเองและคนที่รักเป็นพิเศษ แต่จะให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลช่วงนี้ก็ค่อนข้างลำบาก จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถตรวจสภาพปอดได้ง่ายๆ แค่เป่าลมที่สมาร์ตโฟน

LUNG CARE คือแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้รู้ถึงสุขภาพปอดโดยการเป่าลมผ่านสมอลทอล์กหรือช่องไมโครโฟนของสมาร์ตโฟน เสมือนกับการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในการทดสอบ คิดค้นและประดิษฐ์โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ. ดร. ภัทรสินี ภัทรโกศล ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้คิดค้น LUNG CARE เล่าว่าแอพพลิเคชั่นนี้เริ่มต้นมาหลายปีแล้ว เนื่องจากตัวเองเป็นโรคหอบหืด การพกเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (peak flow meter) ที่มีขนาดใหญ่เป็นเรื่องยุ่งยาก เกะกะ ทั้งยังใช้งานยาก ถ้าใช้ประโยชน์จากสมอลทอล์กของสมาร์ตโฟนได้คงดี จึงเริ่มเขียนโปรแกรมทดลอง เก็บข้อมูล และพัฒนามาเรื่อยๆ เป็นเวลากว่า 1 ปี ก่อนนำมาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 37 คน จนได้ผลที่น่าพึงพอใจ

แต่ด้วยความที่ช่วงนั้น รศ. ดร. ภัทรสินีทำงานเป็นนักวิจัย ไม่มีโอกาสนำเสนอชิ้นงานแก่สาธารณชน ทำให้หลังจากจดสิทธิบัตรงานชิ้นนี้ในฐานะนวัตกรรมเสร็จก็ได้แต่เก็บดองไว้ในแล็บ จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 เธอจึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ปัดฝุ่น LUNG CARE มาพัฒนาเป็นโปรดักต์ให้บริการแก่ประชาชน ถึงแม้แอพพลิเคชั่นจะไม่สามารถตรวจหาโควิด-19 ได้ แต่ก็สร้าง awareness เรื่องการทำงานของปอดแก่ประชาชนได

ความพิเศษของ LUNG CARE ที่ไม่เหมือนแอพพลิเคชั่นใดๆ คือเป็นแอพพลิเคชั่นแรกของโลกที่ใช้สมอลทอล์กของสมาร์ตโฟนในการวัดค่าสุขภาพ เพียงแค่สูดลมหายใจให้เต็มปอดแล้วเป่าไปที่ไมโครโฟนจำนวน 3 ครั้งตามที่กำหนด โดยให้ปากใกล้กับไมโครโฟนที่สุด แอพพลิเคชั่นจะรายงานผลการทดสอบตามค่า peak flow

ส่วนใครที่กังวลเรื่องความแม่นยำถของข้อมูลนั้น รศ. ดร. ภัทรสินีรับรองว่า “ตอนที่ทดสอบเราวัดเทียบกับค่าที่เป่าจากเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด ได้ค่าความผิดพลาดสมบูรณ์ประมาณ 9.4 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าผิดพลาดน้อยมาก 94 เปอร์เซ็นต์คือค่าที่ถูกต้องจริงๆ ตอนนี้ก็คุยกับทางแพทย์ว่าเดี๋ยวเก็บข้อมูลมาพิจารณาเพิ่ม และทบทวนปรับแก้แอพพลิเคชั่นได้ เพราะองค์ประกอบของเครื่องสมาร์ตโฟนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โอกาสที่ต้องปรับสูตรให้แม่นยำขึ้นก็มีมาก แต่เท่าที่ทดสอบจากแอพฯ ที่พัฒนาแล้ว ค่าก็ยังถูกต้องเชื่อถือได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ผู้ใช้จำเป็นต้องเป่าให้ถูกต้องด้วย

“แอพพลิเคชั่นนี้เหมาะกับทุกคนที่ต้องการดูแลรักษาปอดตัวเอง โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานท่ามกลางฝุ่นควัน คนกรุงเทพฯ หรือคนเชียงใหม่ที่เจอควันหรือมลพิษเยอะๆ ทุกคนควรโหลดเพื่อเป่าวัดดูสภาพปอดตัวเอง วันละครั้งก็ยังดี เพราะการที่เราอยู่ในมลพิษตลอดเวลามันมีโอกาสที่ปอดเราจะเสื่อมโทรมลงไปหรืออาจเกิดโรคที่ไม่พึงประสงค์ ยิ่งคนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นถุงลมโป่งพองควรต้องเป่าอย่างน้อยเช้า-เย็น ถ้าคนเป็นหอบหืดที่มีข้อบังคับอยู่แล้วว่าต้องเป่ายังไงก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้เต็มที่ ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษใช้แล้วทิ้งที่เป็นอุปกรณ์ในการเป่าด้วย แถมพกพาสะดวกกว่าเยอะ”

ขณะเดียวกันแม้ว่าผู้ที่โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้แล้วพบว่าสุขภาพปอดดี รศ. ดร. ภัทรสินีก็ไม่แนะนำให้เลิกใช้ทันที เพราะทุกคนควรเช็กสภาพปอดเรื่อยๆ “ไม่ใช่ว่าเป่าแล้วค่าไม่ดีก็จะต้องตกอกตกใจ เป่าแล้วค่อยๆ เทสต์ดูสถานการณ์ไปซะหน่อย ถ้าค่าไม่ดีขึ้นและดร็อปลงเรื่อยๆ ค่อยไปหาหมอ แต่ต้องเก็บค่าเหล่านี้ไว้ ซึ่งแอพฯ จะมีเวอร์ชั่นจ่ายเงินเพิ่มที่เก็บค่าทั้งหมดไว้ เพื่อให้หมอดูพัฒนาการสำหรับผู้ที่ต้องการ”

แผนการต่อไปของแอพพลิเคชั่น LUNG CARE คือการต่อยอดให้เป็นเครื่องมือช่วยคุณหมอวิเคราะห์โรคได้ ทั้งยังจะเพิ่มช่องการให้บริการใน App Store เพื่อที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการตรวจสภาพปอดได้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ที่ Google Play หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไลน์ @Lung Care และ Lung Care แอปตรวจปอด

ของอร่อยจะต้องอยู่กับเราไปนานๆ แคมเปญจาก Wongai ที่อยากช่วยให้ร้านค้าอยู่รอดได้ในวิกฤต COVID-19

วินาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกภาคส่วนต้องปรับการใช้ชีวิตให้ตอบรับกับสถานการณ์เพื่อหาทางรอดให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง โดยเฉพาะร้านอาหารที่ต้องหันมาบริการเดลิเวอรีให้ลูกค้า

แม้ก่อนหน้านี้การขายแบบเดลิเวอรีจะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในบ้านเราอย่างมาก แต่ในสถานการณ์ตอนนี้การส่งอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งทางรอดของร้านค้าอย่างเต็มรูปแบบ จากสถิติของแพลตฟอร์มด้านไลฟ์สไตล์ที่ทำงานร่วมกับร้านอาหารกว่าหมื่นร้านอย่าง wongnai.com พบว่า หลังจากมีนโยบายงดให้บริการนั่งทานที่ร้านทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามา on board บริการในแอพพลิเคชั่นของ Wongnai เพิ่มขึ้น 5 เท่า หรือประมาณ 2,000 ร้านต่อวัน

ยอด ชินสุภัคกุล CEO และผู้ก่อตั้ง Wongnai บอกกับเราว่า แม้หลายร้านจะปรับตัวมากขึ้นแต่ยังคงประสบปัญหา เพราะรายได้โดยเฉลี่ยลดลง 70-90 เปอร์เซ็นต์ และรายจ่ายยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ อีกทั้งยังกระทบไปถึงการจ้างพนักงาน ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้อาจทำให้มีการเลิกจ้างและนำไปสู่การปิดกิจการในที่สุด

“ตอนนี้ร้านที่ต้องปรับตัวอย่างเห็นได้ชัดคือร้านแบบ experience ซึ่งคนจะต้องนั่งทานที่ร้าน เช่น ร้านอาหาร fine dining หรือแม้แต่ร้านบุฟเฟต์ ชาบู ปิ้งย่าง และร้านของหวานบางส่วน ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องออกโปรดักต์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การขายแบบเดลิเวอรีมากขึ้น

“เราคุยกับร้านอาหารทุกวัน ช่วยเหลือกันอยู่ตลอด ตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลคือความยืดเยื้อของสถานการณ์ เปรียบเหมือนการดำน้ำ ถ้าดำน้ำตื้น แป๊บเดียวก็โผล่พ้นน้ำ ผมคิดว่าทุกคนคงไหว แต่ถ้าดำน้ำลึก ไม่โผล่พ้นน้ำสักที ผ่านไปหลายเดือนแล้วอาจกระทบกับธุรกิจในระยะยาว มูลค่าตลาดของร้านอาหารอาจลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ด้วย”

Wongnai จึงออกแคมเปญเพื่อช่วยร้านค้าในยามวิกฤต ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ในระยะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับระบบของ Wongnai ให้ร้านค้าสามารถสมัครเข้ามา on board ได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมง และยังเพิ่มระบบ pick up ให้คนซื้อได้กดสั่งอาหารล่วงหน้าผ่านแอพฯ จ่ายเงินไว้ก่อนแล้วไปรับที่ร้านได้ทันทีเพื่อลดการสัมผัส เพิ่มความสะดวกรวดเร็วด้วย

อีกหนึ่งแคมเปญที่ Wongnai ได้รับแรงบันดาลใจจากต่างประเทศคือ Covid Relief Gift Voucher ให้ทุกคนได้ช่วยร้านโปรดด้วยการซื้อ voucher ที่มีมูลค่าแทนเงินสด

“สมมติว่าคุณมีร้านที่ชื่นชอบ แต่ออกไปกินที่ร้านตอนนี้ไม่ได้ รวมถึงร้านก็ขาดรายได้ เราสามารถซื้อ gift voucher ของร้านได้ ซึ่งมีอายุ 1 ปี คือเมื่อโควิด-19 หายไปแล้วเราค่อยไปกินที่ร้านนี้ แต่ร้านสามารถนำเงินไปบริหารก่อนได้ จะได้มีรายได้หมุนเวียนเข้ามาบ้าง มีรายได้จ่ายเงินเดือนพนักงาน ไม่ต้องปิดตัวไป” ยอดเล่า

CEO แห่ง Wongnai ยังอธิบายอีกว่า ความพิเศษของ voucher นี้คือเมื่อเรานำไปใช้ที่ร้าน (หลังจากสถานการณ์ดีขึ้น) voucher จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เช่น หากซื้อ voucher ในราคา 1,000 บาท สามารถนำไปใช้ที่ร้านได้ในมูลค่า 1,400 บาท

แคมเปญนี้มีร้านอาหารเข้าร่วมรายการกว่า 50 ร้าน ซึ่ง Wongnai มองว่าการช่วยเหลือของผู้บริโภคจะช่วยให้ร้านอาหารมีเงินสดในการหมุนเวียนใช้จ่ายเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

The Yard Grocery รถขายของชำบรรทุกสินค้าจากเกษตรกรรายย่อยและคาเฟ่ย่านอารีย์ เพื่อคนย่านอารีย์

เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้น เลยทำให้หลากหลายธุรกิจเริ่มปรับตัว บ้างก็นำสิ่งที่ตัวเองถนัดมาต่อยอด บ้างก็เปลี่ยนแนวหาหนทางเอาตัวรอดในยามนี้ เช่นเดียวกันกับ The Yard Grocery ร้านของชำเคลื่อนที่ที่คอยให้บริการในพื้นที่ย่านอารีย์

จอมขวัญ–บุญวดี เอมเอก หนึ่งในทีมงาน The Yard Grocery เล่าให้ฟังว่า รถพุ่มพวงขายของชำเคลื่อนที่ในย่านอารีย์ หรือ The Yard Grocery เกิดขึ้นจากไอเดียของ ส้มเล็ก–อติพร สังข์เจริญ และส้มใหญ่–อมรรัตน์ อมรศิริชัยรัตน์ เจ้าของ The Yard Hostel ด้วยเพราะพบว่าเพื่อนๆ เกษตรกรและเจ้าของธุรกิจรายย่อยที่รู้จักได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นเดียวกันกับที่เธอเองก็ไม่สามารถทำเงินจากการขายห้องพักได้ เลยคิดขยับโมเดลธุรกิจ นำสินค้าจากเพื่อนๆ เหล่านั้นออกขายเพื่อให้อยู่รอดในช่วงนี้ โดยยังคงความเป็นแก่นเดิมของโฮสเทลเอาไว้

“ชื่อภาษาไทยของโฮสเทลคือบ้านญาติโฮสเทล เรามีแก่นหลักคือดูแลแขกเหมือนดูแลญาติมิตร พอเจอเหตุการณ์อย่างนี้เลยคิดขยับมาดูแลคนในชุมชนอารีย์ โดยรถของชำเคลื่อนที่ของเราให้บริการในแบบของรถพุ่มพวง ที่เคยเห็นกันสมัยเด็ก นำไปบริการถึงหน้าบ้าน ลูกค้าไม่ต้องออกเดินทาง การนำสินค้าออกขายอย่างนี้ก็เหมือนได้ช่วยเกษตรกรรายย่อย ช่วยคาเฟ่ในแถบย่านอารีย์ และช่วยโฮสเทลของเราด้วย แทนที่พนักงานอย่างเราจะนั่งกันอยู่เฉยๆ ไม่มีงานทำ งานนี้ก็ทำให้เราได้มีกิจกรรม ได้พัฒนาฝีมือกันแทบทุกคน อย่างรูปในเว็บไซต์ ทีมงานก็ถ่ายรูป ไดคัตกันเองทั้งหมด”

เธอเล่าต่อว่าสินค้าที่นำมาวางขายส่วนใหญ่อย่าง กิมจิ กัมมี่มะม่วงจากสวนลุงรีย์ น้ำสลัดและผักต่างๆ จากไร่รื่นรมย์ น้ำผึ้งและอบเชยจากชาวปะกาเกอะญอ ปลาริวกิวทอดซอสศรีราชาจากเกาะสีชัง Salad bowl จาก PM Cafe เค้กแคร์รอตจาก Porcupine Café เมล็ดกาแฟและ cold brew จาก Laliart Coffee เลือกมาจากสิ่งที่คนในโฮสเทลชอบ มั่นใจว่าปลอดภัย รู้แหล่งที่มา สินค้าบางอย่าง เช่น กล้วยหอมทอง ก็เป็นของเครือญาติพนักงานที่มีสวนกันอยู่แล้วที่ต่างจังหวัด

“ของที่นำมาขายค่อนข้างยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ และเราจะถามฟีดแบ็กลูกค้าตลอด ว่าอยากได้อะไรเพิ่มไหม แต่เรามองไว้ว่าของที่นำมาขายจะไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายตามตลาดนัดทั่วไป เพราะเราไม่อยากให้เป็นการแย่งตลาดกับตลาดในพื้นที่ และจริงๆ แล้วกลุ่มลูกค้าหลักของเราคือ expat หรือต่างชาติ ในอารีย์ อาหารหรือวัตถุดิบที่นำมาขายเลยเลือกมาให้ค่อนข้างเป็นสิ่งที่นิยมในหมู่ลูกค้าต่างชาติ”

“เราอยากให้มีการขยับใช้จ่าย ใช้สอยมากขึ้น ถ้าคนเก็บตัว เหล่าผู้ประกอบการก็อยู่ยาก เราเลยเลือกปรับตัวเข้าหาเขาให้มากขึ้น จะได้เดินไปด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นว่าการทำอย่างนี้ได้ผล คาเฟ่ในอารีย์ก็ขายสินค้าได้เยอะขึ้น คนในชุมชนก็ตั้งตารอมาซื้อของที่รถเรา”

หากใครอยู่ในย่านอารีย์แล้วสนใจใช้บริการ ติดตามข่าวสารได้ที่ The Yard Grocery หรือสั่งของไว้ก่อนที่เว็บไซต์ theyardgrocery.com รอเวลาล้อเคลื่อนจากโฮสเทลเวลา 16:00 น.

#saveพนักงานเก็บขยะ ร่วมบริจาคป้องกันโควิดให้กับอาชีพพนักงานเก็บขยะ

แม้จะผ่านมาเป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว แต่สถานการณ์โควิด-19 ในไทยก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป เนื่องจากยังมีรายงานยอดผู้ป่วยอยู่ทุกวัน ไม่นับรวมยอดผู้ป่วยสะสมและผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการตรวจยืนยันอีกไม่ทราบจำนวน

มาตรการ social distancing ทำให้หลายบริษัทประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ แต่แน่นอนว่าบางสาขาอาชีพไม่สามารถทำแบบนั้นได้ พวกเขายังต้องออกมาทำงานต่อไป พร้อมกับแบกรับความเสี่ยงที่สังคมมองไม่เห็น ซึ่งหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับต้นๆ คือ พนักงานเก็บขยะ

ด้วยเหตุนี้ ‘ทราย–ภัคภร เอกธนาศรีกุล’ และ ‘บิ๊ง–ณัฐพร นรานันทรัตน์’ ที่ทำโครงการเพื่อสังคมอยู่แล้วในชื่อ ‘คนตัวเล็กทำเรื่องใหญ่’ จึงทำโครงการ #saveพนักงานเก็บขยะ ขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เราสังเกตเห็น 2 ประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวกับขยะ ประเด็นแรกคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากมาตรการ social distancing รณรงค์ให้อยู่บ้าน ส่งผลให้เกิดการสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้น ผลที่ตามมาคือมีขยะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงขยะติดเชื้อพวกหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว”

ทรายเล่าต่อว่าเธอได้รับข้อมูลปริมาณขยะจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่าจากเดิม 1,500 ตัน ทะลุไปถึง 6,300 ตันต่อวัน หนึ่งในนั้นคือขยะหน้ากากอนามัยที่มีจำนวนถึง 1.5-2 ล้านชิ้น ส่งผลถึงความปลอดภัยของพนักงานเก็บขยะในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ด้วยหน้าที่ พวกเขาจึงต้องทำงานคลุกคลีกับแหล่งสะสมเชื้อโรคหลากหลายรูปแบบวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง

“นอกจากต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะมีขยะเพิ่มขึ้นแล้ว พวกเขายังต้องเสี่ยงจากคนบางกลุ่มที่ทิ้งหน้ากากอนามัยแบบไม่ถูกวิธี เพราะพวกเขาไม่มีทางรู้เลยว่าหน้ากากอนามัยมีเชื้อไวรัสโควิด-19 ติดมาหรือเปล่า ยังไม่รวมขยะอื่นๆ ที่อาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่อีก เช่น ทิชชู่ อุปกรณ์ที่แต่ละบ้านทิ้งกันมาจากจำนวนบ้านเฉลี่ยเป็นร้อยๆ พันๆ หลัง”

จุดประสงค์หลักๆ ที่ทรายกับบิ๊งทำโครงการนี้ก็เพื่อหาอุปกรณ์ป้องกันให้พนักงานเก็บขยะ ช่วยแบ่งเบาภาระหน่วยงานในการจัดหาอุปกรณ์ให้กับพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นหน้าด่านรักษาความสะอาดให้กับทุกคน ทั้งยังต้องการส่งกำลังใจให้พวกเขา ขอบคุณที่ทำหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อช่วยรักษาความสะอาดให้กับชุมชน

ที่ผ่านมาก็มีคนบริจาคเงินและอุปกรณ์ป้องกันมาให้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอกับยอดที่พวกเธอตั้งกันไว้ “ความยากของโครงการมี 4 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือความไม่เอื้ออำนวยในการเดินทางไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงกักตัว ทำให้ไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวก เรื่องที่สองเป็นเรื่องการสื่อสาร เพื่อทำให้คนเข้าใจว่าทำไมเราต้องเซฟพนักงานเก็บขยะ จุดประเด็นให้คนตั้งคำถามว่าถ้าเราไม่เซฟพวกเขา วันหนึ่งหากพวกเขาป่วย ติดเชื้อ ต้องหยุดงานรักษาตัว ไม่สามารถมาทำงานตรงนี้หรืออาจมีจำนวนคนทำงานน้อยลงจนไม่เพียงพอ ขยะจะล้นถังและเกิดการสะสมของเชื้อโรค กลายเป็นปัญหาถึงหน่วยอื่นๆ ของสังคม คนอาจจะป่วยเพราะพวกพาหะโรคอย่างหนูและแมลง เป็นต้น ท้ายที่สุดมันก็เป็นการเพิ่มงานให้บุคลากรทางการแพทย์อีกหรือเปล่า นี่อาจเป็นประเด็นที่ไม่มีใครนึกถึง แต่เรารู้สึกว่ามันเกี่ยวโยงกัน เพราะเคยเห็นข่าวที่พนักงานไม่กล้าแยกขยะเพราะกลัวติดเชื้อ”

“ความยากที่สามคือการสื่อสารให้คนทั่วไปรู้ว่าพนักงานเก็บขยะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันจริงๆ เพราะที่ผ่านมานอกจากการพูดคุยกับคนทำงานโดยตรง เราโทรไปขอข้อมูลของหน่วยงานแต่ละเขต ซึ่งได้ข้อมูลคล้ายกันเรื่องความไม่เพียงพอของอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ต้องให้พนักงาน บางแห่งพนักงานต้องเย็บหน้ากากใช้เอง บางที่ต้องใช้ถุงมือซ้ำจนเกินมาตรฐานที่กำหนด พลาสติกของเฟซชิลด์บางชิ้นคุณภาพไม่ดี มองไม่ค่อยชัด ทำให้ใส่ทำงานไม่สะดวกเท่าที่ควร เป็นต้น และอุปสรรคสุดท้ายก็เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะเราเป็นประชาชนทั่วไปไม่ได้มีชื่อเสียง เวลาไปขอพื้นที่ประชาสัมพันธ์ก็จะมีปัญหาติดขัดบ้าง ซึ่งเราเข้าใจได้เพราะเขาก็ต้องตรวจสอบ มันมีโครงการหลอกลวงเยอะ”

สำหรับใครที่กังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ บริจาคเงินหรืออุปกรณ์ป้องกันไปแล้วจะตรวจสอบได้ยังไง ทรายกับบิ๊งจะอัพเดตยอดเงินและการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอทางเฟซบุ๊ก คนตัวเล็กทำเรื่องใหญ่ นอกจากนี้หากได้ยอดครบตามต้องการแล้ว พวกเธอจะนำเงินไปซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อมอบให้คนในชุมชนแออัดที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ตอนนี้โครงการของพวกเธอยังเปิดรับบริจาคอยู่ ผู้สนใจสามารถสมทบทุนได้ที่บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ชื่อบัญชี นางสาวอรยา หงส์รำแพน เลขที่บัญชี 189-1-64356-1 หรือหากต้องการบริจาคอุปกรณ์ป้องกัน ทรายกับบิ๊งจะทำหน้าที่ประสานงานและจัดสรรแจกจ่ายให้กับฝ่ายรักษาความสะอาดทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร

AUTHOR