ชุดทดลองปลูกข้าว สวนจำลอง และถุงพลาสติกย่อยสลายได้ – Think Positive ประจำเดือนธันวาคม 2562

ชุดทดลองปลูกข้าว สวนจำลอง และถุงพลาสติกย่อยสลายได้ – Think Positive ประจำเดือนธันวาคม 2562

Highlights

  • คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์
  • ใครที่ชอบเรื่องนวัตกรรมแบบสร้างสรรค์ๆ แต่ตามอ่านในเฟซบุ๊กของเราไม่ทันหรืออยากอ่านซ้ำแบบยาวๆ ก็มารออ่านคอลัมน์รวมโพสต์ประจำเดือนได้ที่นี่ทุกต้นเดือน

คอลัมน์ Think Positive คือคอลัมน์ที่รวบรวมโพสต์ Think Positive ในเฟซบุ๊ก a day magazine ที่ลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ ที่ใช้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงพูดคุยกับผู้คิดค้นสร้างสรรค์ในแง่แรงบันดาลใจ แนวคิด และการพัฒนาต่อยอดตัวนวัตกรรมนั้นๆ ในอนาคต

สำหรับเดือนธันวาคม 2562 นั้นมีนวัตกรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ทั้งชุดทดลองปลูกข้าว ‘Rice to meet you’ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวได้ง่ายๆ, โปรเจกต์สวนจำลอง ‘We Park’ ที่อยากสร้างสวนสาธารณะสำหรับชุมชนที่ยั่งยืน และถุงพลาสติกย่อยสลายได้จากแป้งมันสำปะหลัง

สำหรับปี 2563 จะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรบ้าง รอติดตามชมและสนับสนุนนักคิด นักสร้างสรรค์ ทุกคนได้เลย

ใครๆ ก็ปลูกข้าวได้ กับชุดทดลองปลูกข้าวง่ายๆ Rice to meet you

คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลักเกือบทุกมื้อ แต่น้อยคนจะเคยลงมือปลูกข้าวด้วยตัวเอง เพราะนอกจากจะต้องมีที่ทางในการเพาะปลูกแล้ว ข้าวยังเป็นพืชที่กระบวนการปลูกมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการปลูก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อย่างสายพันธุ์ วิธีการปลูก ระยะเวลาตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงเก็บเกี่ยว ทั้งยังต้องอาศัยความใส่ใจดูแลอย่างต่อเนื่อง การลองเรียนรู้ปลูกเองที่บ้านจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้

pain point นี้เองที่ทำให้ ‘ออย–เดือนทะเล อินทร์จันทร์’ คิดโปรเจกต์ Rice to meet you ชุดทดลองปลูกข้าวส่วนบุคคลจากวัตถุดิบของมูลนิธิที่นา เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องข้าวให้คนทั่วไป โดยมี ‘ท่าน–เทพฤทธิ์ นันทสกุล’ ดูแลเรื่องการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ออกมาน่ารักน่าใช้

ภายในชุดทดลองปลูกข้าวประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

  1. เมล็ดพันธุ์ข้าวออร์แกนิกพันธุ์ข้าวหอมนิลปลูกจากชุมชนเครือข่าย
  2. กระถางลูกโยนดินเผาย่อยสลายได้
  3. ดินเพาะกล้าจากคูน้ำรอบๆ มูลนิธิฯ
  4. ปุ๋ยน้ำที่มีจุลินทรีย์ชนิดดี
  5. คู่มือแนะนำการปลูก

ส่วนตัวกระติบข้าวที่ใช้บรรจุเครื่องมือก็สามารถนำไปใส่ข้าวเหนียวหรือใช้เป็นกล่องใส่อุปกรณ์เล็กๆ ในชีวิตประจำวันได้ เรียกว่าแทบไม่เหลือขยะจากกระบวนการนี้เลย

ท่านเล่าว่ากว่าจะมาเป็นโมเดลแบบที่เห็น พวกเขาได้ทดลองปลูกข้าวในถ้วยและดูว่าต้นข้าวเติบโตได้ไหม ก่อนเปลี่ยนมาใช้ถ้วยดินซึ่งเผาด้วยอุณหภูมิที่สามารถย่อยสลายได้ หรืออย่างตัวแพ็กเกจจิ้งเองก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ “ออยเป็นคนคิดไอเดียกระติบข้าว เราก็โอเค เพราะตอนแรกเป็นกล่องพลาสติกและค่อยๆ พัฒนาเป็นกระติบเวอร์ชั่นแรกที่มีฐานรองก้นอยู่ 2 ขีด ตอนนี้ก็พัฒนาเป็นเวอร์ชั่นสองที่มีขนาดเล็กลง มีการพัฒนาส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมจนทำให้ขั้นตอนการปลูกไม่ยุ่งยากซับซ้อนด้วย”

“เมล็ดข้าวกระติบหนึ่งถ้าปลูกแล้วเอาไปหุงน่าจะได้สักจานหรือหม้อเล็กๆ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราสามารถขยายกอได้เยอะขนาดไหน จริงๆ จากที่เราเคยได้ยินมา เมล็ดข้าว 1 เมล็ดถ้าคนมีความชำนาญสามารถปลูกได้ถึง 50-60 กอเลยนะ แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปปลูกได้ 5-6 กอก็เยอะแล้ว”

จุดประสงค์ในการทำโปรดักต์นี้ไม่ได้แค่อยากให้ทุกคนได้กินข้าวจากฝีมือตัวเอง แต่พวกเขาอยากจำลองวิธีการปลูกข้าวให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายและใครๆ ก็เข้าถึงได้ “เด็กๆ สามารถเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวจากชุดทดลองปลูกข้าวของเราได้ หรือผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่เคยปลูกข้าวเองมาก่อนก็จะได้เรียนรู้ที่มาของสิ่งที่เขากินอยู่ทุกวัน”

“มันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ความรู้ พอได้ทดลองทำจะมีขั้นตอนที่ต้องดูแลเอาใจใส่ เราถึงจะมีความสัมพันธ์กับมัน เหมือนการปลูกดอกไม้สักดอก ค่อยๆ รดน้ำทุกวัน รอมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การที่เราสร้างนิสัยช่างสังเกตดูว่าวันนี้ต้นกล้าสูงขึ้นเท่านี้เท่านั้น แล้วถ่ายรูปทำเป็นสารคดีเล็กๆ ของเรา เป็นการสร้างสีสันให้ชีวิต เป็นแบบฝึกหัดเล็กๆ ในการหาความหมาย ความเชื่อมโยงสายใยเล็กๆ ของตัวเราเองกับธรรมชาติที่ดำรงอยู่ตรงหน้า”

ปัจจุบันชุดทดลองปลูกข้าว Rice to meet you วางจำหน่ายตามตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ถ้าใครที่อยากได้มาทดลองทำเองที่บ้านแต่ไม่สะดวกเดินทางไปจริงๆ สามารถติดต่อซื้อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Rice to meet You


สวนจำลองที่เกิดจากความตั้งใจในการสร้างสวนสาธารณะของชุมชนอย่างยั่งยืน

ในยุคที่หลายประเทศกำลังรุดหน้าสู่ความก้าวหน้าอย่างขีดสุด ตึกรามบ้านช่องและสถาปัตยกรรมความล้ำสมัยต่างๆ ถือเป็นซิกเนเจอร์ที่เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ทั่วโลกมีทั่วทุกหัวมุมถนน ทว่าสิ่งที่เป็นดัชนีบ่งบอกถึงความเจริญของบ้านเมืองอีกอย่างและถือเป็นการสร้างความเฟรนด์ลี่ให้เมืองกับคนคือ พื้นที่สาธารณะและสวนสาธารณะ ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ไม่แพ้กัน

ในฐานะที่เป็นคนเมืองและเห็นว่าพื้นที่ประเภทนี้ในกรุงเทพฯ มีน้อย ภูมิสถาปนิก ‘ยศ–ยศพล บุญสม’ จึงผลักดันโครงการ We Park เพื่อพัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างมีคุณภาพเเละยั่งยืน “ถ้าเรารอโอกาสจากภาครัฐก็อาจจะขับเคลื่อนช้า มันต้องมาช่วยกัน แล้วเราก็เห็นว่าพื้นที่รกร้างขนาดเล็กในเมืองมีเยอะ เราเลยรวมกลุ่มกับคนในวิชาชีพ ภาควิชาการ หน่วยงานต่างๆ ในการสร้างเครือข่ายร่วมมือกับทางกรุงเทพฯ เพื่อใช้กระบวนการออกแบบสร้าง pocket space ที่ตอบโจทย์คนในชุมชน”

ยศเล่าว่าในปัจจุบันหลายประเทศไม่ได้เน้นแค่ปริมาณของพื้นที่สาธารณะอีกต่อไป ทว่าให้ความสำคัญกับระยะทางที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างสะดวก ประจวบเหมาะกับที่มีองค์กรเอกชนบริจาคที่ดินบริเวณซอยหน้าวัดหัวลำโพงให้ทาง กทม. เขาจึงมองว่านี่คือโอกาสที่ดี

“ทีนี้เลยคุยกันว่าแทนที่เราจะเอาพื้นที่ไปออกแบบตามกระบวนการเดิมที่สร้างสวนแล้วใช้เลย ซึ่งมันไม่น่าจะตอบโจทย์เพราะหลายๆ ครั้งการทำแบบนี้ทำให้สวนกลายเป็นที่รกร้างหรือคนไม่เข้ามาใช้ เราเลยขอความร่วมมือจากสำนักงานเขตฯ นำพื้นที่ตรงนี้มาเป็นโจทย์ให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการออกแบบ ให้พวกเขาทำเวิร์กช็อป เสนอความคิดเห็น คุยกับชุมชน และออกแบบพื้นที่ เพื่อดูว่าอะไรคือปัญหาในพื้นที่ พบว่าชาวบ้านในชุมชนกลัวคนจรจัดมานอน ปัญหาความไม่ปลอดภัยในซอย เป็นต้น”

กระบวนการนี้ทำให้ยศและทีมงานรู้ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และยังถือเป็นการทำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งต่อยอดให้เกิดเป็นไอเดียสวนจำลอง “ระหว่างการพูดคุยเราก็คิดว่ากระบวนการทำ mockup park น่าสนใจตรงที่เวลาคุยในกระดาษแล้วหลายคนเขาไม่เห็นภาพ คนในชุมชนบางคนอาจไม่ได้มาร่วมพูดคุยแต่ละครั้งเพราะเวลาไม่ตรงกัน ก็เลยคุยกับทาง กทม. ว่าจะขอทำ mockup test ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือถ้าอยู่ได้ยาวกว่านั้นก็จะดี”

“ขั้นตอนคือให้ทางกรุงเทพฯ มาช่วยปลูกต้นไม้ และเราเอาวัสดุอุปกรณ์ไปวางตามจุดต่างๆ ทำเป็นที่นั่ง เพื่อทดสอบว่าชาวบ้านที่มาใช้สวนเห็นโอกาสและปัญหาอะไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลมาปรับแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งกระบวนการต่อไปคือการของบประมาณจาก กทม. และระดมทุนจากเอกชนหรือใครก็ได้ที่อยากบริจาค เพื่อทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมกับพื้นที่ หรือจะเป็นการมีส่วนร่วมในแง่การลงแรง ลงความคิดก็ได้ เราอยากสร้างโมเดลในการทำสวนรูปแบบนี้ขึ้นมา”

แน่นอนว่าการทำสวนแบบไปลงต้นไม้สำเร็จรูปเลยเป็นวิธีที่ง่ายและไม่เสียเวลา แต่โมเดลสวนที่ยศและ We Park อยากสร้างคือการทำสวนสาธารณะที่ยั่งยืนและชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน “ถ้าทำสวนแบบนั้นมันไม่ตอบโจทย์ กทม.ลงเงินแล้วสักพักก็จะทิ้งร้าง คนไม่รู้สึกว่าอยากไปใช้เพราะไม่มีอะไรให้ใช้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือพอเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย มองว่าสวนนี้เป็นของ กทม.หรือของคนอื่น เขาก็จะไม่ช่วยกันดูแล ไม่คิดต่อว่าจะไปเติมเต็มมัน หรือใช้จินตนาการว่าทำอะไรกับมันได้ กลายเป็นปัญหาที่ผลักให้ภาครัฐฝ่ายเดียว”

“เราว่าทุกคนในสังคมมีความคิดว่าอยากทำนั่นทำนี่ทั้งนั้น แต่ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะนำไอเดียมาแชร์กันและมีคนสร้างให้เป็นรูปธรรม ถ้าเขาได้มีส่วนร่วมในการคิด การสร้าง หรือการลงขันลงแรงกัน ความเป็นเจ้าของจะเกิดขึ้น เกิดเป็นการช่วยกันดูแลบริหารจัดการ และทำยังไงให้สวนมันไปต่อได้ เพราะสวนเสร็จไม่ใช่ว่าเสร็จเลย มันเป็นการนับหนึ่งว่าเขาจะใช้สวนนี้สร้างประโยชน์กับชุมชนหรือสังคมต่อไปยังไง ซึ่งเราคิดว่ามันสำคัญกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวเสียอีก เพราะมันคือการสร้างความยั่งยืนว่าเรามีสวนนี้ไปเพื่ออะไร”

ยศยังบอกอีกว่าการทำสวนจำลองถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนไม่ว่าใครก็ตามได้พบปะพูดคุยกัน ซึ่งแม้ว่าความคิดเห็นอาจไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่นี่ก็ถือเป็นกลไกในการสร้างสังคมที่ดี

ตอนนี้สวนจำลองบริเวณซอยหน้าวัดหัวลำโพงอยู่ในขั้นตอนเปิดให้ทุกคนเข้าไปทดลองใช้ เพื่อพัฒนาให้เข้ากับคนในชุมชนต่อไป และถ้าโปรเจกต์นี้ดำเนินไปได้ด้วยดี ยศเองก็อยากเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะแบบนี้ขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต


ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยถุงพลาสติกย่อยสลายได้จากแป้งมันสำปะหลัง

ปัจจุบันขยะพลาสติกนับเป็นปัญหาที่รุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากข่าวสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำและความทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมามีการผลิตพลาสติกเพื่อใช้งานบนโลกนี้แล้วกว่า 8,800 ล้านตัน ซึ่งกว่าร้อยละ 40 เป็นขยะพลาสติกใช้งานครั้งเดียวทิ้ง และร้อยละ 88 ของขยะพลาสติกทั้งหมดถูกกำจัดโดยการฝังกลบ เผา ทิ้งลงแม่น้ำและไหลสู่ทะเล กลายเป็นปัญหาที่กลับมาทำร้ายโลกอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้เอง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่ใช้ใส่ขยะอินทรีย์จำพวกเศษอาหาร ซึ่งมีวัตถุดิบหลักเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยอย่างมันสำปะหลัง และมีการนำไปใช้งานจริงแล้วในงานกาชาดที่ผ่านมา

ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัย MTEC ที่เป็นโต้โผโครงการทำถุงพลาสติกย่อยสลายได้ เล่าว่าโปรเจกต์นี้เกิดจากการที่เขาได้รับการติดต่อจากบริษัทที่ทำแป้งมันสำปะหลัง “เราคิดว่ามันน่าจะเป็นวัตถุดิบที่ดี เพราะตัวเนื้อพลาสติกหรือเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ องค์ประกอบสำคัญตัวนี้ต้องนำเข้าและมีราคาแพง เราเลยคิดว่าถ้าใช้มันสำปะหลังบ้านเราที่ราคาไม่ได้สูงมากมาผสมด้วยก็น่าจะดีขึ้น เลยลองนำมาผสมกับพลาสติกดู จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ขึ้นมา”

แท้จริงแล้วในแวดวงวิชาการ การนำแป้งมันสำปะหลังมาใช้กับพลาสติกนั้นมีมานาน แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องจักรที่ทำออกมาได้ครั้งละไม่มาก ต่างกับ MTEC ที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำให้สามารถขยายขนาดการผลิต เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมต่อไปได้

“ปกติแล้วประเทศไทนนำเข้าวัตถุดิบถุงพลาสติกย่อยสลายได้จากต่างประเทศเยอะ และผลิตเพื่อส่งออกขายต่างประเทศหมดเลย คราวนี้พอเราทำขึ้นมา เรารู้วัตถุดิบ รู้กระบวนการในอุตสาหกรรม และคำนวนต้นทุนทั้งหมดได้ว่าถ้าผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป ต้นทุนจะอยู่ตรงไหน จะทำให้ยั่งยืนได้หรือเปล่า ซึ่งอุตสาหกรรมเองก็คิดว่ามันรอด มันไปได้ ถ้าเทียบกับการนำเข้าทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งลดต้นทุนอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราทำเองในอนาคตก็ปรับเปลี่ยนพลิกแพลงได้เรื่อยๆ”

แน่นอนว่าข้อดีของการใช้ถุงพลาสติกตัวนี้คือ การที่มันย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่นานเมื่อเทียบกับถุงพลาสติกทั่วไปที่คงอยู่หลายสิบปี แต่จุดที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ การย่อยสลายที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งยังกลายเป็นปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินที่ไม่ย้อนกลับมาทำร้ายสิ่งแวดล้อม

“ถุงพลาสติกชนิดนี้มีเป้าหมายในการใช้กำจัดขยะอินทรีย์ เพราะขยะอินทรีย์เป็นขยะที่มีปริมาณมากถึงร้อยละ 65 ของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งมักไม่ได้รับการคัดแยกเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดการปนเปื้อนและลดมูลค่าของขยะรีไซเคิลลง ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกก่อนทิ้ง และสามารถกำจัดได้อย่างปลอดภัย ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ชนิดนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้กำจัด เพราะเมื่อทั้งถุงและขยะอินทรีย์เกิดการย่อยสลายรวมกันจนเสร็จสิ้นแล้ว จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารอนินทรีย์ และชีวมวล ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนสำคัญในการปลูกพืชให้กับเกษตรกรได้”

“ตัวนี้ประมาณ 1 เดือนก็เริ่มย่อยแล้ว พอสัก 3-4 เดือนก็ย่อยไปเยอะมากเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ได้ สิ่งที่เราพัฒนาคือตัวเนื้อถุงหรือเนื้อพลาสติกที่จะย่อยด้วยกระบวนการทางชีวภาพโดยมีแบคทีเรีย จุลินทรีย์ เชื้อราในธรรมชาติเป็นผู้ย่อยสลาย คราวนี้พวกจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดีคือต้องมีความชื้นอยู่ในดิน อุณหภูมิต้องเหมาะสม แสดงว่าเวลาเราผลิตมาแล้วไม่ได้ถูกความชื้นหรือวางในสภาพที่มันจะย่อยได้ ถุงตัวนี้ก็จะไม่ย่อย ดังนั้น เราก็สามารถผลิตและส่งไปโกดังหรือจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ จนไปถึงมือผู้ใช้ได้ในสภาพปกติดี”

ล่าสุดมีการนำถุงพลาสติกย่อยสลายเวอร์ชั่นแรกไปใช้กับงานกาชาดที่ผ่านมา ดร.นพดลเล่าว่าภาคเอกชนและพ่อค้าแม่ขายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี “เราพยายามติดตามผลว่าเมื่อใส่ขยะแล้วทิ้ง มันจะหายไปในกี่เดือน เราก็เก็บเศษขยะเหล่านั้นกลับมาด้วย รวมถึงทำการทดสอบย่อยในห้องแลปอีกทีเพื่อคอนเฟิร์มผลที่เราเคยทดลองไปแล้ว ตอนนี้เป็นเวอร์ชั่นสองที่ได้รับคอมเมนต์เรื่องอยากให้เหนียวขึ้น อยากให้มีความยืดหยุ่นที่ดีขึ้น เราก็กลับมาปรับปรุง ฟังฟีดแบ็กจากผู้ใช้เรื่อยๆ ว่าเขาต้องการอะไร รวมถึงอาจมีการลดความหนาของถุงลงเพื่อลดต้นทุน แต่ก็ยังต้องยึดเรื่องความคงทนและแข็งแรง”

ถึงแม้ว่าถุงพลาสติกตัวนี้ย่อยสลายได้ก็จริง แต่ดร.นพดลก็พยายามย้ำเตือนเสมอว่าการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกวิธีควรเป็นสิ่งที่ทำควบคู่ไปด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้วถ้าเราเริ่มดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

นอกจากผลด้านสิ่งแวดล้อม ดร.นพดลยังคาดหวังถึงผลด้านอื่นที่คาดว่าจะได้รับจากการทำโปรเจกต์นี้ “เราอยากให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมีผลต่อด้านเศรษฐกิจของประเทศ โรงงานมีสินค้าใหม่เพิ่มเข้ามา เกิดการจ้างงาน การลงทุน ส่งของ และขายของ เป็นประโยชน์กับคนหลายๆ ส่วน และถ้าสินค้าเราราคาถูกและคุณภาพดี ต่างประเทศก็อาจจะสนใจสินค้าของเราจนกลายเป็นสินค้าส่งออกตัวใหม่ได้”

AUTHOR