โปรเจกต์ศิลปะช่วยเหลือไฟป่า แบบเรียนเด็กตาบอด – Think Positive ประจำเดือนมกราคม 2563

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทันหรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

สำหรับเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีนั้นมีนวัตกรรมน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ทั้งปฏิทินรักโลก THE DAY AFTER ที่จะทำให้ 1 ปีของคุณไม่เหลือเศษขยะ, โปรเจกต์ Clay for Australia ชวนระดมทุนช่วยเหลือไฟป่าที่ออสเตรเลียด้วยงานศิลปะ, แบบเรียนเบื้องต้นสำหรับเด็กตาบอดก่อนวัยเรียนจากโปรเจกต์ Classroom Makeover และแอพพลิเคชั่น ‘คัดแยกเห็ดไทย’ แยกเห็ดกินได้กับเห็ดพิษ

THE DAY AFTER ปฏิทินรักโลกที่จะทำให้หนึ่งปีของคุณเกิดประโยชน์สูงสุ

สวัสดีปี 2020 ถึงเวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ทั้งที หนึ่งในสิ่งที่เราขาดไม่ได้และต้องเปลี่ยนเป็นประจำทุกปีก็คือปฏิทินนั่นเอง

แน่นอนว่าเราหาซื้อเจ้าสิ่งนี้ได้ไม่ยาก แต่จุดที่ยากจริงๆ คือการหาปฏิทินที่ทั้งสวยและใช้งานได้ครอบคลุมความต้องการต่างหาก โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ทุกคนตื่นตัวกับการหันมาดูแลและรักษาโลก สิ่งพิมพ์อายุสั้นแบบปฏิทินก็น่าจะทำอะไรได้มากกว่าแค่สวยและบอกวัน เดือน ปี

‘ซาร่า–รุ่งนภา คาน’ อาจารย์ประจำสาขาวิชามีเดียอาตส์ (กราฟิก) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกราฟิกดีไซเนอร์แห่ง Treetime studio ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิ่งพิมพ์ จึงหยิบประเด็นนี้มาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท จนได้จัดแสดงในงาน Tokyo Design Week 2016 และต่อยอดทำเป็นโปรดักต์จริงเมื่อปลายปีที่แล้ว

“ช่วงนั้นเราศึกษาและสนใจเรื่องสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย เลยคิดว่าการมีฟังก์ชั่นหรือการที่มันบอกว่ามันยืดอายุตัวเองได้ยังไงเป็นใจความสำคัญของเรื่องนี้ จึงกลายเป็นโปรเจกต์วิจัยขึ้นมา เราพยายามควานหาว่าจะศึกษาจากอะไรดี มองว่าลองเริ่มจากสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีอายุสักหนึ่งปีอย่างปฏิทินก่อนไหม แล้วหาว่าภายใต้บริบทของการดิ้นเพื่อให้สื่อสิ่งพิมพ์มีชีวิตต่อมันมีกระบวนการไหนบ้าง

“เรารีเสิร์ชและเห็นว่าคนไทยเป็นคนใช้อายุของกระดาษต่อได้อย่างน่าสนใจมาก เมื่อเดินไปตลาดสักแห่งเราจะเห็นตั้งแต่คนเอากระดาษไปทำถุงกล้วยแขก เดินไปที่แผงไข่ก็จะมีกระดาษรองไข่อยู่ หรือเดินไปแผงเซรามิกที่เขาใช้กระดาษห่อ มันมีวิธีการใช้กระดาษเหลือแบบที่เป็นโกลบอลและโลคอลของประเทศเราอยู่ ทำให้เกิดเป็นรีเสิร์ชที่ตั้งชื่อหัวข้อว่าจะสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอายุยืนได้ยังไง กลายโปรเจกต์ปฏิทินที่ยืดอายุให้ตัวเอง แม้หมดอายุวันที่ใช้ไปแล้วแต่มันก็ยังไม่ตาย ยังเอาไปใช้ต่อได้ เป็น reusable calendar ขึ้นมา”

หลังจากที่ซาร่าทำแบบสอบถามจากคนทั่วไปเรื่องการนำกระดาษเหลือไปใช้อะไรต่อแล้ว เธอก็สรุปวิธีการใช้กระดาษจากปฏิทินมาได้ 12 วิธีโดยอิงกับยุคสมัย เช่น นำไปห่อดอกไม้ นำไปห่อผัก ทำเป็นกระดาษฉีกฝอยรองไข่ หรือกระทั่งส่งทำอักษรเบรลล์ ซึ่งนั่นส่งผลถึงวิธีการคิดการออกแบบตัวปฏิทินว่าทำยังไงให้ไม่เหลือขยะเลย

ปฏิทินเล่มนี้มีไซส์ A3 สามารถฉีกออกตามรอยปรุเป็นกระดาษไซส์ A อื่นๆ แยกย่อยได้อีกตามความเหมาะสมในการนำไปใช้ ทั้งยังมีกระบวนการพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พิมพ์ด้วยหมึกถั่วเหลือง และพิมพ์เพียง 1 สีลงบนกระดาษรียูสร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อใช้ถึงเดือนสุดท้ายแล้วยังสามารถนำไปใช้เป็นแฟ้มเอกสารต่อได้ด้วย

แต่จุดที่สร้างความแตกต่างให้ปฏิทินเล่มนี้ไม่เหมือนใครคือ การดีไซน์ให้วันแรกสุดของเดือนอยู่ด้านล่าง “ด้วยความที่ปฏิทินชื่อว่า THE DAY AFTER มันคือวันหลังจากวันนี้ที่เราจะเอาไปทำอะไรต่อ การวางโครงสร้างดีไซน์ในปฏิทินก็เลยตั้งต้นจากด้านล่าง เพราะด้วยความปะ-ปรุของมันคนจะฉีกไปใช้เช็ดกระจกหรือทำอะไรก็ได้ หมดครึ่งเดือนคุณก็ฉีกไปได้เลย ไม่ต้องรอให้หมดแผ่น หรือวันไหนหมดแล้วคุณก็ฉีกเอาไปใช้ได้เลยเช่นกัน เราต้องการให้มันมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ด้วย เราสามารถอินเทอแรกต์กับสิ่งที่มันค่อยๆ หายไปได้ ไม่ต้องรอให้หมดทั้งแผ่นแล้วค่อยใช้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่ามันกำลังสื่อสารอะไรกับเรา

“สุดท้ายเราอยากให้คนเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างเป็นนักอนุรักษ์ประมาณหนึ่ง คนไทยใช้ทรัพยากรต่ออย่างไม่น่าเชื่อ แต่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง เราจะมองแต่เรื่องใหญ่ๆ ระดับโลก ทั้งที่ในสังคมเรามีความน่ารักในการนำไปใช้ต่อ เมื่อก่อนคนไทยแทบไม่มีอะไรที่แตะกับความเป็นอุตสาหกรรมเลย จะเห็นว่ามีใบตองห่อนั่นนี่ เราใช้ทรัพยากรกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นเราทำโปรดักต์นี้เป็นโปรโตไทป์ อยากให้มันได้รับการเล่าต่อเพื่อสะท้อนว่าเราออกแบบบางอย่างเพื่อต่ออายุหรือสร้างคุณค่าให้กับมันได้ แล้วมันจะมีจิตวิญญาณ มีชีวิต ของมันต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราจะไม่ทิ้งมันไปเฉยๆ”


ระดมทุนช่วยดับไฟในออสเตรเลียด้วยงานศิลปะกับโปรเจกต์ Clay for Australia

หนึ่งในข่าวใหญ่ที่สุดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องไฟป่าที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเวลาร่วม 5 เดือนแล้วที่ไฟไหม้ครั้งประวัติการณ์ทำลายบ้านเมือง ต้นไม้น้อยใหญ่ ในพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ รวมถึงมีผู้เสียชีวิตเกือบ 30 ราย และสัตว์ป่านับ 500 ล้านตัวที่หนีไม่พ้น

จากเหตุการณ์นี้เองทำให้ทั่วโลกเปิดระดมทุนช่วยเหลือออสเตรเลีย เพื่อบรรเทาและฟื้นฟูพื้นที่และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในไทยเองก็เปิดรับบริจาคหลายช่องทาง ทั้งยังจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยในครั้งนี้

ด้วยความรู้สึกเศร้าใจและความสงสารบรรดาสัตว์ป่า วิภู ศรีวิลาศ ศิลปินเซรามิกชาวไทยระดับโลกที่เคยทำโปรเจกต์หาทุนช่วยเหลือภัยพิบัติในประเทศต่างๆ ในชื่อ Clay for … จึงตัดสินใจทำโครงการ Clay for Australia ขึ้นมา

“เราคิดอยู่หลายวันเลยว่าจะช่วยยังไงได้บ้าง เพื่อนหลายๆ คนก็บ่นว่าไม่รู้จะช่วยยังไงดี เลยคิดได้ว่าคงไม่ใช่เราคนเดียวที่รู้สึกเเบบนี้ น่าจะมีคนอื่นๆ ที่รู้สึกเหมือนกัน ประจวบเหมาะกับนึกออกว่าเราก็เคยทำงานหาทุนมาเเล้วหลายหน ตั้งเเต่ Sooth The South ช่วยน้ำท่วมภาคใต้ของไทย, Clay for Brisbane ช่วยน้ำท่วมเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เเละ Clay for Nepal ช่วยเนปาลตอนเกิดเเผ่นดินไหว เลยอยากใช้ความสามารถ เวลา เเละพลังเเรงงาน ช่วยเหลือไฟไหม้ครั้งนี้ ด้วยการหาทุนช่วยเหลือผู้เดือดดร้อนเเละเป็นศูนย์รวมให้เพื่อนๆ ที่ทำงานดินได้ร่วมสมทบทุนกันง่ายๆ”

นอกจากบทบาทในการเป็นศิลปินที่ทำงานด้านเซรามิกแล้ว วิภูยังมีเครือข่ายศิลปินทำงานดินที่ค่อนข้างกว้างขวาง ทำให้เขาเลือกใช้ชิ้นงานประเภทนี้ในการรับบริจาค ซึ่งปัจจุบันโครงการดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้ว โดยกำหนดการของ Clay for Australia จะหมดเขตในวันที่ 31 มกราคมนี้

“โครงการนี้เป็นผลของประสบการณ์จากการทำงานหาทุนครั้งก่อนๆ เมื่อก่อนทำเป็นแหล่งประมูลหรือศูนย์กลางที่เราขายเอง เเต่มันเหนื่อยมากเเละขยายให้ใหญ่ไม่ได้ คราวนี้เลยลองรูปเเบบใหม่ให้คนซื้อติดต่อศิลปิน รวมถึงตกลงวิธีการส่งและค่าส่งกันเอง ส่วนเราทำหน้าที่ลงรูปเเละโฆษณาให้ พอศิลปินได้ค่าชิ้นงานก็บริจาคเข้ากองทุน เสร็จแล้วส่งใบเสร็จรับเงินมาให้เรา วิธีนี้ทำให้โครงการเปิดกว้างมากขึ้น คนจากทั่วโลกมาร่วมงานได้ ถึงสุดท้ายจะเหนื่อยเหมือนเดิม แต่คนสนใจเยอะ ก็ช่วยกันดูแลอยู่ 2-3 คน”

ตอนนี้วิภูกำลังวางแผนว่าจะทำอะไรดีในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของโครงการนี้เพื่อเพิ่มความสนุกและกระตุ้นยอดบริจาค เนื่องจากผลตอบรับที่ผ่านมาค่อนข้างล้นหลามทั้งในแง่ชิ้นงานที่เข้าร่วมและยอดเงินบริจาค

“ณ ปัจจุบันมีศิลปินส่งชิ้นงานมาแล้วทั้งหมด 276 คน ซึ่งมีทั้งจากออสเตรเลีย ไทย แคนาดา สหรัฐอเมริกา สเปน ฝรั่งเศส ฮ่องกง อิสราเอล เดนมาร์ก ฯลฯ หลากหลายมาก ทุกวันนี้มีอีเมลส่งผลงานเข้ามาวันละ 20-30 ฉบับ คาดว่าน่าจะถึง 400 คนก่อนปิดโครงการ ส่วนยอดเงินบริจาคยังไม่ได้นับชัดเจนขนาดนั้น ต้องรอใบเสร็จยืนยันการบริจาคทั้งหมดก่อน มันมีขั้นตอนการเเลกเปลี่ยนสกุลเงินไปมาเพราะเป็นโปรเจกต์ระดับโลก แต่ยอดคร่าวๆ น่าจะประมาณ 10,000 เหรียญเเล้วครับ”


Classroom Makeover แบบเรียนที่จะช่วยให้เด็กตาบอดก่อนวัยเรียนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

เมื่อกลางปีก่อน จากความพยายามและความตระหนักถึงปัญหาการศึกษาของเด็กผู้พิการ บริษัท Goldenland จึงร่วมมือกับครีเอทีฟเอเจนซี ‘มานะ’ ทำโปรเจกต์ Classroom Makeover ห้องเรียนสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตาที่พัทยาขึ้น นอกจากห้องเรียนแห่งนี้จะได้รับการออกแบบพิเศษโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียนที่มองไม่เห็นแล้ว หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้ง 4 วิชา ได้แก่ สัมผัส แสง เสียง และกลิ่น ก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญในแวดวงการศึกษาส่วนนี้

จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการรีเสิร์ช การทดลองทำ บวกกับความตั้งใจที่อยากส่งต่อองค์ความรู้ให้คนทั่วไป ‘ป๋อม–กิตติ ไชยพร’ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งมานะ ตัดสินใจรวบรวมหลักสูตรที่ใช้ในห้องเรียนเด็กตาบอดมาทำเป็นแบบเรียนเบื้องต้นสำหรับเด็กตาบอดก่อนวัยเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยไกด์พ่อแม่และผู้ปกครองที่มีลูกหลานตาบอดแล้วไม่รู้ว่าต้องทำยังไง

“เราชวน studio dialogue มาช่วยเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันในหนังสือก็มีอะไรเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราทำด้วย คิดว่าไหนๆ ทำแล้วก็ดีไซน์หนังสือให้คล้ายหลักสูตรขึ้นมาเลย” ป๋อมเล่าถึงความตั้งใจตอนเริ่มทำหนังสือเล่มนี้ที่บรรจุตั้งแต่แนวคิดในการออกแบบ Classroom Makeover ไปจนถึงหลักสูตรการสอนเด็กตาบอดเบื้องต้น ได้แก่ วิชาเบรลล์ศึกษา วิชาสัมผัส วิชาเดซิเบรลล์ วิชาลมหายใจ วิชาลำแสง รวมถึงทักษะในชีวิตประจำวัน เพื่อสอนให้เด็กตาบอดก่อนวัยเรียนช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

“มันเหมาะสำหรับผู้ปกครองที่เพิ่งมีลูกหลานตาบอด เพราะ know-how ในนั้นช่วยทำให้เขารู้ว่าจะเริ่มต้นสอนเด็กได้ยังไง ถ้าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือก็เอาอย่างอื่นมาใช้ทดแทนได้ โดยตอนท้ายของหนังสือมีแบบฝึกหัดด้วย เช่น ลองให้ลูกเดินตามหาเสียงที่เราสร้างขึ้น ลองให้ลูกดมกลิ่นดูว่ากลิ่นไหนอันตรายและควรหลีกเลี่ยงไปให้ไกล เราสามารถหยิบบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้กับลูกโดยไม่ต้องไปที่ห้องเรียนคนตาบอดก็ได้”

ทั้งนี้ป๋อมยังอยากให้หนังสือเล่มนี้ไม่ให้แค่ความรู้และอยู่นิ่งเฉยๆ “สิ่งที่เราทำคือความพยายามที่จะนำหลักสูตรนี้มาตีความเป็นแบบเรียนและแบบฝึกหัดที่มีอะไรมากไปกว่านี้ได้อีก สมมติว่าโครงการนี้ยังทำอยู่และมีคนมาต่อยอดก็อาจจะมีใครมาตีความการเรียนการสอนของมันใหม่ได้เรื่อยๆ เพื่อวัตถุประสงค์เดิม เหมือนวิชาคณิตศาสตร์ที่เราพลิกแพลงวิธีคิดหาคำตอบของตรีโกณมิติ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องตรีโกณมิติอยู่”

ส่วนผู้ปกครองคนไหนที่กังวลเกี่ยวกับความยากในการนำบทเรียนในหนังสือเล่มนี้ไปสอนลูกหลานที่ตาบอด ป๋อมยืนยันว่าวิธีการไม่ได้ยากขนาดนั้น “มันมีหลักของมันอยู่ เราคงไม่อาจหาญบอกว่ามันเป็นแบบเรียนแบบฝึกหัดที่รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ได้ทำจากคนที่มีพื้นฐานทางนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มาจากการศึกษาหาข้อมูลเพื่อตีความในมุมมองของดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ตลอดระยะเวลาเราปรึกษากับนักวิชาการฝั่งผู้พิการตลอด เรามองว่าอย่างน้อยหนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้พ่อแม่วางใจมากขึ้นที่ลูกใช้ชีวิตได้เอง ไม่ต้องเป็นห่วงมาก จริงๆ แล้วผู้ปกครองไม่ต้องทำตามทุกอย่างในหนังสือเล่มนี้ก็ได้ สอนไปวันละอย่างจนลูกพร้อมเข้าโรงเรียนเฉพาะทางที่มีระบบการเรียนการสอนรองรับแล้ว”

ด้วยความที่ป๋อมอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนเพื่อนที่เข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกตาบอด เพื่อบอกว่ายังมีหนทางให้เด็กๆ ไปต่อได้ เขากับทีมจึงจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ปกครองที่มีลูกหลานตาบอดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใครที่สนใจสามารถขอแบบเรียนเบื้องต้นสำหรับเด็กตาบอดก่อนวัยเรียนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มานะ


เห็ดแบบไหนกินได้ แบบไหนมีพิษ เช็กง่ายๆ ด้วยการสแกนผ่านแอพพลิเคชั่น ‘คัดแยกเห็ดไทย’

จากข้อมูลปีที่แล้วมีผู้ป่วยด้วยเห็ดพิษกว่าพันราย และเสียชีวิตจากความไม่รู้และความเข้าใจผิดเนื่องจากเห็ดพิษหลายชนิดมีความละม้ายคล้ายคลึงกับเห็ดกินได้ ยังไม่นับรวมการวินิจฉัยและการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้องจนทำให้รักษาไม่ทันการ

ด้วยเหตุนี้เองกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงร่วมมือกันคิดค้นแอพพลิเคชั่น Mushroom Image Matching โดยได้รวบรวมภาพถ่ายของเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้กลุ่มละ 1,000 ภาพ เก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพ และแสดงผลชนิดของเห็ดด้วยชื่อและร้อยละของความถูกต้อง

ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ดร.สิทธิพร ปานเม่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข, เกษร บุญยรักษ์โยธิน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และ รศ.ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวจนสำเร็จพร้อมใช้งานเป็นที่เรียบร้อย

รศ.ขวัญเรือนเล่าว่าที่ทำเป็นแอพพลิเคชั่นเพราะด้วยยุคสมัยใหม่ที่ใครๆ ล้วนเข้าถึงสมาร์ตโฟนแล้ว บวกกับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าไปเก็บเห็ดในป่ามาขายมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ภูมิปัญญาความรู้ด้านการดูเห็ดแบบคนยุคก่อนอาจขาดหายไป การมีโครงการหรือสิ่งที่ตรวจสอบได้เบื้องต้นน่าจะตอบโจทย์ที่สุด

ส่วนวิธีการใช้งานก็ง่ายแสนง่าย แค่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ลงทะเบียน และใช้งานด้วยการเปิดกล้องสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด “โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบเรียลไทม์ โดยเลขจะวิ่งไปเรื่อยๆ และหยุดเมื่อความถูกต้องเท่ากับร้อยละ 95 หรือเรากดปุ่มเพื่อหยุดเองก็ได้ ซึ่งจะแสดงเป็นเห็ด 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีความเหมือนมากที่สุดเป็นอันดับแรกและอันดับที่มีความเหมือนรองลงมาเพื่อให้ผู้ใช้เปรียบเทียบ นอกจากนี้โปรแกรมยังประมวลผลจากภาพถ่ายได้ สมมติถ่ายภาพเห็ดในตลาดมาสแกนหรือเพื่อนส่งรูปมาให้ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ไม่วิ่งเป็นเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“และเรายังสามารถกดเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้อีก เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเห็ดชนิดนั้น ทั้งรูปร่างหน้าตา ลักษณะครีบ สีก้าน เป็นต้น เพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น ถ้าเป็นเห็ดพิษก็จะบอกลักษณะอาการเมื่อได้รับสารพิษว่าเป็นยังไง และบอกวิธีปฐมพยาบาลก่อนไปพบแพทย์ด้วย”

หลังจากทดลองใช้และพัฒนาแอพพลิเคชั่นโปรโตไทป์นี้มาตั้งแต่ปี 2561 จนเริ่มเสถียรมากขึ้น ปีนี้ รศ.ขวัญเรือนกับทีมก็มีแผนการเพิ่มเห็ดชนิดอื่นๆ ลงในฐานข้อมูล และขยายการใช้งานให้แพร่หลายมากขึ้น

“เราคิดกันว่าน่าจะเพิ่มจำนวนกลุ่มเห็ดและจำนวนในการเปรียบเทียบระหว่างเห็ดกินได้กับเห็ดพิษ โดยกำลังรอช่วงฤดูฝนเพื่อที่จะได้ไปถ่ายรูปเห็ดจริงๆ ในธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราจะใช้โปรแกรมนี้ไปอบรมคนทำงานด้านการรักษาที่อยู่ในชุมชน เพื่อให้เขาใช้แอพพลิเคชั่นนี้ดูวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือส่งตัวอย่างไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถูกต้อง เพื่อป้องกันผู้เสียชีวิต”

ถึงกระนั้นแอพพลิเคชั่น ‘คัดแยกเห็ดไทย’ ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่บ้าง “ปัญหาตอนนี้คือยังดาวน์โหลดได้แค่ระบบแอนดรอยด์ และด้วยข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีทำให้เราจัดหมวดหมู่เห็ดได้แค่ 14 หมวดหมู่ แต่เห็ดในธรรมชาติมีจำนวนมาก บางครั้งเวลาสแกนอระบบอาจประมวลผลช้าและไม่ตรงตามกลุ่มของเห็ดนั้นๆ บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามแก้ไขต่อไป”

AUTHOR