คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต
เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว และประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติอีกครั้ง แต่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงอยู่ นักเรียนยังไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ บุคลากรทางการแพทย์ยังทำงานอย่างหนักเพื่อเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด ด้วยความจำเป็นหลายอย่างนี่เองส่งผลให้คนธรรมดาทั่วไปลุกขึ้นมาหาทางออก จนเกิดเป็นนวัตกรรมน่าสนใจที่นำไปประยุกต์ใช้ได้แม้ในเวลาปกติ ได้แก่ โครงการ ‘ทูตอาหารทะเล’ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน บัตรประจำตัวสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ต่อสู้กับโรคระบาดในอนาคต นวัตกรรมยาเคลื่อนที่ส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน และ ‘รถพุ่มพวงการศึกษา’
ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน กับโครงการ ‘ทูตอาหารทะเล’ ส่งปลาทะเลจากชุมชน ถึงบุคลากรทางการแพทย์
ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาด ไม่ว่าจะธุรกิจใดๆ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่เจ้าของภัตตาคารอาหารไปจนถึงต้นน้ำอย่างผู้จัดหาวัตถุดิบรายเล็กรายน้อย ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้ความเดือดร้อนครั้งนี้คือธุรกิจประมงพื้นบ้าน ที่แม้ว่าจะมีปลาและสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ขายไม่ค่อยได้เหมือนแต่ก่อน รายได้ที่เคยมีก็ค่อยๆ ร่อยหรอ
‘วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี’ นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จึงเกิดไอเดียช่วยเหลือชาวเล และเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ หมอ พยาบาล และอาสาสมัครทางการแพทย์
“พยายามคิดอยู่หลายช่องทางในการจะช่วยชาวประมงพื้นบ้าน เราก็คุยกับตัวพวกเขาว่ายินดีแบบไหน ซึ่งจริงอยู่ที่พวกเขาอาจจะลำบากเหมือนคนอื่น อาจต้องเยียวยาช่วยเหลือกัน แต่ใจพวกเขาคือในเมื่อยังมีกำลังในการทำงานและจับปลาได้อยู่ ถ้าช่วยโดยการซื้อสินค้าจากเขาจะรู้สึกดีมากกว่า”
“ทีนี้เราก็แนะนำว่าให้ชาวประมงพื้นบ้านกับผู้บริโภคซื้อ-ขายกันโดยตรง มันก็ได้ระดับหนึ่ง พอมาช่วงโควิด-19 ก็มีพรรคพวกใกล้ชิดกัน บางคนมีเพื่อนมีญาติอยู่ในวงการแพทย์มาเล่าสู่กันฟัง เขาออกเวรปุ๊บก็ต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน แน่นอนว่าคนเหล่านี้พอมีกำลังที่จะดูแลตัวเองอยู่บ้าง แต่เราคิดว่าถ้าเขากักตัวก็คงลำบากและเหงา เลยคิดว่าถ้ามีปลาดีๆ สักชิ้นส่งให้เขาถึงบ้าน ได้ทำอาหารคลายเหงาบ้างก็คงดี บวกกับเราเห็นกระแสจากแคมเปญเสียงปรบมือคือกำลังใจ ที่ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เราปรบมือไม่ได้ก็ให้ปลาแทนแล้วกัน”
แรกเริ่ม โครงการ ‘ทูตอาหารทะเล’ เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ จากนั้นจึงขยับมาเฟส 2 ที่ระดมทุนส่งปลาทะเลให้กับบุคลากรทางแพทย์จำนวน 500 คน โดยกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมโครงการล้วนเป็นเครือข่ายชาวประมงที่สมาคมฯ รู้จักคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงไว้ใจได้ในด้านคุณภาพของปลาและกระบวนการทำประมงอย่างยั่งยืน
ส่วนวิธีการในการร่วมเป็นทูตอาหารทะเล ส่งปลาจากทะเลถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน แค่คุณร่วมสมทบทุนกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย เงินจำนวนทุกๆ 150 บาทที่คุณบริจาค ทางสมาคมจะนำมาซื้อสัตว์น้ำของชุมชนประมงพื้นบ้าน แล้วนำมาแปรรูปทำเป็นปลาแดดเดียว ปลาแห้ง เพื่อส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล หรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ผ่านการเข้าเวรเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 และเข้าสู่ขั้นตอนการกักตัว 14 วัน
สำหรับกระบวนการทำงาน วิโชคศักดิ์บอกว่าไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เนื่องจากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านพร้อมทำส่วนนี้กันตลอด “ตอนนี้ยอดเราทะลุเป้าไปแล้ว 500 กว่าท่าน แม้ว่ายอดเงินที่สมทบทุนเข้ามาจะยังไม่ถึงยอดที่ตั้งไว้ แต่เราการันตีให้ว่าจะอุดช่องว่างนั้น รับรองว่ายอด 500 ท่านแรกเราส่งถึงมือแน่นอน ตอนนี้ส่งไป 400 ท่านแล้ว ที่เหลือกำลังทยอยส่งให้”
หลังจากหมดเฟส 2 ไปแล้ว วิโชคศักดิ์ยังตั้งใจจะขยายโครงการไปเฟส 3 โดยกลับมาส่งปลาและสัตว์ทะเลให้ผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกครั้ง ผู้ใดที่สนใจสามารถร่วมสมทบทุนได้ที่ สมาคมรักษ์ทะเลไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สมาคมรักษ์ทะเลไทย เลขที่บัญชี 691-235-323-6
บัตรประจำตัวสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์กับการต่อสู้กับ COVID-19 และโรคระบาดอื่นๆ อย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เราคงได้เห็นแผนการรับมือโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ของหลายประเทศ อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ หลายคนคงอยากให้ไทยใช้วิธีการแบบนั้นบ้าง แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลของไทยที่ไม่เป็นกิจจะลักษณะ ทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูง นวัตกรรมเหล่านี้จึงยากที่จะใช้ได้จริง
แต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีมแพทย์กับทีมไอทีชั้นนำของประเทศที่เล็งเห็นข้อต่อตรงนี้ได้ร่วมมือกันคิดค้น HealthTAG เทคโนโลยี NFC เก็บข้อมูลขนาดเล็กพกติดตัวได้หลายรูปแบบ เช่น บัตรประจำตัว ริสต์แบนด์ หรือหนังสือเดินทาง เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการค้นข้อมูล รวมถึงไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชั่นให้วุ่นวาย เพียงแค่โชว์และสแกนก็เข้าถึงประวัติการรักษาของผู้ถือครองได้ทันที
นพ.เดโชวัต พรมดา ผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนา HealthTAG มองว่าประเทศไทยมีทรัพยากรทางการแพทย์ที่ดีมาก แต่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เหมาะกับนักพัฒนา นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นจึงโฟกัสที่ 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ต้องการให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล มีการยืนยันตัวตนบนพื้นฐานของความปลอดภัย เกิดการเชื่อมต่อของทุกฝ่าย และทำให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่ดี จุดประสงค์คือสร้างการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโรค พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรม รวมถึงจำกัดความเสียหายหรืออยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสได้ และอาจป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต
“ในทุกวิกฤตผมรู้สึกว่าเราจะทิ้งใครไว้ข้างหลังเสมอ อย่างเรื่องเงิน 5,000 บาท เป็นตัวยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ดี รวมถึงที่ผ่านมามีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมากมายแต่คนทุกกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ ถ้าเราทำโครงสร้างที่ดีไว้จะเป็นการลงทุนครั้งเดียว ไม่ต้องลงทุนสร้างสิ่งใหม่ซ้ำๆ เรื่อยๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกเราก็ใช้ฐานข้อมูลได้เลย สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย take action ก่อนที่จะเกิดเหตุได้ด้วยซ้ำ”
นพ.เดโชวัตเล่าต่อว่า นี่คือนวัตกรรมที่ทำให้คนไข้เป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง มีการยืนยันตัวตนด้วยระบบที่ปลอดภัยมาก ในขณะเดียวกันก็อยากผลักดันให้เกิด electronic personal health record
“HealthTAG จะเป็นบัตรประจำตัวสุขภาพที่เชื่อมต่อทุกป่าในระบบนิเวศเข้าด้วยกัน ตั้งแต่หมอ สถานพยาบาล รัฐบาล และประชากรแบบพวกเรา ทำให้เกิดการยืนยันตัวตนทางสุขภาพและทำตามมาตรการทางการแพทย์ได้จริง มีการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของสถานพยาบาลเพื่อเก็บ certification ต่างๆ รวมถึงประวัติการตรวจรักษา และสามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ติดตามการติดต่อเพื่อชะลอการระบาดของโรคได้ อย่างใครเคยตรวจโควิด-19 หรือโรคระบาดอื่นๆ จะสามารถใช้ยันยืนได้ว่าเคยผ่านการตรวจมาแล้ว กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ซึ่งมันช่วยจำกัดความเสียหายจากการระบาดและทำให้ฟันเฟืองเศรษฐกิจหมุนต่อ ทั้งยังช่วยเรื่องจิตใจที่ส่งผลต่อชีวิตคนและลดผลกระทบมากมายที่ตามมา”
ปัจจุบันมีการนำร่องใช้ HealthTAG แล้วที่จังหวัดสระแก้ว และกำลังพิจารณาใช้กับจังหวัดอื่นๆ ซึ่ง นพ.เดโชวัตกับทีมงานมองว่า หากมีนวัตกรรมชิ้นนี้ใช้อย่างแพร่พลาย ไทยจะมีระบบฐานข้อมูลที่พัฒนาต่อได้อีกหลายด้าน เพื่อส่งเสริมให้เกิด smart city หรือ smart country ขึ้นจริง ใครสนใจสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HealthTAG ได้ที่ Healthtag มาตรฐานใหม่ของการเก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
นวัตกรรมยาเคลื่อนที่ เดลิเวอรีให้ผู้ป่วยชาวยโสธรถึงบ้าน
ในช่วงที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม นั่งกินอาหารที่ร้านไม่ได้เหมือนเดิม บวกกับอากาศที่ร้อนราวกับอยู่ในเตาอบ บริการส่งอาหารเดลิเวอรีถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้ถูกต้องเหมาะสมที่สุด คนในยูนิฟอร์มสีเขียวบ้างชมพูบ้างพร้อมกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจและกล่องบรรจุอาหารด้านท้ายจึงกลายเป็นภาพอันคุ้นชินในช่วงโรคระบาด
ขณะเดียวกันในตำบลทุ่งนางโอก อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ก็มีเจ้าหน้าที่ยูนิฟอร์มสีฟ้าสวมหน้ากากอนามัยและหมวกกันน็อกเรียบร้อย ขี่มอเตอร์ไซค์ที่ครึ่งเบาะหลังมีกล่องสีเขียว ภายในไม่ได้บรรจุอาหาร แต่บรรจุยาสารพัดชนิดเพื่อส่งตรงถึงผู้ป่วยเรื้อรังแทน
นี่คือนวัตกรรมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งนางโอก ที่นำแนวคิดวิธีการส่งของเดลิเวอรีมาพัฒนาเป็นการส่งยาจากโรงพยาบาลฯ ถึงมือผู้ป่วยที่เดินทางมาพบแพทย์ไม่ได้ เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
‘สมกิจ ลากวงษ์’ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ทุ่งนางโอก เล่าว่ากลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังในพื้นที่มีประมาณ 600 กว่าคน 40 % ในจำนวนนั้นคือผู้ป่วยที่เดินทางมารับยาที่ รพ.สต. ส่วนผู้ป่วยที่เหลือจะไปรับที่คลินิกและโรงพยาบาลยโสธรซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของอำเภอ “เราเลยคุยกันในเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอเมืองฯ จังหวัดยโสธร ว่าควรบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไงเพื่อลดความแออัดในการไปรวมตัวกัน และยังสามารถรับยาได้ตามปกติ จึงตั้งเกณฑ์ว่าผู้ป่วยกลุ่มไหนที่รับยาที่บ้านได้ ส่วนกลุ่มที่ทำไม่ได้ก็ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม” ซึ่งนั่นนำมาซึ่งการไปส่งยาตามบ้านของผู้ป่วยแทนการมารวมตัวกันที่โรงพยาบาล
เธอเสริมว่า ที่จริงแล้วนวัตกรรมส่งยาเดลิเวอรีก็มีเห็นที่อื่นทำกัน เพียงแต่ของ รพ.สต.ทุ่งนางโอกจะพิเศษตรงที่มีกล่องทึบสีเขียวขนาดใหญ่เพื่อใช้บรรจุยาด้วย เนื่องจากกังวลเรื่องคุณภาพของยาที่อาจเสื่อมจากสภาพอากาศ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทำหน้าที่รับยาไปส่งให้ผู้ป่วยตามรายชื่อที่ระบุ
“ทีแรกก็ไม่มีเงินทุนทำกล่องนี้หรอก แต่ รพ.สต.ตำบลทุ่งนางโอกมีระบบการบริการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่ได้มีแต่รัฐเป็นผู้ดูแลอย่างเดียว ผู้ป่วยที่นี่มีระบบดูแลตัวเองด้วย โดยเป็นผู้จัดการระบบบริการสุขภาพร่วมกับเรา ผู้ป่วยจะสร้างข้อตกลงเรื่องเวลาในการมารับบริการ ทั้งยังร่วมลงขันใน รพ.สต.ปีละ 100 บาทต่อคน เพื่อเป็นค่าอาหารเช้าให้ผู้ป่วยที่มารับบริการตั้งแต่ตี 4-5 ได้กิน
“แต่เงินส่วนนั้นเหลือทุกปี พวกเขาก็นำมาพัฒนาระบบบริการให้ดีขึ้น เช่น ซื้อเครื่องเสียงในการออกกำลังกาย บ้างก็ซื้อเก้าอี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วช่วงที่มีปัญหาโลกร้อนก็ซื้อกล่องยาเล็กๆ รายบุคคลเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก พอมาเจอวิกฤตโควิด-19 เราเลยคุยกับประธานชมรมผู้ป่วยเรื้อรังว่าอยากขอใช้เงินส่วนนี้ซื้อกล่องบรรจุยา เพื่อให้ อสม.นำไปส่งถึงมือผู้ป่วยที่บ้านได้ไหม เขาก็อนุมัติให้ใช้เงิน ส่วนสติกเกอร์ที่ติดกล่องเจ้าหน้าที่ก็ร่วมลงขันกันเอง”
โครงการนี้ดำเนินงานมาได้ร่วม 2 เดือนแล้ว ทุกครั้งที่ไปส่งยาเจ้าหน้าที่ต้องเช็กยากับผู้ป่วยทุกครั้งเพื่อรักษามาตรการการสั่งจ่ายยาให้ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา จากกระแสตอบรับที่ดีมาก ทางราชการจึงสนับสนุนให้ดำเนินโครงการนี้ทั้งจังหวัดยโสธร และให้ทำต่อเนื่องไปอีกแม้จะสิ้นสุดการแพร่ระบาดของไวรัสแล้วก็ตาม ใครที่สนใจเรื่องราวสุขภาวะชุมชนเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ สุขภาวะชุมชน
เรียนออนไลน์ไม่ใช่ทุกคนทำได้ ‘รถพุ่มพวงการศึกษา’ จึงพาครูไปหานักเรียนถึงบ้าน
ที่ผ่านมาโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย จนผู้ประกอบการไม่ว่ารายใหญ่ รายย่อย รวมถึงลูกจ้าง ต่างได้รับความยากลำบาก การศึกษาไทยเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน นอกจากบุคลากรในแวดวงที่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่แล้ว ผู้เรียนเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนใหม่มาเรียนออนไลน์
แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีความพร้อมในการเรียนทางไกล เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง การเรียนประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ผู้ปกครองที่พร้อมช่วยดูแลและอุปกรณ์ในการเรียน ซึ่งในความเป็นจริงผู้ปกครองหลายครอบครัวต้องออกไปทำงานหาเงิน ยังไม่นับการขาดแคลนอุปกรณ์และพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเรียนอีก ดังนั้นจึงมีเด็กจำนวนไม่น้อยถูกผลักออกจากนโยบายนี้
‘ผศ. ดร.สุทธิชัย วิชัยดิษฐ’ กับเพื่อนๆ ครูภายใต้โครงการก่อการครูและโครงการผู้นำแห่งอนาคต อยากแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างหน่วยการเรียนรู้เคลื่อนที่ไปยังชุมชน เพื่อจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ที่ไม่มีความพร้อม “พวกเรานึกถึงรถพุ่มพวงขายกับข้าวที่เข้าถึงชุมชนได้ ลักษณะพิเศษของรถประเภทนี้คือของในรถมีการคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะสมกับคนในพื้นที่นั้นๆ ที่สำคัญคือลูกค้าเลือกได้เองว่าอยากซื้ออะไร”
พวกเขาลองหยิบไอเดียนี้มาปรับเข้ากับหน่วยการเรียนรู้พื้นที่ จนออกมาเป็น ‘รถพุ่มพวงการศึกษา’ ที่จะนำการศึกษาเข้าสู่ชุมชน เหมาะสมกับบริบทชุมชน และเด็กๆ สามารถเลือกได้ว่าอยากเรียนอะไร หลังจากนำเสนอโครงการผ่าน มีพื้นที่นำร่อง 5 แห่งที่ได้งบประมาณสนับสนุน ได้แก่ ขอนแก่น 2 แห่ง กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ และเชียงใหม่
“เราก็มาตั้งต้นให้ดีว่าจะออกแบบกระบวนการเรียนการสอนยังไง สิ่งแรกคือมาปักธงร่วมกันก่อนว่าเป้าหมายหลักของเราคืออะไรกันแน่ จนสรุปกันที่อยากให้เด็กมีการเรียนรู้ต่อเนื่อง ไม่เสียโอกาสในการเรียนรู้ ไม่อยากเห็นเด็กต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน รวมถึงอยากจัดการศึกษาที่ชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ด้วยได้ จากนั้นมาดูกันว่าวิธีการเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่
“กระบวนการสอนคืออย่างแรกต้องดูก่อนว่าพื้นที่ตัวเองควรสอนอะไร จะเอาอะไรไปสอนเด็กๆ สองคือมีใครในพื้นที่ช่วยเหลือบ้างไหม เช่น ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ สามคือพื้นที่ที่จะจัดการเรียนรู้อยู่ตรงไหน จะจัดที่ชุมชนหรือที่บ้าน ก็มาดีไซน์ให้ดีว่าเจอกันที่ไหนได้บ้าง ถ้าไม่เจอกันจะเรียนยังไง ต่อมาคือกระบวนการหรือกิจกรรมที่เข้าไปจัด มีการเว้นระยะห่างยังไง มีมาตรการดูแลความปลอดภัยทั้งครูและเด็กแบบไหน คิดให้ละเอียดรอบคอบ และมีทรัพยากรอะไรบ้างที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อที่จะเห็นความแตกต่างที่เหมาะสมกับบริบท ทั้งยังได้รู้ว่าต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ทางโครงการก็สนับสนุนได้สะดวก”
ขณะนี้โครงการ ‘รถพุ่มพวงการศึกษา’ ได้ดำเนินการมา 1-2 สัปดาห์แล้ว ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากทั้งจากนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งจุดที่ ผศ. ดร.สุทธิชัยคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ การได้เห็นความร่วมมือของชุมชนกับผู้ปกครองในด้านการศึกษา เพราะปกติผู้ปกครองก็ส่งลูกมาเรียน ส่วนชุมชนก็ไม่เคยรู้ว่าโรงเรียนสอนอะไรบ้าง พอเป็นแบบนี้ทุกคนก็พร้อมลงมาร่วมด้วยช่วยกัน
“แต่ละทีมก็คุยกันว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะมากสำหรับเชื่อมชุมชนกับผู้ปกครองเข้ามากับการศึกษา และเป็นช่วงที่ครูได้ทำความรู้จักชีวิตของนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น มีแผนที่จะเดินหน้าต่อแม้จะหมดโควิดแล้วก็ตาม ถ้าถามว่า new normal ของการศึกษาคืออะไร เราคิดว่ามันคือเรื่องนี้นี่แหละ ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีใหม่หรือการเรียนออนไลน์อย่างเดียว แต่มันคือการที่ผู้ปกครองกับชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เด็กมากกว่าเมื่อก่อน”
ใครสนใจกระบวนการเรียนการสอนและข้อมูลทางการศึกษาใหม่ๆ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ก่อการครู