เมื่อโลกมืดมนกว่าที่คิด ‘Things We Lost in the Fire’ รวมเรื่องสั้นสุดมืดมิดจากอาร์เจนตินา

Highlights

  • วรรณกรรมเล่มนี้เป็นของนักเขียนสาวชาวอาร์เจนตินา ที่ได้รวมเรื่องสั้นสุดมืดมิดจากอาร์เจนตินา และเป็นเล่มแรกของเธอที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ
  • หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าถึงความโหดร้าย ความน่ากลัว หรือความสยดสยอง ที่เกิดจากผีร้ายและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ แต่คือการตระหนักถึงความมืดมิดและความวิปริตผิดเพี้ยนของโลกใบนี้ผ่านน้ำเสียงของผู้หญิงที่ถูกกดขี่

เมื่อพูดถึงวรรณกรรมอาร์เจนตินา ชื่อของ Julio Cortazar กับ Jorges Luis Borges มักจะถูกนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ อยู่เสมอ แม้นั่นจะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนักเขียนทั้งสองต่างเรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการวรรณกรรมโลก สารภาพตรงๆ ว่า พ้นไปจากนักเขียนสองคนนี้ผมก็ไม่ค่อยมีโอกาสอ่านงานเขียนของนักเขียนอาร์เจนตินาคนอื่นๆ สักเท่าไรนัก

จนเมื่อไม่นานนี้ที่ได้บังเอิญไปพบรวมเรื่องสั้นของนักเขียนอาร์เจนตินาคนหนึ่งเข้าพอดี และเนื้อหาของมันก็สะท้อนย้อนกลับมามองสำรวจความรุนแรงอันน่าพรั่นพรึงของโลกปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ‘Things We Lost in the Fire’ หรือสิ่งต่างๆ ที่เราสูญเสียไปในกองเพลิงเขียนโดย Mariana Enriquez นักเขียนสาวชาวอาร์เจนตินา โดยรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถือเป็นงานเขียนเล่มแรกของเธอที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ผลงานเล่มบางๆ ความยาวไม่ถึงสองร้อยหน้าเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้น 12 เรื่อง แต่ละเรื่องต่างก็เล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไปภายใต้ฉากหลังของประเทศอาร์เจนตินาที่แตกกระจายออกเป็นส่วนๆ และแม้ว่าเรื่องสั้นบางเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ก็มีบางเรื่องพาเราย้อนอดีตกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่ร่องรอยของเหตุการณ์ ตอนนั้นยังปรากฏเด่นชัดอยู่ในความทรงจำ หรือบ้างก็ยังคงส่งอิทธิพลชัดเจนต่อสังคมอาร์เจนตินาในปัจจุบัน

‘The Dirty Kid’ หรือเด็กมอมแมมเรื่องสั้นเรื่องแรกของหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จในการเซตโทนให้ผู้อ่านได้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ประสบการณ์และเรื่องราวลักษณะไหนกำลังรอเขาอยู่ The Dirty Kid ฉายภาพของละแวกบ้านแห่งหนึ่งในอาร์เจนตินาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่ของบรรดาเศรษฐี แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นแหล่งทรุดโทรม ชุกชุมไปด้วยกลุ่มโจร อันธพาล และคนไร้บ้าน ตัวเอกของเรื่องเป็นหญิงสาวชนชั้นกลางที่เผอิญว่ามีบ้านหลังเก่าของครอบครัวอยู่ในละแวกนี้พอดี เธอปฏิเสธที่จะฟังคำเตือนของใครๆ หญิงสาวย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้แม้รู้อยู่แก่ใจว่าพื้นที่นี้อันตราย หากหล่อนก็พยายามอย่างเต็มที่ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในละแวกนี้ได้โดยไม่ต้องไปมีเรื่องราวกับใคร

ตรงข้ามบ้านของหญิงสาวมีพื้นที่ว่างเล็กๆ ที่มีหญิงไร้บ้านติดยากับเด็กชายมอมแมมคนหนึ่งลงหลักปักฐานอยู่ แม้มีบางอย่างคล้ายจะดึงดูดให้หล่อนสนใจเด็กผู้ชายคนนี้ แต่หล่อนก็รู้ตัวดีว่าไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวด้วยจะดีที่สุด กระทั่งอยู่มาวันหนึ่งหล่อนก็พบว่าแม่ลูกคู่นี้หายตัวไป พร้อมกับที่อยู่ๆ ก็มีคนพบศพเด็กชายนิรนามที่หัวขาดหลุดออกจากร่าง ทั้งยังโดนข่มขืนจนเละ นอนจมกองเลือดอยู่ในละแวกบ้านของหล่อน ด้วยเชื่อว่าเด็กคนนี้ต้องเป็นคนเดียวกับเด็กชายมอมแมมแน่ๆ หญิงสาวจึงพยายามหาหนทางพิสูจน์ตัวตนของเด็กชายนิรนามให้ได้ แม้จะสับสนและหวาดผวาต่อใครหรืออะไรก็ตามแต่ที่สามารถฆ่าเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งด้วยวิธีสุดวิปริตเช่นนี้

ฟังดูแล้วอาจชวนให้นึกถึงนวนิยายแนวสืบสวน ประเภทว่าตัวเองต้องค้นหาความจริงของเหตุการณ์ฆาตกรรมอยู่นะครับ ทว่า Enriquez ไม่ได้สนใจที่จะดำเนินเรื่องราวไปในทางนั้นแต่อย่างใด กล่าวคือเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน แต่มุ่งจะเปิดเผยให้เห็นถึงความสับสนและความหวาดกลัวที่ฝังซ่อนอยู่ภายในจิตใจตัวละครต่างหาก Things We Lost in the Fire ผสมผสานความสิ้นหวังในทางการเมืองของผู้คนในประเทศอาร์เจนตินาเข้ากับตำนานพื้นบ้าน การปรากฏตัวของผีสาง ปีศาจ แม่มด และการบูชาความตาย อย่างที่ใน The Dirty Kid เอง Enriquez ก็ได้ให้ภาพของการบูชาเทพเจ้าแห่งความตายที่ถักทอเข้ากับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแนบเนียน และแทบจะแยกกันไม่ออกในระดับที่ตัดแบ่งความเป็นไปได้ต่อความตายของเด็กชายนิรนามเป็น 2 สมมติฐานด้วยกันคือ หนึ่ง กลุ่มอันธพาล กับสอง ลัทธิบูชาความตายที่ต้องการสังเวยชีวิตเด็กชายให้กับนักบุญแห่งความตายที่พวกเขาสักการะ

มีความวิปริตผิดเพี้ยนมากมายเกิดขึ้นในละแวกบ้านแห่งนี้และโดยไม่ต้องมีเรื่องราวไสยศาสตร์เข้ามาข้องเกี่ยว ลำพังแค่อันตรายจากอันธพาลและแก๊งค้ายาอย่างเดียวก็น่าจะเป็นเหตุผลที่สมเหตุสมผลพอที่จะไม่มีใครอยากอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ แต่ภายใต้ความดึงดันที่จะอยู่ให้ได้ของตัวเอกของเรื่องนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งคำถามอันเฉียบแหลมต่อสภาพสังคมปัจจุบัน นั่นคือเรากำลังมองความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมด้วยสายตาที่วางเฉยเกินไปหรือเปล่า

ผ่านตัวเอกของเรื่อง เราเห็นความพยายามของหล่อนที่จะอยู่ให้ได้ในพื้นที่อันตรายนี้ โดยฉาบเชื่อมภาพความเป็นจริงอันฟอนเฟะภายใต้การมองให้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ท้าทาย ประหนึ่งเกมเกมหนึ่ง ปัญหาอยู่ที่ว่าด้วยพื้นเพชีวิตของตัวละครที่เป็นชนชั้นกลาง หล่อนสามารถพาตัวเองออกจากพื้นที่แห่งนี้ได้ทันทีที่รู้สึกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่นี้อันตรายเกินกว่าที่จะรับมือไหว ในทางกลับกัน เด็กชายมอมแมมกลับพาตัวเองไปจากละแวกบ้านแห่งนี้ไม่ได้แม้จะสัมผัสได้ถึงอันตราย เขาไม่มีหลังคาคอยหลบฝน ไม่มีบ้านให้อยู่ ไม่มีที่อื่นให้หลบหนีไป ดังเช่นที่มีตัวละครหนึ่งได้พูดกับตัวเอกว่าเธอคิดว่ารู้จักละแวกนี้จริงๆ แล้วงั้นเหรอสาวน้อย ถึงเธอจะอยู่ที่นี่ แต่เธอน่ะมาจากอีกโลกหนึ่งนะ

พูดอีกอย่างคือ กรงที่คอยกักขังเด็กชายมอมแมมไม่ใช่แค่กรงขังในลักษณะของพื้นที่ทางกายภาพ แต่เป็นกรงขังทางชนชั้นที่แช่แข็งเขาให้ติดนิ่งอยู่กับที่ต่างหาก สำหรับมนุษย์กลุ่มหนึ่งความไม่ปลอดภัยอาจเป็นแค่ทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความเร้าใจให้กับชีวิตอันเรียบเฉย แต่กับมนุษย์อีกไม่รู้สักเท่าไหร่ที่แค่กับการจะจินตนาการถึงวิถีชีวิตรูปแบบอื่นเป็นเรื่องห่างไกลจนเกินไป กล่าวคือระดับของจินตนาการก็ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

พ้นไปจาก The Dirty Kid แล้ว เรื่องสั้นอื่นๆ ใน Things We Lost in the Fire ก็ล้วนแต่สำรวจประเด็นในสังคมอาร์เจนตินาที่แตกต่างกันออกไป อย่างใน The Inn’ Enriquez บอกเล่าประวัติศาสตร์ความโหดร้ายของสถานที่หนึ่งซึ่งถูกทำให้หลงลืมและเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางธุรกิจโดยกลุ่มนายทุน ผ่านเรื่องราวของเด็กสาว 2 คนที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในสถานที่แห่งนั้น หรือ The Intoxicated Years ก็ฉายให้เห็นภาพของลัทธิบูชาแม่มดร่วมสมัยที่สะท้อนแง่มุมเฉียบแหลมต่อประเด็นการกดขี่ผู้หญิงในอาร์เจนตินา และพลังทางสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน

จะเห็นได้ว่าแต่ละเรื่องที่ผมยกตัวอย่างมาล้วนมีผู้หญิงหรือประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นสำคัญ และซึ่งนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของหนังสือเล่มนี้ ผู้หญิงเป็นตัวแสดงหลักของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ความน่าหดหู่และความไม่ชอบมาพากลของอาร์เจนตินาถูกเล่าผ่านน้ำเสียงและประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ และจุดนี้เองที่ทำให้ประเด็นของความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคมชัดเจนขึ้นไปอีกระดับ Enriquez แสดงให้เห็นว่า อำนาจและการกดขี่ที่กดลงบนบ่าของผู้หญิงอาร์เจนตินานั้นละเอียดอ่อนและเฉพาะเจาะจงอย่างที่สุด เช่นกันที่ผู้หญิงด้วยกันเองก็คล้ายจะเข้าใจความเจ็บปวดของกันและกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นผลลัพธ์จากโครงสร้างทางสังคมที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ชาย

ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง Enriquez ได้กล่าวไว้ว่าฉันจำได้ว่าเคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนว่าแต่นายไม่เห็นจะเคยบ่นเรื่องที่ผู้ชายมักจะได้รับบทเป็นนักการเมืองเลวๆ ตำรวจเลวๆ หรือฆาตกรต่อเนื่องเลยนะ ทำไมนายถึงโอเคกับภาพแทนเหล่านั้น แต่ไม่โอเคกับภาพแทนของสามีที่ไม่สามารถสร้างความสุขให้กับภรรยาตัวเองได้กันล่ะเขาตอบฉันว่าผมคิดว่ามันเป็นเพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่องเล่าทั้งหมดในโลกนี้ เสียงของผู้หญิงน่ะทรงพลังเกินไป มันผลักให้ผู้ชายต้องโดดเดี่ยวอยู่ฝั่งเดียว และนั่นเป็นอะไรที่รบกวนจิตใจมากๆ เพราะเราเองก็อยากเป็นตัวเอกในพื้นที่เล็กๆ บ้าง’ ”

Enriquez ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เปล่งเสียงร้องอันทรงพลังในหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ และนี่เองอาจเป็นสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้ Things We Lost in the Fire รบกวนจิตใจผู้อ่านสุดๆ ไม่ใช่ความโหดร้าย ความน่ากลัว หรือความสยดสยอง ที่เกิดจากผีร้ายและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ แต่การตระหนักถึงความมืดมืดและความวิปริตผิดเพี้ยนของโลกใบนี้ผ่านน้ำเสียงของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ต่างหากคือความน่าสะพรึงจริงๆ ที่หนังสือเล่มนี้บอกกับเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]